(เป็นข้อเขียนของ คุณสาธิก ธนะทักษ์ ที่ได้ส่งมาให้ เห็นว่ามีประโยชน์จึงได้นำมาให้อ่าน)
เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับศาสนาพุทธ

          เนื่องจากข้าพเจ้าได้มีโอกาสบวชในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน แม้จะเป็นเวลาไม่นาน แต่ก็ได้มีโอกาสศึกษาพุทธศาสนาในระดับหนึ่ง ซึ่งก่อนการบวชนั้นมีแต่ความสงสัย ข้องใจมากมาย จึงถือโอกาสนี้ทำการค้นคว้าเพื่อจะตอบคำถามที่ตนเคยสงสัย เช่น

-                    นับถือพุทธศาสนาทำไม ในเมื่อประเทศที่ไม่นับถือพุทธมีความเจริญกว่าเรามากมาย

-                    ถ้าศาสนาพุทธดีจริงทำไมประเทศอินเดียที่เป็นต้นกำเนิดยังไม่นับถือ

-                    เทพเจ้า พระเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์ ฤทธิ์ มีจริงหรือไม่

-                    กรรม สวรรค์ นรก ชาติหน้า เป็นอย่างไร,ทำบุญอย่างไรให้ได้บุญ

-                    การปฏิบัติตนให้เหมาะสมควรทำอย่างไร

โดยเมื่อได้ทำการค้นคว้าและตอบคำถามให้กับตนเองได้ระดับหนึ่งแล้ว มีความรู้สึกว่า

ทำไมเราจึงไม่รู้เรื่องพวกนี้แต่เด็ก จึงอยากให้คนอื่นได้รับรู้บ้าง จึงทำการเรียบเรียง ตามหัวข้อที่ตนสนใจ โดยการจัดหมวดหมู่ ตัดแปะ ย่อความ สรุปตามความเข้าใจและแสดงความคิดเห็นลงไป โดยจุดประสงค์เพียงเพื่อจุดประกายเพื่อให้เกิดความสนใจและให้ผู้อ่านทำการค้นคว้าต่อไป(ในตอนแรกเพียงเขียนลงสมุดตั้งใจเก็บไว้อ่านทบทวนเอง การอ้างอิงจึงไม่ได้ทำเป็นระบบ) โดยเนื้อหาส่วนมากนั้นนำมาจาก พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.. ปยุตโต) และท่านพุทธทาส เป็นหลักโดยสามารถค้นคว้าได้ทางเว็บไซต์เพียงแค่พิมพ์ชื่อ หรือพิมพ์คำว่าธรรมะก็มีเว็บมากมายให้ท่านได้เลือก

          หลายเรื่องนั้นอาจผิดไปจากความเชื่อของแต่ละคน ซึ่งคงไม่มีใครรู้จริงเพราะเวลาผ่านไปนานแล้วข้อมูลที่เรียบเรียงมาก็เป็นข้อมูลชั้นรอง(ศึกษาจากผู้มีความรู้อีกทอด) ถ้าอ่านแล้วมีความคิดเห็นต่างกันสามารถแสดงความคิดเห็นแล้วส่งกลับมา ข้าพเจ้าจะทำการส่งต่อให้กับคนที่ข้าพเจ้าส่งไปเพื่อเป็นทางเลือกในการคิดและแนวทางการปฏิบัติตน

          ตัวผู้เขียนเป็นเพียงผู้เริ่มศีกษาธรรมะ มีความรู้อันน้อยนิด ข้อมูลที่รวบรวมมาก็ล้วนแต่เลือกสิ่งที่ตนอยากรู้สนใจ มีเป้าหมายในการพัฒนาตนเองก่อน และไม่มีความรู้ความสามารถปฏิบัติสมาธิ วิปัสนาขั้นสูงแต่อย่างใด โดยหวังว่าเมื่อพัฒนาตนเองแล้วจะศึกษาในขั้นสูงกว่าต่อไป เพียงแค่หวังว่าเนื้อหาภายในจะช่วยตอบคำถามของใครหลายๆคนได้ ไม่ได้ต้องการหักล้าง ลบหลู่ความเชื่อใดๆ แต่เห็นว่าความเชื่อหลายๆอย่างนั้นเกิดผลเสียมากกว่าผลดีจึงนำมาให้พิจารณา

          ถ้าเราต้องการจะซักผ้า เราคงจะมีผงซักฟอกมากมายให้เลือก หลายสรรพคุณ หลายราคาคนมีความคิด ก็ต้องเลือกในสิ่งที่ดีที่สุดอยู่แล้ว เมื่อมีทางเลือก ให้ดูให้เลือก หลากหลาย เราก็จะเป็นผู้ที่ได้รับ สิ่งที่ดีที่สุด บทความนี้จึงเป็นเพียงทางเลือกหนึ่ง ซึ่งทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดี ฉะนั้นจึงไม่อยากให้เอา ศาสนาหรือธรรมะมาทะเลาะมาเถียงกัน(ตอนเขียนจบ พึ่งได้อ่านบทความในเว็บไซต์ของพระเตชปญฺโญ ภิกขุ ซึ่งมีแนวคิดคล้ายกัน เกิดกระแสต่อต้านค่อนข้างมาก)

 

แล้วทำไมศาสนาพุทธที่ว่าดี ประเทศที่กำเนิดยังไม่นับถือ

                                               

          รวบรวมจากหนังสือหลายๆเล่มของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.. ปยุตโต)  หลังจาก พระพุทธศาสนาเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง ถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช แห่งราชวงศ์โมริยะ ที่ครองราชย์ตั้งแต่ พ.ศ.218พระเจ้าอโศกมหาราชทรงนำธรรมของพระพุทธเจ้ามาใช้ในการปกครองบ้านเมือง โดยทะนุบำรุงอำนวยประโยชน์สุขแก่ประชาราษฎร์อย่างทั่วถึง และคุ้มครองให้ความเป็นธรรมเสมอเหมือนกัน

          นอกจากไม่ให้อภิสิทธิ์แก่วรรณะพราหมณ์แล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชถึงกับทรงประกาศห้ามฆ่าสัตว์บูชายัญ และทรงย้ำการห้ามบูชายัญนี้บ่อยครั้งในศิลาจารึกที่โปรดให้เขียนไว้ในท้องถิ่นดินแดนต่างๆ นับว่าเป็นการหักล้างหลักการของศาสนาพราหมณ์อย่างถึงรากถึงฐานแน่นอนว่า ระบบวรรณะ และการบูชายัญ เป็นสิ่งที่พราหมณ์จะต้องพยายามรักษาไว้ให้มั่นคงที่สุด

          หลักจากพระเจ้าอโศกมหาราชสวรรคตเพียง 53 ปี (นับแบบของเราว่า พ.ศ. 313 แต่นับอย่างฝรั่งว่าประมาณ พ.ศ. 298) พวกพราหมณ์ก็โค่นล้มราชวงศ์โมริยะลง โดยพราหมณ์นามว่าปุษยมิตร ซึ่งรับราชการเป็นเสนาบดีอยู่ในวัง ได้ปลงพระชนม์กษัตริย์เสีย แล้วพราหมณ์ก็ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์เอง ตั้งราชวงศ์ใหม่ชื่อว่าศุงคะ 

มีเรื่องบันทึกไว้ว่า ราชาปุษยมิตรได้ประกาศศักดา โดยรื้อฟื้นการบูชายัญ เฉพาะอย่างยิ่งยัญพิธีที่ยิ่งใหญ่ของกษัตริย์ คือ อัศวเมธอันได้แก่การฆ่าม้าบูชายัญ อัศเมธ เป็นพิธีบูชาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด สำหรับราชา ที่จะครองอำนาจสูงสุดและประกาศความยิ่งใหญ่ โดยจะ เลือกม้าที่ดีที่สุดตัวหนึ่งและปล่อยไปตามใจ 1 ปีเต็ม โดยมีเจ้าชายและทหารติดตามไป เมือเข้าเขตแดนประเทศใด ถ้าประเทศนั้นยอมให้ม้าผ่านก็แสดงว่ายอมอยู่ใต้อำนาจถ้าไม่ยอมให้ผ่านก็ต้องทำสงครามกัน ราชาที่ยอมหรือรบแพ้ต้องตามม้ามา เมื่อครบ 1 ปี ก็กลับถึงประเทศของตน แล้วก็ฆ่าม้านั้นบูชายัญสังเวยแด่เทพเจ้า พร้อมทั้งมีงานฉลองที่ยิ่งใหญ่ แล้วราชานั้นก็สามารถใช้พระนามเฉลิมพระเกียรติยศว่าเป็นจักรพรรดิ

          นอกจากนั้น ราชาปุษยมิตรได้ทำลายพระพุทธศาสนา เผาวัดกำจัดพระภิกษุสงฆ์ โดยถึงกับให้ค่าศีรษะแก่ผู้ฆ่าพระภิษุได้ รูปละ 100 ทินาร์ แต่เรื่องของปุษยมิตรอยู่ในยุคที่มีเอกสารน้อย จึงไม่มีรายละเอียด อย่างไรก็ตาม ราชาปุษยมิตรทำลายพระพุทธศาสนาไม่ได้มากเพราะครองดินแดนของราชวงศ์โมริยะไว้ได้เพียงบางส่วน มีผู้ตั้งอาณาจักรอื่นๆ ขึ้นแตกแยกออกไป และพระพุทธศาสนาก็ยังรุ่งเรืองต่อมาในหลายถิ่น

          ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 400  (ราว 150 ปีหลังยุคพระเจ้าอโศกมหาราช) เทพเจ้าองค์ใหม่ได้ยิ่งใหญ่ขึ้นมาในศาสนาพราหมณ์นั้น คือ พระวิษณุ (ได้แก่พระนารายณ์) และพระศิวะ (ได้แก่พระอิศวร)     ในยุคต่อจากนี้ ตลอดเวลาระยะยาว พราหมณ์ ได้พยายามล้มล้างพระพุทธศาสนาเรื่อยมา ด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งอย่างรุนแรง และอย่างละมุนละม่อม รวมทั้งการสร้างนารายณ์อวตารปางที่ 9 ที่เรียกว่า พุทธาวตาร หรือที่พราหมณ์เองเรียกว่า ปางมายาโมหะ และศิวะอวตาร ตลอดจนตั้งคณะนักบวชฮินดูขึ้นมาเลียนแบบสังฆะเดี๋ยวนี้ชาวฮินดูสร้างเทวาลัย บางพวกวางรูปพระนารายณ์ไว้ตรงกลาง แล้วบางแห่งก็เอารูปพระพุทธเจ้าไปวางไว้ข้างๆ ให้เป็นบริวาร การที่เขาทำอย่างนี้ เป็นเรื่องยุคหลังๆ ที่สืบมาแต่ราว พ.. 1000

          ครั้งนั้นทางฝ่ายฮินดูแต่งเรื่อง โดยสร้างหลักคำสอนใหม่ขึ้น มาบอกว่าพระนารายณ์ซึ่งเป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่ จะอวตารลงมากู้และแก้ปัญหาของโลกเป็นระยะๆ แล้วครั้งหนึ่งก็ได้อวตารลงมาเป็นพระพุทธเจ้า เสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าของเราก็กลายเป็นอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์

          เขาบอกว่า บูชาพระพุทธเจ้าได้ ไม่เป็นไร เพราะพระพุทธเจ้าก็เป็นพระนารายณ์ที่อวตารลงมา ว่าแล้วเขาก็เอาพระพุทธรูปไปวางไว้ข้างๆ เป็นการค่อยประสานกลมกลืนกันไป

          แต่ถ้าทำการศึกษาสักหน่อย ก็จะรู้ว่าเป็นการมุ่งร้าย เพราะที่พระนารายณ์อวตารลงมาเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อทำหน้าที่หลอกลวงคน คือ เขาแต่งเรื่องว่า มีมนุษย์จำนวนมากที่เป็นพวกอสูรร้าย เป็นปฏิปักษ์ต่อพระเป็นเจ้าและต่อพระเวท พระนารายณ์ก็เลยอวตารลงมาเป็นพระพุทธเจ้าเพื่อหลอกลวงคนเหล่านี้เอามารวมเข้าด้วยกันไว้ เพื่อช่วยให้เทพเจ้าทำลายคนเหล่านี้ได้สะดวก ทีเดียวหมดเลย

          หมายความว่า ฮินดูให้พระพุทธเจ้าเป็นพระเอกในบทบาทของผู้หลอกลวง และถือว่าชาวพุทธก็คือลูกน้องของอสูร

 

พราหมณ์ใช้พระนารายณ์ มาชิงอินเดียกลับไป

          เรื่องนารายณ์อวตารนี้เกิดขึ้นในยุคคัมภีร์ปุราณะของฮินดู คล้ายกับคำว่าตำนาน ของฮินดูโดยเฉพาะ มีทั้งหมด 18 คัมภีร์ แต่ก่อนเคยเข้าใจกันว่าเก่าแก่มาก แต่เวลานี้รู้กันลงตัวหมดแล้วว่า แต่งขึ้นเริ่มแรกในราว พ.. 850 และแต่งกันมาเรื่อยๆ จนราว พ.. 1450-2050

          เรื่อง พุทธวาตาร นั้น ปรากฏขึ้นระหว่าง พ.. 1000-1100 คัมภีร์แรกที่กล่าวถึง คือ วิษณุปุราณะ โดยขอยกตัวอย่างตอนสำคัญมาให้ดูตอนหนึ่งว่า

          “ พวกอสูร มีปะหลาทะ เป็นหัวหน้า ได้ขโมยเครื่องบูชายัญของเทพยดาทั้งหลายไปแต่เหล่าอสูรเก่งกล้ามาก…เทพยดาปราบไม่ได้ พระวิษณุเจ้า(พระนารายณ์)จึงทรงนิรมิตบุรุษแห่งมายา(นักหลอกลวง) ขึ้นมาเพื่อให้ไปชักพาเหล่าอสูรออกไปให้พ้นจากทางแห่งพระเวท…

          บุรุษแห่งมายานั้นนุ่งห่มผ้าสีแดง และสอนเหล่าอสูรว่าการฆ่าสัตว์บูชายัญเป็นบาป … ทำให้พวกอสูรเป็นชาวพุทธ และชักพาให้หมู่ชนอื่นๆ ออกนอกศาสนา พากันละทิ้งพระเวท ติเตียนเทพยดาและพราหมณ์ทั้งหลาย สลัดทิ้งสัทธรรมที่เป็นเกราะป้องกันตัว เทพยดาทั้งหลายจึงเข้าโจมตีและฆ่าอสูรเหล่านั้นได้”

             

คัมภีร์ ภาควตปุราณะ ซึ่งเป็นปุราณะที่สำคัญที่สุดกล่าวว่า

“ เมื่อกลียุคเริ่มขึ้นแล้ว องค์พระวิษณุเจ้า จะลงมาอุบัติเป็นพระพุทธเจ้า โอรสของราชา อัญชนะ (ที่จริงเป็นพระอัยกาของพุทธเจ้า) เพื่อชักพาเหล่าศัตรูของเทพยดาทั้งหลายให้หลงผิดไปเสีย …. มาสอนอธรรมแก่เหล่าอสูร …. ทำให้พวกมันออกไปเสียจากพระศาสนา … พระองค์จะทรงสั่งสอนเหล่าชนผู้ไม่สมควรแก่ยัญพิธีให้หลงผิดออกไป ขอนอบน้อมแด่องค์พระพุทธ ผู้บริสุทธิ์ ผู้หลอกลวงเหล่าอสูร”

 

              ที่ว่ากลียุคนั้น ทางฮินดูถือว่ามีเครื่องหมายแสดงให้รู้คือ เมื่อใด การแบ่งแยกวรรณะทั้ง 4 เริ่มผ่อนคลายเสื่อมลง ก็แสดงว่าเริ่มเข้าสู่กลียุค เมื่อสิ้นกลียุคแล้ว พระองค์ก็จะอวตารลงมาอีกครั้งหนึ่ง เป็นอวตารปางที่ 10 (ต่อจากพระพุทธเจ้าซึ่งเขาจัดเป็นปางที่ 9 )ชื่อ กัลกี (กัลกยาวตาร)เพื่อกำจัดกวาดล้างฆ่าเหล่าอสูรนั้นให้หมดสิ้น แล้วเสด็จคืนสู่สวรรค์ ต่อแต่นั้นโลกก็เข้าสู่ยุคทอง

                        คัมภีร์ มหาภารตะ ก็ได้เขียนเติมแทรกข้อความต่อไปนี้ไว้

“ เมื่อเริ่มกลียุค องค์พระวิษณุเจ้าจะลงมาอุบัติเป็นพระพุทธเจ้าผู้เป็นโอรสของราชาสุทโธทนะ และจะเป็นสมณะโล้นออกสั่งสอนด้วยภาษา มคธ ชักพาเหล่าประชาชนให้หลงผิดประชาชนเหล่านั้นก็จะกลายเป็นคนหัวโล้นไปด้วย และนุ่งห่มผ้าเหลือง พราหมณ์ก็เลิกทำพิธีเซ่นสรวง และหยุดสาธยายพระเวท…ลำดับนั้น เมื่อสิ้นกลียุค พราหมณ์นามว่ากัลกี ผู้เป็นบุตรแห่งวิษณุยะ จะมาถือกำเนิด และกำจัดเหล่าพวกอนารยชนคนนอกศาสนาเหล่านั้นเสีย"  

                        ซึ่งในประวัติศาสตร์นั้น พวกอารยันเข้ามาจากทางอิหร่าน มาบุกอินเดีย ตอนแรกที่ยกทัพมานั้น พวกนักรบเป็นใหญ่ เป็นยุคของกษัตริย์ ตอนนั้นเทพที่ยิ่งใหญ่คือพระอินทร์ ทีนี้พออารยันเข้ามาอินเดีย และยึดครองชมพูทวีปได้ อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุก็ตกอยู่ใต้อำนาจของอารยัน พวกมิลักขะเจ้าถิ่นถูกเหยียดลงไปเป็นทาส กาลายเป็นชนวรรณะศูทร เกิดวรรณะ 4 เป็น กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร

