ภาค ๒ พระพุทธเจ้าสอนอะไร?

มนุษย์อยากได้ความสุข

ธรรมชาติของคนเรานั้นเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ “อยากได้ความสุข” (ความสุข ก็คือ ความรู้สึกที่ทนได้ง่าย) ซึ่งความสุขของคนเรานั้นก็แยกได้ ๒  อย่าง คือ ความสุขกาย กับ ความสุขใจ

โดย “ความสุขกาย” ก็หมายถึง ความสุขที่เกิดจาการที่ ตาได้เห็นรูปที่สวยงาม, หูได้เยินเสียงที่ไพเราะ, จมูกได้กลิ่นที่หอม, ลิ้นได้รับรสที่เอร็ดอร่อย, และกายได้สัมผัสกับความเย็น ร้อน อ่อน แข็งฯ ซึ่งสิ่งที่ให้ความสุขทั้ง ๕ นี้สมัยนี้นิยมเรียกว่า วัตถุนิยม ที่หมายถึง วัตถุที่คนทั่วไปชื่นชอบ ซึ่งวัตถุนิยมนี้ก็สรุปอยู่ที่ กิน คือพวกวัตถุสิ่งของหรือบุคคลอันเป็นที่รัก, กาม คือพวกสิ่งที่น่ารักน่าใคร่ (โดยมีเพศตรงข้ามเป็นกามชนิดสูงสุด), และ เกียรติ คือพวกชื่อเสียง เกียรติยศ และอำนาจ 

ส่วน “ความสุขใจ” ก็หมายถึง ความสุขที่เกิดจาก “จิตใจที่ดีงาม” ซึ่งจิตใจที่ดีงามนั้นก็เกิดมาจาก  “การทำความดี” โดยไม่หวังผลตอบแทนเป็นวัตถุนิยม ซึ่งสรุปแล้วความสุขใจนี้เกิดขึ้นจาก การช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน, จากการให้อภัย, จากการอ่อนน้อมถ่อมตน, จากการกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ, จากการทำจิตให้เป็นสมาธิ, จากการมีเจตนาที่จะไม่เบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น, จากการมีความเห็นที่ถูกต้อง เป็นต้น

สรุปได้ว่า มนุษย์อยากได้ความสุข โดยความสุขของโลกก็สรุปได้ ๒ อย่าง คือ ความสุขกาย ที่เป็นความสุขจากการได้เสพวัตถุนิยม กับ ความสุขใจ ที่เป็นความสุขที่เกิดจากจิตใจที่ดีงาม

มนุษย์ไม่อยากได้ความทุกข์

ส่วนสิ่งที่มนุษย์เกลียด-กลัวหรือ “ไม่อยากได้” นั้นก็คือ “ความทุกข์” (ความทุกข์ ก็คือ ความรู้สึกที่ทนได้ยาก) ซึ่งความทุกข์นี้ก็แยกได้ ๒ อย่าง คือ  ความทุกข์กาย กับ  ความทุกข์ใจ

โดย “ความทุกข์กาย” ก็หมายถึง “ภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจ” ของชีวิตมนุษย์ทุกคน ซึ่งภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจของชีวิตเรานั้นก็ได้แก่ ความแก่ ความเจ็บ ความป่วย ความตาย และความพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รัก ความประสบกับบุคคลหรือสิ่งอันไม่เป็นที่รัก รวมทั้งความผิดหวัง ซึ่งความทุกข์กายนี้มันเป็นธรรมชาติที่ต้องเกิดกับมนุษย์ทุกคนอยู่แล้ว ไม่มีใครจะหนีพ้นได้ แต่ความทุกข์กายนี้มันยังไม่เป็นปัญหากับจิตใจของเรา เพราะมันเพียงทำให้จิตใจของเราเกิดความทุกข์ที่ยังไม่รุนแรงเท่านั้น ซึ่งเราทุกคนก็สามารถทนกันได้โดยไม่ยากอยู่แล้ว  

ส่วน “ความทุกข์ใจ” ก็หมายถึง ความทุกข์ที่รุนแรงที่จิตของเราปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาเองด้วยความโง่เขลา (คือไม่มีปัญญา) โดยความทุกข์ใจนี้ก็เกิดจากการที่จิตของเราเกิด “ความไม่อยากได้” ต่อ “ภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจ” ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่กับชีวิตของเรา (“ความไม่อยากได้” นี้ก็คืออาการของกิเลสประเภทลบ) ซึ่งความทุกข์ใจนี้จัดว่าเป็นปัญหาที่สำคัญหรือใหญ่หลวงที่สุดสำหรับจิตใจของเรา เพราะมันทำให้จิตของเราเกิดความทุกข์ที่รุนแรงมากขึ้นมา แล้วเราเรียกความทุกข์ที่รุนแรงนี้ว่า “ความเศร้าโศก” (หรือความเสียใจ ความคับแค้นใจ ความแห้งเหี่ยวใจ ความเครียดฯ) ซึ่งความทุกข์ใจนี้จัดว่าเป็น “สิ่งที่น่าหวาดกลัวอย่างที่สุดของมนุษย์ทุกคน” (หมายเหตุ. ถ้าพบคำว่า “ความทุกข์” ในหนังสือนี้ ก็ขอให้เข้าใจว่าหมายถึง “ความทุกข์ใจ”)

พระพุทธเจ้าได้ทรงเปรียบเทียบเรื่อง “ความทุกข์กาย” กับ “ความทุกข์ใจ” เอาไว้ว่า “ความทุกข์กาย” ก็เปรียบเหมือนกับการที่ร่างกายของเราถูกยิงด้วย “ลูกศรดอกเล็กๆที่ไม่ได้อาบด้วยยาพิษ” มาปักเข้าที่ร่างกายของเรา ซึ่งมันก็ทำให้ร่างกายของเราเกิดความรู้สึกเจ็บปวดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วน “ความทุกข์ใจ” นั้นก็เปรียบเหมือนกันการที่ได้มีคนยิง “ลูกธนูดอกใหญ่และอาบไว้ด้วยยาพิษ” มาปักซ้ำเข้าที่ร่างกายของเราอีก แล้วทำให้เราเกิดความรู้สึกเจ็บปวดทรมานอย่างแสนสาหัสซ้ำขึ้นมาอีกทันที   

สรุปได้ว่าความทุกข์ของมนุษย์นั้นมี ๒ อย่าง คือ “ความทุกข์กาย” ซึ่งเป็นความทุกข์ตามธรรมชาติที่ยังไม่รุนแรงและไม่เป็นปัญหา ซึ่งเราทุกคนก็สามารถทนกันได้โดยไม่ยากอยู่แล้ว กับ “ความทุกข์ใจ” ซึ่งเป็นความทุกข์ที่รุนแรง ที่จิตโง่ของเรามันปรุงแต่งขึ้นมาเอง และมันก็เป็นปัญหาใหญ่หลวงกับจิตใจของเรา เพราะมันทำให้จิตของเราเกิดความรู้สึกที่ทนได้ยากมากขึ้นมา รวมทั้งมันยังเป็น “สิ่งที่น่าหวาดกลัวอย่างที่สุดของมนุษย์ทุกคน” อีกด้วย

อริยสัจ ๔

อริยสัจ ๔ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ โดยอริยสัจ ๔ เป็นคำสอนเรื่อง การดับทุกข์ (หรือพ้นทุกข์ หรือไม่มีทุกข์) ของจิตใจในปัจจุบัน (คือดับทุกข์ที่นี่และเดี๋ยวนี้) ซึ่งความจริงทั้ง ๔ นั้นก็ได้แก่

๑. ความทุกข์  (ความทุกข์ใจ) ซึ่งความทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ นี้มีอยู่ ๓ อย่าง คือ (๑) ความทุกข์ซ่อนเร้น (ความหนัก-เหนื่อยใจ) (๑) ความทุกข์เปิดเผย (ความเศร้าโศก) (๓) ความทุกข์อ่อนๆ (ความรู้สึกรำคาญใจ) โดยความทุกข์ที่สำคัญที่เราต้องรู้จักให้ถูกต้องก็คือ “ความทุกข์ซ่อนเร้น” กับ “ความทุกข์เปิดเผย” (ส่วนความทุกข์อ่อนๆนั้น จุดนี้เราอย่าเพิ่งไปสนใจเพราะมันไม่รุนแรง) แต่ความทุกข์ที่รุนแรงมากและน่ากลัวที่สุดก็คือ “ความทุกข์เปิดเผย” (ความเศร้าโศก)

๒. สมุทัย คือ สาเหตุของความทุกข์ อันได้แก่ “กิเลส” (ความพอใจ-ความไม่พอใจ-ลังเลใจ) หรือ “ตัณหา” (ความอยากได้-ความไม่อยากได้-ความอยากมีชีวิตอยู่) โดยตัณหาประเภท “ความอยากได้” จะทำให้เกิด “ความทุกข์ซ่อนเร้น” ส่วนตัณหาประเภท “ความไม่อยากได้” จะทำให้เกิด “ความทุกข์เปิดเผย” ส่วนตัณหาประเภท “ความอยากมีชีวิตอยู่” จะทำให้เกิด “ความทุกข์อ่อนๆ”

๓. นิโรธ คือ ความดับไปของความทุกข์ ซึ่งการที่ความทุกข์จะดับหายไปหรือไม่มี (แม้เพียงชั่วคราว) นั้นก็เพราะ “จิตไม่มีกิเลสหรือตัณหา” ครอบงำ เมื่อจิตไม่มีความทุกข์มันก็จะ นิพพาน คือ สงบเย็น (แม้เพียงชั่วคราว)

๔. มรรค หรือ อริยมรรค คือ วิธีการดับทุกข์ (หรือวิธีการป้องกันไม่ให้จิตเกิดความทุกข์ทั้งอย่างชั่วคราวและถาวร) ซึ่งอริยมรรคนี้มีองค์ประกอบโดยละเอียดอยู่ ๘ องค์ประกอบ แต่สรุปเป็นหลักปฏิบัติได้ ๓ ประการ คือ “ปัญญา ศีล สมาธิ” และสรุปให้เหลือสั้นที่สุดก็คือ “ใช้ปัญญากับสมาธิมาทำงานร่วมกัน” (โดยมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว)

คำสอนของอริยสัจ ๔ นี้มีรายละเอียดมาก แต่ในจุดนี้เราจะมาศึกษาอริยสัจ ๔ แบบสรุปให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องก่อน เพื่อให้มองเห็นอริยสัจ ๔ ทั้งหมดแบบภาพรวมก่อน เมื่อเรามองเห็นภาพรวมทั้งหมดของอริยสัจ ๔ ได้อย่างถูกต้องแล้ว เราจึงค่อยมาศึกษารายละเอียดทีหลัง

มนุษย์เห็นทุกข์ผิด

ธรรมชาติของมนุษย์ธรรมดาทั้งหลายนั้น จะมีความเข้าใจผิด (หรือความเห็นผิดผิด) ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ มีความเข้าใจผิดว่า “เมื่อเราได้ประสบกับภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจเมื่อใด จิตของเราก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที” คือเขาเข้าใจว่าเราไม่สามารถแยก “ความทุกข์กาย” กับ “ความทุกข์ใจ” ออกจากกันได้ ดังนั้นเขาจึงเกิดความเข้าใจผิดต่อไปอีกว่า “เราไม่สามารถดับทุกข์ในชีวิตปัจจุบันได้ และถ้าจะดับได้ก็ต้องตายไปแล้วไม่กลับมาเกิดใหม่อีกเท่านั้น” ซึ่งจากความเข้าใจผิดนี้เอง ที่ทำให้เกิดความเชื่อเรื่อง “การดับทุกข์ในชาติหน้า” หรือ “การดับทุกข์ในชาติต่อๆไปอีกหมื่นชาติแสนชาติ” อย่างที่เราอาจจะเคยได้ฟังจากคนอื่นหรือได้อ่านจากตำรากันมาก่อน

จากความเข้าใจผิดนี้เอง ที่ทำให้ผู้ที่เข้าใจผิดนี้เกิดความเข้าใจผิดต่อหลักคำสอนอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าที่สอนเรื่องการดับทุกข์ในชีวิตปัจจุบัน คือเขาเข้าใจผิดไปว่า หลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้านั้น เป็นการปฏิบัติเพื่อสั่งสมคุณสมบัติหรือพลังพิเศษ (บารมี) เอาไว้เท่านั้น และเมื่อเราตายไปแล้วและได้เกิดมาใหม่ เราก็ต้องมาปฏิบัติเพื่อสั่งสมบารมีกันใหม่เรื่อยๆไป (คือเกิดใหม่อีกหมื่นชาติแสนชาติ) จนกว่าบารมีของเราจะเต็มหรือสมบูรณ์ เราจึงจะหลุดพ้นจากความทุกข์ (หรือนิพพาน) ได้ ซึ่งแม้นิพพานเขาก็ยังเข้าใจผิดไปว่าหมายถึง  การตายแล้วจะไม่กลับมาเกิดเป็นคนหรือเป็นอะไรๆอีกต่อไป (แต่บางคนก็เข้าใจนิพพานเป็นบ้านเป็นเมืองที่มีแต่ความสุขโดยไม่มีความทุกข์อยู่ชั่วนิรันดรก็มี)

สรุปได้ว่า เราต้องมีความเข้าใจให้ถูกต้องว่า “พระพุทธเจ้าจะสอนเฉพาะเรื่องการดับทุกข์ที่นี่และเดี๋ยวนี้” ไม่ใช่สอนให้ไปดับทุกข์เอาในชาติหน้า อีกทั้งความทุกข์ที่พระพุทธเจ้าสอนให้ดับนั้นไม่ใช่ “ความทุกข์กาย” แต่เป็น “ความทุกข์ใจ” ที่เกิดมาจากกิเลสหรือตัณหาที่จิตโง่ของเรามันปรุงแต่งขึ้นมาเอง

กิเลสคือเหตุของความทุกข์

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนเรื่องกฎสูงสุดของธรรมชาติเอาไว้ว่า “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจะต้องมีเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น” (คือไม่มีอะไรที่จะเกิดขึ้นมาได้เองโดยไม่มีเหตุปัจจัย) ดังนั้นความทุกข์ก็ต้องเกิดมาจากเหตุด้วยเหมือนกัน

โดย “เหตุ” ที่ทำให้เกิดความทุกข์ (ความทุกข์ซ่อนเร้นกับความทุกข์เปิดเผย) นั้นก็คือ “กิเลส” (หรือตัณหา) โดยมี “อารมณ์” (คือรูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ-สิ่งที่มาสัมผัสกาย, และธรรมารมณ์-ทุกสิ่งที่มาสัมผัสใจ) เป็น “ปัจจัย” มาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น โดยอาการของกิเลสนั้นสรุปได้ ๓ กลุ่ม อันได้แก่

๑. ราคะ คือ ความพอใจ ซึ่งเป็นอาการ ดึงเอาเข้ามาหาตัวเรา เช่น รัก ชอบ ยินดี หรือความอยากได้ (โลภ) อยากมี อยากเป็น เป็นต้น ซึ่งจัดเป็นกิเลสประเภทบวก

๒. โทสะ คือ ความไม่พอใจ ซึ่งเป็นอาการ ผลักออกไปจากตัวเรา เช่น โกรธ เกลียด กลัว เบื่อ อยากหนี อยากทำลาย หรือความไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น เป็นต้น ซึ่งจัดเป็นกิเลสประเภทลบ

๓. โมหะ คือ หลงวนเวียน หรือ ความลังเลใจ ซึ่งเป็นอาการ ไม่แน่ใจ หรือตัดสินใจไม่ถูก หรือ งง เซ่อ เป็นต้น ซึ่งจัดเป็นกิเลสประเภทกลางๆ

กิเลสนี้ถ้ามองในแง่ว่ามันทำให้จิตเกิดความทุกข์ก็จะเรียกว่า ตัณหา ที่หมายถึง ความอยากด้วยความโง่ หรือ ความอยากเพื่อตนเอง ซึ่งกิเลสประเภทบวก (ความพอใจ) นี้จะทำให้จิตของเราเกิดความทุกข์ซ่อนเร้น ส่วนกิเลสประเภทลบ (ความไม่พอใจ) จะทำให้จิตของเราเกิดความทุกข์เปิดเผย และกิเลสประเภทกลางๆ (ความลังเลใจ) จะทำให้จิตของเราเกิดความทุกข์อ่อนๆ

ทุกข์ซ่อนเร้น-ทุกข์เปิดเผย

ขณะที่จิตของเรากำลังสัมผัสกับ “ภาวะที่น่าพึงพอใจ” (สิ่งที่ทำให้จิตของเราเกิดความสุข) ของโลกอยู่นั้น แล้วจิตของเราก็เกิดกิเลสประเภทบวกคือ “ความพอใจ” กับภาวะที่น่าพึงพอใจนั้นด้วย มันก็จะทำให้จิตของเราเกิด ความหนักใจ ความเหนื่อยใจ ความกระวนกระวายใจอยู่ลึกๆ (ซึ่งมันทำให้จิตไม่นิพพานสูงสุด) ซึ่งนี่ก็เป็นอาการของความทุกข์อย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน ซึ่งเราจะเรียกว่าเป็น “ความทุกข์ซ่อนเร้น” เพราะมันเห็นได้ยากต้องสังเกตจึงจะพบ คือมันเกิดขึ้นมาพร้อมกับรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ซึ่งจุดนี้เราต้องมาดูที่จิตของเราเองจริงๆ เพื่อที่จะได้รู้จักกับความทุกข์ซ่อนเร้นนี้ได้อย่างถูกต้อง ถ้าเรายังไม่รู้จักความทุกข์ซ่อนเร้นนี้อย่างถูกต้อง เราก็จะยังไม่รู้จักความทุกข์ในอริยสัจ ๔ อย่างถูกต้องสมบูรณ์

 แต่ขณะที่จิตของเรากำลังสัมผัสกับ “ภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจ” (เช่น ความแก่ เจ็บ ตาย และความพลัดพราก เป็นต้น) ของโลกอยู่นั้น แล้วจิตของเราก็เกิดกิเลสประเภทลบคือ “ความไม่พอใจ” กับภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจนั้นด้วย  มันก็จะทำให้จิตของเราเกิด “ความทุกข์” ที่รุนแรง (คือความเศร้าโศก ความเสียใจ ความคับแค้นใจ ความแห้งเหี่ยวใจ เป็นต้น) ขึ้นมาทันที ซึ่งความทุกข์ที่รุนแรงนี้เอง ที่เราเรียกว่าเป็น “ความทุกข์เปิดเผย” เพราะมันเห็นได้ง่าย คือมันเกิดขึ้นมาพร้อมกับน้ำตาและเสียงร้องไห้

ส่วนขณะที่จิตของเรากำลังเกิด “ความลังเลใจ” ต่อ “ธรรมชาติที่เป็นกลางๆ” (คือยังไม่ใช่ทั้งภาวะที่น่าพึงพอใจและไม่น่าพึงพอใจ) อยู่นั้น มันก็จะทำให้จิตของเราก็เกิด ความรู้สึกไม่สบายใจ หรือรำคาญใจ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งความรู้สึกไม่สบายใจเล็กน้อยนี้ มันก็ได้ทำให้จิตของเกิดความรู้สึก ไม่สงบ ไม่เย็น ไม่ปรกติ ไม่สดชื่นแจ่มใส ขึ้นมาทันที (คือมันทำให้จิตไม่นิพพานสูงสุด) ซึ่งความรู้สึกไม่สบายใจเล็กน้อยนี้ ก็จัดว่าเป็นความทุกข์ด้วยเหมือนกัน แต่ว่าเป็นเพียง “ความทุกข์อ่อนๆ” เท่านั้น

