รวมหลายเรื่องจากเวบไซต์ อกาลิโก
---------------------------------------------------------

นิทานเซน จาก คุณแสงดาว แปลมา น่าอ่าน ดี
**********************
สวัสดีค่ะเพื่อนสมาชิกและผู้อ่านทุกท่าน

ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่า นิทานเซนที่แปลและนำมาให้อ่านต่อไปนี้
ไม่ได้ระบุที่มา เพราะนิทานเซนเป็นเพียงเรื่องที่เล่าต่อๆกันมา ในยุคแรกๆ
พระอาจารย์ไม่นิยมให้บันทึกเป็นหนังสือ ( สังเกตได้จากนิทานเรื่องแรกที่
จะนำมาให้อ่าน )ยุคหลังๆพระอาจารย์และฆราวาสถึงได้รวบรวมไว้อีกที
หนังสือเซนในท้องตลาดปัจจุบัน แต่ละเล่มมักจะมีเนื้อเรื่องซ้ำๆกัน
สอดแทรกความคิดเห็นส่วนตัว จัดรูปเล่มให้แตกต่างกันออกไป แล้วพิมพ์ขาย
แม้แต่ตัวเอกในนิทานเรื่องเดียวกัน ยังชื่อไม่เหมือนกัน จึงมักไม่ได้ใส่ชื่อไว้
เพราะไม่ทราบว่าจะอ้างอิงเล่มไหนดี ยิ่งในอินเตอร์เน็ตเดี๋ยวนี้ อ้างเนื้อเรื่องเพียง
นิดเดียว แล้วเสริมเติมแต่งด้วยสำนวนนักประพันธ์จนสวยหรู โดยส่วนตัว
แล้วชอบอ่านเหมือนกัน ให้ความรู้สึกคนละแบบกับของเดิมๆ

ดังที่ได้กล่าวแล้ว นิทานเซนเป็นเพียงเรื่องเล่า ซึ่งเล่าผ่านมาเป็นพันปี ความถูก
ต้องตามหลักธรรม อาจจะไม่ใช่แล้ว ก็ขอให้ผู้อ่านอย่าได้คิดจริงจังว่า ตรงนั้น
ตรงนี้ไม่ถูกต้อง

และเนื่องจากผู้แปลไม่ได้เป็นผู้แปลมืออาชีพ และก็ยังปฏิบัติธรรมไปไม่ถึงไหน 
และเพิ่งจะแปลหนังสือครั้งนี้เป็นครั้งแรก ศัพท์ทางศาสนาอาจจะใช้ผิดไปบ้าง สำนวนอาจจะขรุขระไปบ้าง ก็ขออภัยด้วย และยินดีรับฟังคำท้วงติง
เพื่อนำมาพิจารณาและแก้ไขต่อไป นิทานเซนมีเป็นร้อยเรื่อง จะค่อยๆทยอย
แปลมาให้อ่านเรื่อยๆ

จุดมุ่งหมายสูงสุดของการแปลครั้งนี้เพื่อ รวบรวมสิ่งที่ได้อ่านมา
ให้เป็นที่เป็นทาง และอยากให้เพื่อนนักปฏิบัติธรรมด้วยกัน
ได้มีอะไรอ่านเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้เริ่มปฏิบัติธรรมใหม่ๆมักจะสนใจอ่าน
เรื่องราวเกี่ยวกับนิกายเซนมาก เพราะอาจจะคิดว่า อ่านแล้วอาจจะได้ข้อคิด
ดีๆเพิ่มพูนการปฏิบัติให้ดียิ่งๆขึ้นไป ซึ่งผู้แปลก็เคยได้ผ่านจุดนั้นมาแล้วเหมือนกัน ในงานสัปดาห์หนังสือเคยกว้านซื้อมาเป็นลัง ไม่เข้าใจตัวเอง
เหมือนกัน ไม่เคยอ่านหนังสือธรรมมะมาก่อน แต่อ่านแล้วเข้าใจ มองเห็น
เป็นภาพพจน์ หลายๆอย่างเราเคยผ่านจุดนั้นมาแล้ว หรืออาจจะเป็นเพราะ
ปฏิบัติในแนวเถรวาทควบคู่ไปด้วยก็เป็นได้

แสงดาว

ที่มา :emo_036:http://www.thummada.com/cgi-bin/iB3/ikonboard.cgi?s=439272480c07 

ffff;act=ST;f=4;t=1843;st=0
  
*******************************************
๑. ไม่พึ่งพิงตัวอักษร

มีอำมาตย์ท่านหนึ่งในราชวงศ์ถัง นอกจากเป็นผู้มีชื่อเสียงแล้ว ยังปฏิบัติธรรมในแนวนิกายเซน 
ท่านสนใจและชอบค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับนิกายเซน และยังชอบจดบันทึกเรื่องราวการปฏิบัติธรรมของตัวเองไว้ แล้วรวบรวมทำเป็นเล่ม

วันหนึ่ง ท่านนำหนังสือที่รวบรวมไว้ไปให้ท่านฮวงโป อย่างนอบน้อม เพื่อขอคำชี้แนะจากท่านฮวงโป 
ไม่นึกว่าท่านฮวงโปเมื่อรับไปแล้วโยนไปไว้บนโต๊ะอย่างไม่ไยดี ท่านอำมาตย์รู้สึกกระอักกระอ่วนใจอย่างบอกไม่ถูก พลางนึกว่า
ท่าน ฮวงโปคงจะตำหนิที่ไม่ได้นำอะไรติดมือมาด้วย

ขณะที่กำลังเอ่ยปากจะพูด ท่านฮวงโปก็บอกว่า “เจ้าเข้าใจความหมายที่ทำหรือเปล่า” “ไม่เข้าใจ”
 ท่านอำมาตย์ตอบ ท่านฮวงโปพูดต่อว่า “เซนเป็นการสืบทอดนอกขอบข่ายของศาสนา ไม่พึ่งพิงตัวอักษร แล้วเจ้าทำไมถึง
นำหลักธรรม มาทำเป็นตัวอักษร เป็นหนังสือ นี่ไม่ใช่เป็นการทำลายหลักธรรมอันแท้จริงหรอกหรือ”

ท่านฮวงโปเป็นคนเปิดเผย พูดจาตรงไปตรงมา ท่านสูง 7 ฟุต มีเม็ดเนื้อเป็นก้อนกลมๆเหมือนไข่มุกงอกติดอยู่ที่หน้าผาก

๒. ตัวรู้

ครั้งหนึ่ง ท่านเว่ยหล่างไปพักค้างแรมที่บ้านหลังหนึ่ง ขณะที่กำลังจะนอนพักผ่อนในช่วงบ่าย 
ได้ยินเสียงคนกำลังสวดมนต์ เลยลุกขึ้นไปถามผู้นั้นว่า “เจ้าเข้าใจความหมายของบทที่สวดหรือเปล่า ”
“บางตอนเข้าใจยากจริงๆ” ท่านเว่ยหล่างเลยอธิบายให้ฟังบางตอนของบทสวดว่า

“เมื่อเราอยู่ในโลกแห่งมายาจอมปลอมนี้จนผมหงอกขาวหมดไปทั้งหัวแล้ว พวกเราต้องการอะไร? 
และเมื่อไฟแห่งชีวิตกำลังจะมอดลง ใจเต้นอ่อนลง และลมหายใจกำลังจะขาดรอนๆ อะไรคือสิ่งสุดท้ายที่เราหวัง?
 และเมื่อกายของเรากำลังเน่าเปื่อยอยู่ในสุสาน ธาตุกลับคืนสู่ธาตุ ธาตุดินสู่ดิน
 ชีวิตกลายเป็นสิ่งไร้ความรู้สึกในความว่างเปล่าแล้ว
เราอยู่ที่ไหน?”

คนที่สวดมนต์นั้นได้ชี้คำหลายคำในคัมภีร์ที่ไม่เข้าใจความหมายแล้วถาม ท่านเว่ยหล่างยิ้มๆแล้วตอบว่า
 “ข้าพเจ้าไม่รู้หนังสือ ท่านถามมาเลยดีกว่า" คนๆนั้นรู้สึกแปลกใจแล้วพูดขึ้นว่า “ท่านอ่านหนังสือไม่ออก
 ท่านจะเข้าใจความหมาย เข้าใจหลักธรรมได้อย่างไร?”

ท่านเว่ยหล่างตอบว่า “หลักธรรมของพุทธะ กับตัวหนังสือไม่เกี่ยวกัน ตัวหนังสือเป็นเพียงเครื่องมือที่จะเรียนรู้ 
สิ่งที่จะเข้าใจหลักธรรมคือจิต คือตัวรู้ ไม่ใช่ตัวหนังสือ

ท่านเว่ยหล่างรับตำแหน่งพระสังฆนายกโดยที่ยังไม่ได้บวช หลังรับตำแหน่งต้องหนีภัยจากพระที่เป็นศิษย์พี่ 
ไปอยู่ในป่ากับพรานป่า 15 ปี ถึงจะกลับมาในเมืองแล้วบวช

๓. อยู่กับปัจจุบัน

พระชิงหลวนแห่งญี่ปุ่น เมื่อตอนที่อายุ 9 ขวบ ก็คิดที่จะออกบวช จึงไปขอบวชกับพระอาจารย์ฉือเจิ้น
 พระอาจารย์บอกว่า “เจ้าอายุยังน้อย คิดจะบวชทำไม ?”

ชิงหลวนตอบว่า “แม้ข้าพเจ้าจะอายุยังน้อย แต่พ่อแม่เสียชีวิตหมดแล้ว และเพราะเหตุว่าข้าพเจ้าไม่รู้ว่า 
คนเราทำไมต้องตาย ทำไมต้องแยกจากพ่อแม่เพื่อที่จะสืบค้นหาต้นตอของสิ่งเหล่านี้ ข้าพเจ้าจึงต้องบวช”

พระอาจารย์รู้สึกชมชอบอุดมการณ์อันดีนั้น จึงพูดว่า ”ดีแล้ว อาจารย์จะรับเจ้าเป็นศิษย์ แต่คืนนี้ก็ค่ำแล้ว
 ไว้พรุ่งนี้จะทำการบวชให้เจ้า” แต่ชิงหลวนพูดว่า “ข้าพเจ้าอายุยังน้อย ไม่ทราบว่าจะรักษาความคิดที่จะบวชจนถึงพรุ่งนี้ได้หรือเปล่า
 และท่านอาจารย์ก็อายุมากแล้ว ก็ไม่สามารถจะรับรองได้ว่า
 พรุ่งนี้เช้าอาจารย์จะยังมีชีวิตอยู่อีกหรือเปล่า” พระอาจารย์ฟังแล้วรู้สึกปลื้มปีติยิ่งนัก บอกว่า 
“ถูกต้อง เจ้าพูดไม่ผิดเลย ตอนนี้จะบวชให้เจ้าทันที”


ที่เมืองจีนสมัยราชวงศ์ถัง ผู้ที่จะบวช จะต้องผ่านการสอบคัดเลือกก่อน พระถังซำจั๋งตอนนั้นอายุเพียง 12 ปี 
สอบไม่ผ่าน รู้สึกเสียใจจนร้องไห้ผู้คุมสอบ เจิ้งซ่านกว่อ ถามว่า “ร้องไห้ทำไม” ซำจั๋งตอบว่า “อยากสืบทอดศาสนาของพระพุทธองค์
 และให้เมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะเป็นที่เลื่องลือไปทั่วปฐพี”
 ผู้คุมเห็นอุดมการณ์อันสูงส่งนั้น จึงอนุญาตให้บวช ซึ่งต่อมาทั้งสองท่านก็มีชื่อเสียงไปทั่วโลก และทำคุณประโยชน์ให้กับศาสนามากจริงๆ
๔. ปฏิบัติธรรมอย่างไร

พระอาจารย์ว้อหลุนหลังจากบำเพ็ญเพียรอยู่หลายปี ก็นึกว่า ตนเองรู้แจ้งแล้ว จึงไปหาท่านเว่ยหล่างเพื่อทดสอบภูมิธรรม พร้อมกับเขียนโศลกว่า

ว้อหลุนมีเทคนิคและวิธี ที่จะสามารถดับร้อยความคิดได้
สิ่งที่มากระทบจิตไม่เกิด ต้นโพธิ์เติบโตขึ้นทุกวัน
? ? ? ? ? ? ? ? ? ?
? ? ? ? ? ? ? ? ? ?


(โศลกบทนี้ต้องกำกับภาษาจีนด้วยเพราะแตกต่างจากที่ท่านพุทธทาสแปลไว้เล็กน้อย)

ท่านเว่ยหล่างเมื่ออ่านแล้วได้พูดกับลูกศิษย์ว่า ว้อหลุนยังไม่ได้เข้าถึงหลักธรรมอย่างแท้จริง 
หากปฏิบัติธรรมลักษณะนี้ต้องตายแน่ คิดว่าสิ่งที่มากระทบจิตไม่เกิดเป็นความสามารถอย่างสูง เป็นความเข้าใจที่ผิด
 เราปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นพุทธะที่มีชีวิต ไม่ใช่เป็นพุทธะที่ตายแล้ว กลายเป็น ทองไม้ดินหรือหิน
 แล้วจะเป็นพุทธะอย่างไร ไม่สามารถฉุดช่วยผู้คน แล้วจะมีประโยชน์อะไร

ท่านเว่ยหล่างจึงแต่งโศลกตอบไปว่า

เว่ยหล่างไม่มีเทคนิคและวิธี ร้อยความคิดก่อเกิดไม่มีหยุด
สิ่งที่มากระทบจิตย่อมเกิด แล้วต้นโพธิ์จะเติบโตได้อย่างไร
? ? ? ? ? ? ? ? ? ?
? ? ? ? ? ? ? ? ? ?

เหล่าลูกศิษย์ไม่เข้าใจ ท่านเว่ยหล่างจึงอธิบายให้ฟังว่า ทุกสิ่งที่ต้องใช้เทคนิคและวิธีล้วนแต่ต้องใช้ความสามารถ
 จิตย่อมจดจ่ออยู่กับความสามารถในการกระทำนั้น ยังเป็นการยึดติดอยู่กับการกระทำ ยังใช้ไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องไปดับความคิด 
ไม่มีความคิดแล้วจะไปทำอะไรได้
 หากไม่มีความคิดก็เหมือนกับก้อนหินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่ง เหมือนกับเวลาที่เราแสดงธรรมหรือฟังธรรมต้องใช้ความคิดร่วมด้วย 
แม้มีความคิดแต่ไม่ยึดติดกับรูปลักษณ์นั้น ก็เหมือนกับไม่มีความคิด
 ส่วนต้นโพธิ์นั้นแสดงถึงจิตเดิมแท้ของพุทธะ ไม่เพิ่มไม่ลด ไม่เกิดไม่ดับ แม้จะปฏิบัติธรรมจนเป็นพุทธะแล้ว 
ก็ไม่ได้เพิ่มอะไรแม้แต่นิดเดียว แล้วจะมีอะไรเติบโตได้อย่างไร

๕. ไม่เหลือจิตปกติธรรมดา

ลูกศิษย์คนหนึ่งมาถามพระอาจารย์ว่า “ ศิษย์นั่งสมาธิทุกวัน สวดมนต์บ่อยๆ นอนแต่หัวค่ำ ตื่นแต่เช้า จิตไม่คิดฟุ้งซ่าน
 ในสถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งนี้ รู้สึกจะไม่มีใครขยันไปกว่าข้าพเจ้า แล้วทำไมถึงยังไม่รู้แจ้งสักที “

พระอาจารย์นำน้ำเต้า และเกลือหยาบให้ลูกศิษย์ แล้วบอกว่า 
“ เจ้านำน้ำเต้านี้ไปใส่น้ำให้เต็ม แล้วใส่เกลือเข้าไป ถ้าหากมันละลายทันที เจ้าจะรู้แจ้งทันที “

ลูกศิษย์ทำตามวิธีที่อาจารย์บอก สักครู่ก็กลับมาบอกว่า
“ ปากน้ำเต้าเล็กไป ใส่เกลือลงไปมันไม่ละลาย เอาตะเกียบลงไปก็คนไม่สะดวก ดูแล้วศิษย์คงจะไม่สามารถรู้แจ้งได้แล้ว “

พระอาจารย์เลยเทน้ำออกไปบางส่วน ใส่เกลือลงไปแล้วเขย่า สักประเดี๋ยวเกลือก็ละลาย พระอาจารย์พูดต่อว่า 
“ ขยันทั้งวัน ไม่เหลือจิตปกติไว้บ้าง ก็เหมือนกับน้ำเต้าที่ใส่น้ำจนเต็มแล้วเขย่าไม่ได้ คนไม่ได้ 
จะละลายเกลือได้อย่างไร แล้วจะรู้แจ้งได้อย่างไร? “

“หรือว่าไม่ขยันแล้วจะรู้แจ้งได้ “ ลูกศิษย์ถาม “ การปฏิบัติธรรมก็เหมือนการดีดพิณ สายพิณตึงเกินไป ย่อมขาดง่าย
 สายพิณที่อ่อนเกินไปก็ไม่เกิดเสียง ทางสายกลาง จิตปกติธรรมดา ถึงจะเป็นฐานที่ทำให้เกิดการรู้แจ้ง “

๖. นกที่บินหลงทาง

ที่ภูเขาต้าเยี่ยน มีพระรูปหนึ่งปฏิบัติธรรมอยู่ที่นั่น ท่านเป็นพระที่เทศน์เก่งมาก 
ท่านมักจะใช้สิ่งที่มีชีวิตรอบตัวสอดแทรกธรรมะ จากนั้นก็ใช้คำง่ายๆแต่งเป็นโศลก

มีอยู่ครั้งหนึ่ง อุบาสกท่านหนึ่งถามท่านว่า 

“ มีคนพูดกันว่า การบูชาใดๆต่อพระพุทธเจ้าทั้งปวงในสากลโลก ก็ไม่เท่ากับการบูชาต่อผู้ที่ดำเนินตามทางแห่งมรรคเพียงคนเดียว 
ไม่ทราบว่าพระพุทธเจ้าทั้งปวงเป็นอย่างไร ? คนเดินตามทางเดินแห่งมรรคมีบุญกุศลใด “

พระรูปนั้นพูดเป็นโศลก ว่า

“ เพียงแค่มีเมฆหมอกมาบดบัง นกก็ยังหลงทางบินกลับรัง " 

" เป็นเพราะว่ามีเมฆหมอกมาปิดทางกลับรังของนก นกจึงหาทางกลับรังไม่ถูก ถ้าเรามัวแต่บูชาพระพุทธองค์
 จิตย่อมจดจ่อและยึดติดอยู่กับองค์พระ ทำให้ตัวเองกลับเดินหลงทาง ผู้ที่เดินตามทางแห่งมรรคย่อมทำให้จิตตัวเอง
 สะอาด และสว่างกลับมารู้จักตัวเอง จิตจึงไม่หลงทาง “
อุบาสกคนนั้นถามต่อว่า โบสถ์วิหารเป็นดินแดนแห่งความสงบ
และสะอาด ทำไมถึงต้องตีกลองและเคาะ “ ปลาไม้ ”

พระรูปนั้นตอบเป็นโศลกว่า

“ เพื่อตีให้เสียงก้องกังวานไป เพื่อมิให้เหล่ามังกรนั่งคำนับ “

วัดที่เงียบสงบต้องตีกลองและเคาะ “ ปลาไม้ ”มีความหมายที่ลึกซึ้งแฝงอยู่ในนั้น ธรรมดาปลาอยู่ในน้ำ
 ไม่เคยปิดตา ดังนั้นการเคาะ ”ปลาไม้” จึงเป็นการแสดงถึงความขยันฝึกฝน ไม่เกียจคร้าน
 การตีกลองก็เพื่อย้ำเตือนให้ผู้คน เลิกทำบาป และสร้างกุศล
อุบาสกท่านนั้นถามต่ออีกว่า

“ เมื่อปฏิบัติธรรมอยู่กับบ้านก็ได้ ทำไมถึงต้องออกบวชอีก “

พระรูปนั้นตอบเป็นโศลกว่า

“ นกยูงแม้จะมีปีกที่สวยงาม แต่ก็บินได้ไม่สูงเฉกเช่นนกอื่น “

" การปฏิบัติธรรมที่บ้านเป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่อบวชแล้วย่อมจะตั้งมั่น และแน่วแน่กว่า ย่อมจะไปได้ไกลกว่า “ 

๗. ผิดบาปที่ใคร

ศิษย์และอาจารย์เดินผ่านท่าน้ำริมทะเล เห็นชาวเรือกำลังจะนำเรือออกจากท่าเพื่อที่จะไปส่งผู้โดยสาร 
หลังจากเรือลงน้ำไปแล้ว ที่ชายหาดมี กุ้ง หอย ปู ปลา โดนทับตายเป็นจำนวนมาก ทำให้เห็นแล้ว รู้สึกน่าสงสารยิ่งนัก

ลูกศิษย์ : ขณะที่ชาวเรือนำเรือออกไปนั้น ทำให้ กุ้ง หอย ปู ปลาแถวนั้นตายไปไม่น้อย ขอถามหน่อยว่า
 เป็นความผิดบาปของชาวเรือหรือผู้โดยสาร

พระอาจารย์ : ไม่ได้เป็นบาปของชาวเรือ และไม่ได้เป็นบาปของผู้โดยสาร

ลูกศิษย์ : ถ้าไม่ได้เป็นบาปของทั้งสองฝ่าย แล้วจะเป็นบาปของใคร

พระอาจารย์ : ก็เป็นของเจ้านะซี

พระอาจารย์พูดต่อว่า “ พุทธศาสนาแม้จะพูดถึงวัฏสงสาร แต่ในแง่ของคน เมื่อพูดในฐานะเป็นมนุษย์
 เรื่องราวบางอย่าง บางครั้งก็ไม่สามารถพูดให้ชัดแจ้งลงไปได้ ชาวเรือประกอบอาชีพนี้เพื่อหาเงินเลี้ยงปากท้อง
 ผู้โดยสารจำเป็นต้องขึ้นเรือ เพราะต้องเดินทาง กุ้ง ปู โดนเรือกดทับ
 เพราะซ่อนตัวอยู่ในทราย นี่เป็นความผิดใคร ?

กรรมเกิดจากจิต จิตไม่มี กรรมก็ไม่มี
จิตไม่มี จะสร้างกรรมได้อย่างไร
แม้จะมีบาปกรรม ก็เป็นบาปที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ
แต่เจ้า สิ่งที่ไม่มีสร้างให้มี
สร้างผิดถูกขึ้นมาเอง 
แล้วนี่จะไม่ใช่ผิดบาปที่เจ้าหรอกหรือ ? 

๘. นายพลจะออกบวช

นายพลท่านหนึ่งทำสงครามป้องกันชายแดนอยู่แถบทะเลทรายเป็นเวลาถึงสิบกว่าปี ตอนนี้เมื่อนึกถึง 
คมหอกศาสตราวุธและสภาพสงครามที่มีเลือดไหลนองดั่งสายน้ำ จิตก็ยากที่จะสงบลงได้ เลยมาหาพระอาจารย์เพื่อจะขอออกบวช 

“ พระอาจารย์ ข้าพเจ้าเบื่อสงครามเหลือเกิน ตอนนี้รู้สึกปลงไปหมดแล้ว ขอให้พระอาจารย์เมตตา รับข้าพเจ้าเป็นศิษย์เถอะ ”

“ เจ้าทำสงครามมาเป็นแรมปี กลิ่นอายแห่งการฆ่ายังมีอยู่เยอะ และยังมีครอบครัวให้เป็นห่วง
 ไม่เหมาะที่จะบวชตอนนี้ไว้รออีกสักระยะก่อน “ พระอาจารย์ตอบ

“ ข้าพเจ้าแม้จะอยู่ในสงครามมานาน นั่นเป็นเพราะความจำเป็นบังคับ ข้าพเจ้าเกลียดสงครามเป็นที่สุด 
ตอนนี้ข้าพเจ้าวางทุกอย่างลงได้หมดแล้ว ลูกและภรรยาครอบครัวก็ไม่เป็นปัญหา บวชให้ข้าพเจ้าเถอะ “

“ รออีกสักระยะหนึ่งก่อน “ พระอาจารย์พูดแล้วก็เดินกลับเข้าวัด ท่านนายพลเลยจำใจต้องกลับบ้านไป

รุ่งขึ้นแต่เช้าตรู่ ท่านนายพลก็มาที่วัดอีก พระอาจารย์เลยทักว่า
“ ท่านนายพลทำไมถึงตื่นมาไหว้พระแต่เช้า “
“เพื่อดับไฟอันร้อนรุ่มในหัวอก เลยตื่นเช้ามาไหว้พระพุทธองค์ “

พระอาจารย์เลยเหย้าแหย่กลับไปว่า “ตื่นแต่เช้ามาอย่างนี้ ไม่กลัวเมียมีชู้หรือ ? “ 

ท่านนายพลรู้สึกโกรธจัด จึงร้องด่าออกมาตามความเคยชินที่อยู่ในสงคราม ว่า 
“ !!!!! เจ้าทำไมพูดจาทำร้ายคนขนาดนี้ “ 

พระอาจารย์หัวเราะเบาๆ พูดมาเป็นโศลก ว่า
โบกพัดเพียงเบาๆ ไฟในอกก็ คุ กรุ่น
มุทะลุอย่างนี้หรือ คือการวางลงได้แล้ว

ท่านนายพลฟังแล้วหน้าแดงกล่ำ ไม่สามารถโต้ตอบอะไรได้อีก 

๙. อะไรคือโฉมหน้าดั้งเดิมก่อนเราเกิดมา


หลังจากที่พระจวีจือบวชได้ไม่นาน วันหนึ่งมีภิกษุณีมาที่วัดภิกษุณีนั้นใส่หมวกที่สานด้วยไม้ไผ่
 และถือกระบองที่ทำด้วยตะกั่ว มาถึงก็เวียนรอบพระจวีจือ 3 รอบ 

“ถ้าเจ้าพูดออกมาได้ ข้าพเจ้าจะถอดหมวกนี้ออก” พระจวีจือไม่รู้ว่าจะพูดอะไร ภิกษุณีนั้นเลยขอลากลับ
พระจวีจือเห็นว่าใกล้ค่ำแล้ว เลยบอกให้พักค้างคืนที่วัดก่อน

“ถ้าเจ้าพูดออกมาได้ ข้าพเจ้าก็จะอยู่ก่อน” แต่พระจวีจือไม่ทราบว่า
ภิกษุณีนั้นต้องการให้พูดอะไร หลังจากเรื่องนี้ผ่านไป พระจวีจือรู้สึกสังเวชใจมาก ที่ไม่สามารถตอบภิกษุณีนั้นได้
 เมื่อพระอาจารย์ของพระจวีจือมาหา พระจวีจือจึงเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง พระอาจารย์ไม่พูดอะไร
 ได้แต่ชูหัวแม่มือให้พระจวีจือดู พระจวีจือจึงรู้แจ้งทันที

หลังจากนั้นเมื่อมีผู้มาถามธรรมมะ พระจวีจือจะตอบคำถามด้วยการชูหัวแม่มืออย่างเดียว ครั้นเวลานานเข้า สามเณรในวัดก็เลียนแบบบ้าง 
ทุกครั้งที่อาจารย์ไม่อยู่ เมื่อมีผู้มาถามธรรมะ ก็จะชูหัวแม่มือขึ้นมาเหมือนกัน

เรื่องรู้ถึงหูพระจวีจือ จึงถามเณรน้อยว่า “อะไรคือพระธรรม?” เณรนั้นยกหัวแม่มือขึ้นมาเป็นคำตอบ 
พระจวีจือเลยใช้มีดตัดหัวแม่มือนั้นจนขาด เณรน้อยนั้นร้องลั่น พระจวีจือถามต่อทันทีว่า 

“อะไรคือโฉมหน้าดั้งเดิมก่อนเราเกิดมา” เณรน้อยยกหัวแม่มือขึ้นมาตามความเคยชิน เมื่อไม่เห็นหัวแม่มือ จึงเกิดการรู้แจ้งขึ้นมาทันใดนั้น
( เรื่องนี้เป็นเพียงแค่นิทาน จริงหรือเท็จอย่างไรคงไม่มีใครทราบได้ ) 

๑๐. สังฆปริณายกองค์ที่ 4 กับฝ่าหยง

สังฆปริณายกองค์ที่ 4 มีนามว่า เต้าสิ้น วันหนึ่งท่านผ่านไปที่ภูเขาหนิวโถว ซึ่งเป็นที่อยู่ของท่านฝ่าหยง
 จึงแวะไปหา ท่านฝ่าหยงเห็นท่านเต้าสิ้นมาก็ไม่ได้แสดงท่าทีสนใจอะไร

เต้าสิ้น : ท่านทำอะไรอยู่ที่นี่

ฝ่าหยง : ดูจิต

เต้าสิ้น : ใครกำลังดูจิต สิ่งที่ดูคือจิตอะไร

ฝ่าหยง : พูดไม่ออก

เต้าสิ้น : หากอยากจะปฏิบัติธรรมจนเป็นพุทธะ ไม่จำเป็นต้องตั้งใจเพ่งจ้อง และก็ไม่ต้องกดข่ม ปล่อยให้เป็นไปตามครรลองธรรมชาติของจิต

ฝ่าหยง : ถ้าไม่ตั้งใจเพ่งจ้อง หากจิตกระเพื่อมจะทำอย่างไร

เต้าสิ้น : สิ่งต่างๆในโลกนี้ไม่มีดี ไม่มีชั่ว ไม่มีสวยไม่มีขี้เหร่ หากอยากจะแบ่งแยกดีชั่วจริงๆ 
พูดได้แต่เพียงว่า ข้างในแม้จะสว่างแต่จิตไม่สงบ ลักษณะอย่างนี้แม้ว่าจะนั่งสมาธิทุกวันก็ป่วยการไปเปล่าๆ 
ที่สุดก็เป็นพุทธะไม่ได้ หากไม่ปล่อยให้จิตไปยึดติดกับสรรพสิ่ง ก้าวพ้นออกมาจากสรรพสิ่งทั้งหลาย เจ้าจะบรรลุถึงจิตพุทธะได้

ขณะนั้นพอดีมีเสือตัวหนึ่งดินเข้ามาหมอบนิ่งๆอยู่ใกล้ท่านฝ่าหยง ท่านเต้าสิ้นเห็นแล้วตกใจกลัว ท่านฝ่าหยงหัวเราะแล้วพูดว่า 

“ ท่านยังมีอย่างนี้อีกหรือ ? “

ท่านเต้าสิ้นไม่พูดอะไร แต่ไปที่เบาะรองนั่งสมาธิของท่านฝ่าหยง แล้วเขียนคำว่า “ พุทธะ "
 แล้วเชิญท่านฝ่าหยงนั่ง ท่านฝ่าหยงลังเลไม่กล้านั่ง ท่านเต้าสิ้นหัวเราะแล้วพูดว่า

“ ท่านก็มีอย่างนี้ด้วยหรือ ? " แล้วทั้งสองก็หัวเราะพร้อมกัน 

ท่านเต้าสิ้นและท่านฝ่าหยงสนทนาธรรมจนค่ำ ท่านฝ่าหยงจึงชวนให้ค้างคืนที่นั่น แต่ว่ามีเพียงเตียงเดียว
 ท่านฝ่าหยงจึงเสียสละเตียงให้ท่านเต้าสิ้นนอน แล้วตัวเองก็ไปนั่งสมาธิ กลางดึก ท่านเต้าสิ้นนอนกรนเสียงดังมาก 

รุ่งเช้า ท่านฝ่าหยงจึงต่อว่าท่านเต้าสิ้นว่า เมื่อคืนนี้ท่านนอนกรนเสียงดังสนั่นหวั่นไหว จนทำให้ข้าพเจ้านั่งทำสมาธิไม่ได้ ท่านเต้าสิ้นตอบว่า

“ เมื่อคืนนี้ท่านทำเห็บตัวหนึ่งตกลงไปที่พื้น จนขามันหักไปขาหนึ่ง ทำให้มันร้องทั้งคืน รบกวนการนอนของข้าพเจ้าเหมือนกัน 

๑๑. รู้ว่าเดินผิดทางแล้วละ


มีพระเซนรูปหนึ่ง เมื่อครั้งยังเป็นหนุ่ม มักออกจะท่องเที่ยวธุดงค์ไปในที่ต่างๆ ได้พบกับคนชอบสูบบุหรี่คนหนึ่งระหว่างทาง 
ทั้งสองจึงเดินร่วมทางกันไปด้วยระยะหนึ่ง ขณะที่นั่งพักอยู่ริมธาร ชายคนนั้นได้ให้กล้องสูบยาและยาเส้นจำนวนหนึ่ง 
พระรูปนั้นรับสิ่งที่คนนั้นให้มาด้วยความยินดี จึงติดสูบยาเส้นอยู่ระยะหนึ่ง

วันหนึ่งจึงได้คิดว่า เจ้าสิ่งนี้ทำให้ตัวเองมีความสุขมาก คงจะรบกวนการทำสมาธิแน่นอน ถ้าหากปล่อยให้เสพติดอย่างนี้ต่อไป 
ก็จะกลายเป็นความเคยชินที่ไม่ดีและแก้ยาก น่าจะเลิกเสียแต่แรกดีกว่า จึงนำกล้องและยาไปทิ้ง

ผ่านไปอีกระยะหนึ่งก็ไปหมกมุ่นอยุ่กับคัมภีร์ “ยี่จิง” เรียนรู้จนสามารถคำนวญและทำนายอะไรต่างๆได้
 วันหนึ่งในหน้าหนาว อากาศหนาวสะท้านไปทั่ว พระเซนนั้นเลยเขียน จ.ม. ไปขอเสื้อกันหนาวจากพระอาจารย์ของตัวเอง 
แต่ว่า จ.ม.ส่งออกไปตั้งนาน นานจนหน้าหนาวผ่านไป 
หิมะบนภูเขาก็ละลายไปหมดแล้ว แต่พระอาจารย์ก็ยังไม่ได้ส่งเสื้อกันหนาวมา และก็ไม่มีข่าวคราวใดๆจากพระอาจารย์มาเลย
 พระรูปนั้นเลยใช้ตำราคัมภีร์ “ยี่จิง”มาผูกดวงเอง
 ที่สุดก็คำนวญออกมาว่า จ.ม.ฉบับนั้นส่งไปไม่ถึงมือพระอาจารย์

เขาคิดในใจว่า แม้ว่าคัมภีร์ “ยี่จิง” จะแม่นยำ แต่ว่าถ้าเรายังหมกมุ่นอยู่กับทางเดินสายนี้
 จะมุ่งมั่นแน่วแน่ปฏิบัติธรรมได้อย่างไร? ตั้งแต่นั้นมาเลยไม่ไปเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับคัมภีร์นี้อีก

หลังจากนั้น พระรูปนั้นก็ไปหมกมุ่นอยู่กับเรื่องราวของการขีดๆเขียนๆอีก ทุกวันก็มักจะนั่งอ่าน ค้นคว้า
 ขีดเขียนอยู่แต่กับหนังสือ มีผลงานออกมาหลายเล่มจนได้รับการยกย่องจากคนในวงการไม่ขาดปาก 

วูบหนึ่ง ท่านคิดได้ว่า “ เรากลับมาเดินห่างจากเส้นทางแห่งมรรคอีกแล้ว ถ้าหากเป็นอย่างนี้ต่อไป 
เราคงจะต้องกลายเป็นนักประพันธ์ นักวิชาการ ก็คงจะเป็นพระอาจารย์เซนไม่ได้แล้ว"

ตั้งแต่นั้นมาเลยตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติอย่างเดียว ละทิ้งทุกอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติธรรม
 ที่สุดก็กลายเป็นพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงของนิกายเซน

๑๒. ตกปลา

มีเศรษฐีคนหนึ่ง เห็นยาจกคนหนึ่งตกปลาอยู่ริมทะเล จึงเดินเข้าไปแล้วพูดว่า

เศรษฐี : เจ้าทำไมไม่คิดหาวิธีที่จะตกปลาให้ได้มากกว่านี้ เช่นว่าซื้อเรือมาสักลำ

ยาจก : ข้าจะต้องทำอย่างนั้นทำไม

เศรษฐี : ถ้าหากเจ้าซื้อเรือ เจ้าก็จะออกไปตกปลาได้ไกลกว่านี้ ที่นั่นย่อมมีปลามากกว่านี้

ยาจก : หลังจากนั้นล่ะ

เศรษฐี : หลังจากนั้นเจ้าก็นำเงินที่ได้จากการตกปลา ไปซื้อ เรือที่ใหญ่กว่านี้ ไปตกในที่ลึกกว่านี้ ย่อมจะได้ปลามากกว่านี้

ยาจก : หลังจากนั้นล่ะ

เศรษฐี : หลังจากนั้นเจ้าก็จะตกปลาที่นี่อย่างหมดความกังวลใดๆ

ยาจก : ตอนนี้ข้าก็ตกปลาอยู่ที่นี่อย่างไม่มีความกังวลใดอยู่แล้ว

๑๓. กล้วยไม้

พระอาจารย์เซนท่านหนึ่งชอบปลูกต้นไม้ดอกไม้มาก โดยเฉพาะ กล้วยไม้รอบๆบริเวณวัดปลูกกล้วยไม้ชนิดต่างๆไว้มากมาย
 กล้วยไม้เหล่านั้นล้วนมาจากที่ต่างกัน ยามว่างท่านมักจะดูแลรดน้ำกล้วยไม้เหล่านี้ด้วยตัวเอง

วันหนึ่งท่านมีธุระจะต้องลงเขาไป จึงกำชับลูกศิษย์ให้ดูแลรดน้ำต้นไม้ให้ดี 
ขณะที่ลูกศิษย์กำลังรดน้ำอยู่นั้น เกิดหกล้มชนเสากล้วยไม้ล้มลง ทำให้กระถางแตก และกล้วยไม้ตกลงมาระเนระนาด 
ลูกศิษย์คิดในใจว่า อาจารย์กลับมาต้องโกรธ และตัวเองจะต้องถูกลงโทษเป็นแน่

เมื่อพระอาจารย์กลับมา ทราบเรื่องแล้วก็ไม่ได้โกรธแต่อย่างใด และยังพูดอีกว่า 
ตั้งแต่แรกเริ่มก็ไม่ได้ปลูกไว้ เพื่อที่จะโกรธ แต่เพื่อที่จะบ่มเพาะนิสัยและฝึกฝนจิต 
และเพื่อนำมาบูชาพระและสร้างทัศนียภาพรอบๆวัดให้ดูสวยงามและน่าอยู่

เรื่องราวต่างๆในโลกนี้ล้วนแต่เป็นอนิจจัง อย่ายึดติดกับสิ่งที่ตนเองรักจนแยกจากสิ่งนั้นไม่ได้ นั่นไม่ใช่วิสัยของผู้ปฏิบัติธรรม

๑๔. ละเว้นความชั่วทั้งปวง กระทำแต่ความดี

อำมาตย์ท่านหนึ่งไปเยี่ยมพระอาจารย์เซนท่านหนึ่ง เห็นพระอาจารย์ กำลังนั่งสมาธิอยู่บนกิ่งไม้ จึงพูดว่า “อันตรายเหลือเกิน นั่งอย่างนี้” 

พระอาจารย์ตอบว่า “สิ่งแวดล้อมตัวเจ้าอันตรายเสียยิ่งกว่า”

“ข้าพเจ้าเป็นอำมาตย์ใหญ่ ดำรงตำแหน่งสำคัญของบ้านเมือง มีอะไรที่อันตราย”

“วงการข้าราชการในราชสำนัก มีแต่แก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่น ประจบสอพลอ อันตรายรอบด้าน” พระอาจารย์ตอบ

“อะไรคือหลักใหญ่ๆของธัมมะ”อำมาตย์ถาม

“ละเว้นความชั่วทั้งปวง กระทำแต่ความดี”

ท่านอำมาตย์นึกว่าจะได้ฟังธรรมอันล้ำลึก ที่แท้ก็เป็นแค่คำพูดธรรมดาๆ รู้สึกผิดหวัง แล้วพูดขึ้นว่า “หลักการอันนี้ เด็กสามขวบก็ยังรู้เลย”

“เด็กสามขวบแม้จะรู้ แต่คนแก่อายุ 80 ก็ยังทำไม่ได้” พระอาจารย์ตอบ

๑๕. รสแห่งเซน

เรื่องราวในโลกล้วนเป็นทุกข์
ไม่เหมือนอยู่ในป่าเขา
เอนกายใต้ต้นหวาย
ใช้ก้อนหินมาหนุนนอน

ไม่อยากเป็นพระราชา
หรือจะอยากเป็นอำมาตย์
เกิดตายไม่กังวล
หรือจะกลัวการเปลี่ยนแปลง

พระอาจารย์ท่านหนึ่งเขียนบทกลอนด้านบนนี้ไว้ ฮ่องเต้ถังเต๋อจงเมื่อได้อ่านบทกลอนนี้แล้ว 
อยากจะพบและสนทนาธรรมกับพระท่านนี้ ว่าเป็นอย่างไร? จึงให้ท่านเสนาออกไปเชิญพระอาจารย์มาเข้าเฝ้า

เสนาท่านนั้นนำพระราชโองการมาถึงปากถ้ำที่พระอาจารย์ท่านนี้อยู่ ก็เห็นพระอาจารย์กำลังก่อไฟอยู่ในถ้ำ จึงตะโกนเข้าไปว่า

“พระราชโองการมาถึง รีบมาคุกเข่ารับพระราชโองการ”

แต่พระท่านนั้นทำเป็นคนหูหนวกไม่รู้ไม่ชี้ 

เสนานั้นเห็นพระอาจารย์เอาขี้วัวมาก่อไฟ บนเตานั้นกำลังเผาแตงชนิดหนึ่งอยู่ 
ไฟยิ่งมายิ่งลุกโชน ควันไฟลอยคละคลุ้งออกมาทั้งในถ้ำและนอกถ้ำ ควันไฟนั้นทำให้น้ำมูกของพระอาจารย์
ไหลออกมาเป็นทางยาวเฟื้อยจนหยดติ๋งๆ เสนานั้นเห็นสภาพอย่างนั้น จึงพูดขึ้นว่า 

“พระอาจารย์ น้ำมูกของท่านไหลออกมาอย่างนี้ ทำไมไม่เช็ดเสียเล่า?”

“ข้าไม่มีเวลาว่างจะมาเช็ดน้ำมูกให้กับชาวโลกหรอก” 
พระอาจารย์ตอบ พูดพลางก็คีบแตงร้อนๆนั้นเข้าปากพลาง “อร่อยจริงๆ! อร่อยจริงๆ!”

แล้วก็ยื่นแตงนั้นให้เสนา แล้วพูดว่า 

“รีบกินตอนที่ยังร้อนๆอยู่! 
สามโลกก็มีแค่จิต ธรรมทั้งหลายก็อาศัยรู้ 
รวยหรือจน สูงหรือต่ำ ดิบหรือสุก อ่อนหรือแข็ง
จิตรู้อยู่แต่ตรงกลาง อย่าแบ่งแยกมันออกเป็นสองฝั่ง”

เสนานั้นเห็นพระอาจารย์ทำอะไรแปลกๆ พูดธัมมะที่ฟังไม่รู้เรื่อง เลยรีบกลับไป ทูลฮ่องเต้ 

ฮ่องเต้ตรัสว่า “ประเทศของเรามีพระอาจารย์อย่างนี้ เป็นบุญกุศลของทุกคนจริงๆ”

๑๖. สวยเพียบพูนด้วยเสน่ห์

มีอุบาสิกาหญิงคนหนึ่ง เกิดในตระกูลที่มั่งคั่ง ไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพย์สมบัติ ยศถาบรรดาศักดิ์ หรืออำนาจวาสนา 
หรือความสวยงามภายนอก เรียกได้ว่า หาคนเปรียบเทียบได้ยาก แต่ก็ยังไม่มีใครมารักมาชอบ ไม่มีแม้แต่คนที่มาคุยถูกคอ
 จึงไปขอคำชี้แนะจากพระอาจารย์ ว่าทำยังไงถึงจะมีเสน่ห์ให้คนมารักมาชอบ

พระอาจารย์เลยตอบว่า ถ้าเจ้าสามารถร่วมงานกับผู้อื่น ด้วยจิตที่มีเมตตา พูดจาด้วยคำเซน ฟังเสียงของเซน 
ทำเรื่องราวเกี่ยวกับเซน ใช้จิตของเซน เจ้าจะกลายเป็นผู้มีเสน่ห์ดึงดูดผู้คนมากที่สุด

“คำของเซน พูดยังไงเจ้าคะ?” อุบาสิกานั้นถาม

“คำของเซน คือพูดแต่เรื่องเรื่องดีๆ พูดแต่ความจริง พูดจาอ่อนน้อมถ่อมตน พูดแต่เรื่องที่มีประโยชน์ต่อผู้อื่น”

“แล้วเสียงของเซน ฟังยังไงเจ้าคะ?”

“เสียงของเซนคือทำเสียงทั้งหมดให้เป็นเสียงละเอียดอ่อน ทำเสียงด่าทอเป็นเสียงที่มีเมตตา
 ทำเสียงดูถูกเหยียดหยามเป็นเสียงที่คิดจะช่วยเหลือ และถ้าเจ้าฟังเสียงร้องไห้ เสียงวุ่นวาย
 เสียงหยาบ เสียงน่าเกลียด โดยที่เจ้าก็ไม่ถือสา นั่นคือเสียงของเซน”

“แล้วเรื่องราวของเซนทำยังไงเจ้าคะ”

“เรื่องของเซนคือ ทำบุญบริจาค ช่วยเหลือ งานกุศล ช่วยบรรเทาสาธารณภัย ทำสิ่งที่ถูกต้องตามศีลธรรม”

“แล้วจิตของเซนใช้ยังไงเจ้าคะ”

จิตของเซนคือ จิตของเจ้า ของข้าพเจ้า ของปุถุชน ของอริยะชน ล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน เป็นจิตที่ห่อหุ้มสรรพสิ่ง เป็นประโยชน์ให้กับสรรพสิ่ง

หลังจากที่อุบาสิกาท่านนั้นได้ฟังคำชี้แนะจากพระอาจารย์ จึงเปลี่ยน ความเย่อหยิ่งจองหองที่มีอยู่เดิม
 ไม่คุยโวโอ้อวดถึงฐานะตนเองต่อหน้าผู้อื่น ไม่ยกยอตัวเองว่าสวยเลอเลิศกว่าคนอื่น
 และมักจะอ่อนน้อมและมีมรรยาทต่อผู้อื่น เป็นห่วงเป็นใยและดูแลเอาใจใส่ต่อคนในปกครอง เมื่อปฏิบัติเช่นนี้ไปนานเข้า
 อุบาสิกาท่านนั้นก็ได้รับฉายาจากผู้อื่นว่า

“เป็นอุบาสิกาที่มีเสน่ห์มากที่สุด”

๑๗. อุทิศส่วนกุศล

มีชาวนาคนหนึ่งได้เชิญพระอาจารย์ท่านหนึ่งไปที่บ้าน เพื่อสวดอภิธรรมให้กับศพของภรรยาที่เสียชีวิต หลังจากที่สวดเสร็จแล้ว ชาวนานั้นถามว่า

“ท่านคิดว่า ภรรยาของผมจะได้ส่วนกุศลจากการสวดนี้สักเท่าไหร่”

“พระธรรมเหมือนยานแห่งความเมตตา เหมือนพระอาทิตย์ที่ส่องแสง ไม่แต่ภรรยาของเจ้าจะได้ คนอื่นๆยังพลอยได้รับส่วนกุศลไปด้วย”

ชาวนานั้นรู้สึกไม่พอใจ พูดว่า “ภรรยาของข้าพเจ้าอ่อนแอมาก คนอื่นๆ ย่อมจะมาเอาเปรียบ
 แย่งเอาส่วนกุศลไป ขอให้ท่านสวดอุทิศส่วนกุศลให้เขาโดยเฉพาะ อย่าอุทิศให้กับผู้อื่น”

พระอาจารย์พูดต่อไปว่า “การแผ่ส่วนกุศลของตัวเองให้กับผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นได้รับส่วนกุศลโดยทั่วกัน เป็นสิ่งที่ดีที่เราชาวพุทธควรรักษาไว้

หลักการของการแผ่ส่วนกุศลเป็นการอุทิศจากเหตุไปหาผล จากส่วนน้อยไปหาส่วนใหญ่ ก็เหมือนกับ
 แสงสว่างไม่ได้เจาะจงจะส่องสว่างให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ แสงสว่างสามารถส่องให้กับคนได้ทั้งหมด
 เหมือนกับดวงอาทิตย์ดวงเดียว ส่องสว่างให้กับคนทั้งโลก เหมือนเมล็ดพันธุ์ 1 เม็ด สามารถให้ผลผลิตได้นับไม่ถ้วน 

เจ้าควรจะใช้จิตของเจ้า จุดสว่าง เทียนในใจให้กับตัวเอง แล้วไปจุดต่อให้กับเทียนเล่มอื่นๆ 
เพื่อทำให้แสงสว่างเพิ่มขึ้นเป็นร้อยเท่าพันเท่า และนั่นก็ไม่ได้ทำให้ตัวของเทียนเองต้องสูญเสียแสงสว่างแต่อย่างใด

ถ้าหากทุกคนมีจิตสำนึกอย่างนี้ จากจุดเล็กๆที่ตัวเรา รวมกันเป็นกลุ่มชนเป็นมหาชน จะดีสักแค่ไหน
 พุทธศาสนิกชนทุกคน ควรจะมองผู้คนอย่างเสมอภาคเหมือนกันหมด”

ชาวนานั้นยังมีทิฐิอีก พูดต่อไปอีกว่า “คำสอนนี้ดีมาก แต่ก็ยังอยากมีข้อยกเว้นอีกอย่าง คือคนข้างบ้านของข้าพเจ้า
 มักจะชอบกลั่นแกล้งและรังแกข้าพเจ้า ยกเว้นเขาสักคน ไม่ให้มารวมกลุ่มอยู่ในกลุ่มชนทั้งปวงได้ก็ดี”

“อยู่ใต้หล้าเดียวกัน มีอะไรต้องยกเว้น” พระอาจารย์ตอบ

๑๘. ใครคือขี้วัว

ซูตงพอเป็นศิษย์ของพระอาจารย์เซนท่านหนึ่ง ซูตงพอเป็นทั้งอำมาตย์และเป็นนักกวีชื่อดังแห่งยุค (พ.ศ. 1580 -1644)
 บ้านของเขาอยู่คนละฟากฝั่งแม่น้ำกับวัด แต่ก็ไปมาหาสู่พระอาจารย์เป็นประจำ เพื่อมาต่อกลอนและมาภาวนาร่วมกัน

วันหนึ่งขณะที่นั่งสมาธิด้วยกัน พระอาจารย์นั่งนิ่งอยู่ในสมาธิ แต่ซูตงพอ นั่งได้ประเดี๋ยวเดียว ก็นั่งไม่ได้แล้ว
 เที่ยวมองไปก็มองมา เขานึกเอาเองว่าตัวเองนั่งสมาธิได้ไม่เลว จึงพูดกับพระอาจารย์ว่า

“ท่านเห็นลักษณะการนั่งของข้าพเจ้าเป็นอย่างไร?”

“เหมือนพระพุทธรูปองค์หนึ่ง”

“แล้วท่านนักประพันธ์ใหญ่เห็นอาตมาเหมือนอะไร”

“เหมือนขี้วัวหนึ่งกอง”ซูตงพอตอบ

พระอาจารย์ยิ้มๆ ไม่ว่าอะไรแล้วนั่งสมาธิต่อ ซูตงพออิ่มอกอิ่มใจที่สามารถพูดอำพระอาจารย์ได้ จึงกลับไปเล่าให้ 
คนที่บ้านฟัง คิดว่าคนที่บ้านต้องชมว่า ตนโต้ตอบได้ยอดเยี่ยมแน่ แต่น้องสาวของเขารู้สึกขำแล้วพูดว่า 

“พี่โง่จ๋า ยังจะนึกสะใจอยู่อีกพี่แพ้พระอาจารย์แล้ว”

“เป็นไปได้ยังไง? พี่แพ้ยังไง?”

“พระอาจารย์ในสายตาของพี่ มองเหมือนกับขี้วัว แต่ที่แท้คือพุทธะ แต่พี่ดูเหมือนพุทธะ แต่ในจิตใจ บรรจุขี้วัวไว้เต็มไปหมด”

ซูตงพอยังเหมือนกับไม่เข้าใจอยู่อีก น้องสาวเขาเลยอธิบายให้ฟังว่า

“เพราะในจิตของพระอาจารย์มีแต่พุทธะ ดังนั้นในมุมมองของท่าน
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้จึงเป็นพุทธะ แต่พี่ยังภาวนาไปไม่ถึงไหน ในจิตย่อมมีแต่สิ่งสกปรก จึงเห็นพระอาจารย์เป็นขี้วัว”

ซูตงพอฟังแล้วถึงได้เข้าใจ และรู้ว่าตัวเองเรื่องที่จะไปให้ถึงนั้นยังอยู่อีกไกล

๑๙. นรก

มีคนๆหนึ่งเมื่อตายแล้ว วิญญาณล่องลอยไปในที่แห่งหนึ่ง ขณะที่กำลังจะเข้าประตู คนเฝ้าประตูถามว่า

“เจ้าชอบกินหรือเปล่า? ที่นี่มีแต่ของกินที่วิเศษสุด
เจ้าชอบนอนหรือเปล่า? ที่นี่จะนอนนานแค่ไหนก็ไม่มีใครรบกวน
เจ้าชอบเล่นสนุกไหม? ที่นี่มีของเล่นทุกอย่างให้เลือก 
เจ้าเบื่อทำงานใช่ไหม? ที่นี่รับรองว่าไม่ต้องทำอะไร และไม่มีใครบังคับเจ้า”

วิญญาณนั้นรู้สึกดีใจที่ได้อยู่ที่นี่ อิ่มแล้วก็นอน นอนพอแล้วก็เล่น เล่นไปกินไป พอผ่านไป 3 เดือน รู้สึกเริ่มจะเบื่อ จึงไปหาคนเฝ้าประตูนั้น

“ใช้ชีวิตทุกวันอย่างนี้ ไม่เห็นจะดีตรงไหน 
เล่นมากจนเกินไป ก็ไม่เห็นจะสนุกอะไร 
กินอิ่มเกินไป ก็ทำให้อ้วนขึ้นเรื่อยๆ 
นอนมากเกินไป ก็ทำให้ความรู้สึกเฉื่อยชา 
ของานให้ข้าทำหน่อยได้มั้ย?” 
วิญญาณนั้นถาม

“ขอโทษ ที่นี่ไม่มีงานให้ทำ” ยามเฝ้าประตูตอบ

ผ่านไปอีก 3 เดือน วิญญาณนั้นทนไม่ได้แล้วจริงๆ พูดกับยามอีกว่า

“ข้าทนอยู่อย่างนี้ไม่ไหวอีกแล้ว ถ้าหากไม่ให้งานข้าทำ ข้ายอมตกนรกดีกว่า”

ยามตอบว่า “เจ้านึกว่าที่นี่เป็นสวรรค์หรือ? 
ตรงนี้คือนรกต่างหาก มันทำให้เจ้าไม่ต้องใช้ความคิด 
ไม่ต้องสร้างสรรค์ ไม่มีอนาคต ค่อยๆหลอมละลาย
การทรมานลักษณะนี้ ทรมานยิ่งกว่า เมื่อเทียบกับขึ้นภูเขามีด ลงกระทะทองแดง ซึ่งเป็นความทรมานทางกาย

๒๐. ตะขาบ

กบตัวหนึ่งเห็นตะขาบเดินมา เลยมองขาตะขาบแล้วคิดจนเครียดว่า ตัวเรามี 4 ขา ยังเดินอย่างยากลำบาก 
แต่ตะขาบมีขานับไม่ถ้วน แล้วจะเดินยังไง เป็นเรื่องที่แปลกจริงๆ
 ตะขาบจะกำหนดยังไงว่าให้ขาไหนก้าวไปก่อนขาไหนขยับตาม แล้วเคลื่อนไหวขาไหนอีก

กบตัวนั้นดักตะขาบไว้แล้วจึงถามว่า 
“ข้าคิดจนสับสนหมดแล้ว มีปัญหาที่ข้าตอบตัวเองไม่ได้ว่า เจ้าเดินยังไง ใช้ขาเยอะแยะอย่างนี้ น่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้”

“ข้าก็เดินของข้าอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว ไม่เคยคิดเรื่องนี้มาก่อน ไหนๆก็ถามมาแล้ว ขอให้ข้าคิดก่อนแล้วกัน” ตะขาบตอบ

ความคิดอย่างนี้เป็นความคิดครั้งแรกที่เข้ามาสู่ความคิดคำนึงของตะขาบ ตะขาบยืนคิดอยู่หลายนาทีว่
า ขาไหนขยับยังไง คิดจนวุ่น ไม่รู้ขยับขาไหนต่อขาไหนก่อน ที่สุดก็ขยับขาไม่ได้ เดินเป๋ไปหลายก้าว จึงหมอบลงไปแล้วพูดกับกบว่า

“ขออย่าได้ถามปัญหาอย่างนี้กับตะขาบตัวอื่นเลย ข้าเดินของข้าอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว ไม่เห็นมีปัญหาอะไร 
แต่ว่าตอนนี้เจ้าทำให้ข้าลำบากเสียแล้ว ข้าขยับไม่ได้แล้ว ขาของข้าทุกขาไม่รู้จะขยับขาไหนแล้ว ข้าจะทำยังไงดี”

๒๑. ( ๑๘ อรหันต์ทองคำ )
ที่เชิงเขาผู่ถอ มีชายหาฟืนและครอบครัวอาศัยอยู่หลังหนึ่ง ครอบครัวนี้เลี้ยงชีพด้วยการหาฟืนมาหลายชั่วคนแล้ว
 ทุกๆเช้าชายคนนี้จะออกไปหาฟืนแต่เช้า กว่าจะกลับก็ค่ำมืด ใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก
 หากินมาไม่พอเลี้ยงปากท้อง ภรรยาของเขาเมื่อไปวัด จึงมักจะวิงวอนขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เมตตา
 ช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากความทุกข์ยาก

เหมือนสวรรค์มีตา วันหนึ่งโชคลาภก็มาถึง ชายหาฟืนคนนั้น ขุดพบรูปปั้นอรหันต์ทองคำมา 1 องค์
 ชั่วพริบตานั้นเขาก็กลายเป็นเศรษฐีขึ้นมาทันที เลยไปซื้อบ้านและไร่นา พร้อมกับจัดงานเลี้ยงฉลองกินกับญาติสนิทมิตรสหายกันอย่างครึกครื้น

ตามความเป็นจริงแล้วชายคนนั้นน่าจะรู้จักพอแล้ว น่าจะรู้จักรสชาติของเศรษฐีแล้ว แต่ก็อิ่มอกอิ่มใจได้ไม่นาน
 ความทุกข์กังวล ก็เริ่มมาแล้ว ถึงกับกินไม่อิ่ม นอนไม่หลับ ผุดลุกผุดนั่งทั้งวัน

ภรรยาของเขาจึงเตือนว่า “ตอนนี้บ้านเราเรื่องกินเรื่องอยู่ก็ไม่ขาด อะไร ทั้งยังมีเรือกสวนไร่นา บ้านหลังงาม 
เจ้ายังจะทุกข์กังวลอะไรอีก ? แม้จะมีขโมย ชั่วเวลาประเดี๋ยวประด๋าว
 ก็คงจะขโมยอะไรได้ไม่หมด เจ้าคนผีเฮงซวย เจ้าคนเกิดมาเพื่อจะจนตลอดชีวิต “

ชายหาฟืนได้ยินภรรยาพูดอย่างนั้น จึงพูดอย่างรำคาญว่า “ แม่บ้านอย่างเจ้าจะรู้อะไร ? 
กลัวคนขโมยนั้นเรื่องเล็ก แต่เรื่องของ 18 อรหันต์ทองคำนี่ซี ข้าเพิ่งจะได้มาองค์เดียว
 อีก 17 องค์ ข้ายังไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ? แล้วข้าจะสบายใจได้อย่างไร ? ที่สุดชายตัดฟืนซึ่งคิดกังวล
แต่เรื่องอยากได้ 17 อรหันต์ทองคำที่เหลือ ก็ล้มป่วยลง ป่วยได้ไม่นานก็ตายไป

๒๒. เงินแลกกับปัญญา

ครั้งหนึ่ง ขณะที่ชายคนหนึ่งกำลังซ่อมกำแพงที่ถล่มลงมา หลังจากฝนตกลงมาอย่างหนัก
 เขาได้ขุดพบทองคำก้อนใหญ่ ก้อนหนึ่ง เลยกลายเป็นเศรษฐีในชั่วพริบตา

ชายคนนั้นรู้ตัวเองดีว่า ตัวเองค่อนข้างโง่ จึงไปปรึกษากับพระอาจารย์ท่านหนึ่ง พระอาจารย์แนะนำว่า
 “เจ้ามีเงิน ผู้อื่นมีปัญญา เจ้าทำไมไม่ใช้เงินไปซื้อปัญญาของคนอื่น”

ชายคนนั้นจึงเข้าไปในเมืองเจอพระรูปหนึ่ง ชายนั้นจึงถามพระรูปนั้นว่า “ท่านจะขายปัญญาของท่านให้แก่ข้าพเจ้าได้หรือเปล่า”
 พระนั้นตอบว่า ปัญญาของอาตมาแพงนะ เจ้าสู้ไหวหรือ?” “ขอเพียงซื้อปัญญาได้แพงเท่าไหร่ ข้าพเจ้าก็สู้” ชายนั้นตอบ

“เมื่อเจ้าพบสิ่งที่ยากลำบากใจ เจ้าอย่าเพิ่งเร่งรีบตัดสินใจ ให้เดินไปข้างหน้า 3 ก้าว 
หลังจากนั้นเดินถอยไปข้างหลัง 3 ก้าว ทำซ้ำอย่างนี้ อีก 3 ครั้ง เจ้าก็จะได้ปัญญา”

“ปัญญา ง่ายอย่างนี้หรือ?” ชายคนนั้นทำท่าไม่เชื่อและลังเล กลัว พระรูปนั้นจะหลอกเอาเงิน พระรูปนั้นอ่านสายตานั้นออก จึงพูดว่า

“เจ้ากลับไปก่อน ถ้าหากเจ้ารู้สึกว่าปัญญาของข้าพเจ้าไม่คุ้มกับเงินเหล่านี้ เจ้าก็ไม่ต้องกลับมาแล้ว หากเจ้าคิดว่าคุ้ม เจ้าค่อยกลับมา”

เมื่อกลับถึงบ้านในตอนค่ำมืด ชายคนนั้นเห็นเหมือนกับภรรยา กำลังนอนอยู่กับคนอื่น
 จึงถืออีโต้เข้าไปหวังจะฆ่าคนนั้น แต่ทันใดนั้นนึกถึงคำพูดของพระรูปนั้นในตอนกลางวัน 

จึงเดินไปข้างหน้า 3 ก้าว เดินถอยหลัง 3 ก้าว ทำซ้ำอีก 3 ครั้ง 
ขณะที่กำลังเดินอยู่นั้น คนที่นอนอยู่กับภรรยาของเขาพูดขึ้นว่า “ลูกเอ๊ย ดึกๆอย่างนี้ทำอะไรอยู่นั่น?”