                        พอตั้งหลักแหล่งได้แล้ว พวกปัญญาชนก็เริ่มใหญ่ขึ้น พระอินทร์เดิมที่เคยใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของนักรบ ก็เริ่มอับแสงลงกลายเป็นว่าพระพรหมที่เป็นสัญลักษณ์ของพวกปัญญาชน หรือเจ้าคัมภีร์ใหญ่ขึ้นมาแทน ทั้งๆที่ตอนอารยันกำลังรุกเข้ามาอินเดีย ตอนนั้นยังไม่มีพระพรหมแต่พอตั้งหลักแหล่งแล้ว พระพรหมก็โผล่ขึ้นมา มีพวกพราหมณ์ ซึ่งเป็นนักวิชาการ เป็นปัญญาชน เป็นผู้ประกอบพิธี เหมือนกับรู้พระทัย สามารถสื่อสารได้กับพระพรหม

                        ถึงยุคนี้ ใครๆก็ต้องอาศัยพราหมณ์เป็นผู้บอกว่าพระพรหมต้องการอะไร ต้องทำพิธีอะไรบูชายัญ กษัตริย์ก็เริ่มตกอันดับ ลำดับจึงเป็น พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร ส่วนพระอินทร์มีเรื่องเสียหายเกิดขึ้นมากลบเยอะหมด กลายเป็นเทพที่ไม่ค่อยมีความหมาย

                        ต่อมาเมื่อพวกพ่อค้าวาณิช เศรษฐีคหบดี ทั้งๆที่เดิมอยู่ในชนชั้นสาม (แพศย์/ไวศยะ) แต่กลายเป็นผู้มีอิทธิพลมาก ทำให้มีพระศิวะและพระนารายณ์ขึ้นมาใหญ่แทน โดยคัมภีร์ต่างๆก็เพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มของตนทำให้แตกเป็นนิกาย เช่นต่อมา พวกฮินดูนิกายไศวะ ที่นับถือนิกายไศวะ ที่นับถือพระศิวะ(อิศวร) เป็นปฏิปักษ์กับชาวฮินดูนิกายไวษณะที่นับถือพระวิษณุ(นารายณ์) เมื่อจะกำจัดพระพุทธศาสนา ก็ถือโอกาสป้ายสีพระวิษณุด้วย ดังข้อความใน“ศังกรทิควิชยะ”ว่า

“เทพยดาทั้งหลายได้มาร้องทุกข์แต่องค์พระศิวะเป็นเจ้าว่า พระวิษณุได้เข้าสิงสู่ในร่างของพระพุทธเจ้าในโลกมนุษย์เพื่อประโยชน์ของตน

บัดนี้ เหล่าชนผู้เกลียดชังพระศาสนา ผู้ดูหมิ่นพราหมณ์ ดูหมิ่นธรรมแห่งวรรณะ และอาศรมธรรม ได้มีจำนวนมากเต็มผืนแผ่นดิน ไม่มีบุคคลใดประกอบยัญพิธี เพราะคนทั้งหลายได้กลายไปเป็นคนนอกพระศาสนา (นอกศาสนาฮินดู) คือ เป็นพุทธ เป็นพวกกาปาลิก เป็นต้น ทำให้เหล่าเทพยดาทั้งหลายไม่ได้เสวยเครื่องเซ่นสังเวยองค์พระศิวะ เป็นเจ้า (ได้ทรงสดับแล้ว)ก็ได้โปรดเห็นชอบกับเหล่าเทพยดา เสด็จอวตารลงมาเป็น ศังกราจารย์ เพื่อกู้คำสอนแห่งพระเวท ให้ฟื้นคืนกลับมา เพื่อให้สากลโลกมีความสุขและทำลายความประพฤติชั่วให้หมดไป”

 

ลัทธิตันตระเป็นวิวัฒนาการขั้นต่อมาของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน

          เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ซึ่งเกิดขึ้นมากมายทั่วโลก มีอาทิในประเทศอินเดีย อียิปต์ ประเทศจีนยุคกลาง ในตะวันออกกลาง ยุโรป สหรัฐอเมริกา (ล่าสุดในญี่ปุ่น ได้แก่กรณีโอมชินริเกียว - Aum Shinrikyo ซึ่งได้สร้างความหายนะทั้งในชีวิตและทรัพย์สินแก่ชาวญี่ปุ่นอย่างมหาศาล) ชี้ให้เราเห็นว่า ความเชื่อลัทธิทางศาสนานั้น มีอิทธิพลอย่างมากมายต่อพฤติกรรมในชีวิตของมนุษย์ พิธีกรรมหรือวัตรปฏิบัติ อันเกิดจากความเชื่อทางศาสนามากมายหลายกรณี ซึ่งแรกเริ่มเดิมที เกิดจากเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์อันดีงาม เป็นบุญกุศล แต่พอกาลเวลาล่วงเลยไป กิเลสของคนกลับแปรเปลี่ยนให้พิธีกรรมหรือ วัตรปฏิบัติเหล่านั้น หันเหไปในทางที่เลวทรามต่ำช้าสุดที่จะพรรณา

          อาจกล่าวได้ว่า ตันตระเป็นลัทธิความเชื่อและวัตรปฏิบัติที่นำ พุทธศาสนาไปสู่ความหายนะขั้นสุดท้ายในประเทศอินเดีย

          ตันตระประกอบด้วยคำสอนหลัก ๕ ประการ ที่มีชื่อว่า “๕ ม” มี (๑) มัทยะ - เหล้า (๒) มางสะ - เนื้อ (๓) มัตสยะ - ปลา (๔) มุทรา - ท่าทาง (๕) ไมถุน - การเสพสังวาส

          ผู้ที่เชื่อในหลักคำสอนของตันตระจะต้องใช้ “๕ ม” นี้ประกอบ การบูชากราบไหว้

          เพียงเท่านี้ก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการที่จะเข้าใจว่าตันตระคือ อะไร และทำไมพุทธศาสนาในอินเดียจึงถึงซึ่งกาลอวสานด้วยตันตระ

          สมองของมนุษย์นั้นว่ากันว่าเป็นเลิศประเสริฐสุดในบรรดาสัตว์ ทุกชนิดที่มีให้เห็นในโลก แต่ประวัติศาสตร์ก็มีนิทัศน์อุทาหรณ์ให้เราต้องยอมรับและเชื่อว่า ก็สมองของมนุษย์นี่แหละที่ได้สร้างความชั่วช้าสามานย์ ตลอดจนความพินาศวอดวายที่เลวร้ายที่สุดให้แก่มนุษย์

          ทุกวันนี้ “ตันตระ” ก็ยังมีให้เห็นทั่ว ๆ ไปในโลก (รวมทั้งในเมืองไทยด้วย)

          อาจจะมีท่านผู้อ่านอยากจะทราบว่าลัทธิตันตระชั่วร้ายอย่างไร ถึงกับทำให้พุทธศาสนาปลาสนาการไปจากอินเดียอันเป็นดินแดนถิ่นที่เกิด ผู้เขียนก็ขอตอบโดยสังเขปที่สุดว่า

          ตันตระนั้นหรือคือลัทธิที่สอนให้คนเชื่อในเวทย์มนต์คาถาอาคม การทรงเจ้าเข้าผี ตลอดจนทุกสิ่งทุกอย่างที่รวมอยู่ในไสยศาสตร์ ไสยเวท อันมีกำเนิดจากคัมภีร์อาถรรพเวทของพราหมณ์ และอยู่นอกเหนือวิสัย ของปุถุชนคนธรรมดา

          อาจกล่าวได้ว่า ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๘ จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๒ ชาวอินเดียทั้งประเทศซึ่งเดิมเคยนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ ต่างก็ตกอยู่ในความครอบงำของลัทธิตันตระอย่างไม่ลืมหูลืมตา ทั้งนี้ไม่เฉพาะแต่สามัญชนคนธรรมดาเท่านั้น หากชนชั้นสูงรวมทั้งชนชั้นผู้ปกครองด้วยก็เช่นเดียวกัน

อิสลามในฐานะเป็นกำลังสำคัญทั้งในทางการเมืองและการศาสนา ได้แผ่เข้าไปในอินเดียทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ โดยเริ่มตั้งแต่ตอนต้น ของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ และภายในเวลาไม่กี่ร้อยปี ก็สามารถครอบครองดินแดนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกของอินเดียไว้แทบจะทั้งหมด และครองอยู่ได้เป็นเวลาหลายร้อยปีต่อมา

          การที่อิสลามเข้าไปมีอำนาจทางอาณาจักรและศาสนจักรในอินเดียเป็นเวลาหลายร้อยปี ทำให้อิทธิพลของวัฒนธรรมอิสลามแผ่กระจาย และคลุมครอบชีวิตของชาวอินเดียอย่างลุ่มลึกและกว้างไกล ซึ่งอิทธิพลนี้ยังมีให้เห็นตราบจนปัจจุบัน โดยเฉพาะในอินเดียภาคเหนือ

          ในส่วนที่เกี่ยวกับพุทธศาสนานั้น อาจกล่าวได้ว่า การปรากฏตัวของอิสลามเป็นมรสุมลูกสุดท้ายที่กระหน่ำให้ “พุทธนาวา” ลำนี้ก็อยู่ในสภาพ “ชำรุด” เต็มประดา ด้วยท้องนาวาถูกแมงกระพรุนตันตระกัดกิน เป็นรูรั่วน้ำไหลเข้าได้ จวนเจียนจะพลิกคว่ำอยู่แล้ว แต่ “มรสุม” ลูกสุดท้ายที่ทำให้พุทธศาสนาต้องพังพินาศไปจากแผ่นดินอินเดียนั้น แน่นอน คือ “อิสลาม”

          คำพรรณนาของ พระภิกษุ ดร.อานันท์ เกาศัลยายน บทเขียนของท่าน “How India Lost Buddhism?” มาเสนอท่านผู้อ่านดังต่อไปนี้

“ในขณะที่ความเสื่อมทางศีลธรรมและจิตใจกำลังมาสู่ประชาชาติอินเดียดังได้พรรณามานี้ การแบ่งแยกถือชั้นวรรณะตามศาสนาพราหมณ์ก็กระหน่ำทำให้ชีวิตสังคมอ่อนเปลี้ยลงอย่างที่สุด และในขณะที่ความ “เร้นลับ” ของลัทธิ “ตันตระ” กำลังทำให้สมองของประชาชนหมดสมรรถภาพอยู่นั้น กองทัพอันเกรียงไกรของมุสลิมก็เคลื่อนขบวนมาจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ คล้ายกับมรสุมใหญ่ที่กำลังพัดมาเพื่อทำความสะอาดให้แก่สิ่งโสโครกทั้งหลาย บรรดาโบสถ์วิหารและทรัพย์สมบัติเครื่องบูชาอันมีค่ายวดยิ่ง ซึ่งสะสมกันไว้ตั้งร้อย ๆ ปี ได้ถูกทำลายพินาศลงด้วยน้ำมือของพวกรุกรานมุสลิม ปฏิมาของพระโพธิสัตว์และเทพยดา ทั้งหญิงชาย ได้ถูกเหวี่ยงลงจากแท่นบูชาและเผาผลาญไม่มีเหลือ ไม่มีสิ่งใดเป็นเครื่องศักดิ์สิทธิ์ สำหรับนักรบมุสลิมผู้กระหายอำนาจและทรัพย์สมบัติเหล่านี้ “มนตร์” และพิธีกรรมต่าง ๆ ทางลัทธิ “ตันตระ” ที่เชื่อกันว่า “ขลัง” ยิ่งนักนั้นปรากฏว่าไม่สามารถให้ความคุ้มครองได้ บรรดา “ผู้สำเร็จ” และ “อาจารย์” องค์สำคัญ ๆ ต่างพากันยืนมือเท้างอต่อหน้ากองทัพมุสลิม ในที่สุดขณะที่พวก “ตันตระ” กำลังประกอบพิธีกรรมและสวด “มนตร์” อยู่อย่างไม่ลืมหูลืมตา แผ่นดินทางอินเดียภาคเหนือก็ตกไปอยู่ในกำมือของมุสลิมอย่างราบคาบ”

          พระลามา “ตารานาถ” ได้บันทึกไว้ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ พระพุทธศาสนา” ของท่านว่า “บรรดาภิกษุสงฆ์เมื่อถูกฆ่าและถูกทำร้ายโดยพวกมุสลิมในศตวรรษที่ ๑๒ ต่างก็พากันหนีไปยังประเทศทิเบต และประเทศอื่น ๆ นอกอินเดีย เมื่อภิกษุสงฆ์ไม่มีเหลืออยู่ ทั้งโบสถ์วิหารก็ถูกทำลายลงจนหมดสิ้น จิตใจของพวกฆราวาสพุทธมามกะ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการณ์ ผลก็คือ พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ได้สวามิภักดิ์ต่อพราหมณ์ ซึ่งมีความสัมพันธ์กันทางเลือดเนื้อและวัฒนธรรมอยู่แล้ว พวกที่เหลืออยู่ก็หันไปนับถือหรือถูกบังคับให้นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีอำนาจทางการเมืองอยู่ในเวลานั้น ด้วยประการฉะนี้เองที่พระพุทธศาสนาได้สูญหายไปจากอินเดีย ดินแดนที่เกิดของตน”.

 

ทำอย่างไรให้ได้บุญ

 

          ในอดีตคนเชื่อว่า ผลดีผลร้ายจะเกิดขึ้นเพราะเทพเจ้าบันดาล คนก็ต้องเอาอกเอาใจเทพเจ้า เซ่นสรวง อ้อนวอน เรียกสั้นๆ ว่า “บูชายัญ”เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธลัทธิรอผลบันดาลนั้น พระองค์ไม่ยอมรับว่ามีเทพที่ยิ่งใหญ่ที่ดลบันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง แต่สอนว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติ ที่เรียกว่า ธรรม พระองค์ทรงตรัสว่าธรรมนี่แหละสูงสุด ไม่ใช่เทพเจ้า

          เมื่อสิ่งนั้นทั้งหลายเป็นไปตามกฎธรรมชาติ คือ ธรรม ก็หมายความว่า ผลดีผลร้าย จะเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยของมัน ไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะการบันดาลของเทพเจ้า เราต้องการผลอย่างไรก็ต้องทำปัจจัยให้เกิดผลอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ในแง่ที่เกี่ยวกับมนุษย์ ผลดีหรือผลร้าย ก็เกิดขึ้นจากปัจจัยที่เราทำเอง และผลนั้นจะสำเร็จแค่ไหนก็อยู่ที่ว่าเราทำถูกต้องตามปัจจัยและครบถ้วนตามปัจจัยหรือไม่ การกระทำเหตุปัจจัยนี้เรียกว่า กรรม

          ดังนั้น เมื่อมนุษย์ไม่ต้องการผลร้าย ก็ต้องหลีกเว้นการกระทำเหตุปัจจัยไม่ดี เรียกว่า ละเว้นบาปกรรม หรือเรียกสั้นๆว่า บาป และเมื่อต้องการผลดี ก็ต้องประกอบการกระทำเหตุปัจจัยดีที่เรียกว่า บุญกรรม หรือเรียกสั้นๆว่า บุญ

          แต่ถ้าถือว่าธรรมสูงสุด ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย เราก็ต้องสัมพันธ์กับธรรมด้วยการทำกรรมดี ที่จะให้ผลตรงตามที่ต้องการ สิ่งที่เราต้องรับผิดชอบ คือ

๑.     ต้องเพียรพยายาม เพราะต้องทำเหตุปัจจัยเอง (ตรงข้ามกับการหวังให้เทพบันดาลให้) หลักวิริยะ/ความเพียร

๒.    ต้องศึกษาเหตุปัจจัย เพราะยิ่งรู้เหตุปัจจัยครบถ้วน ก็ยิ่งทำผลกรรมได้ผลสมบูรณ์ จึงต้องฝึกฝนพัฒนาตนเอง โดยเฉพาะพัฒนาปัญญา(ตรงข้ามกับการพยายามหาทางเอาใจให้ถูกใจเทพเจ้า) หลักสิกขา/ ฝึกฝนพัฒนาตน

๓.    ต้องไม่ประมาท คือมีจิตสำนึกตระหนักในความสำคัญของกาลเวลา ซึ่งผ่านไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของเหตุปัจจัยทั้งหลาย ที่เราจะต้องเร่งรีบรู้ทำให้ทันให้ตรงให้ถูก(ตรงข้ามกับการรอคอยเทวดา ฤกษ์งามยามดี ปล่อยเวลาให้ผ่านไปกับความหวัง) หลักอัปปมาทะ/ ไม่ประมาท

๔.    ต้องพึ่งตนเองให้ได้และหลุดพ้นเป็นอิสระ โดยทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ ด้วยการเร่งขวนขวายฝึกฝนพัฒนาตนให้มีปัญญารู้เหตุปัจจัย และเพียรพยายามทำให้ตรงและให้ครบสมบูรณ์ตามเหตุปัจจัย[ คือปฏิบัติตามข้อ ๑--](ตรงข้ามกับการพึ่งพาขึ้นต่อเทพเจ้า สุดแต่พระองค์จะพอใจและบันดาลให้) หลักพึ่งตนได้เป็นอิสระ

 

 

เกณฑ์วัดและตัดสินบุญ

          ในฐานะที่ทานเป็นบุญ ซึ่งกล่าวแล้วว่าเป็นสิ่งที่พึงศึกษา คือ เป็นกิจกรรมที่เป็นส่วนของการพัฒนาชีวิต ผู้ปฏิบัติจึงควรทำด้วยปัญญา ให้เกิดผลดีทั้งแก่ชีวิต แก่บุคคล และแก่สังคม ดังที่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า