ถ้าจะเปรียบ “ความทุกข์เปิดเผย” ก็เปรียบเหมือนกับการที่เราถูกบังคับให้ทำงานแบกก้อนหินที่หนักเอาไว้บนบ่า  ซึ่งร่างกายของเราก็จะเกิดความรู้สึกหนักและเหนื่อย (คือความทุกข์กาย) อยู่ตลอดเวลาที่แบกก้อนหินที่หนักนั้น รวมทั้งจิตของเราก็เกิด “ความไม่อยากได้” ก้อนหินที่หนักนั้นด้วยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งความไม่อยากได้นี้เองที่ทำให้จิตของเราเกิด ความเศร้าใจ ความคับแค้นใจ ความแห้งเหี่ยวใจ ฯ (คือเกิดความทุกข์เปิดเผย) ซ้อนขึ้นมาอีกที

ส่วน “ความทุกซ่อนเร้น” ก็เปรียบเหมือนกับการที่เราได้รับรางวัลเป็นทองคำที่มีน้ำหนักเท่าก้อนหินที่หนักนั้น ซึ่งร่างกายของเราก็จะเกิดความรู้สึกหนักและเหนื่อยเท่าๆกับการแบกก้อนหินที่หนักนั้นอยู่ตลอดเวลา (คือความทุกข์กาย) แต่จิตใจของเรากลับเกิด “ความอยากได้” หรือ “ความพึงพอใจ” ในการแบกทองค้ำนั้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งความอยากได้นี้เองที่ทำให้จิตของเราเกิด ความเร่าร้อนใจ ความกระวนกระวายใจ หรือความหนัก-เหนื่อยใจ ฯ อยู่ตลอดเวลาที่แบกทองคำนั้นอยู่ (คือเกิดความทุกข์ซ่อนเร้น) คือมันมีความสุขมาเคลือบความทุกข์ซ่อนเร้นนี้เอาไว้ จึงทำให้เราลืมไปว่าเรากำลังมีความทุกข์ทรมานกายอยู่ด้วย ซึ่งความทุกข์ซ่อนเร้นนี้ จะต้องสังเกตเราจึงจะพบ แต่ถึงแม้เราจะพบ เราก็มักจะไม่กลัว ซ้ำร้ายเรากลับเกิดความพอใจที่จะมีความหนัก-เหนื่อยกายนั้นเข้าไปอีก เพราะมันมีความสุขมาเป็นสิ่งล่อลวงให้เราติดกับของมัน

สรุปได้ว่า เราจะต้องรู้จักทั้ง “ความทุกข์เปิดเผยที่น่าหวาดกลัว” และ “ความทุกข์ซ่อนเร้นที่น่าพึงพอใจ” ให้ถูกต้อง เราจึงจะรู้จักความทุกข์ในอริยสัจ ๔ ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ แต่ถ้าเรารู้จักเพียง “ความทุกข์เปิดเผย” แต่ไม่รู้จัก ความทุกข์ซ่อนเร้น” ก็เท่ากับเรายังไม่รู้จักความทุกข์ในอริยสัจ ๔ ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ เพราะแม้ความทุกข์ซ่อนเร้นมันจะเป็นความทุกข์ที่เราพอใจกับมันก็ตาม แต่มันก็ได้ทำให้จิตของเราไม่นิพพานอย่างสูงสุด ดังนั้นถ้าเราอยากจะพ้นทุกข์อย่างสูงสุด เราจะต้องรู้จักความทุกข์ซ่อนเร้นนี้ให้ถูกต้องก่อน และยังต้องปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดแม้ความทุกข์ซ่อนเร้นที่น่าพึงพอใจนี้ด้วย เพื่อที่จิตของเราจะได้นิพพานอย่างสูงสุดและถาวรต่อไป

ความเศร้าโศกเกิดจากสิ่งอันเป็นที่รัก

พระพุทธเจ้าได้สรุปคำสอนเรื่องอริยสัจ ๔ ให้ชาวบ้านเข้าใจอย่างง่ายๆว่า “ความเศร้าโศกเกิดจากสิ่งอันเป็นที่รัก” คือชาวบ้านหรือคนธรรมดาก็มักจะมีความเห็นหรือความเข้าใจว่า “สิ่งอันเป็นที่รักทำให้เกิดความสุข” (สิ่งอันเป็นที่รักก็ได้แก่ ร่างกายของตนเอง สามี-ภรรยา ลูก ญาติ พี่ น้อง เพื่อน และวัตถุสิ่งของต่างๆ ชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นต้น) ซึ่งถ้ามองอย่างผิวเผินก็จะเป็นอย่างที่ชาวบ้านมอง

แต่ถ้ามองอย่างลึกซึ้งและรอบครอบเราก็จะพบความจริงว่า เมื่อมีสิ่งอันเป็นที่รัก ก็ย่อมจะทำให้เกิด “ความทุกข์ซ่อนเร้น” คือ ความหนัก-เหนื่อยใจ และความวิตกกังวลอยู่เสมอๆ เพราะกลัวว่างสิ่งอันเป็นที่รักจะพลัดพรากจากเราไป อีกทั้งในอนาคตไม่ช้าก็เร็ว “สิ่งอันเป็นที่รักนั้นก็ต้องพลัดพรากจากเราไปตามความไม่เที่ยงของมันอย่างแน่นอน” แล้ว “ความทุกข์เปิดเผย” (คือความเศร้าโศก หรือความเสียใจ ความคับแค้นใจ ความแห้งเหี่ยวใจฯ) ที่น่าหวาดกลัวอย่างที่สุดของชีวิต ก็ย่อมที่จะเกิดขึ้น

ส่วนวิธีการที่จะทำให้ไม่เกิดความทุกข์ (ทั้งความทุกข์ซ่อนเร้นและความทุกข์เปิดเผย) นั้นพระพุทธเจ้าสอนว่า “อย่ามีสิ่งอันเป็นที่รักเลย เพราะการพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักทำให้เกิดความทุกข์” ซึ่งถ้าเป็นชาวบ้านที่ยังไม่เข้าใจก็จะคิดว่าพระพุทธเจ้าสอนไม่ให้มีสิ่งอันเป็นที่รัก แต่ความจริงแล้วความหมายก็คือ “อย่าเกิดความรักหรือความพอใจ (คือกิเลสหรือตัณหา) ต่อสิ่งใดๆ” คือเมื่อเราไม่มีความรักหรือความพอใจต่อสิ่งใดๆ แม้สิ่งนั้นจะมีอยู่ก็ตาม (เช่น สามี-ภรรยา ลูก ทรัพย์สมบัติ เป็นต้น) มันก็จะมีค่าเท่ากับไม่มี คือความรักด้วยกิเลสตัณหานั้น มันเป็นความรักแบบยึดติดหรือยึดมั่นถือมั่น “ด้วยความเห็นผิด” ว่า “สิ่งอันเป็นที่รักนั้นมันเป็นอัตตาที่เที่ยงและนำความสุขมาให้” แต่ความจริงแล้ว สิ่งอันเป็นที่รักนั้นมันกลับเป็น “อนัตตาและไม่เที่ยงรวมทั้งนำความทุกข์มาให้”

ถ้าเราเปลี่ยนจากความรักด้วยกิเลสตัณหามาเป็นความรักด้วยปัญญา ที่เรียกว่า “เมตตา” ที่หมายถึง ความเป็นมิตร หรือ ความไม่เป็นศัตรูต่อกัน ก็จะไม่ทำให้เกิดความทุกข์ เพราะปัญญาจะทำให้เราเกิดความเข้าใจโลกและชีวิตอย่างลึกซึ้งตามความเป็นว่า “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นมันเป็นอนัตตา และไม่เที่ยง เมื่อยึดถือเข้าแล้วจะทำให้เกิดความทุกข์” ดังนั้นจิตของผู้ที่มีปัญญาก็จะไม่เกิดกิเลสหรือตัณหาต่อสิ่งทั้งหลายนั้น แต่จะมี “ความเมตตา” และ “กรุณา” คือคิดที่จะช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา และ เมื่อสิ่งใดได้พลัดพรากจากเราไป จิตที่มีปัญญานี้ก็จะไม่เกิดความทุกข์ หรือแม้จะเกิดก็เกิดน้อยที่สุด แต่การที่ใครๆจะมีปัญญาได้นั้นก็ต้องมีการศึกษาและปฏิบัติตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้ามาก่อนอย่างถูกต้องและเพียงพอ

จิตเดิมแท้ประภัสสร

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า จิตของมนุษย์ทุกคนนั้น จะมี “ความบริสุทธิ์” หรือ “ประภัสสร” (คือมีความสว่างเหมือนมีแสงส่องออกมา) อยู่แล้วเป็นพื้นฐานตามธรรมชาติ ซึ่งจิตที่บริสุทธิ์นี้จะมี “อวิชชา” (คือความรู้สึกว่ามีตนเอง ซึ่งเป็นสัญชาติญาณของจิต) เกิดขึ้นมาพร้อมกับจิตด้วยเสมอตามธรรมชาติ (หมายเหตุ. อวิชชานี้จะยังไม่ทำให้จิตเกิดความทุกข์ เพราะมันแค่ทำให้จิตเกิดความรู้สึกว่ามีตัวเราเท่านั้น จนกว่าอวิชชาจะครอบงำระบบการปรุงแต่งของจิต แล้วทำให้จิตเกิดกิเลสหรือตัณหาขึ้นมาก่อน จิตจึงค่อยเกิดความทุกข์ขึ้นมาทีหลัง) โดยจิตที่บริสุทธิ์นี้ จะยังไม่มีความทุกข์ แต่จะมีนิพพาน (คือความสงบเย็น) อยู่ด้วยแล้วเป็นพื้นฐานตลอดเวลา โดยที่ไม่ต้องปรุงแต่งหรือทำให้เกิดขึ้นมา