ชายคนนั้นเมื่อรู้ว่าเป็นเสียงมารดาของตนเอง จึงคิดในใจว่า “หากกลางวันนี้ไม่ซื้อปัญญามา วันนี้คงจะฆ่าแม่ของตนเองแล้ว”

วันรุ่งขึ้นจึงรีบนำเงินไปถวายพระรูปนั้นแต่เช้า

๒๓. เคล็ดลับแห่งความสำเร็จ

เหล่าลูกศิษย์ถามพระอาจารย์ว่า “ทำอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จ” อาจารย์จึงพูดว่า 
“วันนี้พวกเราจะเรียนเรื่องธรรมดาๆและง่ายที่สุด” ให้ทุกคนแกว่งแขนไปข้างหน้าให้สุด
 แล้วแกว่งไปข้างหลังให้สุดเช่นกัน พระอาจารย์สาธิตให้ดู พร้อมกับกำชับว่า
 “ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ให้แกว่งแขนวันละ 300 ครั้ง ทุกคนทำได้หรือเปล่า ?”

เหล่าลูกศิษย์รู้สึกสงสัยจึงถามว่า “ทำไมต้องทำเรื่องอย่างนี้” พระอาจารย์ตอบว่า “หลังจากทำเรื่องนี้แล้ว ผ่านไปหนึ่งปี 
พวกเจ้าจะรู้ว่า ทำอย่างไรจึงจะประสบผลสำเร็จ” เหล่าลูกศิษย์คิดในใจว่า “เรื่องง่ายๆอย่างนี้ ทำไมถึงจะทำไม่ได้”

หลังจากผ่านไปหนึ่งเดือน พระอาจารย์ถามเหล่าลูกศิษย์ว่า “เรื่องที่อาจารย์สั่งให้ทำ มีใครยังทำอยู่หรือเปล่า? 
ลูกศิษย์ส่วนใหญ่ยังตอบอย่างมั่นคงว่า ยังทำอยู่ พระอาจารย์รู้สึกพอใจ พยักหน้าบอกว่า “ดีๆ”

และเมื่อผ่านไปอีกหนึ่งเดือน พระอาจารย์ก็ถามอีกว่า “ตอนนี้ใครยังทำอยู่อีก” ที่สุดก็เหลือเพียงครึ่งเดียวที่บอกว่าทำแล้ว

หนึ่งปีผ่านไป พระอาจารย์ถามทุกคนว่า "พวกเจ้าจงบอกซิว่า การออกกำลังกายด้วยการแกว่งแขนแบบง่ายๆ ยังมีใครยังคงทำอยู่ ?” 
ตอนนี้มีเพียงคนเดียว ที่ตอบว่ายังคงทำอยู่

พระอาจารย์จึงพูดว่า “อาจารย์เคยบอกกับพวกเจ้าว่า เมื่อทำเรื่องนี้เสร็จ พวกเจ้าจะรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะประสบผลสำเร็จ 
ตอนนี้สิ่งที่อาจารย์อยากจะบอกพวกเจ้าคือ เรื่องที่ทำง่ายที่สุดในโลก บ่อยครั้งก็เป็นเรื่องที่ทำยากที่สุด
 เรื่องที่ทำยากที่สุด ที่บอกว่าง่าย เพราะขอเพียงยอมไปทำ ใครๆก็สามารถทำได้

และที่บอกว่าเรื่องง่ายทำยาก ก็เพราะว่า คนที่ทำได้อย่างแท้จริง ต้องทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่น้อยคนจะทำได้

หลังจากนั้น พระรูปที่ทำต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ก็ได้เป็นเจ้าอาวาสองค์ต่อไป ในบรรดาศิษย์ทั้งหลายมีพระรูปนี้ที่ประสบความสำเร็จอยู่รูปเดียว

๒๔. เจ้าแม่กวนอิมแสดงธรรม

ฮ่องเต้องค์หนึ่งโปรดเสวยหอยมือแมวมาก ชาวประมงจะต้องนำหอยมาส่งในวังทุกๆวัน 
วันหนึ่งขณะที่พ่อครัวแกะเปลือกหอยอยู่เห็นด้านในมีลักษณะแข็งๆ มองดูเหมือนรูปเจ้าแม่กวนอิม
 รูปทรงสวยงาม ดูแล้วให้เกิดความน่านับถือและศรัทธายิ่งนัก

พ่อครัวเลยรีบนำไปถวายฮ่องเต้ ฮ่องเต้ได้นำหอยนี้ไปใส่ไว้ในผอบทองคำ แล้วนำไปไว้ที่วัด เพื่อให้ชาวเมืองได้สักการะบูชา

เมื่อฮ่องเต้ออกว่าราชการจึงถามเหล่าขุนนางว่า “การปรากฏตัวของพระโพธิสัตว์เป็นเรื่องที่น่าประหลาดยิ่งนัก 
ไม่ทราบว่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีหรือเกิดลางดีอะไรหรือเปล่า?”

ขุนนางท่านหนึ่งตอบว่า เรื่องนี้เกินกว่าที่คนธรรมดาจะรู้ได้ ที่ภูเขาต้าฮว๋า มีอาจารย์เซนท่านหนึ่ง
 สามารถเข้าถึงธรรมที่ล้ำลึกได้ หากพระองค์ต้องการจะทราบเรื่องนี้ก็ไปนิมนต์เชิญมาที่ในวังได้

เมื่อพระอาจารย์มาถึงในวัง ได้พูดกับฮ่องเต้ว่า “วัตถุไม่มีสิ่งใดตอบสนอง แต่เป็นการก่อให้เกิดความศรัทธาและเชื่อมั่น 

เมื่อผู้ที่พระโพธิสัตว์ต้องการฉุดช่วย ก็จะปรากฏตัวออกมา เพื่อแสดงธรรม ครั้งนี้ที่พระโพธิสัตว์แสดงตัวออกมา
 ก็เพื่อจะแสดงธรรมให้กับฮ่องเต้”

“พระโพธิสัตว์ปรากฏตัวออกมาแล้ว แต่ข้าพเจ้าไม่ได้ยินเสียงท่านแสดงธรรมเลย” ฮ่องเต้ถามอีก

“พระโพธิสัตว์ปรากฏตัวออกมาในหอย พระองค์ทรงเชื่อหรือเปล่า?”

“ข้าพเจ้าเห็นเรื่องประหลาดอย่างนี้มากับตา ต้องเชื่อแน่นอน” ฮ่องเต้ตอบ

“เมื่อพระองค์ทรงเชื่อ พระโพธิสัตว์ก็ได้แสดงธรรมจนจบสิ้นแล้ว” พระอาจารย์ตอบ

๒๕. คำสอนของปรมาจารย์ตั้กม๊อ

ท่านโพธิธรรมตั้กม๊อ เกิดในวรรณะพราหมณ์เป็นชาวอินเดีย เป็นสังฆนายกของนิกายเซนองค์ที่ 28 ของนิกายเซน 
(องค์แรกคือพระมหากัสสปะ องค์ที่สองคือพระอานนท์)
 แต่ชาวจีนนับท่านเป็นองค์แรก ของนิกายเซนของจีน ท่านอยู่ที่เมืองจีนประมาณ 50 กว่าปี

จากคัมภีร์เล่มหนึ่งท่านกล่าวว่า ผู้ที่จะปฏิบัติธรรมได้ดี จะต้องมีความศรัทธาและเชื่อมั่นก่อน ถึงจะเข้าถึงธรรมได้ดี

ส่วนการนั่งสมาธินั่งนั้น เมื่อนั่งจนสงบนิ่งเหมือนไม่มีลมหายใจ จิตหยุดกระเพื่อม 
ความรู้สึกไม่รับผัสสะที่มาจากภายนอกทั้งหมด จิตแน่วแน่และมั่นคงดั่งหินผา จะสามารถเข้าสู่ทางเดินแห่งการรู้แจ้งได้

ส่วนการดำเนินจิตในชีวิตประจำวัน จะต้องเข้าถึงหลักดังนี้

1. กฏแห่งกรรม เมื่อพบความทุกข์ใดๆ ก็ต้องสำนึกว่า ความทุกข์และความเจ็บปวดเป็นผลกรรมจากการกระทำในชาติก่อน 
เพราะเหตุนี้จึงไม่ควรหลงโกรธโทษฟ้าดิน ยอมรับผลกรรม โดยไม่โอดครวญและหลงโทษสิ่งใดๆ

2. ไปตามครรลองของธรรมชาติ แม้ว่าทุกอย่างจะเกิดจากเหตุ สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม แต่ทุกสิ่งก็เป็นอนัตตา 
ทุกข์สุขความเป็นไปของชีวิต เกิดจากกรรมภายในภายนอก เป็นตัวกำหนด ยามเมื่อมีเงินทองเกียรติยศชื่อเสียง
 พึงสำเหนียกว่า เป็นผลจาการกระทำในอดีต แต่เมื่อเสวยผลบุญจนสิ้นสุด
 ก็จะกลายเป็นไม่มี ได้หรือเสียเป็นไปตามกรรม จิตไม่มีเพิ่มหรือลด ดีมาก็ไม่กระเพื่อมเป็นไปตามครรลอง

3. ไม่แสวงหาสิ่งใดๆ คนในโลกนี้ล้วนแต่มีความโลภ คนมีปัญญาถึงจะเข้าใจถึงความเป็นจริง 
นึกถึงเมื่อวนเวียนอยู่ในสามโลกอันยาวนาน นึกถึงความทุกข์ของการมีกายมีการแสวงหา 
เมื่อมาถึงการรู้แจ้งถึงการแสวงหาสิ่งเหล่านี้ จิตก็จะหยุดดิ้นรน ก็จะเข้าถึงมรรคที่แท้จริงได้

4. บำเพ็ญตนใน 6 สิ่งนี้คือ ทำทาน รักษาศีล อดทน ใฝ่ก้าวหน้า จิตสงบ เดินทางสายกลางและสุญตา

๒๖. ดอกไม้กับการปฏิบัติธรรม
มีอุบาสิกาท่านหนึ่ง ทุกๆวันจะนำดอกไม้จากที่บ้าน ไปเปลี่ยนดอกไม้ในแจกันหน้าพระประธานที่วัด 
วันหนึ่งขณะที่นำดอกไม้ไปที่วัด ได้พบกับพระอาจารย์ท่านหนึ่ง พระอาจารย์ได้ทักทายขึ้นว่า

“โยมนำดอกไม้มาบูชาพระทุกวัน ตามตำราเขาว่า ชาติหน้าเกิดมาต้องมีรูปโฉมที่งดงามแน่นอน”

“ดิฉันทำอย่างนั้นเพราะ ทุกๆวันที่ดิฉันนำดอกไม้มาที่วัด รู้สึกเหมือนกับจิตวิญญาณถูกชำระด้วยน้ำที่ใสสะอาด
 แต่เมื่อได้กลับไปที่บ้าน จิตกลับรู้สึกฟุ้งซ่าน ไม่สงบ เกิดมาเป็นผู้หญิงแม่บ้าน ทำอย่างไรถึงจะอยู่ในโลกที่วุ่นวายสับสน
 และก็ยังสามารถรักษาจิตให้สะอาดและสงบได้เจ้าคะ?”

พระอาจารย์ตอบว่า “การรักษาจิตให้สะอาดและสงบ ก็ใช้หลักการเดียวกับการรักษาดอกไม้ให้สดสวยเช่นกัน 
โยมอยู่กับดอกไม้บ่อยๆ ย่อมจะต้องรู้จักวิธีการรักษาดอกไม้ “

อุบาสิกานั้นตอบว่า “วิธีที่จะรักษาดอกไม้ให้สดเสมอ ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการเปลี่ยนน้ำทุกวัน 
และก่อนที่จะนำ ดอกไม้ไปใส่ต้องตัดปลายกิ่งที่เน่าออกเสียก่อน เพราะส่วนที่เน่าไม่สามารถดูดน้ำไปเลี้ยงดอกได้ ดอกไม้จะเ**่ยวแห้งได้ง่าย”

พระอาจารย์พูดต่อว่า “นั่นแหละถูกแล้ว สิ่งแวดล้อมรอบตัวก็เหมือนน้ำ ตัวเราก็เหมือนดอกไม้ 
ต้องตัดกิเลสและสิ่ง เศร้าหมองออกถึงจะสามารถดูดซับสิ่งดีๆจากธรรมชาติได้”

อุบาสิกานั้นกล่าวขอบคุณ และหวังว่าจะมีโอกาสมาปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดบ้าง
 เพื่อที่จะได้ฟังเสียงระฆังยามทำวัตรเช้า ได้สวดมนต์ และได้ใช้ชีวิตอย่างสงบในวัด

พระอาจารย์กล่าวต่อว่า “กายของเจ้าเปรียบได้ดั่งวัด ชีพจรดั่งเสียงระฆัง สองหูคือพุทธะ 
ลมหายใจเป็นบทสวดมนต์ ทุกแห่งหนล้วนสุขสงบ ยังมีความจำเป็นใดต้องมาปฏิบัติธรรมในวัดอีก”

๒๗. ทางแห่งความสุข

มีอุบาสก 3 ท่านถามพระอาจารย์ว่า “นับถือศาสนาพุทธ
สามารถหลุดพ้นจากทุกข์ได้จริงหรือ? แล้วทำไมพวกเรา นับถือพุทธมานาน ถึงยังไม่มีความสุข”

“พวกเจ้ามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร?” พระอาจารย์ถาม

คนที่หนึ่งตอบว่า “ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่เพื่อจะไม่ตาย ความตายน่ากลัวเหลือเกิน ข้าพเจ้ายังไม่อยากตายดังนั้นจึงยังอยากมีชีวิตอยู่”

คนที่สองตอบว่า “ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่เพื่อ ตอนนี้ที่ยังหนุ่มต้องขยันขันแข็ง เพื่อจะได้มั่งมีศรีสุขในตอนแก่”

คนที่สามตอบว่า “ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่เพื่อเลี้ยงดูคนทั้งครอบครัว ไม่มีข้าพเจ้า พวกเขาคงจะอยู่ไม่ได้ 
ข้าพเจ้าเป็นเสาหลักของครอบครัว ขาดข้าพเจ้าไป ครอบครัวนี้ต้องล่มสลายเป็นแน่”

พระอาจารย์ตอบว่า “ทั้งวันพวกเจ้าคิดถึงแต่เรื่องความตาย ความแก่ ความบากบั่น จะมีความสุขได้อย่างไร?”
 พวกเจ้าควรคิดถึง หลักการ ความเชื่อมั่น หน้าที่ คิดเรื่องเหล่านี้ถึงจะมีความสุข”

เหล่าอุบาสกเชื่อครึ่งและไม่เชื่อครึ่ง พูดว่า “เรื่องเหล่านี้ พูดแล้วดูเหมือนง่าย 
แต่ความจริงสิ่งเหล่านี้กินแทนข้าวได้หรือ?” ไม่มีข้าวกินแล้วจะมีความสุขได้อย่างไร?”

“แล้วพวกเจ้าคิดว่ามีสิ่งใดถึงจะมีความสุข?” 

คนที่หนึ่งตอบว่า “มีชื่อเสียงเกียรติยศก็จะมีทุกอย่าง ดังนั้นการมีชื่อเสียงจึงจะมีความสุข”

คนที่สองตอบว่า “ความรักเป็นสิ่งหอมหวานที่สุด มีความรัก ก็จะมีความสุข”

คนที่สามตอบว่า “เงินทองมีประโยชน์ใช้สอยมากที่สุด มีเงินแล้ว ก็จะมีความสุข”

“ทำไมในโลกนี้ มีคนมากมายที่มีชื่อเสียง มีเงินทอง มีความรัก ถึงยังไม่มีความสุข ?” พระอาจารย์ถาม แล้วพูดต่อว่า

“เงินทองต้องนำมาทำทานบ้าง ถึงจะมีความสุข ความรักต้องรู้จักการให้ถึงจะมีความสุข 
การมีชื่อเสียง ต้องรู้จักบริการและช่วยเหลือส่วนรวม ถึงจะมีความสุข

สิ่งเหล่านี้คือทางแห่งความสุขที่แท้จริง”

๒๘. เพชรอยู่ที่หลังบ้านของเจ้า

มีชายคนหนึ่งนอนหลับแล้วฝันไปว่า มีภิกษุชรารูปหนึ่งมาบอกว่า ถ้าหากเจ้าหาเพชรได้เม็ดหนึ่ง
 ต่อไปเจ้าจะได้เพชรทั้งเหมือง เพชรอยู่ในหินทรายในคลอง

ตั้งแต่นั้นมา ในสมองของเขาจึงมีแต่เงาของเพชร เขาได้ขายทรัพย์สินของเขาทั้งหมดเปลี่ยนเป็นเงิน
 หลังจากนั้นจึงออกเดินทางไปหาเส้นทางที่คิดว่ามีเพชร เดินทางฝ่าลมฝนอยู่ข้างนอกหลายปี ก็ยังไม่เจออะไร ที่สุดก็ท้อแท้สิ้นหวังจนฆ่าตัวตาย

คนที่ซื้อบ้านของเขา วันหนึ่งขณะที่ซักผ้าอยู่ในคลองหลังบ้าน เมื่อแสงอาทิตย์ส่องมา ปรากฏว่า ผืนทรายแถวนั้นดูขาวโพลนไปหมด 

และในทรายนั้นมีบางอย่างส่องแสงสะท้อนออกมา เขาเลยขุดออกมาดู ที่แท้เป็นเพชรธรรมชาติ

เขาจึงเอาพลั่วและตะแกรง ตักทรายบริเวณนั้นมาจนหมด หลังจากที่ใช้ตะแกรงร่อนออกมา
 เพชรเม็ดเล็กเม็ดน้อยก็ปรากฏออกมา ส่องแสงแวววาววูบวาบ

เขาคิดในใจว่า “เจ้าของบ้านเดิมช่างแสนลำบากที่ต้องเดินทาง ออกไปหาเพชร ที่สุดก็ไม่ได้ ที่แท้เพชรก็อยู่ที่หลังบ้านของเขานั่นเอง

หลังจากนั้นเขาก็ได้นำเพชรเม็ดใหญ่หลายเม็ดไปถวายพระราชา พระราชาเลยแต่งตั้งให้เขาเป็นอำมาตย์ใหญ่
 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เขาก็มีชีวิตอยู่อย่างสมบูรณ์พูนสุข

๒๙. บินข้ามความเป็นความตาย

มีภิกษุรูปหนึ่งแม้จะขยันหมั่นบำเพ็ญภาวนาสักเพียงใด ก็ยังไม่อาจรู้แจ้งได้ ได้แต่มองดูรุ่นน้องที่เข้ามาปฏิบัติใหม่
 ก็ยังไปได้ก้าวหน้ากว่าตัวเอง ลองคิดๆดูแล้วตัวเองไม่มีคุณสมบัติของนักปฏิบัติธรรมเลย แค่จะให้จิตสงบยังทำไม่ได้
 สติปัญญาก็ไม่ว่องไว จนป่านนี้ยังหาทางเข้าประตูไม่ได้
 เลยคิดว่าจะลองไปธุดงค์เพื่อไปพบกับความลำบากดู เมื่อวางแผนจะเดินทางไกลเสร็จ ก็มาร่ำลาพระอาจารย์

“ศิษย์ช่างทำร้ายเมตตาจิตที่พระอาจารย์มีให้เหลือเกิน ตั้งแต่บวชมาอยู่ที่วัดนี้ถึง 10 ปี รู้สึกยังไม่ได้อะไรเลย
 ศิษย์ช่างไม่มีคุณสมบัติของนักบวชจริงๆ วันนี้มาลา ก็เพื่อจะแสวงหาเอาจากที่อื่น”

“ทำไมยังไม่รู้แจ้งก็จะไปหรือ? หรือว่าไปที่อื่นแล้วก็จะรู้แจ้ง” 

ลูกศิษย์ตอบว่า “ศิษย์นอกจากกินข้าว และจำวัดแล้ว เวลาที่เหลือก็ตั้งใจฝึกอย่างที่สุด 
แต่ก็ไม่ได้อะไร และเพื่อนนักบวชด้วยกัน ดูเหมือนจะไม่ได้คร่ำเคร่งอะไร แต่ก็ยังปฏิบัติได้ดีกว่า 
ศิษย์จึงเกิดความรู้สึกท้อและเบื่อ เลยจะลองไปธุดงค์พบกับความลำบากบ้าง”

“การรู้ เป็นสิ่งที่หลั่งไหลออกมาจากจิตของตัวเอง เป็นสิ่งที่หาคำจำกัดความไม่ได้ 
และไม่สามารถจะให้กับผู้อื่นได้ และเมื่อไม่รู้ก็จะเร่งรีบเอาก็ไม่ได้ คนอื่นก็เป็นขอบข่ายการรู้ของผู้อื่น
 เจ้าบำเพ็ญภาวนาก็เป็นของเจ้า เป็นคนละเรื่องกัน เจ้าทำไมเอามารวมเป็นเรื่องเดียวกัน?” 

“พระอาจารย์ไม่ทราบอะไร เมื่อศิษย์เปรียบตัวเองกับผู้อื่นแล้ว เหมือนกับ พญาเหยี่ยวกับนกกระจอกทันที”

“ใหญ่ยังไง และเล็กยังไง?” พระอาจารย์ถาม

“พญาเหยี่ยวกระพือปีกทีเดียว สามารถบินได้เป็นร้อยลี้ แต่ศิษย์ได้แต่บินอยู่รอบๆบริเวณนี้เท่านั้น”

พญาเหยี่ยวสามารถบินได้เป็นร้อยลี้ แต่มันบินข้ามความเป็นตายได้หรือเปล่า?”

๓๐. สวรรค์-นรก

มีลูกศิษย์ท่านหนึ่งถามพระอาจารย์ว่า “ข้าพเจ้าฝึกปฏิบัติธรรม มาก็หลายปีแต่ยังไม่รู้แจ้ง 
โดยเฉพาะในคัมภีร์ที่พูดถึงเรื่องของนรกและสวรรค์ นอกจากโลกมนุษย์แล้วที่ไหนยังมี นรกและและสวรรค์อยู่อีกหรือ”

พระอาจารย์ไม่ตอบคำถาม แต่ให้ไปหิ้วน้ำจากลำธารมา 1 ถัง เมื่อหิ้วน้ำมาแล้ว พระอาจารย์สั่งให้เพ่งดูน้ำในถัง
 เผื่อจะได้เห็นสภาพในสวรรค์และนรก ลูกศิษย์รู้สึกแปลกใจ แต่ก็รีบเพ่งมองน้ำในถัง เพ่งไปสักพักก็ไม่เห็นอะไร

พระอาจารย์เลยกดหัวลงไปในถังนั้น ลูกศิษย์หายใจไม่ออกโวยวายดิ้นรนไปมา 
ขณะที่กำลังจะหายใจไม่ออก พระอาจารย์ปล่อยมือ ลูกศิษย์กระหืดกระหอบ ต่อว่าพระอาจารย์ว่า 

“ท่านนี่หยาบคายจริงๆ กดข้าพเจ้าลงไปในน้ำ รู้มั้ยว่าเจ็บปวดเหมือนกับอยู่ในนรก” 
พระอาจารย์พูดเสียงเนิบๆต่อไปว่า“แล้วตอนนี้รู้สึกอย่างไร” 

“ตอนนี้รู้สึกหายใจสะดวก เหมือนกับอยู่บนสวรรค์”ลูกศิษย์ตอบ

“เหตุการณ์เมื่อกี้ เจ้าก็ท่องนรกแล้วก็ไปที่สวรรค์มาแล้ว ตอนนี้เชื่อหรือยังว่า นรก-สวรรค์มีอยู่จริง”

๓๑. ผีเสื้อในฝัน

ช่วงเย็นของวันหนึ่ง ชายหนุ่มคนหนึ่งเดินมาตามลำพังอยู่ที่สนามหญ้าชานเมืองแห่งหนึ่ง 
เขาไม่ได้เดินปล่อยอารมณ์อย่างนี้มานานแล้ว เพราะว่าไม่มีใครที่เข้าใจจิตใจจริงๆของเขาสักคน
 เขาจำเป็นต้องกดข่มอารมณ์ของตัวเองไม่ให้ฟุ้งซ่าน เพราะว่าวิธีนี้เป็นวิธีเดียวที่จะไม่ให้เขาจมปรักคิดถึงแต่เรื่องต่างๆของตัวเอง

เขานอนลงกับพื้นหญ้าและมองขึ้นไปบนท้องฟ้า พลางสูดดมความหอมของไอดินกลิ่นหญ้า 
แล้วปล่อยอารมณ์อย่างเต็มที่ ไม่นานเขาก็เผลอหลับแล้วฝัน ในความฝัน เขาได้กลายเป็นผีเสื้อตัวหนึ่ง
 ที่มีปีกสีสวยงามตระการตา บินวนเวียนอยู่อย่างมีความสุขอยู่กลางสวนดอกไม้ ที่มีท้องฟ้าสีครามและ
มีเมฆขาวอยู่เบื้องบน และมีพื้นหญ้าที่นุ่มและเขียวชอุ่มอยู่เบื้องล่าง และมีสายลมพัดเอื่อยๆผ่านใบหลิว 
มวลดอกไม้ต่างๆ ต่างแย่งกันอวดชูช่อและสีสัน คลื่นน้ำในสระพลิ้วไหวเป็นระลอกๆ ยามต้องลม 
ชายหนุ่มนั้นดื่มด่ำมีความสุขอยู่กับความฝันนั้นจนลืมโลกลืมตัวเองไปจนหมดสิ้น

ฉับพลันนั้นเขาก็ตื่นขึ้นมา เขาแบ่งแยกไม่ออกจริงๆว่าเมื่อกี้นั้นเป็นความจริงหรือความฝัน 
และเมื่อเขารู้ตัวแล้วว่าเป็นความฝัน จึงพูดว่า “ข้าก็ยังคือข้า ผีเสื้อก็ยังคือผีเสื้อ”

กาลเวลาผ่านไป ในที่สุดเขาก็เริ่มรู้แล้วว่า ที่แท้ผีเสื้อที่มีปีกสีสวยงาม และบินวนเวียนอย่างมีความสุขนั้นคือตัวเขาเอง 
และในขณะนี้เขาก็ยังเป็นเขาคนเดิม กับความเป็นตัวตนของตัวเองยังเหมือนเดิมทุกอย่าง
 แต่ที่แตกต่างก็คือ ความรู้สึกนึกคิดเปลี่ยนไปจากเดิมทุกอย่างแล้ว

เขาได้เรียนรู้แล้วว่า ไม่ว่าสถานการณ์รอบตัวจะไม่ได้ดั่งใจแค่ไหน จะทุกข์สักเพียงไหน หากใจของเราไม่ไปทุกข์ด้วย 
เราก็มีความสุขได้ และตัวเองก็สามารถจะทำจิตของตัวเองให้มีความสุขได้

๓๒. ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ล้วนว่างเปล่า

อำมาตย์และนักประพันธ์ ซูตงพอ คบหากับพระอาจารย์ฝ๋อหยิ้นมานานแล้ว พวกเขาจะสนทนาธรรมและปฏิบัติธรรมด้วยกันเสมอ

วันหนึ่งขณะที่พระอาจารย์กำลังจะแสดงธรรม ซูตงพอซึ่งมาล่าช้าไปเพราะติดธุระ ขณะที่เขามาถึงที่แสดงธรรมปรากฏว่าผู้คนนั่งเต็มไปหมดแล้ว

ในขณะที่เขาสอดส่ายสายตาหาที่นั่งอยู่นั้น พระอาจารย์เห็นเข้าจึงทักว่า “ประสก มาล่าช้าไปเสียแล้ว ที่นี่ไม่มีที่นั่งสำหรับเจ้าเสียแล้ว”

ซูตงพอจึงตอบไปว่า “ที่นี่ไม่มีที่นั่ง งั้นก็ขอนั่งบนธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ของท่านแล้วกัน”

“ถ้าท่านตอบคำถามของอาตมาได้ อาตมาก็จะให้กายของอาตมาเป็นที่นั่งของท่าน ถ้าท่านตอบไม่ได้ ก็ขอให้ท่านนำหยกที่ติดกับเข็มขัดมาให้อาตมา”

ซูตงพอตอบอย่างไม่ต้องคิดก่อนว่า “ตกลง”

“ธาตุ ๔ ของอาตมาก็ว่างเปล่าอยู่แล้ว ขันธ์ ๕ ก็ไม่มี แล้วท่านนักปราชญ์จะนั่งตรงไหน” พระอาจารย์ถาม

ซูตงพออึกอักอยู่นานก็คิดอะไรไม่ออก ที่สุดก็ยอมแกะหยกที่ติดอยู่ที่เข็มขัดออก หยกชิ้นนั้นยังปรากฏอยู่ที่วัดจนถึงทุกวันนี้

๓๓. สูงและไกล

ที่วัดเสือมังกร มีพระหลายรูปกำลังวาดรูปเสือกำลังต่อสู้กับมังกรที่บริเวณกำแพงวัด ในรูปเป็นรูปมังกร
กำลังม้วนตัวอยู่ในกลุ่มก้อนเมฆ และกำลังม้วนตัวลงมาด้านล่าง ส่วนเสืออยู่บนภูเขา ทำท่าจะกระโจนใส่มังกร

แม้ว่าจะผ่านการแก้ไปหลายครั้ง ก็ยังรู้สึกว่า ลักษณะท่าทางไม่สมบูรณ์เท่าไหร่ 
พอดีพระอาจารย์เดินผ่านมา เหล่าลูกศิษย์จึงขอให้พระอาจารย์ช่วยชี้แนะ 

พระอาจารย์ดูแล้ว จึงพูดว่า “ลักษณะภายนอกของเสือและมังกรดูแล้วไม่เลว 
แต่ลักษณะเฉพาะตัวของพวกมันพวกเจ้ารู้บ้างหรือเปล่า?” ตอนนี้พวกเจ้าควรจะเข้าใจถึง มังกรก่อนที่จะจู่โจม 
หัวต้องหดถอยไปด้านหลัง ส่วนเสือเมื่อจะกระโจนออกไป หัวจะต้องก้มลงต่ำ 
หัวของมังกรยิ่งหดถอยไปด้านหลังเท่าไหร่ หัวของเสือยิ่งต่ำติดดินเท่าไหร่ พวกมันจะบุกได้ยิ่งเร็วและสูง”

เหล่าลูกศิษย์รู้สึกดีใจที่ได้รับคำชี้แนะจากพระอาจารย์ “คำของอาจารย์สามารถชี้ให้ทะลุธรรมได้ 
พวกข้าพเจ้าไม่เพียงแต่วาดหัวมังกรยื่นมาข้างหน้ามากเกินไป หัวของเสือก็สูงเกินไป มิน่าถึงรู้สึกว่าท่าทางยังไงก็ดูไม่ถูกต้องเท่าไหร่”

พระอาจารย์ยังฉวยโอกาสแสดงธรรมต่อไปว่า “การจะทำอะไร หรือจะบำเพ็ญภาวนาก็เหมือนกัน 
การถอยหลัง 1 ก้าวเพื่อเตรียมตัว จะบุกไปได้ไกลกว่า การอ่อนน้อมถ่อมตนรู้สำนึกในตัวเองถึงจะไปได้สูง” 
เหล่าลูกศิษย์ไม่เข้าใจ ถามว่า “คนถอยหลังจะไปหน้าได้อย่างไร คนอ่อนน้อมถ่อมตนจะไปได้สูงยังไง”

พระอาจารย์เลยพูดเป็นโศลกว่า

นำต้นกล้าไปปลูกทั่วแปลงนา
ก้มหน้าลงไปย่อมเห็นฟ้าในน้ำ

กายใจที่ใสสะอาดถึงจะเป็นมรรคปฏิปทา
ที่แท้การถอยหลังคือการก้าวไปหน้า

๓๔. หาร่มด้วยตัวเอง


มีอุบาสกท่านหนึ่ง ยืนหลบฝนอยู่ในชายคาบ้าน เห็นพระอาจารย์ท่านหนึ่งเดินกางร่มผ่านมา
อุบาสก : พระอาจารย์ โปรดฉุดช่วยผู้คน พาข้าพเจ้าไปฝั่งนั้นด้วยเถอะ ( พ้นจากวัฏสงสาร ) 

 พระอาจารย์ : อาตมาอยู่กลางฝน เจ้าอยู่ในชายคา ในชายคาไม่มีฝน เจ้าไม่จำเป็นต้องให้อาตมาฉุดช่วย 

อุบาสกนั้นรีบออกมาจากชายคา มายืนอยู่กลางฝน

อุบาสก : ตอนนี้ข้าพเจ้าก็อยู่กลางฝนแล้ว ควรจะช่วยได้แล้วกระมัง? 

 พระอาจารย์ : อาตมาก็อยู่กลางฝน เจ้าก็อยู่กลางฝน 
อาตมาไม่โดนฝน เพราะมีร่มกันฝน
แต่เจ้าโดนฝน เพราะไม่มีร่ม 
ดังนั้นไม่ใช่อาตมาฉุดช่วยเจ้า
แต่เป็นร่มช่วยอาตมา ถ้าเจ้าต้องการมีคนมาฉุดช่วย
ไม่จำเป็นต้องหาอาตมา โปรดหาร่มด้วยตัวเอง 

๓๕. ก้าวพ้น

ทุกๆคืนพระอาจารย์ท่านหนึ่งจะไปที่เกาะร้างแห่งหนึ่ง เพื่อไปนั่งสมาธิวิปัสสนา
มีวัยรุ่นเกเรกลุ่มหนึ่งแอบปีนขึ้นไปบนต้นไม้ตามทางที่พระอาจารย์จะต้องผ่าน
เมื่อพระอาจารย์เดินผ่านจึงยื่นมือลงมา แล้วจับหัวของพระอาจารย์ไว้

วัยรุ่นนั้นนึกว่าพระอาจารย์ท่านนั้นจะต้องตกใจกลัวจนวิ่งหนีกระเจิดกระเจิง
แต่พระอาจารย์กลับอยู่นิ่งๆไม่ขยับตัว ปล่อยให้วัยรุ่นนั้นจับตามสบาย
แต่วัยรุ่นนั้นกลับตกใจเสียเอง นึกว่าเป็นผี เพราะเห็นไม่เคลื่อนไหว
รีบหดมือกลับไป พระอาจารย์ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แล้วเดินจากไป

รุ่งเช้าวัยรุ่นกลุ่มนั้นได้ไปหาพระอาจารย์ท่านนั้นที่วัด แล้วพูดกับพระอาจารย์ว่า
“ได้ข่าวว่า เมื่อคืนนี้มีผีอาละวาดอยู่แถวๆละแวกนี้ ไม่ทราบว่ามีเรื่องเช่นนี้
เกิดขึ้นจริงหรือเปล่าครับ?” “ไม่เห็นมีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นเลย”พระอาจารย์ตอบ
“ใช่หรือ? แต่พวกเราได้ข่าวว่า มีคนเดินผ่านแถวนี้แล้วโดนผีจับหัวไว้”

“นั่นไม่ใช่ผี แต่เป็นวัยรุ่นในหมู่บ้านนี่เอง”
“ทำไมท่านพูดอย่างนั้นล่ะ”
“เพราะว่า ผีไม่มีมือที่หนาและอุ่นอย่างนั้น”พระอาจารย์พูดต่ออีกว่า

“เมื่อจวนจะออกสนามรบแล้วไม่กลัวตาย เป็นความกล้าหาญของท่านนายพล
เมื่อจะเข้าป่าแล้วไม่กลัวเสือ เป็นความกล้าของนายพราน
เมื่อจะลงน้ำไม่กลัวมังกร เป็นความกล้าของชาวประมง”

แล้วความกล้าของพระภิกษุคืออะไร? กลุ่มวัยรุ่นนั้นถาม

"คือ “รู้” คำเดียวเท่านั้น
แม้แต่ความเกิดตายยังก้าวพ้นไปได้ แล้วยังจะมีความกลัวอยู่อีกหรือ?”

๓๖. ความหมายของชีวิต

มีชายหนุ่มคนหนึ่งไปเยี่ยมคารวะพระอาจารย์ท่านหนึ่ง หลังจากไต่ถามทุกข์
สุขแล้ว ชายหนุ่มก็ถามขึ้นว่า “จิตเดิมแท้คืออะไร?”

ปัญหานี้แท้จริงแล้วตอบได้ยาก พระอาจารย์เลยนึกถึงเรื่องๆหนึ่งขึ้นมาได้ว่า
ช่วงเย็นๆของวันหนึ่ง ท่านได้เห็นสตรีที่กำลังมีครรภ์คนหนึ่ง กำลังแบกตระกร้า
ใบหนึ่งเดินผ่านไป สวมใส่เสื้อผ้าที่เก่าๆขาดๆ ที่ขาเปรอะเปื้อนไปด้วยดินโคลน
ตระกร้านั้นคงจะหนักจนทำให้หลังของหญิงคนนั้นต้องงอลงไป มือซ้ายของหล่อน
จูงเด็กหญิงเล็กๆคนหนึ่ง มือขวาอุ้มทารกไว้ในห่อผ้า กำลังเร่งรีบเดินทางอยู่

พระอาจารย์นึกว่าชีวิตที่ลำบากลำเค็ญของหญิงคนนั้น คงจะทำให้หล่อนไม่สามารถ
แบกรับได้ไหว แต่ว่าที่ใบหน้าของหล่อนกลับผ่องใสดั่งแสงจันทร์ที่แฝงไว้ด้วย
รอยยิ้มอันอบอุ่น

หล่อนเป็นเพียงหญิงธรรมดาสามัญ ต้องลำบากดิ้นรนเพื่อชีวิตและความเป็นอยู่
แต่หล่อนรู้ถึงชีวิตของตัวเองต้องการแสวงหาอะไร? ดังนั้นหล่อนจึงไม่รู้สึกว่าตัว
เองลำบากอะไร และยังรู้สึกว่าตัวเองมีความสุข

คิดมาถึงตรงนี้ ทำให้พระอาจารย์เข้าใจถึงคำว่า อะไรคือจิตเดิมแท้ ท่านจึงเรียก
ชื่อชายหนุ่ม “ครับ” ชายหนุ่มนั้นรับคำพร้อมยกสองมือขึ้นมาคำนับ“คนที่ตอบ
รับข้าเป็นเพียงเปลือกของร่างกาย แต่ไม่ใช่ชีวิตที่สว่างใส”พระอาจารย์ตอบ

ชายหนุ่มคนนั้นก้มหน้าแล้วคิดในใจว่า “มีแต่กายนี้ที่มีปากมีลิ้นถึงจะตอบรับ
คำพระอาจารย์ได้ ชีวิตที่สว่างใสไหนเลยจะมีปากและลิ้น”

“จะตอบหรือไม่ตอบก็ไม่เป็นไร แต่สำคัญที่ตัวเองต้องรู้สึกตัว ต้องเข้าใจถึงจุดมุ่ง
หมาย อย่าทำให้ความหมายของชีวิตต้องผิดพลาด จนทำให้ลักษณะทิศทางของ
การดำเนินชีวิตต้องผิดพลาด จนทำให้ตัวเองต้องกลายเป็นทาสของชีวิต” 
พระอาจารย์กล่าวต่อ

๓๗. รสชาติของมะระ

ลูกศิษย์กลุ่มหนึ่งกำลังจะไปแสวงบุญตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ
พระอาจารย์นำมะระมาลูกหนึ่ง แล้วพูดกับลูกศิษย์ว่า
“พวกเจ้านำมะระนี้ติดตัวไป และจำไว้ ทุกครั้งเมื่อผ่านแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์
ให้นำมะระนี้ลงไปแช่ด้วย และเมื่อทำการบูชาถวายเครื่องสักการะ
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้นำมะระนี้รวมลงไปเซ่นไหว้ด้วย”

ทุกครั้งที่ผ่านแม่น้ำหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เหล่าลูกศิษย์ก็ทำตามที่พระ
อาจารย์สั่ง เมื่อกลับมาถึงวัด พระอาจารย์จึงสั่งให้นำมะระนั้นไปปรุงเป็นอาหาร

เมื่อถึงเวลาฉัน พระอาจารย์ฉันมะระลงไปหนึ่งคำ แล้วพูดขึ้นว่า
“แปลกจริงๆ มะระลูกนี้ผ่านพิธีกรรมจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตั้งหลายแห่ง
ทำไมถึงยังไม่ได้กลายเป็นรสหวาน”

“เซน”เหมือนอะไร

พระอาจารย์ท่านหนึ่งเล่านิทานให้เหล่าลูกศิษย์ฟังว่า

ชายผู้หนึ่งเป็นขโมยอาชีพ ลูกของเขาพูดกับเขาว่า “ พ่อ พ่อก็อายุมากแล้ว
ถึงเวลาที่ควรจะถ่ายทอดวิชาขโมยให้ลูกได้แล้ว เพราะถ้าขโมยไม่เป็น
ต่อไปลูกจะดำรงชีวิตอย่างไร”

พ่อไม่ปฏิเสธ และรับปากจะสอนให้ คืนนั้นพ่อเลยพาไปขโมยของที่บ้านเศรษฐี
ท่านหนึ่ง เมื่อเข้าไปในบ้านได้แล้ว จึงใช้กุญแจผีเปิดตู้เสื้อผ้า แล้วเรียกลูกเข้า
ไปในตู้นั้น เมื่อลูกเข้าไปในตู้แล้ว ผู้เป็นพ่อก็ปิดล็อกตู้ แล้วตะโกนว่า
“มีขโมย มีขโมย” ตะโกนแล้ววิ่งหนีออกจากบ้านไป

เมื่อคนในบ้านได้ยินว่ามีขโมยจึงเที่ยวหาจนทั่วว่าขโมยอยู่ไหน และสำรวจดู
ทรัพย์สินก็ไม่เห็นมีอะไรสูญหาย จึงพากันจะเข้านอน ร้อนถึงขโมยที่อยู่ในตู้
ไม่รู้ว่าทำยังไงถึงจะออกไปได้ แล้วเขาก็คิดอะไรออกมาได้ จึงทำเสียงร้อง
เหมือนหนูที่กำลังกัดเสื้อผ้า สักประเดี๋ยวคุณผู้หญิงของบ้านก็สั่งให้คนรับใช้
นำตะเกียงมา เมื่อคนรับใช้เปิดประตูตู้ออกมา ขโมยรีบออกจากตู้แล้วผลัก
คนรับใช้ล้มลง พร้อมเป่าตะเกียงจนดับ แล้ววิ่งหนีออกไป

เศรษฐีเจ้าของบ้านรีบสั่งให้บ่าวไพร่ ไล่ตามจับขโมย เมื่อตามมาถึงริมแม่น้ำ
ถึงเวลาวิกฤติ ขโมยนั้นนึกอะไรขึ้นมาได้ จึงโยนก้อนหินก้อนใหญ่ลงไปในน้ำ
ส่วนตัวเองก็แอบหลบไว้ แล้วก็ได้ยินเสียงคนพูดว่า “น่าสงสาร ขโมยหมด
หนทางต้องกระโดดลงน้ำไปแล้ว”

เมื่อขโมยผู้เป็นลูกกลับมาถึงบ้าน เห็นพ่อกำลังดื่มเหล้าอยู่ จึงต่อว่าพ่อไม่น่าจะ
ขังลูกไว้ในตู้ ผู้เป็นพ่อจึงถามถึงเหตุการณ์ที่พาตัวรอดกลับมาได้ ผู้เป็นพ่อดีใจมาก
แล้วพูดว่า “ต่อไปเจ้าไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีข้าวกินแล้ว”

เมื่อเล่านิทานจบ พระอาจารย์พูดกับเหล่าลูกศิษย์ว่า “เซน”ก็เหมือนขโมย
ผู้เป็นลูก สามารถที่จะหาทางออกได้ เมื่อหมดหนทาง นั่นแหละคือ”เซน”

๓๙. หอมกลิ่นเบญจมาศทั้งหมู่บ้าน

พระอาจารย์ท่านหนึ่งปลูกต้นเบญจมาศไว้หนึ่งกอภายในวัด 
เมื่อผ่านไปสามปีภายในบริเวณวัดก็มีต้นเบญจมาศบานสะพรั่งทั่วไปหมด
และกลิ่นหอมของดอกเหล่านี้หอมอบอวลไปจนถึงหมู่บ้านใกล้ๆ

ผู้คนที่มาวัดต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เป็นดอกไม้ที่สวยจริงๆ”

วันหนึ่งมีผู้มาขอพระอาจารย์เพื่อนำไปปลูกที่บ้าน พระอาจารย์อนุญาตพร้อมกับ
แยกหน่อที่สมบูรณ์ให้ด้วยตัวเอง เมื่อข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป ก็มีผู้มาขอไปไม่
ขาดสาย พระอาจารย์รู้สึกว่าผู้ที่มาขอ ล้วนแต่มาขอด้วยใจรักต้นไม้และชมชอบ
ดอกไม้ทั้งนั้น ไม่นานดอกในบริเวณวัดก็ถูกขอไปจนหมดสิ้น

เมื่อไม่มีดอกไม้บริเวณวัดก็เงียบเหงาดั่งขาดแสงอาทิตย์ เหล่าลูกศิษย์ต่างพูดว่า
“เสียดายจริงๆ ปกติบริเวณนี้จะมีกลิ่นหอมอบอวลไปทั่ว”
พระอาจารย์บอกว่า “พวกเจ้าลองคิดดูซิ เมื่อสามปีผ่านไปทั้งหมู่บ้านใกล้ๆนี้จะ
มีกลิ่นหอมของดอกเบญจมาศอบอวลไปทั้งหมู่บ้านมิเป็นการดีหรอกหรือ?”

“หอมอบอวลไปทั้งหมู่บ้าน” เหล่าลูกศิษย์อุทาน พร้อมกับเกิดความรู้สึกอบอุ่น
ขึ้นมาในจิต และเห็นรอยยิ้มของพระอาจารย์ที่ดูสว่างไสวยิ่งกว่าดอกเบญจมาศ
ทั้งปวง

พระอาจารย์พูดต่อว่า “พวกเราควรแบ่งปันสิ่งดีๆให้ผู้อื่นได้มีได้ใช้เหมือนๆกับเรา
ให้ทุกคนได้มีความสุขเหมือนๆกับเรา แม้ว่าตัวเองจะไม่เหลืออะไรอีกเลย
แต่ในจิตของเราก็มีความสุขได้เหมือนกัน นี่คือความสุขที่เราควรจะมีอย่างแท้จริง

๔๐. งอกงามกับแห้งเหี่ยว

พระอาจารย์ท่านหนึ่งมีลูกศิษย์สองคน วันหนึ่งขณะที่ศิษย์และอาจารย์
เดินขึ้นเขาเพื่อไปนั่งสมาธิวิปัสสนา พระอาจารย์เหลือบไปเห็นต้นไม้
ต้นหนึ่งเจริญเติบโตงอกงามเป็นต้นใหญ่โตมีใบดกเป็นพุ่มหนา
ส่วนอีกต้นหนึ่ง กลับยืนแห้งตายซากอยู่ข้างๆ พระอาจารย์จึงถามว่า

“ต้นที่งอกงามดี ? หรือว่า ต้นที่แห้งตายซากดี?”
“ต้นที่ใบดกหนาเป็นพุ่มดีกว่า” ศิษย์คนหนึ่งตอบ
“ต้นที่แห้งตายซากดีกว่า” ศิษย์อีกคนตอบ

บังเอิญขณะนั้น เณรน้อยเดินขึ้นมาสมทบพอดี พระอาจารย์จึงถามว่า
“เจ้าว่าต้นที่ใบดกหนาดี หรือว่า ต้นที่ตายซากดี”
“ต้นที่มีใบดกหนาก็ปล่อยให้ดกหนาไป ต้นที่ตายซากก็ปล่อยให้มันตายซากไป”

พระอาจารย์กล่าวต่อว่า “ต้นที่มีใบดกหนาก็ย่อมจะมีที่มาและเหตุปัจจัยของมัน
ต้นที่ตายซากก็ย่อมจะมีเหตุปัจจัยเช่นกัน 

ปกติสิ่งที่พวกเราเห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกนี้เช่น ถูกหรือผิด บุญกุศลอกุศล 
และอะไรอีกต่างๆนานาก็เป็นการเรียนรู้จากสิ่งต่างๆในชีวิตประจำวัน 
ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการหยุดอยู่แค่ในขอบเขตของการแบ่งแยก
แต่เณรน้อยสามารถจะมองเห็นสิ่งที่แปลกแยกกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีการแบ่งแยก

๔๑. ตลอดทั้งตัวก็เป็นตา

พระศิษย์น้องท่านหนึ่งถามพระศิษย์พี่ว่า “พระโพธิสัตว์กวนอิมมีพันมือ
พันตา ตาดวงไหนเป็นตาที่แท้จริง?”

“เหมือนกับในเวลากลางคืนที่ท่านนอนหลับอยู่แล้วหมอนตกลงไปที่พื้น
แล้วท่านไม่ได้ลืมตาขึ้นมา แล้วยื่นมือลงไปหยิบหมอนก็หยิบขึ้นมาได้
แล้วก็นอนหลับต่อไป ขอถามหน่อยท่านใช้ตาอะไรไปหยิบ?”

พระรูปนั้นตอบว่า “โอ้ ศิษย์พี่ ข้าเข้าใจแล้ว”
“เจ้าเข้าใจอะไร?”
“ทั่วทั้งตัวก็เป็นตา”
“เจ้าเข้าใจเพียงแปดส่วน”
“แล้วควรจะพูดอย่างไร?”
“ ทั่วทั้งตัวก็เป็นตา”เป็นการใช้ความแปลกแยกไปเรียนรู้

“ตลอดตั้งตัวก็เป็นตา”เป็นการใช้ความรู้สึกไปแบ่งแยก ปัญญาก็จะแสดงออกมา
พวกเรามีจิตที่เป็นตาตลอดทั่วลำตัว ทำไมไม่ใช่ความรู้ทั่วนี้ไปมองดูสิ่งต่างๆ

๔๒. มะเขือเทศกับคางคก

มีภิกษุรูปหนึ่งเป็นคนเคร่งครัดรักษาศีลมาก ไม่ยอมผิดศีลแม้แต่นิดเดียว
วันหนึ่งมีธุระลงไปจากเขา ขากลับก็เป็นเวลาค่ำมืดแล้ว คืนนั้นเป็นคืนเดือนมืด
ขณะที่เดินผ่านสระน้ำแห่งหนึ่ง รู้สึกที่เท้าได้เหยียบอะไรนิ่มๆ แล้วก็มีเสียงดัง
ขึ้นมาเสียงหนึ่งแล้วเงียบหายไป

เหมือนกับได้ยินเสียงร้องอย่างเจ็บปวดของอะไรสักอย่าง พระรูปนั้นคิดในใจว่า
“ตายแล้ว หรือว่าไปเหยียบคางคกตายเสียแล้ว รู้สึกนิ่มๆ มีเสียงร้องด้วย ไม่แน่
คางคกนั้นอาจตั้งท้องด้วย นี่ เรามิฆ่าสัตว์ทีเดียวไปตั้งหลายตัวหรือ?”
พระรูปนั้นยิ่งคิดยิ่งกลัว นอนกระสับกระส่ายอยู่บนเตียง ยากที่จะข่มตาหลับลงได้

ขณะที่กำลังเคลิ้มๆจะหลับ รู้สึกเหมือนกับจะเห็นคางคกนับร้อยมาทวงขอชีวิต
พระนั้นตกใจจนเหงื่อตกเต็มตัว ร้องเสียงดังจนตกใจตื่น จึงรู้ว่านั้นเป็นเพียงความฝัน

นอนคิดวิตกต่อไปทั้งคืน ครั้นพอถึงรุ่งเช้า พระรูปนั้นรีบไปที่สระน้ำเมื่อคืน
ไม่เห็นมีคางคกที่ไหนตาย มีเพียงมะเขือเทศที่โดนเหยียบจนแบน พระรูปนั้นถอนใจอย่างโล่งงอก รู้สึกเบาใจขึ้น

๔๓. ชื่อกับโชคชะตา

มีพระอาจารย์ท่านหนึ่งมีพระลูกศิษย์ในวัดถึง 500 รูป หนึ่งในจำนวนนั้น
มีลูกศิษย์ท่านหนึ่งชื่อ ผู้ร้าย พระรูปนั้นคิดจะให้พระอาจารย์เปลี่ยนชื่อดีๆ
ให้เขาสักชื่อ แต่พระอาจารย์ให้เขาไปหาชื่อดีๆจากข้างนอก ดังนั้นเขาเลย
เดินไปตามถนนและตามตรอกซอกซอย

ครั้งหนึ่ง พระรูปนั้นเห็นบรรดาญาติพี่น้องที่เดินไปตามขบวนแห่ศพ เขาเลย
เดินไปถามว่า “ผู้ตายชื่ออะไร?” ญาติผู้ตายตอบว่า “ชื่อ มีชีวิต”
เขาฟังแล้ว ส่ายหัวไปมาแล้วถามว่า “ชื่อ มีชีวิต แล้วทำไมถึงไม่มีชีวิตแล้ว?”
ญาติผู้ตาย หัวเราะแล้วพูดว่า “มีชื่อว่า มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์
อย่างหนึ่ง คนจะหลีกเลี่ยงความตายไม่ได้ ท่านทำไมถึงเลอะเลือนอย่างนี้”

พระรูปนั้นเดินไปคิดไป จนผ่านบริเวณบ้านของเศรษฐีท่านหนึ่ง เห็นหน้าบ้านนั้นมี
สาวใช้คุกเข่าอยู่ เศรษฐีท่านนั้นกำลังใช้แส้ตีสาวใช้นั้น จึงรุดเข้าไปถามว่า
“ท่านตีนางทำไม?” เศรษฐีนั้นตอบด้วยความฉุนเฉียวว่า “นางยืมเงินข้าไปแล้ว
ไม่ใช้คืน ข้าไม่สมควรเฆี่ยนนางหรือ?” พระรูปนั้นถามว่า “สาวใช้นางนี้ชื่ออะไร?”
“ชื่อหยกล้ำค่า” “ชื่อหยกล้ำค่า ชื่อนี้เป็นมงคลอย่างยิ่ง ทำไมถึงไม่มีเงินใช้หนี้
แล้วยังจะต้องถูกเฆี่ยนอีก?” เศรษฐีท่านนั้นฟังแล้วรู้สึกขำพูดว่า “ชื่อว่าหยกล้ำค่า
แล้วเป็นยังไง? หล่อนก็ยังเป็นแค่สาวใช้ ชื่อคนเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ที่ใช้
ไม่เห็นเกี่ยวกับใช้หนี้หรือไม่ใช้หนี้” พระรูปนั้นฟังแล้วจึงคิดตัดสินใจจะกลับวัด

ขณะที่กำลังจะเดินกลับวัด พบคนเดินหลงทางคนหนึ่ง จึงถามว่า “ท่านชื่ออะไร?”
ชายนั้นตอบว่า “ชื่อ ชี้เหนือ “ พระรูปนั้นรู้สึกแปลกใจ ถามว่า “ชื่อเจ้าหมายถึง
ชี้ไปทางทิศเหนือ ทำไมถึงยังหลงทาง?” คนหลงทางนั้นหัวเราเสียงดังลั่นแล้วพูดว่า
“ชื่อคนเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์เท่านั้น ชื่อว่า ชี้เหนือก็จะทำให้ไม่หลงทางกระนั้นหรือ?”