         

                   “การพิจารณาเลือกเฟ้นแล้วจึงให้ เป็นกรรมที่พระสุคตเจ้าทรงสรรเสริญ”

 

          มีเกณฑ์วินิจฉัยว่าทานจะมีผลมากน้อยเพียงใด โดย พิจารณาองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ

๑.     ทายก คือ ผู้ให้ เป็นผู้มีศีล มีคุณธรรม โดยเฉพาะดูที่เจตนาว่าเป็นอย่างไร เช่น เจตนาประกอบด้วยเมตตากรุณา ตั้งใจให้เป็นประโยชน์แก่ผู้รับอย่างแท้จริง ให้เขาพ้นทุกข์มีสุข มุ่งเพื่อให้สังคมร่มเย็นมั่นคง ให้ด้วยความคิดเสียสละ โดยบริสุทธิ์ใจไม่หวังผลตอบแทน ให้ด้วยศรัทธา ให้ด้วยใจผ่องใสเบิกบาน ไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง หรือเสียดาย ตั้งใจให้เพื่อฝึกฝนพัฒนาจิตใจของตน  

๒.    ปฏิคาหา คือ ผู้รับ ถ้าผู้รับไม่มีศีล เช่น มุ่งหาลาภหรือแสวงหาผลประโยชน์ด้วยเจตนาหลอกลวง หรือประพฤติไม่ดี เป็นโจรผู้ร้าย หรือ มีความไม่สุจริต เมื่อได้รับทานแล้วก็จะยิ่งมีกำลังทำการร้ายได้มากมายและรุนแรงยิ่งขึ้น ทานก็มีผลน้อย ในทางตรงข้ามถ้าปฏิคาหาเป็นผู้มีศีล มีคุณธรรม เป็นผู้ทำความดีงาม บำเพ็ญคุณประโยชน์ ทานก็จะมีผลมาก

๓.    ไทยธรรม คือ วัตถุหรือสิ่งของที่มอบให้ เป็นของบริสุทธิ์ เช่น ได้มาโดยสุจริต เป็นของประณีต หรือจัดหาจัดทำมาด้วยความตั้งใจตามกำลัง ไม่ใช่เป็นของทิ้งขว้าง เป็นของเหมาะสมหรือสมควรแก่ผู้รับจะใช้ได้

เจตนาขณะทำบุญต้องมีเจตนาที่ดีตลอดทั้ง ๓ กาล ดังนี้

๑.     บุพเจตนา เจตนาก่อนให้ คือมีความตั้งใจ ศรัทธา เมตตากรุณา เสียสละ

๒.    มุญจนเจตนา เจตนาขณะให้ คือ เวลาที่ให้ก็ตั้งใจจริง ยังมีกำลัง มีปัญญา รู้เข้าใจคุณค่า ความมุ่งหมาย และประโยชน์ของการที่จะให้นั้น

๓.    อปราปรเจตนา เจตนาสืบเนื่องๆไป คือ หลังจากให้ไปแล้ว ก็มีความอิ่มเอิบใจ ชื่นใจ ปีติที่ได้ทำการให้ ระลึกหรือนึกขึ้น มาเมื่อใดก็มีความดีใจสุขใจ ไม่เสียดาย เห็นคุณค่าและปรารถนาที่จะทำต่อๆไปหรือยิ่งขึ้น

 

ประเพณีที่ดีกลับถูกบิดเบือนด้วยการตลาด

 

[หนังสือเกี่ยวกับการแก้กรรมหลายเล่มและหลายเว็บไซต์ได้บอกอานิสงส์ของการสร้างหนังสือธรรมะ แล้วทำการรับบริจาคในสมัยพุทธกาล พระสารีบุตรได้ทูลถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า การสร้างหนังสือธรรมะซึ่งในครั้งนั้นหมายถึงหนังสือพระไตรปิฎก และองค์พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสตอบว่า

          ดูกรท่านสารีบุตร ถ้าชนทั้งหลายมีจิตศรัทธาเลื่อมใสเช่นนั้นแล้ว เมื่อตายไปก็จักได้เสวยราชสมบัติเป็นเจ้าจักรพรรดิราชถึง 8 หมื่น 4 พันกัป ใช่แต่เท่านั้นเมื่อเคลื่อนจากความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิแล้ว ก็จะได้เป็นพระราชา มีอนุภาพอีก 9 อสงไขย

          ต่อจากนั้นก็ได้เสวยสมบัติในตระกูลต่างๆ เป็นลำดับไป คือ ตระกูลพราหมณ์มหาศาล ตระกูลเศรษฐีคฤหัสถ์บดี และเป็นภูมิเทวดา อากาศเทวดา อย่างละ 9 อสงไขย ต่อแต่นั้นก็จะได้เสวยในสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น เป็นลำดับขั้นละ 8 อสงไขย

          เมื่อจุติจากชั้นเทวโลกแล้ว มาถือกำเนิดเป็นมนุษย์ ก็จะมีร่างกายบริสุทธิ์ผุดผ่อง เป็นที่รักใคร่แก่คนทั้งหลายที่ได้พบเห็น ทั้งน้ำใจก็บริสุทธิ์ สุจริต ปราศจากบาป ธรรมอกุศลทั้งปวง และเป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด รอบรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม ดังนี้เป็นต้น

          อ่านแล้วรู้สึกอะไรกันบ้างหรือไม่ ……………………. อย่างแรกแค่ได้เป็นเจ้าจักรพรรดิ ถึง เป็นหลายหมื่นหลายพันชาติ ถ้าบริจาคกันแค่ร้อยคนจักรพรรดิ ก็ล้นโลกแล้ว หรือที่พระพุทธองค์เคยบอกว่าคนเราจะเป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิดก็หาไม่ แต่เป็นเพราะการกระทำ แต่นี่บอกทำบุญอย่างนี้แล้วจะได้เกิดเป็นพราหมณ์ซะอย่างงั้น แต่ที่แย่ที่สุดก็คือหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วถึง 500  ปีจึงจะเริ่มมีพระไตรปิฎก เพราะในสมัยพุทธกาลนั้นยังไม่มีตัวหนังสือ คำสอนสืบทอดกันมาทางการบอกต่อท่องจำ

          หรือที่จะคุ้นเคยกันอย่างดีอีกอย่างว่า ชาติที่แล้วทำอะไร ชาตินี้ถึงเป็นเช่นนี้ และ ชาตินี้ทำอย่างนี้ชาติหน้าจะเป็นอย่างนั้น มีหนังสือหลายเล่มก็อ้าง พุทธองค์ตรัสถึงกฎแห่งกรรมว่า

          - ปัจจุบันเป็นขุนนางเพราะเหตุใด               ชาติก่อนนำทองคำสร้างพระพุทธรูป

          - มีหน้าตามีบุญหนักศักดิ์ใหญ่เพราะเหตุใด   เพราะชาติก่อนบูชาพระพุทธรูปด้วยดอกไม้ของหอม

          - มีปัญญา มีความปราดเปรื่องเพราะเหตุใด   เพราะชาติก่อนสวดมนต์สรรเสริญพระนามพระพุทธ

          - สามีภรรยามีอายุยืนยาวเพราะเหตุใด                   เพราะชาติก่อนได้แต่งริ้วธงประดับหน้าพระพุทธรูป

          - ชาตินี้มีหน้าตาดีเพราะเหตุใด                  เพราะชาติก่อนซื้อน้ำมันตะเกียงบูชาพระ

          - หากใครพิมพ์หนังสือเรื่องกฎแห่งกรรมแจก          ชาติหน้าไปถึงไหนก็มีแต่คนนับถือ

 

          ความเชื่อฝังหัวเรากันมานานเรื่องชาตินี้ชาติหน้า ถูกปรุงแต่งให้หลงผิดเข้าใจผิดกันไปเพราะ มีคนใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ หลอกคนที่ไม่รู้ให้หลงเชื่อเพื่อประโยชน์ส่วนตน เอาบุญบังหน้า ได้ผลกำไรจากการหลอกลวงชาวบ้าน จนกลายเป็นวัฒนธรรมอ้อนวอน เซ่นสรวง บูชา ในที่สุด เพราะอย่างที่ทราบ พระพุทธรูปนั้นก็กำเนิดขึ้นมาหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานหลายร้อยปี แต่ในนี้บอกว่าพระพุทธองค์บอกให้สร้างพระพุทธรูป

ซึ่งวิธีเหล่านี้กลายเป็นประเพณีและผู้ไม่หวังดีหวังประโยชน์ ใช้ศาสนามาทำการตลาดตั้งแต่อดีต โดยใช้คัมภีร์เทศน์อานิสงส์ เช่นในสมัยก่อนยุคคัมภีร์ใบลาน ส่วนแรกนั้นมาจากการที่พระเถระ แสดงถึงหลักเหตุผลทางจิตทั้งสิ้นเอาความบริสุทธิ์ทางจิตเป็นเกณฑ์ พ่อค้าทั้งหลายเห็นเข้าก็เห็นช่องทาง เช่น เถ้าแก่คนหนึ่งขายตาลปัตร แกรู้ทางคนไทยจึงไปจ้างคนแต่งหนังสือคัมภีร์เทศน์ อานิสงส์ ว่าเสียหยดย้อยชนิดที่ว่าใครจะทำบุญอะไรๆก็สู้ถวายตาลปัตรไม่ได้ แล้วก็พิมพ์ลงใบลานผูกๆไว้ แล้วก็ขายไปพร้อมกัน พระได้รับถวายแล้วก็เอามาอ่านให้เจ้าภาพฟังพร้อมด้วย ญาติพี่น้องอีกมากมาย “โยปุคคโล อันว่าผู้ใด ได้สร้างตาลปัตรถวายพระ ตายแล้วจะได้ไปเกิดเป็นเทพบุตร มีนางฟ้านับร้อยคอยบำเรอ และมีพัดเงินพัดทองอันเป็นทิพย์โบกวีให้เย็นใจดีนักแล” ท่านผู้เทศน์ก็หาได้รู้ว่ากลายเป็นการประชาสัมพันธ์ โฆษณาสินค้าสร้างค่านิยมผิดๆ อย่างน่าสงสาร  คนสมัยก่อนนั้นเริ่มมีพิธีต่างๆเพื่อจะเป็นกุศโลบายให้เข้าถึงพระธรรมแต่ทุกวันนี้กลับกลายเกิดพิธีรีตองประเพณีเนื้องอกตามมาอีกมากมาย ที่เกิดขึ้นโดยพวกนายทุนปลอมเป็นพระเจ้าหลอกคนไทยทั้งประเทศ ส่วนคนไทยก็ไม่ยอมที่จะใช้ปัญญาพิจารณากลับมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรแตะต้อง ]

 

วิธีทำบุญที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา

 

บุญกิริยาวัตถุ 10 หมายถึงสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญ ทางแห่งการทำความดี หรือหลักการสร้างคุณงามความดีในพระพุทธศาสนา  โดยมีหลักกว้างๆ 3 ประการ เรียกสั้นๆว่า ทาน ศีล ภาวนา

          1. ทานมัย      บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน  การให้ การแบ่งปันการสละเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นโดย ให้เพื่ออนุเคราะห์ คนที่ลำบาก หรือ ให้เพื่อบูชาคน

          2. สีลมัย        บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล ความประพฤติสุจริต การมีกายวาจาที่ไม่เบียดเบียน ที่เกื้อกูล ไม่ก่อเวรภัย

                    2.1. ตั้งอยู่ในวินัย รักษาศีล 5-8-10-227 เป็นต้น ตามสถานะของตน

                   2.2. มีความเพียรประกอบการงานอาชีพของตนโดยสุจริต

                   2.3. รู้จักใช้อินทรีย์ ตา หู เป็นต้นให้ดู ฟัง อย่างมีสติให้ได้แต่ประโยชน์และปัญญา

                   2.4. บริโภคปัจจัย 4 และสิ่งของเครื่องใช้ ให้ได้คุณค่าที่แท้จริง

          3. ภาวนามัย   บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา

3.1. พัฒนาจิตใจ (จิตตภาวนา) ให้เจริญงอกงามด้วยคุณสมบัติที่ดีงานทั้งหลาย เป็นสุข สดใส เบิกบานและสงบ ตั้งมั่งเป็นสมาธิ จนถึงฌานขั้นต่างๆ

                   3.2. พัฒนาปัญญา (ปัญญาภาวนา)

- เห็นแจ้งความจริง รู้เท่าทันโลกและชีวิต มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของสิ่งทั้งหลายที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย หยั่งถึงไตรลักษณ์ จนมีจิตใจเป็นอิสระไม่หวั่นไหวหรือถูกครอบงำด้วยโลกธรรม

- การเรียนรู้ให้ช่ำชอง และรู้จักมนสิการ เป็นต้น ในการงาน และศิลปวิทยาต่างๆ อันไม่มีโทษ

          4. อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยประพฤติถ่อมตนแก่ผู้ใหญ่

                   คือความสุภาพ อ่อนโยนนบไหว้ รู้จักติดต่อสัมพันธ์ด้วยดี ไม่ก้าวร้าว เป็นเรื่องของการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเกื้อกูล ไม่เบียดเบียน จึงจัดเข้าในศีล

          5. เวยยาวัจจมัย        บุญสำเร็จด้วยการช่วยขวนขวายในกิจที่ชอบ

                   คือการขวนขวายช่วยเหลือ รับใช้บริการ เป็นการก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีกในการเกื้อกูล และสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในสังคม ก็จัดอยู่ในศีล

          6. ปัตติทานมัย         บุญสำเร็จด้วยการให้บุญ

                   คือการให้ส่วนบุญ หรือให้มีความมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมหรืองานบุญนั้น ก็เป็นการให้อย่างหนึ่ง โดยเฉพาะ คือการให้โอกาส จึงจัดเข้าใน ทาน

7. ปัตตานุโมทนามัย  บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ

                   คือการพลอยยินดี เห็นชอบ ชื่นชมสนับสนุน ซาบซึ้งใจด้วยกับบุญส่วนที่เค้าแจ้งให้ทราบ ก็เป็นการให้อย่างหนึ่ง คือให้ความร่วมใจ จึงจัดเข้าใน ทาน เช่นกัน

          8. ธัมมัสสวนมัย                 บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม

                   เรียกสั้นๆว่า สวนะ คือการสดับรับฟังคำแนะนำสั่งสอนอธิบายให้ความรู้ ในเรื่องที่เป็นความจริง ความถูกต้อง ความดี ความงาน รวมทั้งวิชาความรู้ที่เป็นประโยชน์ เป็นการพัฒนาด้านปัญญา จึงจัดเข้าใน ภาวนา (ด้านปัญญา)

          9. ธัมมเทสมัย          บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม

                   เรียกสั้นๆว่า เทศนา คือการแสดงธรรม การชี้แจงแนะนำ อธิบาย ให้ความรู้ เกี่ยวกับความจริง ความถูกต้อง ความดี ความงาน รวมทั้งวิชาที่เป็นความรู้ที่เป็นประโยชน์ แก่ผู้อื่น ตัวผู้เทศนาเองก็ได้ฝึกฝนพัฒนาตนเองด้วย เป็นเรื่องของการพัฒนาปัญญา จึงจัดเข้าในภาวนา (ด้านปัญญา) เช่นกันธรรมเทศนา และธัมมัสสวนะ หรือ เทศนาและสวนะนี้ อาจจะจัดในรูปของธรรม

สากัจฉา คือการสนทนาถกถ้อยอภิปราย ซึ่งเป็นการร่วมทั้งสองฝ่าย และทั้งสองอย่างในคราวเดียวกัน

10. ทิฎฐุชุกัมม์                   การทำความเห็นให้ตรง         คือการทำความเห็นให้ตรง คอยสำรวจตรวจสอบ ปรับทิฏฐิ แก้ไขปรับปรุงพัฒนาความคิดเห็นความเข้าใจให้ถูกต้องตามธรรม ให้เป็นสัมมาทัศนะอยู่เสมอ เป็นการพัฒนาปัญญาอย่างสำคัญ ก็อยู่ในภาวนา (ด้านปัญญา) ด้วย

 

[แต่หนังสือหลายเล่มและมีการสอนมากมายกลับไปต้องมีพิธีรีตองเช่นเดียวกับพราหมณ์  เช่น ปัตติทานมัย การให้ส่วนบุญนั้นต้องท่องบทสวดอย่างนั้นทำพิธีอย่างนี้ มีของเซ่นเท่านั้น มีปัจจัยเท่านี้ ถ้าไม่ถูกวิธีจะแผ่เมตตาไม่ได้ คนตายจะไม่ได้รับ คนชาติอื่นที่ไม่ได้นับถือพุทธไม่ต้องตกนรกกันหมดหรืออย่างไร จะต้องเอ่ยชื่อ เขียนชื่อ ส่งบุญต่อให้ผู้อื่นส่งต่อให้คนตาย หรือข้อธัมมัสสวนมัย การฟังพระสวด บทสวดนี้ได้รับ ได้สวดแล้วจะมีแต่ความเจริญ ไม่รู้ไม่เข้าใจความหมาย จะเกิดผลอย่างไรเมื่อไม่เข้าใจย่อมไม่สำเร็จด้วยการฟังธรรม ย่อมได้บุญแค่ในข้อภาวนามัย เพราะฟังแล้วเกิดสมาธิ  หรือการอนุโมทนาบุญถ้าไม่เอ่ยสาธุ เราจะไม่ได้บุญ  การจะได้บุญต้องมีรหัสศักดิ์สิทธิ์เท่านั้นหรือ ไม่เอ่ยก็ไม่เกิดผลหรืออย่างไร เราจึงสงสัยว่าพุทธศาสนานั้นเป็นสากล ใช้หลักธรรมชาติ ย่อมไม่จำเป็นต้องมีพิธี ถ้าเราแผ่เมตตาแล้วเขาเปลี่ยนชื่อจะทำอย่างไร ถ้านึกหน้าแล้วทำศัลยกรรมล่ะ แล้วถ้าฝรั่งไม่รู้พิธีชาตินี้ไม่ต้องมีบุญหรืออย่างไร