แต่เพราะจิตที่บริสุทธิ์นี้ ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนให้มีปัญญาและสมาธิ เพื่อมาระวังรักษาความบริสุทธิ์นี้เอาไว้ ดังนั้นเมื่อใดที่จิตที่บริสุทธิ์นี้ได้สัมผัสกับโลก (คือรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น) แล้วเกิดความรู้สึก (เวทนา) ขึ้นมา จึงทำให้จิตเกิด “ความพึงพอใจ” ต่อ “ความรู้สึกที่น่าพึงพอใจ” (คือสุขเวทนา) และเกิด “ความไม่พึงพอใจ” ต่อ ความรู้สึกที่ไม่น่าพึงพอใจ” (ทุกขเวทนา) ตามสัญชาติญาณของจิต ซึ่ง “ความพึงพอใจ-ไม่พึงพอใจ” นี้ก็คืออาการของกิเลสหรือตัณหา ที่เป็นเหตุทำให้จิตเกิดความทุกข์ (ความทุกข์ซ่อนเร้น-ความทุกข์เปิดเผย) นั่นเอง

แต่เมื่อกิเลสที่เกิดขึ้นมาแล้วนั้นได้ดับหายไป (ซึ่งก็อาจจะดับหายไปเองตามธรรมชาติ หรือดับไปเพราะการปฏิบัติตามหลักอริยมรรคก็ได้) ความบริสุทธิ์หรือความประภัสสรของจิต ก็จะกลับคืนมาได้อีก แล้วจิตก็จะนิพพานหรือสงบเย็นได้อีกทันที ซึ่งมันก็จะเป็นอยู่อย่างนี้เรื่อยไปตราบที่รากเหง้าของกิเลส (คือนิสัยของอวิชชาและกิเลสที่มีอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา) ได้หมดสิ้นไปอย่างถาวร จิตจึงจะนิพพานอย่างถาวรได้ (คือมีนิพพานตลอดเวลาจนตลอดชีวิต)

นิพพานคือสิ่งสูงของชีวิต

คำว่า สิ่งสูงสุดของชีวิต หมายถึง สิ่งที่มีคุณหรือประโยชน์ที่สุดของชีวิต ซึ่งคนที่มี “ความเห็นแก่ตัวจัด” ก็จะมีความเข้าใจว่า “ความสุขจากวัตถุนิยมคือสิ่งสูงสุดของชีวิต” ซึ่งเราก็รู้อยู่ว่าเมื่อเราลุ่มหลงความสุขจากวัตถุนิยมกันมากๆ ก็จะทำให้เกิดปัญหาหรือความเดือดร้อนแก่ตัวเราตามมามากมาย รวมทั้งยังทำให้เกิดภัยพิบัติแก่มวลมนุษย์และโลกตามมาด้วยเสมอ แต่ที่สำคัญก็คือ เมื่อวัตถุนิยมที่เราเคยมีได้พลัดพรากจากเราไป ก็จะทำให้เราเกิดความเศร้าโศก (ความทุกข์ใจ) ที่เป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัวอย่างที่สุดเกิดขึ้นมาทัน ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ความสุขจากวัตถุนิยม ไม่ใช่สิ่งสูงสุดของชีวิต เพราะความสุขจากวัตถุนิยมนี้ จะนำทั้งความเดือดร้อนทางกายและความทุกข์ทางใจมาให้ภายหลังเสมอ

ส่วนคนที่มี “ความเห็นแก่ตัวน้อย” ก็จะเข้าใจว่า “ความสุขจากการทำความดีเป็นสิ่งสูงสุดของชีวิต” แต่เมื่อใดที่เขาไม่ได้ทำความดี เขาก็จะเกิดความทุกข์ใจเพราะต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักขึ้นมาทันที หรือเมื่อเขาได้พบกับคนที่ทำความชั่ว เขาก็จะเกิดความทุกข์ใจเพราะความรังเกียจหรือไม่พอใจกับคนชั่วนั้นขึ้นมาทันที ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ความสุขจากการทำความดี ก็ยังไม่ใช่สิ่งสูงสุดของชีวิต เพราะความสุขจากการทำความดีนี้ จะนำความทุกข์ทางใจมาให้ภายหลังเสมอ

เมื่อความสุขไม่ใช่สิ่งสูงสุดของชีวิต ก็จะเกิดคำถามขึ้นว่า แล้วอะไรที่สมควรเป็นสิ่งสูงสุดของชีวิต? ซึ่งคำตอบก็คือ “ความไม่มีทุกข์” ซึ่งเหตุผลที่บอกว่า “ความไม่มีทุกข์เป็นสิ่งสูงสุดของชีวิต” นั้นก็คือ เมื่อความทุกข์เป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัวอย่างที่สุดของชีวิต ดังนั้นถ้าชีวิตไม่มีความทุกข์ก็แสดงว่า ชีวิตได้รับสิ่งสูงสุดที่คู่ควรกับชีวิตแล้ว ซึ่งความไม่มีทุกข์นี้พุทธศาสนาเรียกว่า นิพพาน ที่แปลว่า เย็น คือหมายถึง “จิตที่สงบเย็น” เพราะไม่มีความทุกข์

ปกติเราก็มีนิพพานกันอยู่แล้ว

นิพพาน แปลว่า เย็น คือหมายถึง ความสงบเย็นของจิต แต่นิพพานนี้ยังแยกได้ ๒ ระดับ คือ นิพพานขั้นต้น กับ นิพพานสูงสุด

โดยนิพพานขั้นต้นนั้นก็ได้แก่ ความสงบเย็นของจิตที่ยังไม่มาก คือยังเป็นแค่เพียง “ความอุ่นใจ” เท่านั้น ซึ่งความอุ่นใจนี้ก็เกิดขึ้นได้ จากการที่เราเป็นคนที่มีศีลธรรมและมีความเห็นแก่ตัวน้อย รวมทั้งเราได้ทำหน้าที่ของเราไว้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์แล้ว จึงทำให้เรามีความอุ่นใจได้ว่า ชีวิตของเราจะไม่เดือดร้อนทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ส่วนนิพพานสูงสุดก็คือความสงบเย็นสูงสุดของจิต ที่เกิดจากการที่จิตของเรามีสมาธิ แล้วสมาธินี้ก็มาทำให้กิเลสระงับหรือดับหายไป (แม้เพียงชั่วคราว) เมื่อจิตไม่มีกิเลส ความสงบเย็นอย่างสูงสุดก็จะกลับคืนมาให้จิตได้สัมผัสอีก แต่ถ้าสมาธิหายไป กิเลสและความทุกข์ก็จะยังกลับมาเกิดขึ้นใหม่ได้อีก

แต่ทั้ง “นิพพานขั้นต้นและนิพพานสูงสุด” นี้ก็ยังมีทั้ง “นิพพานชั่วคราว” และ “นิพพานถาวร” ซึ่งนิพพานชั่วคราวก็คือ นิพพานจะปรากฏกับจิตของเราเป็นครั้งคราวเท่านั้น เพราะจิตใต้สำนึกของเรามันยังมีนิสัยของอวิชชาและกิเลสอยู่ จึงทำให้จิตยังเกิดกิเลสขึ้นมาได้อีกเรื่อยไป

ส่วนนิพพานถาวรก็คือ นิพพานที่ปรากฏกับจิตของเราอยู่ตลอดเวลาจนตลอดชีวิต ซึ่งการที่จิตจะนิพพานถาวรได้ก็ต้องเกิดจาก “การปฏิบัติตามหลักอริยมรรคของอริยสัจ ๔ ที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ จนทำให้นิสัยของอวิชชาและกิเลสที่มีอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา ได้เลือนหายไปอย่างถาวร แล้วเกิดนิสัยของอริยมรรคเข้ามาแทนที่” จึงจะทำให้กิเลสไม่เกิดขึ้นอีกกับจิตของเราตลอดเวลาจนตลอดชีวิต (เพราะมันไม่มีต้นเหตุที่จะมาทำให้มันเกิดขึ้นมาได้ต่อไปอีกแล้ว) ซึ่งนิพพานถาวรนี้เอง ที่จัดว่าเป็นจุดหมายสูงสุดของพุทธศาสนา

สรุปได้ว่า ปกติเราก็มีนิพพานกันอยู่แล้วเพียงแต่ว่าเป็นแค่นิพพานขั้นต้นและนิพพานชั่วคราวเท่านั้น ส่วนนิพพานสูงสุดนั้น เราก็พอจะมีกันอยู่บ้างแล้วเป็นครั้งคราวเวลาที่กิเลสมันได้ระงับดับหายไปของมันเองตามธรรมชาติ หรือเกิดจากการที่จิตของเรามีสมาธิ ซึ่งพระพุทธเจ้านั่นเองที่มาสอนให้เรามีนิพพานสูงสุดและถาวร ดังนั้นจึงขอให้เราเข้าใจนิพพานกันเสียใหม่ให้ถูกต้อง และรู้จักพระคุณของนิพพาน ที่ได้หล่อเลี้ยงจิตของเราเอาไว้ให้ได้พักผ่อน ถ้าไม่มีนิพพานชั่วคราวมาหล่อเลี้ยงจิตของเราเอาไว้ เราคงเป็นบ้าตายกันไปหมดแล้ว เพราะถูกกิเลสแผดเผาอยู่ตลอดทั้งวัน 

อริยมรรคมีองค์ ๘

คำว่า มรรค แปลว่า หนทาง ส่วน อริยมรรค แปลว่า หนทางอันประเสริฐ ซึ่งความหมายก็คือ เป็นหนทางไปสู่นิพพานหรือความพ้นทุกข์ โดยอริยมรรคนี้แม้จะเป็นหนทางเดียว แต่ว่ามีองค์ประกอบโดยละเอียดอยู่ถึง ๘ องค์ประกอบ อันได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูกต้อง) คือ การมีความเห็น (หรือความเข้าใจ) ว่า “ร่างกายและจิตใจของเราเป็นอนัตตา” (คือไม่ได้เป็นตัวเรา-ของเราจริงๆ)

๒. สัมมาสังกัปโป (ความดำริถูกต้อง) คือ การดำริหรือความคิดอยากกำจัดกิเลสเพื่อจิตจะได้ไม่มีความทุกข์

