คำนำ ปัจจุบันผู้ที่นับถือพุทธศาสนาเกือบทั้งหมด
ไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดาทั่วไป
หรือแม้แต่พระภิกษุเองก็ตามยังไม่รู้ว่าคำสอนของพุทธศาสนา ที่ตนเองนับถืออยู่นั้น
มีคำสอนที่ผสมอยู่ระหว่าง คำสอนของศาสนาพราหมณ์ และคำสอนของพระพุทธเจ้า
โดยคำสอนที่เป็นคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านั้น
จะเป็นคำสอนเรื่องการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจากความทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน
ซึ่งเป็นคำสอนระดับสูงที่ต้องใช้ปัญญาเป็นหลักในการศึกษาและปฏิบัติ
ซึ่งพระพุทธเจ้าจะเอาไว้สอนเฉพาะคนที่มีสติปัญญาหรือคนที่มีความรู้มากพอเท่านั้น ส่วนคำสอนที่เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ที่ผสมเข้ามานั้น
เป็นคำสอนระดับพื้นฐานหรือระดับศีลธรรม ที่สอนเรื่องการใช้ชีวิตของคนธรรมดาทั่วไป
โดยคำสอนระดับศีลธรรมนี้ จะใช้ความเชื่อเป็นหลักในการศึกษาและปฏิบัติ
และอาไว้สอนคนที่มีสติปัญญาน้อย หรือคนที่ไม่มีความรู้ทั่วๆไป เช่น เด็กหรือชาวบ้าน
ดังนั้นจึงทำให้เกิดหนังสือ
สรุปหลักวิชชาพุทธศาสนา เล่มนี้ขึ้นมา เพื่อให้ปัญญาชนหรือชาวต่างชาติ
ที่สนใจจะศึกษาหลักคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า
ได้ใช้หนังสือเล่มนี้เป็นคู่มือสำหรับศึกษา เพื่อให้รู้และเข้าใจว่า
แท้จริงแล้วพระพุทธเจ้าสอนอะไร? เพื่อที่จะได้นำหลักคำสอนนั้นมาปฏิบัติ
เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและมวลมนุษย์ทั้งหลายต่อไป
และถ้าใครเห็นว่าหนังสือนี้จะเป็นประโยชน์
ต่อเพื่อนมนุษย์และสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายของโลก
ก็ขอให้ช่วยกันเผยแพร่ต่อไปด้วยใจที่บริสุทธิ์ เตชปัญโญ
ภิกขุ อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ************************************************************ บทที่ ๑ หลักพื้นฐานพุทธศาสนา ศาสนาแห่งปัญญา ในปัจจุบัน พุทธศาสนาได้ถูกมองว่าเป็นเพียงสาขาหรือกิ่งหนึ่งของศาสนาพราหมณ์ (หรือฮินดูในปัจจุบัน) เท่านั้น เพราะมีคำสอนที่เหมือนกับคำสอนของศาสนาพราหมณ์มากจนแทบแยกกันไม่ออก ซึ่งคำสอนที่เหมือนกันก็คือคำสอนเรื่องการมีตัวตน (อัตตา) เวียนว่ายตายเกิด เรื่องนรก สวรรค์ อย่างเป็นสถานที่ รวมทั้งเรื่องเทวดา นางฟ้า พระอินทร์ พระพรหม ชนิดที่เป็นตัวตนบุคคล และเรื่องกรรมชนิดข้ามภพข้ามชาติ เป็นต้น จนทำให้ดูว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสรู้อะไรใหม่เลย พระองค์เพียงเอาคำสอนของศาสนาพราหมณ์มาประยุกต์แล้วตั้งเป็นศาสนาพุทธขึ้นมาเท่านั้น นี่เองที่ทำให้พระพุทธเจ้าในสายตาของชาวโลกปัจจุบัน จึงเป็นเพียงแค่คนที่เอาคำสอนของคนอื่นมาสอน ไม่ได้เป็นผู้ที่ตรัสรู้หรือค้นพบอะไรที่ใหม่พอที่จะเป็นศาสดาที่ยิ่งใหญ่เลย แต่ถ้าเราจะได้ศึกษาหลักพุทธศาสนาจนเข้าใจอย่างถูกต้องแล้วเราก็จะเข้าใจได้ว่า แท้จริงคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นต่างหรือตรงข้ามกับคำสอนของศาสนาพราหมณ์อย่างสิ้นเชิง เพราะสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้นั้นก็คือเรื่อง อนัตตา ที่เป็นการปฏิเสธการมีตัวตน (อัตตา) อย่างที่ศาสนาพราหมณ์สอน ดังนั้นคำสอนเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เรื่องนรก สวรรค์ อย่างเป็นสถานที่ รวมทั้งเรื่องเทวดา นางฟ้า พระอินทร์ พระพรหม ชนิดที่เป็นตัวตนบุคคล และเรื่องกรรมชนิดข้ามภพข้ามชาติ เป็นต้น นั้น จึงไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า