 แต่เมื่อศึกษาจริงๆแล้ว การให้ส่วนบุญคือการให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมในการทำความดี เฉลี่ยความดีให้กับผู้อื่น เราทำโครงการปลูกต้นไม้เมื่อมีคนมาช่วยก็ยินดี เรากวาดถนนหมู่บ้านมีคนมาทำด้วยก็ยินดี ชักชวนกันมาทำความดี ซึ่งบุญกิริยาวัตถุนี้เรียงตามความสำคัญจากน้อยมาหามาก ซึ่งสังเกตได้ว่าทานมัยที่เป็น บุญอย่างเดียวที่คนสมัยนี้ นึกได้นั้นเป็นข้อที่ได้บุญต่ำที่สุด ข้อสำคัญที่สุดท่านพุทธองค์จัดข้อ 10 ทิฏฐุชุกัมม์  คือการมีความเห็นที่ถูกต้อง ฝึกหัดดัดจิตให้ตรงตามทำนองคลองธรรม ไม่ให้เห็นวิปริตผิดจากความจริง รู้จักมองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงโดยเหนี่ยวรั้งจิตให้ตั้งอยู่ในสัมมาทิฏฐิ เพราะถ้ามีความเห็นที่ถูกต้องแล้ว กุศลธรรมหรือคุณความดีเหล่าอื่นก็เกิดขึ้นเป็นลำดับดุจเงาตามตัวฉะนั้น

ซึ่งถ้าเราสังเกตว่าทุกข้อไม่จำเป็นต้องใช้เงิน เป็นข้อปฏิบัติด้วยตนเองได้ บุญนั้นจุดประสงค์คือการลดละกิเลส ฉะนั้นคนสมัยนี้ที่วัตถุนิยมครองเมือง ทำบุญก็หวังแต่ผลตอบแทน อยากร่ำรวย ถูกหวย ขึ้นสวรรค์ มีคนรักคนชอบ อ้อนวอนให้หายโรคภัย เช่นนี้แล้วท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ว่า เหมือนการอาบน้ำ เรามีกิเลสเหมือนกับโคลนที่พอกตัว ถ้าเราทำบุญด้วยจิตใจที่ต้องการให้ความช่วยเหลือผู้อื่น ทำด้วยต้องการลดกิเลสตนเองแล้วนั้นย่อมเหมือนการอาบน้ำสะอาด โคลนที่พอกตัวเราก็จักค่อยๆหายไป แต่ถ้าทำบุญด้วยกิเลสนั้นก็เหมือนกับการอาบน้ำโคลน บางทีโคลนบนตัวเรากลับเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ]

 

บุญ แปลว่า เครื่องชำระล้างสันดาน ทำให้ใจสะอาด เช่น เวลาที่เรามีเมตตา ศรัทธาก็เกิด จิตใจก็ผ่องใส หายเศร้า หายสกปรก ถ้าตามศัพท์แล้ว คือการนำมาซึ่งการบูชา คือใครก็ตามมีบุญคือต้องสั่งสมความดี เช่น ศรัทธา เมตตา กรุณา มุทิตา หรืออีกความหมาย คือทำให้เกิดผลน่าชื่นชม จิตใจผ่องใส

บาป คือการทำให้ไปในที่ชั่ว จิตใจตกต่ำ โทสะ โมหะ โลภะ  เกิดขึ้น ก็เกิดความเศร้า เสียใจ จิตใจสกปรก 

 

กุศล คืออะไร? แยกความหมายได้ 4 อย่าง

๑.     อาโรคยะ แปลว่า ไม่มีโรค  ในที่นี้หมายถึงใจ สุขภาพใจเข้มแข็ง ไม่มีกิเลส

๒.    อนวัชชะ แปลว่า ไม่เสียหาย ไม่มีโทษ สะอาดบริสุทธิ์

๓.    โกศลสัมภูต แปลว่า เกิดจากปัญญา รู้ดีรู้ชั่ว

๔.    สุขวิบาก แปลว่า มีสุขเป็นผล ร่าเริง เบิกบาน

 

การบูชาที่ถูกต้อง นั้นต้องเข้าใจความหมายของการบูชา ว่าคือการที่เชิดชู ส่งเสริม คนที่ทำความดี ไม่ใช่แค่การถวาย ดอกไม้ ถวายข้าว หรือทรัพย์สินอันใด

บารมีแบบไทย เดี๋ยวนี้มีความหมายเพี้ยนไปมาก คนไหนมีอิทธิพล มีเงินมีอำนาจ ยิ่งใหญ่ พวกพ้องมาก ก็เรียกว่าเขามีบารมี หรือบางทีเข้าใจกันไปว่าบารมีนั้นสามารถขอของคนนั้นคนนี้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้มาคุ้มครอง ปกป้องตนได้กลายเป็นต้องทำพิธีอ้อนวอน หรือพกวัตถุมงคลกันไปมากมาย แต่ในที่จริงแล้วบารมีคือการทำความดีที่เป็นตัวเหตุ ที่จะทำให้เกิดผลดี เป็นที่น่าเคารพนับถือ จากการปฏิบัติดีจนผู้อื่นรับรู้ได้

บารมีทำได้หลายอย่าง และมีหลายขั้น

          ทาน             การให้ ในที่นี้เน้นการให้ด้วยน้ำใจเสียสละอย่างยิ่ง

          ศีล               การรักษากายวาจาให้อยู่ในวินัยและวัตรปฏิบัติ

          เนกขัมมะ       การสลัดความสุขส่วนตัว การเสียสละเรื่องทางโลกทั่วไป

          ปัญญา          ความรู้ความเข้าใจสังขาร หยั่งเห็นสัจธรรม

          วิริยะ             ความเพียร

          ขันติ             ความอดทน

          สัจจะ            ความจริง กาย วาจา ใจ

          อธิษฐาน        ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว

          เมตตา           ความปราถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ สัตว์ร่วมโลกทั้งหลาย

          อุเบกาขา       ความวางใจเป็นกลาง ดำรงอยู่ในธรรม ไม่เอนเอียง

 

          ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เชื่อหรือไม่เชื่อในสวรรค์ นรก และโลกหน้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายควรมีแนวทางการปฏิบัติตนให้เหมาะสม โดยพยายามพิจารณาข้อเท็จจริง ยึดหลักตามแนวทางของพุทธศาสนาในการปฏิบัติตน  เนื่องจากทุกวันนี้ศีลธรรมการรู้ผิดชอบชั่วดี ของคนในสังคมลดน้อยลง ผู้คนเอารัดเอาเปรียบ คนโง่ตกเป็นเหยื่อคนฉลาด ผู้มีความรู้กลับเอาความรู้มาหลอกลวงผู้ด้อยโอกาส จึงควรจะต้องตรึกตรองก่อนในการจะปฏิบัติตามความเชื่อต่างๆที่อาจจะนำความเดือดร้อน ให้กับตัวบุคคลที่เชื่อเอง ครอบครัว และสังคมจนไปถึงระดับประเทศได้ และตระหนักถึงการสร้างบุญ บารมี กุศลที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอย่าตกไปเป็นเหยื่อของนักต้มตุ๋นทั้งหลายที่จะสามารถบันดาลบุญได้เพียงการจ่ายเงิน

 

          [มีสำนักเจ้าพ่อสำนักหนึ่ง มีชื่อด้านเครื่องรางของขลัง ของศักดิ์สิทธิ์ มีพิธีหนึ่งที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากเพื่อที่จะได้พระเครื่องไปบูชา โดยผู้เช่าต้องเข้าร่วมพิธีเอง โดยทางสำนักจะจัดเตรียมมวลสารศักดิ์สิทธิ์จากที่ต่างๆ ไว้ให้ แล้วผู้เช่าต้องทำพิธีโดย นำมวลสารศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นมาประมาณขนาดพระเครื่ององค์หนึ่งห่อด้วยผ้ายันต์ผ่านการปลุกเสกอย่างดี พันด้วยสายสิญจ์จากประเทศอินเดีย ตามขั้นตอนและวิธีการห่อการพันที่กำหนดไว้ทุกอย่าง หลังจากนั้นก็ต้องใส่พานทูนเหนือหัวหลับตาทำสมาธิ ทำการภาวนาต่อหน้าเจ้าพ่อ 3 จบ เมื่อนำกลับไปบูชาที่บ้านต้องถวายเครื่องสักการะตามกำหนด เป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ แล้วจึงทำการแกะผ้ายัญ เมื่อเปิดดูก้อนดินกลับกลายเป็นพระเครื่อง แล้วจึงนำเงินไปถวายเจ้าพ่อ]

 

เรื่องความเชื่อ

พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้ใช้ปัญญานำหน้าความเชื่อ ซึ่งจากหลักกาลามสูตรพระพุทธองค์ทรงสอนว่า อย่าเชื่อและรับเอามาปฏิบัติด้วยเหตุเพียงสักว่า :

1.    ฟังจากเขาว่ามา

2.    เห็นเขาทำกันมานมนานแล้ว

3.    เห็นเขาล่ำลือกันอยู่อย่างกระฉ่อน

4.    มีตำราอ้างอิง

5.    มีเหตุผลตรงๆมารองรับ(ตรรกะ)

6.    มีเหตุผลโดยอ้อมมารองรับ(นัยยะ)

7.    นึกเดาเอาตามสามัญสำนึกของตนเอง

8.    มันตรงกับความเห็นเดิมที่ตนเองมีอยู่

9.    ดูลักษณะแล้วน่าเชื่อ

10. ผู้บอก ผู้สอนนี้เป็นครูอาจารย์ของเราเอง

เมื่อพบคำสอนใด เราควรที่จะนำมาพิจารณาก่อน ว่ามีโทษหรือไม่ ถ้าเห็นว่ามีโทษก็ให้ละทิ้งเสีย แต่ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่ามีประโยชน์ ก็ให้นำมาลองปฏิบัติดูก่อน ถ้าเกิดผลดี คือมีความสุขและทุกข์ลดลงจริง จึงค่อยปลงใจเชื่อ แต่ถ้าไม่ได้รับผลดี คือ ไม่มีสุขและทุกก็ไม่ลดลงจริง ก็ให้ละทิ้งเสีย คือ สรุปว่า พระพุทธองค์สอนว่าอย่าพึ่งเชื่อ ให้ใช้พิจารณาดูก่อน ถ้าเห็นว่าดี จึงนำมาทดลองปฏิบัติ ต่อเมื่อได้ผลจริงจึงค่อยเชื่อและรับเอามาปฏิบัติต่อไป แต่ถ้าไม่ได้รับผลก็อย่าเชื่อ.

 

 

วิธีปฏิบัติกับเรื่องเทพเจ้า เทวดา อิทธิปาฏิหาริย์เรื่องเหนือธรรมชาติ

 

  1. ชั้นหาตัวความจริงด้วยการพิสูจน์ ในแง่นี้ใครจะพิสูจน์หาความจริง ก็พิสูจน์ไป ไม่ว่าจะรับหรือปฏิเสธก็ไม่สำคัญ ก็หาความจริงหาความรู้ไป
  2. ขั้นการวางตัว วางใจในการดำเนินชีวิตในระดับนี้จะทำอย่างไร เรามีวิธีปฏิบัติในพุทธศาสนา ในลักษณะที่ว่า ไม่ว่าเทวดาจะมีหรือไม่มีก็ตาม ก็ไม่เห็นจะกระทบอะไรกับการดำเนินชีวิตของเรา เพราะเรามีหลักปฏิบัติที่ชัดเจน ที่ทำให้ปฏิบัติลงตัวได้ ซึ่งทำให้พร้อมอยู่เสมอว่า  ถึงจะมีหรือไม่มีการปฏิบัติของเรานี้ก็ถูกต้องอยู่แล้วตลอดเวลา

คนทั่วไปมักจะมีท่าทีแบบแกว่งหรือแข็งขืนด้วยความไม่แน่ใจแล้วก็จะแล่นไปสู่ที่สุดสองอย่าง คือ ถ้าเทวดามี หรือเชื่อว่ามี ก็ต้องไปบวงสรวงอ้อนวอน หรือถ้าเชื่อว่าไม่มีก็ต้องมาเถียงกับคนที่เชื่อ แต่ในทางพุทธศาสนานี่เราแยกได้ คือ การหาความจริงก็หากันไป แต่การดำเนินชีวิต ชีวิตเราไม่ได้ขึ้นต่อเทวดา ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เราอยู่บนโลกนี้ได้ด้วยเมตตา เทวดาก็เป็นเพื่อนร่วมโลกเรา ถ้าเราเชื่อว่ามี แต่ที่สำคัญก็คือ หลักพระพุทธศาสนาบอกว่าทุกคนต้องพัฒนาตนเอง พึ่งตนเอง จุดหมายคือ อิสรภาพของมนุษย์

ทีนี้ปัญหามันอยู่ที่ว่า ถ้าไม่รู้ท่าทีนี้ ก็จะไปเกิดปัญหาว่า มัวแต่บวงสรวงอ้อนวอนซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของชาวพุทธ หน้าที่ของชาวพุทธก็คือการกระทำด้วยความเพียรพยายาม และพัฒนาตนเอง เพราะมนุษย์ที่พัฒนาตนเองดีแล้วก็สามารถเป็นผู้ที่ประเสริฐจนกระทั่งเทวดาไหว้ได้

[สำหรับคนที่ไม่เชื่อนั้น แม้ว่าตนอาจจะไปดูถูกคนที่เชื่อว่างมงายที่ต้องอ้อนวอน บวงสรวง

ให้เทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธ์อะไรก็แล้วแต่ดลบันดาล มอบทุกข์สุข ความสบาย ความร่ำรวยให้ งอมืองอเท้า หรือโง่งมถูกลัทธิหลอกลวงให้สบายใจไปวันๆ ไม่สามารถมีความสุขทุกข์ด้วยตนเองได้ ต้องให้เทพบันดาล ทะนงว่าตนประสบความสำเร็จ หรืออยู่ในครอบครัวที่ร่ำรวย สิ่งแวดล้อมที่ทันสมัย แต่ความสุขที่ได้รับก็ไม่ต่างจากคนที่ดูถูกเพราะไปติดยึดกับวัตถุและปัจจัยภายนอก  ไม่มีรถรุ่นนี้ก็ร้อนใจ บ้านคนนั้นใหญ่กว่าก็มีความทุกข์ โทรศัพท์รุ่นเก่าหน่อยก็อาย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่ได้มีฝ่ายใดดีกว่ากัน ต่างก็พร้อมใจเต็มใจที่จะตกเป็นทาสของอวิชชา ทาสของกิเลส การเป็นทาสสมัยก่อนถูกโซ่ตรวนยังตัดแล้วหนีได้ แต่ทาสสมัยนี้ไม่มีใครห้ามไม่มีใครขัง มีคนมาชี้ทางออก มีคนมาฉุดออกไปให้พ้นจากความเป็นทาสก็ยังไม่ยอมไป หมดความเป็นไท ภูมิใจกับความเป็นทาส]

อุปมาอีกคราวหนึ่งที่สำคัญ คือ ครั้งหนึ่งมีผู้มาถามปัญหาอภิปรัชญากับพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่วิทยาศาสตร์กำลังพยายามตอบอยู่ในปัจจุบัน ความอยากรู้เรื่องพวกนี้มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ว่าจักรภพมีจุดตั้งต้นหรือไม่ หรือมีอยู่ตลอดไป โลกนี้โลกหน้า พระพุทธเจ้าตรัสว่า เราไม่ตอบ ทำไมถึงไม่ตอบ พระองค์ได้ทรงแสดงเหตุผลด้วยข้ออุปมาว่า

“บุรุษผู้หนึ่งถูกคนเขาเอาลูกศรอาบยาพิษมายิง ลูกศรก็ปักเสียบตัวอยู่ พวกญาติมิตรก็ไปตามหมอมาผ่าตัด เอาศรออก บุรุษผู้นี้ก็บอกว่า อย่างเพิ่งๆ เดี๋ยวก่อน ข้าพเจ้าไม่ยอมให้ผ่าตัดเอาลูกศรออกจนกว่าข้าพเจ้าจะรู้ว่าใครเป็นคนยิงข้าพเจ้า คนที่ยิงนั้นชื่ออะไร อยู่ตำบลไหน หมู่บ้านไหน วรรณะใด ใช้ลูกศรชนิดใดยิง เป็นเกาทัณฑ์หรือว่าธนู และทำด้วยวัสดุอะไร คันธนูทำด้วยไม้อะไร สายทำด้วยวัสดุอะไร ขนนกที่ผูกปลายเป็นขนของนกชนิดใด ถ้ายังไม่รู้ความจริงเหล่านี้ข้าพเจ้าจักไม่ยอมให้ถอนลูกศรออก”

นี่เป็นตัวอย่างในเรื่องของท่าทีในทางพุทธศาสนา ซึ่งสรุปแล้วก็เป็นท่าทีตามพุทธพจน์ที่ว่า เมื่อ

คนถูกลูกศรอาบยาพิษ สิ่งที่จะต้องปฏิบัติก็คือให้ผ่าตัดเอาลูกศรออก ก่อนที่พิษร้ายจะซึมซาบไปแล้วเราจะตาย ส่วนการหาความรู้หรือพิสูจน์ความจริงในเรื่องนั้น ใครพอใจจะทำก็ทำไป แต่สิ่งที่จำเป็นแน่นอนก็คือต้องถอนลูกศรออกก่อน