๓. สัมมาวาจา (วาจาถูกต้อง) คือ การพูดที่จะไม่ทำให้กิเลสเกิดขึ้น

๔. สัมมากัมมันโต (การกระทำทางกายที่ถูกต้อง) คือ การกระทำทางกายที่จะไม่ทำให้กิเลสเกิดขึ้น

๕. สัมมาอาชีโว (การประกอบอาชีพถูกต้อง) คือ การประกอบอาชีพและการดูและร่างกายที่จะไม่ทำให้กิเลสเกิดขึ้น

๖. สัมมาวายาโม (การมีความเพียรถูกต้อง) คือ การพยายามปฏิบัติอริยมรรคอย่างต่อเนื่องชนิดไม่กลัวตาย

๗. สัมมาสติ (การมีสติถูกต้อง) คือ การระลึกอยู่แต่เรื่อง “ร่างกายและจิตใจของเราเป็นอนัตตา”

๘. สัมมาสมาธิ (การมีสมาธิถูกต้อง) คือ การที่จิตที่ตั้งมั่นอยู่แต่ในเรื่อง “ร่างกายและจิตใจของเราเป็นอนัตตา”

องค์ประกอยทั้ง ๘ ของอริยมรรคนี้สรุปลงสั้นๆเป็นหลักการปฏิบัติได้ ๓ ประการ คือ ปัญญา ศีล สมาธิ ซึ่งองค์ประกอบที่ ๑ กับ ๒ จัดเป็นปัญญา โดยหัวใจของปัญญาก็คือ ความเข้าใจและเห็นแจ้งว่า “ร่างกายและจิตใจของเราเป็นอนัตตา” ส่วนองค์ประกอบที่ ๓, ๔, ๕ จัดเป็นศีล โดยศีลก็สรุปอยู่ที่ “การมีเจตนาที่จะไม่เบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น” ส่วนองค์ประกอบที่ ๖, ๗. ๘ จัดเป็นสมาธิ โดยสมาธิก็คือ “การที่จิตจดจ่ออยู่แต่เรื่องปัญญาอย่างแน่วแน่” ซึ่งการปฏิบัติอริยมรรคโดยสรุปก็คือ “การใช้ปัญญากับสมาธิมาทำงานร่วมกัน” (โดยมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว)

พระพุทธเจ้าทรงค้นพบวิธีการดับทุกข์โดยใช้ปัญญา

ในสมัยก่อนที่พระพุทธเจ้าจะทรงตรัสรู้ขึ้นมานั้น ก็มีพวกฤๅษีหรือนักบวชมากมายที่เขาพยายามแสวงหาวิธีการดับทุกข์ของจิตใจกันอยู่แล้ว ซึ่งเขาก็ค้นพบกันมานานแล้วว่า “สมาธิสามารถดับทุกข์ได้ชั่วคราว” แต่การที่จะใช้สมาธิมาดับทุกข์ได้นั้น ต้องมีการฝึกฝนอย่างหนักจนเกิดสมาธิสูงขั้นขึ้นมาจึงจะดับทุกข์ได้ เพราะกิเลสในใจคนเรานั้นมันแข็งแรงหรือดื้อมาก จึงทำให้ชาวบ้านธรรมดาไม่สามารถปฏิบัติได้เหมือนพวกฤๅษีทั้งหลาย

แต่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบวิธีการใหม่ ที่ทำให้แม้ชาวบ้านหรือคนธรรมดาทั่วไป ก็สามารถดับทุกข์ได้เหมือนพวกฤๅษีโดยที่ไม่ต้องใช้สมาธิขั้นสูงก็ได้ ซึ่งวิธีการที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนั้นก็คือ การทำให้กิเลสมันอ่อนแรงลงก่อน เมื่อกิเลสมันอ่อนแรงลงแล้ว ก็ใช้สมาธิธรรมดาๆที่เราก็พอจะมีกันอยู่บ้างแล้วนี้มาดับมันได้โดยไม่ยาก (แม้เพียงชั่วคราว)

โดยวิธีการที่จะทำให้กิเลสมันอ่อนแรงลงนั้นก็คือ “สอนให้จิตเกิดความเข้าใจถึงความจริง ๓ ประการของร่างกายและจิตใจของเราเอง” เมื่อจิตของเรามันเข้าใจถึงความจริงทั้ง ๓ ประการนี้แล้ว กิเลสของจิตมันก็อ่อนแรงลงได้ โดยความจริงทั้ง ๓ ประการนั้นก็ได้แก่

๑. ความจริงที่ว่า ร่างกายและจิตใจของเรานี้ รวมทั้งสิ่งทั้งหลายที่เรารักและยึดถือเอาไว้ด้วยความรักความพอใจนั้น “มันไม่เที่ยง” (อนิจจัง) คือมันจะต้องเปลี่ยนแปลงหรือเสื่อมสลาย และดับหายไปอย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว ไม่มีอะไรที่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วจะตั้งอยู่ไปชั่วนิรันดรได้ โดยเฉพาะความสุขจากวัตถุนิยมนั้น มันไม่สามารถจะเกิดขึ้นมาแล้วตั้งอยู่กับเราตลอดไปได้ ซึ่งไม่ช้าก็เร็ว ความสุขทั้งหลายที่เราเคยมี ก็ต้องดับหายไปจนหมดสิ้น แล้วก็เหลือไว้เพียงความว่างเปล่าให้เราอาลัยหาด้วยน้ำตานองหน้า

เมื่อเรา “เพ่งพิจารณาถึงความไม่เที่ยงอย่างตั้งใจ” (ความตั้งใจก็คือสมาธิ) อยู่อย่างนี้ไม่นาน จิตของเรามันก็จะ “เกิดความเบื่อหน่ายในความสุข ที่สุดท้ายมันก็ต้องดับหายไป” ซึ่งการที่จิตเกิดความเบื่อหน่ายในความสุขนี้เอง ก็คือการที่กิเลสในจิตใต้สำนึกของเรามันได้อ่อนแรงลงแล้ว (คือเฉพาะในขณะที่ตั้งใจพิจารณานั้น) ซึ่งในขณะที่เรากำลังเพ่งพิจารณาอย่างตั้งใจอยู่นี้ ก็ได้ทำให้จิตของเราเกิดสมาธิตามธรรมชาติขึ้นมาด้วยอย่างพอเหมาะ อันจะทำให้กิเลสระงับหรือดับลงได้ทันที (แม้เพียงชั่วคราว)

๒. ความจริงที่ว่า ชีวิของเรานี้ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องมาพบกับ “ภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจ” มากมาย อันได้แก่ ความแก่ ความเจ็บ ความป่วยไข้ ความตาย ความพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รัก ความที่ต้องประสบกับบุคคลหรือสิ่งอันไม่เป็นที่รัก และความผิดหวัง อีกทั้งถ้าจิตของเราเกิด “ความไม่อยากได้” ต่อ “ภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจ” ที่กำลังเกิดขึ้นกับชีวิตของเราอยู่นั้น ก็จะทำให้จิตของราเกิด “ความทุกข์” (ความเศร้าโศก) ขึ้นมาทันทีอย่างรุนแรง

เมื่อเราเพ่งพิจารณาอย่างตั้งใจอยู่อย่างนี้ไม่นาน จิตของเรามันก็จะ “เกิดความเบื่อหน่ายในความทุกข์ (ความเศร้าโศก) ที่เกิดขึ้นจากความไม่พอใจต่อภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจของชีวิต” ซึ่งการที่จิตเกิดความเบื่อหน่ายในความทุกข์นี้เอง ก็คือการที่กิเลสในจิตใต้สำนึกของเรามันได้อ่อนแรงลงแล้ว (เฉพาะในขณะนั้น) ซึ่งในขณะที่เรากำลังเพ่งพิจารณาอย่างตั้งใจอยู่นี้ ก็ได้ทำให้จิตของเราเกิดสมาธิตามธรรมชาติขึ้นมาด้วยอย่างพอเหมาะ อันจะทำให้กิเลสระงับหรือดับลงได้ทันที (แม้เพียงชั่วคราว)

๓. ความจริงที่ว่า “ร่างกายและจิตใจของเรานี้มันเป็นอนัตตา” คือ เมื่อเราพิจารณาร่างกายและจิตใจของเราตามความเป็นจริง (คือใช้หลักวิทยาศาสตร์มาพิจารณา) เราก็จะพบความจริงว่า “ร่างกายของเราก็ต้องอาศัยธาตุ ๔ มาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ส่วนจิตใจก็ต้องอาศัยร่างกายที่ยังไม่ตายมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น” ดังนั้นจึงเท่ากับว่าร่างกายและจิตใจของเราซึ่งแม้จะยังมีชีวิตอยู่นี้ มันไม่ใช่อัตตาหรือตันตนที่แท้จริงชนิดที่จะตั้งอยู่ไปชั่วนิรันดรได้ แต่ที่สำคัญก็คือ จิตใจที่รู้สึกว่าเป็นตัวเรานี้ มันก็เป็นอนัตตาด้วยเหมือนกัน คือมันไม่ใช่ตัวตนที่เป็นเราจริง และ เมื่อเราเพ่งพิจารณาถึงความเป็นอนัตตาของร่างกายกับจิตใจต่อไป เราก็จะพบความจริงสูงสุดของชีวิตว่า มันเป็น “สุญญตา” คือไม่ได้มีสิ่งที่เป็น “เรา” หรือ “ตัวเรา” อยู่จริงเลยในร่างกายและจิตใจนี้  (คือมันว่างเปล่าจากความเป็นเรา) ส่วนสิ่งที่มีอยู่นี้ มันเป็นเพียง “ตัวเราชั่วคราว” หรือ “ตัวเรามายา” หรือ “ตัวเราสมมติ” เท่านั้น