สุดท้ายพระรูปนั้นก็ได้ละทิ้งที่จะยึดถือหรือคิดไม่ดีกับเรื่องชื่อของตัวเอง
เมื่อกลับมาถึงที่วัด พระอาจารย์ถามว่า “เจ้าหาชื่อที่ถูกใจได้แล้วหรือยัง?”
พระรูปนั้นตอบอย่างได้สำนึกแล้วว่า “ศิษย์จะไม่ตามหาชื่ออีกแล้ว
ศิษย์ยังคงจะใช้ชื่อเดิมดีกว่า ชื่อเป็นเพียงแค่เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งเท่านั้น”

๔๔. พุทธะคือตัวเจ้าเอง

มีชายหนุ่มคนหนึ่งมาหาท่านเว่ยหล่าง ท่านเว่ยหล่างมองดูจากลักษณะ
ท่าทางก็รู้ว่า เป็นหน่อเนื้อเชื้อสายพุทธะ จึงถามว่า 
“เจ้ามาจากไหน”
“มาจากเจ๋อจง” 
ท่านเว่ยหล่างถามต่อว่า
“ชีวิตของเจ้าอยู่ที่ไหน”
“ชีวิตหรือ ข้าพเจ้าลืมมันไปตั้งนานแล้ว” ชายหนุ่มตอบ 
ท่านเว่ยหล่างรู้สึกชมชอบอยู่ในใจ จึงถามต่อว่า 
“ที่มานี้ มีธุระอะไร” 
”สิ่งต่างๆที่มีอยู่ในโลกล้วนแต่เป็นขยะ ไม่มีที่ใดที่ข้าพเจ้าจะอยู่รวมลงไปได้
ขอให้อาจารย์รับข้าพเจ้าเป็นศิษย์เถอะ” ชายหนุ่มตอบ

หลังจากบวชผ่านไป 40 พรรษา มีคนถามพระนั้นว่า
“ทำยังไงถึงจะเป็นพุทธะ”
“ปล่อยวาง ลืมให้หมด”
“ทำอย่างไรถึงจะลืม รูป และ ตัวเรา ของเรา”
“ก้าวพ้นออกมาให้ได้ ปราศจากโมหะ ไม่โลภอยากได้”
“พุทธะคืออะไร”
“พุทธะคือการกระทำ การเคลื่อนไหวทุกอย่างของเจ้า รวมทั้งคำพูด ความคิด
พุทธะคือตัวเจ้าเอง”

๔๕. ความหอมก็เป็นเซน

นักกลอนท่านหนึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์เซนท่านหนึ่ง
วันหนึ่งทั้งสองเดินมาตามทางที่มี ดอกกุ้ยฮวา ขนาบอยู่สองข้างทาง
ดอกกุ้ยฮวากำลังบานสะพรั่ง และส่งกลิ่นหอมไปทั่วบริเวณ

“กลิ่นหอมเข้มข้นของดอกเหล่านี้ เจ้าได้กลิ่นหรือเปล่า?” พระอาจารย์ถาม
“ได้กลิ่นแล้ว” นักกลอนนั้นตอบ

“เจ้าไม่ใช่เคยถามหรือว่า อะไรคือเซน”
ตอนนี้อาตมาเอาสิ่งที่ได้เห็นได้กลิ่น มาบอกเจ้าจนหมดแล้ว”

นักกลอนนั้นไม่เข้าใจว่าพระอาจารย์พูดอะไร แต่เมื่อส่งสายตามอง
ไปไกลๆ สูดดมกลิ่นหอมของดอกไม้ จึงรู้ได้โดยฉับพลัน

เซนแท้จริงแล้ว ไม่ใช่แนวคิด ไม่ใช่คำพูด แต่เป็นทุกสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าเรา
ภูเขา สายน้ำ ต้นไม้ใบหญ้า นก ปลา หนอน ล้วนแต่คือเซน

การรู้แจ้งผู้อื่นไม่สามารถจะทดแทนได้ และก็ไม่ใช่อาศัยคำพูดสอนธรรมะ
ก็รู้แจ้งได้ รากฐานสำคัญที่สุด คือใช้ความรู้สึกและสำนึกด้วยตนเอง”

๔๖. พระกับมาร

มีนักวาดที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง ต้องการจะวาดภาพของพระและของมาร
แต่คิดยังไงก็คิดไม่ออกว่า ลักษณะของพระและมารควรจะเป็นอย่างไร
และก็ไม่สามารถหาของจริงที่มาเป็นแบบอย่างได้ จึงยังลงมือวาดไม่ได้สักที

ครั้งหนึ่งขณะที่กำลังไหว้พระอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง บังเอิญเห็นภิกษุรูปหนึ่ง
มีรูปหน้าและจริยาวัตรที่งดงามยิ่งนัก ลักษณะและท่าทางอย่างนั้นช่างดึงดูด
ใจนักวาดเช่นเขาเป็นอย่างยิ่ง เขาจึงไปหาพระรูปนั้น และจ้างให้มาเป็นแบบ
ด้วยราคาที่สูงเป็นอย่างยิ่ง

หลังจากเมื่อวาดภาพนั้นเสร็จ ภาพนั้นก็ได้กลายเป็นภาพที่มีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่ว
นักวาดนั้นกล่าวว่า “ตั้งแต่ที่ได้วาดภาพเป็นต้นมา ภาพนี้เป็นภาพที่ตนเองพอใจ
มากเป็นที่สุด เพราะใครๆที่มาเห็นภาพนี้ จะต้องนึกทันทีว่า นี่คือภาพพระพุทธที่
แท้จริง รูปร่างหน้าตา และลักษณะที่เปี่ยมล้นด้วยความสงบและมีเมตตา ทำให้ผู้
ที่ได้พบเห็นเกิดความพึงพอใจ และศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยม

และก็เป็นเพราะภาพภาพนี้ ผู้คนไม่ได้เรียกเขาว่านักวาดเหมือนเมื่อก่อน แต่ได้
ฉายาใหม่ว่า “ปรมาจารย์แห่งนักวาด”

ผ่านไปอีกระยะหนึ่ง จึงคิดจะวาดรูปมารขึ้นมา แต่ก็เกิดปัญหาที่ว่าไม่รู้จะหาลักษณะ
ที่เป็นมารมาเป็นแบบได้จากที่ไหน? เขาเดินไปหาอยู่หลายที่ เพื่อจะหาคนที่มีลักษณะ
ดุร้ายโหดเหี้ยม แต่หาอย่างไรก็ไม่ถูกใจสักคน สุดท้ายก็ไปหาเจอในคุกแห่งหนึ่ง
นักวาดนั้นดีใจยิ่งนัก เพราะการจะไปหาคนๆหนึ่งที่หน้าเหมือนมารจริงๆนั้น
เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย

เมื่อเขาเข้าไปเจรจากับนักโทษนั้น นักโทษนั้นร้องไห้คร่ำครวญออกมาว่า
“ทำไมเมื่อตอนที่จะวาดรูปพระ คนที่ท่านหาก็คือข้า ตอนที่จะวาดภาพมาร
คนที่ท่านหาก็ยังคงเป็นข้า เป็นเพราะเจ้าที่ทำให้ข้าจากพระกลายเป็นมาร”

“เป็นไปได้อย่างไร? คนที่เป็นแบบให้ข้าวาดภาพพระ ลักษณะดีเลิศผิด
ผู้อื่น แต่เจ้าดูทีเดียวก็รู้แล้วว่า เหมือนลักษณะของมารอย่างแท้จริง
แล้วจะเป็นคนๆเดียวกันได้อย่างไร?”

คนคนนั้นพูดอย่างปวดร้าวใจ “ตั้งแต่ได้เงินก้อนใหญ่จากเจ้า ได้แต่ไปหา
ความรื่นเริงบันเทิงใจทุกวัน ใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายจนเงินหมด แต่ความหลง
อยู่ในความมัวเมาเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ย่อมจะหยุดลงได้ยาก

ดังนั้นข้าจึงไปปล้นและฆ่าเจ้าทรัพย์ ขอเพียงให้ได้เงิน ไม่ว่าเรื่องที่ทำจะ
เลวร้ายอย่างไรข้าก็ทำ ที่สุดก็กลายมาเป็นสภาพอย่างที่ท่านเห็น”

นักวาดเมื่อได้ฟังจนจบ รู้สึกสังเวชใจยิ่งนัก รู้สึกพรั่นพรึงถึงจริตนิสัย
ของคนเรา ที่สามารถถูกกิเลสลากจูงไปได้อย่างรวดเร็ว สภาพจิตของคนช่าง
อ่อนแอ พลังดึงดูดของกิเลสก็ช่างแข็งแกร่ง

ความเปลี่ยนแปลงของคนๆนี้ทั้งหมด ก็เป็นเพราะตัวเองที่ทำให้เกิดขึ้น
เข้าจึงละทิ้งพู่กัน แล้วไม่วาดรูปตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป

๔๗. บ้านที่มีหน้าต่าง 6 บาน

มีพระรูปหนึ่งถามพระอาจารย์ว่า “ทำไมไม่สามารถรู้จักตัวเองได้อย่างรวดเร็ว”?

“อาจารย์จะเปรียบเทียบให้เจ้าฟัง หากบ้านหลังหนึ่งมีหน้าต่าง 6 บาน ข้างในบ้าน
มีลิงที่ชอบกระโดดโลดเต้นไม่ยอมหยุด นอกหน้าต่างก็มีชะนีคอยตอบโต้อยู่ตลอดเวลา
เหมือนกัน ลิง 6 ตัว ชะนี 6 ตัว นัวเนียกันอยู่ จึงไม่ใช่ง่ายที่จะรู้จักตัวเองได้อย่างรวดเร็ว”

“แล้วถ้าลิงข้างในจะนอนหลับ แล้วชะนีด้านนอกยังอยากจะมาพบกับลิง
แล้วจะทำอย่างไร ?”

เปรียบเสมือนในไร่นา เพื่อป้องกันนกกามากินพืชผลในไร่นา จึงสร้างหุ่นไล่กาขึ้นมา
ดังนั้น จึงเปรียบดังหุ่นไล่กาที่คอยดูนกกา สรรพสิ่งที่มาวนเวียนหลอกอยู่รอบตัว
ก็จะเป็นอะไรไป”

๔๘. บัวในตม

ที่ญี่ปุ่น ชนชั้นชาวนา เป็นชนชั้นที่สังคมดูถูกว่าเป็นชนชั้นต่ำ ไม่มีสิทธิ์
แม้แต่จะบวช พระหวูซานเกิดในตระกูลชาวนา แต่มีความมุ่งมั่นที่จะบวช
จึงปลอมตัวเป็นชนชั้นผู้ดีแล้วบวช

หลังออกบวชไปหลายปี จนได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส วันหนึ่งขณะที่กำลังทำพิธีสำคัญทางศาสนา มีผู้ยืนขึ้นมาชี้ด่าพระหวูซานว่า
“คนที่เกิดในตระกูลชั้นต่ำ ยังมาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส มันเรื่องอะไรกัน”

ทุกคนที่มาประกอบพิธีนึกไม่ถึงว่า จะเกิดเรื่องเช่นนี้ในพิธีสำคัญอย่างนี้
ต่างคนต่างนิ่งเงียบและตกใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น ในความเงียบจนเข็มตกลงมาที่พื้นยังได้ยินเสียงนั้น พระหวูซานพูดขึ้นว่า “บัวในตม”

คนที่อยู่ในพิธีทุกคนยอมรับว่า พระหวูซานพูดถูกต้อง คนที่ออกมาชี้หน้าพูดอะไรไม่ออก 
พร้อมกับยอมรับและชื่นชมถึงการเข้าถึงธรรมของพระหวูซาน พิธีการจึงดำเนินต่อไป 
พร้อมกับพระหวูซานได้รับความนับถือและศรัทธาจากผู้คนมากยิ่งขึ้น

๔๙. ฝึกการรอคอย

มีชายหนุ่มคนหนึ่งไม่ว่าจะทำอะไรก็จะทำอย่างบุ่มบ่ามใจร้อนเร่งรีบ
ครั้งหนึ่งนัดกับหญิงคนรักไว้ เนื่องจากไปก่อนเวลานัด คนรักจึงยังไม่มา
เขายืนคอยอยู่ใต้ต้นไม้ถอนหายใจเฮือกๆ พลางบ่นในใจว่า “ทำไมแม้
แต่การมีนัดยังจะต้องรอคอย ทำอะไรก็ให้รู้สึกว่าไม่มีความสุข”

และเบื้องหน้าของเขาก็มีเซียนท่านหนึ่งปรากฏขึ้นมาต่อหน้าเขา พลางให้
นาฬิกาเรือนหนึ่งแก่เขา แล้วพูดว่า “เมื่อเจ้าอยากจะให้เวลาเดินเร็วขึ้น
เจ้าก็หมุนนาฬิกาให้เคลื่อนไหว แล้วเวลาจะเร็วขึ้นตามที่ต้องการ”

ชายหนุ่มคนนั้นดีใจมาก เขาหมุนนาฬิกาเร็วไปหนึ่งช่อง คนรักของเขา
ก็มาปรากฏตัวทันที เขาคิดในใจว่า “ถ้าตอนนี้แต่งงานได้ทันทีก็ดี”
เขาเลยหมุนนาฬิกาไปอีกนิด ก็ปรากฏพิธีแต่งงาน เขายืนเคียงคู่อยู่กับ
คนรัก พร้อมกับเสียงขับกล่อมของดนตรีและมีสุราอาหารพร้อมบริบูรณ์

เขาคิดต่อไปอีกว่า “ถ้าหากตอนนี้กำลังเคียงคู่อยู่ในห้องหอก็ดี”
เขาจึงหมุนนาฬิกาไปอีกนิด ในห้องหอจึงมีเพียงแต่พวกเขาสองคน 
ความคิดและความหวังของเขาเกิดขึ้นไม่ยอมหยุด เขาจึงขยับนาฬิกาไป
เรื่อยๆ เมื่อได้บ้าน ก็อยากได้ลูก และพืชผลต่างเต็มท้องไร่

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ก็มาใกล้จะถึงจุดจบของชีวิต สิ่งต่างๆทีมาอย่าง
กระชั้นชิด ทำให้เขาเริ่มรู้สึกเสียใจที่เมื่อก่อนไม่ว่าจะทำอะไรก็จะทำอย่างเร่งรีบ
ไม่ได้มีจิตใจที่จะรับรู้และสัมผัสความสุขและความดีงามของช่วงชีวิต
ก็มาถึงจุดสิ้นสุดแล้วและถ้าหากสามารถย้อนวันเวลากลับไปใหม่ 
เขาจะต้องมีความอดทนที่จะรอคอยอะไรต่อมิอะไรได้ 

แต่มารู้สึกตอนนี้ ก็สายเสียแล้ว เพราะท่านเซียนพูดกับเขาแล้วว่า 
นาฬิกานั้นสามารถเดินไปข้างหน้าได้อย่างเดียวจะถอยหลังไม่ได้ 
เขาได้แต่นอนเสียใจและร้องไห้อยู่บนเตียง

แต่แล้วเขาก็ได้เห็นคนรักของเขาปรากฏอยู่ต่อหน้าเขา หน้าตาของคนรักก็ยังสวย
และสาวเหมือนเดิม รอบๆเขาก็ยังมีเสียงนกร้องและดอกไม้บานสะพรั่งสะพรั่ง
ส่งกลิ่นหอมไปทั่ว ทั้งยังมีลูกไก่ตัวเล็กๆเดินหาหนอนอยู่ไปมา เขาดีใจจนกระโดดขึ้นมา 
จับมือของคนรักไว้ พลางพูดว่า 

“ที่รัก การรอคอยเจ้าเป็นความสุขอย่างหนึ่งจริงๆ” 

๕๐. เหมือนลาหรือเหมือนพระ

กวงเหยิ่งเป็นคนฉลาดหลักแหลม ชอบอ่านหนังสือและบทกลอน
แม้จะเป็นฆราวาส แต่ก็ใฝ่ธรรมะ และชอบปฏิบัติธรรม

วันหนึ่งได้ไปเยี่ยมคารวะพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังท่านหนึ่ง
พระอาจารย์เห็นกวงเหยิ่งมาจึงถามว่า “เจ้ามาที่นี่ทำไม?”
“มาเยี่ยมคารวะและถามไถ่ทุกข์สุข” กวงเหยิ่งตอบ
“ในเมื่อเจ้ามาถามทุกข์สุขอาจารย์ เจ้าเห็นอาจารย์หรือเปล่า?”
“ เห็นซี “ กวงเหยิ่งตอบ
“เจ้าเห็นอาจารย์เหมือน “ลา” หรือเปล่า?”
กวงเหยิ่งตอบว่า “ไม่เหมือนทั้งลา แต่ว่า ก็ไม่เหมือนพระ”
“เมื่อไม่เหมือนลา และไม่เหมือนพระ แล้วจะเหมือนอะไร?”

กวงเหยิ่งย้อนกลับไปว่า “ทำไมถึงจะต้องให้เหมือนอะไรสักอย่าง?
ถึงจะเหมือนลาหรือเหมือนพระ แล้วจะแตกต่างกันอย่างไร?
ถ้าอยากจะเหมือนอะไร คิดเอาเองแล้วกันว่าจะให้เหมือนอะไร”

พระอาจารย์ฟังแล้วรู้สึกทึ่ง คิดว่าเจ้าหมอนี่ไม่ธรรมดา แม้ว่าจะเป็นแค่
ฆราวาส แต่สามารถเข้าถึงหลักธรรมที่ลึกๆได้ 
ตามปกติเคยใช้คำถามเหล่านี้กับคนทั่วไป หลายสิบปีที่ผ่านไป ไม่มีใคร
ตอบคำถามได้เป็นที่น่าพอใจอย่างนี้ มีแต่เจ้าหมอนี้เท่านั้นที่ตอบได้
ครบถ้วนที่สุด คนนี้ไม่ธรรมดาจริงๆ 

“อาจารย์ใช้คำถามนี้ถามคนมายี่สิบกว่าปีแล้ว แต่ไม่มีใครผ่านด่านนี้
ไปได้ มีแต่เจ้าเท่านั้นที่ตอบได้ หายากจริงๆ เจ้าต้องขยันฝึกให้
ต่อเนื่องสม่ำเสมอ รักษาความความคิดที่ไม่มีทั้งปุถุชนหรืออริยชนไว้ 

๕๑. บทเรียนบทสุดท้ายของพระอาจารย์

ขณะที่เหล่าลูกศิษย์ที่กำลังรายล้อมพระอาจารย์ เพื่อรอพระอาจารย์พูดถึงเรื่อง
ชีวิตและจักรวาลอันลึกล้ำ พระอาจารย์ได้แต่หลับตานิ่งๆไม่พูดอะไร
แต่อยู่ๆก็ถามขึ้นว่า “ทำอย่างไรถึงจะกำจัดต้นหญ้าที่ขึ้นอยู่ตามที่รกร้างนั้นได้”
ลูกศิษย์รู้สึกผิดคาดที่นึกไม่ถึงว่าพระอาจารย์ทำไมถึงถามเรื่องง่ายๆอย่างนี้

ลูกศิษย์บางกลุ่มตอบว่า “ใช้ไฟเผาให้หมด”
บางกลุ่มก็ตอบว่า “ใช่พร้าฟันออกให้หมด”
บางกลุ่มก็ตอบว่า “ใช้ผงปูนโรยให้ทั่วก็ขจัดหญ้าให้หมดได้”
บางกลุ่มก็ตอบว่า “ต้องตัดรากถอนโคน ขุดออกให้หมด”

เมื่อฟังลูกศิษย์ตอบเสร็จ พระอาจารย์จึงพูดต่อว่า “พวกเจ้าทุกคนตอบได้ดี
ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป พวกเจ้าจงแบ่งที่รกร้างเหล่านี้ออกเป็นส่วนๆ
แล้วใช้วิธีการต่างๆของพวกเจ้าที่จะกำจัดวัชพืชเหล่านั้น ปีหน้าเวลานี้
พวกเราค่อยมาพบกันที่นี่อีกครั้งหนึ่ง

หนึ่งปีผ่านไป ณ ที่เก่าเวลาเดิม เหล่าลูกศิษย์มารวมตัวกันอีกครั้งหนึ่ง
แต่เวลานี้ไม่เห็นต้นหญ้าเหล่านั้นอีกแล้ว มีแต่ทุ่งรวงทองเหลืองอร่าม
ของเหล่าธัญพืชเต็มท้องทุ่ง 

หนึ่งปีที่ผ่านไป เหล่าลูกศิษย์พยายามทุกวิถี
ทางที่จะกำจัดวัชพืชเหล่านั้น แต่ก็ใช้ไม่ได้สักวิธี มีอยู่วิธีเดียวที่ทำได้คือ
ปลูกธัญพืชให้เต็มท้องทุ่ง ซึ่งขณะนี้ธัญพืชเหล่านั้นกำลังให้ผลผลิตแล้ว

แต่ว่าพระอาจารย์ของพวกเขาได้ลาจากโลกนี้ไปแล้ว และนั่นก็เป็นบทเรียน
บทสุดท้ายที่พระอาจารย์สอนไว้ 

๕๒. หยดน้ำ

พระอาจารย์ท่านหนึ่งขณะที่จะอาบน้ำ น้ำที่ลูกศิษย์ผสมให้อาบร้อนเกินไป
จึงเรียกให้ลูกศิษย์นำน้ำเย็นมาเติม ลูกศิษย์เติมแล้วมีน้ำเหลือก็เททิ้งทันที

พระอาจารย์จึงบอกว่า “ เจ้าทำไมถึงเทน้ำทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ 
สิ่งต่างๆที่อยู่ในโลกนี้ย่อมมีประโยชน์อยู่ในตัวของมันเอง
เพียงแต่มีคุณค่า และราคาต่างกันเท่านั้น เจ้าทำไมถึงเทมันทิ้งไปอย่างง่ายดาย 

แม้จะเป็นน้ำเพียงหยดเดียว หากเอาไปรดลงที่ต้นไม้ใบหญ้า
ไม่แต่ต้นไม้ใบหญ้าจะชอบ ตัวของน้ำเองก็ไม่เสียคุณค่าของตัวมันเอง
ทำไมต้องเททิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ แม้จะเป็นน้ำเพียงหยดเดียว
แต่คุณค่าราคาของมันยิ่งใหญ่มหาศาล “

ศิษย์ฟังแล้วจึงเข้าใจถึงอะไรบางอย่าง เลยตั้งชื่อตัวเองใหม่ว่า 
“ พระหยดน้ำ “ ซึ่งต่อมากลายเป็นพระที่มีผู้เคารพนับถือมากรูปหนึ่ง

วันหนึ่งหลังจากที่ท่านเทศน์เสร็จแล้ว มีผู้ถามท่านว่า
“ ในโลกนี้สิ่งใดมีคุณงามความดีมากที่สุด “
“ หยดน้ำ “ พระหยดน้ำตอบ
“ ความว่างเปล่าสามารถห่อหุ้มสรรพสิ่ง อะไรสามารถหุ้มห่อความว่างเปล่า “
“ หยดน้ำ “

ตั้งแต่นั้นพระหยดน้ำ นำจิตกับหยดน้ำสมานรวมเป็นหนึ่ง
จิตห่อหุ้มความว่างเปล่า ภายในหยดน้ำก็มีความว่างเปล่าที่ไม่มีสิ้นสุด

๕๓. เจ้าโทสะตั้งแต่เกิด

พระอาจารย์ท่านหนึ่ง เป็นพระที่เทศน์เก่งมาก ท่านเทศน์ด้วยธรรมะ
ที่ฟังง่ายและเข้าใจไม่ยาก และทุกครั้งที่เทศน์เสร็จแล้ว มักจะให้ผู้ฟัง
ซักถามปัญหาต่างๆ มีอุบาสกคนหนึ่งถามว่า

อุบาสก : “ ข้าพเจ้าเกิดมาก็เจ้าโทสะแล้ว โกรธง่าย ฉุนเฉียวง่าย
โมโหง่าย ทำยังไงถึงจะแก้ไขได้”
พระอาจารย์ : “ไหนเจ้าเอาอะไรที่ว่า “เกิดมาก็มี” มาให้ดูหน่อย
จะได้ช่วยแก้ไขให้”
อุบาสก : “ไม่ใช่ ตอนนี้ไม่มี แต่เมื่อเวลาที่เจอกับเรื่องต่างๆ ไอ้เจ้า
เกิดมาเจ้าโทสะถึงจะวิ่งออกมา”
พระอาจารย์ : “ถ้าตอนนี้ไม่มี ต้องเจอสิ่งที่มากระทบถึงจะมี ก็แปลว่า
เวลาเจ้ามีเรื่องกับคนอื่น เจ้าถึงสร้างมันขึ้นมา
แล้วก็บอกว่าเป็นมาตั้งแต่เกิด ยกเป็นความผิดของพ่อแม่
ดูช่างไม่ยุติธรรมจริงๆ”

อุบาสกนั้นได้ฟังแล้วจึงเกิดความรู้ตัวขึ้นมาว่า “ความโกรธเป็นสิ่งที่จิตสร้าง
ขึ้นมาเอง ตั้งแต่นั้นจึงไม่โกรธอะไรง่ายๆอีก”

๕๔. มีตัวเราไว้ทำไม

มีพระอาจารย์ท่านหนึ่งเข้านิโรธสมาบัติไปหลายวัน จนเหล่าลูกศิษย์
นึกว่าท่านมรณภาพไปแล้ว เลยนำร่างของท่านไปเผา

ผ่านไปอีกหลายวันเมื่อท่านออกจากนิโรธสมาบัติ ท่านหาร่างตัวเองไม่เจอ
รู้สึกเศร้าโศกเสียใจมาก พร้อมกับพึมพำไปว่า “ข้าล่ะ ข้าอยู่ที่ไหน?”
พอตกกลางคืนท่านก็ยังร้องอีกว่า ข้าล่ะ ทำไมถึงหาร่างของข้าไม่เจอ”
เสียงร้องนั้นยิ่งร้องยิ่งเสียใจหนักขึ้นทุกที เหล่าลูกศิษย์ฟังแล้วก็รู้สึก
ไม่สบายใจไปตามๆกัน

เหล่าลูกศิษย์จึงไปเชิญพระอาจารย์จิ้งคง มาช่วยแก้ไขให้ พระอาจารย์จิ้งคงสั่งว่า 
คืนนี้ให้เตรียมไฟมาหนึ่งเตา และน้ำหนึ่งถัง อาจารย์จะไปนอนในห้องพระอาจารย์นั้น
เมื่อท่านมาหากายเนื้อ ข้าจะคุยกับเขาให้เข้าใจว่า “อะไรคือตัวเรา”

พอถึงกลางดึก พระอาจารย์ท่านนั้นมาหากายอีก พลางพูดอย่างเศร้าสร้อยว่า
“ข้าล่ะ กายของข้าอยู่ที่ไหนแล้ว” พระอาจารย์จิ้งคงตอบว่า “อยู่ในดิน” 
วิญญาณนั้นจึงมุดเข้าไปในดิน หาจนทั่ว สุดท้ายก็ยังหาร่างของตัวเองไม่เจอ

วิญญาณนั้นกลับมาพูดอย่างเศร้าสร้อยอีกว่า “ในดินไม่มีข้า”
พระอาจารย์จิ้งคงตอบว่า “งั้นคงอยู่ในความว่างเปล่ากระมัง เจ้าลองไปหาดูให้ทั่วซี”
วิญญาณนั้นไปหาอีกจนทั่วก็ไม่เจอ กลับมาต่อว่า หาจนทั่วแล้วไม่เจอ

พระอาจารย์จิ้งคงชี้ไปที่ถังน้ำแล้วพูดว่า “ร่างของท่านคงจะอยู่ในน้ำกระมัง”
วิญญาณนั้นจึงเข้าไปในน้ำ สักครู่วิญญาณนั้นก็ออกมาพูดว่า
“ในน้ำก็ไม่มีข้า ที่แท้ท่านซ่อนข้าไว้ที่ไหน?”

พระอาจารย์จิ้งคงชี้ไปที่เตาไฟแล้วพูดว่า “ถ้าอย่างนั้นท่านต้องอยู่ในไฟแน่นอน
วิญญาณนั้นก็เข้าไปในไฟ ที่สุดก็หาตัวเองไม่เจอ

ก่อนที่วิญญาณนั้นจะพูดอะไร พระอาจารย์จิ้งคงพูดก่อนว่า “ในเมื่อท่านสามารถ
ไปในดิน ที่ว่าง น้ำ ไฟ และทุกแห่งได้อย่างอิสระเสรี ไม่มีที่ไหนที่ท่านไปไม่ได้
แล้วท่านยังจะยึดเอาเปลือกว่างเปล่านั้นมาทำไม?”

วิญญาณนั้นได้คิดขึ้นมา ตั้งแต่นั้นจึงไม่มาหา ”ข้า “ อีกต่อไป

๕๕. ความโลภไม่มีสิ้นสุด

ฮ่องเต้องค์หนึ่งถามท่านราชครูว่า “ทำอย่างไรถึงจะได้รับธัมมะของพุทธะ”
“พุทธะอยู่ในใจของตัวเอง ผู้อื่นไม่สามารถที่จะให้ได้ มหาบพิตรเห็นก้อนเมฆ
ที่อยู่ด้านนอกวังนั้นหรือเปล่า? สามารถที่จะให้เหล่าองครักษ์สอยมาไว้ในวัง
ได้หรือเปล่า?”
“ไม่ได้แน่นอน”

ท่านราชครูกล่าวต่อว่า “ผู้คนในโลกที่ศรัทธาในพระพุทธ บางคนศรัทธาเพราะอยาก
ให้พระคุ้มครองให้ได้เกียรติยศชื่อเสียง บางคนเพื่ออยากจะวิงวอนขอให้ได้ทรัพย์สินเงินทอง 
บางคนเพื่ออยากจะให้หลุดพ้นจากปัญหาต่างๆที่รุมเร้าทางจิตใจ จะมีสักกี่คนที่จะตามหาแก่นแท้แห่งพุทธะ”

“ทำอย่างไรถึงจะเป็นตัวแทนของพระพุทธ?”
“กิเลสทำให้มหาบพิตรมีความคิดเช่นนี้ อย่าให้ชีวิตหมดไปกับความคิดในเรื่อง
ที่ไม่มีความหมายอะไร กี่สิบปีที่หลงวนมัวเมาอยู่กับความไม่จริง ที่สุดแล้วก็เป็น
เพียงแค่ซากที่เน่าเปื่อยและโครงกะโหลกสีขาวเท่านั้น ทำอย่างนั้นให้ลำบากทำไม?”

“หากว่าไม่มีความวุ่นวายความกังวล?”
“ท่านเหยียบเศียรพระแล้วเดินผ่านไปเถอะ”

“หมายความว่าอย่างไร?”
“คนที่ไม่มีความกังวล จะเห็นตัวเองอย่างชัดเจน แม้จะบำเพ็ญจนกลายเป็นพุทธะ
ก็จะไม่หลงตัวเองว่าเป็นกายของพุทธะที่บริสุทธิ์ 

มีแต่คนที่จิตมีแต่ความกังวลวุ่นวายถึงคิดแต่จะให้หลุดพ้นจากความวุ่นวายเหล่านั้น 
หนทางแห่งการภาวนาเป็นหนทางของคนที่มีจิตสะอาดและสว่าง ไม่สามารถให้คนอื่นทดแทนได้
ปล่อยวางกิเลสของตัวเอง ปล่อยวางทุกสิ่งที่ตัวเองอยากได้ ก็จะเป็นความจริงที่ว่า 
ท่านจะได้ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้”

“แม้ว่าจะได้ทุกสิ่งในโลกนี้ก็มีประโยชน์อะไร? ก็ยังไม่ได้เป็นพระพุทธ
“ทำไมถึงจะอยากเป็นพระพุทธ?”
“เพราะว่าข้าอยากจะเป็นพระพุทธที่มีพลังที่ไม่มีใครเหนือกว่าได้”

“ตอนนี้ท่านได้เป็นถึงฮ่องเต้ ยังไม่พออีกหรือ? 
ความโลภของคนยากที่จะรู้จักพอ แล้วจะกลายเป็นพระพุทธได้อย่างไร?”

๕๖. ชาวนาซื้อที่ดิน

มีชาวนาคนหนึ่งได้ข่าวว่ามีผู้จะขายที่ดิน จึงไปถามหาเจ้าของที่ว่าขายอย่างไร?
เจ้าของที่บอกว่า “เพียงแค่จ่ายเงินมาหนึ่งพันบาท หลังจากนั้นให้เวลาหนึ่งวัน
ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนตกดิน หากสามารถใช้เท้าเดิน วนจนกลับมาที่จุดตั้งต้น
เดินวนได้กว้างแค่ไหนก็จะได้ที่ดินมากเท่านั้น แต่ถ้าพระอาทิตย์ตกดินแล้ว
ยังกลับมาที่เดิมไม่ได้ เงินที่จ่ายไปก็จะสูญเปล่า

ชาวนานั้นคิดว่า “หากวันนั้นเดินให้ได้มากที่สุด ก็คงจะได้ที่ดินมากยิ่งขึ้น
ทำการค้าอย่างนี้ช่างคุ้มค่าจริงๆ” จึงเซ็นสัญญาที่จะซื้อที่นั้น

วันที่ตามนัดในสัญญา ชาวนาจึงรีบเดินกึ่งวิ่งไปอย่างรวดเร็ว เขาก้าวเท้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง 
ไม่ยอมหยุดแม้แต่วินาที มุ่งไปข้างหน้าเรื่อยๆ พลางคิดในใจว่า “อดทน
วันนี้สักหน่อย ต่อไปจะได้เสวยสุขจากความเหนื่อยในวันนี้ที่นำสุขมาให้”

ขณะที่จะวกกลับไปที่เดิมนั้น ก็เป็นเวลาเที่ยงวันแล้ว เขาจึงเร่งฝีเท้าอย่าง
รวดเร็วเพื่อที่จะกลับที่เดิม เมื่อใกล้เวลาที่พระอาทิตย์ใกล้จะตกดิน ความเหนื่อย
บวกกับความเร่งรีบที่เดินไม่ได้หยุดพัก ทำให้เขาล้าลงและเดินช้าลงเรื่อยๆ
เมื่อพระอาทิตย์ตกดินเขาเหลือไม่กี่ก้าวก็จะถึงที่เดิม ขณะที่เขาล้มลงมือสอง
ข้างมาล้มลงตรงจุดตั้งต้นพอดี แต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเพราะชีวิตของเขาสูญสิ้น
ไปแล้ว แล้วจะมีความหมายอะไร

๕๗. เจ้าแม่ไม่ช่วย

มีอุบาสกท่านหนึ่งศรัทธาและนับถือพระโพธิสัตว์ เจ้าแม่กวนอิมมาก
ครั้งหนึ่งเมื่อประสบกับอุทกภัย น้ำท่วมจนถึงหลังคาบ้าน เขาจึงปีนขึ้น
ไปบนหลังคาเพื่อรอคนมาช่วยเหลือ ขณะที่น้ำเจิ่งนองขึ้นมาเรื่อยๆ
จนถึงข้อเท้าแล้ว เขาจึงวิงวอนอธิษฐานว่า “เจ้าแม่กวนอิมผู้เปี่ยมล้น
ด้วยความเมตตาและปรานี โปรดรีบมาช่วยเหลือด้วยเถิด”

ผ่านไปไม่นานก็มีเรือลำหนึ่งผ่านมา จะแวะรับเขาไปด้วย แต่เขาพูดว่า
“ข้าไม่ต้องการความช่วยเหลือจากเจ้า เดี๋ยวเจ้าแม่กวนอิมจะมาช่วย
เหลือข้าเอง” เรือลำนั้นเลยผ่านเลยไป

น้ำยังคงเจิ่งนองเพิ่มขึ้นเรื่อยจนถึงเอวของเขาแล้ว เขารู้สึกร้อนรนใจขึ้น
ไปอีกมากแล้ววิงวอนอธิษฐานต่อว่า “เจ้าแม่กวนอิมมาช่วยข้าพเจ้าเร็วๆ
ด้วยเถิด” ชั่วขณะนั้นก็มีเรือลำหนึ่งผ่านมาอีก เรือลำนั้นก็จะมาช่วย
เหลือพาเขาไปที่ปลอดภัย แต่เขาพูดว่า “ข้าไม่ชอบเรือลำนี้ เดี๋ยว
เจ้าแม่กวนอิมจะมาช่วยข้าเอง” เรือลำนั้นจึงเลยผ่านไป

เวลาผ่านไปน้ำก็ยังทวีเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงหน้าอกแล้ว เขาได้แต่
เร่งรีบวิงวอนต่อไป แล้วก็มีเรือลำหนึ่งบรรทุกคนมาเต็มลำเรือ
ผ่านมาจะช่วยเหลือ แต่เขาปฏิเสธบอกว่า คนมากไปแล้ว ข้าไม่ขึ้น
อีกสักประเดี๋ยวเจ้าแม่กวนอิมจะมาช่วยเอง

ขณะที่น้ำท่วมจนถึงจมูกแล้ว จนเขาแทบจะหายใจไม่ออกแล้ว
พระอาจารย์ท่านหนึ่งผ่านมาพอดี มาช่วยเขาได้ทันท่วงที
เขาพูดกับพระอาจารย์อย่างน้อยอกน้อยใจว่า
“ข้าศรัทธาและยึดมั่นนับถือเจ้าแม่กวนอิมมากทำไมเจ้าแม่ไม่มาช่วย
ข้าพเจ้า “

“เจ้าช่างใส่ร้ายพระโพธิสัตว์เสียจริง เจ้าแม่ได้ช่วยให้มีเรือหลายลำมา
ช่วยเจ้า แต่เจ้าก็บ่ายเบี่ยง ติโน่นตินี่ ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ยอมรับ
การช่วยเหลือ ดูเหมือนเจ้าจะไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าแม่แล้ว
และข้าก็ไม่ควรจะช่วยเจ้า ปล่อยให้เจ้าพบกับยมบาลคงจะดีกว่า”

๕๘. การนำวิธีการของเซนไปใช้

พระอาจารย์ท่านหนึ่งขณะที่จะไปแสดงธรรมในที่แห่งหนึ่ง
ระหว่างทางเห็นสามีภรรยาคู่หนึ่ง กำลังทะเลาะกันอยู่
ภรรยา : เจ้าเป็นสามีภาษาอะไร? ไม่เหมือนผู้ชายสักนิด
สามี : ด่าซี ถ้าด่าอีก ข้าจะตีเจ้า
ภรรยา : ข้าจะด่า เจ้าไม่เหมือนผู้ชาย

พระอาจารย์ได้ยินที่สามีภรรยาทะเลาะกันแล้ว จึงตะโกนบอก
ผู้คนที่เดินผ่านไปมาว่า “พวกเจ้ามาดูเร็ว เวลาจะดูวัวชนกันก็ต้องซื้อตั๋ว
ดูจิ้งหรีดกัดกัน ดูไก่ชนกัน ก็ต้องซื้อตั๋วทั้งนั้น แต่ตอนนี้ คนกำลังตีกัน
ไม่ต้องซื้อตั๋ว พวกเจ้ามาดูเร็วๆ

แต่สามีภรรยาคู่นั้นก็ยังคงไม่สนใจ และยังคงทะเลาะกันต่อไป
สามี : ถ้าเจ้าพูดอีกคำว่า ข้าไม่เหมือนผู้ชาย ข้าจะฆ่าเจ้า
ภรรยา : ฆ่าซี ฆ่าซี ข้าก็จะพูดอยู่นั่นแหละ เจ้าไม่เหมือนผู้ชาย

พระอาจารย์ : ยอดเยี่ยมที่สุดแล้ว ตอนนี้จะมีการฆ่าคนแล้ว มาดูกันเร็ว
คนเดินถนน : หลวงพี่ ตะโกนเสียงดังทำไม สามีภรรยาเขาจะทะเลาะกัน ท่านยุ่งทำไม?
พระอาจารย์ : ทำไมจะไม่เกี่ยวกับอาตมา เจ้าไม่ได้ยินหรือว่า 
เขาจะฆ่าคน 
เมื่อคนตายแล้วก็ต้องเชิญอาตมาไปสวดศพ 
เมื่อสวดแล้วก็ย่อมจะต้องได้ซอง
คนเดินถนน : อะไรกันนักหนา เพื่อซองแล้วถึงกับจะอยากให้มีการฆ่ากันตายเลยหรือ?
พระอาจารย์ : หวังจะไม่ให้ตายก็ได้ งั้นอาตมาจะไปเทศน์ก่อนแล้วล่ะ

สามีภรรยาคู่นั้นหยุดทะเลาะกันตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ 
และทั้งคู่ก็มาฟังดูว่าพระอาจารย์ทะเลาะกับคนอื่นด้วยเรื่องอะไร? 
พระอาจารย์จึงฉวยโอกาสพูดกับสามีภรรยาคู่นั้นว่า

“หิมะที่เกาะกันจนหนาแน่นสักเพียงใด เมื่อพระอาทิตย์สาดส่องมาก็ย่อมจะละลาย
กับข้าวจะเย็นชืดสักเพียงไหน เมื่ออุ่นด้วยไฟ ก็ยังร้อนขึ้นมา
สามีภรรยา มีบุญสัมพันธ์กันมาก่อนจึงได้มาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน
ต้องเป็นพระอาทิตย์ ให้ความอบอุ่นแก่ผู้อื่น 
เป็นไฟเป็นฟืน ปลุกจิตสำนึกให้ผู้อื่น
หวังว่าท่านทั้งสองจะรักใคร่ปรองดองซึ่งกันและกัน”

๕๙. สิ่งที่ต้องบำเพ็ญภาวนา

มีพระรูปหนึ่งเพียรภาวนาอยู่กับพระอาจารย์ท่านหนึ่งมานานหลายปี
ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงหลักธรรมที่ลึกๆได้

ค่ำวันหนึ่งขณะที่กำลังจะนั่งสมาธิ ได้ถามพระอาจารย์ขึ้นว่า
“ศิษย์เพียรภาวนามานานหลายปี ก็ยังหลงวนไม่รู้แจ้งสักที
เสียแรงที่ฉันบิณฑบาตของชาวบ้านเปล่าๆ ทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้อะไร 
ทั้งยังต้องขอรับความเมตตาจากอาจารย์ช่วยชี้แนะ ทุกวันที่ปฏิบัติธรรม 
นอกจากภารกิจที่ต้องปฏิบัติ ยังมีบทเรียนอะไรที่จำเป็นต้องฝึกฝนอีก?”

“เจ้าเพียงแต่ดูแลนกอินทรีย์ 2 ตัว กวาง 2 ตัว เหยี่ยว 2 ตัว
และคอยบังคับหนอนในปาก 1 ตัว พร้อมกันนั้นก็คอยต่อกรกับ
หมีตัวหนึ่ง และดูแลผู้ป่วยผู้หนึ่งให้ดีๆ ถ้าหากสามารถทำได้ก็คือสามารถ
ทำหน้าที่ของตัวเองดีที่สุดแล้ว คิดว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยเจ้าได้ดีที่สุด”

“อาจารย์ครับ ศิษย์ตั้งใจแน่วแน่มาฝึกบำเพ็ญภาวนาที่นี่ ไม่ได้นำ
สัตว์ชนิดใดมาด้วย แล้วจะดูแลอะไรอย่างไร? แล้วบทเรียนที่ศิษย์จะ
ต้องเรียน กับสัตว์เหล่านั้นเกี่ยวข้องกันอย่างไร?”

“นกอินทรีย์สองตัว คือตาของเจ้าที่จะต้องคอยระวังสิ่งต่างๆที่กระทบเข้ามา
กวางสองตัวคือขาของเจ้าที่จะต้องระมัดระวังไม่เดินไปสู่หนทางที่ผิดบาป
เหยี่ยวสองตัวคือมือทั้งสองข้างของเจ้าที่จะต้องคอยทำการงานอยู่เสมอ
ทำสิ่งที่เป็นบุญกุศลเสมอ สิ่งที่ไม่ดีก็อย่าไปทำ 

หนอนหนึ่งตัวคือลิ้นของเจ้าต้องคอยระวังไว้เป็นอย่างยิ่ง ไม่พูดในสิ่งที่ไม่ดีงาม 
หมีหนึ่งตัวคือใจของเจ้าต้องควบคุมอย่าให้เห็นแก่ตัวและวุ่นวาย สิ่งไม่ดีก็อย่าไปคิด
 คนไข้ก็คือร่างกายของเจ้าเอง หวังว่าเจ้าจะไม่ให้มันหลงเข้าไปในทางผิดบาป
ในหนทางแห่งการบำเพ็ญภาวนา สิ่งเหล่านี้เป็นบทเรียนที่ขาดไม่ได้

๖๐. ทุกข์จากการรู้ล่วงหน้า

มีเณรรูปหนึ่ง ทุกๆเช้าจะต้องรับผิดชอบปัดกวาดเศษใบไม้ในบริเวณวัด
การกวาดใบไม้ในตอนเช้าท่ามกลางสายลมเย็นยะเยือกหลังจากที่ตื่นนอน
เป็นเรื่องที่น่าทรมานเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งถ้าเป็นช่วงในฤดูหนาวด้วยแล้ว 
ทุกครั้งที่สายลมเย็นโชยมา ใบไม้ก็ร่วงหล่นลงมาตามลมเช่นกัน 
ทุกๆเช้าต้องเสียเวลาไปไม่น้อยถึงจะเก็บกวาดใบไม้ได้หมด 
มันทำให้เณรน้อยหัวเสียทุกวันเณรคิดที่จะหาทุกวิถีทางที่จะทำให้ตัวเองสบายขึ้น 

มีพระรูปหนึ่งพูดกับเณรน้อยว่า “พรุ่งนี้ก่อนที่เจ้าจะเก็บกวาดให้
ใช้แรงเขย่าต้นไม้เสียก่อน เขย่าจนใบไม้ร่วงหล่นลงมาให้หมด 
มะรืนนี้เจ้าจะได้ไม่ต้องเก็บกวาดใบไม้ให้ลำบากอีก”

เณรน้อยเห็นด้วยและคิดว่าวิธีการนี้ดีที่สุด ดังนั้นวันรุ่งขึ้นจึงลุกขึ้นมาแต่เช้า
แล้วเขย่าต้นไม้จนสุดแรง ทำอย่างนี้จะช่วยให้ใบไม้ของวันนี้และพรุ่งนี้กวาด
พร้อมกันเลยในครั้งเดียว วันนั้นเณรน้อยครื้มใจไปทั้งวันอย่างมีความสุข

วันรุ่งขึ้นเมื่อไปดูที่ลานวัด ได้แต่กลับกลอกลูกตาไปมา 
ที่ลานวัดก็มีใบไม้ร่วงหล่นลงมาเหมือนทุกวัน 
พระอาจารย์เดินเข้ามาด้วยความเอ็นดูแล้วพูดว่า “เจ้าเด็กโง่!
ไม่ว่าในวันนี้เจ้าจะเขย่าต้นไม้ให้สุดแรงอย่างไร 
พรุ่งนี้ใบไม้ก็ยังคงร่วงหล่นลงมาเหมือนเดิม”

ที่สุดเณรน้อยก็เข้าใจแล้วว่า เรื่องราวต่างๆในโลกนี้
บางอย่างไม่สามารถทำล่วงหน้าได้ และถ้าจะจริงจังแล้วก็ 
ชั่วขณะนี้ถึงจะเป็นความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์

๖๑. ลดเปอร์เซ็นต์

ลูกชายของพ่อค้าคนหนึ่ง ติดตามและฝึกฝนการค้ากับบิดาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
แม้ว่าจะเป็นคนที่เน้นแต่ผลประโยชน์เป็นสำคัญ แต่ก็เป็นลูกกตัญญู 
เมื่อบิดาถึงแก่กรรม จึงไปที่วัดขอให้พระอาจารย์ช่วยสวดส่งวิญญาณให้หลุดพ้น

ลูกกตัญญูเติบโตมาจากวงการค้า จึงเป็นห่วงค่าใช้จ่ายในการสวดศพมาก
จึงตั้งหน้าตั้งตาแต่จะคอยถามเรื่องค่าใช้จ่าย ว่าจะต้องจ่ายเท่าไหร่

พระอาจารย์เห็นเขาแต่งตัวภูมิฐานมีเครื่องประดับมากมายยังตระหนี่คิดเล็ก
คิดน้อยขนาดนั้น จึงพูดอย่างเคร่งขรึมว่า จะต้องจ่ายค่าสวดและค่าทำพิธี
10 ตำลึง ลูกกตัญญูฟังแล้วรู้สึกว่าแพงเกินไป จึงขอลดราคา พูดขึ้นว่า

“พระอาจารย์ สิบตำลึงน่าจะแพงเกินไป ขอลดสัก 20 เปอร์เซ็นต์ จ่ายแค่
8 ตำลึงแล้วกัน”

พระอาจารย์เห็นเขาต่อรองราคาอย่างเอาจริงเอาจัง จึงรู้สึกว่าหนุ่มคนนี้น่าคิด
เหมือนกัน จึงตอบว่า “ เอาล่ะ ตามใจเจ้าแล้วกัน”

พระอาจารย์จึงไปสวดยังที่บ้านของลูกพ่อค้านั้น ระหว่างที่ฟังสวดลูกกตัญญู
ก็ตั้งหน้าตั้งตาฟังสวดและกระทำพิธีอย่างสำรวมนอบน้อม

ถึงตอนหนึ่งพระอาจารย์กล่าวว่า “พุทธะจากทั่วสิบทิศ โปรดนำบุญกุศล
จากการทำพิธีนี้แผ่ไปให้กับผู้ตายด้วย ให้เขาได้ไปสู่โลกแห่งทิศตะวันออก”

ลูกพ่อค้านั้นรู้สึกว่าตรงทิศตะวันออกน่าจะไม่ถูก จึงพูดขึ้นว่า
“พระอาจารย์กล่าวผิดหรือเปล่า? มีแต่คนตายแล้วให้ไปเกิดทางทิศตะวันตก
คือดินแดนสุขาวดี ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปทางทิศตะวันออก”

“ไปทางทิศตะวันตกดินแดนสุขาวดี ต้องเสียค่าใช้จ่าย 10 ตำลึง เจ้ายืนยัน
จะลด 20 เปอร์เซ็นต์ ข้าเลยส่งผู้ตายไปยังทิศตะวันออก”

ลูกพ่อค้านั้นรู้สึกละอายใจยิ่งนัก พูดขึ้นว่า “ข้าพเจ้าเพิ่มอีก 2 ตำลึง ช่วยพา
พ่อของข้าพเจ้าไปยังดินแดนสุขาวดีด้วยเถอะ”

ฉันคือใคร

ชีวิตคนดั่งละคร ทุกคนเป็นคนเขียนบท เป็นผู้กำกับ และเป็นนักแสดงเอง
บทที่เขียนออกมามีทั้ง บทดีใจ เสียใจ โกรธ และเศร้าโศก
สิ่งที่แสดงออกมามีทั้งรัก โกรธ ผูกพัน โกรธแค้น ชิงชัง
แต่ละบท แต่ละฉาก แต่ละตอน ไม่ใช่พบกับความสำเร็จ ก็ผิดหวัง ไม่ใช่ดีใจก็เสียใจ
เกิดๆดับๆ ดับๆเกิดๆ ดั่งที่ว่า “ชีวิตคนดั่งมายาซ้อนมายา”

เวียนว่ายตายเกิด เป็นไปตามแรงกรรม หมุนเปลี่ยนภพชาติเกิดมาในโลกนี้
เป็นเพราะกรรมสัมพันธ์ พ่อแม่ให้กำเนิดฉันมา จึงมีกายนี้
เมื่อเติบใหญ่ขึ้นมา นึกถึงเรื่องชาติภพก่อน ใครคือฉัน มาจากไหน?
ทำไมถึงมา ชาตินี้ไม่แจ้ง แล้วจะให้รอถึงชาติไหน
จึงสงสัยว่า “ก่อนที่พ่อแม่ให้กำเนิดมาใครคือฉัน”

ดอกไม้บานแล้วย่อมต้องร่วง มีการเกิดก็ต้องมีการตาย ขณะนี้มีความสุข
มีลมหายใจตามปกติ แต่เมื่อหนึ่งช่วงลมหายใจ หายใจออกแล้วไม่เข้า
แล้วฉันคือใคร แล้วจะไปไหน แล้วทำไมต้องไป คิดถึงหนทางข้างหน้า
ลังเลสงสัยแล้วก็ไม่รู้ 

ความหมายของเซนจำต้องรู้ ปฏิบัติจริงถึงจะแจ้ง
ชีวิตดั่งความฝันและมายา อย่าได้หลง-วนอยู่ในความหลง
หากถามว่า “ฉันคือใคร? เห็นจิตตัวเองแล้วก็จะรู้”

ก้อนหินในใจ

อาจารย์เซนเชื้อจีนรูปหนึ่งนามว่า โฮเคน
พำนักอยู่องค์เดียวเงียบๆ ณ วัดเล็กๆต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง
วันหนึ่งมีภิกษุอาคันตุกะสี่รูปเดินทางมาขอพำนักอยู่ด้วย
ตกกลางคืนพระอาคันตุกะเหล่านั้นขออนุญาตก่อกองไฟผิงกันหนาวที่ลานวัด

โฮเคนได้ยินพระเหล่านั้นก่อไฟพลางโต้ถียงกันล้งเล้งๆ
ถึงเรื่องอายตนะภายใน อายตนะภายนอก
ด้วยความอดรนทนไม่ได้ จึงออกมาร่วมวงด้วย

โฮเคนหยิบก้อนหินมาก้อนหนึ่งแล้วถามว่า
“เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน พวกคุณคิดว่า ก้อนหินก้อนนี้อยู่ในใจหรือนอกใจ”

พระรูปหนึ่งตอบว่า “ตามมติทางพุทธศาสนา ถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอารมณ์ของใจ
เพราะฉะนั้น ผมจึงพูดได้ว่า ก้อนหินก้อนนั้นอยู่ภายในใจ”

โฮเคนบอกว่า “ถ้าคุณแบกก้อนหินชนิดนั้นไว้ในใจทุกเวลาแล้วไซร้ 
มันคงหนักเอาการซินะ”

สิ่งที่เห็น สิ่งที่ประสบทุกอย่าง หากเราเอามาแบกรับไว้ในใจอยู่ตลอดเวลา
ใจเราก็คงหนักอยู่ตลอดไป และในชีวิตของเรายังต้องพบเจอกับเรื่องราวอีกมากมาย
หากเราไม่วางมันเอาไว้นอกใจบ้าง เราก็ต้องดำรงชีวิตต่อไปอย่างกดดันหนักอึ้ง

ที่มา หนังสือแม็ค ม.ปลาย ฉบับวันที่ 10 มีนาคม 2549

แสวงหาปัญญา

มักจะได้ยินคนพูดอยู่เสมอว่า มีคนแสวงหาปัญญา
แต่แท้ที่จริงแล้วปัญญามาจากการเรียนรู้โดยสัญชาติญาณ
และมุมมองก่อให้เกิดขึ้นมา แสวงหายังไงก็หาไม่เจอ
และก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปแสวงหา
ลองมองย้อนกลับมาที่ใจของตัวเอง หากในจิตเต็มไปด้วยความวุ่นวายใจ
ถ้าเป็นอย่างนั้น ปัญญาที่บริสุทธิ์สะอาดก็จะไม่มีทางก่อเกิดขึ้นมาได้

มีบางคนนำปัญญามานึกว่าเป็น ความฉลาด 
นึกว่าการพูดคล่องหรือถนัดในการใช้คำ หรือคนที่มีประสบการณ์มารอบด้าน
คือคนที่มีปัญญา แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียง “ประสบการณ์ทางโลกที่ทำให้ฉลาด”

คนส่วนใหญ่ถูก “ประสบการณ์ทางโลกที่ทำให้ฉลาด” มาบดบังปัญญาที่สะอาด
บริสุทธิ์และดีงามจนมืดมิด โดยไม่รู้ว่า การรู้ซื่อๆถึงจะเป็นความล้ำค่าทางปัญญา

หากอยากได้ปัญญาที่บริสุทธิ์แท้ จำเป็นจะต้องเตรียมพื้นฐานทางจิตที่ดีงามไว้
คนที่ฉลาด เพียงแค่ได้ยินทำที่ผิดหูสักหน่อยก็เอาสีข้างเข้าถู

คนมีปัญญา จะรู้จักนำถูกผิดมาเป็นบทเรียน ไม่ว่าจะพบกับคำพูดที่เสียดสีเย้ยหยัน
อย่างไร หรือเจอกับสถานการณ์ที่ทุกข์ยากอย่างไร ก็จะรู้จักนำอุปสรรคมาเป็นตัว
ผลักดันให้มุ่งไปข้างหน้า และยังรู้สึกถึงความสำนึกในบุญคุณ นี่แหละคือปัญญา

ในขณะเดียวกัน ทั้งคำพูดและการกระทำยังรู้จักระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง
เพื่อจะได้ไม่ต้องไปกระทบกระทั่งถูกผู้อื่น ซึ่งสุดท้ายอาจจะย้อนกลับมา
ทำให้ตัวเองรำคาญใจไปเปล่าๆ

ทำอย่างไรถึงจะขจัดความวุ่นวายกังวลฟุ้งซ่านในจิตได้? 
จำต้องอาศัยการแสวงหายามาแก้ด้วยตัวเอง เปรียบดังกับชาวนาต้องเริ่ม
ทำตั้งแต่ ลงต้นกล้า ดูแลพืชผล จนกระทั่งเมื่อเก็บเกี่ยว จำเป็นต้องอาศัย
การลงทุนลงแรงของตัวเอง การทำนาก็มีเทคนิคเฉพาะตน เช่นเมื่อช่วงเก็บเกี่ยว
จะต้องจับต้นข้าวให้มั่นด้วยมือข้างหนึ่ง มืออีกข้างหนึ่งจับเคียว สองมือประสาน
อย่างเหมาะเจาะ ถึงจะเก็บเกี่ยวได้อย่างรวดเร็ว

การขจัดความวุ่นวายทางจิตก็เช่นกัน จำต้องให้ภายในภายนอกขับเคลื่อนไป
พร้อมกัน ภายในจิตตื่นรู้ด้วยตัวเอง ผสานกับการเรียนรู้จากโลกภายนอก

บทกลอนและคัมภีร์ของนักปราชญ์เมธีและปรมาจารย์
ที่สืบทอดต่อกันมาล้วนแต่เป็นสิ่งที่ล้ำค่าด้วยปัญญาอันดีงาม 
พวกเราจะต้องนำจิตน้อมรับมาพิจารณา เพื่อขจัดสิ่งที่ทำให้เกิดความวุ่นวายใจ
ปัญญาที่ดีงามถึงจะก่อเกิดและนำไปใช้ประโยชน์ได้

ที่มา สมาชิกเว็บบอร์ดชาวเซน ของไต้หวัน

ด้านล่างอ่านเจอมาจาก บล็อคของ คุณกะเรนขาว
พูดถึงเรื่องปัญญาพอดีโดยไม่ได้นัดหมาย
จึงขอนำมาลงพร้อมกันระหว่างของชาวเซนกับของเถรวาท

ปัญญา ในความหมายของศาสนาพุทธ

ปัญญาปรมัตถ์

...ปัญญาในแก่นของศาสนาพุทธคือปัญญาในการละความไม่รู้ไม่เข้าใจและ
ละความยึดถือในรูปนามทั้งหลายทั้งปวงได้หมดสิ้น (ความหมายของรูปนามท่านหมายถึงทุกๆสิ่งที่จิตสามารถสัมผัสได้
ทั้งวัตถุ สสารต่างๆ ความรู้สึก ความจำ ความคิด ความเป็นตัวเรา) 
ปัญญาสูงสุดในทางพระพุทธศาสนาท่านจึงเรียกว่าปรมัตถ์ปัญญา มิใช่เป็นปัญญาที่เกิดจากการคิดไตร่ตรอง
 แต่เป็นการเกิดขึ้นด้วยกำลังของสมาธิจิตที่สมบูรณ์พร้อมแล้วเบื่อหน่ายเต็มที่ในรูปนามทั้งหลายแล้ว
 เห็นแล้วว่าอุปาทานในรูป-นามทั้งหลายทั้งปวงไม่มีตัวตนที่แท้จริงแต่อย่างใด กำลังของสายสัมพันธ์ความยึดมั่น
ในรูปนามหมดลงเพราะเบื่อหน่ายเต็มที่ หมดกำลังที่จะยึดมั่นถือมั่นอีกต่อไป 
อุปมาเหมือนกับคนที่ทำงานมาเหนื่อยเต็มที่ พอถึงบ้านหมดแรงอยากนอนอย่างเดียวแม้เสื้อผ้าก็ไม่ยอมถอด
 ทิ้งตัวลงนอนเลย ไม่สนใจร่างกายใดๆทั้งสิ้นแล้ว ขอนอนอย่างเดียว เพราะความเหนื่อยเพลียเต็มที่นั่นเอง 

ดังนั้นปัญญาที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้นักธรรมต้องพิจารณาในรูปนามให้เห็นว่าเป็น ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ 
ไม่น่ายึดถือไม่มีตัวตนที่แท้จริง เมื่อพิจารณาบ่อยๆมากๆจนจิตเหนื่อยเบื่อในงานเต็มที่แล้วจิตจะปล่อยวาง
ได้เองโดยที่ไม่ต้องอยากให้มันปล่อยวางแต่อย่างใด 

... นักธรรมท่านใดที่เอาแต่ความสงบของสมาธิจิต เอาแต่อารมณ์สุขของสมาธิย่อมหาความเหนื่อย 
ความเบื่อและความปล่อยวางแบบปรมัตถ์ต่อรูปนามไม่ได้ อุปมาเหมือนกับพนักงานมาทำงานแต่ไม่ยอมทำงานจริง
 มานั่งมองโน่นมองนี่สุขสบายไปวันๆ ใครๆถามก็บอกกล่าวว่าตนเองเบื่อแล้ว
เหนื่อยแล้วแต่ในความเป็นจริงความเหนื่อยความเบื่อในงาน(รูปนาม)ยังไม่ได้เกิดกับจิตตนเองเลย
เพราะตนเองยังไม่ได้ทำงานจะเอาความเหนื่อยความเบื่อมาจากไหน

ท่านจึงสอนให้นักธรรมพิจารณาความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของรูปและนามให้มาก 
เหนื่อย-พัก,เหนื่อย-พัก(สมาธิ-พิจารณา,สมาธิ-พิจารณา)ทำอยู่แบบนี้เมื่อจิตปุถุชนเบื่อเต็มที่
หมดกำลังที่จะยึดในรูปนามแล้วมันจะทิ้งในรูปนามเอง เห็นเองว่ารูปนามที่แท้จริงโดยปรมัตถ์มันเป็นอย่างไร อนัตตาของจริงมันเป็นอย่างไร.