คนดีชอบแก้ไข คนอะไรชอบแก้ตัว สิ่งไม่ดีรอบตัวเราทุกวันนี้พิสูจน์ให้เห็นได้ชัดเจน ตัวอย่างมีมากมาย ก็ยังไม่คิดจะปรับปรุงตัว เช่น รู้ทั้งรู้บุหรี่ให้โทษ พ่นใส่กระดาษยังติดเป็นควันดำ ไม่ต้องคิดว่าจะมีสะสมในปอดมากขนาดไหน ก็ยังไม่สนใจ  กินมากตามใจปากกำลังกายไม่ออก โรคตามมามากมายก็ไม่ปรับปรุงพฤติกรรม เช่นนี้แล้วต่อให้พิสูจน์ได้ว่านรกสวรรค์ จะมีจริงหรือไม่ท่านเหล่านี้ก็คงไม่ได้มีพฤติกรรมใดเปลี่ยนไปจากนี้ ยังคงที่จะหาข้ออ้างที่จะกระทำผิด หาเหตุผลที่จะฟังแล้วดูดี แก้ตัวไปวันๆ ไม่คิดจะพัฒนาตนเอง เมื่อไม่คิดจะช่วยตนเองอาการป่วยก็เกิดจากพฤติกรรมของตนแต่กลับไปอ้อนวอนขอเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วย

แล้วยังต้องตกเป็นเหยื่อของพวกนายทุนที่ใช้ความเชื่อหลอกลวงเพื่อเอาผลประโยชน์จากความโง่ของเรา หรือที่เห็นได้ง่ายๆในปัจจุบันนี้ที่มีผลิตภัณฑ์มากมายไม่ได้มีประโยชน์อันใดกับผู้ใช้แต่ด้วยการโฆษณาที่ชวนเชื่อ ทำให้ประชาชนส่วนมากยอมลำบากหาเงินเพื่อซื้อมาใช้ โดยหวังว่าจะเป็นทางลัดช่วยตนเองได้ เช่นปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่ของคนสมัยนี้เกิดจากการรับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะกับการขาดการออกกกำลังกาย แต่แทนที่จะเลือกทำการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุกับตกเป็นเหยื่อไปพึ่งพายา อาหารเสริม หรืออุปกรณ์ลวงโลกทั้งหลาย เพราะติดความสบายคิดว่าจะแก้ปัญหาได้ง่ายๆโดยตนเองไม่ต้องลำบากลงมือทำ เช่นเดียวกันก่อนพุทธกาล หรือที่ประชาชนอินเดียส่วนมากในตอนนี้ต้องลำบากยากจน ในทุกวันนี้เพราะถูกความเชื่อฝังใส่หัว จากคำลวงของคนวรรณะสูง แล้วท่านที่ได้มีโอกาสจะได้รู้จักพุทธศาสนา จะทิ้งโอกาสที่จะทำให้เกิดปัญญานี้ไปเต็มใจเป็นจัณฑาลต้องทำบูชายัญ หรือ โปรดจงพิจารณา]

 

[ เมื่อสำนักเจ้าพ่อนั้นดังเข้ามีหลายคนหมดเนื้อหมดตัวเดือดร้อน ก็ต้องมีคนต้องการจะพิสูจน์ จึงแอบติดกล้องแอบถ่าย เพื่อจะดูขั้นตอนพิธีกรรม ปรากฏว่า ช่วงที่ กำลังหลับตาตั้งสมาธิภาวนา เจ้าพ่อก็เอื้อมมือมาเปลี่ยนห่อผ้ากันง่ายๆ]    

 

ฤทธิ์

ท่านพุทธทาสได้เขียนถึงฤทธิ์ไว้ว่าครั้ง ก่อนพุทธกาล นานไกล ในยุคพระเวท พระเวทยุคแรกๆ ก็มีแต่คำสั่งสอนในการปฏิบัติและบูชาเท่านั้น ครั้นตกมายุคหลัง เกิดพระเวทที่สี่ (อรรถวนเวท) ซึ่งเต็มไปด้วยเวทมนต์ อันเป็นไปในการให้ประหัตประหารล้างผลาญกัน หรือต่อสู้ต้านทาน เวทมนต์ของศัตรู ขึ้นด้วยอำนาจความนิยมของมหาชน หรือ อาจกล่าวได้อีกอย่างว่า ตามอำนาจสัญชาตญาณของปุถุชนนั่นเอง นับได้ว่ายุคนี้เป็นมูลราก ของสิ่งที่เรียกกันว่า "ฤทธิ์" และนิยมสืบกันมา ด้วยเหตุที่ว่า มหาชนชอบซื้อ "สินค้า" ที่เป็นไปทำนองฤทธิ์ มากกว่าเหตุผลทางปรัชญา ถ้าศาสนาใด ด้อยในเรื่องนี้ ก็จะมีสาวกน้อยที่สุด จะได้แต่ คนฉลาดเท่านั้น ที่จะเข้ามาเป็นสาวก ถ้าเกิดการแข่งขัน ในระหว่างศาสนา ก็เห็นจะเป็น ฤทธิ์ อย่างเดียวเท่านั้น ที่จะนำความมีชัยมาสู่ตนได้ ในเมื่อให้ มหาชนทั้งหมด เป็นกรรมการตัดสิน คือ ให้พวกเขา หันเข้ามาเลื่อมใส

และเพราะเหตุนี้เอง ในบาลี จึงมีกล่าวประปรายถึง ฤทธิ์ ส่วนในอรรถกถา ได้กล่าวอย่าง ละเอียดพิสดาร พระพุทธโฆษาจารย์ ได้กล่าว วิธีฝึกฤทธิ์ ไว้ใน คัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งเป็นหนังสือที่แต่งขึ้น เพื่อเอาชนะน้ำใจ ชาวเกาะลังกา นับตั้งแต่ พระสังฆราช แห่งเกาะนั้น ลงมา อันนับว่า เป็นหนังสือเล่มสำคัญที่สุดของท่านผู้นี้ และได้กล่าวไว้ใน อรรถกถาขุททกนิกาย ว่า พระศาสดาของเรา
ทรงแสดงฤทธิ์ หรือ ปาฎิหาริย์ แข่งกับ ศาสดานิครนถเดียรถีย์ อันเรียกว่า ยมกปาฎิหาริย์ และเล่าเรื่องพระศาสดาทรงแสดงปาฎิหาริย์ย่อยๆ อย่างอื่นอีก เป็นอันมาก นี่ชี้ให้เห็นชัดทีเดียวว่า จะอย่างไรก็ตาม ได้มีการต่อสู้และแข่งขัน ในระหว่างเพื่อนศาสดา ด้วยใช้ฤทธิ์เป็นเครื่องพิสูจน์ ตามความนิยมของมหาชน เป็นแน่แท้ในยุคนั้น, แต่นักต่อสู้นั้นๆ จะเป็น องค์พระศาสดาเอง ดังที่ท่านผู้นี้กล่าว หรือ ว่าเป็นพวกสาวกในยุคหลังๆ หรือ ยุคของท่านผู้กล่าวเองหรือ ราว พ.ศ. ๙๐๐ ก็อาจเป็นได้ ทั้งสองทางอาจมีผู้แย้งว่าถ้าเป็นยุคหลัง ทำไมเรื่องนี้จึงไปอยู่ในบาลีเดิมเล่าพึงเข้าใจว่า บาลีพระไตรปิฎกของเรานี้ ปรากฏว่ามีอยู่คราวหนึ่ง ซึ่งถูกถ่ายจากภาษาสิงหลกลับสู่ภาษาบาลีแล้วเผาต้นฉบับเดิมเสีย และผู้ที่ทำดังนี้ก็คือ ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ ผู้เป็นเอกอัครแห่ง พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายนั่นเอง,

ท่านผู้นี้เป็นพราหมณ์โดยกำเนิด จึงนำให้นักศึกษาหลายๆ คนเชื่อว่า ถ้าเรื่องของพราหมณ์หลายเรื่อง (เช่น เรื่องนรก สวรรค์ เรื่องพระราหู จับพระอาทิตย์ พระจันทร์ ในสังยุตตนิกาย เป็นต้น) ได้เข้ามาปนอยู่ในพระไตรปิฎก ถึงกับบรรจุเข้าในพระพุทธโอษฐ์ ก็มีนั้น ต้องเป็นฝีมือของท่านผู้นี้ หรือบุคคลประเภทเดียวกับท่านผุ้นี้ แต่ที่ท่านบรรจุเข้า ก็ด้วยความหวังดี ให้คนละบาป
บำเพ็ญบุญ เพราะสมกับความเชื่อถือของคนในครั้งนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่า พระศาสดามิได้ทรงสอนเรื่องฤทธิ์ หรือเรื่องฤทธิ์มิได้เข้าเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาลแล้ว มันก็น่าจะได้เข้าเกี่ยวข้องในครั้งนี้ เป็นแน่. ท่านผู้ที่ดึงเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ได้ทำไปด้วยความหวังดี เพื่อให้ พุทธศาสนาอันเป็นที่รักของท่าน ต้านทานอิทธิพลของศาสนาอื่น ซึ่งกำลังท่วมทับเข้ามานั่นเอง มิฉะนั้น น่ากลัวว่า พุทธศาสนาจะเหลืออยู่ในโลกน้อยกว่าที่เป็นอยู่ ในบัดนี้มาก

เมื่อเหตุผลมีอยู่ดังนี้ ข้อปัญหาต่อไป จึงมีอยู่ว่าเราจะปรับปรุงความคิดเห็นและความเชื่อถือในเรื่องฤทธิ์นี้อย่างไร ข้าพเจ้าเห็นว่า ฤทธิ์ เป็นเพียงเครื่องประดับ หรือเครื่องมืออย่างหนึ่ง ซึ่งพุทธศาสนาเคยใช้ประดับ หรือใช้ต้านทานศัตรูมาแล้ว แต่หาใช่เป็น เนื้อแท้ของพุทธวจนะ ซึ่งกล่าวเฉพาะความดับทุกข์โดยตรงไม่

เพราะฉะนั้น เมื่อเราในบัดนี้ จะเข้าเกี่ยวข้อง กับฤทธิ์อย่างดีที่สุดที่จะทำได้ ก็เท่ากับที่เป็นมาแล้วนั่นเอง เราไม่อาจถือเอามัน เป็นสรณะอันแท้จริงอย่างไรได้ เพราะเหตุผล ดังที่ ข้าพเจ้าจะได้แสดงต่อไป ตามความรู้ ความเห็น ฝากท่านผู้รู้ ช่วยกัน พิจารณาหาความจริง สืบไป

สรุปความสั้นๆ ที่สุดในเรื่องฤทธิ์ นี้ ก็คือว่า ฤทธิ์ เป็นเพียง คุณสมบัติพิเศษ ส่วนหนึ่งของจิตเท่านั้น เรื่องของจิต อันนี้เป็น พวกนามธรรม จะให้สำเร็จผล เป็นวัตถุไม่ได้ เช่นเดียวกับวัตถุ
ในความฝัน มันจะเป็น วัตถุอยู่ ก็ชั่วเวลา ที่เราไม่ตื่น จากฝันเท่านั้น ของที่นฤมิตขึ้น ด้วยอำนาจฤทธิ์ สำเร็จประโยชน์ ชั่วเวลา ที่คนเหล่านั้น ยังตกอยู่ใต้ อำนาจจิต ที่เป็นตัวออกฤทธิ์ เพราะว่า สิ่งทั้งหลาย ที่เราเรียกกันว่า โลกนี้ก็ตาม ถ้ามีอะไร มาดลบันดาล ให้จิตของเรา ทุกคน วิปริต เป็นอย่างอื่นไป โลกนี้ก็จะปรากฏ แก่เรา อย่างอื่น ไปทันที ดุจกัน สิ่งทั้งหลายสำเร็จ อยู่ที่ใจ รูป เสียง กลิ่น รส ทั้งหมด มีคุณสมบัติขึ้นมาได้ ก็เพราะเรา มีสิ่งที่เรียกกันว่า ใจ ถ้าไม่มีใจ โลกนี้ก็พลอยไม่มีไปด้วย รวมความสั้นๆ ได้ว่า สิ่งทั้งหลายสำเร็จจากใจ ใจสร้างขึ้น ใจเป็นประธาน หรือ หัวหน้าแต่ผู้เดียว เพราะฉะนั้น ถ้ามีอะไรก็ตาม มาดลบันดาล ให้ใจ เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไป สิ่งทั้งหลายที่รู้ได้ด้วยใจ ก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย ถ้าอำนาจ ดลบันดาล นั้นเป็นของ ชั่วขณะ สิ่งนั้นก็ แปรปรวน ชั่วขณะ ด้วย

ในโลกนี้ ไม่มีอะไร เที่ยงอยู่แล้ว เราจะสร้างฤทธิ์เพื่อเอาชนะสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้น น่าจะไม่ได้รับผลที่น่าชื่นใจ เพราะฉะนั้น พระอริยบุคคล ทั้งหลาย แทนที่จะ ใช้เวลา ไปค้นคว้า ในเรื่องฤทธิ์ ท่านจึงใช้ชีวิต ที่เป็นของ น้อยนิด เดียวนี้ ค้นคว้า หาสิ่งที่เที่ยง และเป็นสุข คือ พระนิพพาน แม้ว่า เรื่องฤทธิ์ และพระนิพพาน ต่างก็ เป็นวิทยาส่วนจิต ด้วยกันก็จริง แต่แตกต่างกัน ลิบลับ
ด้วยเหตุผล ดังกล่าวมาแล้ว

เมื่อพระผู้มี พระภาคเจ้า อุบัติขึ้น ในอินเดีย พระองค์ทรงบัญญัติ บาทฐาน ของฤทธิ์ ว่า มีอยู่ สี่ อย่าง คือ ความพอใจ ความเพียร ความฝักใฝ่ และ ความคิดค้น เรียกว่า อิทธิบาท เมื่อทำได้ ผลที่ได้รับ คือ มรรคผลนิพพาน เพราะคำว่า ฤทธิ์ ของพระองค์ จำกัดความเฉพาะ เครื่องมือให้สำเร็จ หรือ ลุถึง นิพพาน เท่านั้น ฤทธิ์ ซึ่งเคยได้ผล เป็นของตบตา และชั่วคราว ก็ได้เปลี่ยน มาเป็น สิ่งซึ่งให้ผล อันมีค่าสูงสุด และแน่นอน ด้วยประการฉะนี้

ปาฏิหารย์ในศาสนาพุทธ

[พุทธประวัติ นั้นสามารใช้ความเข้าใจได้ง่ายขึ้นถ้าเรารู้ประวัติศาสตร์บ้าง เช่น เนื่องจากสมัยพุทธกาลนั้นไม่มีตัวอักษรทำการสืบทอดกันด้วยการบอกต่อ หรือใช้ปฏิมากรรม รูปปั้นต่างๆ ต้องทำการสลักไว้การที่จะสื่อถึงการที่พระพุทธเจ้าต้องสู้กับกิเลสต่างๆนั้น ถ้าเป็นท่านจะทำการสลักความโลภอย่างไร ความหลงอย่างไร จึงทำออกมาในรูปแบบของพญามารทั้ง 10 หรือการตีความเช่น การที่พระพุทธองค์ประสูติแล้วสามารถเดินได้ 7 ก้าวแล้วมีดอกบัวผุดมารองรับ นั้นหมายถึงการที่จะสามารถเผยแพร่ศาสนาไปได้ทั่วโลก หรือการที่ลอยถาดทวนกระแสน้ำแล้วไปจมลงที่เดียวกับพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ถาดกระทบกันทำให้พญานาคตื่นขึ้นมาแล้วก็รู้ว่ามีพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วก็นอนต่อไป นั้น มีความหมายถึงการที่พระพุทธองค์เลือกจะทวนกระแสสังคมช่วยเหลือคนที่ลำบากสละความสบายส่วนตน และการที่พญานาคตื่นขึ้นมาแล้วนอนต่อก็เหมือนกับคนที่มีโอกาสได้พบศาสนาพุทธแต่ไม่สนใจในพระธรรม นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังมีพระราชวิจารณ์ว่าด้วยนิทานชาดกความว่า หนังสือชาดกปกรณ์นี้ไม่ใคร่จะได้รับความวิจารณ์จากเราทั้งหลายโดยถ้วนถี่ เพราะเหตุที่ผู้อ่านตั้งวงความพิจารณาคับแคบ คือพวกหนึ่งปรารถนาแต่จะฟังนิทาน พวกหนึ่งปรารถนาแต่จะฟังธรรม และอีกพวกหนึ่งปรารถนาแต่จะวินิจฉัยว่าหนังสือนี้พระพุทธเจ้าจะได้เทศนาอย่างนี้จริงหรือ ทั้งนี้ทรงชวนให้คิดถึงเหตุการณ์บางประการให้เข้าใจเสียก่อน คือตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานมาถึงเวลาที่ทรงพระราชนิพนธ์นี้เกือบ ๒,๕๐๐ปีมาแล้ว ความคิดและโวหารทั้งทางที่จะทำให้เข้าใจกันง่ายย่อมเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันมาก ทั้งพระพุทธเจ้าก็ประสูติในประเทศอื่น ธรรม-ดาคนต่างชาติต่างภาษากัน อาการ กิริยา ความคิด และโวหารย่อมเปลี่ยนแปลงกัน อีกประการหนึ่งเรื่องชาดกเป็นเรื่องที่มีเก่าแก่ก่อนพุทธกาล ในชาดกเองก็รับว่าเป็นเรื่องเก่าด้วยขึ้นอตีตทุกแห่ง และนิทานอย่างเช่นชาดกนี้ก็มีในหมู่ชนชาติอื่น ภาษาอื่น เช่น นิทานอีสปในประเทศกรีกก็มีอายุใกล้ ๆ กันกับพุทธกาล และมีเนื้อเรื่องคล้ายคลึงกัน จึงเห็นได้ว่านิทานเช่นนี้คงจะเป็นนิทานเก่าที่เล่ากันมาก่อน ๒,๕๐๐ ปีขึ้นไป ถ่ายเทกันไปมา และเป็นวิธีที่ยกมาประกอบทางสั่งสอนของคนโบราณในสมัยนั้น ส่วนประเด็นที่ว่า บุคคลในชาดกได้กลับชาติมาเกิดเป็นผู้นั้นผู้นี้ในสมัยพุทธกาล ก็เป็นแต่เพียงเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นธรรมะหรือสุภาษิตคำสอนชัดเจนขึ้นเท่านั้น หรือบางทีผู้รวบรวมชาดกอาจเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง เพราะเชื่อว่าพระพุทธเจ้าทรงบรรลุวิชาบุพเพนิวาสญาณ คือความรู้ระลึกชาติที่เป็นอยู่แต่ก่อน ๆ ได้ ทั้งนี้เพราะการเชื่อว่าระลึกชาติได้นี้เป็นข้อที่เชื่อกันอยู่ในโบราณกาล แม้ในหมู่คนนอกพระพุทธศาสนา สรุปแล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า "ธรรมดาผู้ซึ่งมีความพอใจในความรู้วิชาหนังสือและเรื่องทั่วไปในโลก ย่อมถือว่าหนังสือซึ่งเขียนไว้แต่โบราณเช่นนี้ เป็นหนังสือสำคัญที่จะส่องให้เห็นความประ-พฤติ ความเป็นอยู่ และประเพณีของประเทศซึ่งแต่งเรื่องนิทานนั้นเป็นอย่างไร เป็นอุปการะแก่การที่จะแต่งเรื่องตำนานทั้งปวง โดยทางเทียบเคียงให้รู้คติของคนโบราณในประเทศนั้น...",