เมื่อเราเพ่งพิจารณาอยู่อย่างนี้ไม่นาน จิตของเรามันก็จะ “ปล่อยวางความยึดถือว่าร่างกายและจิตใจนี้ว่าเป็นตัวเรา-ของเราลงทันที” (แม้เพียงชั่วคราว) ซึ่งการที่จิตปล่อยวางความยึดถือ “ร่างกายและจิตใจนี้ว่าเป็นตัวเรา-ของเรา” ลงนี้เอง ที่ทำให้กิเลสในจิตใต้สำนึกของเรามันอ่อนแรงลงทันที (เฉพาะในขณะนั้น) ซึ่งในขณะที่เรากำลังพิจารณาอย่างตั้งใจอยู่นี้ ก็ได้ทำให้จิตของเราเกิดสมาธิตามธรรมชาติขึ้นมาด้วยอย่างพอเหมาะ อันจะทำให้กิเลสระงับหรือดับลงได้ทันที (แม้เพียงชั่วคราว)

 สรุปได้ว่า การสอนให้จิตเกิดความเข้าใจและเห็นแจ้งว่า “ร่างกายและจิตใจของเรานี้เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” นี้เอง ที่เป็นปัญญาที่ทำให้กิเลสอ่อนแรงลง อีกทั้งการตั้งใจพิจารณานี้ ก็ยังทำให้จิตเกิดสมาธิที่สมน้ำสมเนื้อขึ้นมาได้โดยอัตโนมัติตามธรรมชาติ (แต่การที่เราจะมีสมาธิได้ เราก็ต้องมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว) ดังนั้นจึงเท่ากับว่า การพิจารณานี้เป็นการปฏิบัติอริยมรรคอย่างถูกต้องและครบถ้วน อันจะทำให้กิเลสระงับหรือดับหายไปได้ (แม้เพียงชั่วคราว)  และถ้าเราสามารถปฏิบัติอริยมรรคนี้อย่างต่อเนื่องและจริงจังอยู่เสมอๆ (คืออาจจะเป็นเดือนเป็นปีก็ได้ ตามแต่ว่าเราจะมีความเพียรในการปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน) ก็จะทำให้นิสัยหรือความเคยชินของกิเลสที่มีอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา ค่อยๆเลือนหายไปจนหมดสิ้นอย่างถาวร และเกิดมีความเคยชินของอริยมรรคหรือ “ปัญญา ศีล สมาธิ” เกิดขึ้นมาแทน ก็จะทำให้จิตของเรานิพพานสูงสุดและถาวรได้ (คือตลอดชีวิต)

ศีลคือความปรกติของจิต

คำว่า ศีล หมายถึง ความปรกติของจิต ซึ่งความปรกติของจิตก็คือ ความที่จิตสงบ และสุขใจ อุ่นใจ เบาใจ รวมทั้งไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจ เป็นต้น แต่ถ้าจิตของเราไม่ปรกติมันก็จะ ดิ้นรน เร่าร้อน ฟุ้งซ่าน กระวนกระวาย วิตกกังวล หวาดกลัว เครียด เป็นต้น อยู่เสมอ เพราะมีกิเลสรุนแรงครอบงำจิตอยู่ขณะนั้น ซึ่งวิธีการทำให้จิตของเราปรกติหรือมีศีลนั้น ก็สรุปอยู่ที่

๑. การมีเจตนา (คือความจงใจ) ที่จะไม่ล่วงละเมิดชีวิต, ทรัพย์สิน, และกามารมณ์ (สิ่งที่น่ารักน่าใคร่) ของผู้อื่น

๒. การมีเจตนา ที่จะไม่พูดโกหก, คำหยาบ, คำส่อเสียด, และเพ้อเจ้อ

ศีลหรือความปรกติของจิตนี้ มีความสำคัญ (คือขาดไม่ได้) เพราะศีลจะเป็นพื้นฐานให้จิตเกิดสมาธิได้ง่าย เมื่อจิตมีสมาธิ สมาธิก็จะเป็นพื้นฐานให้เกิดปัญญา แล้วปัญญาก็จะวนกลับมาทำให้เกิดศีลและสมาธิที่ถูกต้องอีกที แล้วก็ทำให้อริยมรรคเกิดขึ้นมาได้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์ ถ้าไม่มีศีลก็จะทำให้จิตไม่มีสมาธิ และทำให้ปัญญาไม่เกิด แล้วก็ทำให้อริยมรรคไม่เกิดขึ้น

โดยศีลตามหลักของอริยมรรคนี้ สรุปอยู่ที่การเป็นคนดีหรือเป็นคนที่รักษากายและวาจา ให้เรียบร้อยหรืองดงามอยู่เสมอในสังคม ที่ทุกคนแม้เป็นผู้ครองเรือนก็สามารถปฏิบัติได้ โดยไม่ต้องละทิ้งบ้านเรือนหรือทรัพย์สมบัติแล้วออกบวช เหมือนพระภิกษุหรือนักบวชทั่วๆไป ที่ปรารถนาความพ้นทุกข์อย่างสูงสุด (คือนิพพานสูงสุดและถาวร) เพียงแต่ผู้ครองเรือนที่มีศีลนี้อาจจะไม่ได้รับผลสูงสุดเหมือนพระภิกษุหรือนักบวชที่ปฏิบัติอย่างจริงจังเท่านั้น

สมาธิคือจิตที่เข้มแข็ง

สมาธิ แปลว่า ตั้งมั่นอยู่เสมอ คือเป็นอาการที่ จิตของเรากำลังจดจ่อ หรือจับ หรือกำหนด หรือเพ่ง หรือตั้งใจในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งติดต่อกันอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสมาธินี้มี ๒ อย่าง คือ สมาธิผิด  กับ สมาธิถูก

โดยสมาธิผิดก็คือ สมาธิที่จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วย “กิเลส” อยู่ตลอดเวลา ซึ่งผลของสมาธิผิดนี้ก็คือจะทำให้จิตเกิดความทุกข์ หรือความเร่าร้อนใจไปตามอำนาจของกิเลสที่กำลังเกิดอยู่ เช่น ถ้าเพ่งในเรื่องกามารมณ์ จิตก็จะเร่าร้อนทรมานอยู่ด้วยความอยากได้ในกามารมณ์นั้นให้มากยิ่งๆขึ้นไป หรือถ้าเพ่งด้วยความโกรธ ก็จะทำให้จิตเกิดความเร่าร้อนหรือคับแค้นใจ หรือถ้าเพ่งในเรื่องที่ไม่รู้แจ้งเห็นจริง ก็จะทำให้จิตเกิดความมืดมน เป็นต้น

ส่วนสมาธิถูกก็คือ สมาธิที่เกิดจากการจดจ่อหรือตั้งใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ดีงามอยู่ตลอดเวลา แล้วทำให้กิเลสและนิวรณ์ระงับหรือดับหายไปอย่างสนิท (แม้เพียงชั่วคราว) ซึ่งสิ่งที่ดีงามที่เราตั้งใจจดจ่อหรือทำนั้นก็ได้แก่ การตั้งใจอ่านหนังสือเรียน หรือการที่นักเรียนตั้งใจฟังสิ่งที่ครูสอน หรือการที่เราตั้งใจทำงานที่สุจริต หรือการที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งใจคิดค้นหรือประดิษฐ์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อโลก หรือการเพ่งอยู่ที่การหายใจของร่างกายเราเอง เป็นต้น โดยสมาธิถูกนี้จะมีลักษณะ ๓ ประการ คือ

๑. บริสุทธิ์ คือไม่มีกิเลสหรือนิวรณ์ครอบงำ

๒. ตั้งมั่น หรือเข้มแข็ง คือ ไม่มีอะไรจะมายั่วยวนให้เกิดกิเลสได้

๓. อ่อนโยน คือ ควบคุมได้ง่ายและมีความสุขุมรอบครอบ

ผลของสมาธิถูกก็คือ ทำให้จิตมีความสุขที่สงบประณีต, มีสติตลอดเวลา, มีความจำดี และทำให้กิเลสและนิวรณ์ระงับหรือดับหายไปได้อย่างสนิท (แม้เพียงชั่วคราว) ซึ่งเมื่อจิตไม่มีกิเลสใดๆครอบงำ จึงทำให้ความทุกข์ดับหายไปอย่างสนิทในขณะนั้น และ เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ จิตก็จะนิพพานอย่างสูงสุด (หมายเหตุ ต่อไปถ้าพบคำว่า สมาธิ ในหนังสือนี้ ก็ขอให้เข้าใจว่าหมายถึงสมาธิถูก)

สรุปได้ว่าเมื่อจิตมีสมาธิ จิตจะมีความสุขุมรอบครอบในการพิจารณาความจริงของธรรมชาติ (ในเรื่องความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาของร่างกายและจิตใจของเรา) จนทำให้เกิดปัญญาขั้นเข้าใจขึ้นมาได้ และทำให้นิพพานสูงสุดปรากฏได้ ซึ่งนี่ก็คือประโยชน์จากการมีสมาธิ แต่ถ้าจิตของเราไม่มีสมาธิ ก็จะไม่สามารถพิจารณาให้เกิดปัญญาขั้นเข้าใจขึ้นมาได้ รวมทั้งไม่ทำให้นิพพานสูงสุดปรากฏ และเมื่อนิพพานสูงสุดไม่ปรากฏ ปัญญาขั้นเห็นแจ้งก็จะไม่เกิดขึ้นด้วยเหมือนกัน

ศัตรูของสมาธิ

ก่อนที่เราจะศึกษาเรื่องสมาธิ เราจำเป็นที่จะต้องรู้จักศัตรูของสมาธิก่อน ซึ่งศัตรูของสมาธินั้นก็สรุปอยู่ที่ กิเลส (ซึ่งเราได้ศึกษากันมาแล้ว) และนิวรณ์ ซึ่ง นิวรณ์ หมายถึง สิ่งปิดกั้นจิตจากสิ่งดีงาม คือหมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นมาครอบงำจิตของเราแล้ว ทำให้จิตของเราไม่เกิดสมาธิและปัญญารวมทั้งนิพพานสูงสุดก็ไม่ปรากฏอีกด้วย ซึ่งอาการของนิวรณ์นั้นแยกได้ ๕ อาการ อันได้แก่

๑. กามฉันทะ คือ ความพึงพอใจเล็กๆน้อยๆในเรื่องสิ่งที่น่ารักน่าใคร่

๒. พยาบาท คือ ความคิดอาฆาตพยาบาท หรือความคิดร้าย หรือความไม่พึงพอใจเล็กๆน้อยๆ

๓. ถีนมิทธะ คือ ความหดหู่ เซื่องซึม มึนชา

๔. อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความคิดฟุ้งซ่าน ความตื่นเต้น ความคิดเลื่อนลอยหยุดไม่ได้

๕. วิจิกิจฉา คือ ความคิดลังเลสงสัยในสิ่งที่เชื่อถืออยู่ ว่ามีจริงหรือไม่? หรือถูกต้องหรือไม่ ?

