-๔-

ภาคปลาย


โอวาทปาฏิโมกข์

ขันติเป็นธรรมเครื่องเผาบาปอย่างยิ่ง,  ท่านผู้รู้กล่าวนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง,  ผู้ที่ทำร้ายผู้อื่นอยู่   ไม่ชื่อว่าบรรพชิต,    ผู้เบียดเบียนผู้อื่นอยู่   ไม่ชื่อว่าสมณะ,  การไม่ทำบาปทั้งปวง,    การทำกุศลให้ถึงพร้อม,  การทำจิตให้บริสุทธิ์ขาวรอบ,   นี้เป็นคำสอนของพระอริยเจ้าทั้งหลาย.

การไม่กล่าวร้าย   การไม่ทำร้าย,   ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์,

ความรู้ประมาณในภัตตาหาร,   การอาศัยอยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงัด,

การประกอบความเพียรในอธิจิต.  นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.

 

ผู้ชี้ชวน  ผู้วิงวอน

ภิกษุทั้งหลาย.    กิจอันใด  ที่ศาสดาผู้เอ็นดูแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล   จะพึงทำแก่สาวกทั้งหลาย  กิจอันนั้น  เราได้กระทำแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย.  ภิกษุทั้งหลาย.   นั่น  โคนไม้ทั้งหลาย,   นั่น  เรือนว่างทั้งหลาย.   พวกเธอทั้งหลายจงเพียรเผากิเลส, อย่าได้ประมาท  พวกเธอทั้งหลาย อย่าได้ต้องเป็นผู้ที่ต้องร้อนใจในภายหลังเลย.  นี้แลเป็นวาจาเครื่องพร่ำสอนพวกเธอทั้งหลายของเรา.

 

ผู้ชี้ขุมทรัพย์

อานนท์.  เราจะไม่พยายามทำกับพวกเธอ  อย่างทะนุถนอม เหมือนพวกช่างหม้อทำแก่หม้อที่ยังเปียก  ยังดิบอยู่      อานนท์. เราจักขนาบแล้วขนาบอีก    ไม่มีหยุด    ผู้ใดมีมรรคผลเป็นแก่นสาร  ผู้นั้นจักทนอยู่ได้   คนเรา  ควรมองผู้มีปัญญาใดๆที่คอยชี้โทษ  คอยกล่าวคำขนาบอยู่เสมอไป  ว่าคนนั้นแหละ  คือผู้ชี้ขุมทรัพย์ละ  ควรคบบัณฑิตที่เป็นเช่นนั้น  เมื่อคบหากับบัณฑิตชนิดนั้นอยู่    ย่อมมีแต่ดีท่าเดียว   ไม่มีเลวเลย.

 

********************

 

บทที่  ๑   ทุกข์

๑.  ทุกข์  ๓  ลักษณะ

ก่อนอื่นเราควรเข้าใจว่า คำว่า “ทุกข์” นี้จะมีความหมายอยู่ถึง ๓ อย่าง อันได้แก่

               ๑.  ทุกขลักษณะ    คือลักษณะที่ต้องทน

               ๒.  ทุกขเวทนา      คือความรู้สึกที่ทนได้ยาก

               ๓.  ทุกขอุปาทาน   คือทุกข์จากความยึดมั่นถือมั่น

ทุกขลักษณะนี้ก็คือ ลักษณะที่ต้องทนของ ”สิ่งปรุงแต่ง” (สังขาร) ทั้งปวง ตามกฎไตรลักษณ์ คือทุกสิ่ง ทั้งวัตถุ, ร่างกาย, และจิต  ที่เกิดขึ้นมา ล้วนจะต้องมีความต้องทนนี้อยู่แล้ว โดยบางสิ่งก็มีน้อยบางสิ่งก็มีมาก หรือสิ่งเดียวนั้นบางเวลาก็มีมาก แต่บางเวลาก็มีน้อย โดยทุกขลักษณะนี้ถ้ามีมากและเกิดขึ้นกับความรู้สึกของจิต ก็เรียกว่าทุกขเวทนา เมื่อเกิดขึ้นกับจิตที่เกิดความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเรา ก็เรียกว่าเป็นทุกขอุปาทาน