 

ความกลัว

ความกลัว เป็นสิ่งที่มีอำนาจมากสิ่งหนึ่ง ในบรรดา สิ่งที่ทำลาย ความสุข สำราญ หรือ รบกวนประสาท ของมนุษย์ เป็นอย่างยิ่ง ด้วยกัน ความกลัวนี้ ย่อมมีลักษณะ และพิษสง มากน้อยกว่ากัน เป็นขั้นๆ ตามความรู้สึก อันสูงต่ำ ของจิต เด็กๆ สร้างภาพ ของสิ่งที่น่ากลัว ขึ้นในใจ ตามที่ผู้ใหญ่ นำมาขู่ หรือได้ยิน เขาเล่า เรื่อง อันน่ากลัว เกี่ยวกับผี เป็นต้น สืบๆ กันมา แล้วก็กลัว เอาจริงๆ จนเป็นผู้ใหญ่ ความกลัวนั้น ก็ไม่หมดสิ้นไป ความกลัว เป็นสัญชาตญาณ อันหนึ่งของมนุษย์ เหมือนกันหมด แต่ว่า วัตถุที่กลัว นั่นแหละต่างกัน ตามแต่เรื่องราวที่ตนรับ เข้าไว้ในสมอง วัตถุอันเป็น ที่ตั้งของความกลัว ที่กลัวกันเป็นส่วนมากนั้น โดยมากหาใช่วัตถุ ที่มีตัวตน จริงจัง อะไรไม่ มันเป็นเพียงสิ่งที่ใจสร้างขึ้น สำหรับกลัวเท่านั้น ส่วนที่เป็น ตัวตน จริงๆ นั้น ไม่ได้ ทำให้เรากลัวนาน หรือ มากเท่าสิ่งที่ใจสร้างขึ้นเอง มันมักเป็น เรื่องเป็นราวลุล่วงไปเสียในไม่ช้านัก บางที เราไม่ทันนึก กลัว ด้วยซ้ำไป เรื่องนั้นก็ได้มาถึงเรา เป็นไปตามเรื่องของมันและผ่านพ้นไปแล้ว มันจึงมิได้ทรมานจิตของมนุษย์มากเท่าเรื่องหลอกๆ ที่ใจสร้างขึ้นเอง 

เด็กๆ หรือคนธรรมดา เดินผ่านร้านขายโลง ซึ่งยังไม่เคย ใส่ศพเลย ก็รู้สึกว่า เป็นที่น่ารังเกียจ หรือเป็นที่ อวมงคล เสียจริงๆ เศษกระดาษ ชนิดที่เขา ใช้ปิดโลง ขาดตก อยู่ในที่ใด ที่นั้น ก็มี ผี สำหรับเด็กๆ    ธรรมชาติ ได้สร้างสัญชาตญาณ อันนี้ให้แก่สัตว์ ตั้งแต่ เริ่มออกจากครรภ์ ทีเดียว, ลูกนก หรือ ลูกแมว พอลืมตา ก็กลัวเป็นแล้ว แสดงอาการหนี หรือป้องกันภัย ในเมื่อเราเข้าไปใกล้

เด็กๆ จะกลัวที่มืด หรือการถูกทิ้ง ไว้ผู้เดียว ทั้งที่ เขายังไม่เคย มีเรื่องผูกเวร กับใครไว้ อันจะนำให้กลัวไปว่า จะมีผู้ลอบทำร้าย หรือในกรณีคนที่เดินผ่านหรือต่อให้ไปนอนเล่นในป่าช้าโดยไม่รู้ก็ไม่มีความรู้สึกกลัว แต่เมื่อรู้ว่าเป็นป่าช้าขึ้นมาแค่ให้เฉียดไปใกล้ยังไม่กล้า ทั้งๆที่ก็เป็นที่เดิม ทั้งหมดนี้ เป็น เครื่องแสดงว่า ความกลัว เป็นเรื่องของจิต มากกว่า วัตถุ ผู้ใด ไม่มี ความรู้ ในการควบคุม จิตของตน ในเรื่องนี้ เขาจะถูกความกลัวกลุ้มรุมทำลายกำลังประสาท และความสดชื่นของใจเสียอย่างน่าสงสาร

เราอาจปัดเป่า ความกลัวออกไปเสียจากจิต โดยววิธีต่างๆ กัน แต่เมื่อจะสรุปความ ขึ้นเป็นหลักสำคัญๆ แล้ว อย่างน้อย เราจะได้สามประการ คือ

๑.      สร้างความเชื่ออย่างเต็มที่ ในสิ่งที่ยึดเอาเป็นที่พึ่ง เราอาจเห็นได้ทั่วไป คือ วิธีของ เด็กๆ ที่เชื่อตะกรุด หรือ เครื่องราง ฯลฯ ตลอดจน พระเครื่ององค์เล็ก ที่แขวนคอ และเป็นวิธีของผู้ใหญ่บางคน ที่มีความรู้สึกอยู่ในระดับเดียวกับเด็กด้วย

๒.      ส่งใจไปเสียในที่อื่น ผูกมัดไว้กับสิ่งอื่น ที่เราเห็นกันได้ทั่วไป เช่น กำลังเมารัก บ้าเลือด เหล่านี้เป็นต้น จะไม่มีความกลัวผี กลัวเสือ กลัวเจ็บ เช่น คิดถึง ชาติประเทศ  ความกล้าหาญ ดูสิ่งที่ยั่วใจให้กล้า เช่น ระเบียบให้มองดู ธงของผู้นำทัพ ในเมื่อตนรู้สึกขลาด

๓.      ตัดต้นเหตุ ของความกลัวนั้นๆ เสีย เช่น เรื่องของเด็กคนหนึ่งมีความกลัวห้องเก็บของใต้ตินที่มืดมาก คิดว่ามีปีศาจร้ายอาศัยอยู่ในนั้น ไม่ว่าพ่อจะพยายามอธิบายอย่างไรก็ไม่สามารถบรรเทาความกลัวได้ จึงได้ออกอุบาย โดยเตรียมแผนกับแม่ของเด็ก ทำหุ่นปลอมขึ้นมาแล้วพาเด็กพร้อมไม้เข้าไปในห้องและทำการรุมตีปีศาจปลอมตนนั้น เมื่อเด็กคิดว่าปีศาจตายแล้วก็หายกลัวห้องนั้น นี่สำหรับเด็กๆแต่เรากลับเห็นกุศโลบายหลอกเด็กนี้ทั่วไปในสังคมไทย ทั้งการตัดกรรม แก้กรรม สะเดาะเคราะห์ แต่หาได้เป็นต้นเหตุที่แท้จริง โดยเราควรพิจารณาความกลัวของเรา เช่น ดูหนังผีแล้วเกิดความรู้สึกกลัว ไม่กล้าดู นอนไม่หลับ แต่ถ้าทำการพิจารณาต้นเหตุแล้ว สิ่งที่เราดูก็เป็นเพียงภาพที่ฉายบนจอ ซึ่งจอเดียวกันนี้ก็ทำให้เราหัวเราะได้ แล้วเราจะกลัวไปทำไม

มูลเหตุอันแท้จริง เป็นรวบยอด แห่งมูลเหตุทั้งหลาย มูลเหตุอันเดียวที่ว่านั้น ก็คือ  ความกลัวก็เป็นสิ่งที่ เกิดมาจากมูลเหตุอันสำคัญอันเดียว เช่นเดียวกับ ความรัก ความโกรธ ความเกลียด และ ความหลง เพราะว่า ความกลัว ก็เป็นพวกเดียวกันกับ ความหลง (โมหะ หรือเข้าใจผิด) ความยึดถือต่อตัวเองว่า ฉันมี ฉันเป็น นั่นของฉัน นี่ของฉัน เป็นต้น

          ความกังวล ความวิตก ความรู้สึกต่างๆที่เกิดขึ้นนั้น ส่งผลมากมายให้กับร่างกาย โรคในปัจจุบันก็เป็นที่พิสูจน์แล้วว่าเกิดจากความเครียดที่เราคิดขึ้นเอง ไม่อยากเจ็บปวด ไม่อยากตาย
หรือแหลก ละลายไปเสีย ฉัน จึงกลัวเจ็บกลัวตาย เป็นสัญชาตญาณ ของ "ฉัน" เมื่อกลัวตายอย่างเดียว อยู่ภายในใจแล้ว ก็กลัวง่าย ไปทุกสิ่งที่เชื่อกันว่า มันจะทำให้ตาย หรือทำให้เจ็บป่วย ซึ่งเป็นน้องของตาย ทำให้ฉันกลัวผีจะหักคอฉัน กินฉันหลอกฉันขู่ฉัน และกลัวสัตว์อื่นๆ แม้แต่งูตัวนิดๆ กลัวที่มืดซึ่งเป็นที่อาศัยของสิ่งน่ารังเกียจเหล่านั้น กลัวที่เปลี่ยว ซึ่งไม่มีโอกาส ที่ตนจะต่อสู้ป้องกันตัวได้ กลัวคู่เวร จะลอบทำฉันให้แตกดับ กลัวฉันจะอับอายขายหน้าสักวันหนึ่ง เพราะฉัน มีความผิดปกปิดไว้บางอย่าง ฉันกลัว เพราะไม่เข้าใจว่า สิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ไม่รู้ เช่น
ผลไม้ดีๆ บางอย่าง แต่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ถ้ารูปร่าง หรือ สีมันชอบกลแล้ว ฉันก็กลัว ไม่กล้ากิน หรือแม้แต่จะชิมก็ขนลุก และในที่สุดเมื่อ "ฉัน" ปั่นป่วน ในปัญหาการอาชีพ หรือ ชื่อเสียงเป็นต้นของฉัน กลัวว่า ฉันจะเสื่อมเสียอยู่เสมอ ฉันก็เป็นโรคใจอ่อน กลัวคนไม่รัก กลัวสูญเสียสิ่งที่รัก จนเกิดอาการโรคประสาท สะดุ้งง่าย ใจลอย ความยึดถือว่า ฉันเป็นฉัน เหล่านี้เป็น มูลเหตุของความกลัว ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว ก็กวาดความสดใส ชุ่มชื่นเยือกเย็น ให้หมดเตียนไปจากดวงจิตนั้น 

  ความโศก ย่อมเกิดแต่ความรัก
  ความกลัว ย่อมเกิดแต่ความรัก
  สำหรับผู้ที่พ้นแล้ว จากความรัก
  ย่อมไม่มีความโศก
  ความกลัว จักมีมาแต่ที่ไหนเล่า

  ความโศก ย่อมเกิดมาจาก ตัณหา (ความอยากอย่างนั้นอย่างนี้)
  ความกลัว ย่อมเกิดมาจาก ตัณหา (เพราะกลัวไม่สมอยาก)
  สำหรับผู้ที่พ้นแล้วจาก ตัณหา ย่อมไม่มีความโศก
  ความกลัว จักมีมา แต่ที่ไหนเล่า " (ธ. ขุ. ๔๓) 

กฏแห่งกรรมจะอธิบายอย่างไร

 

ในศาสนาพุทธ ศาสนาฮินดู พราหมณ์ และนิครนถ์มีหลักกรรมเหมือนกัน แต่ความหมายต่างกัน หลายคนเข้าใจว่าในตัวแต่ละคนมีอาตมัน เมื่อบุคคลแต่ละคนทำกรรม กรรมเป็นเครื่องปิดบังอาตมัน ด้วยอำนาจกรรมนี้ บุคคลต้องเวียนว่ายตายเกิดไปจนกว่าจะหลุดพ้น ดูเผินๆ ก็คล้ายกันแต่ศาสนาฮินดูสอนหลักกรรมเพื่อเป็นฐานรองรับการแยกวรรณะ ส่วนพุทธนั้นสอนเพื่อหักล้างเรื่องวรรณะ

          ในสมัยพุทธกาลมีคำสอนอยู่ ๓ ลัทธิ เป็นคำสอนประเภท อกิริยา คือสอนให้ไม่เกิดการกระทำ เป็นความคิดที่ผิดอย่างร้ายแรง โดยมีดังนี้

๑.     ผลที่เกิดนั้น ล้วนเป็นเพราะกรรมในปางก่อน(ปุพเพกตวาท)

๒.    ผลที่เกิดนั้น ล้วนเป็นเพราะการบันดาลของพระเจ้า(อิศวรนิรมิตวาท)

๓.    ผลที่เกิดนั้น ล้วนหาเหตุปัจจัยไม่ได้

 

เมื่อมีความคิดเช่นนี้แล้ว เหตุควรทำ ไม่ควรทำย่อมไม่มี เพื่อให้ประชาชนยอมรับความ

ลำบากและไม่คิดที่จะลุกขึ้นสู้เพื่อสิ่งที่ดีกว่า เช่น การที่คนนำลูกช้างมาล่ามโซ่ไว้แต่ยังเด็ก แรกๆแม้จะพยายามอย่างไรก็ไม่สามารถหลุดพ้นออกมาได้แถมยังสร้างบาดแผล ความเจ็บปวด จากการถูกโซ่บาดอีกด้วย แต่ถ้านำช้างที่โตเต็มวัยแล้วมาล่ามก็จะสามารถกระชากหลุดได้ จนเวลาผ่านไปลูกช้างเชือกนั้นโตเต็มวัยแล้วก็ไม่เคยพยายามที่จะหนีให้พ้นจากโซ่ตรวนอีกเลย เพราะความทรงจำของตนคิดเสมอว่าไม่สามารถกระชากโซ่นี้ให้ขาดได้ แถมจะสร้างบาดแผลและความบาดเจ็บ จนมีเหตุการณ์ที่ไฟไหม้โรงช้าง ช้างเชือกนี้ก็ถูกไฟคลอกตายเพราะคิดว่าไม่สามารถหนีไปจากโซ่นี้ได้

 

          พระพุทธองค์จึงสอนว่า

          “กรรมเก่า คืออะไร จุกขุ  โสตะ ฆานะ ชิวหา กายมโน นี้ชื่อว่ากรรมเก่า

          อะไรคือกรรมใหม่ การกระทำที่เราทำอยู่ในบัดนี้ นี่แหละชื่อว่ากรรมใหม่

          อะไรคือการดับกรรม บุคคลสัมผัสวิมุตติเพราะความดับแห่งกายกรรม

          วจีกรรม และมโนกรรม นั้นชื่อว่าความดับกรรม

          อะไรเป็นทางดับกรรม มรรคมีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐ คือ สัมมาทิฏฐิเป็นต้น

สัมมาสมาธิเป็นปริโยสาน นี้เรียกว่า ทางดับกรรม”

มรรค ๘ ประการที่จะสามารถดับกรรมคือ

          ๑. มีความคิดที่ถูกต้อง                   ๒. มีความดำริความคิดที่ถูกต้อง

          ๓. ใช้คำพูดที่ถูกต้อง                    ๔. มีกระทำที่ถูกต้อง

          ๕. เลี้ยงชีพโดยสัมมาชีพ                ๖. มีความพยายามที่ถูกต้อง

          ๗. มีสติที่ถูกต้อง                          ๘. บำเพ็ญสมาธิที่ถูกต้อง

พระพุทธองค์สอนหลักกรรมเพื่อ

ก.     ให้เลิกแบ่งชนชั้นโดยชาติกำเนิด คนเราไม่ได้เป็นคนถ่อยต่ำทรามเพราะชาติกำเนิด และก็ไม่ได้เป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิด แต่จะเป็นคนทรามก็เพราะการกระทำและเป็นพราหมณ์ก็เพราะการกระทำ

ข.     ให้รู้จักพึ่งตนเองและหวังผลสำเร็จด้วยการลงมือทำ  ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ความเพียรท่านทั้งหลายต้องทำเอง

 

 ธรรมนิยาม

          ตถาคตทั้งหลายจะอุบัติหรือไม่อุบัติก็ตาม หลักความเป็นจริงก็เป็นอยู่อย่างนั้น

 

 