กิเลสนั้นเมื่อมันเกิดขึ้นกับจิตของเราแล้ว มันก็จะทำให้จิตของเราเกิดความทุกข์ แต่กิเลสนี้มันก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับจิตของเราอยู่ตลอดเวลาหรือตลอดทั้งวัน คือมันจะเกิดขึ้นเฉพาะเมื่อมีสิ่งภายนอกที่รุนแรงมากระตุ้นเท่านั้น เช่น เมื่อเราได้ยินเสียงที่มีคนมาด่าเรา เราจึงจะเกิดความโกรธขึ้นมา หรือเมื่อเรารู้ว่าคนที่เรารักได้จากไป เราจึงจะเกิดความเสียใจขึ้นมา หรือเมื่อเรารู้ว่าเราจะต้องตาย เราจึงจะเกิดความกลัวตายอย่างที่สุดขึ้นมา เป็นต้น ซึ่งปกติในชีวิตประจำวันของเรา มันก็ไม่ค่อยจะมีสิ่งภายนอกที่รุนแรงมากระตุ้นบ่อยๆอยู่แล้ว ดังนั้นปกติจิตของเราจึงไม่ค่อยจะมีความทุกข์อยู่แล้ว

แต่ในช่วงเวลาที่กิเลสยังไม่เกิดกับจิตของเรานั้น ถ้าจิตของเราไม่มีสมาธิ มันก็จะมีกิเลสอ่อนๆที่เรียกว่านิวรณ์ เกิดขึ้นมาครอบงำจิตของเราอยู่เกือบจะตลอดทั้งวัน ซึ่งนิวรณ์แต่ละตัวนี้ เมื่อมันเกิดขึ้นกับจิตของเราแล้ว มันก็จะทำให้จิตของเราขุ่นมัว ไม่สงบ ไม่ปรกติ และที่สำคัญคือ มันทำให้จิตของเราไม่มีสมาธิ เมื่อจิตไม่มีสมาธิ จึงทำให้นิพพานสูงสุดไม่ปรากฏ เมื่อนิพพานสูงสุดไม่ปรากฏ จึงทำให้ปัญญาขั้นเห็นแจ้ง ที่สามารถดับทุกข์ได้ไม่เกิดขึ้น (คือถึงเราจะเคยมีปัญญาขั้นเห็นแจ้งมาแล้วก็ตาม แต่ถ้าจิตของเราไม่มีสมาธิ ปัญญาขั้นเห็นแจ้งนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น แต่อาจจะเกิดปัญญาขั้นจำได้หรือขั้นเข้าใจขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งปัญญาทั้งสองอย่างนี้จะไม่สามารถนำมาใช้ดับทุกข์ได้ เพราะไม่มีสมาธิมาช่วย)

วิธีฝึกสมาธิอย่างง่ายๆ

ตามปกติเราก็พอจะมีสมาธิกันอยู่บ้างแล้ว อย่างเช่น เวลาเราตั้งใจฟังครูสอน หรือตั้งใจอ่านหนังสือ หรือตั้งใจพูดหรือเขียนเรื่องที่มีประโยชน์หรือดีงามต่อสังคม เป็นต้น เราก็จะมีสมาธิขึ้นมาแล้วโดยอัตโนมัติ ซึ่งนี่ก็คือสมาธิที่จำเป็นสำหรับนำมาใช้คู่กับปัญญา ในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยมรรค

แต่สำหรับคนที่มีสมาธิสั้น เช่น คนที่เรียนไม่เก่ง หรือขี้ลืม หรือคิดเรื่องที่ละเอียดและซับซ้อนไม่ได้ เป็นต้น ก็จะไม่มีสมาธิมากพอที่จะนำมาใช้ในการปฏิบัติตามหลักอริยมรรคได้ ซึ่งคนที่มีสมาธิสั้นนี้ก็สามารถฝึกให้มีสมาธิสูงขึ้นได้ ซึ่งวิธีการฝึกให้จิตมีสมาธินั้น ก็สามารถทำได้ทั้งอย่าง ไม่เป็นระบบ และ เป็นระบบ 

โดยการฝึกอย่างไม่เป็นระบบนั้นก็ทำได้โดย การตั้งใจหรือกำหนดอยู่ในการเคลื่อนไหวของร่างกายของเรา ในการพูดของเรา และในการคิดของจิตเราตลอดเวลา หรือในขณะที่เรากำลังทำกิจวัตรประจำวันของเราก็ได้ ซึ่งการฝึกอย่างไม่เป็นระบบนี้แม้จะยากอยู่สักหน่อย แต่ถ้าทำได้จะทำให้เรามีสมาธิที่ต่อเนื่องอยู่ตลอดทั้งวันได้

ส่วนวิธีการฝึกสมาธิอย่างเป็นระบบนั้นมีหลายวิธี อย่างเช่น การฝึกเพ่งดิน เพ่งน้ำ เพ่งไฟ เป็นต้น ซึ่งการฝึกสมาธิที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำนั้นก็คือ อานาปานสติ คือ สติที่กำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปพร้อมๆกับการกำหนดอยู่ที่การหายใจของร่างกายเราไปด้วยตลอดเวลา 

โดยวิธีการฝึกอานาปานสตินี้ เราจะใช้อิริยาบถใดก็ได้ คือทั้งการเดิน การยืน การนั่ง และการนอน แต่ถ้าเราเพิ่งเริ่มต้นฝึกใหม่ๆ ควรใช้อิริยาบถนั่งก่อน เพราะจะทำให้เกิดสมาธิได้ง่ายกว่าอิริยาบถอื่น แต่ถ้าเราฝึกจนชำนาญแล้ว จะใช้อิริยาบถใดก็ได้ และจะหลับตาหรือลืมตาก็ได้ (ถ้าหลับตาก็อาจจะทำให้ง่วงได้ง่าย)

ส่วนวิธีการฝึกโดยสรุปนั้นก็คือ ให้เราตั้งใจกำหนดอยู่ที่การหายใจของร่างกายของเราอยู่ตลอดเวลา และพยายามควบคุมให้ลมหายใจเบาและยาวอยู่ตลอดเวลา (ถ้าลมหายใจแรงและสั้นจะทำให้จิตเกิดสมาธิได้ยาก) ที่สำคัญคือเราต้องระวังอย่าคิดถึงสิ่งหรือเรื่องที่จะทำให้จิตของเราเกิดกิเลสและนิวรณ์ขึ้นมา

ในการกำหนดการหายใจของร่างกายนี้ ขั้นต้นเราจะใช้วิธีการนับจำนวนการหายใจของเราไปเรื่อยๆ เพื่อให้จิตสงบก็ได้ หรือจะใช้วิธีท่องคำสั้นๆ เช่น ไม่มีเรา, ไม่มีใคร, ว่างเปล่า, ผ่านไป, ตายแน่, เกิดดับ, อย่าโง่, อย่าบ้า เป็นต้น ในขณะที่เรากำลังหายใจเข้าหรือออกก็ได้  เพื่อให้จิตมีสติอยู่ตลอดเวลา หรือใครจะคิดค้นวิธีการฝึกใหม่ๆที่ฝึกแล้วทำให้จิตเกิดสมาธิได้ง่ายขึ้นมาเองก็ได้ ซึ่งเคล็ดลับในการฝึกให้จิตเกิดสมาธิได้ง่ายนั้นก็คือ เมื่อฝึกแล้วจิตเกิดความสุขสงบ เมื่อจิตเกิดความสุขสงบ จิตก็จะจดจ่ออยู่กับสิ่งที่กำหนดนั้นตลอดเวลา จึงทำให้จิตเกิดสมาธิได้ง่าย แต่ถ้าฝึกแล้วไม่เกิดความสุขสงบ จิตก็จะต่อต้าน คือดิ้นรน ฟุ้งซ่าน และไม่อยากฝึกต่อไป ยิ่งเราบังคับให้จิตสงบ มันก็จะยิ่งต่อต้านมากขึ้น จนอาจจะทำให้เราท้อถอยที่จะฝึกต่อไปได้

เมื่อเราเริ่มฝึกกำหนดดังนี้แล้วจิตก็ยังไม่สงบก็ให้เราลองใช้วิธี “คิดด้วยสติดู” คือให้เราตั้งใจคิดให้เป็นคำพูดแล้วก็ต้องตั้งใจฟังด้วย คือให้เราตั้งใจคิดช้าๆ ด้วยประโยคสั้นๆ ในขณะที่กำลังหายใจออก แต่เมื่อหายใจเข้าก็ให้หยุดคิด (หรือเราจะคิดช่วงเวลาหายใจเข้าก็ได้ และเมื่อหายใจออกก็ให้หยุดคิดซึ่งการคิดนี้เราควรคิดเรื่องที่ทำให้เกิดปัญญาหรือความรู้ที่ดีงาม เช่น เรื่องความไม่เที่ยง เรื่องภาวะที่ต้องทน เรื่องความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง หรือเรื่องความว่างจากตัวเราและตัวตนของคนอื่น หรือเรื่องการคิดค้นหรือประดิษฐ์สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่มวลมนุษย์ หรือเรื่องการเรียน หรือเรื่องการเตือนตนเอง หรือเรื่องการดับทุกข์ของอริยสัจ ๔ เป็นต้น ซึ่งการฝึกเช่นนี้จะทำให้จิตเกิดสมาธิได้ง่าย รวมทั้งยังทำให้เกิดปัญญาไปพร้อมๆกันไปด้วย เรียกว่าเป็นการปฏิบัติทั้งสมาธิและปัญญาตามหลักอริยมรรคไปพร้อมๆกัน