ทุกขเวทนาก็คือ ความรู้สึกที่ทนได้ยาก อันเป็นความรู้สึกของจิตขณะที่สัมผัสกับอารมณ์ภายนอกที่ไม่น่ายินดี  ซึ่งทุกขเวทนานี้ก็คือทุกขลักษณะที่เกิดขึ้นกับความรู้สึก (เวทนา) ของจิตนั่นเอง อย่างเช่น เมื่อกายได้สัมผัสกับอากาศร้อนก็จะเกิดทุกขเวทนาทางกายขึ้นมา  เป็นต้น 

ทุกขอุปาทานก็คือความทุกข์ที่เกิดจากการที่จิตเกิดความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเรา  คือเมื่อจิตเกิดความยึดถือนี้ขึ้นมา ความยึดถือนี้ก็จะมาสัมผัสใจอีกทีหนึ่งแล้วทำให้เกิดทุกขเวทนาทางใจที่รุนแรงซ้อนขึ้นมาอีก  อย่างเช่น เมื่อกายได้สัมผัสกับอากาศร้อน นอกจากร่างกายจะเกิดทุกเวทนาแล้ว เมื่อจิตใจเกิดความยึดถือว่ามีตัวเราเป็นผู้สัมผัสอากาศร้อน ก็จะทำให้จิตใจเกิดความรู้สึกทุกข์ทรมานขึ้นมาทันที (คือได้เกิดทุกขเวทนาที่รุนแรงซ้อนขึ้นมาอีกที) เป็นต้น

ทุกขลักษณะนี้เราไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะเป็นธรรมชาติของสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายที่ต้องมีความต้องทนอยู่แล้วเป็นธรรมดา ส่วนทุกขเวทนานั้นเป็นธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นเมื่อจิตต้องสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ถ้าเราไม่อยากได้ทุกขเวทนา เราก็หลีกหนีการสัมผัสนั้นเสีย แต่ทุกเวทนานี้ก็ยังไม่รุนแรงเท่าทุกอุปาทาน 

ทุกขอุปาทานนั้นเราสามารถที่จะแก้ไขได้  โดยการปฏิบัติตามหลักมรรคเพื่อไม่ให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวเรา-ของเราขึ้นมา  แล้วทุกขอุปาทานก็จะไม่เกิด  แม้อาจจะมีทุกขเวทนาเกิดอยู่บ้างแต่ก็ไม่สำคัญเท่าทุกขอุปาทาน  อย่างเช่น ถ้าเราเดินตากแดดแล้วร้อนกาย  ถ้าเราเกิดความยึดถือว่ามีตัวเราร้อนขึ้นมา  ก็จะทำให้เกิดความร้อนใจมากหรือเกิดความทุกข์ใจซ้อนขึ้นมาอีก  แต่ถ้าไม่เกิดความยึดถือว่ามีตัวเราร้อน ก็จะมีแต่เพียงร่างกายร้อนเท่านั้น ส่วนจิตใจจะเย็น  เป็นต้น

 

๒.  ทุกข์อริยสัจคือความยึดมั่นในขันธ์ ๕

อาการของความทุกข์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้มีดังนี้

 

               “ภิกษุทั้งหลาย.  ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์เป็นอย่างไรเล่า  ภิกษุทั้งหลาย

ความเกิดเป็นทุกข์  ความแก่เป็นทุกข์  ความตายเป็นทุกข์ ความโศก ความร่ำรำพัน 

ความทุกข์กาย  ความทุกข์ใจ  ความคับแค้นใจ เป็นทุกข์    ความประสบด้วยสิ่งไม่

เป็นที่รัก เป็นทุกข์  ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก เป็นทุกข์  ความปรารถนาอย่างใด

แล้วไม่ได้อย่างนั้น เป็นทุกข์  กล่าวโดยสรุปแล้ว ปัญจุปาทานักขันธ์ (ขันธ์ห้าอันประ

กอบด้วยอุปาทาน) เป็นตัวทุกข์.  นี้เรียกว่าความจริงอันประเสริฐคือทุกข์.”