แต่ว่าเป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ที่ปลอมปนเข้ามาในภายหลังที่พระพุทธเจ้าทรงปรินิพพานไปแล้วไม่นาน ศาสนาส่วนใหญ่จะใช้ศรัทธา (ความเชื่อ) เป็นหลักในการสอน แต่พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา จึงไม่ใช้ศรัทธาเป็นหลักในการสอน แต่จะใช้ปัญญาเป็นหลักในการสอน คือจะสอนให้เกิดปัญญาก่อน เมื่อเกิดปัญญาแล้วศรัทธาก็จะเกิดตามมาเอง แต่เพราะเหตุว่าในสมัยพุทธกาลนั้น คนที่มีปัญญามีน้อย ดังนั้นจึงมีคนที่เข้าใจและนับถือพระพุทธเจ้าจริงๆไม่มาก และเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วไม่นาน ก็หาคนที่จะเข้าใจคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าได้น้อยลง จึงทำให้ชาวพุทธในยุคนั้นต้องประยุกต์คำสอนใหม่เพื่อให้คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าอยู่รอดต่อไปเพื่อคนรุ่นหลัง โดยการนำเอาคำสอนของศาสนาพราหมณ์ เช่น เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เรื่องนรก สวรรค์ เทวดา นางฟ้า และเรื่องกรรมชนิดข้ามภพข้ามชาติ เป็นต้น เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคำสอนในพุทธศาสนา จึงทำให้พุทธศาสนากลับมาเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกในอินเดียยุคนั้น รวมทั้งยังได้เผยแผ่ไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก โดยมีคำสอนของศาสนาพราหมณ์ห่อหุ้มคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าอยู่ เพื่อรอคนที่มีปัญญามาค้นพบและนำคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้ากลับมาเป็นประโยชน์แก่มวลมนุษย์ต่อไป สรุปว่า พุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาแห่งปัญญา ที่สอนให้คนเกิดปัญญา ไม่ใช่สอนให้เกิดศรัทธา ซึ่งปัญญานั้นเป็นเรื่องเหตุผลและความจริงที่พิสูจน์ได้ รวมทั้งยังเป็นประโยชน์สูงสุดแก่มนุษย์ทุกคน เพราะสอนเรื่องการปฏิบัติเพื่อที่จะได้ไม่มีความทุกข์ที่มนุษย์ทุกคนเกลียดกลัว แต่ว่าคนที่มีความรู้ที่จะสอนให้เกิดปัญญานั้นมีน้อย จึงทำให้คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ต้องประยุกต์ใหม่ให้มีเรื่องของศรัทธาตามที่ชาวบ้านเขาเชื่อกันอยู่ในยุคนั้นเข้ามาปะปน จนกลายมาเป็นพุทธศาสนาในปัจจุบัน ที่มีแต่เรื่องที่ดูว่างมงาย ไม่มีเหตุผล และไม่มีประโยชน์แก่ชีวิตอย่างแท้จริงอยู่เต็มไปหมด จึงเป็นหน้าที่ของผู้มีปัญญาที่จะต้องนำเอาคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ออกมาเสียจากการครอบงำของศาสนาพราหมณ์ เพื่อให้กลับมาเป็นประโยชน์แก่มวลมนุษย์ต่อไป หลักพื้นฐานพุทธศาสนา การที่เราจะศึกษาหลักทฤษฎีใด เราจำเป็นที่จะต้องรู้จักหลักพื้นฐานของทฤษฎีนั้นก่อน เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษา เหมือนกับการเตรียมตัวเข้าเรียนหรือทำงาน ถ้าไม่รู้จักก่อนมันก็ทำให้ยากในการเรียนหรือการทำงาน กว่าจะจับหลักการเรียนหรือหลักในการทำงานได้ก็ต้องใช้เวลามาก หรืออาจทำให้เกิดความผิดพลาดในการเรียนหรือทำงานนั้นได้ การศึกษาพุทธศาสนานี้ก็เหมือนกัน คือเราจะต้องรู้จักหลักพื้นฐานในการศึกษาก่อน เพื่อที่จะได้จับหลักการของพุทธศาสนาได้อย่างถูกแล้ว แล้วจะได้ศึกษาไปตรงตามหลักการของพุทธศาสนาอย่างไม่ผิดพลาด ซึ่งหลักพื้นฐานพุทธศาสนานั้นก็ได้แก่ ๑. มุ่งตรงสู่การดับทุกข์ (หรือสิ้นทุกข์ หรือไม่มีทุกข์ หรือพ้นทุกข์) โดยไม่อ้อมค้อม ๒. ศึกษาจากของจริง คือจากชีวิต (คือร่างกายกับจิตใจ) ของเราเองจริงๆในปัจจุบัน ๓. ศึกษาโดยใช้เหตุใช้ผล ไม่ใช้ความเชื่อใดๆ ซึ่งเหตุผลนั้นก็อยู่ในความจริงนั่นเอง ๔. ศึกษาอย่างเป็นระบบ คือมีการสังเกต การตั้งสมมติฐาน การพิสูจน์สมมติฐาน การบันทึก การวัดค่าออกมา การตีความหมาย การสรุปเป็นกฎเกณฑ์สากล เป็นต้น ๕. พิสูจน์ก่อนเชื่อ คือต้องพิสูจน์จนเห็นผลจริงอย่างแน่ชัดก่อนจึงจะเชื่อ แต่ถ้าพิสูจน์แล้วไม่เห็นผลจริงก็ไม่เชื่อ ความทุกข์เป็นภัย (สิ่งที่น่ากลัว) ใหญ่หลวงที่เราต้องรีบหาทางป้องกัน (หรือแก้ไข) ไม่ให้เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา ถ้าเราจะมีชีวิตอยู่โดยไม่มีความทุกข์เลยได้ ก็นับว่าเราได้รับประโยชน์อย่างสูงสุดในการเกิดมาแล้ว ซึ่งการที่พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นมาในโลก ก็เพื่อมาสอนให้มนุษย์รู้จักวิธีการดับทุกข์ โดยใช้ความสามารถของตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสิ่งอื่นใดภายนอก ถ้าไม่มีความทุกข์ ก็จะไม่มีพระพุทธเจ้า ส่วนวิธีการศึกษาเรื่องการดับทุกข์นั้น จำเป็นที่จะต้องศึกษาให้เกิดปัญญาขึ้นมาก่อน เพราะพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ที่ต้องใช้ปัญญาเป็นตัวนำตลอด ทั้งในการศึกษาและการปฏิบัติ ถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่มีพุทธศาสนา ซึ่งการศึกษาเพื่อให้เกิดปัญญานั้น สิ่งสำคัญก็คือเราจะต้องศึกจากของจริง คือจากสิ่งที่เราสามารถสัมผัสได้จริงในปัจจุบัน โดยอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ของเราที่ยังดีอยู่นี้ โดยการศึกษาก็ต้องใช้เหตุและผลจากความจริงนั่นเองมาศึกษา (คือในความจริงนั้นจะมีเหตุและผลของมันอยู่แล้ว) ซึ่งก็ต้องมีการศึกษาอย่างเป็นระบบและมีระเบียบแบบแผน และก็ต้องมีการพิสูจน์หรือทดลองปฏิบัติก่อนเชื่อ เมื่อพิสูจน์จนเห็นผลจริงอย่างแน่ชัดแล้วจึงจะปลงใจเชื่อ ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ก็ไม่ปลงใจเชื่อ นี่คือหลักพื้นฐานของพุทธศาสนา ที่ก็ตรงกับหลักหัวใจของวิทยาศาสตร์ ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ คือเป็นการศึกษาจากการสังเกตปรากฏการณ์ของธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริง ที่ทำให้มนุษย์ได้ค้นพบความจริงของธรรมชาติหลายๆอย่างที่ลึกซึ้งได้ และทำให้มนุษย์กลายมาเป็นสัตว์ที่มีความเจริญสูงกว่าสัตว์เดรัจฉานอย่างเช่นในปัจจุบัน ถ้าไม่มีวิทยาศาสตร์ มนุษย์ก็จะยังคงเป็นคนป่าคนดงหรือมนุษย์ยุคหิน ที่ยังใช้ชีวิตตามสัญชาติญาณเหมือนสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายอยู่ต่อไป คำสอน ๒ ระดับ ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า พุทธศาสนาในปัจจุบันมีคำสอนอยู่ ๒ ระดับ คือ ๑. ระดับชาวบ้าน (หรือระดับพื้นฐาน) ซึ่งคำสอนระดับพื้นฐานนี้ก็คือคำสอนศีลธรรมนั่นเอง โดยศีลธรรมนี้เป็นคำสอนพื้นฐาน ที่เอาไว้สอนชาวบ้านทั่วไปที่ไม่มีความรู้ทางโลก หรือมีแต่ไม่มีเวลามาศึกษาคำสอนระดับสูง ซึ่งสรุปแล้วศีลธรรมนี้เป็นคำสอนพวก การละเว้นการทำความชั่ว ให้ทำแต่ความดี เช่น การให้ทาน การเสียสละ การรักษาศีล การละเว้นอบายมุข-สิ่งเสพติด-สิ่งฟุ่มเฟือย การใช้ชีวิตที่เรียบง่ายไม่มีสิ่งเกิน รวมทั้งการสอนให้มีความซื่อสัตย์ กตัญญูกตเวที ความขยันอดทน การให้อภัย และการช่วยเหลือผู้อื่น เป็นต้น ซึ่งผลของศีลธรรมก็คือทำให้ผู้ปฏิบัติมีความปกติสุข รวมทั้งทำให้สังคมสงบสุขและโลกมีสันติภาพ ๒.