ระดับสมาธิที่พระพุทธเจ้าสอน

ฌาน แปลว่า การเพ่ง หรือ ระดับของการเพ่ง คือเมื่อเราตั้งใจกำหนดอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานๆ ก็เรียกว่าเป็นการเพ่ง ซึ่งฌานหรือการเพ่งตามหลักอริยมรรคจะมีอยู่ ๔ ระดับ คือ

เมื่อเราตั้งใจเพ่งอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานๆ จนทำให้จิตไม่ฟุ้งซ่านแล้ว (เพราะนิวรณ์ได้ดับหายไปแล้ว) และจิตก็มีความสุขที่สงบประณีต และมีปีติหรือความอิ่มเอมใจอยู่ด้วยตลอดเวลา ก็แสดงว่าจิตของเราบรรลุฌานขั้นที่ ๑ แล้ว และถ้าเราเพ่งต่อไปจนไม่ต้องตั้งใจเพ่งแล้วจิตก็ยังมีความสุขสงบและความอิ่มเอมใจอยู่ด้วยตลอดเวลา ก็แสดงว่าจิตของเราบรรลุฌานขั้นที่ ๒ แล้ว

ถ้าเราเพ่งต่อไป จนจิตเหลือแค่เพียงความสุขสงบอยู่ตลอดเวลา ก็แสดงว่าจิตของเราบรรลุฌานขั้นที่ ๓ แล้ว และถ้าเราเพ่งต่อไปจนแม้ความสุขที่สงบก็หายไป แล้วทำให้จิตของเรามีความบริสุทธิ์เต็มที่อยู่ตลอดเวลา (เพราะไม่มีความสุขมารบกวนจิต) ก็แสดงว่าจิตของเราบรรลุฌานขั้นที่ ๔ แล้ว ซึ่งฌานขั้นที่ ๔ นี้เอง ที่เป็นสมาธิขั้นสูงสุดตามหลักอริยมรรค เพราะเป็นสมาธิที่ทำให้กิเลสและนิวรณ์ได้ดับหายไปแล้วอย่างสนิท (แม้เพียงชั่วคราว) และทำให้นิพพานสูงสุดปรากฏ 

เมื่อจิตสงบเย็นสูงสุด ก็แสดงว่าจิตของเรามีสมาธิสูงสุดตามหลักอริยมรรคของอริยสัจ ๔ แล้วอย่างสมบูรณ์ ซึ่งนี่คือสมาธิที่จำเป็นในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยมรรค ส่วนสมาธิที่สูงไปกว่านี้ ที่เป็นการเพ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานๆ จนจิตของเราไม่รับรู้สิ่งอื่นใดภายนอกเลยนั้น ไม่จำเป็นและฝึกได้ยากด้วย แต่ถ้าใครมีเวลาและอยากจะฝึกต่อไปก็ได้ จะได้มีสมาธิที่สูงขึ้น จนทำให้จิตสามารถทำอะไรๆบางอย่าง ที่เกินกว่าที่คนธรรมดาๆทั่วไปจะทำได้ อย่างเช่น สามารถสร้างมโนภาพแปลกๆขึ้นมาในจิตของเราเองได้ เป็นต้น ซึ่งเราก็ต้องระวังอย่าไปลุ่มหลงสมาธิที่สูงๆนี้ เพราะอาจทำให้เราจมติดอยู่กับสมาธินี้จนไม่สนใจเรื่องการปฏิบัติอริยมรรคได้ แล้วก็จะทำให้จิตของเราไม่หลุดพ้นจากความทุกข์อย่างถาวรได้

วิธีการสร้างปัญญา

คำว่า ปัญญา แปลว่า ความรอบรู้ในสิ่งที่ควรรู้ ซึ่งสิ่งที่ควรรู้ก็คือ “ความรู้เรื่องการดับทุกข์” (เพราะความไม่มีทุกข์คือสิ่งสูงสุดของชีวิต) โดยเหตุที่ทำให้จิตเกิดความทุกข์นั้นก็คือ “กิเลส” หรือ “ตัณหา” และ ถ้าจิตไม่เกิดกิเลส จิตก็จะไม่มีความทุกข์ ซึ่งความรู้ที่จะทำให้กิเลสระงับหรือดับหายไป (ทั้งอย่างชั่วคราวและถาวร) จึงเรียกว่าเป็น “ปัญญา” โดยหัวใจของปัญญาก็คือ “ความเข้าใจและเห็นแจ้งว่าร่างกายและจิตใจของเรานี้เป็นอนัตตา”

แต่เราต้องเข้าใจก่อนว่า ปัญญาตามหลักของพุทธศาสนานั้น จะต้องประกอบด้วย ความรู้ที่นำมาใช้ดับทุกข์ได้ และต้องมี “เหตุผลที่สมเหตุสมผล” ที่สามารถอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ รวมทั้งต้องมี “ความจริงมายืนยัน” อีกด้วย จึงจะเรียกว่าเป็นปัญญาตามหลักพุทธศาสนา ซึ่งนี่ก็ทำให้เราเข้าใจได้ว่า การที่เรามีความรู้จากการอ่านจากตำรามาหรือฟังจากคนอื่นมาแม้จะมากมาย ก็ยังไม่ใช่ปัญญา เพราะขาดองค์ประกอบของปัญญาอย่างครบถ้วน

โดยสิ่งที่ครอบงำไม่ให้จิตของเราเกิดปัญญานั้นก็คือ “ความเชื่อ” ซึ่งความเชื่อนั้นเป็นเพียง “ความมั่นใจว่าเป็นความจริง” เท่านั้น ซึ่งความเชื่อจะไม่มีเหตุผลที่สมเหตุสมผลมาอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ รวมทั้งยังไม่มีความจริงมายืนยันอีกด้วย ซึ่งองค์ประกอบของความเชื่อนี้จะตรงข้ามกับองค์ประกอบของปัญญา ดังนั้นเราจะต้องระวังอย่าเอาความเชื่อมาใช้ศึกษาและปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ เพราะความเชื่อไม่ใช่ปัญญาที่จะนำมาใช้ดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าได้

สรุปได้ว่า ปัญญาคือความรอบรู้ในเรื่องการดับทุกข์ โดยอุปสรรคของปัญญาก็คือความเชื่อ คือความเชื่อไม่ใช่ปัญญาที่จะนำมาใช้ดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ได้  ดังนั้นการศึกษาของเราเพื่อให้เกิดปัญญา จึงต้องเริ่มต้นที่ “การปล่อยวางความเชื่อทั้งหลายในเรื่องชีวิตและศาสนาทั้งหลายลงก่อน” เพื่อให้จิตของเราว่างและเป็นอิสระจากความเชื่อทั้งหลาย ที่ครอบงำสติปัญญาของเราเองไว้อย่างมิดชิด เราจึงจะใช้จิตที่ว่างนี้มาศึกษาให้เกิดปัญญาที่บริสุทธิ์ ตามที่พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้ได้

ปัญญา ๓ ระดับ

คำว่า ปัญญา แปลว่า ความรอบรู้ คือหมายถึง ความรอบรู้ในสิ่งที่ควรรู้ โดยสิ่งที่ควรรู้นั้นก็ได้แก่ความรู้ในอริยสัจ ๔ นั่นเอง โดยปัญญาในพุทธศาสนาแยกได้ ๓ ระดับ คือ

๑. สุตมยปัญญา คือ ปัญญาขั้นจำได้ คือเป็นการฟังหรืออ่านคำสอนเรื่องการดับทุกข์ (ที่ถูกต้อง) มาแล้วจำได้ ซึ่งปัญญาขั้นนี้ยังไม่มีผลอะไร

๒. จินตามยปัญญา คือ ปัญญาขั้นเข้าใจ คือเป็นการนำเอาคำสอนเรื่องการดับทุกข์ที่จำได้นั้น มาพิจารณาหาเหตุผลอย่างละเอียดในทุกแง่มุม จนเกิดความเข้าใจอย่างชัดเจนโดยไม่มีจุดบอด (คือสามารถอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้อย่างไม่ติดขัด) ซึ่งปัญญาขั้นเข้าใจนี้ก็เริ่มมีผลเป็นความลดลงความความทุกข์บ้างแล้ว

๓. ภาวณามยปัญญา คือ ปัญญาขั้นเห็นแจ้ง คือเป็นการนำเอาความเข้าใจนั้นมาทดลองปฏิบัติอย่างเต็มความสามารถ จนเกิดผลขึ้นมาเป็นความดับลงของความทุกข์ขึ้นมาจริงๆ (แม้เพียงชั่วคราว) ซึ่งปัญญาขั้นเห็นแจ้งนี้จัดเป็นปัญญาสูงสุดของพุทธศาสนา

สรุปได้ว่า การที่เราจะสร้างปัญญาให้เกิดขึ้น จุดแรกเราจะต้องศึกษา “คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าให้จำได้ก่อน” แล้วนำคำสอนนั้นมา “พิจารณาหาเหตุผล จนเกิดความเข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่งจนไม่มีจุดบอด” ต่อจากนั้นก็ให้นำความเข้าใจนั้นมา “ทดลองปฏิบัติ เพื่อยืนยันว่าความเข้าใจนั้นถูกต้องตรงตามความเป็นความจริง” จึงจะทำให้เกิดปัญญาตามที่พระพุทธเจ้าสอนขึ้นมาได้

จบภาคที่ ๒


|หน้าต่อไป|






Free Web Hosting