๕๕. ความโลภไม่มีสิ้นสุด

ฮ่องเต้องค์หนึ่งถามท่านราชครูว่า “ทำอย่างไรถึงจะได้รับธัมมะของพุทธะ”
“พุทธะอยู่ในใจของตัวเอง ผู้อื่นไม่สามารถที่จะให้ได้ มหาบพิตรเห็นก้อนเมฆ
ที่อยู่ด้านนอกวังนั้นหรือเปล่า? สามารถที่จะให้เหล่าองครักษ์สอยมาไว้ในวัง
ได้หรือเปล่า?”
“ไม่ได้แน่นอน”

ท่านราชครูกล่าวต่อว่า “ผู้คนในโลกที่ศรัทธาในพระพุทธ บางคนศรัทธาเพราะอยาก
ให้พระคุ้มครองให้ได้เกียรติยศชื่อเสียง บางคนเพื่ออยากจะวิงวอนขอให้ได้ทรัพย์สินเงินทอง 
บางคนเพื่ออยากจะให้หลุดพ้นจากปัญหาต่างๆที่รุมเร้าทางจิตใจ 
จะมีสักกี่คนที่จะตามหาแก่นแท้แห่งพุทธะ”

“ทำอย่างไรถึงจะเป็นตัวแทนของพระพุทธ?”
“กิเลสทำให้มหาบพิตรมีความคิดเช่นนี้ อย่าให้ชีวิตหมดไปกับความคิดในเรื่อง
ที่ไม่มีความหมายอะไร กี่สิบปีที่หลงวนมัวเมาอยู่กับความไม่จริง ที่สุดแล้วก็เป็น
เพียงแค่ซากที่เน่าเปื่อยและโครงกะโหลกสีขาวเท่านั้น ทำอย่างนั้นให้ลำบากทำไม?”

“หากว่าไม่มีความวุ่นวายความกังวล?”
“ท่านเหยียบเศียรพระแล้วเดินผ่านไปเถอะ”

“หมายความว่าอย่างไร?”
“คนที่ไม่มีความกังวล จะเห็นตัวเองอย่างชัดเจน แม้จะบำเพ็ญจนกลายเป็นพุทธะ
ก็จะไม่หลงตัวเองว่าเป็นกายของพุทธะที่บริสุทธิ์ 

มีแต่คนที่จิตมีแต่ความกังวลวุ่นวายถึงคิดแต่จะให้หลุดพ้นจากความวุ่นวายเหล่านั้น 
หนทางแห่งการภาวนาเป็นหนทางของคนที่มีจิตสะอาดและสว่าง ไม่สามารถให้คนอื่นทดแทนได้
ปล่อยวางกิเลสของตัวเอง ปล่อยวางทุกสิ่งที่ตัวเองอยากได้ ก็จะเป็นความจริงที่ว่า 
ท่านจะได้ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้”

“แม้ว่าจะได้ทุกสิ่งในโลกนี้ก็มีประโยชน์อะไร? ก็ยังไม่ได้เป็นพระพุทธ
“ทำไมถึงจะอยากเป็นพระพุทธ?”
“เพราะว่าข้าอยากจะเป็นพระพุทธที่มีพลังที่ไม่มีใครเหนือกว่าได้”

“ตอนนี้ท่านได้เป็นถึงฮ่องเต้ ยังไม่พออีกหรือ? 
ความโลภของคนยากที่จะรู้จักพอ แล้วจะกลายเป็นพระพุทธได้อย่างไร?”

ปัญญาที่ปล่อยวางจิต

ทุกครั้งที่เรามองกระจก เราหวังจะได้เห็นตัวเองเป็นคนที่พิเศษมากคนหนึ่ง 
และไม่อยากเห็นเป็นเช่นคนทั่วไปที่มีแต่ความทุกข์กังวล 
เราหวังว่าจะได้เห็นคนที่มีแต่ความสุข
แต่ก็ได้เห็นแต่คนที่ดิ้นรนกระเสือกกระสนอยู่อย่างลำบากยากเย็น

ในความคิดของเราคิดว่าตัวเองเป็นคนมีเมตตา แต่มองไม่เห็นความเห็นแก่ตัวของตัวเอง
เราอยากจะให้ตัวเองดูสง่ามีราศี แต่ความเย่อหยิ่งของเราทำให้เรากลายเป็นคนหยาบ 
เราอยากเห็นคนที่เข้มแข็งไม่ยอมแพ้ แต่ได้เห็นแต่คนที่ล่วงเลยวัยไปกับกาลเวลา
ที่ทำให้กลายเป็นคนแก่ ป่วย และตาย และกลายเป็นคนที่เมื่อยล้าและอ่อนแอ

ช่องว่างระหว่างความหวังและความจริงที่เกิดขึ้นมา ทำให้จิตวิญญาณของเรา
เจ็บปวดอย่างมหันต์ ปล่อยวางไม่ได้กับมายาที่หลอกว่าเป็นตัวเราของเรา
การจะเห็นตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง ต้องอาศัยความกล้าเป็นอย่างมาก
และนั่นคือหนทางเดินของนักภาวนา

การจะภาวนาต้องเริ่มต้นจากการพิจารณาตนเอง จิตของเราเหมือนภาพยนตร์
เรื่องหนึ่ง ความคิดที่มีต่อความเป็นไปต่างนานาและความเป็นไปของโลก ก็เป็น
เพียงมายา รวมทั้งการเวียนว่ายตายเกิดหรือนิพพานก็เพียงส่วนหนึ่งของบท
ภาพยนตร์ หากเราสามารถที่จะมองชีวิตตัวเองเหมือนภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง
ก็จะทำให้จิตปล่อยวางได้อย่างสบายๆ ชื่นชมกับการดำเนินเรื่องของบทบาทแต่ละ
ตอน และสามารถมองทะลุถึงแก่นแท้ของความเป็นจริง ให้จิตดำเนินไปตามครรลอง
ของธรรมชาติ
ไก่ป่าครอบครัวหนึ่ง หนีการไล่ล่าของผู้บุกรุกทำลายป่า
และก็ต้องหนีการไล่ล่าตลอดเวลาไม่ว่าจะหนีไปอยู่ตรงไหน
เพราะจากความเชื่อของผู้คนที่ว่า 
เนื้อไก่ป่าเป็นยาและเป็นของบำรุงชั้นยอด

ที่สุดก็มาอยู่ในที่รกร้างใกล้สวนของผู้อารีแห่งหนึ่งในเขตชานเมือง
แต่ยังไงก็หนีการไล่ล่าไม่พ้น ผู้คนที่ได้ยินเสียงขันในช่วงเช้าแล้ว
ต่างลือกันไปทั่วว่า มีไก่ป่ามาอยู่ในบริเวณนั้น จึงทำให้มีผู้จะมาไล่ล่าทุกวัน

แต่น้องสาวเจ้าของสวนมักจะมาคอยกีดกันไม่ให้ผ่านสวนเข้าไป
ประจวบกับความไวและสัญชาติญาณของไก่ป่าเองที่ไม่ค่อยไว้ใจใคร
จึงทำให้หนีรอดไปได้ทุกครั้ง จนผู้คนยอมแพ้ และไม่มารบกวนอีก
ไก่ป่าครอบครัวนั้น จึงอยู่อย่างสงบสุขตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ทุกๆเช้าไก่ป่า จะร้องขันส่งเสียงกังวานไปทั่ว ความไพเราะของ
น้ำเสียงไก่ป่าผู้เป็นลูกสาว ได้แว่วเข้าหูไก่บ้านตัวผู้ตัวหนึ่งที่อยู่ฝั่งตรงข้าม
ทันทีที่ได้ยินเสียงขันของไก่ป่าสาวนั้น ก็รู้สึกนึกรักขึ้นมาทันที

นิยายรักของไก่ป่าและไก่บ้านจึงเริ่มขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ทั้งสองส่งเสียงขับขานเป็นทำนองเพลงรักโต้ตอบกันไปมาทุกๆเช้า
ต่างเข้าใจความรักความผูกพันในกันและกัน

แต่อนิจจา ความรักที่ผิดเชื้อชาติ ผิดธรรมเนียมและประเพณี
ทั้งสองจึงเป็นได้เพียงเส้นขนาน ที่สามารถเดินเคียงคู่กันไปได้ 
แต่ไม่มีทางที่จะมาบรรจบเป็นเส้นเดียวกันได้

แม้จะเป็นเพียงเส้นขนาน แต่ทั้งสองก็สามารถเห็นกันได้
ส่งเสียงถ่ายทอดความรักและความรู้สึกถึงกันได้ ซึ่งก็จะคงเป็น
เช่นนี้ตลอดไป จนกว่ากาลเวลาและอนิจจังของชีวิต
มาพลัดพรากทั้งสองให้จากกันไปคนละทิศทางตามวิถีทางของตน


เรื่องนี้เขียนจากเหตุการณ์และสถานที่จริง
อาจจะดูแปลกๆไปบ้าง 
ต้องขออภัยและให้โอกาสกับมือใหม่หัดเขียนด้วยค่ะ

ข้อคิดจากนก

1. เมื่อนกเริ่มกระพือปีกที่จะบิน พวกที่ต่อแถวตามมาจะมีอากัปกิริยาดัง
เหมือนมีกลองที่ดังบรรเลงขึ้นเพื่อกระตุ้นเตือนให้รู้ว่าเริ่มมีการแสดงแล้ว
เมื่อฝูงนกเรียงแถวเป็นรูปตัว V จะมีพละกำลังเพิ่มจากการบินเดี่ยวถึง
เจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

ข้อคิด หากเราร่วมเดินทางกับผู้ที่มีอุดมการณ์ในแนวเดียวกัน ก็จะสามารถ
ไปได้เร็วขึ้น และถึงจุดหมายปลายทางได้ง่ายขึ้น เพราะเราสามารถช่วยเหลือ
จุนเจือซึ่งกันและกันได้

2. ไม่ว่าเวลาไหน เมื่อนกตัวใดตัวหนึ่งพลัดหลงไปจากฝูง มันจะรับรู้ได้ทันทีว่า
มีพลังต่อต้านอย่างหนึ่งไม่ให้จากฝูงไป และอาศัยแรงประคองที่ส่งมาจากนกอีกตัว 
มันจะกลับมาเข้ากลุ่มได้อย่างรวดเร็ว

ข้อคิด หากเราฉลาดได้เหมือนนก เราก็จะยินดีที่จะอยู่ร่วมกับกลุ่มคนที่มี
อุดมการณ์เดียวกับตนเอง พร้อมกับยินดีรับความช่วยเหลือจากผู้อื่น
และก็ยินดีจะช่วยเหลือผู้อื่นด้วยเช่นกัน

3. เมื่อนกที่เป็นหัวหน้าเหนื่อยแล้ว มันจะถอยกลับไปรวมกลุ่ม
แล้วให้นกตัวอื่นนำหน้าแทน

ข้อคิด เมื่อประสบปัญหาในการทำงาน ผลัดเปลี่ยนและแบ่งปันการ
เป็นผู้นำบ้างก็เป็นสิ่งที่จะทำได้ เพราะเรายังมีความจำเป็นในการพึ่งพา
อาศัยซึ่งกันและกัน

4. นกตัวที่อยู่ด้านหลัง จะร้องส่งเสียงเป็นแรงเชียร์ให้ตัวที่อยู่ข้างหน้า
มุ่งหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ

ข้อคิด เราจำเป็นต้องคิดว่าเสียงเบื้องหลังที่ส่งเสียงมา เป็นเสียงที่เชียร์
ให้มุ่งมั่นไปข้าง และไม่คิดว่าเป็นเสียงอื่นใด

5 . เมื่อนกในกลุ่มเป็นไข้หรือได้รับบาดเจ็บ จะมีนกสองตัวมาช่วยเหลือและคุ้มครอง
นกสองตัวนี้จะอยู่เคียงข้างตลอดเวลา จนมันแข็งแรงหรือตายไป หลังจากนั้นนกสอง
ตัวนั้นจะบินพร้อมกันไปเป็นกลุ่มย่อย หรือตามไปให้ทันกับกลุ่มเดิม

ข้อคิด หาเราฉลาดเหมือนนก เราก็จะรู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาแห่งความลำบากหรือช่วงที่ยังแข็งแรงอยู่
ความทุกข์ส่วนใหญ่ มักเกิดจากการไม่ยอมรับความจริงที่เปลี่ยนแปลง
ความทุกข์ของมนุษย์ส่วนมาก มักเกิดจากต้องการเปลี่ยนแปลงแต่เปลี่ยนไปไม่ได้ 
หรือไม่ต้องการ การเปลี่ยนแปลง แต่กลับเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น

ถามว่าการให้อภัยในความผิดพลาดของคนๆหนึ่ง เป็นสิ่งที่ทำยากหรือง่าย
คำตอบคือ ทำง่าย หากเราฝึกหัดทำเป็นประจำ

ขอให้เราฝึกเสมอๆว่า ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรกับเรา ขอให้เราฝึกให้อภัยทุกวัน
ทำเหมือนที่เราแผ่เมตตาให้แก่สรรพสัตว์ ขอให้เราทำทุกครั้ง ทำทุกวินาที
ทำเหมือนกรวดน้ำให้หลังทำบุญ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้สรรพสัตว์น้อยใหญ่

เมื่อเราสร้าง ”อภัยทาน” ให้เป็นลักษณะนิสัยตลอดเวลาได้แล้ว 
เราจะรู้สึกว่าการให้อภัยแก่ใครนั้น เป็นเรื่องง่ายดาย เป็นเรื่องธรรมดาๆ 
คือทำได้โดยไม่ต้องฝืนใจทำ

ขอให้เราทราบไว้ว่า เมื่อเราหัดสร้าง “อภัยทาน”เป็นปกติแล้ว 
เศษกรรมต่างๆแทนที่จะติดตามเราไปข้ามภพข้ามชาติ 
ก็จะถูกสลัดออก คือตามไปไม่ได้ เพราะมิได้เป็นกรรมอีกต่อไป 
หากแต่เป็นแต่เพียงกิริยาที่แสดงออก เพราะเราให้อภัยเสียแล้ว

เมื่อเราให้อภัยเสียแล้ว ใครๆที่ผูกอาฆาตพยาบาทเราไว้ แรงพยาบาท
ของเขา ก็จะหมดโอกาสติดตามเรา เพราะกรรมนั้นหมดแรงส่ง
เนื่องจากเราได้ “อโหสิ” เสียแล้ว

จึงขอเชิญชวนท่านทั้งหลาย มาฝึกปฏิบัติ “อภัยทาน” และ “อโหสิกรรม”
ตั้งแต่บัดนี้เถิด เพื่อยุติสนิมในใจ คือความอาฆาต พยาบาท เพื่อยุติแรงส่ง
ของกรรม ที่ตามไปเผล็ดผลอันเผ็ดร้อนข้ามภพข้ามชาติ

พึงหลับตาให้ใจสงบครู่หนึ่งก่อน แล้วตั้งใจกล่าวคำแผ่เมตตาเบาๆ ดังนี้

สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
อเวรา โหนตุ จงเป็นสุขๆเถิด อย่าได้มีเวรต่อกันและกันเลย
อัพยาปัชฌา โหนตุ จงเป็นสุขๆเถิด อย่าได้พยาบาทเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
อนีฆา โหนตุ จงเป็นสุขๆเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
สุขี อัตตานัง ปริหรันตุ จงเป็นผู้มีสุข รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญฯ

ที่มา หนังสือเรื่อง อภัยทาน รักบริสุทธิ์ โดย ปิยโสภณ วัดพระราม๙ กาญจนาภิเษก

จดหมายจากดวงดาวถึงนายต้นไม้

นายต้นไม้ที่รัก

ฉันเป็นเพียงกลุ่มก้อนหินที่รวมตัวกัน ไม่มีแม้แต่แสงสว่างในตัวเอง
ที่มองดูสุกสกาววาววับ กระพริบไปมาอย่างเป็นสุข ก็เพราะได้แสงสว่าง
จากดวงอาทิตย์ และก็เป็นสภาพที่เป็นอยู่ได้ไม่นาน ก็ต้องร่วงหล่น
ไปตามวาระ กลายเป็นเศษดาวตกจากฟากฟ้าไป

ถ้าฉันเล่าความเป็นมาระหว่างเราแล้ว นายก็คงจะเข้าใจความผูกพัน
และความเป็นไประหว่างเราได้ดีขึ้น

หลายพันปีก่อน นายเป็นอำมาตย์ใหญ่อยู่ในวัง ด้วยความคึกคะนอง
และหลงในความสามารถของตัวเอง จึงถูกย้ายไปอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ
แต่นายก็เป็นคนเก่งรอบด้านเลยนะ ทั้งแต่งหนังสือ เขียนบทกลอน
เล่นดนตรี พิณลายจิ้งจกเป็นพิณที่นายรักมากที่สุด ถึงกับแต่งกลอน
บรรยายความรักและความรู้สึกที่มีต่อพิณนี้เลยทีเดียว

นายเป็นคนรักสนุก คึกคะนองหลงตัวเอง ชอบเสียดสีผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว
แต่ส่วนดีที่สุดของนายคือใฝ่ธรรมะชอบสนทนาธรรมกับพระภิกษุเป็นประจำ
แต่งานเขียนของนายก็ค่อนข้างหมิ่นเหม่อยู่เหมือนกัน ซึ่งหลายๆท่าน
อาจไม่พอใจ หรือบอกว่าไม่ถูกต้อง

ชีวิตราชการของนายต้องย้ายไปอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ จนในที่สุดก็ได้พบ
กับพระอาจารย์ท่านหนึ่ง นายสนิทสนมและผูกพันกับพระอาจารย์ท่านนี้มาก
เรียกว่าทุกครั้งที่มีเวลาว่าง จะต้องไปหาทันที ทั้งๆที่ระยะทางก็ไม่ใช่ใกล้ๆ
ไปถึงก็สนทนาธรรมบ้าง เล่นพิณบ้าง กึ่งเล่นกึ่งหยอกล้อพระอาจารย์เป็นประจำ
วันไหนได้หยอกล้ออย่างสนุกถึงใจ ถึงกับดีใจออกนอกหน้าเมื่อกลับถึงบ้าน
ยังมีรายละเอียดอีกมากมายซึ่งคงจะเล่าไม่หมดในที่นี้

แต่ความอาฆาตที่ฝังลึกโดยที่นายไม่รู้ตัวคือ ครั้งหนึ่งนายเดิมพันกับพระอาจารย์
ด้วยเข็มขัดหยก แต่นายแพ้เดิมพัน ถึงกับต้องเสียเข็มขัดสุดรักสุดหวงไปเลย
ครั้งนั้นนายรู้สึกเสียหน้ามาก เพราะเดิมพันต่อหน้าฝูงชนที่มาปฏิบัติธรรมด้วยกัน

มีเรื่องหนึ่งที่อยากขอเตือนคือ เมื่อนายอายุจะเข้าเลขสี่ สุขภาพนายจะเริ่มเสื่อมถอย
จนเห็นได้ชัดและรู้สึกได้ แต่ความเจ็บป่วยและสุขภาพที่ไม่ดี จะทำให้นายเข้าใจ
สัจธรรมของชีวิตได้เป็นอย่างดี ในอดีตนายเป็นทุกข์เพราะสุขภาพอย่างแสนสาหัส

เล่ามาถึงตอนนี้ นายคงจะรู้แล้วซินะ ในอดีต ใครคือนาย ใครคือฉัน
ยังมีเรื่องเล่าอีกมากมาย ซึ่งต่อไป นายอาจจะรู้เห็นได้ด้วยตัวเองก็เป็นได้
จาก 
ดวงดาวที่อยู่ไกลโพ้นนั้น

ผู้เปิดประตูนั้นยังเหมือนเป็นผู้ปิดประตู

หวางหยังหมิง (1472-1529) เป็นนักปรัชญาและนักการศึกษา
ครั้งหนึ่งได้ไปที่วัด จินซานเพื่อไปไหว้พระ รู้สึกว่า คุ้นเคยกับสถานที่
และสภาพแวดล้อมภายในวัดเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ต้นไม้และต้นหญ้าก็
เหมือนกับเคยรู้จักกันมาก่อน

ขณะที่เดินผ่านห้องๆหนึ่งเห็นมีกระดาษปิดหน้าห้องไว้เหมือนกับบอกให้รู้ว่า
ห้องนี้ปิดตาย เขามองซ้ายมองขวาไปมาก็เหมือนกับเคยอยู่ที่นี่มาก่อน
ด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่า ข้างในมีอะไรบ้าง จึงขอให้ท่านเจ้าอาวาส
ช่วยเปิดห้องให้ดู แต่ท่านเจ้าอาวาสปฏิเสธแล้วพูดว่า
“ต้องขออภัย ห้องนี้เป็นห้องที่พระอาจารย์ท่านหนึ่งมรณภาพเมื่อห้าสิบปีก่อน
ข้างในเป็นที่เก็บศพของท่าน ก่อนที่ท่านจะมรณภาพ ท่านสั่งไว้ว่า ให้ปิดตายห้องนี้
ต้องขออภัยท่านจริงๆ เปิดให้ท่านดูไม่ได้”

“ห้องนี้มีทั้งประตูและหน้าต่าง ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะบอกว่าเปิดไม่ได้ตลอดไป
วันนี้ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ก็ขอให้ท่านเมตตาช่วยเปิดให้ดูสักครั้งเถิด”

หวางหยางหมิงวิงวอนร้องขออยู่นาน จนท่านเจ้าอาวาสทนรบเร้าไม่ไหว
จึงเปิดให้อย่างฝืนทนเต็มที ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาเย็น แสงอาทิตย์สาดส่อง
ไปที่ศพพระอาจารย์ที่ยังนั่งสมาธิอยู่ โดยที่ร่างยังไม่เน่าเปื่อย

หวังหยางหมิงรู้สึกประหลาดใจเป็นอย่างยิ่งที่หน้าตาของพระอาจารย์ท่านนั้น
คล้ายกับตัวเองไม่มีผิด มองเลยขึ้นไปที่กำแพง ยังเห็นบทกลอนเขียนไว้ว่า

ห้าสิบปีผ่านไปหวังหยางหมิง 
ผู้เปิดประตูยังเหมือนเป็นผู้ปิดประตู
จิตวิญญาณลับแล้วย้อนหวนคืน 
ยังเชื่อว่าชาวเซนนี้ร่างไม่เน่า

ที่แท้ชาติก่อนของหวางหยังหมิงคือพระอาจารย์ที่นั่งสมาธิแล้ว
มรณภาพแล้วนั่นเอง ในกาลก่อนเป็นผู้ปิดประตู วันนี้ยังเป็นผู้มาเปิดประตู
ด้วยตนเอง เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันให้กับชนรุ่นหลัง
และหวังหยางหมิงยังได้เขียนบทกลอนไว้ที่วัดจินซาน ซึ่งยังมีอยู่จนถึงทุกวันนี้

หมั่นนึกถึงส่วนดีไว้

มีคำพังเพยบทหนึ่งกล่าวว่า 
“เรื่องราวไม่สมหวังในชีวิตคนเรา มีมากถึงแปดถึงเก้าในสิบส่วน”
ในชีวิตของคนเรามีเรื่องราวที่ไม่สมหวัง มากเกินกว่าครึ่งของความสมหวัง
ด้วยเหตุนี้ การมีชีวิตอยู่จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเจ็บปวด แต่เมื่อหักความไม่
สมหวังออกแล้ว อย่างน้อยก็ยังมีอีกหนึ่งหรือสองส่วนซึ่งเป็นความสมหวัง
เป็นความสุข เป็นความปลาบปลื้ม

หากเราอยากมีความสุข ก็ต้องหมั่นนึกถึงเรื่องดีๆของหนึ่งหรือสองส่วนนั้น
คิดอย่างนั้นจะรู้สึกความโชคดี และรู้จักถนอมสองส่วนนั้นไว้ 
ไม่ถูกแปดหรือเก้าส่วนนั้น โค่นจนล้มลง

เมื่อผ่านความเจ็บปวดและอุปสรรคในชีวิตไปแล้ว 
ผ่านความรู้สึกของการพบแล้วพรากแล้ว
ก็ค่อยๆแสวงหาสิ่งที่เคยขวนขวายมาในชีวิต
สิ่งที่เป็นความสุข เป็นความคิดอ่านที่ถูกต้อง 

ความคิดลักษณะนี้คือ
ความคิดหนึ่งกับสองส่วนที่ดีที่ต้องคิดบ่อยๆ

ความคิดหนึ่งกับสองที่ต้องคิดบ่อยๆ เป็นแสงสว่างลำเดียวที่จะแสวงหาได้
ในเมฆหมอกที่หนาทึบ และยังเป็นสิ่งที่เงียบสงบในห้วงกิเลสใหญ่น้อยทั้งหลาย 
และยามเมื่อลมหายใจติดขัด จะได้หายใจยาวๆสักครั้ง

ชีวิตก็ทุกข์แสนสาหัสอยู่แล้ว หากเราเรานำสิ่งที่ไม่สมหวังที่ผ่านมาเป็นสิบปีมา
รวมกัน ย่อมจะนำความเป็นอยู่และความรู้สึกเข้าไปอยู่ในห้วงทุกข์ 
เป็นการเพิ่มทุกข์เข้าไปในทุกข์อีก

เรือชีวิตที่เดินไปท่ามกลางคลื่นที่ถาโถมเข้ามา
ต้องรู้จักวิธีที่จะเผชิญกับความทุกข์
ยามเมื่อความทุกข์เข้ามาเยือน หากยังคงดำรงไว้ซึ่งความคิดที่ถูกต้อง
หมั่นนึกถึงส่วนดีหนึ่งและสอง ก็จะสามารถผ่านพ้นทุกข์ไปได้
ความทุกข์ยากจะกลายเป็นปุ๋ยบำรุงชีวิตที่ดีที่สุด
และปัญญาย่อมจะบังเกิดในที่

ยืนหยัดอยู่ในคุณค่าของตัวเอง

มีลูกศิษย์คนหนึ่งมักจะคอยถามพระอาจารย์ด้วยคำถามเดิมๆทุกวัน
“อาจารย์ครับ อะไรคือคุณค่าของชีวิตที่แท้จริงครับ?”
วันหนึ่งพระอาจารย์นำก้อนหินก้อนหนึ่ง แล้วพูดกับศิษย์ว่า
“เจ้าจงนำก้อนหินก้อนนี้ไปขายที่ตลาด แต่ไม่ต้องขายจริงๆหรอกนะ
เพียงแต่ให้คนตีราคาก็พอ แล้วคอยดูว่า แต่ละคนจะตีราคาก้อนหิน
ก้อนนี้สักเท่าไร?”

ลูกศิษย์นั้นจึงนำก้อนหินไปขายที่ตลาด บางคนก็บอกว่าก้อนหินก้อนนี้
ใหญ่ดี สวยดีให้ราคาสองบาท บางคนก็บอกว่าก้อนหินก้อนนี้มาทำเป็น
ลูกตุ้มชั่งน้ำหนักได้ ก็ตีราคาให้สิบบาท ที่สุดแต่ละคนก็ตีราคาไปต่างๆ
นานา แต่ราคาที่ให้สูงสุดคือสิบบาท ลูกศิษย์รู้สึกดีใจ กลับไปบอกอาจารย์ว่า
“ก้อนหินที่ไม่มีประโยชน์อะไรนี้ ยังขายได้ถึงสิบบาท น่าจะขายออกไปจริงๆ”
อาจารย์พูดขึ้นว่า“อย่าเพิ่งรีบขายก่อน ลองพาไปขายในตลาดทองคำดู 
แต่ก็อย่าขายออกไปจริงๆ” 

ลูกศิษย์จึงนำก้อนหินก้อนนั้นไปขายในตลาดทองคำ เริ่มต้นมีคนตีราคาให้
หนึ่งพันบาท คนที่สองตีราคาให้หนึ่งหมื่นบาท สุดท้ายมีคนให้ถึงหนึ่งแสนบาท
ลูกศิษย์รู้สึกดีใจ รีบกลับไปรายงานพระอาจารย์ถึงผลพลอยได้ที่นึกไม่ถึง

พระอาจารย์กล่าวต่อไปอีกว่า “นำก้อนหินนี้ไปตีราคาที่ตลาดเพชร”
ลูกศิษย์จึงนำไปที่ตลาดค้าเพชร คนแรกให้ราคาหนึ่งแสน สองแสน
สามแสน ไปเรื่อยๆ เมื่อพ่อค้าเห็นไม่ยอมขายสักที จึงให้เขาตีราคาเอง
แต่ลูกศิษย์นั้นกล่าวว่า “พระอาจารย์ไม่ให้ขาย” จึงนำก้อนหินนั้นกลับไป
พูดกับพระอาจารย์ว่า “ก้อนหินก้อนนี้คนให้ราคาถึงเรือนแสนแล้ว”

“ใช่แล้ว ตอนนี้อาจารย์ไม่อาจสอนเจ้าถึงเรื่องคุณค่าของชีวิตเพราะ
เพราะเจ้ามองชีวิตของเจ้าเหมือนกับการตีราคาของตลาด คุณค่าของชีวิต
คนเรา ควรจะอยู่ในจิตใจของตนเอง ต้องมีสายตาของนักค้าเพชรที่เก่งที่สุด
เสียก่อน จึงจะมองเห็นคุณค่าที่แท้จริงของชีวิตคนเรา”

คุณค่าของคนเรา ไม่ได้อยู่ที่ราคาที่อยู่ข้างนอก แต่อยู่ที่เราให้ราคาของตัวเอง
ราคาของเราทุกคนเป็นสิ่งที่ไม่มีสิ่งใดเปรียบเทียบ ยอมรับตัวเอง ฝึกฝนตัวเอง
ให้ช่องว่างกับตัวเองได้เติบโต พวกเราก็จะกลายเป็น “สิ่งที่มีค่าจนประเมินไม่ได้” 
อุปสรรคทุกอย่างที่เกิดขึ้น ความปวดร้าวที่เกิดขึ้นทุกครั้ง ความทุกข์ที่โหม
กระหน่ำ ก็มีความหมายอยู่ในตัวของมัน

เทพเจ้าแห่งกอบัว

มีชายคนหนึ่งมักจะไปบำเพ็ญภาวนาอยู่ในป่า รักษาศีลอย่างบริสุทธิ์
และมีพลังศรัทธาเชื่อมั่นมาก ทุกวันจะต้องไปนั่งนั่งกรรมฐานวิปัสสนาที่ป่าแห่งนี้

วันหนึ่งนั่งสมาธิจนรู้สึกมึนหัว เลยลุกขึ้นมาเดินเล่น บังเอิญเดินผ่านสระบัวแห่งหนึ่ง
เห็นดอกบัวกำลังออกดอกบานสะพรั่ง ดูงามตายิ่งนัก
ชายคนนั้นคิดว่า ดอกบัวงามอย่างนี้ หากเด็ดมาสักดอกแล้ววางไว้ข้างตัว
ดมกลิ่นหอมอ่อนๆของบัวไปด้วย คงจะทำให้สดชื่นขึ้น
ดังนั้น เขาจึงเอี้ยวตัวไปเก็บมาหนึ่งดอก ขณะที่กำลังจะจากไป ได้ยินเสียงต่ำๆ
แต่แฝงไว้ด้วยพลัง ถามมาว่า “ใคร? โอหังยังไงถึงมาขโมยดอกบัวของข้า?”
ชายคนนั้นมองไปรอบๆ แต่ไม่เห็นมีอะไร เลยถามไปว่า

“ท่านเป็นใคร? แล้วจะบอกได้ยังไงว่าดอกบัวนี้เป็นของท่าน”

“ข้าเป็นเจ้าที่ดูแลสระบัวแห่งนี้ ดอกบัวทั้งสระนี้ก็เป็นของข้า เสียแรงที่เป็นนักภาวนา
ขโมยเด็ดดอกบัวของข้า เกิดความโลภขึ้นมาในใจ ยังไม่รู้ตัว
ยังไม่รู้สึกสำนึกผิด ยังจะกล้ามาถามอีกว่าดอกบัวนี้เป็นของข้าหรือเปล่า”

ชายนั้นรู้สึกละอายใจและอดสูยิ่งนัก นั่งคุกเข่าแล้วคำนับขอขมาพูดว่า
“ท่านเทพแห่งดอกบัว ข้าสำนึกผิดแล้ว จะแก้ตัวใหม่กับความผิดที่ผ่านๆมา
จะไม่กล้าโลภอยากได้สิ่งของที่ไม่ใช่ของตัวเอง”

ขณะที่เขาสำนึกผิดอยู่นั้น มีคนๆหนึ่งเดินผ่านมาข้างสระพอดี พลางพูดกับ
ตัวเองว่า ดอกบัวนี้บานได้อย่างอวบอิ่มยิ่งนัก เด็ดไปขายในเมืองดีกว่า
ได้เงินมาแล้ว ดูซิเงินที่เล่นไพ่แพ้แล้วจะเอากลับคืนมาได้หรือเปล่า?

ว่าแล้วก็กระโดดลงไปในสระ เก็บดอกบัวทุกดอกในสระไปหมด ทั้งยังเหยียบย่ำใบ
จนจมโคลนไปหมด แม้กระทั่งโคลนยังถูกพลิกขึ้นมา แล้วก็หอบเอาบัวกำใหญ่
หัวเราะอย่างถูกใจแล้วจากไป

ชายคนนั้นหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เทพเจ้าแห่งกอบัวจะออกมาห้าม ดุด่าและลงโทษคนๆนั้น แต่ก็ไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย

เขาเต็มไปด้วยความสงสัยเลยถามออกมาลอยๆว่า “ท่านเทพ ข้าเพียงแต่เด็ด
ดอกบัวไปเพียงดอกเดียว แต่ท่านกลับดุด่าว่าข้าอย่างรุนแรง แต่คนเมื่อกี้เด็ดดอก
บัวไปทั้งหมด ทั้งทำลายสระจนเละไปหมด ท่านทำไมถึงไม่พูดสักคำ?”

ท่านเทพตอบมาว่า “ท่านเป็นนักภาวนา ก็เหมือนผ้าขาวผืนหนึ่ง แม้มีเพียง
รอยสกปรกเพียงเล็กน้อย ก็สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน ดังนั้นข้าจึงเตือนเจ้า
ให้รีบขจัดสิ่งที่ทำให้มัวหมอง กลับกลายเป็นบริสุทธิ์ดังเดิม

แต่คนๆนั้นเป็นคนหยาบช้ามาแต่เดิม เหมือนดังผ้าขี้ริ้ว ถึงจะสกปรกถึงจะดำอีก
ก็ไม่เป็นไร ข้าก็ช่วยอะไรเขาไม่ได้ ได้แต่ปล่อยให้เขาเป็นไปตามกรรมที่เขาก่อไว้เอง
ถึงไม่ได้พูดอะไร

เจ้าก็อย่าน้อยใจไปเลย ควรจะดีใจมากกว่า ที่ข้อผิดพลาดของเจ้ามีคนเห็น 
และคนที่เห็นแล้วยังมาชี้แนะให้เจ้าเดินไปในทางที่ถูกที่ควร แสดงว่าผ้าของเจ้ายังขาวอยู่
ควรที่จะได้รับการชำระให้สะอาด นี่ควรจะเป็นเรื่องที่น่าดีใจไม่ใช่หรือ?”

หนทางแห่งความสำเร็จ

ชายหนุ่มคนหนึ่งอยากจะแสวงหาหนทางแห่งความสำเร็จ เขาได้ยินมาว่า
มีผู้รู้ท่านหนึ่งเป็นผู้มีปัญญามาก รู้ว่าอะไรคือหนทางแห่งความสำเร็จ
มีหลายคนได้รับความสำเร็จเมื่อได้รับคำแนะนำจากผู้รู้ท่านนี้
ดังนั้นเขาจึงอยากจะไปหาผู้รู้ท่านนี้ตามคำเล่าลือ แล้วจะขอคำชี้แนะ
หลังจากต้องแสวงหาด้วยความยากลำบากอยู่นาน ที่สุดก็หาจนเจอ

ชายหนุ่ม : ท่านผู้รู้ครั้บ ท่านจะสอนให้ข้าพเจ้าทำอะไรบ้าง 
หรือเตรียมเงื่อนไขอะไรบ้าง ถึงจะประสบผลสำเร็จ
ผู้รู้ : “เจ้าอยากจะประสบความสำเร็จหรือ? งั้นตามข้ามา”

ผู้รู้พูดเสร็จ ก็ไม่ได้สนใจว่าชายหนุ่มนั้นจะมีปฏิกิริยาอะไร เดินลิ่วๆ
ไปที่ชายหาด ชายหนุ่มนั้นเพื่อจะหาหนทางแห่งความสำเร็จ
ก็เดินตามหลังไปติดๆ เดินไป เดินไป จนถึงชายหาด
ผู้รู้ล่อให้ชายหนุ่มนั้นเดินลงไปในทะเลยิ่งเดินก็ยิ่งลึกลงไปในทะเล 
จนน้ำลึกลงมาถึงที่อกแล้ว มองดูแล้ว ถ้าเดินต่อไปอีกต้องท่วมมิดหัวแน่ 

ผู้รู้นั้นอยู่ๆก็กดหัวของชายหนุ่มนั้นให้จมลงไปในน้ำ
ชายหนุ่มนั้นต่อสู้ดิ้นรนสุดชีวิต เพื่อให้รอดพ้นจากอันตราย 
แต่ผู้รู้นั้นก็ยังกดไม่ปล่อยผ่านไปอีกชั่วครู่ ถึงปล่อยมือ 
หนุ่มนั้นรีบโผล่ขึ้นเหนือน้ำ หายใจลึกๆอยู่หลายครั้ง

แล้วจึงตะโกนด่าว่า “ไอ้แก่ เจ้าจะกดให้ข้าจมน้ำตายหรือ?”

“หากปณิธานของเจ้าที่มุ่งหวังความสำเร็จ เหมือนความมุ่งมั่นที่จะหายใจ
ของเจ้าเมื่อสักครู่ เจ้าก็เดินเข้ามาบนเส้นทางแห่งความสำเร็จแล้ว” ผู้รู้ตอบ

๖๒. ภูเขาพระอาทิตย์

มีพี่น้องคู่หนึ่งกำพร้าบิดามารดาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก สองพี่น้องดำรงชีวิตอยู่มา
อย่างยากลำบาก พวกเขาหาเลี้ยงชีพด้วยการตัดฟืนไปขายในเมือง แต่พวก
เขาก็ไม่รู้สึกเคืองแค้นในโชคชะตา ซ้ำยังเป็นคนขยันขันแข็ง ทำงานทั้งวัน
ตั้งแต่เช้ายันมืด คนพี่ดูแลเอาใจใส่น้อง คนน้องรักและเคารพในตัวพี่
แม้ชีวิตจะอยู่อย่างฝืดเคือง แต่ทั้งสองก็มีความสุขตามอัตภาพ

หัวรุ่งของวันหนึ่ง ทั้งสองฝันว่า เจ้าแม่กวนอิมมาบอกว่า “ที่ๆไกลจากที่นี่ไป
มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อว่า “ภูเขาพระอาทิตย์” บนภูเขามีทอง เหลืองอร่ามเต็มไป
หมด พวกเจ้าสามารถไปเอามาได้ แต่พวกเจ้าต้องระวัง เพราะจะเจออุปสรรค
และอันตรายตลอดทาง และอีกอย่างที่สำคัญคือ บนภูเขาจะมีอุณหภูมิสูงมาก
พวกเจ้าจะต้องนำทองเอาจากภูเขาก่อนพระอาทิตย์จะขึ้น ถ้าหากรอให้พระ
อาทิตย์ขึ้นแล้ว พวกเจ้าจะโดนเผาจนตาย”

เมื่อตื่นขึ้นมาทั้งสองรู้สึกดีใจมาก ปรึกษากันสักพัก ก็ตกลงใจจะเดินทางทันที
ตลอดทางเจอสัตว์ร้าย พายุฝนกระหน่ำ และอุปสรรคต่างๆนานา แต่ด้วย
ความร่วมแรงร่วมใจของทั้งสอง ที่สุดก็เดินทางถึงภูเขานั้น

ขณะนั้นพระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น คนพี่รีบเก็บทองก้อนที่มีขนาดใหญ่แล้วรีบลง
จากเขาทันที แต่คนน้องเก็บแล้วเก็บเล่าจนเต็มถุงแล้วก็ยังไม่ยอมรามือ
แม้จะยังจำได้ว่า เจ้าแม่ได้เตือนแล้วว่า ให้ลงจากเขาก่อนพระอาทิตย์จะขึ้น
ก็ไม่สนใจ ได้แต่คิดในใจว่า “ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายที่จะพบทองมากมายอย่างนี้
ขอเก็บให้พอใจเถอะ” คิดแล้วก็เก็บต่อไปอีก

พระอาทิตย์เริ่มขึ้นมาจากขอบฟ้า อุณหภูมิก็สูงขึ้นเรื่อยๆ คนน้องจึงรีบแบกทอง
ลงจากเขา แต่ทองนั้นหนักเหลือเกิน เขาลากทองนั้นอย่างทุลักทุเล หกล้มไปตลอดทาง
ที่สุดความร้อนจากแสงอาทิตย์ก็เผาเขาจนตายอยู่บนภูเขานั้น

ส่วนคนพี่เมื่อได้ทองมา ก็นำทองไปขายได้เงินมาไปลงทุนค้าขาย
เก็บหอมรอมริบจนกลายเป็นเศรษฐี

๖๓. จดหมายของแม่

พระอาจารย์ท่านหนึ่งขณะที่ยังเป็นสามเณร เป็นคนที่ฉลาดหลักหลักแหลม
พูดจาฉะฉาน ได้พบกับฮ่องเต้หลายครั้ง และได้รับพระราชทานรางวัลมา
ทุครั้ง ของที่ได้รับพระราชทานมา สามเณรนั้นจะส่งกลับไปให้มารดา
เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญู แต่มารดาตอบจดหมายกลับมาว่า

สิ่งที่เจ้าส่งมานั้นเป็นของพระราชทาน แม่ย่อมรู้สึกชื่นชมยินดี 
แต่เมื่อตั้งแต่แรก ที่ตั้งใจจะให้เจ้าบวชเรียน ก็เพื่อจะให้เจ้าเป็นผู้ที่
ตั้งใจปฏิบัติธรรมให้ถูกต้อง เพื่อให้หลุดพ้นจากความเป็นทุกข์กับ
เกียรติยศชื่อเสียงเงินทอง หากว่ายังหลงชื่นชอบอยู่กับสิ่งจอมปลอม
แบบโลกๆ ก็เท่ากับเป็นการผิดไปจากความตั้งใจแต่แรกของแม่
หวังว่าเมื่อได้อ่านจดหมายของแม่แล้ว ลองไตร่ตรองให้ละเอียดถี่ถ้วน
“อะไรคือการปฏิบัติธรรมที่แท้จริง” 
“อะไรคืออาจารย์ของฟ้าดิน”

หลังจากที่สามเณรนั้น ได้อ่านจดหมายจากมารดา ก็ได้ตั้งใจปฏิบัติ
ตนเป็นบรรพชิตที่ประพฤติธรรมเผยแพร่ธรรมะและฉุดช่วยผู้คน
ดังคัมภีร์ที่กล่าวไว้ว่า “หวังจะให้เวไนยสัตว์ทั้งหลายหลุดพ้นจากทุกข์
ไม่ได้เพื่อหวังวิงวอนให้ตัวเองสุขสงบ” 

หลังจากนั้น สามเณรท่านนั้นก็ฝากคนไปแจ้งข่าวกับมารดาว่า หน้าร้อน
ปีนี้จะขอลากลับไปเยี่ยมแม่ มารดาก็ส่งจดหมายตอบมาว่า 
“เมื่อแม่ส่งเจ้าไปบวชเรียน เจ้าก็กลายเป็นคนของศาสนา 
เป็นคนของเหล่าเวไนย ไม่ใช่เป็นคนของแม่เพียงคนเดียวแล้ว 
ต่อจากนี้ไป เจ้าควรจะเป็นบุตรของพุทธะ
กตัญญูต่อครูอาจารย์ ใกล้ชิดพระรัตนตรัย 
ไม่ควรจะนึกถึงแม่แต่เพียงผู้เดียว 
ความคิดที่จะกลับบ้านในหน้าร้อนนี้ ยกเลิกเสียเถิด

ความหอมของดอกเหมยฮวา

เช้าวันหนึ่งของฤดูหนาว เศรษฐีคนหนึ่งก็เหมือนกับที่เคยปฏิบัติทุกวัน
ผ่านการนอนอันอบอุ่นมาทั้งคืน เมื่อกินอาหารเช้าอันอุดมสมบูรณ์แล้ว
ก็จะเดินเล่นอยู่ในสวนที่มีอาณาเขตกว้างขวาง 
ก็เหมือนกับเศรษฐีทั่วๆไปที่เช้าขึ้นมาก็เดินเล่นอยู่ในสวนดอกไม้ 
เพราะนั่นคือสิ่งที่แสดงถึงฐานะและลักษณะของเศรษฐี

ในสวนอันกว้างใหญ่นั้นเศรษฐีไม่เคยปลูกดอกไม้ด้วยตัวเอง พวกเขาได้แต่เสพสุข
จากผลสำเร็จอันยากลำบากของคนสวน ชมดอกไม้ก็เหมือนกับการตรวจงานในชีวิตประจำวัน 
เศรษฐีเห็นดอกไม้ในสวนบานสะพรั่ง ก็ดีใจที่สามารถมีสวนอย่างนี้ได้

ขณะที่กำลังเดินชมเพลินอยู่นั้น ก็ได้ยินเสียงคนเคาะประตู เศรษฐีคนนั้นก็เปิดประตูสวนออกไป 
เห็นขอทานใส่เสื้อผ้าขาดๆคนหนึ่ง ยืนตัวหนาวสั่นท่ามกลางลมหนาวด้านนอกขอทานนั้นพูดขึ้นว่า 
“คุณท่าน ทำบุญทำทานให้กับคนยากด้วยเถิด ขออะไรกินสักหน่อยได้มั้ย?”

เศรษฐีนั้นบอกให้ขอทานรอสักเดี๋ยว แล้วก็เดินเข้าไปในครัว ยกอาหารอันร้อนกรุ่นมา
ชามหนึ่ง ขณะที่เศรษฐีนั้นจะยกให้กิน ขอทานนั้นพูดขึ้นว่า
“คุณท่าน ดอกเหมยฮวาบ้านท่าน ช่างหอมกรุ่นเสียจริงๆ”
พูดจบแล้วก็ รับอาหารนั้น ขอบคุณแล้วเดินจากไป

เมื่อได้ยินคำพูดของขอทานนั้น เศรษฐีนั้นนิ่งอึ้งไปสักพัก แล้วคิดว่า
“ขอทานยังรู้จักชื่นชมดอกไม้หรือ? และสิ่งที่ยิ่งทำให้เศรษฐีประหลาดใจคือ
ปลูกดอกเหมยฮวาในสวนมาสิบกว่าปี แล้วก็เดินชมสวนอยู่ทุกวัน
ทำไมถึงไม่เคยได้กลิ่นของดอกเหมยฮวาเลย

ดังนั้น เขาจึงเดินไปใต้ต้นเหมยฮวา แล้วก็พยายามทำจิตให้สงบนิ่งและอ่อนโยน
จากนั้นก็ค่อยๆสูดดมกลิ่นของดอกเหมย แล้วเขาก็ได้กลิ่นหอม ใสเย็นอ่อนๆ
นั่นเป็นครั้งแรกที่เขาได้กลิ่นของดอกเหมย เขาตื้นตันจนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่

***** สิ่งมีค่าที่สุดในชีวิต คือการรู้จักชื่นชม แต่ไม่ใช่การยึดครองอยู่ *****

สุดท้ายของชีวิต กายไม่ได้มีไว้เพื่อตัวเอง

ฉันคือน้ำ ที่ไหลมาจากบนยอดเขาลงมาสู่ด้านล่าง
ผ่านป่าเขาลำเนาไพร ผ่านโขดหิน
บางครั้งคดเคี้ยว บางครั้งก็ราบเรียบ
บางครั้งก็เป็นน้ำขุ่น บางครั้งก็เป็นน้ำใส
บางครั้งนอนนิ่งๆอยู่กลางหุบเขา แล้วก็ไหลเอื่อยๆไปอย่างช้าๆ

เมื่อมีอุปสรรค ฉันก็อดทนที่จะรอคอย
เมื่อไม่มีสิ่งกีดขวาง ฉันก็มุ่งไปข้างหน้าอย่างไม่หวาดหวั่น
ไม่รู้ผ่านวันเดือนปีไปแล้วเท่าไหร่
สุดท้ายก็กลับไปที่ทะเลชีวิต
นึกว่าจะกลับถึงบ้านแล้ว

แต่ใครจะคิดว่า กลับโดนแสงแดดแผดเผาจนกลายเป็นไอน้ำ
กลายเป็นเมฆขาวลอยอยู่บนท้องฟ้า
แล้วต้องล่องลอยไปตามลม ไปยังที่ๆไม่รู้จัก
กายฉันเหน็ดเหนื่อย ใจฉันอ่อนล้า
ไม่รู้ไปถึงไหนถึงจะได้เจอแหล่งพักพิง

แล้วช่วงเวลานั้น ฟ้ามืดมิด หมอกแน่นหนา
ก้อนเมฆเปลี่ยนจากสีขาวกลายเป็นสีดำ
ทำให้ฉัน ซึ่งเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าอยู่แล้ว
กลายเป็นอ่อนแอลงไปยิ่งกว่า

ฉับพลันนั้น เมฆดำเริ่มจะรั่วไหลไปอย่างบ้าคลั่ง
ฝนนั้นคือน้ำตา ฝนนั้นคือความทุกข์ ฝนนั้นส่งเสียงร้องไห้
คร่ำครวญกลางสายลม สายฝนเทกระหน่ำ พรั่งพรูอย่างไม่ยอมหยุด
พื้นโลกได้รับความชุ่มชื้น สรรพสิ่งงอกงามเติบโต

ที่แท้ ……
นั่นไม่ใช่ความทุกข์ยากอุปสรรค 
แต่เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทำให้เกิดความชุ่มฉ่ำ
สลายตัวเองเพื่อให้ผู้อื่นเติบโตและมีความสุข

ฉันรู้แล้วว่า …….
สุดท้ายของชีวิต ไม่ได้อยู่ที่กายของตนเอง
แต่อยู่ที่เพื่อสรรพสิ่งที่มี

นิทานไม่จำเป็นต้องมีตอนจบตามมาตรฐาน

สมัยเมื่อเรายังเรียนหนังสือ เวลาเรียนต้องให้อาจารย์บอกคำตอบที่ถูกต้อง
เวลาสอบ ก็ย่อมจะต้องมีคำตอบที่ถูกต้อง
ดูหนัง ดูละคร ก็จะต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าคนไหนเป็นคนดี
หรือคนร้าย สุดท้ายนางเอกหรือพระเอกจะได้อยู่ด้วยกันหรือเปล่า?
คนร้ายจะตายหรือเปล่า? ไม่มีตอนจบ ก็คือไม่มีคำตอบ พวกเราก็จะไม่เข้าใจ
นี่คือธรรมเนียมที่เป็นมาตรฐานที่เรามีต่อสิ่งต่างๆ 

ดังนั้นสิ่งที่น่าเสียดายที่สุดคือ พวกเราจะต้องได้คำตอบที่ถูกต้องและสะใจตัวเองที่สุด
คนดีย่อมจะดีถึงที่สุด คนร้ายไม่มีจิตใจ ใจดำชนิดที่ไม่มีสีอื่นผสมอยู่เลย
คนร้ายต้องลงเอยอย่างเลวร้าย คนดีจะต้องได้รับผลดีตอบสนอง
มีคำตอบมาอย่างชัดเจน ไม่ต้องเปลืองสมองคิดแต่อย่างไร
แต่จริงๆแล้ว ชีวิตจริงของคนเรามีเรื่องราวมากมายที่มักจะไม่ได้คำตอบ

คนที่น่ารำคาญในบริษัท เมื่อกลับถึงบ้านอาจจะเป็นพ่อที่ดีของลูก
เพราะว่าเขาต้องให้สิ่งดีที่สุดแก่ลูกของเขา เลยจำเป็นต้องชิงดีชิงเด่นกับ
ผู้อื่นในบริษัท เพื่อจะได้นำเงินเดือนที่สูงขึ้นไปซื้อของที่ดีให้กับลูกของเขา 
แล้วคุณจะบอกว่าเขาเป็นคนดีหรือคนชั่ว?

คนสูงอายุคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอย่างสงบเงียบ แต่ก็เป็นมะเร็ง
แล้วคุณจะบอกว่า นี่คือการลงเอยของคนดีหรือคนร้าย?