ระดับปัญญาชน (หรือระดับสูง) โดยคำสอนระดับสูงนี้ เป็นคำสอนเรื่องการดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน ที่เรียกว่าอริยสัจ ๔ ซึ่งเอาไว้สอนเฉพาะคนที่มีศีลธรรมแล้วและมีความรู้ทางโลกด้วย โดยผลของคำสอนระดับสูงนี้ก็คือทำให้ความทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันลดน้อยลงหรือไม่มีเลยได้จนตลอดชีวิต คำสอนศีลธรรมนั้นศาสนาไหนๆเขาก็มีสอนกันอยู่แล้ว ซึ่งเป็นคำสอนง่ายๆที่ใครๆก็เข้าใจได้ แต่ศีลธรรมไม่ได้ช่วยให้จิตใจของมนุษย์หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงไม่เน้นสอนศีลธรรม แต่จะสอนเฉพาะเรื่องที่เป็นประโยชน์สูงสุดกับชีวิตเท่านั้น นั่นก็คือเรื่องการดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน (คือที่นี่และเดี๋ยวนี้) สรุปได้ว่า แท้จริงแล้วพระพุทธเจ้าสอนเฉพาะเรื่องการดับทุกข์ที่เป็นคำสอนระดับสูงเท่านั้น แต่ภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วไม่นาน ก็หาผู้ที่จะเข้าใจคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธองค์ได้ยาก จนใกล้จะสูญหายไป ดังนั้นชาวพุทธรุ่นหลังๆจึงได้พยายามรักษาคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าเอาไว้ ด้วยการเอาคำสอนของศาสนาพราหมณ์เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เรื่องนรก สวรรค์ เทวดา นางฟ้า เป็นต้น ที่ผู้คนในยุคนั้นเขาเชื่อถือกันอยู่ เข้ามาห่อหุ้ม (ผสมหรือปะปน) คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าเอาไว้ จึงทำให้ผู้คนในยุคนั้นยอมรับ และทำให้เกิดเป็นพุทธศาสนาที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจากเหตุนี้เองที่ทำให้เกิดเป็นพุทธศาสนาที่มีคำสอน ๒ ระดับสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน หลักอจินไตย ในการศึกษาเรื่องการดับทุกข์นี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงวางหลักที่สำคัญเบื้องต้นไว้ว่า อย่าเพิ่งไปสนใจเรื่องที่ไม่ควรสนใจ ที่เรียกว่า อจินไตย ที่หมายถึง สิ่งที่ไม่ควรนำมาคิดหรือมาศึกษา ซึ่งมี ๔ เรื่อง คือ ๑. เรื่องเกี่ยวกับความเป็นพุทธะ ซึ่งก็ได้แก่เรื่องของพระพุทธเจ้าและของพระอริยบุคคลทั้งหลาย คือเราไม่ต้องสนใจว่าพระพุทธเจ้าจะมีจริงหรือไม่ หรือผู้ที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าจนพ้นทุกข์ได้จริงนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ ๒. เรื่องเกี่ยวกับสมาธิสูงๆ คือไม่ต้องสนใจว่าเรื่องสมาธิสูงๆนั้นจะมีจริงหรือไม่ หรือทำให้เกิดพลังหรือสิ่งเหนือธรรมชาติได้หรือไม่ ๓. เรื่องกรรมและผลของกรรม คือไม่ต้องสนใจว่าเรื่องกรรมที่มีคนเชื่อถือกันมากมายอยู่นั้นจะมีจริงหรือไม่ หรือเป็นอย่างไร ๔. เรื่องโลกๆ คือเรื่องหรือทฤษฎีทั้งหลายทางวัตถุ ที่ไม่เป็นประโยชน์กับการศึกษาเพื่อดับทุกข์ รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับโลกด้วย เช่น ใครสร้างโลก? โลกมีที่สิ้นสุดหรือไม่? เป็นต้น รวมทั้งเรื่องของชีวิตหลังความตายด้วย เช่น ตายแล้วไปไหน? นรก สวรรค์ ตามที่เชื่อกันอยู่นั้นมีจริงหรือไม่? เป็นต้น สาเหตุที่พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่าเพิ่งไปสนใจเรื่องเหล่านี้ก็เพราะ เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเพื่อดับทุกข์เลย อีกทั้งยังเป็นแค่ความเชื่อที่เรายังพิสูจน์ไม่ได้ ถ้าเริ่มต้นเรามาสนใจศึกษาเรื่องเหล่านี้ก่อน ก็อาจทำให้เราเกิดความเข้าใจผิดต่อคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าขึ้นมาได้ และถ้าเรายึดมั่นในความเข้าใจผิดนั้นไว้แล้วอย่างมั่นคง ก็จะทำให้การศึกษาเพื่อดับทุกข์ของเราผิดเพี้ยนจากหลักการที่ถูกต้องของพระพุทธเจ้า จนไม่สามารถดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันได้ ต่อเมื่อเราได้ศึกษาจนเกิดความเข้าใจและเห็นแจ้งในหลักพุทธศาสนาอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะเกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องในเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาได้เองในภายหลัง หลักความเชื่อของพุทธศาสนา ความจริง คือ สิ่งที่มีอยู่หรือเป็นอยู่จริงตามธรรมชาติอย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อเรายังไม่พบเห็นความจริง เราจึงเกิดความไม่รู้ขึ้น เมื่อไม่รู้เราจึงกลัวในสิ่งที่เรายังไม่รู้ โดยเฉพาะเรื่องของชีวิตว่าเกิดมาจากไหน? เกิดมาได้อย่างไร? ความสุข-ความทุกข์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร? ตายแล้วไปไหนหรือเป็นอย่างไร? เป็นต้น ซึ่งศาสนาทั้งหลายก็เกิดขึ้นมาเพื่อช่วยให้มนุษย์หายหวาดกลัวจากความไม่รู้ในเรื่องหลังความตายได้ ซึ่งวิธีการที่ศาสนาส่วนใหญ่ช่วยให้มนุษย์หายหวาดกลัวก็คือการสอนให้เกิดความเชื่อ (ศรัทธา) เมื่อมนุษย์มีความเชื่อมั่นแล้วก็ทำให้ความกลัวตายลดน้อยลงได้แม้จะต้องตายจริงๆก็ตาม แต่การที่จะสร้างความเชื่อให้แก่ใครนั้น จะต้องมีการปลูกฝังมาตั้งแต่ยังเด็กจึงจะได้ผล ถ้ามาปลูกฝังเอาตอนโตแล้วมักจะไม่ได้ผล ความเชื่อ คือความมั่นใจว่าจะเป็นความจริง ซึ่งนี่แสดงถึงว่าคนที่เชื่อก็คือคนที่ยังไม่พบความจริง จึงได้ใช้ความเชื่อ ถ้าพบความจริงแล้วความเชื่อก็ไม่จำเป็น เพราะมีปัญญาขั้นเห็นแจ้งหรือรู้จริงแล้ว แต่ความเชื่อใดถ้ายังไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นจริงก่อน ความเชื่อนั้นก็อาจไม่เป็นความจริงตามที่เราเชื่อก็ได้ ดังนั้นความเชื่อจึงยังเจืออยู่ด้วยความงมงายทั้งสิ้นไม่มากก็น้อย พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ใช้ปัญญานำหน้าความเชื่อ คือเมื่อมีความเชื่อในพุทธศาสนาจะต้องมีปัญญานำหน้าอยู่ด้วยเสมอ จึงจะทำให้เป็นความเชื่อที่ถูกต้อง (คือไม่ผิดพลาดและไม่งมงาย) ดังนั้นหลักในการสร้างความเชื่อของพุทธศาสนา ก็ต้องเกิดมาจากการมีปัญญาก่อน โดยหลักในการสร้างปัญญาเพื่อให้เกิดความเชื่อที่ถูกต้องนั้นพระพุทธเจ้าได้สอนไว้ใน หลักกาลามสูตร (หลักคำสอนที่สอนแก่ชาวกาลามะของอินเดียในยุคนั้น) ซึ่งมีใจความโดยสรุปดังนี้ ๑. อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะ ได้ยินได้ฟังมา ๒. อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะ เป็นเรื่องเล่าต่อๆกันมาตั้งแต่โบราณ ๓. อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะ มีคนกำลังล่ำลือกันอยู่อย่างกระฉ่อน ๔. อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะ มีตำราอ้างอิง ๕. อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะ มีเหตุผลตรงๆ (ตรรกะ) รองรับ ๖. อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะ มีเหตุผลแวดล้อมรองรับ ๗. อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะ สามัญสำนึกของเรามันยอมรับ ๘. อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะ มันตรงกับความเห็นที่เรามีอยู่ก่อนแล้ว ๙. อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะ คนที่บอกที่สอนนั้นดูภายนอกน่าเชื่อถือ ๑๐. อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะ คนที่บอกที่สอนนี้เป็นครูอาจารย์ที่เราเคารพนับถือ เมื่อเราได้พบคำสอนใด ก่อนอื่นก็ให้เรานำคำสอนนั้นมาพิจารณาดูก่อน ว่าคำสอนนั้นมีโทษหรือมีประโยชน์ และผู้รู้ (ผู้มีปัญญาและมีใจเป็นกลาง) ติเตียนหรือไม่ ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าคำสอนนั้นมีโทษ ไม่มีประโยชน์ และผู้รู้ติเตียน ก็ให้ละทิ้งเสีย แต่ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่า