การให้ผลของกรรมระดับภายนอก: สมบัติ 4 – วิบัติ 4

          แง่ต่อไป เกี่ยวกับการได้รับผลกรรมอีกระดับหนึ่ง อย่าที่เราพูดเสมอว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว และมีหลายคนชอบแย้งว่า ทำดีไม่เห็นได้ดีเลย ฉันทำดีแต่ได้ชั่ว ไอ้คนนั้นทำชั่วมันกลับได้ดี นี้ก็เป็นอีกระดับหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งก็ต้องมีแง่มีแนวในการที่จะอธิบาย

          เบื้องแรกเราต้องแยกการให้ผลของกรรมออกเป็น 2 ระดับ คือระดับที่เป็นผลกรรมแท้ๆ หรือเป็นวิบาก กับระดับผลข้างเคียงที่ได้ระดับภายนอก

          ยกตัวอย่างเป็นอุปมาจึงจะมองเห็นชัด เช่น คนหนึ่งบอกว่า ผมขยันทำการงาน แต่ไม่เห็นรวยเลย แล้วก็บอกว่าทำดีไม่ได้ดี ในที่นี้ ขยัน คือ ทำดี และ รวย คือ ได้ดี ทำดี คือ ขยันก็ต้องได้ดี คือ รวย ปัญหาอยู่ที่ว่ารวยนั้นเป็นการได้ดีจริงหรือเปล่า

          ถ้าจะให้ชัดก็ต้องหาตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น เช่น นาย ก. ขยันปลูกมะม่วง ตั้งใจปลูกอย่างดี พยายามหาวิธีการที่จะปลูก ปลูกแล้วปรากฏว่ามะม่วงงอกงามจริงๆ แล้วนาย ก. ก็มีมะม่วงเต็มสวน แต่นาย ก. ขายมะม่วงไม่ได้ มะม่วงเสียเปล่ามากมาย นาย ก. ไม่ได้เงิน นาย ก. ก็ไม่รวย นาย ก. ก็บ่นว่า ผมขยัน=ทำดี ปลูกมะม่วงเต็มที่ แต่ผมไม่ได้ดี=ไม่รวย

          ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ นาย ก. ลำดับเหตุและผลไม่ถูก แยกขั้นตอนของการได้รับผลไม่ถูกต้อง นาย ก. ทำเหตุคือขยันปลูกมะม่วง ก็จะต้องได้รับผลคือได้มะม่วง มะม่วงก็งอกงาม มีผลดกบริบูรณ์ นี่ผลตรงกับเหตุ ปลูกมะม่วงได้มะม่วง ขยันปลูกมะม่วง ก็ได้มะม่วงมากมาย แต่นาย ก. บอกว่าไม่ได้เงิน ไม่รวยคือไม่ได้เงิน

          ปลูกมะม่วงแล้วไม่ได้เงิน นี่ไม่ถูกแล้ว ปลูกมะม่วงแล้วจะได้เงินได้อย่างไร ปลูกมะม่วงก็ต้องได้มะม่วง นี่แสดงว่า นาย ก. พูดลำดับเหตุผลผิด เหตุผลที่ถูก คือ ปลูกมะม่วงแล้วได้มะม่วง แต่ปลูกมะม่วงแล้วรวย หรือปลูกมะม่วงแล้วได้เงินนี้ยังต้องดูขั้นต่อไป

          ถ้าปลูกมะม่วงแล้ว ได้มะม่วงมากมาย มะม่วงล้นตลาด คนปลูกทั่วประเทศ เลยขายไม่ออก ก็เสียเปล่า เป็นอันว่าไม่ได้เงินฉะนั้นก็ไม่รวย อาจจะขาดทุนยุบยับก็ได้ เราต้องแยกเหตุผลให้ถูก

          เป็นอันว่า อย่ามาเถียงกฎแห่งกรรมเลย ไปศึกษาพัฒนาปัญญาของคุณเองนั่นแหละ กฎไม่ผิดหรอก คุณปลูกมะม่วงก็ได้มะม่วง ส่วนจะได้เงินหรือไม่นั้น ต้องอยู่ที่เหตุปัจจัยอื่น ซึ่งเป็นลำดับเหตุและผลอีกช่วงตอนหนึ่ง ที่จะต้องแยกแยะวินิจฉัยต่อไปอีก เช่นว่า คุณขายเป็นไหม รู้จักตลาดไหม ตลาดตอนนี้มีความต้องการมะม่วงไหม ต้องการมากไหม ราคาดีไหม ถ้าตอนนี้คนต้องการมะม่วงมาก ราคาดี จัดการเรื่องขายได้เก่ง คุณก็ได้เงินมาจากการขายมะม่วง ก็รวย นี่เป็นอีกตอนหนึ่ง คนเราโดยทั่วไปมักจะเป็นอย่างนาย ก. นี้คือมองข้ามขั้นตอนของเหตุผล จะเอาปลูกมะม่วงแล้วรวย จึงยุ่ง เพราะตัวเองคิดผิด

          ในเรื่องนี้จะต้องแบ่งลำดับเรื่องเป็น 2 ขั้น ขั้นที่ 1 บอกแล้วว่า ปลูกมะม่วงได้มะม่วง เมื่อได้มะม่วงแล้ว ขั้นที่ 2 ทำอย่างไรจึงจะได้เงิน จึงจะรวย เราต้องคิดให้ตลอดทั้ง 2 ตอน

          ตอนที่ 1 ถูกต้องตามเหตุปัจจัยแน่นอนแล้ว คือปลูกมะม่วงได้มะม่วง หลักกรรมก็เหมือนกัน หลักกรรมในขั้นที่ 1 คือ ปลูกมะม่วง ได้มะม่วง เหตุดี ผลก็ดี เมื่อท่านปลูกเมตตาขึ้นในใจ ท่านก็มีเมตตา มีความแช่มชื่น จิตใจสบาย ยิ้มแย้มผ่องใส มีความสุขใจ แต่จะได้ผลอะไรต่อไปเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง

          สำหรับตอนที่ 2 ท่านให้ข้อพิจารณาไว้อีกหลักหนึ่ง ดังที่ปรากฏในอภิธรรม บอกไว้ว่า การที่กรรมจะให้ผลต่อไป จะต้องพิจารณาเรื่องสมบัติ 4 และวิบัติ 4 ประกอบด้วย คือ ตอนได้มะม่วงแล้วจะรวยหรือไม่ ต้องเอาหลักสมบัติ 4 วิบัติ 4 มาพิจารณา

          สมบัติ คือองค์ประกอบที่อำนวยช่วยเสริมกรรมดี มี 4 อย่างคือ

1.    คติ คือ ถิ่นที่ เทศะ ทางไป ทางดำเนินชีวิต

2.    อุปธิ คือ ร่างกาย

3.    กาล คือ กาลเวลา ยุคสมัย

4.    ปโยค คือ การประกอบ หรือการลงมือทำ

นี่เป็นความหมายตามศัพท์ ฝ่ายตรงข้าม คือ วิบัติ ก็มี 4 เหมือนกัน คือ ถ้า คติ อุปธิกาล ปโยค ดี ช่วยเสริม ก็เรียกว่าเป็นสมบัติ ถ้าไม่ดี กลายเป็นจุดอ่อน เป็นข้อด้อย หรือบกพร่อง ก็เรียกว่าเป็นวิบัติ ลองมาดูหลัก 4 นี้มีผลอย่างไร

สมมติว่า คุณ ก. กับคุณ ข. มีวิชาดีเท่ากัน ขยัน นิสัยดีทั้งคู่ แต่เขาต้องการรับคนทำงานที่เป็นพนักงานต้อนรับ ทำหน้าที่รับแขก คุณ ก. ขยัน มีนิสัยดี ทำหน้าที่รับผิดชอบดี แต่หน้าตาไม่สวย คุณ ข. ก็ขยัน มีนิสัยดี มีความรับผิดชอบดี แต่หน้าตาสวยกว่า เขาก็ต้องเลือกคุณ ข. แล้วคุณ ก. จะบอกว่าฉันขยันอุตส่าห์ทำดีไม่เห็นได้ดีเลย เขาไม่เลือกไปทำงาน นี่ก็เพราะตัวเองมีอุปธิวิบัติ เสียในด้านร่างกาย หรืออย่างทั้ง 2 คน ต่างก็มีความขยันหมั่นเพียร มีความดี แต่คนหนึ่งร่างกายไม่แข็งแรง มีโรคออดๆแอดๆ เวลาเลือก คนขี้โรคก็ไม่ได้รับเลือก

ในเรื่องคติ คือ ที่ไปเกิด ถิ่นฐาน ทางดำเนินชีวิต เช่นถ้าท่านเป็นคนมีสติปัญญาดี ขั้นอัจฉริยะแต่ไปเกิดในดงคนป่า แทนที่จะได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก ก็ไม่ได้เป็น เพราะดันไปเกิดในดงคนป่า นี่เรียกว่า คติเสีย ก็ไม่ได้ผลขึ้นมา นี่คือ คติวิบัติ หรือการที่ท่านเลือกทำงานในหน่วยงานหรือองค์กรที่ไม่ดี มีหัวหน้าที่ไม่ดี ก็ยากที่จะเจริญก้าวหน้าได้

ข้อต่อไป กาลวิบัติ  เช่น ท่านอาจจะเป็นคนเก่งศิลปะบางอย่าง แต่มาเจริญเติบโตในสมัยที่เขามีสงครามกันวุ่นวาย และในระยะที่เกิดสงครามนี้เขาไม่ต้องการความสามารถด้านนั้น เขาต้องการคนที่รบเก่ง แข็งแรง กล้าหาญ เก่งกล้า สามารถ  ท่านก็ไม่ได้รับการยกย่องเชิดชู นี่เรียกว่ากาลวิบัติ

ข้อสุดท้ายคือ ปโยควิบัติ มีตัวอย่างเช่น ท่านเป็นคนวิ่งเร็วถ้านำมาใช้ในด้านกีฬา อาจมีชื่อเสียงระดับโลกแต่ถ้าเอาไปวิ่งราว ลักของเขา ก็เลยได้รับผลร้าย ถูกจับขังคุก หรือเสียคนไปนี่เรียกว่า ปโยควิบัติ

ว่าที่จริง ถ้าไม่มุ่งถึงภายนอกหรือผลข้างเคียงสืบเนื่อง ทุกอย่างมันก็มีผลดีโดยตรงของมันอยู่แล้ว และผลดีอย่างนั้นก็อยู่ในตัวมันตลอดเวลา แต่ในการที่จะได้รับผลต่อเนื่องอีกขั้นหนึ่งนั้น เราจะต้องเอาหลักสมบัติ- วิบัติ เข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งแทนที่จะได้ทำงานด้วยความตั้งใจ มีความสุขกลับมาโทษว่าทำดีไม่ได้ดี เกิดความทุกข์แทน เราควรจัดดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ให้ถูกต้องด้วย ไม่ใช่คิดว่าฉันขยันหมั่นเพียรแล้วก็ทำไป เลยได้ความโง่มาเป็นปัจจัยให้ได้รับผลของอกุศลกรรม

นิยาม ๕

๑.     กรรมนิยาม กฎแห่งกรรม ทำเช่นไรได้เช่นนั้น

๒.    จิตตนิยาม กฎแห่งการทำงานของจิต

๓.    พีชนิยาม กฎเกี่ยวกับพืชพันธ์ กรรมพันธุ์

๔.    อุตุนิยาม กฏเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องของอากาศ

๕.    ธรรมนิยาม กฎแห่งธรรม สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป

กฎ ๕ ข้อนี้ สังเกตได้ว่ากรรมนิยามเป็นเพียงกฎหนึ่งในนั้น ฉะนั้นการจะพิจารณาอะไรไม่

ควรไปยึดถือว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของกรรม

          เช่น การที่คนเรามีเหงื่อออก ถ้าเพราะไปวิ่งมาก็แสดงว่าเพราะกรรมนิยาม เราเกิดการกระทำ แต่เพราะอากาศร้อนไม่ใช่กรรมแล้วแต่เกิดจาก อุตุนิยาม หรือทำผิดมาแล้วถูกสอบสวนมีความกลัวมากจึงเหงื่อออก ก็เกิดเพราะจิตตนิยาม หรือพ่อแม่เป็นคนอ้วนเราเกิดมาก็ขี้ร้อนเหงื่อออกง่ายอันนี้ก็เป็นพีชนิยาม เป็นต้น

 

จิตไร้สำนึก จุดเริ่มต้นแห่งการให้ผลของกรรม

 

          ที่ว่ามานี้มีความหมายอย่างไรเกี่ยวกับกรรม ความหมายก็คือ มันแสดงว่าสิ่งที่เราทำไว้ทั้งหมด สิ่งที่เราคิด เรานึก ทุกอย่างไม่ได้หายไปไหนเลย ยังคงอยู่ในจิตใจของเราทั้งหมด เพียงแต่เราไม่รู้ตัวและระลึกออกมาโดยจิตสำนึกไม่ได้เท่านั้น เราสามารถเอาวิชาการสมัยใหม่ที่เขาศึกษา วิจัย วิเคราะห์กันทีหลังนี้มาประกอบการศึกษาเรื่องกรรมได้ด้วย ทำให้เห็นว่าวิธีการสมัยใหม่ในยุคหลังนี้ก็เป็นเครื่องช่วยย้ำสนับสนุนให้คนปัจจุบันเข้าใจหลักความจริงของจิตที่ท่านสอนไว้ว่าเป็นอย่างไร

 

ก. จิตสะสมประสบการณ์ทุกอย่าง และปรุงแต่งชีวิตเรา

          สิ่งที่เป็นประสบการณ์ของมนุษย์นี้จิตเราไม่ได้ลืมเลย และก็เป็นอันว่าจิตสั่งสมไว้ทุกอย่าง เมื่อสั่งสมแล้วก็ไม่ได้สั่งสมไว้เฉยๆ มันมีผลต่อตัวเราทั้งหมดด้วย โดยที่เราไม่รู้ตัว สภาพจิตส่วนที่ปรุงแต่งชีวิตเรานี้ส่วนมากเป็นจิตที่ไม่รู้ตัว

          ตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเรามีจิตโกรธบ่อยๆ เป็นคนฉุนเฉียว พบอะไรขัดใจนิดก็เกิดโทสะ และแสดงความเกรี้ยวกราดออกมาให้จิตกำเริบอยู่เสมอ ต่อไปถ้าสั่งสมสภาพจิตอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นนิสัย ทำให้เป็นคนมักโกรธ ความโกรธง่ายจะเป็นลักษณะจิตใจ เป็นนิสัย ต่อมาสภาพจิตก็แสดงออกทางหน้าตาหน้านิ่วคิ้วขมวดอยู่เสมอ กลายเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าบุคลิกภาพและออกมามีผลทั้งต่อและจากผู้อื่น คนที่พบเห็นก็ไม่อยากคบ ไม่อยากพูดจาด้วย เข้าอยากจะหลีกเลี่ยง กลัวจะเกิดเรื่อง อะไรทำนองนี้ แล้วก็กลับมามีผลต่อชีวิตของตนเอง

          รวมความว่าเรื่องก็ดำเนินไปในลักษณะที่ว่า จากความคิด จิตใจ ก็ออกมาเป็นลักษณะนิสัย เป็นบุคลิกภาพ แล้วก็เป็นวิถีชีวิตของคนนั้น และความมีนิสัยอย่างนี้ หรือมีความโน้มเอียงอย่างนี้ ก็ชักจูงตัวเขาเอง ชวนให้ไปพบกับประสบการณ์ต่างๆ และสถานการณ์ที่ทำให้เกิดเรื่องอย่างนั้นๆ ขึ้นมา

          ส่วนในทางตรงข้าม คนที่มีจิตเมตตา ยิ้มแย้มแจ่มใจ คิด นึกเรื่องดีๆ เสมอ เวลาพบอะไร จิตใจก็มองไปในแง่ดี สบายใจ ยิ้มแย้มแจ่มใส ต่อมา หน้าก็เป็นหน้าตายิ้มแย้ม เป็นคนมีเสน่ห์ น่ารัก น่าชม ขวนให้คบหา แล้วทั้งหมดนั้น ก็ออกมาเป็นผลต่อวิถีชีวิตของเขาไปด้วย นี่ก็เป็นเรื่องของการสั่งสม

          คนไทยเราคงเคยชินกับคำว่า “แข่งเรือแข่งพายแข่งได้ แต่แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งไม่ได้”

วาสนา ในพุทธศาสนาก็คือความเคยชิน ตั้งแต่ของจิตใจ ตลอดจนการแสดงออกที่กลายเป็นลักษณะประจำตัว ใครมีความเคยชินอย่างไร ก็เป็นวาสนาของคนนั้นอย่างนั้น และเขาก็จะทำอะไรๆไปตามวาสนาของเขา หรือวาสนาก็จะพาเขาไปให้ทำอย่างนั้นๆ ฉะนั้นวาสนาจึงมีไว้แก้ไขไม่ใช่มีไว้แข่ง

 

ข. จิตส่วนใหญ่และขุมพลังแท้ อยู่ที่จิตไร้สำนึก

          แง่ต่อไปคือ เมื่อจิตไร้สำนึกนี้เป็นส่วนใหญ่ ก็เป็นส่วนที่มีกำลังมาก จิตของเรานี้เราเอามาใช้งานนิดหน่อยเท่านั้น ความจริงมันมีพลังมากมายที่เราไม่รู้ตัวและยังไม่รู้จักดึงเอามาใช้ แต่เราจะเห็นตัวอย่างได้ว่า จิตมีกำลังขนาดไหน ในเมื่อมีเหตุการณ์ที่บังคับตัวไม่ได้ เช่นเวลาเกิดไฟไหม้ขึ้น บางคนยกตุ่มน้ำได้ หรือวิ่งหนีด้วยความตกใจ มาถึงรั้วแห่งหนึ่งซึ่งสูง ปรกติแล้วกระโดดข้ามไม่ได้ แต่ด้วยความกลัวหนีภัยมานั้น สามารถกรระโจนข้ามไปได้ เรื่องอย่างนี้เราได้ยินบ่อยๆ แสดงให้เห็นว่า ที่จริงจิตของเรานั้นมีความสามารถอะไรบางอย่างอยู่ข้างใน แต่ตามปกติ เราไม่รู้จักใช้มัน มันก็เลยไม่มีประโยชน์