 

เมื่อสรุปแล้วตัวความทุกข์ก็คือ “ความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง ๕ ว่าเป็นตัวเรา-ของเรา” คือเมื่อจิตเกิดความยึดมั่น (อุปาทาน) ในขันธ์ทั้ง ๕ (คือในร่างกายและจิตใจที่สมมติเรียกกันว่าเป็นตัวเรา-ของเรานี้) ว่าเป็นตัวเรา-ของเราเมื่อใด ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้นเมื่อนั้น ซึ่งก็สามารถแยกเป็นอาการที่จะทำให้เกิดทุกข์ได้ดังนี้คือ

 ความเกิด คือเกิดความยึดมั่นว่ามีตัวเราขึ้นมา (ในกรณีที่กำลังมีความสุขอยู่)

 ความแก่ คือเกิดความยึดมั่นว่ามีตัวเราแก่ขึ้นมา (ในกรณีที่ร่างกายแก่)

 ความตาย คือเกิดความยึดมั่นว่ามีตัวเราจะตายขึ้นมา (ในกรณีที่ร่างกายกำลังจะตาย)

 ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก  คือเกิดความยึดมั่นว่ามีตัวเราที่กำลังพลัดพรากอยู่ (ในกรณีที่ชีวิตกำลังมีความพลัดพรากอยู่)

ความประสบด้วยสิ่งไม่เป็นที่รัก คือเกิดความยึดมั่นว่ามีตัวเราที่กำลังประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักอยู่ (ในกรณีที่ชีวิตกำลังประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักอยู่ )

ความปรารถนาอย่างใดแล้วไม่ได้อย่างนั้น คือเกิดความยึดมั่นว่ามีตัวเราที่กำลังผิดหวังอยู่ (ในกรณีที่ชีวิตกำลังผิดหวังอยู่)

แม้แต่ความโศก (ความยึดมั่นว่ามีตัวเราที่กำลังมีความเศร้าโศกหรือเสียใจ), ความร่ำรำพัน (ความยึดมั่นว่ามีตัวเราที่กำลังคร่ำครวญ), ความทุกข์กาย (ความยึดมั่นว่ามีตัวเราที่กำลังมีความทุกข์ยากลำบากทางร่างกายอยู่),  ความทุกข์ใจ (ความยึดมั่นว่ามีตัวเราที่กำลังมีความทุกข์ทางจิตใจอยู่),   และความคับแค้นใจ (ความยึดมั่นว่ามีตัวเราที่กำลังมีความโกรธ หรือความแค้นเคือง หรือไม่พอใจอย่างมากอยู่) เหล่านี้ก็คือความทุกข์

 

๓.  ทุกข์ซ่อนเร้น - ทุกข์เปิดเผย

              

               สุขเวทนา             à         พอใจ     à    ทุกข์ซ่อนเร้น

               ทุกขเวทนา           à       ไม่พอใจ   à    ทุกข์เปิดเผย

               อทุกขมสุขเวทนา    à       ลังเล       à    ทุกข์อ่อนๆ

 

ความทุกข์นี้ถ้ามองอย่างละเอียดจะพบว่ามีอยู่  ๒ ประเภท  คือ

               ๑.  ทุกข์เปิดเผย    คือความทุกข์ที่เห็นได้ง่าย 

               ๒.  ทุกข์ซ่อนเร้น  คือความทุกข์ที่เห็นได้ยาก 

ทุกข์เปิดเผยก็คือ ความทุกข์ที่เกิดจากการที่จิตเกิดความไม่พอใจกับสิ่งที่ทำให้เกิดทุกขเวทนา  ซึ่งก็ได้แก่ความทุกข์ที่มาพร้อมกับเสียงร้องไห้  หรือได้แก่ความเศร้าโศก เสียใจ แห้งเหี่ยวใจ  เป็นต้น ซึ่งเห็นได้ง่าย