คำสอนนั้นมีประโยชน์ ไม่มีโทษ และผู้รู้ไม่ติเตียน ก็ให้นำมาทดลองปฏิบัติดูก่อน ถ้าปฏิบัติตามอย่างเต็มตามมาตรฐานแล้วความทุกข์ไม่ลดลงหรือดับลงจริง (แม้เพียงชั่วคราว) ก็ให้ละทิ้งเสีย แต่ถ้าทดลองปฏิบัติดูแล้วผลออกมาเป็นความลดลงหรือดับลงของความทุกข์จริง (แม้เพียงชั่วคราว) จึงค่อยปลงใจเชื่อและรับเอามาปฏิบัติให้ยิ่งๆขึ้น (คือดับทุกข์ได้อย่างถาวร) ต่อไป อย่าเชื่อใครแม้แต่ตัวเอง สาเหตุที่พระพุทธเจ้าสอนว่า อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะได้ยินได้ฟังมา นั้นก็เป็นเพราะ สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมานั้น เราก็ยังไม่รู้ความจริงว่ามันถูกหรือผิด ถ้าเราไปเชื่อว่ามันถูก แล้วบังเอิญมันผิดขึ้นมา เราก็จะเกิดความเชื่อที่ผิดเพี้ยนขึ้นมาได้โดยไม่รู้ตัว สาเหตุที่พระพุทธเจ้าสอนว่า อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะเป็นเรื่องเล่าต่อๆกันมาตั้งแต่โบราณ นั้นก็เป็นเพราะ เรื่องที่เล่าต่อๆกันมานมนานแล้วนั้น มันก็ย่อมที่จะมีการแต่งเติมหรือเปลี่ยนแปลงไปจนผิดเพี้ยนจากต้นตอได้ ถ้าเราหลงเชื่อ เราก็จะได้รับคำสอนที่ผิดเพี้ยนขึ้นมาได้โดยไม่รู้ตัว สาเหตุที่พระพุทธเจ้าสอนว่า อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะมีคนกำลังล่ำลือกันอยู่อย่างกระฉ่อน นั้นก็เป็นเพราะ คำล่ำลือนั้นเป็นการกระทำของคนที่ไม่รู้จริง (คนโง่ชอบล่ำลือ) ที่ชอบล่ำลือเรื่องโกหกที่มีคนเขาแต่งงขึ้น (เช่นเรื่องผู้วิเศษ เรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรื่องพระอรหันต์) เมื่อเราไปหลงเชื่อคำล่ำลือนั้น เราก็จะกลายเป็นคนโง่งมงายตามเขาไปด้วยโดยไม่รู้ตัว สาเหตุที่พระพุทธเจ้าสอนว่า อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะมีตำราอ้างอิง นั้นก็เป็นเพราะว่า ตำราทั้งหลายนั้น อาจถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับได้ หรือคนแต่งตำราอาจเป็นคนที่ไม่รู้จริงก็ได้ ถ้าเราไปหลงเชื่อตำรา เราก็อาจได้รับคำสอนที่ผิดเพี้ยนไปด้วยโดยไม่รู้ตัว สาเหตุที่พระพุทธเจ้าสอนว่า อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะมีเหตุผลตรงๆ (ตรรกะ) รองรับ นั้นก็เป็นเพราะ เหตุผลตรงๆนั้นยังเป็นแค่ทฤษฎีที่น่าเชื่อถือที่สุดเท่านั้น ถ้าบังเอิญเหตุที่เราได้รับมามันผิด ผลของมันก็ย่อมที่จะผิดตามไปด้วยทันที ดังนั้นถ้าเราเชื่อในเหตุผลนั้นเข้า เราก็จะเกิดความเข้าใจผิดขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว สาเหตุที่พระพุทธเจ้าสอนว่า อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะมีเหตุผลแวดล้อมรองรับ นั้นก็เป็นเพราะ การใช้เหตุผลแวดล้อม (อาจมีหลายๆเหตุผล) มาตัดสินนั้น ก็เท่ากับเป็นการคาดเดาตามสิ่งแวดล้อม ถ้าบังเอิญเหตุผลที่แวดล้อมนั้นมันเป็นเหตุผลปลอม (เช่นหลักฐานปลอม) เราก็ย่อมที่จะเกิดความเข้าใจผิดไปตามเหตุผลแวดล้อมนั้นด้วยโดยไม่รู้ตัว สาเหตุที่พระพุทธเจ้าสอนว่า อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะสามัญสำนึกของเรามันยอมรับ นั้นก็เป็นเพราะ สามัญสำนึกของเรานั้น มันก็เป็นแค่ความรู้สึกธรรมดาๆของจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ดังนั้นความรู้สึกของเรานั้นมันก็อาจตัดสินอะไรผิดพลาดได้ (อย่างเช่นเรารู้สึกว่าคนๆนี้เป็นคนดี โดยที่เราก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นคนดีจริงหรือเปล่า?) ถ้าเราเชื่อสามัญสำนึกของเรา เราก็อาจถูกสามัญสำนึกมันหลอกให้เกิดความเชื่อที่ผิดเพี้ยนได้โดยไม่รู้ตัว สาเหตุที่พระพุทธเจ้าสอนว่า อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะมันตรงกับความเห็นที่เรามีอยู่ก่อนแล้ว นั้นก็เป็นเพราะ ถ้าบังเอิญความเห็นที่เรามีอยู่ก่อนแล้วนั้น มันเป็นความเห็นที่ผิดอยู่ก่อนแล้วโดยที่เราก็ไม่รู้ตัว แล้วมีคนเขามาพูดตรงกับความเห็นที่เรามีอยู่ก่อนแล้ว ก็จะทำให้เรายิ่งเกิดความมั่นใจว่าความเห็นของเรานั้นมันถูกต้องมากยิ่งขึ้น ซึ่งนี่ก็เท่ากับทำให้เราเกิดความเห็นผิดมากยิ่งขึ้นอีกโดยไม่รู้ตัว สาเหตุที่พระพุทธเจ้าสอนว่า อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะคนที่บอกที่สอนนั้นดูภายนอกน่าเชื่อถือ นั้นก็เป็นเพราะ คนที่ดูภายนอกแล้วน่าเชื่อถือนั้น เขาก็อาจมีความเห็นผิดอยู่ก่อนแล้วโดยที่ตัวเขาเองก็ไม่รู้ตัวก็ได้ เมื่อเราไปเชื่อเขา เราก็ย่อมที่จะได้รับคำสอนที่ผิดเพี้ยนตามเขาไปด้วยโดยไม่รู้ตัว สาเหตุที่พระพุทธเจ้าสอนว่า อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะคนที่บอกที่สอนนี้เป็นครูอาจารย์ที่เราเคารพนับถือ นั้นก็เป็นเพราะ แม้ครูอาจารย์ที่เรานับถือนั้นท่านก็อาจมีความเห็นผิดอยู่ก่อนแล้วโดยที่ตัวท่านเองก็ไม่รู้ตัว ถ้าเราเชื่อท่าน เราก็จะพลอยเกิดความเห็นผิดตามท่านไปด้วยโดยไม่รู้ตัว สรุปได้ว่า อย่าเชื่อใครแม้จากเหตุผลที่เราได้พิจารณามาดีแล้วหรือจากสามัญสำนึกของเราเอง เพราะมันมีโอกาสที่จะผิดพลาดได้เสมอ แต่เมื่อเราได้พบคำสอนใดมา ก็ให้นำมาพิจารณาดูก่อน ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์ ไม่มีโทษ ก็ให้นำมาพิสูจน์หรือทดลองปฏิบัติดู ถ้าไม่ได้ผลจริงก็ให้ละทิ้งไป แต่ถ้าได้ผลจริงก็ให้นำมาปฏิบัติให้ยิ่งๆขึ้นต่อไป ซึ่งนี่คือวิธีการที่จะทำให้เราค้นพบว่าคำสอนใดคือคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า และคำสอนใดไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ดังนั้นหลักกาลามสูตรนี้จึงเป็นหลักสำคัญที่เราจะต้องนำมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อที่จะทำให้เราค้นพบคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าได้ แต่ถ้าเราละเลยไม่นำหลักสำคัญนี้มาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เราก็จะไม่มีวันได้พบคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ศึกษาจากร่างกายและจิตใจของเราเอง ในการศึกษาเรื่องการดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้านี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราศึกษาจากร่างกายและจิตใจของเราเองในปัจจุบัน ที่ยังมีสติสัมปฤดี (คือมีความรู้ตัวดี) และยังมีความจำดีอยู่นี้ เพราะความทุกข์ก็อยู่ในร่างกายและจิตใจนี้ ดังนั้นวิธีการดับทุกข์ก็ต้องอยู่ในร่างกายและจิตใจนี้ ถ้าเราไปศึกษาที่อื่น เช่น อ่านจากตำราแล้วก็จินตนาการไปถึงเรื่องการดับทุกข์ในชาติหน้า แต่ไม่สนใจดับทุกข์ในชาตินี้ เป็นต้น ก็จะเป็นการศึกษาที่ผิดพลาด แล้วก็จะไม่เกิดปัญญาสำหรับนำมาใช้ดับทุกข์ได้จริง การศึกษาจากร่างกายและจิตใจของเราเองนี้ก็คือ ให้ศึกษาจากตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของเราเองในปัจจุบัน (คือที่นี่และเดี๋ยวนี้) โดยการสังเกตว่า เมื่อตาเห็นรูป หรือหูได้ยินเสียง เป็นต้นแล้ว จิตเกิดอาการอย่างไร? ถ้าจิตเกิดอาการยินดีหรือยินร้าย (คือกิเลส) ในรูปหรือในเสียงนั้นแล้ว ก็ให้ดูต่อไปว่าจิตเกิดความรู้สึกอย่างไรขึ้นมา? ถ้าจิตเกิดความรู้สึกเร่าร้อนทรมาน ก็แสดงว่าเราเห็นทุกข์และสาเหตุของทุกข์แล้ว แต่ถ้าจิตมีปัญญา ศีล สมาธิ (ตามหลักอริยมรรค) ในขณะที่ตาเห็นรูปหรือหูได้ยินเสียงเป็นต้นแล้ว จิตไม่มีความเร่าร้อนทรมาน แต่มีความสงบเย็น