เรื่องราวเหล่านี้เกี่ยวกับความเป็นจริงของชีวิตคน 
นิสัยคนเรามีมากมายสับสน วุ่นวายไปหมด
พวกเราต้องผ่านประสบการณ์ ผ่านเรื่องราวมาร้อยแปด 
จึงจะเข้าใจสิ่งต่างๆได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ชีวิตที่แท้จริงจะต้องเดินไปประสบพบเห็นเองถึงจะเข้าใจถึงแก่นแท้
คนอื่นจะพูดอย่างไร ก็คงอยู่ในของเขตที่จำกัด
นี่คือชีวิต บางเรื่องราวเราไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือก บางสิ่งเราก็อาจจะควบคุมได้
นิทานก็เหมือนกับชีวิต ซึ่งตอนจบไม่จำเป็นจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่คนตั้งไว้

เมล็ดพันธุ์ที่สลายไป

เมล็ดพันธุ์ของต้นไม้ต้นหนึ่ง บังเอิญหล่นลงมายังพื้นดิน
แล้วเมล็ดนั้นก็เงยหน้าขึ้นมา เห็นแม่ของตัวเอง
เป็นต้นไม้พันปีต้นหนึ่ง ลำต้นยืนอยู่อย่างมั่นคงสง่าผ่าเผย
ตัดกับด้านหลังซึ่งเป็นฟ้าสีครามอันกว้างใหญ่ไพศาล
ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของแม่ตัวเอง

“แม่ แม่ ทำไมแม่ถึงยืนได้อย่างยิ่งใหญ่บนพื้นโลก? เมล็ดพันธุ์ถาม
ต้นไม้ผู้เป็นแม่พูดกับลูกอย่างปรานีว่า 
“นี่ไม่ใช่ความยิ่งใหญ่ แต่มันเป็นสิ่งที่เติบโตขึ้นมาเองตามธรรมชาติ
เมล็ดพันธุ์ทุกเม็ดของเรา เพียงแค่มีความสมบูรณ์แข็งแรง
ดูดน้ำ รับฝน และรับแสงแดด ก็จะเติบโตได้เองตามธรรมชาติ
แต่ก็ต้องทนผ่านประสบการณ์จากลมแรงฟ้าคะนอง ผ่านฤดูกาลต่างๆ
ลูกเอ๋ย วันหนึ่งเจ้าก็จะเติบโต และสูงใหญ่เท่าแม่”
เมล็ดพันธุ์นั้นยังรู้สึกงงงวยต่อชีวิตในอนาคต

“ แต่ แม่ครับทำอย่างไรลูกถึงจะตั้งลำต้นได้อย่างมั่นคง ลูกต้องทำอย่างไร?”
“ลูกรักของแม่ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือเจ้าจะต้องย่อยสลายตัวเองก่อน
ทำตัวเองให้หลอมละลายอยู่ในดิน หลังจากนั้นก็แตกยอดอ่อนออกมา
กลายเป็นต้นไม้ต้นหนึ่ง ขอให้เป็นต้นไม้ วันหนึ่งเจ้าก็จะเหมือนแม่เอง
รับรู้ความสุขจากท้องฟ้า สายลมและแสงแดด”

“แม่ครับ ลูกต้องย่อยสลายไป มันน่ากลัวนะแม่ และถ้าหากลูกหลอมละลาย
ปนอยู่ในดินแล้ว ไม่ได้โตมาเป็นต้นไม้ แล้วกลายเป็นดิน แล้วลูกจะทำอย่างไรครับ?
แล้วไม่ต้องอยู่ในดินที่มืดมิดเปียกชื้นตลอดไปหรือ? 
อย่างนี้เป็นการเสี่ยงภัยเกินไปแล้ว เอาอย่างนี้ดีกว่า ขอให้ลูกเหลือเมล็ดพันธุ์สักครึ่ง อีกครึ่งโตเป็นต้นไม้ดีกว่า”
ผู้เป็นลูกตั้งใจว่าจะทำอย่างนั้น ขอเลือกครึ่งหนึ่งสลายไป อีกครึ่งหนึ่ง
หลอมรวมลงดิน เพื่อความสบายใจในความปลอดภัยของตัวเอง

ผู้เป็นแม่ถอนใจยาว ทุกๆปีนางจะเกิดเมล็ดพันธุ์ขึ้นมากมาย แต่มีเพียง
เมล็ดพันธุ์เม็ดสองเม็ดเท่านั้นที่จะยอมย่อยสลาย แล้วเติบโตเป็นต้นไม้
ส่วนพวกที่บังเอิญหล่นลงมา ปล่อยให้ตัวเองเน่าเปื่อย แล้วก็กลายเป็นดิน
สูญสลายหายไปจริงๆ

๖๔. หาตัวตนของตัวเองที่หายไป

มีพระรูปหนึ่งบวชเรียนผ่านไป 20 พรรษาแล้ว ก็ยังไม่บรรลุธรรม 
จิตใจจึงรู้สึกว้าวุ่นและกระวนกระวาย

วันหนึ่งพระอาจารย์ ใช้ให้ไปทำธุระที่ข้างนอกที่ต้องใช้เวลาถึง 1 ปี 
เขาคิดในใจว่า “ต้องใช้เวลานานขนาดนี้ ตัวเองก็ปฏิบัติธรรมไม่มี
ความก้าวหน้าอะไร นี่ไม่ใช่เป็นการเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์
หรือ “ เลยทำให้จิตใจมีแต่ความทุกข์กังวล

พระอีกรูปหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนกัน ได้ยินเพื่อนมาปรับทุกข์ 
เลยพูดปลอบว่าข้าจะไปเป็นเพื่อนเจ้า ขณะที่เดินทางไปนั้น
ข้าอาจจะพอแนะนำอะไรที่เกี่ยวกับการภาวนาได้บ้าง” 
พระรูปนั้นได้ยินแล้วดีใจมาก แล้วทั้งสองก็เดินทางไปด้วยกัน

ขณะที่เดินทางไปด้วยกัน พระที่ไปเป็นเพื่อนมักจะคุยและมีเรื่องสนุกทั้งวัน
เหมือนกับจะลืมปณิธานที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้น พระรูปนั้นรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมาก
จึงร้องขอให้เพื่อนช่วยเหลือเรื่องการปฏิบัติธรรม

“ไม่ใช่ข้าไม่ช่วยเหลือเจ้า แต่ข้าช่วยเจ้าไม่ได้จริงๆ ตลอดการเดินทาง สิ่งที่
เจ้าจะต้องทำเองมี 5 อย่าง” 
“5 อย่างมีอะไรบ้าง?”
“ฉัน ดื่ม ถ่ายหนัก ถ่ายเบา นอน”

ขณะที่เพื่อนพูดจบ พระรูปนั้นเข้าใจได้โดยฉับพลับ ที่สุดเขาก็รู้แจ้งแล้ว
จากคำพูดไม่กี่คำทำให้รู้จัก “ตัวตนของตัวเอง”
ดังนั้นเขาจึงเดินทางต่อไปตามลำพัง ไม่ต้องการเพื่อนไปด้วยอีกแล้ว

หนึ่งปีผ่านไป เมื่อเขากลับมาถึงวัด ทันทีที่พระอาจารย์เห็นหน้าก็พูดกับเขาว่า
“ในที่สุดเจ้าก็หาตัวตนที่แท้จริงของเจ้าได้แล้ว”

นึกถึงตลอด 20 ปีที่ผ่านมาตัวเองช่างไม่เดียงสาเสียจริงๆ 
ทุกอย่างก็คิดจะพึ่งพิงแต่อาจารย์ นึกว่าหากห่างไกลจากอาจารย์แล้ว
จะภาวนาไม่ได้ จนทำให้การรู้แจ้งล่าช้าไปมาก
หลังจากการชี้แนะของกัลยาณมิตร จนได้ค้นพบตัวตนของตนเอง 
และเมื่อรู้ว่ารากเหง้าของการภาวนาล้วนแต่ต้องอาศัย 
“รู้เอง ทำเอง เห็นเอง” ตนเองถึงได้เริ่มต้นเดินไปสู่ 
“วิถีแห่งการรู้แจ้ง”

หมั่นพิจารณาถึงอนิจจัง

มีชายหนุ่มคนหนึ่งอยากจะเข้าใจชีวิตให้แจ่มแจ้ง
ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจจะเดินทางออกไปดูโลกกว้าง
ขณะที่เดินไปถึงอีกหมู่บ้านหนึ่ง เจอเพื่อนและภรรยาของเพื่อน
ซึ่งตั้งครรภ์อยู่ จากการคะยั้นคะยอด้วยความมีน้ำใจของเพื่อน
จึงตัดสินใจอยู่พักชั่วคราว

แต่ใครจะรู้ว่า เพียงแค่ชั่วข้ามคืน เมื่อเพื่อนของเขาออกไปทำงานข้างนอก
ก็ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ทำให้ภรรยาของเพื่อนต้องเศร้าโศก เสียใจ
ไม่เป็นอันกินอันนอน และตรอมใจจนทำให้ต้องคลอดลูกก่อนกำหนด

ชั่วเวลา “การเกิด กับ การตาย” ที่ได้เห็น ทำให้ชายหนุ่มนั้นเห็นถึงความไม่
เที่ยง ความไม่เที่ยงทำให้คนต้องตาย และก็เป็นความไม่เที่ยงที่ทำให้เกิด
อนิจจังทำให้คนเป็นทุกข์ แล้วก็เป็นอนิจจังที่พาความสุขมาให้
วินาทีนี้ ไม่รู้ว่า อนิจจังนี้ พาความทุกข์หรือพาความสุชมาให้เขา

เมื่อจัดการงานศพให้เพื่อนแล้ว เขาก็เดินทางต่อไป
และเมื่อเดินทางถึงเมืองๆหนึ่ง เห็นพี่น้องคู่หนึ่ง
คนพี่ซึ่งเดินนำหน้าอยู่ มีใบหน้าที่เต็มไปด้วยความสุขสมหวัง
เหมือนกับประสบความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงาน
ส่วนคนน้องที่เดินตามมา ใบหน้าเต็มไปด้วยความผิดหวัง
เหมือนกับถูกบีบคั้นจากโชคชะตาอย่างน่าสงสาร 
ชายหนุ่มเห็นฉากชีวิต ลักษณะนี้แล้ว รู้สึกขำอยู่ในใจ

แล้วก็ตัดสินใจพำนักอยู่ในเมืองนี้ 
เพื่อจะได้พินิจพิจารณาลักษณะของบุคคลต่างๆ
หลังจากเวลาผ่านไปสิบปี ชายหนุ่มนั้นก็เข้าสู่วัยกลางคนแล้ว

และพี่น้องคนที่เขาเคยพบเมื่อเดินเข้าเมืองครั้งแรก
คนพี่เนื่องจากเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง และ เจ้าสำราญ 
ผ่านไปไม่นาน กิจการก็ล้มเหลว
ส่วนคนน้อง เป็นคนจริงจังและซื่อตรง ทำงานทำการด้วยความระมัดระวัง
และรักษาสัจจะ ที่สุดก็ประสบความสำเร็จในชีวิต

ช่วงเวลา “แห่งความสำเร็จและความพ่ายแพ้” ทำให้ชายคนนั้นรู้สึกถึง
การเปลี่ยนแปลงของชีวิต อนิจจัง นำพาความสมหวังมาให้ 
และอนิจจังก็นำพาความผิดหวังมาให้มนุษย์เรา 
วินาทีนี้ เขาไม่รู้ว่า อนิจจังเป็นสิ่งที่ดีหรือเลว

เวลาผ่านไปไม่รู้อีกนานเท่าไหร่ จากวัยกลางคนก็ล่วงเลยเข้าสู่วัยชรา
เขาคิดในใจว่า ถึงเวลาแล้วที่จะกลับไปสู่บ้านเกิด
ช่วงเวลาแห่งการ “จากมา แล้ว กลับไป” ทำให้เขารู้สึกถึงความ
ไม่เป็นแก่นสารของชีวิต ความอนิจจังทำให้คนเป็นหนุ่ม 
แล้วก็เป็นความอนิจจัง ที่ทำให้คนแก่ ความไม่เที่ยงทำให้เกิดวันพรุ่งนี้ 
และเพราะความไม่เที่ยงอาจจะทำให้คนไม่มีวันพรุ่งนี้ 
วินาทีนั้น เขาไม่รู้ว่า ความไม่เที่ยงเป็นกุศลหรือเลวร้าย

ท่านล่ะ เข้าใจคำว่า ”อนิจจัง” หรือเปล่า? มีความคิดเห็นว่าอย่างไร?
พระท่านกล่าวว่า “ทุกสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง” ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นย่อม
จะต้องมีเหตุมีปัจจัยมารวมกันจึงทำให้มีการเกิดและดับ 
พวกเราเคยมองเห็นกันบ้างหรือเปล่า? หรือยังคงจะยึดมั่นถือมั่นอยู่กับ 
เกียรติยศ ชื่อเสียง ความอยากมีอยากได้อยู่อีก

หากเรามั่นนึกถึงความไม่เที่ยง จิตของเราจะคลายความยึดมั่นถือมั่น
จิตจะไม่พยายามปรุงแต่ง เพ้อฝัน
หมั่นพยายามนึกถึงอนิจจัง จิตจะไม่แข็งทื่อ 
จิตจะอ่อนโยน นุ่มนวลควรค่าแก่การใช้งาน 
และจะคลายความยึดติดว่านั่นเป็น “ ตัวเราของเรา “ 
และที่สุดจิตจะ สะอาด สว่าง และ สงบ อย่างไร้ของเขต

ที่มา สมาชิกเว็บบอร์ดชาวเซน ของไต้หวัน

โลกสวรรค์โลกมนุษย์

สามีภรรยาซึ่งอาศัยอยู่บนสรวงสวรรค์ เป็นคู่สามีภรรยาที่มีความสุขที่สุด
สามีภรรยาบนสรวงสวรรค์ไม่เหมือนกับคู่สามีภรรยาบนโลกมนุษย์
พวกเขาไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน และไม่มีการร้องไห้ และไม่มีความโกรธ
แค้นซึ่งกันและกัน และก็ไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน

ได้ยินได้ฟังมาว่า ต้องเป็นคู่สามีภรรยาที่รักใคร่กันมาถึงห้าร้อยชาติ
ถึงจะมีบุญได้ไปเกิดเป็นคู่สามีภรรยาบนสรวงสวรรค์

สามีภรรยาที่อยู่บนสรวงสวรรค์ เมื่อคิดอยากจะกินอะไร ก็จะได้กินของดีๆ
ดังใจหวัง คิดอยากจะมีเสื้อผ้า ก็จะมีเสื้อสวยๆทันที เพราะเหตุนี้ พวกเขาจึง
ไม่มีความจะเป็นต้องทำงานให้ยากลำบาก และไม่ต้องรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น

บ่อยครั้งที่พวกเขาจูงมือกันไปเดินเล่นอยู่บนทางสายรุ้ง นั่งจิบน้ำชาอยู่บนก้อนเมฆ
หรือว่าอยู่ฟังเสียงน้ำไหลจากธารสวรรค์เงียบๆ พร้อมกับชื่นชมความงามของตัวเอง
อย่างเงียบๆคนเดียว

สิ่งเดียวที่ทำให้ชาวสวรรค์เป็นทุกข์ที่สุดคือ เมื่อเสพสุขจนหมดอายุที่จะอยู่บนสวรรค์
ชีวิตก็จะสูญสิ้น กลิ่นหอมกรุ่นที่มีติดตัวก็จะหล่นหายไป 
มงกุฎดอกไม้ที่ประดับอยู่บนหัวก็จะเหี่ยวเฉา เสื้อที่สวยงามก็จะบินหายไปทีละชิ้น 
สุดท้ายก็จะล้มลงขณะที่ยืนหรือนั่งอยู่ และขณะที่ล้มลงนั้นเอง จะเหมือนกับดวงไฟที่ดับไปโดยฉับพลัน
 แล้วเหลือเพียงควันที่ลอยหายไปในความว่างเปล่า
มีสามีภรรยาคู่หนึ่งได้เสพสุขอยู่บนสรวงสวรรค์นี้มาหลายพันปีแล้ว เมื่อถึงวาระ
ที่ใกล้จะจบสิ้น มักจะเกิดความคิดนี้ขึ้นมาบ่อยๆว่า 
“ชีวิตที่มีความสุขอย่างนี้ไม่รู้จะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน”

วันหนึ่งฝ่ายภรรยาลอยขึ้นไปที่ต้นไม้ต้นหนึ่ง เพื่อจะเด็ดดอกไม้ไปให้สามี
เพราะว่าผู้คนทั้งหมดที่อาศัยอยู่บนสรวงสวรรค์ต้องประดับด้วยมงกุฎดอกไม้
เพื่อเป็นสง่าราศีแก่ตัวเอง และดอกไม้เหล่านี้เป็นหน้าที่ของภรรยาที่
จะต้องจัดเตรียมไว้ให้

ฝ่ายสามีซึ่งกำลังอาบน้ำอยู่ เขาใช้เมฆขาวไปแตะกับแสงอาทิตย์ แล้วนำมา
ขัดตัวให้สะอาด พลางร้องเป็นเพลงออกมาอย่างไพเราะเสนาะหู เสียงเพลง
ขับกล่อมประสานไปพร้อมกับแสงทอง แว่วแผ่วไปทั่วสวนสวยในบ้าน
ของตัวเอง ภรรยาซึ่งเดินมาถึงตัวบ้านถึงกับเคลิบเคลิ้มไปกับบรรยากาศ
ที่ได้เห็นกับตา

แต่ก็เวลานั้นนั่นเอง ที่ฝ่ายภรรยาเริ่มต้นมีเหงื่อไหลออกมา
นางรู้สึกกังวลและตกใจมาก จนทำมงกุฎดอกไม้ร่วงหล่นกระจายกลายเป็น
ดวงดาว เสื้อผ้าที่สวยงามต่างๆที่มีอยู่ ก็กลายเป็นสะเก็ดไฟลอยไปทั่ว 
แตกกระจายกลายเป็นเศษเพชร ชุดราตรีสีเงินยวง 
ได้กลายเป็นชิ้นๆ ลอยไป แล้วกลายเป็นเมฆขาว
ยังไม่ทันที่จะได้เอ่ยอะไร นางก็สลายหายไปแล้ว
เหมือนกับตกหล่นมาจากต้นไม้สูง ลอยละลิ่วลงมา
เหมือนแสงกระพริบแล้วหายไป
วินาทีสุดท้ายก่อนจะหายไป ยังได้ยินเสียงเพลงของสามีดังแว่วอยู่ในหู

เมื่อนางตื่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ก็ได้ยินเสียงร้องไห้ของตัวเอง 
ที่แท้นางได้เกิดใหม่บนโลกมนุษย์แล้ว พวกผู้ใหญ่นึกว่าเด็กเมื่อถูกอากาศแล้วตกใจจึงร้องไห้ 
แต่ไม่ใช่อย่างนั้น นางร้องไห้เพราะในจิตใจยังมีเสียงเพลงของสามีฝังอยู่ลึกๆ 
เมื่อนึกถึงความสุขบนสรวงสวรรค์ก็อดที่จะร้องไห้ไม่ได้
ขณะที่นางเกิดมามีกลิ่นหอมของกุหลาบอบอวลไปทั่วห้อง
พ่อแม่จึงตั้งชื่อให้ว่า “กุหลาบ”

กุหลาบยังจำวันเวลาที่อยู่บนสรวงสวรรค์ได้ และเล่าเรื่องราวต่างๆบนสวรรค์ให้คน
ในบ้านฟัง แต่ไม่มีใครเชื่อ คิดว่าเป็นความฟันเฟื่องของหล่อนเอง
เมื่อกุหลาบโตเป็นสาว พ่อแม่ก็ให้แต่งงานไปกับชายหนุ่มใกล้บ้าน แม้หล่อนจะสวม
บทบาทที่เป็นภรรยาที่ดีที่สุด แต่ในส่วนลึกแล้ว ยังจำสามีที่อยู่บนสวรรค์อย่างมิ
ลืมเลือน หล่อนรู้ว่าหากอยากกลับไปอยู่บนสรวงสวรรค์กับสามีเก่าอีก จะต้องรีบ
สร้างกุศลอย่างสุดชีวิตในช่วงชีวิตอันสั้นที่อยู่บนโลกมนุษย์ และต้องรักษาอุดมการณ์
อย่างแน่วแน่ กุหลาบมักจะนำดอกไม้ธูปเทียน ไปถวายบูชาที่วัดเสมอ และใส่บาตร
ด้วยอาหารเจอันรสเลิศ บริจาคอาหารและเครื่องนุ่งห่มให้กับคนยากคนจน ชีวิตของ
หล่อนเหมือนกับอยู่เพื่ออุทิศตนและทำทานเท่านั้น และนางก็นำความคิดเหล่านี้
ไปเชิญชวนและปลูกฝังให้กับลูกๆสี่คนและสามีในโลกมนุษย์ด้วย

วันหนึ่งขณะที่ทำบุญอยู่ที่วัด รู้สึกเวียนหัวขึ้นมากะทันหัน เลยพิงไว้กับกำแพงแล้วนิ่งพักสักครู่ 
ได้กลิ่นหอมของดอกไม้อ่อนๆแบบในสวรรค์ แล้วก็สิ้นใจไป
ลืมตาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หล่อนก็กำลังเก็บดอกไม้อยู่ใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง หล่อนมองเสื้อผ้าที่สวมใส่อยู่ 
ที่แท้หล่อนก็สวมใส่ชุดนางฟ้าเหมือเดิมแล้ว เมื่อสามีบนสวรรค์อาบน้ำเสร็จแล้วก็เดินมาที่สวนดอกไม้ พูดกับนางว่า 
“เมื่อกี้ข้าเรียกเจ้า ไม่ได้ยินหรอกหรือ?”
“เมื่อกี้ข้าสลายตัวไป แล้วไปเกิดในโลกมนุษย์”
“เป็นความจริงหรอกหรือ? แล้วอยู่ในโลกมนุษย์นานแค่ไหน?” 
สามีถามด้วยความประหลาดใจ
“ข้าอยู่ในครรภ์ของแม่สิบเดือน ถึงเกิดออกมา อายุสิบหกก็แต่งงานไปอยู่กับ
คนบ้านใกล้ๆ คลอดลูกมาแล้วสี่คน พยายามทำแต่ความดีและสร้างแต่บุญกุศล
แล้ววิงวอนอธิษฐานขอให้ได้พบเจ้าอีก ดังนั้นจึงมาเกิดที่นี่อีก” ภรรยาตอบ
“แล้วอายุขัยในโลกมนุษย์ยาวนานแค่ไหน?” สามีถาม
“อายุขัยในโลกมนุษย์ ก็อยู่ในราวๆไม่เกินร้อย ร้อยปีก็เท่ากับหนึ่งคืนของสวรรค์เรา”
“แล้วคนในโลกมนุษย์ทำอะไรบ้างในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่?”

ช่วงชีวิตของคน หนึ่งในสามส่วนหมดกับไปกับการนอน อีกหนึ่งในสามส่วนหมด
ไปกับแสวงหาอาหารเครื่องนุ่งห่ม แสวงหาความสุขมาปรนเปรอตัวเอง อีกหนึ่งส่วน
ที่เหลือ นำมาโกรธแค้น สำนึกผิด นินทาแก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่น คนส่วนใหญ่ก็ใช้ชีวิต
ลักษณะนี้ไปจนตาย มีคนเพียงส่วนน้อยที่จะรู้จักชื่นชมสิ่งดีงามต่างๆที่อยู่รอบๆตัว
เพื่อจะได้นำมาพัฒนาโลกของจิตวิญญาณให้สวยงาม แสวงหาความรักและความอบอุ่นจากสิ่งต่างๆ

ฝ่ายสามีซึ่งได้ฟังถึงเรื่องราวต่างๆในโลกมนุษย์ รู้สึกกระเทือนใจยิ่งนัก
“หรือว่าคนในโลกมนุษย์ ไม่รู้จักสำนึกว่าช่วงชีวิตอันสั้นที่อยู่ในโลก ควรจะ
ไปทำในสิ่งที่มีความหมาย?”
“ไม่หรอก คนส่วนใหญ่ยังหลงใหลมัวเมาเหมือนอยู่ในความฝัน เหมือนกับ
ว่าพวกเขาไม่รู้จักแก่ไม่รู้จักตาย เพียงแต่เมื่อความตายมาถามหาแล้ว
ถึงจะเศร้าโศกร้องไห้คร่ำครวญ” ภรรยาตอบ

สองสามีภรรยาคุยกันถึงชีวิตอันสั้นในโลกมนุษย์ แล้วคนเหล่านั้นไม่รู้จักใช้ชีวิต
อย่างสวยงามและมีความรัก ไม่รู้จักทำสิ่งซึ่งมีความหมายกับชีวิต ในใจเกิดความ
รู้สึกเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

ฝ่ายภรรยาพูดขึ้นว่า “พวกเราอย่าพูดถึงเรื่องราวของโลกมนุษย์ดีกว่า มา ข้าจะกลัด
ดอกไม้เพิ่มให้เจ้าอีกดอก พูดพลางนางก็บินลงจากต้นไม้อันสูงใหญ่นั้น
เมื่อนางบินลงมาใกล้ถึงพื้นที่ปูด้วยก้อนเมฆ จึงรู้สึกว่าเหยียบไม่ถูกก้อนเมฆ
แล้วก็เหมือนกับสะดุดอะไรสักอย่าง แล้วทั้งตัวก็ลอยละล่องดังดอกไม้ที่ร่วงหล่นลง
ผ่านก้อนเมฆไปทีละชั้น ทีละชั้นลงไปเรื่อยๆ
กุหลาบตื่นขึ้นมาจากความฝัน มองไปรอบๆตัว ถึงรู้ว่าตัวเองไม่ได้อยู่บน
ความสุกสว่างและความสวยงามของสวรรค์ แต่อยู่ในบ้านที่ยังดูมืดสลัวอยู่ 
และคนที่นอนหลับสบายอยู่ข้างๆตัวนั้นคือลูกสาวคนเล็ก 
ซึ่งใบหน้ายังดูแฝงไว้ด้วยรอยยิ้มอ่อนๆ

หล่อนนึกถึงสามีที่เพื่อปากท้องและความเป็นอยู่ของทุกคนในครอบครัว
ขณะที่ฟ้ายังไม่สาง ก็ออกไปทำงานอยู่ในท้องนาแล้ว นางหยิบเสื้อผ้าสวม
แล้วก็ไปเดินเล่นอยู่ในสวนบริเวณบ้าน ได้กลิ่นหอมอ่อนๆของดอกราตรี
โชยผ่านเข้ามา หล่อนคิดในใจ “เมื่อกี้เป็นความฝันบนสวรรค์หรือเป็นความฝัน
ในโลกมนุษย์” มองไปรอบๆตัว ท้องฟ้ากว้างใหญ่ไร้ขอบเขต มีแต่ความเงียบสงบ
ไม่มีคำตอบใดๆให้กับตัวเอง

หล่อนคิดต่อไปอีก “เรื่องที่อยู่บนสวรรค์เป็นความจริง หรือเรื่องที่อยู่ในโลกถึงจะเป็น
ความจริงนะ” มองไปที่ฟ้า ก็เห็นแต่ดวงดาวกระพริบแวววับไปมา เงียบไม่มีคำตอบเช่นเคย

เมื่อนางเฝ้าถามตัวเองอยู่นั้น แสงแรกของพระอาทิตย์ได้สาดส่องมากระทบกับ
ก้อนเมฆ ผ่านมายังพื้นโลก กุหลาบยังจำคำพูดในความฝันได้ว่า
“หรือว่าคนในโลกมนุษย์ไม่ได้รู้สำนึกเลยว่า ช่วงชีวิตอันแสนสั้นนั้น
ควรจะทำในสิ่งที่มีความหมายกับชีวิต? ไปพัฒนาโลกของจิตวิญญาณ
ให้ดีขึ้น แสวงหาความรักความอบอุ่นจากสิ่งต่างๆ ร้อยปีก็ปล่อยให้ผ่าน
ไปอย่างนี้เฉยๆโดยเปล่าประโยชน์”

ได้ยินเสียงของลูกที่ตื่นขึ้นมาเรียกหาแม่ นางคิดในใจว่า “หากสามารถใช้ชีวิตอย่าง
มีความหมาย โลกมนุษย์ก็คือสวรรค์ หากไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย
สวรรค์ก็คือโลกมนุษย์”

ที่มา จากอินเตอร์เน็ต

๖๕. สิ่งดีๆควรนำมาแบ่งปัน

มีแม่ชีท่านหนึ่ง เพราะศรัทธาในพุทธศาสนามาก จึงได้สร้างพระพุทธรูป
มาองค์หนึ่ง พร้อมกับเคลือบองค์พระด้วยทองคำเปลวเหลืองอร่ามไปทั้งองค์ 
ไม่ว่าท่านจะไปที่ไหน จะนิมนต์พระพุทธรูปองค์นี้ไปด้วยเสมอ 
พระพุทธรูปองค์นี้เหมือนกับศูนย์รวมความศรัทธา ความหวังและจิตใจ 
แม้แต่ชีวิตของท่านก็ฝากรวมไว้ในองค์พระนี้

ผ่านไปหลายปี แม่ชีท่านนี้ก็อยู่ประจำที่วัดในชนบทแห่งหนึ่ง ภายในวัดมี
พระพุทธรูปมากมาย ก็มีกระจกใสครอบไว้ ท่านเลยหากระจกใสมาครอบไว้
บ้าง ท่านคิดจะไม่ให้ควันธูปที่จุดบูชาลอยไปที่พระองค์อื่นๆ แต่ในบริเวณ
ที่กว้างๆอย่างนี้จะไม่ให้ควันธูปลอยไปทั่วได้อย่างไร?

คิดไปคิดมาเลยคิดจะทำท่อขึ้นมาเพื่อให้ควันธูปเข้าไปที่องค์พระของตัว
เองที่เดียว นอกจากพระของตัวเองแล้ว ท่านไม่เคยมองหรือกราบไหว้พระองค์
อื่นเลย

มีคนติว่า ทำอย่างนี้ไม่เป็นการสมควร ทำให้เกิดการเลือกเขาเลือกเรา ทำอย่าง
นี้ทำอย่างไรก็ภาวนาให้เกิดผลไม่ได้ แต่แม่ชีท่านนี้ก็หาได้ฟังคำตักเตือนของใครไม่

ผลสุดท้ายพระพุทธรูปองค์นั้นถูกควันธูปจับจนดำไปทั้งองค์ ดูแล้วหมองจนหมดราศี

บทเรียนชีวิตห้าบท

บทที่หนึ่ง…
ฉันเดินไปที่ท้องถนน
ที่ฟุตบาทมีหลุมลึกอยู่หลุมหนึ่ง ฉันเผลอตกลงไปในหลุมนั้น
ฉันเดินผิดทางแล้ว ฉันหมดหวังแล้ว
นั่นไม่ใช่ความผิดของฉัน ต้องเสียแรงไปไม่ใช่น้อยถึงจะปีนป่ายขึ้นมาได้

บทที่สอง …
ฉันเดินไปบนถนนเหมือนกัน ที่ฟุตบาทมีหลุมลึก
ฉันทำเป็นมองไม่เห็น แต่ก็ตกลงไปจนได้
ฉันแทบจะไม่เชื่อตัวเองว่า ฉันจะตกลงไปในที่มีลักษณะเดิมได้
แต่นั่นก็ไม่ใช่ความผิดของฉัน
แล้วก็ต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยถึงจะปีนขึ้นมาได้

บทที่สาม
ฉันเดินไปในถนนที่มีลักษณะเดียวกันอีก
บทฟุตบาทมีหลุมลึกเช่นเดียวกัน
ฉันก็มองเห็นหลุมลึกนั้น แต่ฉันก็ตกลงไปจนได้
มันเหมือนกับเป็นธรรมเนียมเสียแล้ว
ฉันลืมตาขึ้นมาดู ฉันรู้ว่าฉันอยู่ที่ไหน
นั่นเป็นความผิดของฉัน
ฉันจึงรีบปีนขึ้นมา

บทเรียนที่สี่ …
ฉันเดินไปบนถนนที่เหมือนกัน
บนฟุตบาทมีหลุมลึกหลุมหนึ่ง
ฉันเดินอ้อมผ่านหลุมนั้น

บทเรียนที่ห้า ...
ฉันเดินไปที่ถนนอีกสายหนึ่ง
ฉันนึกเอาเองว่าเดินไปบนความอิสรเสรี
แต่เมื่อพบกับความเคยชินเดิมๆ
ฉันก็กลายเป็นทาสของมันอีก

แม้ว่ามันจะเป็นเช่นนั้น แต่การรู้สำนึกจะทำให้ค่อยๆเกิดความรู้ตัวขึ้นมาได้
เมื่อเราสังเกตเห็นว่าตัวเองยังถลำลึกลงไปตามความเคยชินเดิมๆ
ก็จะคิดอยากจะกระโดดออกมาจากหลุมนั้น
แน่นอน บางทีเราอาจจะยังตกลงไปได้อีก
แต่เมื่อตั้งสติได้ ปล่อยเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง 
เราก็จะกระโดดออกมาได้ ทำให้มีมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

๖๖. สองมือกำจนแน่น จะกำได้สักเท่าไหร่

มีอุบาสกท่านหนึ่งมาปรับทุกข์กับพระอาจารย์ว่า ภรรยาของตัวเองเป็น
คนตระหนี่ถี่เหนียวมาก ไม่ว่าเรื่องอะไร หล่อนจะไม่ยอมจ่ายแม้แต่
สตางค์แดงเดียว ขอให้พระอาจารย์ช่วยไปที่บ้านชี้ทางสว่างให้แก่หล่อน 
เพื่อให้หล่อนได้รู้จักทำบุญทำทาน และทำสิ่งที่เป็นกุศลบ้าง

พระอาจารย์เลยไปที่บ้านของอุบาสกท่านนั้น ภรรยาของเขาออกมาต้อนรับ
แล้วก็เห็นได้ว่าเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียวจริงๆ เพราะแม้แต่น้ำชา
ยังไม่นำมาต้อนรับ

พระอาจารย์จึงกำมือขึ้นมาข้างหนึ่งแล้วถามว่า สีกา ถ้าหากมือของข้าเป็นอย่างนี้
ทุกวันเจ้ารู้สึกว่าเป็นอย่างไร?”

“ถ้าหากเป็นอย่างนั้นทุกวันก็เป็นเรื่องแปลกประหลาด”

และพระอาจารย์ก็แบมืออก แล้วถามว่า “ถ้าเป็นอย่างนี้ทุกวันจะเป็นอย่างไร?”
“อย่างนี้ก็เป็นเรื่องแปลกประหลาดเช่นกัน”

“สีกา เจ้าพูดไม่ผิด มือหากกำตลอดเวลา หรือแบตลอดเวลา ก็เป็นเรื่องที่ผิด
แปลก ด้วยเหตุและผลเดียวกัน ในด้านทรัพย์สินเงินทอง หากรู้จักแต่จะเอา
ไม่รู้จักทำบุญทำทานบ้าง เป็นเรื่องผิดแปลก หรือรู้จักแต่บริจาค ไม่รู้จักเก็บ
สะสมก็เป็นเรื่องผิดแปลก เงินต้องมีการไหลเวียน มีการไหลเข้าไหลออก
เมื่อตวงเข้ามาก็ต้องให้มีออก 

ภรรยาของอุบาสกท่านนั้นฟังแล้ว ก็เข้าใจ และรู้ถึงหลักการของการจัดการ
ทรัพย์สินเงินทอง

๖๗. ยังโกรธอยู่หรือเปล่า?

หญิงคนหนึ่งมีนิสัยแปลกประหลาด เรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็กน้อยก็ทำให้หล่อน
โกรธเป็นฟืนเป็นไฟได้ หล่อนเองก็รู้ซึ้งถึงนิสัยของตัวเองดี แต่ก็ไม่สามารถ
ควบคุมตัวเองไม่ให้โกรธได้ 

มีเพื่อนแนะนำหล่อนว่า “วัดที่อยู่ใกล้ๆนี้มีพระบรรลุธรรมขั้นสูงอยู่ท่านหนึ่ง
เจ้าทำไมไม่ไปเล่าสิ่งที่เจ้าเป็นให้ท่านฟัง และจะได้ขอคำชี้แนะจากท่าน”
หญิงคนนั้นจึงไปหาพระท่านนั้น เพื่อจะลองให้ท่านชี้แนะดู

เมื่อพบกับพระท่านนั้น หญิงคนนั้นจึงเล่าเรื่องราวของตัวเองด้วยกิริยาท่าที
นอบน้อมและจริงใจ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการชี้แนะอย่างดี พระรูปนั้น
ก็ตั้งใจฟังหล่อนพูดจนจบ เมื่อพูดจบแล้วจึงให้หล่อนไปที่ห้องหนึ่ง
แล้วขังหล่อนไว้ในนั้น ไม่พูดกล่าวอะไรแล้วเดินจากไป

หญิงคนนั้นคิดว่าถูกขังอยู่ในห้องนั้นแล้วจะได้ยินคำชี้แนะจากท่าน ไม่คิดว่า
ท่านไม่พูดอะไรสักคำ ซ้ำยังขังไว้ในห้องที่มืดและเย็นชื้นอีก หญิงนั้นโกรธจน
ใช้เท้ากระแทกพื้นแล้วส่งเสียงด่าออกมาดังลั่น ไม่ว่าหล่อนจะด่าว่าอย่างไร
พระรูปนั้นก็ไม่ได้สนใจอะไร หญิงคนนั้นด่าจนทนไม่ไหว จึงร้องวิงวอนขอความ
ช่วยเหลือ แต่พระรูปก็ไม่สนใจจะฟังอีก ยังคงปล่อยให้หล่อนแสดงอารมณ์ต่อไป

ผ่านไปอีกนาน เสียงในห้องนั้นเงียบลง พระรูปนั้นถามว่า “ยังโกรธอยู่หรือเปล่า?”
หญิงนั้นตอบว่า ข้าโกรธแต่ตัวเอง ที่ไปเชื่อคนอื่นที่แนะนำให้มาหาท่าน”

“ท่านไม่ให้อภัยแม้แต่ตัวเอง แล้วเจ้าจะอภัยให้คนอื่นได้อย่างไร?” พระนั้นตอบ

ผ่านไปสักพัก พระรูปนั้นถามอีกว่า “ยังโกรธอยู่หรือเปล่า?”
“ไม่โกรธแล้ว” หญิงนั้นตอบ 
“ทำไมถึงไม่โกรธแล้ว?”
“ข้าโกรธแล้วจะมีประโยชน์อะไร? ไม่ว่าจะโกรธอย่างไรก็ถูกท่านขังอยู่ใน
ห้องมืดนี้อยู่ดี” หญิงนั้นตอบ
“เจ้าเป็นอย่างนี้ยิ่งน่ากลัวกว่า เพราะเจ้ากดข่มความโกรธของตัวเองไว้
เมื่อระเบิดออกมาเมื่อไหร่กลับจะยิ่งรุนแรงกว่าเก่า” พูดจบพระท่านนั้น
ก็เดินจากไปอีก

เมื่อกลับมาถามอีกเป็นครั้งที่สาม หญิงนั้นตอบว่า “ข้าไม่โกรธแล้ว เพราะ
ท่านไม่ควรค่าที่จะให้ข้าโกรธ”
“รากเหง้าแห่งความโกรธของเจ้ายังคงอยู่ เจ้ายังไม่ได้หลุดพ้นไปจากวังวน
แห่งความโกรธ”

เวลาผ่านไปอีกระยะหนึ่ง หญิงคนนั้นถามขึ้นว่า “พระอาจารย์ บอกข้าพเจ้า
หน่อยได้ไหมว่า ความโกรธคืออะไร?”

พระอาจารย์ไม่กล่าวอะไรออกมาอีก แต่มองไปเหมือนกับพระอาจารย์ไม่ตั้งใจ
ที่จะเทน้ำชาลงไปที่พื้น หญิงคนนั้นจึงเข้าใจแล้วว่า ที่แท้ถ้าตัวเองไม่โกรธ
โกรธนั้นจะมาจากไหน จิตใจสว่างโร่ด้วยความรู้และเข้าใจ หากไม่มีสิ่งใดเลย
ตัวโกรธไหนเลยจะมี

๖๘. ชีวิตอยู่ที่ไหน?

ครั้งหนึ่งพระอาจารย์เซนพูดกับอุบาสกท่านหนึ่งว่า “เหล่าพุทธะทั้งหลาย
มักจะพูดถึงความมีในความไม่มี หาสิ่งที่มีความหมายในชีวิตจากความ
ว่างเปล่าในสิ่งที่ไม่มีความหมายอะไร จนที่สุดได้รับความหลุดพ้น

สรรพสิ่งในโลกล้วนถูกผูกมัดจากความกังวลและเป็นทุกข์ เพราะเหตุนี้
หากอยากจะแสวงหาจิตวิญญาณที่ไม่ตายในอนาคตจากชีวิตที่มีความ
หมายในตอนนี้ จึงเหมือนกับควานหาพระจันทร์ในน้ำ แค่เพียงให้จิต
จิตตนเองปราศจากสิ่งทั้งปวง ก็จะไม่เกิดความหลงผิด”

“ทำอย่างไรถึงจะให้จิตปราศจากทุกสิ่ง”อุบาสกนั้นถาม

“ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลความถูกหรือความผิด ผลได้หรือผลเสีย
ก็ไม่ต้องไปคิด หรือไปเอาเรื่องเอาราวกับสิ่งต่างๆ”

“หากไม่คิด จะรู้ได้อย่างไรว่าจิตอยู่ที่ไหน”

“ไม่ว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไรให้คิดไปแต่ในทางที่เป็นกุศล 
ไม่ไปในทางที่เป็นอกุศล หมั่นใช้จิตพิจารณาสิ่งต่างๆ 
เจ้าก็จะพบความผสมผสานระหว่างจิตกับชีวิต” พระอาจารย์ตอบ

“ถ้าอย่างนั้นคนตายแล้ว จิตอยู่ที่ไหน?” อุบาสกนั้นถาม

“ไม่รู้จักเกิด แล้วจะรู้จักตายได้อย่างไร?”

“ตอนนี้ข้าพเจ้าหาชีวิตของตัวเองได้แล้ว” อุบาสกนั้นกล่าว
“ชีวิตของเจ้าอยู่ที่ไหน?”พระอาจารย์ถาม

อุบาสกนั้นอึกอักตอบไม่ถูก พระอาจารย์เลยใช้มือขยุ้มไปที่อกของ
อุบาสกนั้น แล้วพูดว่า “ก็อยู่ตรงนี้นั้นแหละ แล้วยังจะคิดไปถึงไหนอีก”

“ข้าพเจ้าทราบแล้ว ข้าพเจ้าทราบแล้ว”

๖๙. รู้หรือไม่รู้

ลูกศิษย์ท่านหนึ่งเรียนถามพระอาจารย์ด้วยความนบนอบว่า
ลูกศิษย์ : ผู้ปฏิบัติธรรมเมื่อรู้แจ้งแล้ว สภาพจิตและความรู้สึกสามารถ
บรรยายออกมาได้หรือไม่?
อาจารย์ : หากรู้แจ้งแล้ว ไม่สามารถบรรยายออกมาได้
ลูกศิษย์ : เมื่อพูดออกมาไม่ได้ เปรียบเหมือนกับอะไร?
อาจารย์ : เหมือนคนใบ้กินน้ำผึ้ง
ลูกศิษย์ : เมื่อผู้ปฏิบัติที่ยังไม่รู้แจ้ง ถ้าบรรยายธรรมและเขียนคัมภีร์
นับว่าเป็นผู้เข้าใจ “เซน” หรือเปล่า?
อาจารย์ : เมื่อยังไม่รู้แจ้ง สิ่งที่พูด จะนับว่าเป็นการเข้าใจ”เซน”ได้อย่างไร?
ลูกศิษย์ : เพราะเขาสามารถบรรยายธรรมได้อย่างลึกซึ้ง และแจ่มแจ้ง
ถ้าหากไม่นับว่าเขาเข้าใจ”เซน”แล้วจะเหมือนอะไร?
อาจารย์ : เหมือนนกแก้วหัดพูดภาษาคน
ลูกศิษย์ : คนใบ้กินน้ำผึ้งกับนกแก้วหัดพูด แตกต่างกันอย่างไร?
อาจารย์ : คนใบ้กินน้ำผึ้ง คือ “รู้”อุปมาดั่งคนดื่มน้ำ น้ำจะเย็นหรือร้อน
ผู้ดื่มย่อมจะรู้อยู่แก่ใจดี นกแก้วหัดพูดเป็นการไม่ “รู้”
เหมือนเด็กหัดพูด ย่อมจะไม่เข้าใจความหมายของสิ่งที่พูด
ลูกศิษย์ : เมื่อเป็นอย่างนี้ เมื่อยังไม่รู้แจ้ง จะบรรยายธรรมฉุดช่วย
ผู้คนได้อย่างไร?
อาจารย์ : พูดในสิ่งที่ตัวเองรู้ ไม่พูดในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้
ลูกศิษย์ : ตอนนี้พระอาจารย์รู้แล้วหรือยัง?
อาจารย์ : อาจารย์เหมือนคนใบ้กินยาขม รู้รสขมแต่พูดออกมาไม่ได้
แล้วก็เหมือนนกแก้วหัดพูด พูดได้เหมือนมาก

๗๐. รูปเหมือนพระอาจารย์

พระอาจารย์ท่านหนึ่งก่อนที่จะมรณภาพ ได้เรียกเหล่าลูกศิษย์มาพร้อมหน้า
แล้วพูดว่า “อีกไม่นานข้าก็คงใกล้จะจากพวกเจ้าไปแล้ว ใครสามารถจะ
วาดรูปเหมือนสักรูปให้อาจารย์ได้?”

เหล่าลูกศิษย์รู้สึกเศร้าใจยิ่งนัก พร้อมกับกลับไปวาดรูปให้พระอาจารย์

พวกเขากับพระอาจารย์พบหน้ากันและทำกิจวัตรพร้อมกันตั้งแต่เช้ายันค่ำ
เสียงและเค้าหน้าย่อมจะจะพิมพ์รอยอยู่ในใจนานแล้ว ดังนั้นแต่ละคนจึง
วาดรูปออกมาด้วยกิริยาและหน้าตาที่ต่างกัน บางคนก็วาดรูปออกมาใน
ลักษณะที่เคร่งขรึม บางคนก็วาดออกมาด้วยหน้าตาที่เปี่ยมไปด้วยความ
เมตตาและปรานี ไม่มีรูปไหนที่วาดออกมาแล้วเหมือนกันเลย 

พระอาจารย์เห็นรูปแล้วรู้สึกผิดหวังมาก กล่าวว่า “หลายปีที่ผ่านมา ทำไม
พวกเจ้าที่ฝึกปฏิบัติธรรมกับข้า ไม่มีใครวาดรูปได้สักคน พวกเจ้าลองดูให้
ชัดเจนอีกสักครั้ง วาดได้เหมือนอาจารย์หรือเปล่า? ถ้าหากว่าวาดได้เหมือน 
ก็เหมือนกับว่าได้เค้นคอฆ่าข้า หากวาดได้ไม่เหมือน ก็เผารูปไปเสียเถิด”

ขณะที่เหล่าลูกศิษย์ลังเลไม่รู้จะทำอย่างไรดี ก็มีศิษย์ท่านหนึ่งเดินออกมาข้างหน้า
พูดกับพระอาจารย์ว่า “อาจารย์ ดูที่ข้าพเจ้าวาดซิ” ว่าแล้วก็ตีลังกาครั้งหนึ่ง
แล้วเดินออกไปอย่างสง่าผ่าเผย

ในที่สุดพระอาจารย์ก็ยิ้มออกมาได้ พร้อมกับมองตามหลังศิษย์นั้น แล้วพูดว่า
“วาดได้ดี ข้าเชื่อว่าต่อไป ศิษย์คนนี้ย่อมจะเหมือนข้าแน่นอน ตั้งแต่นี้ต่อไป
ก็ให้เขาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสต่อไป 

๗๑. หลุดพ้นด้วยตัวเอง

ครั้งหนึ่งสังฆปรินายกองค์ที่ 2 พูดกับท่านตั้กม๊อว่า “ท่านอาจารย์ช่วย
ทำให้จิตใจศิษย์สงบด้วยเถิด”

“เอาจิตเจ้าออกมาซิ”
“ศิษย์หาจิตตัวเองไม่พบ”
“หากว่าหาจิตพบ นั่นก็ไม่ใช่จิตของเจ้าแล้ว ตอนนี้ข้าช่วยทำให้จิตเจ้า
สงบแล้ว เจ้าเห็นหรือเปล่า” ท่านตั้กม๊อตอบ

ผ่านไปหลายสิบปี สังฆปรินายกองค์ที่ 3 พูดกับองค์ที่ 2 ว่า “ท่านอาจารย์
ช่วยให้ข้าได้สารภาพความผิดบาปด้วยเถิด”

“เอาผิดบาปของเจ้าออกมาซี”
ข้าหาความผิดบาปไม่เจอ”
“ตอนนี้ข้าได้ช่วยเจ้าแล้ว เจ้าเห็นหรือเปล่า?”

ผ่านไปอีกหลายปี ภิกษุรูปหนึ่งถามสังฆปรินายกองค์ที่ 3 ว่า “ทำอย่างไร
ถึงจะหลุดพ้นจากการยึดติดได้”

“แล้วใครผูกมัดเจ้าไว้ล่ะ”
“ไม่มีใครมาผูกมัดข้าพเจ้า”
“แล้วเจ้าทำไมถึงต้องมาของร้องให้ช่วยแก้ให้หลุดพ้น

ภิกษุรูปนั้นต่อมาคือ สังฆปรินายกองค์ที่ 4

ครั้งหนึ่งเมื่อสังฆปรินายกองค์ที่ 5 มอบบาตรและจีวรประจำตำแหน่ง
ให้ท่านเว่ยหล่าง พร้อมกับพูดว่า

“หากไม่รู้จักจิตของตนเอง ปฏิบัติธรรมไปก็ไม่มีประโยชน์
หากรู้จักจิตของตนเองได้แจ่มแจ้ง ก็จะเห็นจิตเดิมแท้ได้เอง”

ชีวิต

มีช่างไม้วัยเกษียณคนหนึ่ง คิดว่าตัวเองคงจะถึงเวลาปลดเกษียณสักที
จึงบอกกับนายจ้างว่า “จะเลิกทำงานช่างสักที กลับไปอยู่กับบ้าน
ใช้ชีวิตอย่างสงบสุขกับลูกเมีย 

นายจ้างรู้สึกเสียดายและไม่อยากให้คนงานมีฝีมือดีๆต้องจากไป 
จึงบอกให้เขาช่วยสร้างบ้านให้อีกหลังหนึ่งจะได้หรือเปล่า? 
ช่างไม้นั้นรับปากว่าจะทำให้

ขณะที่ทำงานทุกคนก็มองเห็นว่า ใจของเขาไม่ได้อยู่กับสิ่งที่ทำเลย 
ใช้แต่วัสดุที่ด้อยคุณภาพ ซึ่งปกติช่างไม้คนนี้จะเป็นคนละเอียดลออ
และใช้ของที่มีคุณภาพทุกชิ้น งานครั้งนี้ผลงานที่ออกมาจึงค่อนข้างหยาบ 
เมื่อบ้านสร้างเสร็จแล้ว นายจ้างจึงมอบกุญแจประตูบ้านให้เขา

“บ้านนี้เป็นของเจ้า นี่คือของขวัญที่ข้ามอบให้เจ้า”

ช่างไม้นั้นตกตะลึงจนตาค้าง รู้สึกละอายแก่ใจยิ่งนัก ถ้าหากว่ารู้แต่แรกว่า
บ้านหลังนี้เป็นของตัวเอง เขาจะทำลักษณะอย่างนั้นทำไม?
เขาคงใช้วัสดุที่มีคุณภาพชั้นเยี่ยม และสร้างอย่างพิถีพิถันสุดฝีมือ
สิ่งที่ได้ในตอนนี้ คือต้องอยู่บ้านที่สร้างอย่างหยาบๆหลังหนึ่ง

พวกเราก็มีพฤติกรรมอย่างนั้นบ่อยๆ พวกเรามักจะไม่ได้ใส่ใจที่จะสร้างชีวิต
ไม่ได้สั่งสมอะไรไว้ แต่กลับปล่อยให้เวลาผ่านไปอย่างไม่เสียดาย 
ไม่ใส่ใจที่จะใฝ่ก้าวหน้า ถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อกลับไม่รุดไปข้างหน้า 
จนเมื่อรู้สึกตัวถึงจะรู้ว่า ตัวเองเข้าไปอยู่ในบ้านที่ตัวเองสร้างไว้
อย่างไม่ตั้งใจแล้ว

มาเป็นช่างไม้กันเถอะ คิดถึงบ้านของตัวเอง ตะปูที่ตอกลงไปทุกวัน
เหมือนกับเพิ่มไม้ลงไปหนึ่งแผ่น หรือว่าสร้างหน้าต่างขึ้นมาสักบาน 
ใช้ปัญญาของท่านสร้างให้ดีๆ ชีวิตของท่าน คือสิ่งสิ่งประดิษฐ์ชิ้นเดียวของท่าน
ไม่สามารถทะลายลงแล้วสร้างใหม่ได้ แม้จะมีชีวิตเหลืออยู่เพียงหนึ่งวัน
ในหนึ่งวันนั้นก็ขอให้มีชีวิตอย่างสวยงาม สง่าผ่าเผย มีป้ายที่กำแพงเขียนว่า
(ชีวิตสร้างขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง)

๗๒. ใหญ่เล็กไม่แตกต่าง

นักบันทึกประวัติศาสตร์ราชวงศ์ถัง ได้ถามพระอาจารย์เซนว่า
“ในพระคัมภีร์เขียนไว้ว่า เขาพระสุเมรุซ่อนเมล็ดพันธุ์ผักกาด
เมล็ดพันธุ์ผักกาดบรรจุเขาพระสุเมรุทั้งลูก เป็นเรื่องที่แปลก
ประหลาดจนเกินไปแล้ว เมล็ดพันธุ์ผักกาดเล็กๆจะหล่อหลอม
รวมภูเขาทั้งลูกได้อย่างไร ? แสดงว่านี่ไม่เข้าใจถึงหลักการที่ถูก
ต้อง คงจะเป็นการหลอกลวงผู้คนมากกว่า”

“มีคนพูดว่า เจ้าอ่านหนังสือไปแล้วเป็นหมื่นเล่ม มีเรื่องเช่นนี้หรือเปล่า?”

“แน่นอน แน่นอน ข้าพเจ้าอ่านไปเป็นหมื่นเล่มจริงๆ”

“ถ้าอย่างนั้น หนังสือที่อ่านไปเป็นหมื่นเล่ม เวลานี้อยู่ที่ไหน?”

อำมาตย์ท่านนั้นชี้ไปที่สมองแล้วพูดว่า “ทั้งหมดอยู่ที่นี่”

“แปลกจัง ข้าเห็นหัวของเจ้าโตเท่าลูกมะพร้าวเท่านั้น ทำไมถึงใส่หนังสือ
ได้ถึงหมื่นเล่ม สงสัยเจ้าก็หลอกลวงผู้อื่นหรือเปล่า?”

ตะแกรงสามอัน

มีคนคนหนึ่งกระหืดกระหอบไปหานักปรัชญาท่านหนึ่ง
แล้วพูดขึ้นมาว่า “ข้ามีข่าวจะมาบอกกับท่าน”
นักปรัชญาชิงพูดขึ้นมาก่อนว่า
“เรื่องที่ท่านจะเล่าร่อนผ่านตะแกรงมาสามครั้งแล้วหรือยัง?”
ชายคนนั้นไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร? จึงถามขึ้นว่า
“ตะแกรงสามอัน ตะแกรงสามอันไหน?”

“ตะแกรงอันแรกคือ ความจริง ข่าวที่ท่านจะเล่าเป็นความจริงหรือเปล่า?”
ชายนั้นตอบว่า “ไม่รู้เหมือนกัน ข้าฟังมาจากที่เขาเล่า”

นักปรัชญาพูดต่อว่า “ตอนนี้เจ้าไปลองใช้ตะแกรงอันที่สองไปตรวจสอบดู
ข่าวที่ท่านจะบอกข้า แม้จะไม่ใช่ความจริง แต่ก็ควรจะเป็นข่าวที่มีเจตนาดี”
ชายนั้นลังเลสักครู่แล้วพูดว่า “ไม่ เป็นเจตนาตรงข้ามกันเลย”

นักปรัชญาพูดต่อว่า “ถ้าอย่างนั้นเราใช้ตะแกรงอันที่สาม
ข้าจะถามเจ้าอีกครั้ง ข่าวที่ทำให้เจ้าเร่งรีบอย่างนี้เป็นข่าวสำคัญหรือเปล่า?”
ชายคนนั้นรู้สึกเขินนิดๆ แล้วตอบว่า “ไม่ได้สำคัญอะไร?”

นักปรัชญานั้นพูดต่อว่า “เรื่องที่เจ้าจะเล่าให้ข้าฟัง ไม่ใช่เรื่องจริงแล้วก็
ไม่ได้มีเจตนาดี แล้วก็ไม่สำคัญ งั้นก็อย่าเล่าเลย ข่าวนั้นจะได้ไม่รบกวนจิตใจ
ทั้งของเจ้าและของข้า”

อย่าได้เชื่ออะไรง่ายๆต่อคำพูดที่มีผู้พูดให้ร้ายคนอื่น
นอกจากเจ้าจะรู้จริงๆว่าสิ่งนั้นเป็นความจริง
และไหนๆถ้าเจ้ารู้ความจริงแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องนำเรื่องนี้ไปเล่าให้คนอื่นฟัง
นอกจากเจ้าจะคิดว่าเรื่องนี้จำเป็นต้องบอกให้ผู้อื่นรับรู้
และขณะที่เจ้าพูด พึงนึกไว้เสมอว่า เบื้องบนก็กำลังฟังเรื่องราว
จากปากของเจ้าเหมือนกัน

มีคำพังเพยบทหนึ่งกล่าวว่า 
“คำพูดดีๆหนึ่งคำอาจทำให้คนหัวเราะได้
คำพูดร้ายๆหนึ่งคำก็อาจทำให้คนกระโดดขึ้นมาได้เหมือนกัน”

บ่อยครั้งที่คำพูดของเราทำให้ผู้อื่นได้รับผลประโยชน์หรือเปล่า?
หรือทำความเสียหายให้ผู้อื่น? หากก่อนจะพูดได้ผ่านการไตร่ตรอง
มาครั้งหนึ่งก่อนแล้วเจ้าจะรู้ว่า มีหลายๆคำพูดที่ไม่มีความจำเป็นต้องพูดออกมา

การฝึกฝนเช่นนี้บ่อยๆจะทำให้เราสามารถควบคุมลิ้นของเรา 
ไม่ให้พูดเพ้อเจ้อออกมา
แล้วไปทำร้ายผู้อื่น เมื่อคนเราสามารถควบคุมลิ้นได้ 
ก็สามารถควบคุมทุกอย่างในตัวได้

ในคัมภีร์ก็มักพูดว่า
“พูดมากอาจผิดพลาดได้ง่าย รู้จักสงบวาจาคือการมีปัญญา

ต่อแต่นี้ไป ขอให้เจ้าระวังสิ่งที่เจ้าจะพูดออกมา
ก็จะทำให้นาวาชีวิตของเจ้ามุ่งหน้าไปสู่ทิศทางที่ต่างจากเดิม

ยืนหยัดอยู่ในคุณค่าของตัวเอง

มีลูกศิษย์คนหนึ่งมักจะคอยถามพระอาจารย์ด้วยคำถามเดิมๆทุกวัน
“อาจารย์ครับ อะไรคือคุณค่าของชีวิตที่แท้จริงครับ?”
วันหนึ่งพระอาจารย์นำก้อนหินก้อนหนึ่ง แล้วพูดกับศิษย์ว่า
“เจ้าจงนำก้อนหินก้อนนี้ไปขายที่ตลาด แต่ไม่ต้องขายจริงๆหรอกนะ
เพียงแต่ให้คนตีราคาก็พอ แล้วคอยดูว่า แต่ละคนจะตีราคาก้อนหิน
ก้อนนี้สักเท่าไร?”

ลูกศิษย์นั้นจึงนำก้อนหินไปขายที่ตลาด บางคนก็บอกว่าก้อนหินก้อนนี้
ใหญ่ดี สวยดีให้ราคาสองบาท บางคนก็บอกว่าก้อนหินก้อนนี้มาทำเป็น
ลูกตุ้มชั่งน้ำหนักได้ ก็ตีราคาให้สิบบาท ที่สุดแต่ละคนก็ตีราคาไปต่างๆ
นานา แต่ราคาที่ให้สูงสุดคือสิบบาท ลูกศิษย์รู้สึกดีใจ กลับไปบอกอาจารย์ว่า
“ก้อนหินที่ไม่มีประโยชน์อะไรนี้ ยังขายได้ถึงสิบบาท น่าจะขายออกไปจริงๆ”
อาจารย์พูดขึ้นว่า“อย่าเพิ่งรีบขายก่อน ลองพาไปขายในตลาดทองคำดู 
แต่ก็อย่าขายออกไปจริงๆ” 

ลูกศิษย์จึงนำก้อนหินก้อนนั้นไปขายในตลาดทองคำ เริ่มต้นมีคนตีราคาให้
หนึ่งพันบาท คนที่สองตีราคาให้หนึ่งหมื่นบาท สุดท้ายมีคนให้ถึงหนึ่งแสนบาท
ลูกศิษย์รู้สึกดีใจ รีบกลับไปรายงานพระอาจารย์ถึงผลพลอยได้ที่นึกไม่ถึง
พระอาจารย์กล่าวต่อไปอีกว่า “นำก้อนหินนี้ไปตีราคาที่ตลาดเพชร”
ลูกศิษย์จึงนำไปที่ตลาดค้าเพชร คนแรกให้ราคาหนึ่งแสน สองแสน
สามแสน ไปเรื่อยๆ เมื่อพ่อค้าเห็นไม่ยอมขายสักที จึงให้เขาตีราคาเอง
แต่ลูกศิษย์นั้นกล่าวว่า “พระอาจารย์ไม่ให้ขาย” จึงนำก้อนหินนั้นกลับไป
พูดกับพระอาจารย์ว่า “ก้อนหินก้อนนี้คนให้ราคาถึงเรือนแสนแล้ว”

“ใช่แล้ว ตอนนี้อาจารย์ไม่อาจสอนเจ้าถึงเรื่องคุณค่าของชีวิตเพราะ
เพราะเจ้ามองชีวิตของเจ้าเหมือนกับการตีราคาของตลาด คุณค่าของชีวิต
คนเรา ควรจะอยู่ในจิตใจของตนเอง ต้องมีสายตาของนักค้าเพชรที่เก่งที่สุด
เสียก่อน จึงจะมองเห็นคุณค่าที่แท้จริงของชีวิตคนเรา”

คุณค่าของคนเรา ไม่ได้อยู่ที่ราคาที่อยู่ข้างนอก แต่อยู่ที่เราให้ราคาของตัวเอง
ราคาของเราทุกคนเป็นสิ่งที่ไม่มีสิ่งใดเปรียบเทียบ ยอมรับตัวเอง ฝึกฝนตัวเอง
ให้ช่องว่างกับตัวเองได้เติบโต พวกเราก็จะกลายเป็น “สิ่งที่มีค่าจนประเมินไม่ได้”


อุปสรรคทุกอย่างที่เกิดขึ้น ความปวดร้าวที่เกิดขึ้นทุกครั้ง ความทุกข์ที่โหม
กระหน่ำ ก็มีความหมายอยู่ในตัวของมัน

แม่ไก่ที่มีปัญญาและเมตตา

ศูนย์วิจัยเกี่ยวกับสัตว์แห่งหนึ่งของยุโรป มีอาจารย์ท่านหนึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับ
ไก่ เขาเอาใจใส่และเฝ้าสังเกตชีวิตความเป็นอยู่ของไก่แต่ละชนิดอย่างละเอียด
วันหนึ่ง เขาได้พบไข่ของไก่ป่าหลายฟองในป่า เขาจึงพาไข่ของไก่ป่านั้นกลับไป
พอดีมีแม่ไก่ตัวหนึ่งออกไข่มาหลายใบ เขาจึงหยิบไข่ของแม่ไก่นั้นออกไป แล้ว
หยิบไข่ของไก่ป่าใส่แทน แม่ไก่นั้นเห็นแล้วก็ลังเลสักครู่ แต่ก็รีบไปฟักไข่
นั้นอย่างเดิม ดูแล้วอ่อนโยนและระมัดระวังยิ่งนัก เหมือนกับกำลังฟักไข่
ของตนเองปานนั้น

ผ่านไปอีกสักระยะหนึ่ง ไก่ป่าน้อยก็แตกออกมาจากไข่ แม่ไก่ก็พาพวกเขา
ไปในป่าใกล้ๆ ใช้ตีนคุ้ยเขี่ยดินให้ร่วนออกมา เพื่อหาหนอนที่อยู่ใต้ราก
แล้วร้องเรียกให้ไก่ป่าน้อยเหล่านั้นมากิน

นักวิจัยนั้นรู้สึกตกตะลึง เพราะเมื่อก่อนนั้นลูกไก่ของแม่ไก่นี้ เคยกินแต่อาหารสัตว์
ที่คนนำมาให้กิน แต่ครั้งนี้แม่ไก่กลับรู้ว่า ไก่ป่าน้อยไม่กินอาหารสัตว์
กินแต่อาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติ

อีกครั้งหนึ่งที่นักวิจัยนั้นทดลอง นำเอาไข่เป็ดมาให้แม่ไก่นั้นฟัก
แม่ไก่นั้นก็ยังคงฟักไข่ออกมาอย่างระมัดระวัง จนกลายเป็นลูกเป็ดน้อย
แล้วก็พาลูกเป็ดน้อยนั้น ไปที่ริมสระ แล้วให้ลูกเป็ดเหล่านั้นได้ว่ายน้ำ

สองเรื่องราวเหล่านี้ทำให้นักวิจัยนั้นเข้าใจถึงหลักการที่คนเรามักจะนึกว่า
สัตว์นั้นโง่เขลาเบาปัญญา ไม่มีความรู้สึก 
แต่จริงๆแล้ว สัตว์ก็มีความรักความเมตตา และมีปัญญาอยู่ในนั้นด้วย

๗๓. เจริญสติในชีวิตประจำวัน

มักจะมีผู้ถามบ่อยๆว่า จะบำเพ็ญภาวนาอย่างไร? 
และควรจะปฏิบัติธรรมวิธีไหน?
แต่ไม่ค่อยมีใครรู้ว่าสามารถปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันได้
ปฏิบัติในสิ่งแวดล้อมที่มีมายาและกิเลสได้

ลูกชายของคนทำขนมปังคนหนึ่ง เป็นคนมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
และเนื่องจากมีบ้านอยู่ใกล้วัด จึงนำขนมปัง 10 ลูก ไปถวายให้กับ
พระอาจารย์ที่วัดทุกวัน เมื่อพระอาจารย์รับประเคนแล้ว
ก็จะเหลือลูกหนึ่งให้นำกลับไปทุกครั้ง และพูดกับเขาว่า
“ข้ามอบให้กับเจ้า ไว้คุ้มครองลูกหลานของเจ้าต่อไปในภายภาคหน้า”

วันหนึ่ง ชายหนุ่มนั้นคิดในใจว่า “ข้าส่งขนมปังไปให้ ทำไมต้องส่งกลับคืนมาด้วย
ท่านอาจารย์ต้องมีความนัยอะไรแอบแฝงอยู่เป็นแน่”
ดังนั้นชายหนุ่มนั้นจึงถามพระอาจารย์ถึงเรื่องนี้
พระอาจารย์ตอบว่า “ขนมปังเป็นสิ่งที่เจ้านำมา และข้ากลับมอบคืนให้เจ้า
ข้าทำผิดตรงไหน?”