ทุกข์ซ่อนเร้นก็คือ  ความทุกข์ที่เกิดจากการที่จิตเกิดความพอใจกับสิ่งที่ทำให้เกิดสุขเวทนา  ซึ่งก็ได้แก่ความทุกข์ที่มาพร้อมกับเสียงหัวเราะ และความสุขสนุกสนานเพลิดเพลินทั้งหลาย คือในขณะที่เรามีความยินดีต่อสิ่งที่ให้ความสุขต่างๆอยู่นั้น ถ้าสังเกตให้ดีเราจะพบว่าจิตของเราจะมีความรู้สึกหนัก เหนื่อย ทรมาน เร่าร้อน และกระวนกระวายอยู่ด้วยเสมอ เหมือนการกินอาหารที่อร่อยแต่เผ็ดร้อนมาก

ส่วนขณะที่จิตเกิดความลังเลใจ (สับสนหรือยังไม่เป็นทั้งพอใจและไม่พอใจ) กับอทุกขมสุขเวทนาอยู่นั้น จะยังไม่เป็นทุกข์รุนแรงอะไร จะเป็นเพียงทุกข์อ่อนๆ (คือความรู้สึกไม่ปลอดโปร่งแจ่มใส ไม่สงบเย็น) ที่ไม่เป็นปัญหา

ความทุกข์เปิดเผยนั้นเรามักจะเกลียดกลัว แต่ความทุกข์ซ่อนเร้นนั้นเรามักจะพอใจ  ซึ่งที่จริงมันก็ให้ความรู้สึกทุกข์ทรมานพอๆกัน แต่สำหรับคนที่มีจิตหยาบ (ไม่มีสมาธิ) จะไม่รู้สึกถึงทุกข์ซ่อนเร้น ต้องคนที่มีจิตละเอียด (มีสมาธิ) จึงจะรู้สึกถึงทุกข์ซ่อนเร้นนี้ได้ ซึ่งถ้าเราจะรู้จักทุกข์ซ่อนเร้นนี้อย่างถูกต้อง แล้วเริ่มจะเบื่อหน่ายกับความทุกข์ซ่อนเร้นขึ้นมาบ้างแล้ว นี่ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นสู่ความพ้นทุกข์ที่แท้จริง

 

๔.  ทุกข์ต้องกำหนดรู้

ความทุกข์เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนเกลียดกลัว และปรารถนาที่จะไม่มีทุกข์เลยตลอดชีวิต  แต่ก็ไม่มีใครพ้นจากทุกข์ไปได้ เพราะไม่รู้จักตัวทุกข์อย่างถูกต้อง คือไปเชื่อว่าเป็นเพราะร่างกายแก่, เจ็บ, หรือเป็นเพราะสิ่งที่รักต้องจากไป เป็นต้น ว่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดความทุกข์ แล้วก็พยายามไปแก้กันที่ร่างกาย หรือสิ่งต่างๆภายนอกนั้น ซึ่งก็แน่นอนว่าไม่มีใครจะพ้นจากความแก่ เจ็บ และตายของร่างกายไปได้ ไม่มีใครที่จะไม่ต้องพลัดพรากจากสิ่งหรือบุคคลที่รักไป ไม่มีใครที่จะไม่ต้องประสบกับสิ่งหรือบุคคลที่ไม่รักได้ และไม่มีใครที่จะได้ทุกสิ่งตามที่อยากได้เสมอไป นี่เองจึงทำให้ผู้ที่เข้าใจผิดเช่นนี้จึงต้องมีแต่ความทุกข์อยู่ร่ำไป ไม่สามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ แม้เขาจะมีการรักษาศีลอย่างสมบูรณ์มาแล้ว หรือมีสมาธิอย่างสูงแล้ว หรือมีการทำบุญให้ทานและช่วยเหลือผู้อื่นมาอย่างมากมาย หรือมีการศึกษาธรรมะต่างๆมาอย่างมากมายแล้วก็ตาม ซึ่งความจริงแล้วความทุกข์นั้นเกิดมาจากความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเรานี่เอง ถ้าไม่มีความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเราเสียอย่างเดียว ความทุกข์ทั้งหมดก็จะไม่เกิดขึ้น แม่ร่างกายจะแก่ หรือเจ็บ หรือจะตาย หรือกำลังพลัดพราก เป็นต้นอยู่ก็ตาม อีกทั้งความทุกข์นี้ก็ยังมีทั้งอย่างเปิดเผยและซ่อนเร้น ซึ่งผู้คนส่วนมากไม่รู้จักว่าความสุขนั้นทำให้เกิดความทุกข์ซ่อนเร้นขึ้นมาได้ จึงได้ลุ่มหลงติดใจในความทุกข์ซ่อนเร้นนี้ และเมื่อไม่รู้จักตัวทุกข์และสาเหตุของมันอย่างถูกต้อง จึงทำให้ไม่สามารถดับทุกข์ได้อย่างถูกต้อง 