ก็แสดงว่าเราเห็นความดับลงของทุกข์และวิธีการดับทุกข์แล้ว ซึ่งนี่ก็คือการเห็นอริยสัจ ๔ โดยการศึกษาจากร่างกายและจิตใจของเราเองในปัจจุบัน (ซึ่งเราจะได้ศึกษากันโดยละเอียดต่อไป) ต้องพึ่งตนเอง ศาสนาส่วนใหญ่ของโลก จะเป็นศาสนาประเภทเทวนิยม คือเชื่อเรื่องเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ดังนั้นศาสนาส่วนใหญ่จึงสอนให้พึ่งสิ่งสูงสุดของศาสนาที่เชื่อถืออยู่ เช่น พระเจ้า หรือเทพเจ้า เป็นต้น แต่พุทธศาสนาเป็นศาสนาประเภทอเทวนิยม คือไม่เชื่อเรื่องเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ แต่เชื่อสิ่งที่เกิดขึ้นธรรมดาๆตามธรรมชาติ ดังนั้นพุทธศาสนาจึงไม่สอนให้พึ่งสิ่งอื่นใดภายนอก แต่สอนให้พึ่งตนเอง โดยใช้สติปัญญาและความสามารถของตนเองเท่าที่มีอยู่ เพื่อให้ได้สิ่งที่ปรารถนา (คือความสุขหรือความพ้นทุกข์) การพึ่งสิ่งภายนอกก็ต้องใช้ความเชื่อและการอ้อนวอน รวมทั้งพิธีต่างๆตามความเชื่อ ซึ่งการพึ่งสิ่งภายนอกนั้นจะทำให้เราอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง ไม่มีปัญญา ไม่มีประสบการณ์ และโง่เขลา รวมทั้งไม่พ้นทุกข์ ซึ่งสิ่งที่จะได้จากความเชื่อก็มีเพียงความอุ่นใจว่าจะได้สิ่งที่ปรารถนาในอนาคต (ชาติหน้าหรือชาติต่อๆไป) เท่านั้น สรุปได้ว่า เมื่อเรามาศึกษาเรื่องการดับทุกข์ เราก็ต้องพึ่งตัวเอง ทั้งในการฟังหรืออ่านอย่างตั้งใจ แล้วนำสิ่งที่จำได้นั้นมาคิดพิจารณาหาเหตุผลอย่างจริงจัง จนเกิดความเข้าใจอย่างแจ่มชัด แล้วนำความเข้าใจนี้มาพิสูจน์ด้วยการทดลองปฏิบัติด้วยตนเองอย่างจริงจัง จนความทุกข์ดับลงจริงๆ (แม้เพียงชั่วคราว) จนเกิดเป็นความเห็นแจ้งขึ้นมาในที่สุด แต่ถ้าเราไปพึ่งสิ่งภายนอก เช่น สิ่งที่เชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ หรือครูอาจารย์ที่เรานับถือ เป็นต้น ให้มาช่วยให้เราประสบผลสำเร็จในการศึกษาและปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ ก็เท่ากับเราปฏิบัติขัดแย้งหรือตรงข้ามกับคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วผลที่ได้รับก็คือความทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันไม่ลดลงหรือดับลงจริง (แม้เพียงชั่วคราว) ลักษณะของคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อสรุปแล้วคำสอนเรื่องการดับทุกข์ของพระพุทธเจ้านั้น จะต้องมีลักษณะดังนี้คือ สันทิฏฐิโก คือต้องเห็นแจ้งประจักษ์ด้วยจิตของเราเอง หรือเห็นแจ้งด้วยตนเอง อกาลิโก คือไม่มีเรื่องเวลามาครั่นกลาง คือปฏิบัติเมื่อไรก็จะเห็นผลเมื่อนั้นทันที ไม่ใช่ปฏิบัติวันนี้หรือชาตินี้แล้วจึงค่อยไปเกิดผลในวันหน้าหรือชาติหน้า โอปนยิโก ต้องน้อมเข้ามาในตนเอง คือศึกษาจากร่างกายและจิตใจของเราเอง ไม่ใช่ไปดูที่ตำราแล้วจินตนาการ (คิดเพ้อฝัน) ไปนอกตัวเรา ปัจจัตตังเวทิตัพโพ วิญญูหิ คือเป็นสิ่งที่ผู้รู้ (ผู้ที่มีสติปัญญาและมีใจเป็นกลาง) จะรู้แจ้ง (หรือเห็นแจ้ง) ได้เฉพาะตน คนอื่นจะมารู้ด้วยไม่ได้ สรุปได้ว่า คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านั้น เราจะต้องเห็นแจ้งด้วยจิตของเราเองจริงๆ และคำสอนนั้นจะต้องอยู่ในชีวิตของเราในปัจจุบันนี้ด้วย ถ้าคำสอนใดเราไม่สามารถเห็นแจ้งด้วยจิตของเราเองและไม่อยู่ในชีวิตของเราในปัจจุบันนี้ด้วย คำสอนนั้นก็ไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า อย่างเช่น คำสอนเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เรื่องนรก สวรรค์ เทวดา นางฟ้า เป็นต้น ที่เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ที่ปลอมปนเข้ามาอยู่ในพุทธศาสนาในปัจจุบันนั่นเอง จบบทที่ ๑ |