ชายหนุ่มนั้นเคยมีวาสนาต่อการปฏิบัติมาก่อนจึงเข้าใจ
ได้ทันทีว่า เหตุปัจจัยที่ตนเองสร้างมา ย่อมจะต้องเป็นผู้รับผลอันนั้น
คิดได้ดังนั้นแล้ว จึงขอบวชกับพระอาจารย์นั้น

พระอาจารย์พูดต่อว่า “ในอดีตเจ้าเคยสร้างแต่บุญกุศล
และตอนนี้ยังเชื่อฟังคำของข้า ต่อแต่นี้ไปให้เรียนธรรมและอยู่ปฏิบัติใกล้ชิดกับข้า

ผ่านไปอีกระยะหนึ่ง วันหนึ่ง พระหนุ่มนั้น นำเอาความสงสัยเรื่องหนึ่งไปถาม
พระอาจารย์ว่า “หลังจากที่ศิษย์บวชเรียนมาจนถึงวันนี้ ยังไม่เคยได้รับคำชี้แนะ
เคล็ดวิธีในการปฏิบัติปฏิบัติธรรมเลย”

พระอาจารย์ตอบด้วยเสียงเรียบสงบว่า “ทำไมจะไม่ได้สอนธรรมะให้เจ้า
เจ้ายกน้ำชามา ข้าก็รับไว้ เจ้ายกข้าวมา ข้าก็กิน เมื่อเจ้าแสดงความคารวะ
ข้าก็พยักหน้ารับ ตรงไหนไม่ใช่เคล็ดวิธีในการปฏิบัติธรรม?
หากอยากจะเห็นจิตของตนเอง ก็จะเห็นได้ทันที 
หากย้ำคิด จะเดินผิดทางทันที
พระหนุ่มนั้นเข้าใจถึงคำสอนได้ในทันทีเหมือนกัน 

การปฏิบัติธรรมหนีไม่พ้นจากเรื่องราวในชีวิตประจำวัน 
หากให้แยกออกจากชีวิตที่เป็นอยู่ในแต่ละวัน 
จะรู้ธรรมได้ยาก การเดิน ยืน นอน นั่ง การเคลื่อนไหวนิ่งเงียบ 
ไม่มีสิ่งไหนที่ไม่ใช่เครื่องมือทำสติ เพียงแค่รู้อยู่ในปัจจุบันขณะ
ใช้จิตรู้ได้ทันท่วงที ทุกๆสิ่งคือหนทางแห่งมรรค

รักตัวเองแล้วก็ทำร้ายตนเอง

คนที่เรารักที่สุดไม่มีใครเกินกว่ารักตัวเอง
คนที่เราเกลียดที่สุด ก็คือตัวเอง
ตั้งแต่เล็กจนโต คนส่วนใหญ่มักจะทำอยู่เรื่องหนึ่งคือ
ทำอย่างไรถึงจะให้ตนเองพอใจ

ตั้งแต่วัยทารก เมื่อผ้าอ้อมเปียก ก็จะร้องไห้เพื่อจะบอกให้คนอื่นรู้
เมื่อหิว ก็แสดงออกโดยการร้องไห้ เมื่อเจ็บป่วยก็ร้องไห้อีก
เมื่อผู้อื่นทำให้ตนเองไม่พอใจก็ร้องอีก
ส่วนใหญ่ก็ใช้การร้องไห้ ร้อง ร้อง ร้อง 
จนผู้อื่นทำให้ตนเองพอใจจึงจะหยุด

เมื่ออยู่ในวัยเด็ก จะกินอะไรต้องกินให้ได้ จะเอาก็จะเอาให้ได้
จะทิ้งก็ทิ้งเลย จะคลานก็คลาน ไม่สนใจผู้อื่นว่าจะเป็นอย่างไร
จะทำอะไรก็ทำเลย ก็คือการทำให้ตัวเองพอใจก็แล้วกัน

โตขึ้นมาอีกหน่อย คิดจะเล่น ก็เล่น เล่นของไปชิ้นหนึ่งก็จะเปลี่ยนไป
เป็นอีกชิ้นหนึ่งประเดี๋ยวเล่นกับคนนี้ เดี๋ยวก็ไปเล่นกับคนโน้น 
เล่นทั้งวัน ตั้งแต่เช้าจนค่ำเหมือนกับเล่นได้โดยไม่เหน็ดเหนื่อย 
ก็เพื่อสนองความต้องการของตนเอง

เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น รู้สึกสนใจเพื่อนต่างเพศ 
มักจะมองครูอาจารย์เหมือนศัตรู
แสดงการต่อต้านออกมาเพื่อแสดงถึงความไม่พอใจ

แสดงกิริยาร้ายๆเพื่อเรียกร้องความสนใจ 
หรือปิดกั้นตัวเองเพื่อหลบหลีกปมด้อยในใจของตนเอง
ไม่ว่าจะใช้วิธีการอย่างไรหรือลักษณะอย่างไร ก็เป็นเพื่อเรียกร้อง
ความเอาใจใส่และความสนใจจากคนอื่น 
ใช้การแสดงออกลักษณะนี้ ก็เพื่อสนองความพอใจของตนเอง

วัยหนุ่มสาว ก็แย่งชิงสาวกับเพศเดียวกัน ที่ไม่ถูกกันก็กล่าวโทษกันไปมา
แสวงหาความท้าทาย เสกสรรปั้นแต่งให้ตัวเอง แสวงหาความรัก
เต็มไปด้วยความใฝ่ฝัน เพื่อให้ตนเองก้าวไปข้างหน้า
ไม่ว่าจะจมลงไปสู่สิ่งที่เลว หรือมุ่งข้างหน้า
ทั้งสองสิ่งก็เป็นไปเพื่อสนองความพอใจของตนเอง

เมื่อมาถึงวัยกลางคน ไม่ใช่เพื่อขยายกิจการให้ใหญ่โต 
ก็หลีกหนีไปจากโลกของตัวเอง 
กระโดดเข้าไปเล่นการเมือง
ลงทุนกิจการต่างๆ เล่นบทนอกใจภรรยา ทำตัวเป็นข่าว
เพราะที่เป็นอยู่ไม่เพียงพอที่จะสนองความต้องการของตนเอง 
ดังนั้นจึงไปสร้างกิเลสเพิ่มยิ่งขึ้นไปอีก

เมื่อเข้าสู่วัยชรา หวังจะให้ลูกหลานมาห่วงใย คู่ทุกข์ยากยังอยู่เป็นเพื่อน
และจากโลกนี้ไปอย่างไม่เจ็บไข้ได้ป่วย 
รำพึงรำพันถึงชีวิตที่ผ่านมาเพื่อปลอบประโลมใจให้กับตัวเอง 
ใช้ความนับหน้าถือตาของผู้อื่น มายืนยันความความมั่นใจของตนเอง 
ไม่ว่าจะปิดบังซ่อนเร้นชีวิตที่ผ่านมาอย่างไร
ก็ยังไม่สามารถทำความพอใจให้กับตนเองได้

ทุกคนย่อมต้องการให้ผู้อื่นมาเติมเต็มให้ อ่อนข้อให้ สร้างความพอใจให้
แต่...ผู้อื่นก็มีความต้องการเช่นนั้นพอๆกับเรา 
มีความหวังที่จะอยากได้สิ่งต่างๆมาสนองความต้องการเหมือนกัน 
ความต้องการและความหวังจากผู้อื่นเช่นที่ว่านี้ย่อมจะเป็นจริงได้ยาก 

ดังนั้นเมื่อต่างฝ่ายเริ่มต้นที่จะอยากได้จากฝ่ายตรงข้าม
ย่อมเกิดความเคืองแค้นทั้งคู่ จากเรื่องของบุคคลต่อบุคคล
ก็กลายเป็นระหว่างกลุ่ม ระหว่างประเทศต่อประเทศ ต่อสู้แย่งชิงกันไปมา
ก็เพื่อมาตอบสนองความพึงใจของตนเอง ของกลุ่ม ของประเทศ

คนมีปัญญาย่อมมีกิเลสน้อย พอใจในสิ่งที่ตนเองมี และสามารถแบ่งปัน
ให้ผู้อื่นได้ตามสมควร แต่คนส่วนใหญ่มักจะไม่พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่
เลยต้องให้ผู้อื่นมาเติมเต็มให้กับความต้องการของตัวเอง สุดท้ายก็มี
แต่ความทุกข์ที่ต้องแบก และกลายเป็นทาสของกิเลสในที่สุด

จิตที่สะอาดและสงบ

สรรพสิ่งแต่ดั้งเดิมมาล้วนแต่สะอาดและบริสุทธิ์ 
จิตที่เป็นพุทธะก็ล้วนแต่สะอาดและบริสุทธิ์เช่นกัน
แล้วเหล่าเวไนยทำไมถึงเกิดความวุ่นวายและกังวล
จนเป็นทุกข์อย่างยากที่จะเอ่ยออกมา

มีพระอาจารย์ท่านหนึ่ง เพื่อที่จะสอนศิษย์ที่เบาปัญญาคนหนึ่ง
ให้รู้ว่าจิตเดิมแท้ดั้งเดิมสะอาดและบริสุทธิ์อยู่ในตัวแล้ว
จึงอดทนรอเพื่อให้เกิดเหตุปัจจัยที่พอเหมาะแล้วจะชี้แนะธรรมให้

วันหนึ่งขณะที่เดินไปตามทางกับเหล่าลูกศิษย์ บังเอิญข้างทาง
มีกระดาษที่ห่อน้ำหอม กับเชือกที่มัดปลาตายเส้นหนึ่ง
เมื่อเห็นเป็นโอกาสที่ประจวบเหมาะแล้ว จึงถามลูกศิษย์ว่า
“กระดาษนี้หอมมาแต่แรกหรือเปล่า?”
“ไม่ใช่ แต่หอมเพราะได้ห่อน้ำหอมไว้” ลูกศิษย์ตอบ
“เชือกนี้เหม็นมาตั้งแต่แรกเลยหรือเปล่า?”
“ไม่ใช่ ที่เหม็นเพราะไปผูกปลาที่ตายแล้ว”

พระอาจารย์จึงแสดงธรรมให้ฟังว่า “จิตที่เป็นพุทธะของเหล่าเวไนย
แต่ดั้งเดิมมาก็สะอาดบริสุทธิ์ไร้ราคี แต่มาเปรอะเปื้อนเพราะกิเลสต่างๆ
มารุมเร้า ทำให้จิตที่สะอาดต้องมากลายเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง
และถูกสิ่งเหล่านั้นครอบงำจนไม่เห็นจิตเดิมแท้ 

เพียงแค่รักษาจิตที่สะอาดและสงบนี้ไว้ 
ก็จะสามารถขจัดความโลภกลายเป็นจิตที่มีศีล 
ความโกรธก็จะก็จะกลายเป็นจิตที่นิ่งสงบ 
ความหลงก็จะกลายเป็นปัญญา 

ทำ โลภ โกรธ หลง ให้กลายเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา”
หลังจากเหล่าลูกศิษย์เมื่อฟังแล้ว ก็เริ่มต้นใช้แนวทางที่ทำให้จิต
สะอาดและสงบมาเป็นวิถีทางแห่งการภาวนา

เมื่อรู้ต้นเหตุที่ทำให้เราทุกข์ รู้มูลเหตุที่ทำให้เรามีความสุข
เพียงแค่ห่างไกลไปจากเหตุต้น-ผลกรรมที่เป็นอกุศล
เหตุต้น-ผลกรรมที่เป็นกุศลก็จะปรากฏขึ้นมาเอง

การเดินทางของสายน้ำ

มีธารน้ำเล็กๆสายหนึ่งไหลมาจากยอดเขาที่ห่างไกลออกไป 
ผ่านป่าเขาหมู่บ้านและผ่านในเมืองมาหลายแห่ง 
สุดท้ายมาถึงทะเลทรายแห่งหนึ่งสายน้ำคิดในใจว่า 
“เราก็ผ่านอุปสรรคและสิ่งกีดขวางต่างๆนานามานับไม่ถ้วน
ครั้งนี้คงจะผ่านทะเลทรายแห่งนี้ไปได้ด้วยดี”

ขณะเมื่อสายน้ำมุ่งมั่นจะผ่านทะเลทรายอยู่นั้น ก็รู้สึกว่าน้ำของตัวเองค่อยๆ
ซึมหายไปในทรายเหล่านั้น ยิ่งไหลผ่านไปเรื่อยๆ ยิ่งรู้สึกว่าน้ำก็ยิ่งหายไป
เรื่อยๆ จนรู้สึกท้อแท้ “คิดในใจว่า นี่คงจะเป็นชะตาชีวิตของตนเองแล้ว
และคงจะไม่มีทางที่จะได้ไหลไปสู่ทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาลตามคำที่เขาเล่าลือ

เมื่อสายน้ำรำพึงรำพันด้วยความเสียใจอยู่นั้น ก็มีเสียงแว่วแผ่วกระซิบมาว่า
“ถ้าหากสายลมสามารถพัดผ่านทะเลทรายได้ สายน้ำก็จะไหลผ่านไปได้เหมือน
กัน” ที่แท้เสียงที่เหมือนกับกระซิบมานั้นเป็นเสียงของทะเลทรายเอง
สายน้ำตอบด้วยน้ำเสียงที่ไม่ค่อยพอใจว่า “นั่นเป็นเพราะลมสามารถบิน
ข้ามทะเลทรายไปได้ แต่ข้าทำไม่ได้”

“เป็นเพราะเจ้ายืนกรานที่จะเป็นสภาพเดิม ลมจึงไม่สามารถพัดพาเจ้าข้ามไปได้ 
เพียงแต่เจ้ายอมปล่อยวางสภาพที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ ให้ตัวเองกลายเป็นไอน้ำ
แล้วหลอมรวมไปกับสายลม” ทะเลทรายกล่าวต่อด้วยเสียงอันแผ่วเบา

สายน้ำไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีเรื่องแบบนี้ด้วย คิดในใจว่า 
“ปล่อยวางสภาพที่เป็นอยู่ขณะนี้ แล้วสลายรวมไปในสายลม? 
ไม่! ไม่! “ สายน้ำไม่ยอมรับคำเสนอแนะที่ให้เป็นลักษณะนั้น 
แล้วตัวเองก็ไม่เคยผ่านประสบการณ์ลักษณะอย่างนั้นมาก่อน จะให้ปล่อยวาง
ลักษณะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่เท่ากับเป็นการทำลายล้างตัวเองหรือ?”

“แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า นี่เป็นความจริงหรือเปล่า?” สายน้ำถาม
“สายลมสามารถนำไอน้ำรวมเข้ากับตัวเอง แล้วพัดผ่านทะเลทราย เมื่อไปประจวบ
กับสภาพที่เหมาะสม ก็จะคายไอน้ำออกมา แล้วกลายเป็นฝน หลังจากนั้น
น้ำฝนก็จะกลายเป็นสายน้ำ ไหลไปข้างหน้าเรื่อยๆอีก” ทะเลทรายตอบ

“แล้วข้าจะยังคงเป็นสายน้ำดั้งเดิมหรือเปล่า?”
“จะบอกว่าใช่ก็ได้ จะบอกว่าไม่ใช่ก็ได้ และไม่ว่าเจ้าจะเป็นสายน้ำหรือเป็น
ไอน้ำที่มองไม่เห็น แต่ความเป็นตัวตนที่แท้จริงของตัวเองไม่เปลี่ยนแปลง
เจ้ายืนกรานที่จะเป็นสายน้ำ เพราะเจ้าไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าตัวตนที่แท้จริง
ของตัวเองคืออะไร”

ช่วงเวลานั้นสายน้ำคลับคล้ายคลับคลาเหมือนกับว่า ก่อนที่ตัวเองจะกลายเป็น
สายน้ำ ก็เคยถูกลมนำตนเอง พัดพาผ่านพื้นดินไปยังยอดเขา 
แล้วกลายเป็นฝน แล้วกลายเป็นสายน้ำอย่างทุกวันนี้

เมื่อคิดได้ดังนั้น สายน้ำจึงรวบรวมแรงใจครั้งสุดท้าย 
กระโจนเข้าไปในอ้อมแขนที่อ้าออกมารับของสายลม 
แล้วหายไปในสายลมนั้น ให้สายลมนั้นพัดพาผ่านไปใน
ชีวิตทุกขั้นตอนที่จะดำเนินไป 

ทุกขั้นตอนของชีวิตคนเราก็เหมือนกับสายน้ำ 
หากอยากจะฝ่าฟันให้ผ่านพ้นอุปสรรคขวากหนาม 
ก็จำจะต้องปล่อยวางตัวตนที่ยึดมั่นอยู่ พร้อมกับใช้ปัญญา
และความกล้ามุ่งหน้าไปสู่จุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้
ลองถามตัวเองดูบ้างซีว่า ตัวตนที่แท้จริงของตัวเองคืออะไร? 
และสิ่งที่กำลังยึดมั่นถือมั่นอยู่คืออะไร? สิ่งที่ต้องการคืออะไร?

ชีวิตคล้ายดั่งใบชา

ใบชาถูกน้ำร้อนถึงจะออกรสและกลิ่นที่หอมกรุ่นนุ่มลึก
ชีวิตก็ต้องพบกับอุปสรรคครั้งแล้วครั้งเล่า ถึงจะเกิดความหอมกรุ่นของชีวิต

มีชายหนุ่มที่พบกับความผิดหวังคนหนึ่งมาที่วัด พบกับพระอาจารย์แล้ว
เล่าระบายทุกข์ให้ฟังว่า “เฉกเช่นคนอย่างข้าพเจ้าซึ่งผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า
มีชีวิตก็เพียงแค่อยู่ไปวันๆ ไม่มีประโยชน์อะไรเลย”

พระอาจารย์นั่งนิ่งอย่างสงบและสำรวม ฟังชายหนุ่มคนนั้นรำพึง
รำพันและทอดถอนใจ ไม่ได้พูดอะไร ได้แต่สั่งพระที่เป็นอุปัฏฐากว่า
“ประสกท่านนี้เดินทางมาแต่ไกล ไปหาน้ำอุ่นมาสักกาซิ”
เมื่อพระนั้นยกกาน้ำอุ่นมาให้ พระอาจารย์จึงหยิบใบชามาใส่ไว้ในแก้ว
แล้วรินน้ำอุ่นลงในแก้ว พลางยื่นแก้วนั้นให้กับชายหนุ่ม แล้วพูดว่า
“ประสก เชิญดื่มชาก่อน”

ชายหนุ่มก้มหน้าลงมองแก้วชานั้น เห็นไอความร้องลอยอ้อยอิ่งออกมาเล็กน้อย
มีใบชาลอยขึ้นมาอยู่นิ่งๆ
ชายหนุ่มถามขึ้นอย่างๆไม่เข้าใจว่า “ทำไมวัดนี้ถึงใช้น้ำอุ่นชงชา?”
พระอาจารย์ไม่พูดอะไร เพียงแต่แสดงทีท่าว่า “ดื่มชาก่อนเถอะ”
ชายหนุ่มนั้นจึงจำใจยกชาขึ้นมาจิบไปสองสามครั้ง”
พระอาจารย์ถามว่า “ชานี้คงจะหอมซินะ”
ชายหนุ่มนั้นจึงค่อยๆยกชาขึ้นมาจิบเพื่อลิ้มรสอย่างช้าๆ พลางส่ายหัวพูดว่า
“นี่เป็นชาอะไรครับ ความหอมสักนิดก็ไม่มี”

พระอาจารย์ยิ้มพลางและพูดว่า 
“นี่เป็นใบชาชื่อดังที่ชื่อว่ากวนอิมเหล็ก ทำไมถึงไม่หอมล่ะ”
ชายหนุ่มนั้นเมื่อได้ฟังว่าเป็นใบชารสเลิศที่ชื่อกวนอิมเหล็ก
ก็รีบยกแก้วขึ้นมาแล้วใช้ลมเป่าเศษใบชาที่ลอยอยู่ออก แล้วค่อยๆ
จิบเพื่อลิ้มรสชาติใหม่ แล้ววางแก้วลงพลางยืนยันอีกว่า 
“ไม่มีกลิ่นชาแม้แต่สักนิดจริงๆ”

พระอาจารย์จึงสั่งพระอีกรูปหนึ่ง ให้เอาน้ำเดือดมาอีกกา
เมื่อกาน้ำร้อนมาแล้ว พระอาจารย์จึงหยิบใบชาใส่ลงในแก้วอีกใบหนึ่ง
แล้วเติมน้ำร้อนลงไป แล้วยกไปวางไว้ข้างหน้าชายหนุ่ม
ชายหนุ่มนั้นก้มหน้ามองไปที่แก้วน้ำใบนั้น ก็เห็นใบชาในแก้วลอยขึ้นลง
ไปตามแรงวนของใบชา แล้วสักครู่ก็ได้กลิ่นหอมอ่อนๆของใบชา
ลอยขึ้นมาแตะจมูก ชายหนุ่มนั้นเผลอยกขึ้นมาสูดกลิ่น

พระอาจารย์พูดขึ้นมาว่า “ช้าก่อน พ่อหนุ่ม” 
พลางเติมน้ำร้อนลงในแก้วเพิ่มขึ้นอีก ชายหนุ่มนั้นก้มหน้าลงมองแก้วน้ำ
ก็เห็นใบชาเหล่านั้นลอยขึ้นและจมลงหมุนวนคละไปทั่ว พร้อมกับ
ได้กลิ่นหอมอ่อนของใบชาลอยอบอวลขึ้นมานอกแก้วชา 
พระอาจารย์เติมน้ำร้อนเพิ่มลงในแก้วอีกหลายครั้ง
จนน้ำเต็มแก้ว พลางถามว่า “ประสก ทำไมใช้ใบชาชนิดเดียวกัน
ทำไมกลิ่นชาถึงแตกต่างกัน?”

“ใบหนึ่งใช้น้ำอุ่นชง อีกใบหนึ่งใช้น้ำเดือดชง เพราะใช้น้ำที่แตกต่างกัน หนุ่มนั้นตอบ
“ใช้น้ำที่ต่างกัน การลอยของใบชาก็แตกต่างกัน ใบชาที่ใช้น้ำอุ่น ใบชาจะ
ลอยเอื่อยๆ ไม่มีการลอยแล้วจม แล้วใบชาจะแผ่กระจายความหอมออกมาได้อย่างไร?
แต่ใบชาที่ชงกับน้ำเดือด ผ่านน้ำร้อนครั้งแล้วครั้งเล่า ใบชาจมแล้วก็ลอย

ลอยแล้วก็จม ลอยๆจมๆใบชาก็จะแผ่ขจายกลิ่นหอมของฝนที่รับมาจากฤดูใบไม้ผลิ
ความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่ได้ในฤดูร้อน ความเย็นสงบในหน้าหนาว

คนมากมายในโลกนี้ มีอะไรไม่เหมือนชาเล่า คนที่ไม่เคยผ่านร้อนผ่านหนาว
ใช้ชีวิตให้ผ่านไปวันๆไปเรื่อยๆ ก็เหมือนกับใช้น้ำอุ่นชงชา ใบชาลอยไปเสมอกัน
ไม่สามารถกลั่นเอาความหอมและปัญญาออกมาได้ 

และคนที่ต้องพบกับอุปสรรคและทุกข์ลำเค็ญอดมื้อกินมื้อ 
พบกับความโชคร้ายครั้งแล้วครั้งเล่า ก็เหมือนใบชา
ที่ชงกับน้ำร้อนครั้งแล้วครั้งเล่า พวกเขาผ่านวันเวลาฝ่าลมฝนพายุที่ขึ้นๆลง
เสมอมา ทำให้ชีวิตของพวกเขาค่อยๆกลั่นความหมายออกมา
สวนกระแสขึ้นมาเหมือนใบชา แล้วพวกเราทำไมจะไม่เหมือนชีวิตของชา
ชะตาชีวิตทำไมจะไม่เหมือนกาน้ำอุ่นหรือน้ำเดือด 

ใบชาเพราะถูกน้ำร้อนจัด จึงคายความหอมที่บ่มเพาะอยู่ในตัวออกมา
และชีวิตก็มีแต่พบอุปสรรคและความยากลำบาก 
ถึงจะบ่มเพาะความหอมที่มีอยู่ในตัวออกมา

๗๔ แสงสว่างในดวงจิต

มีพระอาจารย์ท่านหนึ่ง เมื่อเข้าสู่วัยชรา จึงคิดจะมอบบาตรและจีวร
เพื่อให้ลูกศิษย์รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสต่อไป แต่ในบรรดาลูกศิษย์
ทั้งหลายมีอยู่ถึงสามคนที่ค่อนข้างจะเข้าถึงธรรมมากที่สุด จึงค่อนข้างจะ
ลำบากใจที่จะเลือกคนใดคนหนึ่ง

ช่วงเย็นโพล้เพล้ใกล้ค่ำของวันหนึ่ง พระอาจารย์พอจะรู้ว่าอายุขัย
ของตนเองใกล้จะหมดแล้ว ควรจะถึงเวลาแล้วที่จะตัดสินให้คนใด
คนหนึ่งรับตำแหน่งต่อไป จึงเรียกลูกศิษย์ทั้งสามมาแล้วสั่งให้ไปซื้อ
อะไรอย่างหนึ่ง ดูซิว่าใครจะสามารถซื้อของได้ถูกและได้มากจนเต็มกุฏิ

เมื่อศิษย์ทั้งสามรับเงินจากพระอาจารย์แล้ว มีสองคนที่เดินออกไป
แต่มีอีกคนที่ไม่ไป แล้วไปนั่งสมาธิข้างๆพระอาจารย์ ไม่ได้ขยับไปไหน

ไม่นาน ศิษย์คนหนึ่งเข้ามารายงานว่า ได้ซื้อหญ้าแห้งมาหลายคันรถ
สามารถใส่ให้เต็มกุฏินี้ได้ พระอาจารย์ฟ้งแล้วรู้สึกผิดหวังยิ่งนัก

และอีกรูปหนึ่งก็กลับมาในเวลาใกล้เคียง มาถึงก็หยิบเทียนเล่มหนึ่ง
ออกมาจากแขนเสื้อ แล้วก็จุดให้สว่าง พระอาจารย์เห็นแล้วก็รู้สึกพอใจยิ่งนัก

แล้วพระอาจารย์ก็มองไปที่ลูกศิษย์ที่นั่งอยู่ข้างๆ ลูกศิษย์นั้นลุกขึ้น
แล้วคืนเงินให้พระอาจารย์ พนมมือแล้วพูดว่า
“อาจารย์ สิ่งที่ศิษย์สั่งซื้อกำลังจะมาแล้ว” พูดจบก็เป่าเทียนจนดับ
ในห้องจึงมีแต่ความมืด แล้วศิษย์คนนั้นก็ชี้ไปที่นอกหน้าต่างแล้วพูดว่า
“อาจารย์ สิ่งที่ลูกศิษย์ซื้อได้มาถึงแล้ว”
พระอาจารย์มองออกไปที่นอกหน้าต่าง เห็นดวงจันทร์ลอยเด่น
ส่องสว่างเต็มดวงอยู่กลางท้องฟ้า ความสว่างของดวงจันทร์
สาดส่องเข้ามาในกุฏิ จนสว่างไปทั่วห้อง

“เจ้าคิดวิธีนี้ได้อย่างไร?” พระอาจารย์ถาม
“แม้ว่าหญ้าแห้งจะนำมาใส่จนเต็มกุฏิได้ แต่ก็ทำให้กุฏินี้มืดและสกปรก
และเทียนก็ใหญ่เพียงแค่นิ้วมือ ไม่มีราคาค่างวด คนซื้อเทียนก็ไม่เกิดปัญญาขึ้นมาได้ 
แต่เมื่อดวงจันทร์ลอยเด่นขึ้นมา สามารถทำให้สว่างไปทั่วห้องได้

เมื่อฟ้าสว่างพื้นดินก็ย่อมสว่าง ฟ้าและดินสว่างจิตก็ย่อมสว่างตาม 
จิตเดิมแท้ส่องสว่างขึ้นมาในดวงจิต โดยไม่ต้องใช้เงินซื้อหาแต่อย่างไร 
เพราะในจิตมีแสงสว่างของจิตเดิมแท้อยู่แล้ว” ลูกศิษย์ตอบ

เมื่อพระอาจารย์ได้ฟังแล้วก็ถอดจีวรไปคลุมให้ลูกศิษย์นั้น 
และให้สืบทอดเป็นเจ้าอาวาสต่อไป

จำนวนครั้งที่ลุกขึ้นมาสู้

คุณพ่อท่านหนึ่งเป็นกังวลกับลูกชายของตัวเองมาก เพราะอายุถึงสิบห้าสิบหก
ปีแล้ว แต่รู้สึกว่าลูกชายไม่มีความเป็นลูกผู้ชายแม้แต่นิดเดียว

เขาเลยไปหาพระอาจารย์เพื่อให้อบรมสั่งสอนลูกชายของเขา
พระอาจารย์กล่าวว่า “ให้ลูกชายของท่านอยู่ที่นี่สักสามเดือน ภายในสามเดือน
นี้ห้ามท่านมาเยี่ยม ข้ารับรองว่าจะสอนให้ลูกของเจ้าได้เป็นลูกผู้ชายอย่างแท้จริง”

สามเดือนผ่านไป พ่อของเด็กนั้นมารับลูกกลับไป พระอาจารย์จึงจัดให้มีการ
แข่งขันยูโดเพื่อให้เห็นถึงผลการฝึกฝนของสามเดือนที่ผ่านมา คนที่มาแข่ง
กับลูกชายของเขานั้นเป็นครูผู้ฝึกนั่นเอง

เมื่อครูฝึกจู่โจมมา เด็กนั้นก็จะรับไม่ได้แล้วต้องล้มลง แต่เมื่อล้มลงแล้ว
 เด็กนั้นจะลุกขึ้นมาตั้งท่ารับใหม่ทันที เป็นอย่างนี้ผ่านไปถึงสิบกว่าครั้ง

พระอาจารย์ถามพ่อเด็กนั้นว่า “เจ้าว่าการกระทำของลูกท่านพอจะเป็น
ลูกผู้ชายแล้วหรือยัง?”
“ข้าพเจ้ารู้สึกอับอายยิ่งนัก คิดไม่ถึงว่าส่งลูกมาให้ท่านฝึกถึงสามเดือน
สุดท้ายผลที่ข้าพเจ้าเห็นคือ ลูกสู้ไม่เป็น เพียงเขาจู่โจมมาก็ล้มลงทุกครั้ง”

“ข้ารู้สึกเสียใจยิ่งนักที่เห็นเจ้ามองเพียงแค่ผลชนะหรือแพ้ เจ้าไม่เห็น
ความกล้าและความเด็ดเดี่ยวของลูกท่านที่ล้มลงแล้วลุกขึ้นมาทันที
นั่นแหละถึงจะเป็นลูกผู้ชายตัวจริง เพียงแค่จำนวนครั้งที่ลุกขึ้นมาสู้
มากกว่าล้มลงไปหนึ่งครั้งก็นับว่าประสบผลสำเร็จแล้ว

สมบูรณ์แบบ

เณรน้อยรูปหนึ่งนั่งร้องไห้อยู่กับพื้น และที่พื้นมีกระดาษที่เขียนแล้วทิ้งเต็มไปหมด
พระอาจารย์จึงถามว่า “เป็นอะไรไปล่ะ?”
“เขียนได้ไม่ดี” 
พระอาจารย์จึงหยิบกระดาษขึ้นมาดู
“เขียนได้ไม่เลวนี่ ทำไมถึงต้องโยนทิ้ง แล้วร้องไห้ทำไม” พระอาจารย์ถาม
“ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเขียนได้ไม่ค่อยดี” เณรน้อยยังคงร้องต่อไป
“ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ชอบทำอะไรให้ดีพร้อม พลาดแม้แต่นิดเดียวก็ไม่ได้”
“ปัญหาก็คือ ผู้คนในโลกนี้ มีใครที่จะไม่ผิดแม้แต่นิดเดียวล่ะ?”
พระอาจารย์ตอบแล้วตบหลังเณรน้อยเบาๆ แล้วพูดว่า
“เจ้าต้องการแต่ความดีพร้อม พอพลาดอะไรเล็กน้อยก็รู้สึกเคือง
ก็จะร้องไห้ ลักษณะอย่างนี้ก็ไม่ใช่ความดีพร้อมแล้ว”

รักสะอาด

เณรน้อยก้มลงเก็บกระดาษบนพื้นขึ้นมาจนหมด แล้วก็ไปล้างมือ
ส่องกระจก ล้างหน้า ถอดจีวรมาซักแล้วซักอีก
“เจ้าทำอะไร? ซักแล้วซักอีก เสียเวลาไปตั้งครึ่งวันแล้ว” พระอาจารย์ถาม
“ข้าพเจ้ารักสะอาด ทนไม่ได้ที่จะมีสิ่งสกปรกแม้แต่นิดเดียว
พระอาจารย์ไม่ได้สังเกตหรือว่า หลังจากที่โยมๆทั้งหลายกลับไปแล้ว
ข้าพเจ้าจะต้องเช็ดเก้าอี้ที่โยมๆนั่งแล้วทุกตัว”
“อย่างนี้เรียกว่ารักสะอาดหรือ? เจ้าคิดแต่จะตำหนิฟ้าสกปรก
ดินสกปรก คนสกปรก ภายนอกแม้จะดูสะอาด 
แต่ในจิตกลับผิดปกติ ไม่ใช่การรักความสะอาดแล้ว

บิณฑบาต

เมื่อเณรน้อยจะออกบิณฑบาต ตั้งใจเลือกสวมใส่จีวรที่เก่าและขาด
“ทำไมถึงเลือกชุดนี้” พระอาจารย์ถาม
“ท่านเคยบอกว่าไม่ต้องสนใจรูปลักษณ์ภายนอกไม่ใช่หรือ? ดังนั้นข้าพเจ้า
จึงเลือกชุดที่เก่าและขาด และเพื่อจะได้ให้ญาติโยมเห็นใจ จะได้บริจาคเงินเยอะๆ”
“เจ้าไปบิณฑบาตหรือไปขอทาน เจ้าหวังจะให้ผู้อื่นสงสาร บริจาคทาน
หรือหวังให้ญาติโยมเห็นว่าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ หวังจะให้ท่านเป็นเนื้อนาบุญ”

มีชีวิตอยู่อย่างดี

ในวันที่อากาศร้อน ดอกไม้รอบๆบริเวณวัดโดนแดดจนแห้งเหี่ยวไปหมด
“แย่แล้ว ต้องรีบรดน้ำแล้ว”เณรน้อยอุทานแล้วรีบยกถังน้ำมา
“อย่าเพิ่งใจร้อน ตอนนี้พระอาทิตย์กำลังส่องแสงอยู่ เดี๋ยวเย็น
เดี๋ยวร้อน ต้นไม้ตายแน่ต้องรอให้เย็นกว่านี้ถึงจะรดน้ำได้”
ช่วงเย็น ต้นไม้เหล่านั้นเหมือนกับผักตากแห้ง เณรน้อยเลยบ่น
พึมพำๆว่า “ป่านนี้คงตายหมดแล้ว รดน้ำยังไงก็คงไม่รอด”
“บ่นให้น้อยหน่อย รดน้ำไปเถิด “ พระอาจารย์สั่ง

ไม่นาน ต้นไม้ที่ดูแห้งเหี่ยว เหมือนกับฟื้นชีพขึ้นมาใหม่ที่ดูสดใสกว่าเดิม
“โอ้ พวกมันนี้เก่งจริงๆ อดกลั้น ค้ำอยู่ตรงนั้นไม่ยอมตาย”
“เหลวไหล ไม่ใช่ค้ำอยู่ตรงนั้นไม่ยอมตาย แต่คือการมีชีวิตอยู่อย่างดี”
“แล้วมันจะต่างกันอย่างไร” เณรน้อยถาม
“ไม่เหมือนกันแน่นอน ข้าขอถามเจ้า ปีนี้ข้าอายุแปดสิบกว่าแล้ว
ข้าค้ำไว้ไม่ยอมตาย หรือว่ามีชีวิตอยู่อย่างดี?”

หลังจากทำวัตรเย็นแล้ว พระอาจารย์ถามเณรน้อยว่า “เป็นยังไง คิดตกลงยัง?”
“ยังครับ” พระอาจารย์ตบหลังเณรน้อยเบาๆแล้วพูดว่า
“เด็กโง่ คนที่กลัวตายตั้งแต่เช้ายันค่ำ เป็นการค้ำไว้ไม่ยอมตาย
คนที่มองไปข้างหน้าทุกวัน เป็นการมีชีวิตอยู่อย่างดี
มีชีวิตอยู่มาอีกวัน ก็ใช้ชีวิตหนึ่งวันนั้นอย่างคุ้มค่า 
พวกที่มีชีวิตอยู่ แต่เพราะกลัวตายจึงไหว้พระสวดมนต์
หวังจะให้ตายแล้วกลายเป็นพุทธะ ไม่มีทางได้เป็นพุทธะ”

ฟ้าดินก็คือวัด

หลังจากที่พระอาจารย์มรณภาพแล้ว เณรน้อยนั้นก็ได้กลายเป็นเจ้าอาวาส
ท่านมักจะครองจีวรอย่างเรียบร้อย ถือหีบยาแล้วไปในที่ๆสกปรกและยากจนที่สุด
เพื่อช่วยคนไข้เช็ดแผลเปลี่ยนยา แล้วกลับวัดด้วยจีวรที่เปรอะเปื้อนไปหมด

ท่านมักจะออกไปบิณฑบาตด้วยตนเอง แต่เมื่อมือขวารับเงินบริจาคมา
มือซ้ายท่านก็ส่งมอบไปช่วยเหลือคนยากไร้ ท่านมักจะไม่ค่อยอยู่ที่วัด
แล้วก็ไม่เคยก่อสร้างวัดเพิ่มเติม แต่มีศาสนิกชนศรัทธาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ท่านกล่าวว่า “ขณะที่พระอาจารย์มีชีวิตอยู่ ท่านสอนว่า อะไรคือสมบูรณ์แบบ
สมบูรณ์แบบคือขอให้โลกนี้ดีพร้อม 

อะไรคือ รักสะอาด รักสะอาดคือช่วยเหลือคนที่ไม่สะอาด ให้สะอาดขึ้นมา
ท่านยังชี้แนะเรื่องการบิณฑบาต คือการช่วยให้คนจับมือกัน
ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สร้างบุญสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

อะไรคือวัด วัดไม่จำเป็นต้องอยู่บนเขา แต่ควรอยู่ในหมู่มนุษย์
ทิศเหนือใต้ออกตก ก็เป็นที่ๆจะแสดงธรรมได้ 
ที่ไหนๆก็เป็นวัดของข้า”

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีชาวนาคนหนึ่งมีธุระจะต้องเดินทางไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง
ขณะที่เดินทางรอนแรมอยู่กลางป่าพบว่า การจะไปอีกหมู่บ้านหนึ่งนั้น
จะต้องข้ามแม่น้ำ หรือไม่ก็ปีนข้ามเขาสูงไป

ขณะที่กำลังคิดว่าจะข้ามแม่น้ำไปดีหรือจะปีนเขาดี 
พลันก็เห็นต้นไม้ใหญต้นหนึ่ง จึงใช้ขวานที่นำติดตัวมาโค่นต้นไม้นั้นลงมา 
แล้วก็ทำเป็นเรือชาวนาคนนั้นรู้สึกดีใจมาก 
และนึกชมเชยถึงความสามารถของตัวเองอยู่ในใจ 
แล้วก็นั่งเรือนั้นข้ามฟากไป

เมื่อข้ามฝั่งไปได้ ชาวนานั้นรู้สึกว่าเรือนี้มีประโยชน์มาก ถ้าหากทิ้งไว้ที่นี่ คงจะ
น่าเสียดาย และหากข้างหน้ามีแม่น้ำอีก ก็คงจะต้องตัดต้นไม้ทำเรืออีก กว่า
จะต่อเรือเสร็จ ต้องเสียแรงและเวลาอีกไม่น้อย ชาวนานั้นจึงตัดสินใจแบก
เรือนั้นติดตัวไปด้วย เผื่อจะได้ใช้ยามต้องการ

ชาวนาแบกเรือนั้นด้วยความเหน็ดเหนื่อยและมีเหงื่อท่วมตัว 
ทำให้ยิ่งเดินยิ่งช้าลงเรื่อยๆ เพราะเรือนั้นหนักเหลือเกิน 
และกดทับทับเขาจนแทบจะหายใจไม่ออก

ชาวนานั้นเดินไปพักไป บางทีก็คิดจะทิ้งเรือนั้นไป แต่อีกใจหนึ่งก็รู้สึกเสียดาย
คิดในใจว่า “แบกมาตั้งไกลแล้ว แบกต่อไปเถิด บางทีถ้าเจอแม่น้ำอีก ก็จะได้ใช้

และแล้ว ขณะที่แบกจนเหงื่อท่วมตัว จนถึงใกล้จะมืดค่ำ เพิ่งจะรู้สึกว่า หนทางที่
เดินผ่านมาเป็นทางที่ราบเรียบ จนถึงอีกหมู่บ้านก็ไม่เห็นมีแม่น้ำอีก การแบกเรือ
มาด้วย ทำให้เขาต้องเสียเวลาเดินทางเพิ่มขึ้นอีกเป็นสามเท่า

มนุษย์เราไม่มีใครจะรู้ล่วงหน้าได้ว่า เส้นทางเดินของชีวิตตัวเองจะเป็นทางที่
ราบเรียบ หรือขรุขระ หรือจะพบกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกราด หรือว่าจะต้อง
ปีนขึ้นไปบนภูเขา แต่ไม่ว่าทางเดินชีวิตจะเป็นเช่นใด เราก็จำเป็นจะต้องเลือกวิธีที่ 
ทำตัวตามสบาย เดินไปอย่างมีความสุข หรือจะแบกเรืออันหนักอึ้งไปด้วย

บางครั้งสภาวะจิตของเราที่พบกับเหตุการณ์ต่างๆ ก็เหมือนกับการแบกเรือ
ลำหนึ่งไว้ การแบกอย่างนั้นก็เหมือนกับการผูกมัด เราจำเป็นต้องวางลงเสียบ้าง
เพื่อให้จิตได้พบกับความเบิกบาน ความสบาย ความปลดปล่อย เดินไป
บนทางเดินชีวิตอย่างสบายใจและมีความสุข

แค่ความคิดช่วงหนึ่ง

วันหนึ่งมีชายหนุ่มที่ผิดหวังสองคนมาหาพระอาจารย์พร้อมกัน
“พระอาจารย์ครับ พวกเราถูกคนในที่ทำงานกลั่นแกล้ง อย่างแสนสาหัส
ขอท่านช่วยชี้แนะหน่อยว่า พวกเราควรจะลาออกหรือไม่?”

พระอาจารย์ปิดตานิ่งอยู่นานแล้วจึงพูดออกมาแค่ห้าคำว่า “ก็แค่ข้าวชามเดียว”
แล้วโบกมือทำท่าว่า ให้กลับไปได้แล้ว
เมื่อกลับไปแล้ว คนหนึ่งก็ไปลาออกทันที กลับไปทำไร่นาอยู่ที่บ้าน
อีกคนหนึ่งก็ยังคงทำงานต่อไป วันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว
สิบปีให้หลัง คนที่กลับไปทำไร่นา ใช้วิทยาการยุคใหม่ บวกกับความตั้งใจ
อย่างมุ่งมั่น กลายเป็นเกษตรกรมืออาชีพและมีชื่อเสียง

อีกคนที่ยังทำงานอยู่ที่บริษัท พยายามใช้ความอดทน 
ตั้งหน้าตั้งตาทำงานต่อด้วยความมุ่งมั่น ก็ค่อยๆได้รับความสนใจจาก
เจ้านาย ในที่สุดก็ได้กลายเป็นผู้จัดการของบริษัท

วันหนึ่ง เมื่อทั้งสองได้พบกันแล้ว คนที่เป็นเกษตรพูดว่า 
“แปลกนะ พระอาจารย์เพียงชี้แนะคำว่า ”ก็แค่ข้าวชามเดียว” ให้กับเราสองคนเหมือนกัน
คำห้าคำนี้ข้าฟังทีเดียวก็เข้าใจ ก็แค่ข้าวชามเดียว ถึงกับจะต้องอะไรนักหนา
ทำไมต้องไปนั่งทนอยู่ในบริษัทให้เขาโขกสับ ดังนั้นจึงคิดลาออก”
“ตอนนั้นทำไมเจ้าไม่ฟังคำของพระอาจารย์ล่ะ” เกษตรถาม

“ข้าฟังแล้ว คิดว่า อดทนอีกหน่อย เหนื่อยอีกหน่อย ก็เพื่อข้าวชามหนึ่ง
คนอื่นจะแกล้งอย่างไร ก็ไม่คิดโกรธ ไม่เกี่ยงงอน ก็ได้แล้ว
พระอาจารย์ไม่ได้ชี้แนะลักษณะนี้หรือ?”

ทั้งสองเก็บความสงสัยไปถามพระอาจารย์ พระอาจารย์ก็ชราภาพมากแล้ว
ท่านก็ยังคงปิดตานิ่งอยู่นาน ตอบมาอีกห้าคำเหมือนกัน
“แค่ความคิดช่วงหนึ่ง” แล้วก็โบกมือให้ออกไปได้

๗๕. สรรพสิ่งล้วนก่อเกิดขึ้นจากที่ใจ

พระอาจารย์และลูกศิษย์ขณะที่กำลังเดินทางไปในที่แห่งหนึ่งลูกศิษย์ซึ่ง
ต้องแบกสัมภาระและเครื่องใช้ต่างๆ เดินไปบ่นไป ว่าเหนื่อยและหนัก
เดินไปสักประเดี๋ยวก็บ่นว่าเหนื่อยและจะขอแวะพักบ่อยๆ

เมื่อเดินผ่านเข้าไปที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง พอดีมีสาวนางหนึ่ง เดินออกมาจากบ้าน
พระอาจารย์จึงเดินเข้าไปจับสองมือของสาวนางนั้น สาวนั้นตกใจร้องช่วยด้วย
เสียงดังลั่น คนในบ้านและชาวบ้านออกมาดู นึกว่าพระจะลวนลามหญิงสาว
จึงพากันถืออาวุธแล้วจะวิ่งไล่ตี พระอาจารย์จึงวิ่งหนี ส่วนลูกศิษย์ที่ถือสัมภาระ
อยู่ก็วิ่งหนีตามอย่างไม่คิดชีวิตเหมือนกัน เมื่อกะว่าชาวบ้านไม่ไล่ตามมาแล้ว
พระอาจารย์จึงหยุดพัก แล้วถามลูกศิษย์ว่า “ยังรู้สึกว่าหนักหรือเปล่า?”

ลูกศิษย์รู้สึกประหลาดใจ ที่เมื่อกี้ขณะที่เหตุการณ์ชุลมุน ทำไมถึงไม่รู้สึกว่า
เหนื่อยและรู้สึกว่าสัมภาระหนักเลย จึงได้เรียนรู้ขึ้นมาว่า
“ สรรพสิ่งล้วนก่อเกิดขึ้นมาจากที่ใจ ”

๗๖. หลักการของจักรยานทดน้ำ

พระอาจารย์ท่านหนึ่งขณะที่กำลังเดินทางไปโปรดญาติโยมตามที่ต่างๆ 
ขณะที่ผ่านที่แห่งหนึ่ง รู้สึกหิวน้ำจึงเดินตามหาแหล่งน้ำ บังเอิญเห็น
ชายหนุ่มคนหนึ่งกำลังปั่นจักรยานน้ำเพื่อทดน้ำเข้านา จึงขอน้ำดื่มจาก
ชายผู้นั้นเมื่อชายหนุ่มประเคนน้ำดื่มแล้ว พูดขึ้นด้วยความเลื่อมใสศรัทธาว่า 

“พระอาจารย์ครับ วันหนึ่งถ้าข้าพเจ้าปลงตกแล้วจะออกบวชศึกษาธรรมะเช่น
เดียวกับท่าน แต่ว่าเมื่อข้าพเจ้าออกบวชแล้ว จะไม่ออกเทศนาโปรดญาติโยม
ไปทั่วเหมือนเช่นท่าน ข้าพเจ้าจะหาที่ที่สงบวิเวก ตั้งหน้าตั้งตั้งตานั่งสมาธิ
วิปัสสนา ไม่ออกมาวุ่นวายกับโลกภายนอก”

พระอาจารย์อมยิ้มแล้วพูดขึ้นว่า “ แล้วเมื่อไหร่เจ้าถึงจะปลงตกได้ ?”

“ในหมู่บ้านนี้ คนรุ่นเดียวกับข้าพเจ้าก็มีข้าพเจ้าเพียงคนเดียวเท่านั้นที่
เข้าใจวิธีการของจักรยานน้ำที่ทดน้ำเข้านา ซึ่งคนทั้งหมู่บ้านก็ต้องอาศัย
แหล่งน้ำจากที่นี่ หากข้าพเจ้าสามารถหาคนที่มาทำงานแทนข้าพเจ้าได้
และเมื่อไม่มีภาระที่ต้องรับผิดชอบติดตัว ข้าพเจ้าก็สามารถหาทางออกให้
ตัวเองได้ เมื่อนั้นข้าพเจ้าก็จะสลัดทุกอย่างออกจากตัวแล้วออกบวช” ชายหนุ่มตอบ

“เจ้าเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องจักรยานน้ำมากที่สุด หากจักยานน้ำทั้งคันจมอยู่
ในน้ำ หรือรถทั้งคันพ้นจากน้ำ แล้วจะเป็นยังไง?”

“หลักการที่แท้จริงคือต้องให้ครึ่งหนึ่งของช่วงล่างจมอยู่ในน้ำ ครึ่งหนึ่ง
ของด้านบนทวนกระแสน้ำแล้วหมุน ถ้าให้จักรยานทั้งคันจมอยู่ในน้ำ ไม่
แต่ทำให้ไม่หมุนแล้ว ยังจะต้องถูกกระแสน้ำพัดพาไปทั้งคัน และใน
หลักการเดียวกัน ถ้าให้ทั้งหมดอยู่พ้นน้ำก็ไม่สามารถทดน้ำขึ้นมาได้”

พระอาจารย์กล่าวต่อว่า “ความเกี่ยวข้องของจักรยานน้ำกับกระแสน้ำก็
เหมือนกับความเกี่ยวพันของคนกับโลกของเรา หากคนๆหนึ่งอยู่ในโลก
มนุษย์ที่ยังอยู่ในเพศฆราวาส ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องถูกกระแสแห่งกิเลส
แบบโลกๆซัดพาไป และหากเข้ามาอยู่ในเพศบรรพชิต คิดจะใช้ชีวิตสูงส่ง
ใสสะอาดไม่ไปคลุกคลีไปมาหาสู่กับคนในโลก ก็จะทำให้ชีวิตล่องลอยไป
เหมือนขาดราก หมุนวนไปอย่างเปล่าประโยชน์ 

เพราะเหตุนี้คนที่จะปฏิบัติธรรม จะอยู่เป็นที่หรือจะออกไปโลกภายนอกก็ได้
ตามโอกาสจะต้องไม่เป็นผู้นิ่งดูดาย หรือเข้าไปทุ่มสุดตัว ต้องให้ทั้งฆราวาส
และบรรพชิตต่างฝ่ายต่างช่วยเหลือจุนเจือซึ่งกันและกัน นี่ถึงจะเป็นการกระทำ
ที่ถูกต้อง ทั้งต่อเพื่อนมนุษย์และต่อหน้าที่ที่ถูกต้องของผู้ออกบวชฝึกปฏิบัติธรรม

ดูคัมภีร์วันละคำ

วันหนึ่ง พระอาจารย์ท่านหนึ่งถามศิษย์ว่า “วันหนึ่งเจ้าดูคัมภีร์กี่เล่ม?”
“เจ็ดแปดเล่ม บางทีก็สิบเล่ม” ลูกศิษย์ตอบ
พระอาจารย์พูดว่า “เจ้าดูคัมภีร์ไม่เป็น”
ลูกศิษย์เลยถามว่า “แล้วอาจารย์ดูวันละกี่เล่ม?”
“วันหนึ่งดูหนึ่งคำ” อาจารย์ตอบ


คำพูดของอาจารย์ที่ว่าวันหนึ่งดูหนึ่งคำ คือจิต
จิตครอบคลุมสรรพสิ่ง จิตคือธรรมะ จิตก่อให้เกิดสรรพสิ่ง
จิตคือทุกอย่าง จิตคือพุทธะ

ดูตำราแม้จะมีประโยชน์ เข้าใจผิดไปกลับมีโทษ
ตำราอาจจะเป็นยา หรืออาจเป็นยาพิษ
การให้ยากับโรค ให้ถูกโรคหาย ให้ผิดอาจถึงตาย

ดังนั้น การอ่านคัมภีร์จะไม่ระมัดระวังไม่ได้
ตำราคัมภีร์มีเป็นพันๆเล่ม ไม่รู้จะเริ่มอ่านเล่มไหนก่อน
ธรรมะแปดหมื่นสี่พันข้อ สามารถเข้าถึงธรรมได้ทุกข้อ
เราอาจไม่รู้จะเริ่มที่ข้อไหนก่อน

แต่การดูจิตสามารถดูได้ทุกที่ทุกเวลา
จนมีผู้กล่าวว่า "ตู้พระไตรปิฎกก็อยู่ในจิตของเรานั่นเอง"

สะอาด

ครั้งหนึ่งมีการจัดการปฏิบัติธรรมเจ็ดวัน ที่วัดแห่งหนึ่ง
วันนั้นจะมีหัวข้อบรรยายธรรมเรื่อง “ สะอาด ”
ขณะที่พระอาจารย์กำลังเริ่มต้นจะบรรยายธรรม
มีเสียงคล้ายกับจะถามคำถามดังมาจากหมู่ผู้ปฏิบัติธรรม
พระอาจารย์จึงถามขึ้นว่า “ใคร ใครจะถามอะไร?”

ปรากฏว่ามีเด็กหญิงอายุประมาณ 12-13 ปี ยกมือขึ้นมาว่าจะถาม
พระอาจารย์จึงเรียกให้เด็กหญิงนั้นเดินมาข้างหน้า เด็กหญิงนั้นเดินมา
ข้างหน้าแล้วพนมมือ ไหว้พระอาจารย์ แล้วพูดว่า
“พระอาจารย์ ข้าพเจ้าอาบน้ำทุกวัน สะอาดมากพอแล้ว ทำไมยังต้องสะอาดอีก”

พระอาจารย์จึงชี้มือไปยังบริเวณด้านนอก แล้วบอกกับเด็กหญิงว่า
“แถวนั้นมีดอกกุหลาบแดงบานอยู่ สวยไม่สวย ชอบหรือไม่?”
“สวยเจ้าค่ะ ชอบค่ะ”
“งั้นไป ไปเด็ดมา”

เด็กหญิงนั้นไปเด็ดแล้วนำมาให้พระอาจารย์ พระอาจารย์หยิบมาแล้ว
ก็นำไปปักไว้ในแจกันที่ว่างใบหนึ่ง แล้วถามว่า

“แถวๆนั้นยังมีกุหลาบอีกมากมาย จะเด็ดมาให้หมดหรือเปล่า?”
“ไม่เด็ดเจ้าค่ะ” เด็กหญิงตอบ
“ทำไม” พระอาจารย์ถาม
“หากเด็ดจนหมด ดูแล้วด้วนๆ ไม่สวย ทำลายดอกไม้เยอะแยะอย่างนั้นทำไม?”

“ในแจกันปักดอกกุหลาบเพียงดอกเดียว ดูแล้วไม่ยิ่งน่าเกลียดไปกว่าหรือ?”
“ไม่เจ้าค่ะ หากเด็ดมาหมด ก็เป็นการโลภเกินไป”
“โลภ ไม่ดีหรอกหรือ” พระอาจารย์ถาม
“ไม่ดี ไม่สะอาด”

พระอาจารย์จึงตอบว่า “นั่นแหละ หากในจิตไม่โลภ ไม่หลง นั่นแหละ
คือ “สะอาด” เจ้าอยากจะมีจิตที่สะอาดไม่เปรอะเปื้อนหรือเปล่า?”
“อยากเจ้าค่ะ” เด็กหญิงตอบ

๗๗. หลักการให้การศึกษา

มีอุบาสกท่านหนึ่งเดินเล่นอยู่ในสวนดอกไม้ของวัดแห่งหนึ่ง เห็นพระอาจารย์
ท่านหนึ่งกำลังสาละวนอยู่กับการตัดแต่งกิ่งที่มีใบดกหนา สักประเดี๋ยวก็ถอนต้น
ขึ้นมาทั้งราก แล้วก็นำไปปลูกยังกระถางอื่น เดี๋ยวก็พรวนดินใส่ปุ๋ย ดูแล้ววุ่นวาย
ไม่น้อย

อุบาสกนั้นจึงถามขึ้นว่า “ท่านอาจารย์ ทำไมถึงตัดใบดีๆทิ้ง แล้วที่เหี่ยวแห้งถึง
รดน้ำใส่ปุ๋ย แล้วบางต้นก็ดูดีๆอยู่ แต่ท่านก็ถอนขึ้นมาแล้วนำไปปลูกในอีกกระ
ถางหนึ่ง และที่ไม่มีพืชก็เห็นท่านใช้จอบพรวนดิน สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องทำหรือ?”