ผู้คนทั่วไปเมื่อถูกความทุกข์ครอบงำก็จะขาดสติ (คือระลึกอะไรที่จะเกิดปัญญาไม่ได้) และแสวงหาที่พึ่งภายนอก (คือคิดแต่จะให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือใครๆมาช่วยให้พ้นทุกข์ โดยไม่คิดจะพึ่งตัวเอง)  ซึ่งตามปกติความทุกข์อันใหญ่หลวงของมนุษย์ก็คือความตาย ที่เราทุกคนจะต้องประสบอย่างแน่นอน ไม่สามารถหลีกหนีได้  แต่มนุษย์ผู้ถูกความโง่ครอบงำก็ยังประมาทกันอยู่ คือยังลุ่มหลงความสุขสนุกสนานของโลกอยู่จนลืมนึกถือว่าความตายอันเป็นภัยอันใหญ่หลวงกำลังรอทุกคนอยู่ และเมื่อใกล้จะตายมนุษย์ผู้โง่เขลานี้ก็ย่อมที่จะมีแต่ความทุกข์อย่างแสนสาหัสอย่างที่ไม่มีใครหรืออะไรจะมาช่วยได้

ความสุขของโลกทั้งหลาย แม้จะมากมายและประณีตสักเพียงใด ก็ยังมีความทุกข์ซ่อนอยู่ และก็ไม่เที่ยงแท้ถาวร เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับหายไปเหมือนความฝัน ไม่สามารถตั้งอยู่ตลอดไปได้ อีกทั้งความสุขของโลกยังนำมาซึ่งปัญหาและความทุกข์ความเดือดร้อนต่างๆมากมายในภายหลัง สุดท้ายความสุขทั้งหลายก็ผ่านเลยไปหมด เหลือไว้แต่เพียงความว่างเปล่าและความทรงจำไว้ให้อาลัยหา  และยังต้องประสบกับความทุกข์อันใหญ่หลวงเมื่อรู้ตัวว่าจะต้องตายอย่างแน่นอนแล้ว   เมื่อเห็นอย่างนี้แล้วทำไมเราจึงไม่คิดจะมาแสวงหาความพ้นทุกข์กันบ้าง? ทำไมเราจึงยังมาลุ่มหลงติดใจในความสุขที่ว่างเปล่ากันอยู่ แล้วก็ต้องมาเสียใจอย่างที่สุดในภายหลัง เหมือนปลาโง่ที่มาหลงกินเหยื่อที่พรานเบ็ดเขาล่อลวงเอาไว้ โดยมีเบ็ดอันแหลมคมซ่อนอยู่ภายใน เมื่อกินเหยื่อก็ย่อมที่จะติดเบ็ด แล้วพรานเบ็ดก็ย่อมจะนำปลาโง่นั้นไม่ฆ่ากินเป็นอาหาร โดยไม่สนใจว่าปลาโง่นั้นจะทุกข์ทรมานสักเท่าใดก่อนที่จะตาย

 

จบบทที่ 


|หน้าต่อไป|






Free Web Hosting