พระอาจารย์ตอบว่า “การดูแลต้นไม้ใบหญ้า ก็เหมือนกับการให้ความรู้แก่ศิษย์
ศิษย์ต้องการความรู้อย่างไร ต้นไม้ก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างนั้น”
“ต้นไม้ใบหญ้าจะนำมาเปรียบเทียบกับคนได้อย่างไร?” อุบาสกนั้นถาม

“การดูแลต้นไม้กับการให้ความรู้กับคนมีหลายที่ที่เหมือนกันคือ

ข้อหนึ่ง ต้นไม้ที่มองดูขึ้นอย่างหนาแน่นแต่ก็ขึ้นอย่างเบียดเสียด และมักมี
เถาวัลย์มาพันเกาะ จึงจำเป็นต้องตัดตกแต่งกิ่งให้น้อยลง เพื่อจะได้ไม่ต้อง
ถูกแย่งสารอาหาร เมื่อต้นนั้นออกดอกจะได้ดอกที่สวยงามและสมบูรณ์
ก็เหมือนกับการลิดรอนเอาความมุทะลุวู่วาม ความเคยชินที่ไม่ดีออกเสียบ้าง
ก็ทำให้เขาได้เดินมาสู่หนทางอันดีงาม

ข้อสองการย้ายต้นขึ้นไปปลูกในกระถางอื่น ก็เพื่อให้พืชได้แยกออกไปจากดิน
ที่ไม่อุดมสมบูรณ์ให้ได้รับดินดี ก็เหมือนกับการให้คนคนหนึ่งออกไปจากสิ่ง
แวดล้อมที่ไม่ดี ไปสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ที่มีอาจารย์ดีและกัลยาณมิตรที่ดี เพื่อจะ
ได้เพิ่มพูนความรู้ให้ยิ่งๆขึ้นไป

ข้อสาม การดูแลต้นไม้ที่ใกล้จะเหี่ยวเฉาที่มองดูเหมือนใกล้ตายให้มากเป็นพิเศษ
เพราะ โดยเนื้อแท้ของมันยังมีโอกาสรอดอีกมากมาย และอย่าไปนึกว่าศิษย์ที่ไม่
ดี จะไม่มียาขนานใดมาเยียวยาได้ เลยปล่อยละเลยไปไม่เหลียวแล ต้องรู้ว่า
โดยเนื้อแท้ธรรมชาติดั้งเดิมของคนเราเป็นจิตที่บริสุทธิ์ เพียงแค่ขอมีจิตที่จะโอบ
อุ้มและดูแลให้ถูกวิธี ที่สุดก็จะกลับกลายเป็นคนดีได้

ข้อสี่ การที่ต้องคอยพรวนดิน เพราะในดินยังมีเมล็ดพันธุ์พืชที่คอยจะแตก
หน่อขึ้นมา ก็เหมือนกับศิษย์ที่ยากจนแต่มีใจคิดใฝ่ก้าวหน้า หากเรายื่นมือ
เข้าไปช่วยอีกแรง ก็จะทำให้เขามีโอกาสที่ก้าวเดินไปข้างหน้าได้”

ความมีหน้ามีตาและชื่อเสียง

มีพระอาจารย์ท่านหนึ่ง เมื่อย่างเข้าสู่วัยชรา จึงคิดจะหาผู้สืบทอด
เป็นเจ้าอาวาสต่อไป วันหนึ่งพูดกับศิษย์สองคนซึ่งหมายตาไว้แล้วว่า
จะให้คนใดคนหนึ่งเป็นผู้สืบทอดต่อไป
ศิษย์คนหนึ่งชื่อว่าฮุ่ยหมิง อีกคนหนึ่งชื่อว่าเฉิงเหยียน

“พวกเจ้าสองคนหากใครมีความสามารถปีนจากหน้าผาของหลังวัด
ขึ้นไปข้างบนได้ คนนั้นจะได้เป็นเจ้าอาวาสต่อไป”

ศิษย์ทั้งสองจึงเดินไปที่หน้าผา หน้าผานั้นสูงชันและมีแง่งหิน
ขรุขระตลอดทั้งหน้าผา ฮุ่ยหมิงซึ่งมีร่างกายที่แข็งแรงกว่า มีความมั่นใจ
ในตัวเองอย่างเต็มเปี่ยม แต่ก็ปีนขึ้นไปได้ไม่นาน ก็ลื่นตกลงมา

เขาจึงเพิ่มความระมัดระวังในการปีนมากขึ้น แต่ที่สุดก็ลื่นไหลตกลงมาอีก
แต่ไม่ว่าจะตกลงมาจนบอบช้ำไปหมด แต่เขาก็ไม่ท้อแท้ แม้จะตกลงมาอีก
หลายครั้ง แต่ที่สุดเขาก็รวบรวมพลังที่มีอยู่ปีนขึ้นไป แต่เมื่อปีนได้ครึ่งทาง
ก็รู้สึกหมดแรง และบริเวณนั้นก็ไม่มีที่ที่จะให้หยุดพักได้ ที่สุดก็พลัดตกลงมาอีก
คราวนี้ตกลงมา ศีรษะกระแทกถูกก้อนหิน จนสลบแน่นิ่งไป

ฝ่ายเฉิงเหยียน ขณะที่เริ่มต้นก็เหมือนกับฮุ่ยหมิง พยายามใช้แรงอย่าง
มากมายในการปีน แต่ก็ต้องปีนแล้วลื่นไหลลงมาหลายครั้ง ครั้งหนึ่งขณะที่
ปีนอยู่กลางหน้าผาแล้วมองลงไปข้างล่าง แล้วก็ตัดสินใจลงมาที่ด้านล่าง 
ปัดเสื้อผ้าที่เลอะดินทรายออก แล้วเดินไปที่ลำธาร แล้วเดินทวนกระแสน้ำขึ้นไป 
ผ่านป่าเขา แล้วไม่ต้องเปลืองแรงแต่อย่างใด ก็ไปถึงยอดเขาได้

เมื่อเขาเดินมาหาพระอาจารย์ ทุกคนก็นึกว่าจะต้องถูกพระอาจารย์ต่อว่าอย่างแรง
ว่ารักตัวกลัวตาย ใจไม่กล้าแล้วยังอ่อนแอ แล้วก็ถูกขับไล่ออกจากสำนักไป
แต่พระอาจารย์กลับพูดว่าให้ เฉิงเหยียนดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสต่อไป

ทุกคนต่างมองหน้ากันไปมา ไม่เข้าใจความหมายว่าเพราะอะไร
เฉิงเหยียนเลยอธิบายให้ศิษย์ร่วมสำนักฟังว่า หน้าผาที่อยู่หลังวัดไม่สามารถ
จะปีนขึ้นไปได้ แต่เมื่อมองจากกลางหน้าผา ก็จะเห็นทางเล็กๆที่จะเดินขึ้นไปได้
พระอาจารย์มักพูดบ่อยๆว่า “ผู้มีปัญญาจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพ
แวดล้อม ผู้รู้จะเดินเกมไปตามเหตุ” นี่เป็นการสอนให้พวกเรารู้จักยืดหยุ่นและ
เปลี่ยนแปลงได้ไปตามเหตุการณ์เฉพาะหน้า

พระอาจารย์พยักหน้าด้วยความพอใจพูดว่า “หากเป็นผู้อยากได้หน้าอยากได้ชื่อ
ในจิตก็จะมีแต่ทางตันของหน้าผา ฟ้าไม่ได้วางกรงขังไว้ 
แต่จิตเราสร้างกรงขังไว้เอง ในกรงขังแห่งความอยากมีชื่อเสียง 
แย่งชิงกันอย่างลำบากยากเย็น อย่างเบาก็แค่เกิดความทุกข์กังวล 
อย่างหนักอาจจะต้องบาดเจ็บ และอย่างหนักอาจจะต้องร่วงหล่นลงจนร่างเละ” 

หลังจากนั้นพระอาจารย์ก็ให้บาตรและจีวรแก่เฉิงเหยียน และพูดกับทุกคนว่า
“การปีนหน้าผา เป็นการทดสอบสภาพจิตของพวกเจ้า ไม่ให้หลง-วนเข้าไปอยู่ใน
ตาข่ายแห่งชื่อเสียงเกียรติยศ ในจิตที่ไม่กังวลสิ่งใด สามารถเดินไปตามครรลอง
ที่เป็นไปได้ คือคนที่ข้าปรารถนา"

๗๘. อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์

มีพระอาจารย์ท่านหนึ่ง สร้างวัดใกล้ๆกับสำนักของท่านนักพรตท่านหนึ่ง
นักพรตท่านนั้นไม่ต้องการให้เขตละแวกนั้นมีวัด เลยเสกเวทย์มนต์คาถา
ใช้เหล่าภูติผีปีศาจมารังควานภิกษุที่อยู่ในวัดอยู่เนืองๆ เพื่อให้ภิกษุเหล่านั้น
หวาดกลัวไม่กล้าที่จะอยู่ที่วัดนี้อีกต่อไป ไม่นานเหล่าพระและสามเณรล้วน
หวาดกลัวและย้ายหนีกันไปหมด เหลือแต่พระอาจารย์อยู่ที่วัดนี้เพียงผู้เดียว
ถึงสิบกว่าปี

ที่สุดเวทย์มนต์คาถาของนักพรตท่านนั้นถูกนำมาใช้จนหมดสิ้น พระอาจารย์
ก็ยังไม่ยอมย้ายไปไหน นักพรตรู้สึกหมดหนทางที่จะต่อกรด้วยแล้วจึงย้ายหนีไปเอง

หลังจากนั้นมีผู้ถามพระอาจารย์ว่า นักพรตมีวิชาคาถาอาคมแก่กล้า ท่านชนะเขา
ได้อย่างไร? พระอาจารย์ตอบว่า อาตมาไม่มีอะไรที่จะชนะพวกเขาได้ แต่ถ้าหาก
จะให้พูดจริงๆแล้ว มีเพียงคำเดียวว่า “ไม่มี” ซึ่งพวกเขาเปรียบเทียบไม่ได้”

“คำว่า “ไม่มี” จะไปชนะเขาได้อย่างไร?”

“พวกเขามีเวทย์มนต์คาถา ในขณะเดียวกันเวทมนต์เหล่านั้นมี จำกัด มีสิ้นสุด 
มีประมาณ มีขอบเขต แต่ของอาตมา ไม่มีคาถา แต่ไม่มีจำกัด ไม่มีสิ้นสุด
ไม่มีประมาณ ไม่มีขอบเขต อาตมาไม่ต้องใช้อะไรย่อมจะต้องชนะสิ่งที่ต้องใช้อะไร”

รู้จักตัวเอง

คนเรา มองเห็นโลก เห็นสรรพสิ่ง เห็นผู้อื่น แต่ไม่เห็นตนเอง
คนเรารู้จักแบ่งแยก รู้จักผู้อื่น รู้จักสิ่งต่างๆ แต่ไม่รู้จักตนเอง

คนเรามองเห็นความผิดพลาดของผู้อื่น เห็นปมด้อยของผู้อื่น
เห็นความโลภของผู้อื่น แต่ไม่เห็นความตระหนี่ของตนเอง
เห็นความคิดไม่ดีของผู้อื่น แต่ไม่เห็นความเขลาของตนเอง

คนเราสามารถรู้เรื่องราวของโลก ของประวัติศาสตร์ ของสังคม
รู้จักญาติพี่น้อง แต่ไม่รู้จักตนเอง

คนเราถ้ามองในกระจก จะเห็นหน้าตาของตนเอง เห็นความหล่อ
ความงามความอัปลักษณ์ แต่มองไม่เห็นในจิตของตนเอง

หากมีกระจกบานหนึ่ง สามารถเห็นจิตตนเองได้ ความโลภ โกรธ หลง
อิจฉาริษยา ความเห็นแก่ตัว ความคับแค้น คงจะมีหน้าตาอัปลักษณ์จนสุดทน

ในทางธรรม มักจะมีคำพูดที่กล่าวว่า “รู้จักโฉมหน้าดั้งเดิมของตนเอง”
แล้วใครล่ะจะรู้จักโฉมหน้าที่แท้จริงของตนเองจริงๆ

มีคนไม่น้อยที่คอยแต่จะจ้องมองส่วนได้ส่วนเสีย ความสำเร็จความผิดหวัง
ของผู้อื่น คอยต่อว่าผู้อื่นด้อยคุณธรรมด้อยการศึกษา

แต่ลืมใส่ใจในความคิดของตนเอง ความรับผิดชอบ การดำรงชีวิต
หากไม่รู้จักตนเองและดิ้นรนสับสนไปตลอดชีวิต ไม่ประสบความสำเร็จ
อะไรสักอย่าง ก็คงจะเป็นที่น่าเสียดายจริงๆ
สิ่งที่น่าเศร้าที่สุดในโลกคือ ไม่สามารถรู้จักตนเอง คนที่ไม่รู้จักตนเอง
ก็ยากที่จะเข้าใจความจริง ยากที่จะได้รับรู้สิ่งดีๆ เป็นเหตุให้เกิดอุปสรรค
ที่จะเกิดปัญญาในทางธรรม 

การปฏิบัติธรรมก็เป็นการเปิดจิตของตนเอง
เปิดหน้าการของตนเองออก แยกแยะและวิเคราะห์ตนเองอย่าง
ตรงไปตรงมา เพื่อให้รู้จักตนเอง

การรู้จักตนเองเป็นบทเรียนบทใหญ่ที่สุดในชีวิต ไม่อาจที่จะละเลย
และนิ่งดูดายได้

ที่มา จากอินเตอร์เน็ต

ขอชี้แจงกับผู้อ่านและผู้ที่นำนิทานเซนไปลงเว็บอื่นว่า
นิทานเซนจะมีหมายเลขเรียงลำดับทุกเรื่อง
ที่ไม่ได้ลงหมายเลขไว้ เป็นเรื่องที่แปลมาจากผู้อ่านในเว็บของนิกายเซน
ไม่ใช่นิทานเซนค่ะ 

๗๙. ปล่อยวางลง ! แล้วเราจะฉุดช่วยเจ้า

ครั้งหนึ่งมีชายผู้หนึ่งมีธุระจำเป็นต้องออกไปทำกิจที่ต่างเมือง ระหว่างทาง
ต้องขึ้นเขาลงห้วยอยู่หลายครั้ง ได้รับความลำบากไม่น้อย วันหนึ่งขณะที่กำลัง
ผ่านหน้าผาที่สูงชันและคับแคบ ไม่ทันได้ระวังตัวก็ตกลงไปในเหว ขณะที่คิดว่า
ตัวเองต้องตายแน่นอนแล้ว บังเอิญมือไปคว้าเถาวัลย์แถวนั้นเอาไว้ได้ แม้ว่าจะยังไม่ตาย
 แต่ก็ต้องห้อยโตงเตงอยู่กลางเหวนั้น จะขึ้นก็ไม่ได้ หรือจะลงก็ไม่ได้อีก 

ขณะที่ลังเลตัดสินใจไม่ถูกอยู่นั้น ก็ได้เห็นพระอมิตพุทธ ประทับยืนอยู่ที่เหวนั้น
ท่านมองมาที่ชายผู้นั้นอย่างเมตตาและปรานี ชายผู้นั้นจึงพูดขึ้นว่า

“ท่านอมิตพุทธผู้เปี่ยมด้วยความเมตตาและปรานี โปรดช่วยข้าพเจ้าด้วยเถิด”
“ข้าจะช่วยท่านก็ได้ แต่ท่านจะต้องฟังคำที่ข้าพูด ถึงจะช่วยเจ้าขึ้นไปได้”
“มาถึงขั้นนี้แล้ว ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อฟังคำที่ท่านพูดได้อย่างไร? ไม่ว่าท่านจะ
พูดว่ากระไร ข้าพเจ้าก็จะฟังท่านทุกคำ”ชายคนนั้นกล่าว
“ดีแล้ว ถ้าอย่างนั้นเจ้าจงปล่อยมือของเจ้าที่จับเถาวัลย์เสีย”

ชายคนนั้นได้ฟังแล้วคิดในใจว่า “ถ้าเพียงแค่ปล่อยมือ ก็ต้องตกลงไปในเหว
ลึกนั้นแน่ แล้วเมื่อตกลงไปแล้วกระดูกคงจะแหลกเหลวไม่มีชิ้นดี แล้วจะรักษา
ชีวิตให้รอดได้อย่างไร?”

ดังนั้นชายคนนั้นจึงจับเถาวัลย์ไม่ยอมปล่อย พระอมิตพุทธเห็นชายผู้นั้น
ยังยึดมั่นถือมั่น ไม่ยอมปล่อยวาง และยังหลงอยู่ในวังวนแห่งความไม่รู้ 
จึงได้แต่แยกจากไป

๘๐ เขียนตรงกับเขียนกลับหัว

มีสามเณรท่านหนึ่งถามพระอาจารย์ว่า ท่านเคยบอกว่า “การปฏิบัติธรรม
ต้องมีจิตที่จะฉุดช่วยผู้คน และถ้าหากเป็นคนชั่ว ที่ประพฤติชั่วจนผิดมนุษย์
ยังจะต้องฉุดช่วยเขาอีกหรือเปล่า?”

พระอาจารย์ไม่ตอบแต่หยิบกระดาษมาเขียนคำว่า “ข้า” แต่เขียนกลับหัวไป
อยู่ด้านล่าง แล้วถามศิษย์ว่า “นี่คือตัวอะไร?”
สามเณรตอบว่า “เป็นตัวหนังสือ”
“อ่านว่าอะไร?”พระอาจารย์ถาม
อ่านว่า “ข้า” สามเณรตอบ
“คำว่า “ข้า” เขียนกลับหัว ยังนับว่าเป็นตัวหนังสือหรือเปล่า?”
“ไม่นับ” สามเณรตอบ
“เมื่อไม่นับว่าเป็นตัวหนังสือ ทำไมเจ้าถึงบอกว่าเป็นคำว่า “ข้า”
“นับ นับ “สามเณรรีบเปลี่ยนคำ 
“เมื่อนับว่าเป็นตัวหนังสือทำไมเจ้าถึงบอกว่าเขียนกลับหัว”

เมื่อสามเณรตอบไม่ได้ พระอาจารย์จึงพูดต่อว่า “เมื่อเขียนให้ถูกก็เป็นตัว
หนังสือ เขียนกลับหัวก็เป็นตัวหนังสือ และเจ้ายังบอกว่าเป็นคำว่า “ข้า” 
แล้วยังบอกว่านั่นเป็นการเขียนกลับหัวกลับหาง เป็นเพราะในใจของเจ้า
รู้ว่าคำนั้นคือคำว่า “ข้า” 

ด้วยเหตุผลเดียวกัน คนดีก็เป็นคน คนชั่วก็เป็นคน สิ่งสำคัญที่สุดคือ
เจ้าจะต้องเข้าใจถึงธรรมชาติของจิตเดิมแท้ เมื่อเวลาที่เจ้าพบกับคนชั่ว
เจ้าต้องเห็นจิตเดิมแท้ของเขาด้วย ทำให้เขาสามารถเข้าใจถึงจิตของเขา
ก็จะฉุดช่วยเขาได้ไม่ยาก

อวิชชาปรุงแต่งจนเกิดความกลัว

ชายหนุ่มคนหนึ่งคิดจะปลีกวิเวกที่ในป่า เมื่อถึงยามค่ำคืนที่เงียบสงัด
ก็คิดจะนั่งวิปัสสนากรรมฐาน ขณะที่จะนั่งอยู่นั้น ได้ยินเสียงผิดปกติขึ้น
เสียงที่ได้ยินมาจากรอบทิศนั้นเหมือนเสียงผีและเสียงสุนัขจิ้งจอกเห่าหอน
เขารู้สึกขนลุกซู่ขึ้นมาทันที แต่ก็ได้แต่อดทนข่มความกลัวไว้ สักครู่ก็ได้ยิน
เหมือนกับมีเสียงพูดพึมพำๆไม่ได้ศัพท์ เหมือนกับวิญญาณผีดิบจะมาเอาชีวิต
วินาทีนั้นเขารู้สึกทนไม่ไหวต่อไปแล้ว รีบท่องบทสวดในคัมภีร์จินกัง
สวดไปสวดไปจนถึงยามดึกเมื่อรู้สึกเพลียจึงคิดจะเข้านอน

พอถึงวันรุ่งขึ้นจึงได้รีบลงจากเขาไป ขณะที่เดินไปก็คิดในใจว่า
“ข้ามิใช่จะมาบำเพ็ญภาวนาหรือ? ทำไมความกลัวแค่นี้จะสยบลงไม่ได้
แล้วจะหลุดพ้นจากวัฏสงสารได้อย่างไร?”

ขณะที่ลังเลอยู่นั้น ก็ได้พบกับชายตัดฟืนคนหนึ่ง จึงถามขึ้นว่า
“เจ้าอาศัยอยู่ในป่านี้หรือ?”
“ข้าเกิดที่นี่ เมื่อโตขึ้นก็หาเลี้ยงชีพด้วยการตัดฟืน”
“แล้วเจ้าไม่กลัวหรอกหรือ?”
ชายตัดฟืนหัวเราะแล้วพูดว่า 
“เหมือนกับคนที่อยู่ใกล้ทะเล ยังจะกลัวทะเลหรอกหรือ?”
ชายตัดฟืนพูดจบแล้วก็เดินจากไป 

ชายหนุ่มนั้นเดินต่อไปพลางคิดไปพลาง คนตัดฟืนไม่กลัว เพราะเขาเกิดในป่า
แล้วก็ไม่เกี่ยวกับการบำเพ็ญภาวนา ขณะที่คิดเพลินอยู่นั้นไม่ทันระวังได้เดิน
ชนกับนายพรานร่างกำยำคนหนึ่ง ชายหนุ่มนั้นรีบขอโทษ แล้วถามขึ้นว่า
“ท่านมีอาชีพล่าสัตว์หรือ?”
“ข้าล่าสัตว์มายี่สิบสามสิบปีแล้ว”
“ท่านล่าสัตว์เวลาไหน?”
“ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเวลากลางคืน”
“เวลากลางคืนแล้วท่านไม่กลัวหรอกหรือ?” ชายหนุ่มถาม
“น่าขัน ถ้าหากปอดแหกอย่างนั้นแล้วจะเลี้ยงชีพด้วยการล่าสัตว์ได้อย่างไร?” 
พูดเสร็จแล้วนายพรานก็เดินจากไป

และชายหนุ่มนั้นก็หาข้ออ้างให้กับตนเองว่า “นายพรานนั้นเคยชินกับ
ล่าสัตว์ในเวลากลางคืน และไม่เกี่ยวกับการบำเพ็ญภาวนา ขณะที่จะ
เดินต่อไป ก็พบกับสตรีวัยกลางคนคนหนึ่ง เลยเข้าไปถามว่า
“ขอถามท่านพี่หน่อยว่า ทำไมถึงได้ขึ้นเขาตามลำพังแต่เพียงผู้เดียว”
“ข้าขึ้นเขาเพื่อมาส่งเสบียงและเสื้อผ้าให้กับสามี”
“ไม่ไกลจากที่นี่หรอกหรือ” ชายหนุ่มถาม
“ไกลมาก ต้องเดินอีกสองสามวันถึงจะถึง”
“แล้วกลางคืนท่านพักอยู่ที่ไหน?”
“ค่ำไหนก็นอนนั่น” หญิงนั้นตอบ
“ท่านไม่กลัวเสียงผีร้องกลางคืนหรอกหรือ?” ชายหนุ่มถาม

“กลัวแต่คนที่จะมาปองร้ายเท่านั้น กลัวอะไรกับผีเร่ร่อน
ดูท่านก็แต่งตัวยังกับบัณฑิต หรือว่าท่านไม่รู้ว่า คนเราตายแล้วก็กลายเป็นผี
คนกับผีแม้จะแตกต่าง แต่เมื่อดั้งเดิมแล้วมีอะไรแตกต่างหรือ? 
ในวัฏสงสารมีภพไหนที่ไม่ใช่คนวนเวียนอยู่ในนั้น 
แล้วคนที่ประพฤติตนเป็นคนดี
ไหนเลยจะต้องกลัวว่าผีเร่ร่อนเหล่านั้นจะมาเอาชีวิต

โบราณท่านว่า “ผู้ที่มีคุณธรรมสูง แม้แต่ผียังเลื่อมใส” 
ผีและเทพมีแต่จะคุ้มครองผู้ที่ประพฤติดี 
มีหรือจะมาทำร้ายคนที่มีคุณธรรม” 
หญิงนั้นพูดจบแล้วก็เดินจากไป

หลังจากฟังคำกล่าวของหญิงนั้น ชายหนุ่มนั้นได้คิด หยุดปรุงแต่งให้จิตกลัวอีก
เขาตัดสินใจบำเพ็ญภาวนาต่อที่กระท่อมกลางป่า

มุ่งมั่นที่จะเดินต่อไป

ทางเดินแห่งชีวิต บางช่วงขรุขระ บางครั้งราบเรียบ
ยามล้มลุกคลุกคลาน ต้องลุกขึ้นมา
ยามสะดวกราบรื่น ต้องระวัง

ตลอดทางเดิน
บางครั้งเจอพายุ เจอฝนกระหน่ำ
บางครั้งเจอลมและคลื่นที่เรียบสงบ

ไม่ว่าจะเป็นสภาพที่เป็นไปธรรมชาติ หรือเป็นเพราะมนุษย์เป็นเหตุ
ให้รู้อยู่แก่ใจ เข้าใจด้วยตนเอง 

เหตุต้นผลกรรมทั้งหมด คอยแต่จะฝึกฝนเรา
เมื่อรู้ว่าผิดแล้วต้องตั้งใจแก้ แก้แล้วเริ่มต้นใหม่

รู้ได้มาจากสิ่งที่เคยหลง อริยะมาจากปุถุชน
ผู้อื่นทำผิดเป็นเรื่องของผู้อื่น ตนเองทำผิดตนเองต้องรับผิดชอบ
ควรจะเข้าให้ถึงแก่นแท้ของเหตุและผล รู้สำนึกให้ทันท่วงที

ถ้าเป็นเช่นนั้น
กรรมที่ตามสนอง เมื่อชดใช้หมดแล้วทุกข์ก็ย่อมทุเลา
ผลกรรมเมื่อสำนึกผิดได้แล้ว ความสะอาดและสงบย่อมเกิดขึ้นได้เอง

ก็จะเป็นอย่างคำกล่าวที่ว่า

ทันทีที่วางมีด(ที่หลงผิด)ลง ก็จะกลายเป็นพุทธะทันที

หนอนสามตัว

ในพุ่มไม้ใกล้ริมคลองแห่งหนึ่ง มีหนอนอยู่สามตัว
พวกมันคลานมาจากที่ไกลๆแห่งหนึ่ง ตั้งใจจะข้ามคลองแห่งนี้ไป
อีกฝั่งหนึ่งที่มีดอกไม้บานสะพรั่งอยู่ทั่วบริเวณ

ตัวที่หนึ่งพูดว่า “พวกเราต้องหาสะพานให้เจอก่อน ถึงจะคลานข้ามสะพานไป”
ตัวทีสองพูดว่า “บริเวณนี้เป็นที่รกร้างนอกเมือง ที่ไหนจะมีสะพาน?
พวกเราสร้างเรือคนละลำ แล้วลอยข้ามคลองไปดีกว่า”
ตัวที่สามพูดว่า “พวกเราเดินทางไกลมาไม่น้อยแล้ว รู้สึกเหนื่อยเต็มทีแล้ว
ควรจะพักที่นี่สักสองวันก่อน” 

หนอนอีกสองตัวประหลาดใจ พูดขึ้นว่า “พักก่อนหรือ? ตลกสิ้นดี
ไม่เห็นหรือว่าฝั่งนั้น มวลน้ำหวานและเกสรดอกไม้โดนผู้อื่นดูดหมดแล้ว
เราต่อสู้และผ่านอุปสรรคมาแล้วเท่าไหร่ เพียงเพื่อมานอนอยู่ตรงนี้หรือ?”

ขณะที่พูดยังไม่ทันขาดคำ ก็มีตัวหนอนคลานขึ้นไปบนต้นไม้
เตรียมตัวจะหาใบไม้ใบหนึ่งมาทำเป็นเรือ
อีกตัวหนึ่งก็คลานไปที่ทางเดินริมคลอง เพื่อจะหาสะพานข้ามไปฝั่งนั้น

ตัวที่เหลือนอนอยู่ใต้ร่มไม้ไม่ได้ขยับไปไหน คิดในใจว่า
“ดื่มน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ย่อมจะมีความสุขแน่นอน
แต่ลมเย็นๆที่ฝั่งนี้ก็น่าจะอยู่ชื่นชมอีกสักพัก” คิดแล้วก็ก็คลานขึ้น
ไปบนต้นไม้ที่สูงที่สุด ให้ใบที่เหมาะๆแล้วนอนเล่นอยู่ตรงนั้น

เสียงน้ำในลำธารกระทบหินทำให้เกิดเสียงแว่วแผ่วมาดั่งเสียงดนตรี
ใบไม้โดนลมอ่อนๆแกว่งไกวไปมาดั่งเปลน้อยของทารก
หนอนตัวนั้นนอนหลับไปอย่างมีความสุข

ไม่รู้เวลาล่วงเลยไปแล้วเท่าไหร่ และไม่รู้ว่าในความฝัน ตนเองฝันเห็น
อะไรบ้าง รู้แต่ว่า เมื่อรู้สึกตัวขึ้นมา เห็นตัวเองกลายเป็นผีเสื้อที่สวยงามตัวหนึ่ง

ปีกของมันสวยงามและบางเบา แค่กระพือปีกเบาๆ ก็บินข้ามไปฝั่งนั้นได้
ขณะนั้น ดอกไม้กำลังบานอย่างสวยงาม เกษรทุกดอกส่งกลิ่นและรสหอมหวาน
เวลานั้นมันคิดถึงเพื่อนอีกสองตัวขึ้นมา เลยบินวนหาจนรอบก็หาไม่เจอ
ที่แท้เพื่อนสองตัวนั้น ตัวหนึ่งถูกน้ำพัดพาหายไป อีกตัวหนึ่งเดินจนเหนื่อยตายไป

ในโลกนี้ ไม่มีพลังใดจะเกินไปกว่าพลังที่เป็นไปตามครรลองของธรรมชาติ

ไม่มีสิ่งใดจะน่าหลงใหลเท่าเนื้อแท้ๆของธรรมชาติ

แต่ที่น่าเศร้าคือ 
ความเป็นจริงเช่นนี้ ในสังคมแห่งการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น
ไม่ใช่ว่าทุกคนจะรับรู้ได้อย่างแท้จริง

๘๑ ออกมาจากใจ

ขณะที่พระอาจารย์สองท่านกำลังจะเดินทางไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง
พบหิมะขวางทางอยู่จึงไม่สามารถเดินข้ามไปได้ จึงได้พักแรมอยู่ข้างทางนั้น
พระอาจารย์ท่านแรกวันๆนั่งเล่นตามสบาย หรือไม่ก็นอนหลับไป
ส่วนพระอาจารย์ท่านที่สองก็เอาแต่นั่งสมาธิ

พระอาจารย์ท่านแรกตำหนิท่านที่สองว่าไม่สมควรวันๆเอาแต่นั่งสมาธิ
พระอาจารย์ท่านที่สองชี้ไปที่หน้าอกตัวเองแล้วพูดว่า

“ตรงนี้ของข้าพเจ้ายังไม่หนักแน่นมั่นคง คงไม่กล้าหลอกลวงตัวเองและ
หลอกลวงผู้อื่น ขอพูดตามความเป็นจริง ตั้งแต่บำเพ็ญภาวนามา จิตใจของ
ข้าพเจ้าก็ไม่ค่อยสงบมาตลอด”

“ถ้าหากเรื่องที่พูดเป็นความจริง ท่านลองเล่าเรื่องการภาวนามาให้ฟังทั้งหมด
ถ้าหากที่ถูกทาง ข้าพเจ้าจะรับรองให้ ถ้าที่ผิดทางจะช่วยชี้แนะให้”

พระอาจารย์ท่านที่สองจึงเล่าเรื่องการภาวนาที่ผ่านมาทั้งหมดให้ฟัง หลังจากฟัง
จนจบแล้ว พระอาจารย์ท่านที่หนึ่งจึงพูดว่า
“ท่านไม่เคยได้ยินหรือว่า สิ่งที่เข้ามาทางประตูไม่ใช่สิ่งล้ำค่าของที่บ้าน”

พระอาจารย์ท่านที่สองถามว่า “ต่อไปข้าพเจ้าควรทำอย่างไร?”

“ถ้าหากท่านต้องการเผยแพร่พระธรรม ไม่ว่าการพูดหรือการกระทำต้อง
เป็นสิ่งที่ออกมาจากใจ สามารถยืนหลักตั้งมั่นต้านทานสิ่งต่างๆได้

๘๒. สี่ทิศก็ล้วนเป็นภูเขา

ชายหนุ่มคนหนึ่งขณะที่อายุได้ 27 ปี ก็ละทิ้งตำแหน่งอำมาตย์เข้าสู่
ร่มกาสาวพัสตร์ไปเป็นศิษย์ของพระอาจารย์ท่านหนึ่ง 
พระอาจารย์มอบหน้าที่ดูแลสวนผักใกล้กับบริเวณวัด 
ฝึกปฏิบัติธรรมท่ามกลางการใช้แรงงานไปด้วย

วันหนึ่งมีพระในวัดรูปหนึ่งหลงนึกว่าตัวเองรู้แจ้งแล้ว 
สามารถลงจากเขาไปธุดงค์ท่องเที่ยวได้แล้ว 
เลยไปขออำลากับพระอาจารย์ เพราะการจะลงจากเขา 
ต้องให้พระอาจารย์อนุญาตเสียก่อน 

“สี่ทิศก็ล้วนแต่เป็นภูเขา เจ้าจะไปทางไหน?” พระอาจารย์ถาม
พระรูปนั้นไม่ทราบความหมายที่แฝงอยู่ในคำเหล่านั้น จึงหันหลังกลับวัดไป

ขณะที่เดินไปเรื่อยเปื่อยก็มาถึงแปลงผัก พระที่ดูแลสวนผักกำลังดายหญ้าอยู่เห็นหน้านิ่ว
คิ้วขมวดของศิษย์พี่จึงถามขึ้นว่า “ศิษย์พี่ ท่านทุกข์ร้อนด้วยเรื่องอันใด?”
ศิษย์พี่จึงเล่าเรื่องตั้งแต่เริ่มต้นให้ฟัง

พระดูแลสวนผักคิดได้ทันทีว่า “สี่ทิศล้วนเป็นภูเขาคือ “หนักและยากลำบาก ทุกหน
แห่งล้วนแต่เป็นอุปสรรค” พระอาจารย์ต้องการทดสอบถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจ
แต่ศิษย์พี่ไม่เข้าใจถึงคำชี้แนะ เลยพูดขึ้นมาว่า

“กอไผ่ถึงขึ้นมาหนาแน่นอย่างไร 
ก็ไม่อาจขวางน้ำมิให้เล็ดลอดผ่านไปได้
ภูเขาถึงสูงอย่างไร 
ก็มิอาจขวางก้อนเมฆให้ผ่านไปได้”

ศิษย์พี่ผู้นั้นนึกว่าคำตอบนี้ตอบพระอาจารย์แล้ว พระอาจารย์ต้องชมชอบ
แล้วอนุญาตให้ลงจากเขาได้เป็นแน่ แต่เมื่อพระอาจารย์ฟังแล้วชะงักสักครู่
ขมวดคิ้วแล้วจ้องมองตาเขม็งพลางพูดว่า “คำตอบนี้เจ้าไม่ได้คิดขึ้นมาเอง
ใครเป็นคนช่วยเจ้าคิด?”

พระรูปนั้นรู้ว่าพระอาจารย์รู้ความจริงแล้ว จึงเอ่ยถึงชื่อพระที่ดูแลสวนผัก
“พระที่ดูแลสวนผัก ต่อไปต้องมีดีแน่ เจ้าฝึกฝนต่อไปเถิด 
แม้พระรูปนั้นยังไม่ได้เอ่ยถึงว่าจะลงจากเขาเลย 
แล้วเจ้ายังจะลงจากเขาอีกหรือเปล่า?”

๘๓. ฟังเสียงไข่ไก่

ที่มณฑลเสฉวนมีครอบครัวแซ่หม่าอยู่ครอบครัวหนึ่ง หาเลี้ยงชีพด้วย
การทำกระด้งสำหรับฟัดข้าวมาหลายชั่วคนแล้ว เมื่อมาถึงรุ่นลูกที่ชื่อ 
“หม่าจู่” หม่าจู่เป็นผู้ที่มีหน้าตาและโหงวเฮ้งดี ผู้เป็นพ่อคิดว่าไม่สมควร
ให้ลูกที่มีลักษณะดีเช่นนี้ประกอบอาชีพเป็นช่างทำกระด้งต่อไปจึงพาไป
ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์เซนชื่อดังท่านหนึ่ง ยังอีกเมืองหนึ่ง

สองปีให้หลังท่านหม่าจู่ก็สามารถเข้าถึงธรรมได้ เลยคิดจะกลับไปที่บ้านเกิด
เพื่อเผยแพร่ธรรมะโปรดเพื่อนบ้านและญาติพี่น้อง เมื่อคนในหมู่บ้าน
ได้ข่าวว่ามีพระที่เข้าถึงธรรมชั้นสูงมาแสดงธรรม จึงสร้างเวทีไว้เพื่อแสดง
ธรรม พร้อมกับคอยชะเง้อว่าเมื่อไหร่พระท่านจะเดินทางมาถึง 

เมื่อพระรูปนั้นเดินทางมาถึง และทุกคนเห็นว่าเป็นลูกชายของช่างทำกระด้ง
ทุกคนก็ทำหน้าสงสัย และไม่เชื่อว่าท่านจะเข้าถึงธรรมชั้นสูง เลยพากันแยกย้าย
กลับไป ท่านหม่าจู่รู้สึกสังเวชใจจนรำพึงออกมาว่า “เรียนธรรมะไม่กลับบ้าน
กลับบ้านธรรมะไม่หอม”

ท่านเลยตัดสินใจจะไปเผยแพร่ธรรมะต่อที่อื่น ขณะที่กำลังจะเดินทางต่อ
ไปที่อื่น พี่สะใภ้ของเขาวิ่งมาขอให้เขาแสดงธรรมให้ฟัง ท่านหม่าจู่ไม่คิดว่า
พี่สะใภ้จะต้องการฟังธรรมจริงๆ จึงชี้ไปที่กองกะด้งแล้วพูดว่า 
“ตั้งใจประกอบอาชีพดั้งเดิมของเราดีกว่า อย่าหาเรื่องยุ่งยากเลย” 

แต่พี่สะใภ้ของเขายังยืนยันที่จะฟังธรรม เมื่อท่านหม่าจู่เห็นความตั้งใจจริงของ
พี่สะใภ้จึงพูดว่า “หยิบไข่มาแขวนไว้ ทุกๆเช้าและเย็นให้แนบหูไปฟังไว้ เมื่อไหร่
ที่ไข่นั้นมีเสียง เจ้าก็จะบรรลุธรรม” 

พี่สะใภ้ของเขาจึงปฏิบัติตามที่เขาสั่ง ฟังทุกวันเป็นเดือน เป็นปี แม้จะฟัง
อย่างไรไข่นั้นก็ไม่มีเสียง ชาวบ้านเห็นเช่นนั้นจึงพากันด่าว่าท่านหม่าจู่ปฏิบัติ
ธรรมนอกรีต สอนพี่สะใภ้ปฏิบัตินอกลู่นอกทาง แต่พี่สะใภ้ของเขาไม่สนใจ
เสียงซุบซิบของชาวบ้าน ยังคงปฏิบัติอย่างนั้นเรื่อยมา ไม่รู้เวลาผ่านไปกี่ปี
ขณะที่กำลังตั้งใจฟังอย่างแน่วแน่ พลันมีเสียงดัง “แผล่ะ” ไข่ไก่ที่แขวนไว้
หล่นลงมาแตก วินาทีนั้นพี่สะใภ้ของเขาก็รู้ธรรมระดับหนึ่ง
 
๘๔. จิตที่เคารพนบนอบ

มีชายหนุ่มคนหนึ่งก่อนที่จะได้มาปฏิบัติธรรม อยากจะเป็นนักแกะสลัก
พระพุทธรูปที่มีชื่อเสียง จึงได้ตั้งใจจะมาขอคำชี้แนะจากพระอาจารย์ท่าน
หนึ่ง เพื่อจะได้ทราบถึงเรื่องราวและรายละเอียดต่างๆของพระพุทธรูป

พระอาจารย์เมื่อพบเขาแล้วก็ไม่พูดอะไร เพียงแต่ให้เขาไปตักน้ำที่บ่อ
ขณะที่พระอาจารย์เห็นการกระทำต่างๆเมื่อเขาตักน้ำและเทน้ำออกมา
จึงตวาดออกมาด้วยเสียงดังลั่น และไล่เขาออกจากวัดไป ลูกศิษย์คนอื่นๆ
เห็นแล้วรู้สึกสงสารและเห็นใจ จึงช่วยกันขอร้องและวิงวอนให้เขาอยู่ค้าง
ที่วัดสักคืน แล้วพรุ่งนี้ค่อยให้เขาไป

กลางดึก มีผู้มาเรียกให้เขาไปพบกับพระอาจารย์ พระอาจารย์พูดขึ้นด้วย
เสียงอันอ่อนโยนว่า “บางทีเจ้าอาจจะไม่รู้ว่าเมื่อกลางวันเจ้าโดนด่าด้วย
เรื่องอะไร ตอนนี้จะเฉลยให้เจ้าฟัง พระพุทธรูปเป็นสิ่งที่ผู้คนเคารพและ
สักการบูชา ดังนั้นพระพุทธรูปที่ถูกผู้คนกราบไหว้ ผู้ที่จะแกะสลักจะต้อง
มีจิตที่เคารพนบนอบศรัทธาด้วยความจริงใจก่อน ถึงจะแกะพระพุทธรูป
ที่น่าเลื่อมใสศรัทธาออกมาได้ ตอนกลางวันข้าเห็นเจ้าตักน้ำหกรดออกมา
มากมาย แม้จะเป็นส่วนน้อย แต่ก็เป็นสิ่งที่สวรรค์ให้มา แต่เจ้าเหมือนกับ
ไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องเหล่านี้ คนที่ไม่รู้จักถนอมและปล่อยสิ่งต่างๆไปอย่าง
ไร้ประโยชน์ จะแกะสลักพระพุทธรูปที่ดีได้อย่างไร?”

ชายหนุ่มนั้นเมื่อได้คำชี้แนะจากพระอาจารย์รู้สึกซาบซึ้งและขอบพระคุณ
พระอาจารย์มาก และรู้สึกสำนึกถึงความผิดพลาดของตัวเอง จึงมาขอสมัคร
เป็นลูกศิษย์ และที่สุดก็กลายเป็นนักแกะสลักพระพุทธรูปทีมีชื่อเสียงคนหนึ่ง

นิทานเซนเป็นเพียงเรื่องเล่าบอกต่อกันมา
เขามีคัมภีร์และบทเรียนของเขาอีกต่างหาก 

๘๕. สรรพสิ่งกับข้าคือสิ่งเดียวกัน

ครั้งหนึ่งพระอาจารย์เซนท่านหนึ่งพนันกับลูกศิษย์ว่า ถ้าหากใคร
สามารถเปรียบเทียบตัวเองเป็นสิ่งที่ต่ำทรามที่สุด ก็จะเป็นผู้ชนะ

อาจารย์ : ข้าคือลาตัวหนึ่ง
ลูกศิษย์ : ข้าคือก้นของลา
อาจารย์ : ข้าคือขี้ที่อยู่ในก้นของลา
ลูกศิษย์ : ข้าคือหนอนในขี้ของลา

พระอาจารย์ไม่สามารถจะเปรียบเทียบต่อไปได้อีก จึงถามต่อว่า
“เจ้าทำอะไรอยู่ในขี้?”
“ข้าหลบร้อนรับความสบายอยู่ในนั้น” ลูกศิษย์ตอบ

สำหรับเราๆท่านๆ ที่ๆคิดว่าเป็นสถานที่สกปรกที่สุด 
แต่สำหรับชาวเซนแล้ว มักจะเป็นที่ที่อยู่ได้อย่างอิสระสบายๆ 
เพราะว่าจิตใจของพวกเขาสะอาดและสงบจน
ไม่อาจมีสิ่งใดเปรียบเทียบได้ ไม่มีราคีใดๆมาติดเกาะ
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นสถานที่ใด ก็เป็นดินแดนแห่งความสะอาดสงบ
อยู่ในสถานที่ใดก็สามารถหลุดพ้นได้

๘๖. สุนัขจิ้งจอกกับกระต่าย

ขณะที่ศิษย์และอาจารย์เดินทางไปที่แห่งหนึ่ง
เห็นสุนัขจิ้งจอกกำลังไล่ล่ากระต่ายอยู่
พระอาจารย์พูดขึ้นว่า “ในอดีตพูดต่อๆกันมาว่า
กระต่ายส่วนใหญ่ที่มีสติดีมักจะหนีสุนัขจิ้งจอกได้พ้น
ตัวนี้ก็ย่อมจะหนีพ้น”

“เป็นไปไม่ได้ สุนัขจิ้งจอกวิ่งเร็วกว่ากระต่าย” ลูกศิษย์ตอบ
“เดี๋ยวกระต่ายก็จะหลบหนีพ้นได้เอง” พระอาจารย์ยังยืนกรานว่าได้
“ท่านอาจารย์ ทำไมถึงยืนยันแน่นอนอย่างนี้”
“เพราะว่า สุนัขจิ้งจอกกำลังไล่ล่าอาหารมื้อเย็น 
แต่กระต่ายกำลังวิ่งหนีเอาชีวิต” พระอาจารย์ตอบ

เป็นที่น่าเสียดายว่า คนส่วนใหญ่ปล่อยให้เวลาผ่านไป
อย่างสุนัขจิ้งจอกล่ากระต่าย จนเวลาล่วงเลยถึงวัยกลางคน
อ่อนเปลี้ยเพลียแรงแล้วก็ทิ้งอาหารมื้อเย็นของตนเอง

แม้ว่าจะมีผู้วิ่งหาอาหารมื้อเย็นได้ ก็จะรู้สึกว่าต้องเสียค่าตอบแทน
อย่างมากมายถึงจะล่ากระต่ายมาได้สักตัว 
และก็จะรู้สึกหมดแรงอ่อนล้าคอตก

กิริยาท่าทางของผู้บำเพ็ญภาวนาไม่ควรจะให้
เป็นเหมือนกับสุขจิ้งจอกไล่ล่ากระต่าย
แต่ควรเป็นกระต่ายที่วิ่งหนีเอาชีวิต 

ควรจะหันกลับมาที่กายใจมุ่งไปข้างหน้า 
หากไม่ระวังแม้แต่นิดเดียว ก็จะต้องเสียชีวิตและ
เข้าไปอยู่ในปากของสุนัขจิ้งจอก

๘๗.ศีล สมาธิ ปัญญา ของสองสำนัก

หลังจากที่สังฆปรินายกองค์ที่ห้า ยกบาตรและจีวรให้แก่ท่านเว่ยหล่างแล้ว
ท่านชินเชาและศิษย์ร่วมสำนักกลุ่มหนึ่งมุ่งไปทางทิศเหนือสร้างสำนักขึ้นมาใหม่

หลังจากที่ท่านเว่ยหล่างหลบหนีจากการไล่ล่าผ่านไปถึง 15 ปีก็กลับมา
ตั้งสำนักใหม่อยู่ทางใต้

ครั้งหนึ่งท่านชินเชาได้ให้ภิกษุรูปหนึ่งมาฟังการบรรยายธรรมของท่านเว่ยหล่าง
เมื่อท่านเว่ยหล่างทราบแล้วจึงถามภิกษุรูปนั้นว่า
“อาจารย์ของท่านสอนลูกศิษย์ว่าอย่างไรบ้าง?”
“ท่านอาจารย์มักจะสอนเสมอว่า ขณะที่นั่งสมาธิต้องประสานพลังรวมเป็นหนึ่ง
วิปัสสนาสภาวะที่สะอาดและสงบ ต้องหมั่นนั่งสมาธิวิปัสสนา อย่านอนและพักผ่อน

ท่านเว่ยหล่างฟังแล้วพูดต่อว่า “การประสานพลังรวมเป็นหนึ่ง แล้ววิปัสสนา
ไม่ใช่การภาวนาที่แท้จริงของเซน แต่กลับเป็นจุดเสียของการภาวนาแบบเซน
เป็นการทรมานร่างกาย การนั่งสมาธิตลอดเวลาไม่นอน จะช่วยให้รู้จักหลักธรรม
ได้อย่างไร?”

แล้วท่านเว่ยหล่างก็ถามต่อว่า “ได้ยินมาว่า ท่านอาจารย์ของเจ้าสอนเรื่อง
ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่รู้ว่าเขาอธิบายความหมายของคำเหล่านั้นว่าอย่างไร?”

“การละเว้นจากการกระทำชั่วทั้งปวงคือ ศีล
การปฏิบัติแต่ความดีคือปัญญา การชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์เรียกว่า สมาธิ
แล้วไม่ทราบว่าท่านสอนลูกศิษย์ของท่านว่าอย่างไรบ้าง?

“ข้าไม่ได้มีวิธีการใดที่แน่นอนในการสอน แต่จะดูตามจริตและความสามารถ
แล้วก็ชี้แนะจุดบกพร่องเพียงเล็กน้อย ศีลสมาธิและปัญญาในการสอนของข้า
แตกต่างจากอาจารย์ของเจ้า” ท่านเว่ยหล่างตอบ
“คำสอนของอาจารย์เจ้าใช้สำหรับสั่งสอนแนะนำสานุศิษย์แห่งสำนักมหายาน
ส่วนคำสอนของข้าใช้สำหรับสอนสานุศิษย์แห่งสำนักสูงเลิศ

ความสามารถในการเรียนรู้ของคนเราต่างกัน ความไวในการรู้แจ้งก็ต่างกัน
การแสดงธรรมของข้าไม่เคยเหออกไปจากภาวะที่แท้แห่งจิต
รูปธรรมและสภาวธรรมทั้งหลายย่อมก่อเกิดมาจากภาวะที่แท้แห่งจิต
และทั้งหมดนั้นก็เป็นผลพวงมาจากการกระทำของจิตทั้งนั้น
นี่คือศีล สมาธิ ปัญญา ที่แท้จริง”

๘๘. ขอร้องให้ประตูและรองเท้าให้อภัย

ขณะที่พระอาจารย์ท่านหนึ่งกำลังนั่งสมาธิอยู่
มีชายคนหนึ่งผลักประตูเข้ามาอย่างแรง แล้วปิดประตูกลับไปอีก
แล้วเตะรองเท้ากระเด็นไปแล้วเปิดประตูเข้ามาอีก
พระอาจารย์พูดขึ้นว่า “รอเดี๋ยวไม่ต้องเข้ามาก่อน
ไปขอให้ประตูและรองเท้าให้อภัยเสียก่อน”

“ท่านพูดอะไร? ข้าเคยได้ยินมาว่า คนของนิกายเซนล้วนแต่เป็นคนบ้า
เมื่อก่อนเคยนึกว่านี่เป็นเพียงคำร่ำลือ คำพูดของท่านช่างน่าขัน
ทำไมข้าจะต้องไปขอให้ประตูและรองเท้าให้อภัย ใครจะรับได้
และรองเท้านั่นก็เป็นของข้าเอง”

“เจ้าออกไป แล้วไม่ต้องกลับมาอีก เจ้าบันดาลโทสะกับกับรองเท้าได้
แล้วทำไมจะขอร้องให้พวกมันให้อภัยไม่ได้ ตอนที่เจ้าโกรธ 
เจ้าไม่ได้คิดแม้แต่นิดเดียวว่าการระบายอารมณ์กับรองเท้าเป็นเรื่อง
ที่โง่เขลาที่สุด

หากเจ้าไปเกี่ยวเนื่องกับความโกรธได้ ทำไมไม่ไปเกี่ยวเนื่องกับความรัก
เกี่ยวเนื่องคือเกี่ยวเนื่อง ความโกรธเป็นความเกี่ยวเนื่อง
ขณะที่เจ้าปิดประตูด้วยความโกรธ เจ้าก็ไปเกี่ยวเนื่องด้วยกับประตู
การกระทำของเจ้าเป็นความผิดพลาด ไม่ใช่ทางแห่งคุณธรรม
ประตูบานนั้นไม่ได้ทำอะไรให้เจ้า เจ้าออกไปก่อน แล้วก็ไม่ต้องเข้ามา”

เหมือนดังสายฟ้าฟาดลงมา ชายผู้นั้นเข้าใจถึงความนัยของทั้งหมด

“หากเจ้าบันดาลโทสะได้ทำไมเจ้าไม่ไปรักล่ะ เจ้าออกไป”

แล้วชายคนนั้นก็ไปลูบๆประตู น้ำตาไหลนองหน้า เขาไม่สามารถกดข่ม
ไม่ให้น้ำตาไหลออกมาได้ เมื่อเขาคำนับขอขมารองเท้า เขารู้สึกถึง
การเปลี่ยนแปลงไปทั่วสรรพางค์กายของตนเอง

๘๙. ลมแปดทิศโหมมาไม่หวั่นไหว

ซูตงพอ เป็นอำมาตย์ใหญ่ และเป็นนักประพันธ์ชื่อดัง 
เขียนหนังสือไว้มากมายทั้งทางโลกและทางธรรม 
มีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่ว 

ซูตงพอ เป็นศิษย์ของพระอาจารย์เซนชื่อดังรูปหนึ่ง 
วันหนึ่งคิดจะแสดงว่าตนปฏิบัติถึงขั้นล้ำลึกแล้ว 
จึงเขียนเป็นโศลกว่า

ค้อมหัวคำนับฟ้าเหนือฟ้า
แสงเจิดจ้าสาดส่องเหล่าเวไนย
ลมแปดทิศโหมมาไม่หวั่นไหว
นั่งนิ่งในดอกบัวสีม่วงทอง

เขียนเสร็จแล้วให้คนรับใช้นำไปให้พระอาจารย์ 
พระอาจารย์อ่านแล้วก็เขียนใส่ด้านหลังโศลกว่า “ ผายลม “ 
( เป็นศัพท์สแลงแปลว่า เพ้อเจ้อ ไร้สาระ)

เมื่อ ซูตงพอ อ่านแล้ว ให้บันดาลโทสะยิ่งนัก 
นั่งเรือข้ามฟากไปหาพระอาจารย์ทันที 
พระอาจารย์รู้อยู่แล้วว่า ซูตงพอ ต้องมา จึงสั่งลูกศิษย์ไว้แล้วว่า 
วันนี้ไม่รับแขก ซูตงพอ ยิ่งเดือดดาลเพิ่มขึ้นไปอีก 
ถือวิสาสะเดินไปที่ห้องพักพระอาจารย์ 
ขณะที่กำลังจะยกมือขึ้นเคาะประตู 
เห็นกระดาษแผ่นหนึ่งติดไว้ที่หน้าประตูว่า

ลมแปดทิศโหมมาไม่หวั่นไหว
แต่ลมตดเดียวซัดท่านมาถึงนี่

ซูตงพอ เลยรู้สึกตัว และอดขบขันตัวเองไม่ได้ หลังจากนั้นจึงมีคำพังเพยมาจนถึงทุกวันนี้ว่า 

“ จงเอาเยี่ยง แต่อย่าเอาอย่าง ซูตงพอ “ 

เอาเยี่ยงที่ฝักใฝ่ธรรมะ แตกฉานอภิธรรม 
แต่อย่าเอาอย่างที่ การปฏิบัติยังไปไม่ถึงไหน

๙๐. ร้องไห้คร่ำครวญ

ขณะที่พระอาจารย์ท่านหนึ่งธุดงค์ผ่านบ้านของหญิงชราท่านหนึ่ง
สองสามวันที่ผ่านมาก็เห็นหญิงชรานั่งร้องไห้อยู่ทุกวัน จึงเข้าไปถามว่า
“ทำไมท่านถึงต้องร้องไห้ทุกวัน มีเรื่องทุกข์ร้อนอันใดหรือ?
ลองเล่าให้ฟังหน่อยซี เผื่อจะช่วยเหลืออะไรท่านได้”

หญิงชรานั้นเล่าให้ฟังว่า “ข้าพเจ้ามีลูกสาวสองคน ลูกสาวคนโตแต่งงาน
ไปกับคนขายรองเท้า ลูกสาวคนเล็กแต่งไปกับคนขายร่ม 

ขณะที่เป็นหน้าแล้งข้าพเจ้าก็คิดถึงลูกสาวคนเล็กต้องขายร่มไม่ได้แน่นอน 
ดังนั้นจึงรู้สึกปวดร้าวในใจ 

แล้วขณะที่ฝนตก ย่อมจะต้องไม่มีลูกค้าเข้ามาซื้อรองเท้า
เป็นแน่ คิดๆแล้วข้าพเจ้าก็อดร้องไห้ไม่ได้”

“ที่แท้ก็เป็นอย่างนี้นี่เอง เจ้าคิดอย่างนี้ไม่ถูกหรอก” พระอาจารย์กล่าว

“คนเป็นแม่เป็นห่วงลูกสาว ทำไมจะไม่ถูก? แม้ว่าจะรู้ตัวว่า เป็นห่วงไป
ก็ไม่มีประโยชน์ แต่ข้าพเจ้าก็ควบคุมตัวเองไม่ได้”

“เป็นห่วงลูกสาวนั้นไม่ผิดหรอก แต่เจ้าทำไมไม่คิดดีใจแทนลูกสาวเล่า
ลองคิดดู เวลาฝนไม่ตก ร้านรองเท้าของลูกสาวคนโต ย่อมจะต้องขายดิบขาย
ดี เวลาที่ฝนตก ร่มของลูกสาวคนเล็กย่อมจะต้องขายดีแน่นอน เจ้าควรจะ
ดีใจแทนพวกเขาทุกวันถึงจะถูก ทำไมถึงยังต้องเศร้าโศกอีก?”

หญิงชราได้ยินพระอาจารย์พูดอย่างนั้น รู้สึกโล่งใจและเข้าใจอะไรขึ้นมา
หลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นหน้าฝนหรือหน้าแล้ง หล่อนก็ยิ้มอย่างมีความสุขทุกวัน

รสชาติของกระบี่

ชายหนุ่มคนหนึ่งเป็นลูกชายของนักดาบชื่อดังท่านหนึ่ง
พ่อของเขามักจะตำหนิเขาเสมอว่า เขาฝึกฝนกระบี่ได้ไม่ดี
ไม่สามารถเข้าถึงวิถีทางแห่งกระบี่ชั้นยอดได้
แล้วตัดขาดความเป็นพ่อลูกกับเขา

ชายหนุ่มนั้นจึงเดินทางไปที่ภูเขาแห่งหนึ่ง
ซึ่งเป็นที่อยู่ของมือกระบี่ชื่อดังท่านหนึ่ง

นักกระบี่ชื่อดังพูดอย่างไม่มีเยื่อใยว่า 
“เจ้าไม่อาจทำตามจุดประสงค์ของข้าได้หรอก”

“หากข้าหมั่นตั้งใจฝึกฝน ต้องใช้เวลากี่ปีถึงจะกลายเป็นมือกระบี่ชั้นหนึ่งได้”
“ตามอายุของเจ้า”
“ข้ารอนานอย่างนั้นไม่ได้ เพียงแต่ท่านยอมสอนข้า ข้ายอมทนรับความลำบาก
ทุกอย่างเพื่อให้ถึงจุดหมาย และหากข้ายอมเป็นทาสรับใช้ จะต้องใช้เวลาเท่าไหร่?”

“อาจจะเป็นสิบปี” อาจารย์กระบี่ชื่อดังตอบ

“ท่านพ่อของข้าอายุมากแล้ว ไม่นานข้าคงต้องกลับไปดูแลปรนนิบัติท่าน
และหากข้าเพิ่มความมานะฝึกฝนให้มากยิ่งขึ้น ต้องใช้เวลาสักเท่าไหร่?”

“อืม อาจจะเป็นสามสิบปี”
“ท่านพูดอย่างนั้นได้ยังไง? เมื่อกี้ก็บอกว่าสิบปี ตอนนี้ก็บอกว่าสามสิบปี
ข้าไม่กลัวความลำบากอะไร แต่ต้องใช้เวลาที่สั้นที่สุดที่จะถึงสุดยอดเคล็ดวิชา”

“อืม ถ้าอย่างนั้น เจ้าคงต้องฝึกอีกเจ็ดสิบปีถึงจะได้ อย่างเจ้าเร่งรีบที่จะหวังผล
ส่วนใหญ่มักจะไปไม่ถึงจุดมุ่งหมาย”

ในที่สุด ชายหนุ่มนั้นก็เข้าใจแล้วว่า เป็นเพราะตนเองขาดความอดทนจึงถูกปฏิเสธ
จึงตอบว่า “ก็ได้ ข้ายอมทำตามแล้ว”

แต่อาจารย์นั้นก็ตั้งกฎไว้ว่า ห้ามพูดถึงเรื่องต่างๆของกระบี่ และห้ามแตะต้องถูก
ดาบทุกชนิด และให้ทำครัว ล้างจาน จัดที่นอน เก็บกวาดบ้านและทุกที่ทั่วบริเวณ
รวมทั้งดูแลสวนดอกไม้ด้วย แล้วก็ไม่เคยพูดถึงเรื่องการฝึกกระบี่เลย

สามปีผ่านไป ชายหนุ่มนั้นก็ยังคงทำงานหนักอยู่อย่างนั้น ทุกครั้งที่คิดถึง
อนาคตของตนเอง ก็รู้สึกเศร้าใจยิ่งนัก ที่เคยตั้งใจไว้จะฝึกกระบี่ให้ได้ดี
แต่ไม่เคยไม่เคยได้ฝึกเลยแม้แต่ครั้งเดียว

วันหนึ่ง ท่านอาจารย์ค่อยๆย่องไปทางด้านหลังเขา แล้วใช้กระบี่ไม้แทงเขา
อย่างแรงไปหนึ่งครั้ง

วันที่สอง ขณะที่ชายหนุ่มกำลังสาละวนอยู่กับการทำกับข้าว
ท่านอาจารย์ก็ย่องไปแทงด้านหลังอีก 

หลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน ชายหนุ่มนั้นจะต้องคอย
ระมัดระวังป้องกันไม่ให้ถูกแทง วันหนึ่งยี่สิบสี่ชั่วโมง หากไม่ระวังแม้แต่
วินาทีเดียว เขาก็จะได้ลิ้มรสชาติของการถูกแทง

แต่เขาก็ได้เรียนรู้เหตุผลของหลักการนี้ หลังจากที่เข้าใจแล้ว อาจารย์ก็ยอม
สอนวิชาให้ ที่สุดเขาก็ได้เป็นกระบี่มือหนึ่งแห่งยุคนั้น

๙๑. หนึ่งใกล้ หนึ่งไกล

พระเจี๋ยซานและพระติ้งซาน ขณะที่เดินทางไปธุระด้วยกัน
พระติ้งซานพูดขึ้นว่า “ ในวัฏสงสาร หากไม่มีพุทธะ ก็จะไม่มีเกิด-ตาย “

“ ในวัฏสงสาร มีพุทธะถึงจะไม่หลง วนอยู่ในวัฏสงสาร “ พระเจี๋ยซานค้าน
เมื่อความเห็นไม่ตรงกันจึงไปหาพระอาจารย์เพื่อตัดสิน 

พระอาจารย์เห็นทั้งสองเดินมาพร้อมกันจึงถามว่า 
“พวกเจ้ามาทำไม”
ทั้งสองจึงช่วยกันเล่าถึงความเห็นที่ไม่ตรงกัน และให้อาจารย์ตัดสินว่า ของผู้ใดใกล้เคียงหลักธรรมมากที่สุด อาจารย์หัวเราะเบาๆ พูดว่า 
“หนึ่งใกล้ หนึ่งไกล”
“ใครใกล้”
ทั้งสองถามขึ้นพร้อมกัน แต่พระอาจารย์ตอบว่า 
”วันนี้พวกเจ้ากลับไปก่อน พรุ่งนี้ค่อยมาใหม่”

วันรุ่งขึ้น เจี๋ยซานมาหาพระอาจารย์เพื่อฟังคำตอบ พระอาจารย์ตอบว่า
“คนใกล้ไม่ถาม คนถามไม่ใกล้”

อุปนิสัยปัจจัย

หวงถิงเจียน เป็นอำมาตย์และเป็นนักกลอน เขียนบทกลอนและบทความไว้มากมาย 
ศรัทธาและเลื่อมใสในพุทธศาสนา อีกทั้งยังเป็นลูกกตัญญู 
มักจะดูแลแม่ที่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ด้วยตนเอง
แม้เมื่อรับตำแหน่งเป็นอำมาตย์แล้วก็ยังทำหน้าที่นี้เหมือนเดิม 
เมื่ออายุได้ 26 ปี ก็ได้รับมอบหมายให้ไปปกครองดูแลหัวเมืองเมืองหนึ่ง

วันหนึ่งขณะที่นอนพักกลางวันอยู่ ได้ฝันเห็นตนเองเดินออกจากที่พัก
ไปที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง เห็นหญิงชราคนหนึ่ง กำลังถือธูปเซ่นไหว้เจ้าอยู่
ในปากก็พึมพำๆไปมา เหมือนกับกำลังเอ่ยชื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งอยู่
เขามองไปที่โต๊ะไหว้เจ้า ก็เห็นมีถ้วยบะหมี่ขึ้นฉ่ายวางอยู่ ยังมีควันร้อนๆ
และส่งกลิ่นหอมโชยมา เขาเลยหยิบขึ้นมาทานอย่างไม่รู้ตัว ทานเสร็จ
แล้วก็เดินกลับที่พัก 

เมื่อตื่นขึ้นมาก็ยังจำความฝันได้อย่างแม่นยำ และที่น่าประหลาดคือ
ในปากของเขายังมีกลิ่นหอมของขึ้นฉ่ายติดอยู่

รุ่งขึ้นอีกวัน เขาก็ฝันอีก ความฝันและเหตุการณ์ต่างๆยังเหมือนเดิม
และเมื่อตื่นขึ้นมาก็ยังมีกลิ่นของขึ้นฉ่ายติดอยู่เหมือนเดิม เขารู้สึก
ประหลาดใจมาก พร้อมกับเดินออกจากที่พัก ไปตามทางเดินที่เดิน
ในฝัน ขณะที่เดินอยู่เขารู้สึกว่า ทางเดินนั้นเหมือนในฝันทุกประการ
ที่สุดเขาก็เดินมาถึงหน้าบ้านหลังหนึ่ง เห็นประตูปิดอยู่ จึงเคาะประตู
เห็นหญิงชราผมขาวเปิดประตูออกมา เขาจึงถามหญิงชรานั้นว่า
วันสองวันที่มา มีคนมาขอกินบะหมี่ใช่หรือเปล่า?

หญิงชรานั้นตอบว่า เมื่อวานเป็นวันครบรอบวันตายของลูกสาว
ตอนที่ลูกสาวยังมีชีวิตอยู่ ชอบทานบะหมี่ขึ้นฉ่ายมาก ดังนั้นเมื่อครบ
รอบวันตายของทุกปี ก็จะนำบะหมี่มาเซ่นไหว้ และเรียกชื่อลูกสาวให้มากิน
อำมาตย์นั้นถามว่า “ลูกสาวของท่านตายไปนานแค่ไหนแล้ว?”
“ยี่สิบหกปีแล้ว”
อำมาตย์นั้นคิดในใจว่า “ปีนี้ข้าก็อายุยี่สิบหก เมื่อวานก็เป็นวันเกิดของข้า”
เลยถามหญิงชราเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆของลูกสาวเขาอย่างละเอียด

หญิงชรานั้นเล่าว่า หล่อนมีลูกสาวเพียงคนเดียว ขณะที่ลูกสาวยังมีชีวิตอยู่
รักการอ่านมาก มีความศรัทธาและนับถือศาสนามาก และก็เป็นลูกกตัญญู
เมื่อป่วยหนักใกล้ตาย ลูกสาวยังบอกกับแม่ว่า จะต้องกลับมาหาแม่อีกครั้ง

เมื่ออำมาตย์นั้นเดินเข้ามาในบ้าน หญิงชราชี้ไปที่หีบไม้แล้วพูดว่า
“หีบไม้นั้นเป็นที่ใส่หนังสือทั้งหมด แล้วปิดกุญแจล็อคไว้ 
แต่จนป่านนี้ยังหากุญแจไม่เจอจึงยังไม่เคยเปิดออกมา”
ที่น่าแปลกก็คือ อยู่ๆอำมาตย์นั้นก็นึกออกว่ากุญแจวางไว้ที่ไหน
จึงหยิบมาแล้วไขออก ภายในหีบมีบทความเขียนไว้มากมาย

เมื่อเขาอ่านดูรู้สึกตกใจมาก เพราะทุกครั้งที่เขาสอบข้อเขียน
ของทางการ ข้อเขียนของเขาเหมือนกับบทความที่มีอยู่ในกระดาษ
ไม่ผิดเพี้ยนเลยแม้แต่นิดเดียว

อำมาตย์นั้นจึงเข้าใจทุกอย่าง แล้วหญิงชรานั้นคือมารดาของเขาเมื่อชาติก่อน
เขาจึงรับหญิงชรานั้นกลับบ้าน พร้อมกับปรนนิบัติรับใช้อย่างดี เช่นเดียวกับ
มารดาของตนในชาตินี้


ห่านคู่

มีอุบาสิกาท่านหนึ่งนำห่านคู่หนึ่งไปปล่อยที่วัดแห่งหนึ่ง
เจ้าอาวาสที่วัดได้กล่าวอาราธนาพระรัตนตรัยและศีลห้าให้ฟัง
ห่านคู่นั้นก้มหน้านิ่งรับฟังอย่างตั้งใจ เมื่อท่านกล่าวเสร็จ
ก็เงยหน้าขึ้นแสดงถึงความปลื้มปีติที่ได้ฟัง

ตั้งแต่นั้นมาห่านคู่นั้น กลางวันก็จะเล่นน้ำอยู่ในสระ
กลางคืนจะคอยเฝ้าเวรยามอยู่ที่ประตูวัด
ทุกวันที่มีการทำวัตรเช้า ห่านคู่นั้นก็จะตามกลุ่มคนเข้าไปในศาลาด้วย
พร้อมกับยืดคอยาวออกมาแล้วจ้องมองพระพุทธรูปอย่างไม่ให้คลายสายตา

เมื่อได้ยินเสียงสวดมนตร์ ก็จะนิ่งฟังอย่างสงบ
เห็นผู้คนเดินจงกรมก็จะเดินตามไปด้วย

เป็นอย่างนี้ทุกวันจนเวลาล่วงเลยไปถึงสามปี
เช้าวันหนึ่งห่านตัวเมียเดินวนสามรอบที่หน้าอุโบสถ
เงยคอขึ้นมองพระพุทธรูป ร้องเสียงดังอยู่หลายครั้ง
แล้วก็สิ้นใจอยู่ตรงนั้น หลังจากที่ตายแล้ว ก็ยังเหมือนนอนหลับอยู่ 
คนในวัดจึงนำไปใส่ในโลงไม้แล้วนำไปฝัง

ห่านตัวผู้เมื่อเห็นตัวเมียตายไป ทุกค่ำคืนก็จะร้องครวญคราง
เหมือนกับยังอาลัยอาวรณ์ตัวเมียอยู่ ไม่ยอมไปเล่นน้ำ
ทั้งไม่ยอมดื่มกิน ลักษณะท่าทางเหมือนเจ็บปวดและเป็นทุกข์
แม้จะดูเศร้าโศก แต่ทุกๆเช้าก็ยังเข้าไปทำวัตรเช้าที่ศาลาเหมือนเมื่อก่อน
ที่ยืนเพ่งจ้องพระพุทธรูปอย่างนิ่งสงบ

พระอาจารย์เห็นท่าทางอ่อนล้าและไม่มีความสุขของห่านตัวผู้จึงพูดว่า
“เจ้าเจ็บปวดเพราะต้องพลัดพรากจากผู้ที่เป็นที่รัก แต่เจ้าก็ยัง
รู้จักเพ่งจ้องพระพุทธรูปอยู่เหมือนเดิมก็ควรจะสวดมนตร์นึกถึงพระ
เพื่อจะได้ไปสู่ดินแดนสุขาวดี ขออย่าได้อาลัยอาวรณ์กายสังขาร
ที่ทำให้เกิดทุกข์เลย”

หลังจากที่ฟังพระท่านกล่าวแล้ว เมื่อทุกคนไปสวดมนตร์ ห่านตัวผู้นั้น
โค้งคอลงเหมือนกับการคำนับพระ แล้วก็เดินวนสามรอบ กระพือปีก
แล้วหุบปีกลง เก็บสองเท้าไว้ แล้วสิ้นใจ

หลังจากห่านตัวผู้ตายแล้ว คนในวัดก็ได้นำไปใส่ในโลงไม้
พร้อมกับพาไปฝังคู่กับตัวเมียในหลุมเดียวกัน

แรงบุญ

มีหญิงชายคู่หนึ่ง พบกันและรักกัน เมื่อความรักสุกงอมจึง
กำหนดวันแต่งงานขึ้นก่อนที่จะถึงวันงานฝ่ายหญิงกลับไปแต่งงาน
กับผู้ชายคนอื่น ชายหนุ่มคนนั้นทนรับความกระทบกระเทือนใจไม่ไหว
ถึงกับล้มป่วยไปเลย คนในครอบครัวพยายามทุกวิถีทางที่
จะหาทางมาเยียวยาให้หายป่วย แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ 
ได้แต่มองอาการของเขาทรุดลงไปเรื่อยๆ 

วันหนึ่งมีพระธุดงค์เดินผ่านไปแถวนั้น 
รู้ความเป็นไปของเหตุนี้จึงคิดจะชี้ทางสว่างให้

พระธุดงค์รูปนั้นเข้าไปนั่งใกล้ๆเตียงแล้วหยิบกระจกขึ้นมาบานหนึ่ง
ให้ชายหนุ่มคนนั้นดู ในความสะลึมสะลือนั้น ชายหนุ่มเห็นหญิงสาวคนหนึ่ง
ถูกฆ่าตาย นอนเปลือยอยู่ริมชายหาด

มีชายคนหนึ่งเดินผ่านไปเห็น 
ส่ายหัวแล้วเดินจากไปอย่างรวดเร็ว 

ชายคนที่สอง ถอดเสื้อผ้าของตัวเองไปปิดศพนั้นเพื่อไม่ให้อุจาดตา แล้วเดินผ่านไป 

ชายคนที่สามผ่านมาเห็นก็จัดการขุดหลุม แล้วฝังศพหญิงสาวนั้น

ตัดกลับไปอีกรูปหนึ่งเป็นยุคปัจจุบัน เขาเห็นหญิงคนรักของเขา 
กำลังอยู่ในห้องหอกับสามี ภายใต้แสงเทียนอันโรแมนติค 
ชายหนุ่มไม่เข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

พระธุดงค์นั้นอธิบายให้ฟังว่า ศพนั้นคือหญิงสาวคนรักในปัจจุบันของเขา 
เจ้าคือคนที่สองที่ผ่านไปเห็นศพนั้น แล้วนำเสื้อไปปิดศพนั้น 
มาในชาตินี้ จึงได้แต่ความรักจากหญิงสาว แต่ที่สุดแล้วหญิงคนนั้นต้อง
ไปตอบแทนบุญคุณให้กับอีกคนหนึ่งตลอดชีวิต 
และชายคนนั้นคือคนที่สามที่นำศพหล่อนไปฝัง 
และคนๆนั้นคือสามีของหล่อนในปัจจุบัน 

ชายหนุ่มที่ป่วยอยู่เข้าใจในต้นเหตุผลกรรมนั้นอย่างชัดเจน 
ลุกขึ้นจากเตียงได้หายป่วยทันที

สิ่งที่เป็นของท่าน ช้าหรือเร็วก็ต้องเป็นของท่าน
สิ่งที่ไม่ใช่เป็นของท่าน ทำอย่างไรก็ยื้อยุดมาไม่ได้

๙๒. ใจและจิต

พระรูปหนึ่งถามท่านราชครูว่า “เซนคือชื่อหนึ่งของใจ 
และใจก็คือพุทธะที่ไม่มีเพิ่ม ไม่มีดับ แต่อาจารย์เซนทั้งหลาย
ก็นำคำว่า “ใจ” มาใช้เป็น “จิต” เลยอยากจะเรียนถามท่านว่า
“ใจ” และ “จิต” แตกต่างกันอย่างไร?”

“ยามหลงวนอยู่ย่อมมีความแตกต่าง แต่เมื่อรู้แจ้งแล้วก็จะไม่แตกต่าง”

พระรูปนั้นถามต่อว่า “ในคัมภีร์บอกว่า จิตพุทธะเป็นสิ่งที่เที่ยง
แต่ใจนั้นไม่เที่ยง แล้วท่านทำไมถึงพูดว่าไม่แตกต่าง?”

“เจ้าเอาแต่ไปถกคิดแต่เรื่องของคำพูดไม่คิดถึงหลักการ เหมือนกับ
หน้าหนาวน้ำกลายเป็นน้ำแข็ง หน้าร้อนน้ำแข็งกลายเป็นน้ำ ยามหลง
จิตเป็นใจ ยามรู้แจ้งใจเป็นจิต จิตและใจก็เหมือนกันอยู่แล้ว
เพียงแต่ยามไม่รู้กับยามรู้แล้วแตกต่างกัน” ท่านราชครูตอบ

ในศาสนาเรา จิตและใจมีคำเรียกอยู่มากมาย เช่น โฉมหน้าดั้งเดิม 
จิตเดิมแท้ และอื่นๆ นี่เป็นวิธีการต่างๆที่จะทำให้เรารู้จักตนเอง
หลงกับรู้แม้จะมีความแตกต่าง แต่จิตดั้งเดิมไม่แตกต่าง เหมือนกับทอง
เมื่อมาหลอมเป็นต่างหู เป็นแหวนเครื่องประดับที่แตกต่างกันไป
แต่ตัวเนื้อแท้ของมันก็คือทองนั่นเอง

๙๓. กินข้าวนอนหลับ

มีนักปฏิบัติธรรมท่านหนึ่งถามพระอาจารย์ว่า “ท่านมีเคล็ดลับการปฏิบัติ
ธรรมที่ลึกล้ำหรือเปล่า?”
พระอาจารย์ : มี
นักปฏิบัติ : มีเคล็ดลับอะไรบ้าง?
พระอาจารย์ : เมื่อหิวก็กินข้าว เมื่อง่วงก็นอน
นักปฏิบัติ : คนทั่วไปก็ต้องกินข้าวนอนหลับอยู่แล้ว
แล้วจะแตกต่างจากการปฏิบัติธรรมของท่านอย่างไร
พระอาจารย์ : ไม่เหมือน
นักปฏิบัติ : ไม่เหมือนอย่างไร?
พระอาจารย์ : คนโดยทั่วไป เวลากินข้าวก็คิดไปถึงเรื่องราวต่างๆ
ร้อยแปดพันเก้า เวลานอนก็ฟุ้งซ่านจนไม่เป็นอันนอน

กินข้าวนอนหลับ ฟังไปเหมือนกับเป็นสิ่งที่ง่ายๆ แต่จะมีสักกี่คนที่กินอย่าง
มีสติ จิตไม่ส่ายไปคิดถึงสิ่งอื่นๆ หรือเวลาทำกิจกรรมอื่น สติก็ไม่ได้จ่ออยู่กับ
สิ่งที่ทำ จิตกลับวิ่งไปอยู่ที่อื่นตามแต่กิเลสจะพาไป และเวลานอนก็นอนหลับ
ได้อย่างสุขสงบไร้กังวล 

จะเห็นได้ว่า สิ่งที่ปกติเรียบง่ายที่สุด…….
แต่จะปฏิบัติจนถึงสภาวธรรมที่เรียบง่ายสงบที่สุด จำเป็นจะต้องผ่านการฝึกฝน
จิตจนถึงขั้นที่ไม่ยึดติดกับสิ่งใดๆ สามารถปล่อยวาง และเข้าใจถึงความเป็นอนิจจังได้  

๙๔. อะไรคือมรรค

เณรน้อยรูปหนึ่ง เมื่อใกล้จะถึงเวลาที่จะบวชเป็นพระ
จึงเดินทางไปหาพระอาจารย์ท่านหนึ่ง ขณะเมื่อเห็นพระอาจารย์นั้น
ครั้งแรก ก็เห็นพระอาจารย์นั้นนอนพักผ่อนอยู่

พระอาจารย์เห็นเข้าจึงถามว่า “เจ้ามาจากที่ใด?”
มาจากสถานที่ปฏิบัติธรรม “รูปมงคล”
แล้วเจ้าเคยเห็นรูปมงคลหรือเปล่า? พระอาจารย์ถาม
“ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นรูปมงคลใดๆ เห็นแต่เพียงท่านยูไลที่นอนอยู่”

ได้ยินเณรนั้นตอบ พระอาจารย์รู้สึกแปลกใจมาก ถึงกับลุกขึ้นมา
แล้วถามว่า “เจ้ามีอาจารย์สอนอยู่แล้วหรือเปล่า?”
“มี” เณรตอบ
“เป็นผู้ใด?” 
เณรนั้นไม่ตอบ แต่แสดงความคารวะแล้วพูดว่า
“อากาศหนาวเย็น หวังว่าท่านอาจารย์จะระวังรักษาสุขภาพ”

เณรถามต่อว่า “อะไรคือมรรค?”
“จิตที่ปกติคือมรรค” พระอาจารย์ตอบ
“มีวิธีการใดที่จะทำให้บรรลุถึงขั้นนั้นหรือเปล่า?”
“เมื่อเกิดความคิดที่ว่า “จะบรรลุให้ถึง” ก็เกิดมีการเอนเอียงไปข้างหนึ่งแล้ว” 

“หากปิดกั้นความคิดที่จะเกิดทุกทางแล้ว แล้วเราจะเห็นหนทางได้อย่างไร?” เณรถาม

พระอาจารย์ตอบว่า “หนทางนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่ารู้หรือไม่รู้ รู้คือความคิดแบบคาดการ
ไม่รู้คือความตายด้าน หากเจ้าสามารถที่จะปฏิบัติจนถึงขั้นที่ปราศจากความสงสัย
ใดๆ ก็เหมือนกับจักรวาลที่กว้างใหญ่ไพศาล ไร้ขอบเขต ไร้ประมาณ
ทำไมจะต้องถูกผัสสะทั้งหลายมาเป็นบ่วงรัดไว้ 

เณรนั้นเมื่อได้ฟังคำกล่าวของอาจารย์ ก็ตั้งใจว่าจะบวชอยู่กับพระอาจารย์ท่านนี้ 

๙๖. รู้จักถนอมสิ่งของ

พระอาจารย์สามท่านเดินทางร่วมกันไปเทศนาโปรดญาติโยมตามที่ต่างๆ
วันหนึ่งขณะที่กำลังคิดว่าจะเดินไปบิณฑบาตที่ไหนดี ก็เห็นใบผักสดๆลอย
ผ่านธารน้ำไป 

พระอาจารย์ท่านหนึ่งพูดว่า “ในน้ำมีผักลอยมา คิดว่าที่ลำน้ำด้านบน
ต้องมีคนอาศัยอยู่แน่ พวกเราเดินไปตามลำน้ำกันเถอะ”

พระอาจารย์อีกท่านหนึ่งพูดว่า “ใบผักที่งดงามและสดอย่างนี้ ปล่อยให้
ลอยน้ำทิ้งไป ช่างน่าเสียดายยิ่งนัก”

พระอาจารย์คนที่สามพูดขึ้นว่า “หมู่บ้านและผู้คนที่ไม่รู้จักถนอมสิ่งที่มีอยู่
ไม่สมควรที่จะไปเทศน์โปรดเลย พวกเราเดินทางไปบิณฑบาตที่อื่นกันเถอะ”

ขณะที่ทั้งสามกำลังจะเดินไปที่อื่น ก็เห็นคนๆหนึ่งกำลังกระหืดกระหอบวิ่ง
มาแล้วถามว่า “ท่านอาจารย์ พวกท่านเห็นใบผักลอยมาตามน้ำหรือเปล่า?
เมื่อกี้ขณะที่กำลังล้างผักอยู่ ไม่ทันระวัง ใบผักเลยลอยตามน้ำไป ตอนนี้เลย
กำลังตามหาอยู่ ไม่อย่างนั้นคงเสียดายแย่”

พระอาจารย์สามท่านได้ฟังแล้ว จึงตัดสินใจพร้อมกันว่า จะไปเทศน์โปรดที่หมู่บ้านนี้

การรู้จักถนอมสิ่งของคือการรู้จักถนอมความสุข มีแต่คนที่รู้จักถนอมความสุขถึง
จะมีความสุข ข้าวหนึ่งเม็ด ผักหนึ่งใบ ไม่ได้อยู่ที่ราคาของสิ่งของ แต่เป็นสิ่งมีค่า
ในมุมมองของชาวเซน

๙๗. วิธีการเดียวกัน

มีภิกษุรูปหนึ่งสร้างวัดแล้วตั้งตนเป็นเจ้าอาวาส รับลูกศิษย์ไว้หลายคน
ทุกๆวันก็จะให้เหล่าลูกศิษย์อ่านคัมภีร์ ปัดกวาดดูแลวัด ดูแลสวนผัก
กิจวัตรที่ท่านทำบ่อยๆคือ นั่งสมาธิทุกวันเหมือนพระอาจารย์ท่านอื่นๆ
แล้วก็นำบทโศลกต่างๆที่อ่านมาจากในหนังสือแล้วไปบรรยายให้ลูกศิษย์ฟัง

ทุกๆวันในช่วงบ่าย ภิกษุท่านนี้จะต้องไปจำวัดในกุฏิ เหล่าลูกศิษย์จึงถามว่า
“ท่านอาจารย์ ทำไมต้องจำวัดในทุกๆบ่าย?”
“ท่านขงจื้อ จะต้องงีบหลับทุกวันเพื่อไปพบกับผู้รู้คือท่านโจวกง แล้วนำคำสอน
ของผู้รู้มาถ่ายทอดให้ศิษย์อีกต่อหนึ่ง ข้าก็เช่นกัน ในความฝันข้าก็พบกับผู้รู้ได้เหมือนกัน"
อาจารย์ตอบ

บ่ายวันหนึ่งอากาศค่อนข้างอบอ้าว ขณะที่เหล่าลูกศิษย์กำลังนั่งสมาธิ
หลายคนนั่งสัปหงก บางคนก็นั่งหลับไปเลย ท่านอาจารย์เห็นจึงปลุกให้
ทุกคนตื่นแล้วเทศน์อบรมว่า “การนั่งสมาธิ ควรจะมีจิตที่นิ่งเหมือนน้ำ 
พวกเจ้าทำไมถึงนั่งหลับ?”

“พวกเราหลับแล้วไปในฝัน ไปพบบัณฑิตผู้รู้โบราณ เหมือนกับที่ท่าน
ขงจื้อไปพบท่านโจวกง”

ท่านอาจารย์ตกตะลึง ที่ลูกศิษย์ใช้วิธีการของตนเองสวนกลับมา
แต่ก็ยังรักษาทีท่า แล้วถามว่า “แล้วเหล่าบัณฑิตแนะนำชี้แนะพวกเจ้าว่าอย่างไร?”

ในความฝันเมื่อพบกับผู้รู้ พวกเราถามว่า อาจารย์ของพวกข้ามาขอคำชี้แนะ
จากท่านทุกวัน จึงขอให้ท่านชี้แนะให้ความรู้กับพวกเราบ้าง แต่ท่านบัณฑิต
ตอบว่า “ข้าไม่เคยไม่เคยพบกับอาจารย์ของพวกเจ้าเลย”

๙๘. ซื้อขายสินค้า

พระอาจารย์ท่านหนึ่งเป็นพระที่เทศน์เก่งมาก ทุกครั้งที่เทศน์ ผู้คนจะมา
นั่งฟังเต็มศาลาวัด ดังนั้นบรรดาสานุศิษย์จึงคิดจะสร้างศาลาให้ใหญ่ขึ้น
เพื่อรองรับผู้คนที่มาฟังธรรม

มีผู้ศรัทธาท่านหนึ่งนำทองห้าสิบตำลึงใส่ถุงนำมาถวายให้พระอาจารย์ท่านนั้น
เพื่อที่จะได้สร้างศาลาใหม่ พระอาจารย์รับไว้แล้วก็รีบไปทำงานต่อ อุบาสกท่านนั้น
เห็นกิริยาท่าทีแล้วรู้สึกไม่พอใจยิ่งนัก เพราะว่าทองห้าสิบตำลึงไม่ใช่จำนวนน้อยๆ
ถ้านำมาให้คนทั่วไปใช้ ก็ใช้ได้หลายปี แต่พระอาจารย์รับแล้วแม้แต่คำว่าขอบคุณ
ยังไม่ได้เอ่ย คิดแล้วจึงเดินตามหลังพระอาจารย์ไป แล้วพูดว่า

“ท่านอาจารย์ ในถุงนั้นใส่ทองถึงห้าสิบตำลึง”
“เจ้าบอกแล้วนี่ ข้ารู้แล้ว” พระอาจารย์ตอบพลางเดินไปพลาง
“ท่านอาจารย์ วันนี้ข้าพเจ้าบริจาคทองห้าสิบตำลึง มูลค่าไม่ใช่น้อยๆ แต่ท่าน
แม้แต่คำว่าขอบคุณยังไม่เอ่ยสักคำ”

“เจ้าทำไมเซ้าซี้จัง เจ้าบริจาคให้กับศาสนา ทำไมต้องให้ข้าขอบคุณ?
เจ้าบริจาคก็เป็นการสั่งสมบุญกุศลของตนเอง หากเจ้าอยากจะให้
บุญกุศลเป็นเหมือนกับการค้า ข้าก็จะเป็นตัวแทนของศาสนาพูดว่า
“ขอบคุณ” แล้วเจ้าก็นำคำว่า “ขอบคุณ” พากลับไป

ตั้งแต่นี้เจ้ากับศาสนาก็เหมือนกับซื้อขายสินค้า “เงินถึงสินค้ามา”

๙๙. ให้ชีวิตดำรงอยู่ต่อไป

มีชายคนหนึ่ง ขณะที่ยังอยู่ในวัยเยาว์ได้เห็นมารดาฆ่าตัวตายต่อหน้า
ต่อตา เพราะแก้ปัญหาชีวิตไม่ตก ดังนั้นความทรงจำที่เลวร้ายอย่างนี้
จึงฝังอยู่ในใจลึกๆของเขาตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่สามารถลบ
ความทรงจำนี้ให้ออกไปจากใจได้

เมื่อเขาอายุได้ 15 ปี น้องชายของเขาก็ได้ฆ่าตัวตายอีก การตายของญาติสนิท
ทำให้เขาได้เรียนรู้ถึงสิ่งที่ผิดๆ คิดว่า ความตายเท่านั้นคือทางสุดท้ายที่จะไป
ดังนั้นเขาจึงพยายามที่จะฆ่าตัวตายอยู่หลายครั้ง แต่ทุกครั้งก็มีผู้ช่วยเขาไว้ได้ทัน

พระอาจารย์ที่วัดเห็นหนุ่มนั้นน่าสงสารจึงรับเขาให้มาอยู่ที่วัด แต่หนุ่มนั้นก็ยัง
คิดเสมอว่า ตัวเองอยู่ไปก็ไร้ประโยชน์ มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ด้วยความเจ็บปวด
สู้ตายไปให้รู้แล้วรู้รอดดีกว่า

วันหนึ่งพระอาจารย์เห็นอาการอมทุกข์ตลอดเวลาของเขาแล้วพูดว่า
“อาจารย์ช่วยอะไรเจ้าไม่ได้ เจ้าต้องรู้จักช่วยเหลือตัวเอง เจ้าสามารถนั่ง
สมาธิได้ทุกวัน แต่สิ่งที่อาจารย์จะบอกเจ้าคือ การนั่งสมาธิก็ไม่มีประโยชน์อะไร”

“เมื่อไม่มีประโยชน์อะไร แล้วจะไปนั่งสมาธิทำไม?”

“ก็เพราะไม่มีประโยชน์ ดังนั้นจึงต้องนั่งสมาธิ” พระอาจารย์ตอบ

ที่สุดหนุ่มนั้นจึงคิดขึ้นมาได้ว่า คนเรามีชีวิตอยู่ไม่ใช่เพื่อนำมาใช้ประโยชน์
แต่เป็นการให้ชีวิตดำรงอยู่ต่อไป 

๑๐๐. อย่าลืมว่าตัวเจ้าคือเจ้า

มีสตรีนางหนึ่งเนื่องจากเกิดเป็นลูกนอกสมรสของพ่อแม่ จึงเป็นทุกข์
เครียดกับเรื่องนี้มาตลอด ไม่ว่าเจ้าหล่อนจะไปทางไหน ความคิดนี้ก็
ติดตามเป็นเงาดำตามตัวไป ทำร้ายจิตใจตนเองเสมอมา

วันหนึ่งเมื่อหล่อนเครียดจนทนไม่ไหวจึงไปกระโดดน้ำเพื่อฆ่าตัวตาย
แต่ก็มีผู้ช่วยไว้ได้ทัน และแนะนำให้หล่อนไปที่วัดเพื่อหาทางสว่าง

สตรีนางนั้นเลยไปหาพระอาจารย์ทีวัดแห่งหนึ่ง พร้อมกับเล่าเรื่องราว
ความเป็นมาต่างๆให้ฟัง เมื่อพระอาจารย์ฟังจบก็ไม่พูดอะไร ได้แต่สั่งให้
หล่อนนั่งสมาธิ

นั่งสมาธิผ่านไปได้สามวัน จิตก็ยังไม่สงบ กลับรู้สึกอับอายต่อเรื่องราวต่างๆ
ของตัวเอง ยิ่งคิดยิ่งเครียด คิดจะไปหาพระอาจารย์ เพื่อจะด่าให้สะใจ

“เจ้าคิดจะด่าข้าใช่ไหม? ขอให้เจ้านั่งสงบอีกสักพัก ความคิดนี้ของเจ้าก็จะ
หายไป พระอาจารย์รีบพูดก่อนที่หญิงนั้นจะเอ่ยปากออกมา ทำให้เจ้าหล่อน
รู้สึกแปลกใจและเกิดความนับถือขึ้นมาในใจ เลยทำตามแล้วนั่งสมาธิต่อไป

นั่งไปได้สักพัก ก็ได้ยินเสียงพระอาจารย์ถามมาเบาๆว่า “ก่อนที่เจ้าจะเกิดมา
เป็นลูกนอกสมรสเจ้าเป็นใคร?”

สตรีนางนั้นเหมือนกับเส้นสายภายในสมองถูกกระตุกไปชั่วขณะ หล่อนใช้สอง
มือปิดหน้าของตัวเองแล้วร้องไห้เสียงดังขึ้นมาว่า “ข้าก็คือข้า ข้าก็คือข้า”

๑๐๑. กลิ่นอายแห่งการฆ่า

ราชวงศ์ซ่งมีนายพลท่านหนึ่ง ขณะเมื่อทำสงครามเสร็จสิ้น
เคลื่อนพลผ่านอารามแห่งหนึ่ง เหล่าภิกษุในอารามรู้ดีว่า นายพลท่านนี้
มุทะลุดุดัน ทุกคนเลยหนีไปซ่อนจนหมด เหลือแต่เจ้าอาวาสที่นั่ง
สมาธิอยู่หน้าพระประธาน

นายพลนั้นเรียกท่าน ท่านก็ไม่สนใจ แล้วก็ยังไม่ยังไม่สนใจจะมองด้วย
นายพลนั้นเห็นแล้วก็โมโหยิ่งนัก พูดว่า “กองทัพของข้าผ่านมาที่นี่
ทำไมเจ้าแม้แต่ทักทายสักคำก็ยังไม่มี? ท่านกล้าเสียมรรยาทเช่นนี้
ไม่รู้เลยหรือว่า คนที่ยืนอยู่เบื้องหน้าเจ้านี้ คือนายพลที่ฆ่าคนได้โดยไม่
ทันได้กระพริบตาเลยหรือ?”

พระอาจารย์ได้ยินแล้วจึงลืมตาขึ้นมา แล้วพูดว่า “นายพลที่ขึ้นเสียงขู่คำราม
ต่อหน้าพระ ช่างไร้มรรยาทสิ้นดี แล้วเจ้าไม่กลัวเหตุต้นผลกรรมที่จะตอบสนองหรือ?”

“อะไรเหตุต้นผลกรรมที่จะตอบสนองหรือไม่สนอง แล้วเจ้าไม่กลัวตายหรือ?”

“แล้วเจ้าไม่รู้เลยหรือว่า คนที่นั่งอยู่หน้าเจ้านี้ เป็นพระที่ไม่กลัวความตายเลย”

นายพลท่านนั้นรู้สึกอึ้งในความกล้าของพระอาจารย์ท่านนี้ และก็ถูกความนิ่ง
สงบของท่านสยบให้ยอมอยู่ในทีพูดเสียงอ่อนขึ้นว่า

“อารามใหญ่โตขนาดนี้ ทำไมจึงเหลือท่านเพียงคนเดียว รูปอื่นๆไปไหนกันหมด?”

"เพียงแต่เจ้าตีกลองขึ้นมา เมื่อคนอื่นๆได้ยินเสียงกลองก็จะกลับมา”พระอาจารย์ตอบ

นายพลท่านนั้นจึงตีกลองขึ้นอย่างรุนแรง ตีอยู่นาน ก็ไม่มีผู้ใดเดินออกมา
จึงพูดขึ้นว่า “ตอนนี้ก็ตีกลองแล้ว ทำไมไม่เห็นมีใครกลับมาเลย?”

“เป็นเพราะว่าตอนที่ท่านตีกลอง กลิ่นอายแห่งการฆ่าแฝงอยู่อย่างมากมาย
เจ้าลองสวด “นะโมไปตีกลองไป แล้วดูซิ”

นายพลท่านนั้นเลยตีกลองไปสวดไป ไม่นานพระที่แอบซ่อนอยู่ตามที่ต่างๆ
ก็ค่อยๆทยอยออกมา นายพลนั้นรู้สึกแปลกใจยิ่งนัก จึงถามพระอาจารย์ท่านนั้น
ว่าชื่ออะไร เมื่อนายพลท่านนั้นรู้ชื่อแล้วถึงกับคุกเข่า แล้วก็ขอโทษอย่างนอบน้อม
พร้อมกับพูดว่า “ที่แท้คือพระอาจารย์ที่มีภูมิธรรมสูงส่งและมีชื่อเสียงลือนามไปทั่ว
ท่านอาจารย์ โปรดได้ช่วยชี้แนะว่า “เมื่ออยู่ในสงครามทำอย่างไรจึงจะชนะ?”

“ข้าไม่รู้” พระอาจารย์ตอบ 

๑๐๒. ล้างหน้าปฏิวัติใจ

พระอาจารย์ท่านหนึ่งเป็นคนเคร่งครัดปฏิบัติธรรมมาก
ชั่วชีวิตของท่านไม่เคยที่จะเบื่อหน่ายและเกียจคร้านต่อการปฏิบัติ
เมื่อล่วงเลยเข้าสู่วัยชรา ก็มีข่าวมาจากที่บ้านเกิดว่า หลานชาย
ของท่าน วันๆเอาแต่กินเหล้าเคล้านารีและเหล้า ไม่ยอมทำมาหากิน
ที่บ้านของพี่สาวของท่านแทบจะหมดเนื้อหมดตัวแล้ว ผู้เป็นบิดา
อยากจะนิมนต์ท่านให้กลับไปเทศน์โปรดหลานชาย
เผื่อจะได้กลับเนื้อกลับตัว ประพฤติตนเป็นคนดีต่อไป

พระอาจารย์จึงเดินทางกลับไปที่บ้านเกิด หลานชายเห็นหลวงลุงกลับมา
รู้สึกดีใจยิ่งนัก สนทนาพูดคุยกับหลวงลุงถูกคอยิ่งนัก

พระอาจารย์นั่งสมาธิอยู่บนเตียงทั้งคืน ครั้นรุ่งเช้าก็จะลาจากไป
พูดกับหลานชายว่า “ข้าคิดว่าข้าคงแก่แล้วจริงๆ สองมือก็สั่นตลอดเวลา
เจ้าช่วยผูกเชือกรองเท้าให้ข้าหน่อยได้ไหม?”

หลานชายดีใจที่ได้ปรนนิบัติหลวงลุงยิ่งนัก พระอาจารย์กล่าวว่า
“ขอบใจนะ เจ้าดูซิ คนเราเมื่อยามแก่ สังขารก็เสื่อมลงไปทุกวันทุกวัน
เจ้าต้องดูแลรักษาตัวเองให้ดีนะ ฉวยโอกาสที่ยังหนุ่มยังแน่น ประพฤติตน
ให้เป็นคนดี สร้างพื้นฐานของชีวิตให้มั่นคง”

พระอาจารย์พูดจบก็ลาจากไป ไม่เอ่ยตำหนิถึงความประพฤติที่เลวร้าย
ของหลานชายแม้แต่คำเดียว แต่ว่าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลานชายของ
ท่านก็ไม่เคยประพฤติตนเป็นคนเสเพลอีกเลย

๑๐๓. ลมพัด ธงสะบัด หรือจิตไหว

ท่านเว่ยหล่างหลังจากรับตำแหน่งสังฆปรินายกองค์ที่ 6 ก็หลบหนีการแย่งชิงบาตร
และจีวรจากศิษย์ร่วมสำนักไปอยู่กับพรานในป่าถึง 15 ปี จึงกลับเข้ามาในเมืองอีก

วันหนึ่งขณะที่เดินผ่านวัดแห่งหนึ่ง ในวัดกำลังมีงานพิธีบูชาธง เพื่อให้เกิดความ
เป็นสิริมงคล ฝนตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ พิธีนี้ต้อง
จัดถึง 49 วัน ทุกๆวันนอกจากช่วงหัวรุ่งหรือช่วงบ่ายที่หยุดพักผ่อน 
นอกจากนั้นจะต้องสวดมนต์ต่อเนื่องตลอดทั้งวัน

พิธีบูชาธงเริ่มต้นจะต้องเชิญธงขึ้นสู่ยอดเสา ธงนั้นเป็นรูปยาวรี ทำจากผ้าแถบ
ยาวๆ สีแดง น้ำเงิน ขาว และดำ เขียนคำว่า “พุทธะ” ไว้ด้านบน ด้านล่าง
ทำเป็นพู่ยาวๆ 7 เส้น หากพู่เจ็ดเส้นนั้นพันรวมกันเป็นเส้นเดียวกัน แสดงว่า
พระโพธิสัตว์เดินทางมาถึงแล้ว มารับเครื่องสักการะของปวงชน แล้วก็จะคุ้มครอง
ปกปักรักษาหมู่ผู้ศรัทธา ให้มีความสุขความร่มเย็นตลอดปี

หากปลายพู่เจ็ดเส้นนั้นเดี๋ยวคลาย เดี๋ยวเป็นเส้นเดียวกัน สุดท้ายก็คลายหมด
แสดงว่าการบูชาธงครั้งนี้ไม่ได้บรรลุจุดประสงค์ ยังต้องใช้วิธีการขั้นสูงต่อไป

หลังจากพิธีบูชาธงเสร็จสิ้นลง ท่านเจ้าอาวาสได้ถามเหล่าลูกศิษย์ว่า 
“พวกเจ้าดูนั่นทำไมธงถึงสะบัดไปมา?”

“เป็นเพราะธงพลิ้วไหว” คนหนึ่งตอบ

“ไม่ใช่ธงพลิ้วไหว ธงไม่ใช่สิ่งมีชีวิต จะพลิ้วไหวไปมาได้อย่างไร เป็นเพราะลม” อีกคนตอบ

“ทั้งธงและลม ก็ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต เคลื่อนไหวไม่ได้ ต้องเป็นสองสิ่งรวมกัน จึงจะสะบัดได้”

ท่านเว่ยหล่างเดินเข้ามาคำนับพร้อมกับพูดว่า
“บางท่านว่าธงพลิ้วไหว บางท่านว่าเป็นเพราะลม บางท่านว่าสองสิ่งรวมกัน

แต่ข้าพเจ้าว่าเป็นเพราะจิตผู้ดูไหวก็เท่านั้นเอง 

๑๐๔.วางลงตั้งนานแล้ว

พระอาจารย์และพระอีกรูปหนึ่งขณะที่เดินทางจะข้ามคลองแห่งหนึ่ง
เนื่องจากช่วงนั้นเป็นหน้าฝน น้ำในคลองจึงลึกมากกว่าปกติ เห็น
หญิงสาวแต่งกายด้วยผ้าไหมสวยงามคนหนึ่ง ยืนลังเลและไม่กล้า
จะข้ามไป เพราะไม่แน่ใจว่าน้ำในคลองนั้นจะลึกแค่ไหน

พระอาจารย์จึงอุ้มหญิงสาวนั้นข้ามน้ำไป พระอีกรูปหนึ่งเห็นสภาพนั้น
แล้วรู้สึกไม่สบายใจยิ่งนัก เก็บความอึดอัดใจไว้จนค่ำจึงพูดขึ้นว่า
“พวกเราบรรพชิตไม่ควรจะเข้าใกล้หญิงสาว และยิ่งเป็นสาวแรกรุ่น
และสวยงามก็จะยิ่งเป็นอันตรายมากเพิ่มขึ้นไปอีก ทำไมท่านถึง
ล่วงละเมิดต่อศีลเช่นนี้?”

“ เจ้าพูดถึงหญิงสาวที่ข้ามคลองคนนั้นหรือ? 
ข้าวางหล่อนลงตั้งนานแล้ว
ทำไมเจ้าถึงยังอุ้มหล่อนอยู่อีก”

๑๐๕. ไม่มีเวลาแก่

มีพระรูปหนึ่ง หลังจากที่ไปศึกษาเล่าเรียนและไปฝึกปฏิบัติธรรมตามสำนักต่างๆ
ผ่านไปถึง 20 ปี ก็กลับมาอยู่กับพระอาจารย์ฝ๋อกวงตามเดิม

เมื่อกลับมาถึงก็บอกเล่าทุกข์สุขและสิ่งที่ได้เล่าเรียน เพื่อที่จะให้พระอาจารย์ทดสอบ
ว่าตัวเองปฏิบัติธรรมไปถึงไหนแล้ว พระอาจารย์นั่งฟังอย่างตั้งใจ ด้วยแววตาที่เต็ม
ไปด้วยเมตตาจิต

แล้วลูกศิษย์ก็ถามพระอาจารย์ว่า “20ปีที่ผ่านมานี้ ท่านอาจารย์ทำอะไรไปบ้าง?”
“ทุกวันอาจารย์ก็สอนศิษย์ บรรยายธรรม เขียนคัมภีร์ รู้สึกถึงสิ่งดีงามของทุกวัน
ทุกๆวันก็ทำแต่สิ่งที่เป็นสาระประโยชน์ และมีความสุข”

“พระอาจารย์ทำอย่างนี้เหนื่อยและหนักเกินไปแล้ว ควรจะต้องนึกถึงการพักผ่อน
บ้าง ดูแลร่างกายและสุขภาพ มิฉะนั้นท่านจะต้องแก่แน่ๆ”

พระอาจารย์ตอบว่า “ข้าไม่มีเวลาแก่ กลางวันต้องคอยต้อนรับและบรรยายธรรม
ให้กับผู้มีจิตศรัทธา กลับมาที่ห้องพักยังต้องคอยอ่านข้อความที่ลูกศิษย์เขียนมา
ถามธัมมะ แล้วยังต้องเขียนคัมภีร์ ทุกวันก็ต้องอยู่กับสิ่งที่ทำที่ไม่รู้จักหมด แล้วไหน
จะยังมีเวลาที่รู้สึกว่าแก่ ? คนบางคนแม้จะยังหนุ่มแน่น แต่กายและจิตที่อ่อนล้า
ก็รู้สึกว่าตัวเองแก่แล้ว บางคนอายุมากแล้วแต่ในจิตยังกล้าแกร่ง ยังรู้สึกมีกำลัง
วังชาเต็มเปี่ยม สุขภาพดีเยี่ยม”

ตอนรุ่งสางพระรูปนั้น ได้ยินเสียงสวดมนต์และเสียงเคาะปลาไม้แว่วแผ่วมา
การปฏิบัติตนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของพระอาจารย์โดนจิตให้กับพระรูปนั้น
ยิ่งนัก ในหูยังเหมือนกับได้ยินพระอาจารย์พูดว่า “ข้าไม่มีเวลาแก่”
การใช้ชีวิตและปฏิบัติตนเช่นนี้ทำให้ผู้คนศรัทธาและเลื่อมใสยิ่งนัก 

๑๐๖. พระอาจารย์กับขอทาน

มีขอทานที่มีแขนเพียงข้างหนึ่ง มาขอทานที่วัดกับพระอาจารย์ท่านหนึ่ง
พระอาจารย์พูดขึ้นมาอย่างไม่เกรงใจและชี้ไปที่กองอิฐที่อยู่ริมกำแพงวัดว่า
“เจ้าขนย้ายกองอิฐนี้ไปที่หลังวัดก่อน”

ขอทานนั้นพูดขึ้นมาอย่างขัดเคืองว่า “ข้าพเจ้ามีแขนเพียงข้างเดียว จะย้าย
อิฐเหล่านี้ได้อย่างไร? ไม่อยากจะให้ ก็ไม่ต้องให้ ทำไมต้องกลั่นแกล้งกันด้วย?”

พระอาจารย์ไม่พูดอะไร แต่ใช้แขนข้างหนึ่งยกอิฐขึ้นมาแล้วพูดว่า 
“งานอย่างนี้ มีแขนข้างเดียวก็ทำได้”

ขอทานนั้นจึงใช้แขนข้างเดียวนั้นยกอิฐ ใช้เวลาไป 2 ชั่วโมง ถึงจะขนย้ายอิฐนั้นหมด
พระอาจารย์จึงให้เงินกับขอทานนั้นไป ขอทานนั้นกล่าวขอบคุณด้วยความซาบซึ้ง
“ไม่ต้องมาขอบคุณข้า เงินเหล่านี้เป็นค่าแรงของเจ้า”
“ข้าพเจ้าไม่มีวันลืมท่าน”พูดจบก็แสดงความคารวะอย่างจริงใจ แล้วลาจากไป

ผ่านไปสักระยะหนึ่งก็มีขอทานอีกคนหนึ่งมาขอทานที่วัด พระอาจารย์พาเขาไปที่
กองอิฐหลังวัด แล้วชี้ไปที่กองอิฐพร้อมกับพูดว่า 
“ย้ายกองอิฐไปที่หน้าวัดแล้วจะจ่ายค่าแรงให้”
ขอทานที่มีแขนขาครบกับมองอย่างเหยียดหยามแล้วเดินจากไป

เหล่าลูกศิษย์ไม่เข้าใจถามพระอาจารย์ขึ้นมาว่า “ครั้งก่อนให้ขอทานย้ายอิฐจากหน้าวัดไปหลังวัด 

ครั้งนี้สั่งย้ายจากหลังวัดไปหน้าวัด ท่านต้องการจะให้อิฐไปไว้ที่ไหน?”

“อิฐจะไว้ด้านหน้าหรือด้านหลังก็เหมือนกัน แต่การจะเคลื่อนย้ายหรือไม่นั้น
ในแง่ของขอทานย่อมจะต่างกัน” พระอาจารย์ตอบ

หลายปีผ่านไป มีคหบดีท่านหนึ่งมาที่วัดลักษณะท่าทางดูสง่างาม แต่ที่ขาดก็คือ
มีแขนเพียงข้างหนึ่ง เขาคือผู้ที่ใช้แขนข้างเดียวเคลื่อนย้ายอิฐ ตั้งแต่พระอาจารย์
ใช้ให้เขาทำงาน เขาถึงรู้คุณค่าของตัวเอง หลังจากนั้นก็อาศัยตัวเองต่อสู้อุปสรรค
ต่างๆจนประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ขอทานที่มีแขนขาครบ ยังคงขอทานตลอดไป 

๑๐๘. หานซานกับสือเต๋อ

หานซานเป็นอุบาสกที่อาศัยอยู่ในวัด ไม่ได้บวช ไม่ได้ปฏิบัติธรรม
ได้แต่แต่งกลอนผ่านไปวันๆ ไม่ได้สนใจแม้จะกินข้าวปลาอาหาร
บางครั้งไปกินข้าวที่เหลือๆจากในครัว จึงทำให้รู้จักและสนิทสนม
กับสือเต๋อซึ่งทำงานอยู่ในครัว พวกเขาพูดคุยได้ทุกเรื่อง บางครั้ง
สนุกสนานจนลืมตัว พระและคนในวัดต่างก็คิดว่าสองคนนี้ ไม่ค่อยจะเต็ม

วันหนึ่งขณะที่สือเต๋อกวาดลานวัดอยู่ ภิกษุชรารูปหนึ่งถามเขาว่า
“ชื่อของเจ้าคือสือเต๋อ เป็นชื่อที่ท่านเจ้าอาวาสตั้งให้ แปลว่าเก็บได้
เพราะท่านเก็บเจ้ามาจากในป่า แล้วชื่อจริงของเจ้าคืออะไร?”

สือเต๋อวางไม้กวาดแล้วไม่พูดอะไร แต่ในใจเต็มไปด้วยความเศร้าโศก
ภิกษุชราก็รู้สึกไม่ค่อยดี จึงไม่ได้ถามอะไรต่อไป แล้วก็เดินเลี่ยงไป

หานซานอยู่ใกล้กับที่นั่นพอดี จึงทุบอกแล้วส่งเสียงดังว่า “สวรรค์ สวรรค์”
สือเต๋อจึงถามว่า “เจ้าตะโกนอะไร?”
“บ้านทางทิศตะวันออกมีคนตาย แต่ไปแขวนพวงหรีดที่บ้านทางทิศตะวันตก
เจ้าไม่เคยได้ยินคำนี้หรือ?”
ว่าแล้วทั้งสองก็หัวเราะเสียงดัง กระโดดโลดเต้นอย่างสนุกสนาน

ทุกๆเดือนที่วัดจะจัดให้มีการปฏิบัติและบรรยายธรรม หานซานและสือเต๋อ
ก็มักจะอยู่ร่วมปฏิบัติด้วยเสมอ ขณะเมื่อทุกคนสวดมนต์เสร็จแล้ว
สือเต๋อพูดขึ้นว่า “พวกเจ้ามาสวดมนต์ทุกๆเดือน ทุกๆวัน สวดได้อะไรขึ้นมาบ้าง?”
ผู้บรรยายธรรมวันนั้นโกรธมาก พร้อมกับด่าว่าต่างๆนานา
หานซานซึ่งอยู่ที่นั่นด้วยพูดขึ้นว่า

“ข้าเคยได้ยินมาว่า ไม่โกรธคือการถือศีล จิตสงบคือการถือบวช
ท่านพูดจาทำร้ายจิตใจคน จิตเดิมแท้ของพวกเราก็เหมือนกับจิต
ของท่าน เพียงแต่เราไม่ได้ผ่านพิธีการบวชก็เท่านั้น”

๑๐๙. ชงชา

ขณะที่พระศิษย์พี่รูปหนึ่งกำลังยกยามาให้พระศิษย์น้องที่นอนป่วย
อยู่บนเตียง พูดขึ้นว่า “ถึงเวลากินยาแล้ว ศิษย์น้อง”
ศิษย์น้องค่อยๆลืมตาขึ้นมาแล้วพูดว่า “ศิษย์พี่ ถ้าหากทิ้งเปลือก
เปล่าๆนี้แล้ว พวกเรายังจะพบกันได้ที่ไหนอีก?”
ศิษย์พี่ยิ้มๆแล้วพูดว่า “ที่ที่ไม่เกิดไม่ดับ แล้วแต่กรรมสัมพันธ์จะพาไป”

“ท่านทำไมถึงพูดจาไม่สร้างสรรค์เลย ทำไมไม่พูดว่า ในจักรวาล
นี้ทุกแห่งหนล้วนแต่มีกรรมสัมพันธ์ เมื่อทุกๆที่เราก็พบกันได้ ทำไม
จะต้องมาจำกัดว่าจะต้องไปพบกันที่ๆไม่เกิดและไม่ดับ”

ศิษย์พี่ได้ยินพูดอย่างนั้นแล้ว ก็ไม่พูดอะไร ลุกขึ้นยืนแล้วหยิบหมวก
ทำท่าจะเดินออกไป ศิษย์น้องจึงถามว่า “หยิบหมวกทำไม?”
“กันลมกันฝน ใช้ประโยชน์ได้เองแหละ”
“เมื่อออกไปข้างนอก ลมพัดทีเดียวก็บินไปแล้ว แล้วจะทำอะไรได้
แล้วกายเนื้อรวมทั้งเปลือกนอกนี้ เมื่ออนิจจังของความเป็นความตาย
มาถึงไม่ใช่กลายเป็นเถ้าถ่านสูญสลายไปหรือ?”

“อย่างน้อยก็ยังพอจะมีอะไรปกปิด คงจะมีประโยชน์อะไรบ้างหรอก” ศิษย์พี่ตอบ
“ชีวิตใหญ่อย่างนี้ จะปกปิดอะไรได้สักเท่าไหร่”
“ศิษย์น้อง แม้ชีวิตคนเราจะดูเหมือนว่างเปล่า ไม่มีอะไรน่า
จะเหลือไว้ให้อาลัยอาวรณ์ แต่อย่างน้อยก็ควรจะมีชีวิตอยู่อย่าง
ให้มีรสชาติของการไม่ยึดติดและกังวล ทำอย่างนี้ถึงจะมีความหมาย
ของชีวิตที่ไม่ดับชั่วนิรันดร์”

ศิษย์น้องได้ฟังแล้วก็ค่อยๆลุกจากเตียง ไปหยิบใบชาจากลิ้นชัก
ลงใส่กาแล้วเติมน้ำ ศิษย์พี่เห็นแล้วรีบเข้าไปประคอง 
“เจ้าคิดจะทำอะไร? ยังไม่หายไข้ลงจากเตียงทำไม
รีบกลับไปนอนเถิด”
“ข้าจะชงชา”
“ชงชา ชงให้ใครดื่ม?”
“มีคนหนึ่งจะดื่ม”
แล้วทำไมคนนั้นเขาไม่ชงเอง”
ดีนะ ที่ข้ายังมีเปลือกเปล่าอันนี้อยู่ ยังอยากมีชีวิตอยู่อย่างมีรสชาติ

๑๑๐. เปรียบเทียบใหญ่เล็ก

มีพระธุดงค์จากสองวัดใหญ่ในประเทศเกาหลีเมื่อธุดงค์มาเจอกัน เลยเดินทาง
ไปธุดงค์ด้วยกัน เมื่อนั่งพักอยู่ใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง ต่างคนต่างพูดถึงวัดของตนเอง

พระรูปหนึ่งพูดว่า “วัดที่อยู่นับว่าเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดและมีพระอาศัยอยู่มากที่สุด
ในประเทศ”
“พระอีกรูปหนึ่งพูดว่า “วัดที่ข้าอยู่ ทุกครั้งที่ข้าจะฉันข้าว ต้องนั่งเรือไปตักแกงจืดที่อีกฟากหนึ่งแน่ะ”
พระรูปที่หนึ่งพูดต่อว่า “ พวกเราที่อยู่ในวัดเมื่อนั่งถ่ายทุกข์ ต้องคอยถึงสามนาที
ถึงจะได้ยินเสียงอุจาระกระทบน้ำ”

บังเอิญใต้ร่มไม้ใกล้ๆกันนั้นมีพระอีกรูปหนึ่งนั่งอยู่ พูดขึ้นมาว่า “วัดที่ข้าอยู่ถึง
จะเป็นวัดที่ใหญ่จริง เพราะพระทุกรูปที่อยู่ในวัดล้วนแต่มีความว่างเปล่า
พวกเจ้าทั้งสองสามารถออกไปจากความว่างเปล่านี้ได้หรือเปล่า?”

๑๑๑. ปฏิบัติธรรมสี่สิบปี

พระอาจารย์ท่านหนึ่งสนใจเรื่องของศาสนาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
และก็ออกบวชตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม ศึกษาธรรมอยู่ระยะหนึ่ง
แล้วก็ขึ้นไปสร้างกระท่อมเป็นที่พักอยู่บนภูเขาลูกหนึ่ง

ยามปกติก็จะดื่มน้ำในลำธารแก้กระหาย ทุกวันฉันเพลด้วยผลไม้
เพียงมื้อเดียวเท่านั้น เป็นอย่างนี้ทุกวันจนเวลาล่วงเลยจากวันเป็นปี

วันหนึ่งมีชายตัดฝืนเดินผ่านกุฏินั้น เห็นพระอาจารย์เข้า จึงถามขึ้นด้วยความแปลกใจว่า

“ท่านปฏิบัติธรรมอยู่ที่นี่นานแค่ไหนแล้ว?”

“ประมาณสี่สิบหน้าหนาวแล้ว”

“ท่านบำเพ็ญอยู่ที่นี่เพียงรูปเดียวหรือ?”

"ในป่าลึกอย่างนี้ ภาวนาเพียงคนเดียวก็นับว่าเยอะแล้ว จะต้องให้มีคนเยอะๆทำไม?”

“หรือว่าท่านไม่มีสหายธรรมเลยหรือ?”

พระอาจารย์เลยตบมือขึ้นสามครั้ง สิ้นเสียง ก็มีเสือกลุ่มหนึ่งเดินออกมา 
ชายตัดฟืนเห็นแล้วก็สะดุ้งสุดตัว พระอาจารย์บอกว่าไม่ต้องกลัว
แล้วสั่งให้เสือเดินออกไป

พระอาจารย์พูดต่อว่า “เจ้าคงเห็นแล้วซินะ สหายข้ามีเยอะแยะ
ภูเขาแม่น้ำผืนดิน ต้นไม้ต้นหญ้าไม้ดอก จิ้งจอกหนอนเสือ ล้วนแต่เป็นเพื่อนของข้า”

ชายตัดฟืนได้ยินได้เห็นแล้วก็รู้สึกศรัทธายิ่งนัก จึงตัดสินใจบวชเข้ามาสู่ร่มกาสาวพัสตร์

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็มีผู้มาปฏิบัติธรรมหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย
ที่นั่นมีเมฆขาวลอยฟูฟ่องผ่านเขาเขียวขจี มีต้นไม้ใบหญ้าอยู่คอยต้อนรับผู้คน
มีเสือเดินกวางผ่าน มีนกบินมีเสียงแมลงหรีดร้องเรไร 
ที่สุดก็กลายเป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่เผยแพร่ลัทธิเซนแห่งใหญ่แห่งหนึ่ง


|back|






Free Web Hosting