          ความสามารถนี้อยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่จิตไร้สำนึกนั้น ตอนที่เราหนภัยด้วยความตกใจก็ดี ตอนที่แบกตุ่มน้ำหรือของหนักไปได้เวลาไฟไหม้ก็ดี ตอนนั้นเราคุมสติไม่อยู่ จิตสำนึกของเราไม่ทำงานแต่ถูกจิตไร้สำนึกสำนักกำกับการออกมาแสดงบทบาททำให้เราทำอะไรแปลกๆ พิเศษออกไป หรืออย่างในเวลาสะกดจิต ทำให้เอาเข็มแทงไม่เจ็บ ตลอดจนสามารถสะกดจิตแล้วผ่าตัดบางอย่างได้ ไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไรเลย นี้เป็นเรื่องของจิตใจซึ่งมีส่วนที่เราไม่รู้จักอีกมาก พวกนักจิตวิเคราะห์ก็มาศึกษากัน นักจิตวิเคราะห์คนสำคัญชื่อนาย ซิกมุนด์ ฟรอยด์(Singmund Freud) ได้ศึกษาเรื่องจิตสำนึกและจิตไร้สำนึกนี้มาก

          ที่ว่าจิตเป็นตัวปรุงแต่งสร้างสรรค์นั้น จิตสำนึกได้แต่คิดปรุงแต่งเบื้องต้นเท่านั้น ตัวปรุงแต่งสร้างสรรค์ที่แท้จริงที่สร้างผลออกมาแก่ชีวิตคนส่วนใหญ่ เป็นนิสัย เป็นบุคลิกภาพ ตลอดจนเป็นชะตากรรมของชีวิตนั้น อยู่ที่จิตไร้สำนึกที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งทำงานของมันอยู่ตลอดเวลา

          จะขอซักตัวอย่างหนึ่งมาแสดงให้เห็นเกี่ยวกับเรื่องกรรมซึ่งอาจจะช่วยให้เห็นทางเป็นไปได้มากขึ้น ว่าวิธีการศึกษาแบบสมัยใหม่จะมาสนับสนุนการอธิบายเรื่องกรรมอย่างไร

          นายซิกมุรด์ ฟรอยด์ เล่าให้ฟังถึงกรณีหนึ่งว่า เด็กผู้หญิงอายุ 17 ปี ชอบออกไปเที่ยวนอกบ้านกับผู้ชายคนหนึ่ง พ่อไม่พอใจมาก วันหนึ่งก็ทะเลาะกับพ่อ พ่อโกรธมากก็ตบหน้าเด็กหญิงคนนี้ เด็กคนนี้เจ็บก็โกรธมาก อารมณ์วูบขึ้นมาก็เงื้อแขนขวาขึ้นมาจะทุบพ่อบ้าง พอเงื้อแขนขึ้นไปแล้วจะทุบลงมา ก็ชะงักเงื้อค้าง นึกขึ้นได้ว่านี่เป็นพ่อของเรา เราไม่ควรทำจะทำร้าย ก็ยังยั้งไว้ได้ แต่ก็ยังถือว่าตัวทำถูก ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ พ่อก็โกรธไม่ยอมพูดด้วย

          ต่อมาเช้าวันหนึ่ง อยู่ดีๆเด็กคนนี้ยกแขนขวาไม่ขึ้น แขนที่จะใช้ตีพ่อนั้นขยับเขยื้อนไม่ได้เลย เรียกว่าใช้ไม่ได้ เหมือนเป็นอัมพาต หมอทางกายตรวจดูแล้วก็ไม่เห็นมีอะไรผิดปกติเลย แขนก็แข็งแรง เส้นเอนประสาทอะไรก็ไม่บกพร่องเสียหาย (ลองนึกเทียบกับคนที่ไปฟังผลสอบ พอรู้ว่าสอบตกเข่าก็อ่อน ยืนไม่อยู่ ทั้งที่ร่างกายกำยำล่ำสัน หรือคนที่ได้ยินศาลตัดสินประหารชีวิต อะไรจำพวกนี้)

          เรื่องนี้ถ้าเราอธิบายแบบหักขาไก่แล้วต่อมาตัวเองขาพิการ ก็เรียกว่าเป็นกรรมสนองแล้ว แต่ในกรณีนี้เขาเอาเรื่องจริงมาศึกษาวิเคราะห์ ศึกษาได้ความแล้ว เข้าก็อธิบายว่า จิตไร้สำนึกของเด็กคนนี้แสดงตัวออกมาทำงาน ในเวลาที่จิตไร้สำนึกทำงานแล้ว จิตสำนึกสู้ไม่ได้ ต้องอยู่ในอำนาจของมัน

          จิตไร้สำนึกทำงานเพราะอะไร ด้วยเหตุผลอะไร เหตุผลคือ ความรู้สึกขัดแย้งเกิดขึ้น เด็กคนนั้นรู้ว่าการตีพ่อนี้ไม่ดี ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้ทุบตีจริง แต่เขาก็เงื้อแขนขึ้นกำลังจะทำอาการนั้นแล้ว อย่างไรก็ตาม เข้าก็ไม่อาจยอมรับผิดได้ เพราะเขาถือว่าเรื่องที่เขาทะเลาะกับพ่อนั้นเขาไม่ผิด จิตสำนึกแก้ปัญหาให้เขาไม่ได้ ความรู้สึกขัดแย้งก็หนักหน่วงท่วมทับฝังลึกลงไป ในที่สุด การที่เขาเกิด อาการแขนขยับเขยื้อนไม่ได้นั้น เป็นด้วย

1.    จิตไร้สำนึกต้องการขอความเห็นใจจากพ่อ ด้วยอาการที่เขาขยับเขยื้อนแขนไม่ได้ เขาเกิดไม่สบาย มีอาการผิดปกติไปแล้ว มันจะช่วยให้พ่อเห็นใจเขาได้ เหมือนกับยกโทษให้โดยอ้อมโดยไม่ต้องพูดขอโทษ (และก็ไม่ต้องบอกว่ายกโทษ) แต่ที่แสดงออกมาอย่างนี้ จิตสำนึกไม่รู้ตัว จิตไร้สำนึกเป็นผู้ทำงาน และ

2.    เป็นการชดเชยความรู้สึกที่ว่าได้ทำผิด เหมือนว่าได้ลงโทษตัวเอง มีการลงโทษเสร็จไปแล้ว เพราะความคิดภายนอกถือว่าตัวทำถูกแล้ว ไม่ยอมไปขอโทษพ่อ ยังไปคบผู้ชาย ยังออกไปนอกบ้านตามเดิม แต่ในจิตส่วนหนึ่งมีความรู้สึกว่าที่ได้ทะเลาะกับพ่อ แสดงกับพ่ออย่างนั้นเป็นความผิด แล้วความรู้สึกขัดแย้งนี้ก็ลงลึกไปในจิตไร้สำนึก แล้วก็ชดเชยออกมา โดยแสดงอาการให้เห็นว่ามันได้ถูกลงโทษแล้ว เป็นอันว่าฉันได้ชดใช้ความผิดนั้นแล้วจะได้พ้นความรู้สึกขัดแย้งนี้ไปได้

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้ เด็กนั้นก็เลยขยับเขยื้อนแขนไม่ได้ทั้งๆ ที่ไม่มีโรคหรือความผิดปรกติทางร่างกายเลยสักนิดเดียวแพทย์ค้นหาเหตุแล้วไม่พบ

ปัจจุบันก็มีอย่างนี้บ่อยๆ คนที่เป็นโรคทางกาย มีอาการปวดศีรษะ หาสาเหตุไม่พบต่างๆ เหล่านี้ จิตแพทย์ที่ชำนาญจะต้องค้นหาเหตุทางจิตใจ นี้เป็นตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้ามองเผินๆ หรือมองช่วงยาวข้ามขั้นตอน ก็พูดถึงเหตุผลแค่ว่า จะตีพ่อ ต่อมาแขนที่จะตีพ่อก็เสียใช้ไม่ได้

 

ค. จิตทำงานตลอดเวลา และนำพาชีวิตไป

          รวมความว่า จิตไร้สำนึกของเราทำงานอยู่เสมอ สิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจแล้วมันไม่ลืม ถ้าได้ทำความชั่วอะไรสักอย่าง จิตก็ไปพัวพันอยู่ แล้วไปปรุงแต่งอยู่ข้างใน เช่น ชักพาให้จิตโน้มเอียงไปหาสภาพอย่างนั้นอยู่เรื่อย หรือปรุงแต่งความคิดวนเวียนอยู่กับเรื่องแบบนั้น

          สมมติว่าไปหักขาไก่ไว้ จิตก็จะสะสมความรู้สึกและภาพนี้ไว้ในจิตไร้สำนึก แล้วมันก็ปรุงแต่งของมันวนเวียนอยู่นั้นเอง ออกไปไม่ได้ จิตครุ่นคิดแต่เรื่องขาหักๆ ๆ แล้วจิตไร้สำนึกนั้นก็คอยโอกาสชักพาตัวเองไปหาเหตุการณ์ที่จะนำไปสู่การที่ตัวเองจะต้องขาหักหรือต่อไประยะยาวเมื่อไปเกิดใหม่มันก็เลยปรุงแต่งขาตัวเองให้พิการไปเลย เป็นต้น

          เป็นที่ยอมรับแล้วในทุกวันนี้ว่าจิตหรือความคิดของเรามีผลต่อร่างกายขนาดไหน เช่น กรณีการให้ยาหลอกกับคนไข้ มีรายงานการวิจัยมากมายที่ให้ยาที่ทำจากแป้งเปล่าๆให้คนไข้กินแล้วกลุ่มที่บอกว่ายาตัวนี้มีสรรพคุณดีมากนั้นมีอาการดีขึ้น หรือในสมัยสงครามโลกนั้นมีการทดลองมากมายที่แสดงให้เห็นว่าจิตนั้นทำอะไรกับร่างกายได้บ้าง เช่น การนำน้ำกรดมาราดลงบนตัวสัตว์แล้วทำการปิดตานักโทษ โดยหยดน้ำธรรมดาลงบนร่างกายนักโทษ พบว่าหลายคนมีอาการพองแดง เป็นผื่น หรือบางรายถึงกับเสียชีวิต เป็นต้น

          นี้เป็นการอธิบายรวบรัดให้เห็นทางเป็นไปได้ต่างๆ ซึ่งในทางจิตวิทยาสมัยใหม่ก็เห็นว่ามีความสัมพันธ์กันอยู่ แต่ผลที่สุดมันเป็นเรื่องเหตุปัจจัยในกระบวนการของจิต เป็นเรื่องของกรรมนี้เอง นี้เป็นเพียงตัวอย่างให้เห็นอย่างผิวเผิน ขณะที่เรื่องจิตนี้เรายังจะต้องศึกษาให้ละเอียดยิ่งขึ้นไป ไม่ควรผลีผลามเอาความคิดเหตุผลอย่างง่ายๆ ของตนไปตัดสินเหตุผลที่อยู่ในวิสัยอีกระดับหนึ่งที่เลยขึ้นไป หรือสรุปเอาเรื่องที่สลับซับซ้อนลงไปอย่างง่ายๆ

          พร้อมกันนั้นก็ให้เห็นอีกอย่างหนึ่งว่า วิชาการสมัยใหม่บางอย่างอาจจะมาช่วยอธิบายสนับสนุนให้คนสมัยนี้เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าได้เป็นอย่างดี และเดี๋ยวนี้นักจิตวิทยาสมัยใหม่อย่างนักจิตวิเคราะห์หลายคน ก็มาเลื่อมใสในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา แล้วเอาไปใช้ในการศึกษาเรื่องจิตใจและแก้ปัญหาโรคจิต

          เท่าที่พูดแทรกเข้ามาในตอนนี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตของคน หลักกรรมหรือกฎแห่งกรรมก็ทำงานสัมพันธ์กับจิตใจนั่นเองคือสัมพันธ์กับจิตตนิยาม จิตตนิยามกับกรรมนิยามต้องไปด้วยกัน ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ในที่นี้เป็นเพียงต้องการชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เราคิดว่าเป็นอำนาจเร้นลับมหัศจรรย์นั้น ก็เป็นเรื่องธรรมดานี่เองซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย มีความสัมพันธ์สืบเนื่องโยงกันอยู่ให้เห็นได้ เป็นแต่ว่าตอนนี้เรายังไม่มีความสามารถที่จะแยกแยะเหตุปัจจัยนั้นออกมาให้เห็นชัดเจนเท่านั้นเอง

         

 

การปฏิบัติที่ถูกต้องในการทำกรรม

เป็นอันว่า ถ้าชาวพุทธเราจะฉลาดรอบคอบในการทำกรรมก็จะต้องทำให้ถูกทั้ง 2 ขั้น

          ขั้นที่ 1 ตัวกรรมนั้นต้องเป็นกรรมดี ไม่ใช่กรรมชั่ว แล้วผลดีขั้นที่  1 ก็เกิดขึ้น จิตใจของเราก็ได้รับผลดีที่เป็นความสุข มีความสุขวิบาก เป็นต้น ตลอดจนผลดีที่ออกมาทางวิถีชีวิตทั่วๆ ไปเช่น ความนิยมนับถือต่างๆ เรียกว่ามีดีเข้ามาในตัวอยู่แล้ว

          ขั้นที่ 2 เราจะให้การงานกิจการของเราได้ผลดีมากดีน้อย เราจะต้องพิจารณาเรื่องคติ อุปธิ กาล ปโยค เข้ามาประกอบด้วย ต้องพิจารณา 2 ชั้น ไม่ใช่คิดจะทำดีก็ทำดีดุ่มๆไป

อย่างไรก็ตาม คนบางคนอาจจะเอาเรื่อง คติ อุปธิ กาล ปโยค เข้ามาใช้โดยวิธีฉวยโอกาส เช่น กาลสมบัติ ทำการกักตุนสินค้า ในช่วงคนอื่นกำลังขาดแคลนเพื่อให้ได้กำไรมาก อย่างนี้เรียกว่ามุ่งแต่ผลชั้นที่ 2 แต่ผลชั้นที่ 1 ไม่คำนึงก็เป็นสิ่งเสียหายและเป็นข้อด้อยในทางกรรม

ฉะนั้น ในฐานะที่เป็นชาวพุทธจะต้องมองผลชั้นที่ 1 ก่อนคือจะทำอะไรก็หลีกเลี่ยงกรรมชั่ว และทำกรรมดีไว้ก่อน เมื่อพื้นฐานดีแล้วก็มาคำนึงถึงชั้นที่ 2 เป็นผลสืบเนื่องภายนอกซึ่งขึ้นต่อ คติ อุปธิ กาล ปโยค ด้วยก็จะทำให้งานของตนได้ผลดีโดยสมบูรณ์

สมมติว่า 2 คน ทำงานอย่างเดียวกัน โดยมีคุณสมบัติเหมือนกัน ดีเหมือนกันทั้งคู่ แต่ถ้าร่างกายคนหนึ่งดี อีกคนหนึ่งไม่ดี คนที่ร่างกายไม่ดีก็เสียเปรียบ และต้องยอมรับว่าตนมีอุปธิวิบัติ

เมื่อรู้อย่างนี้ก็ต้องปรับปรุงตัว ถ้าแก้ไขเรื่องร่างกายไม่ได้ ก็ต้องเพิ่มพูนคุณสมบัติของตนในด้านอื่นให้ดียิ่งขึ้น จนกระทั่งมาชดเชยคุณสมบัติในด้านร่างกายได้ เห็นได้จากมีคนพิการมากมายที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่มัวแต่ท้อใจ ว่าต้องรับกรรม ทำดีไม่ได้ดี

อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญก็คือต้องการเชื่อมโยงให้เห็นความเป็นเหตุเป็นปัจจัย เพื่อเราจะไม่ใช่พูดแต่พียงว่ามีเหตุอันนี้ เกิดขึ้นในที่แห่งหนึ่ง ในเวลาหนึ่งนานมาแล้ว สัก 20 – 30 ปี ต่อมาเกิดผลดีอันหนึ่ง แล้วเราก็จับมาบรรจบกัน โดยเชื่อมโยงเหตุปัจจัยไม่ได้ ซึ่งแม้จะเป็นจริง ก็มีน้ำหนักน้อย ไม่ค่อยมีเหตุผลให้เห็นคนก็อาจจะไม่ค่อยเชื่อ

 

ท่าทีที่ถูกต้องต่อกรรมเก่า

ปัญหาเกี่ยวกับเรื่อง บุพเพกตวาท เช่น ทารกที่เกิดมา บางครั้งมีโรคที่หาสาเหตุไม่ได้ หรือถือกำเนิดในครอบครัวที่ขาดแคลน ถ้าไม่อธิบายในแนวบุพเพกตาทแล้ว เราควรอธิบายอย่างไร

ลัทธิบุพเพกตวาท ถือว่าเรื่องอะไรๆก็เป็นเพราะกรรมเก่าทั้งสิ้น เอาตัวกรรมเก่าเป็นเกณฑ์ตัดสินโดยสิ้นเชิง ฉะนั้นจะทำอะไรในปัจจุบันก็ไม่มีความหมาย เพราะแล้วแต่กรรมเก่า ต่อไปจะเป็นอย่างไรก็ต้องแล้วแต่ให้กรรมเก่าจะให้เป็นไป ทำอะไรก็ไม่มีประโยชน์ นี้คือ ลัทธิกรรมเก่า

แต่ชาวพุทธศาสนา กรรมเก่านั้นท่านก็ถือว่าเป็นกรรมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วมีผลมาถึงปัจจุบัน แต่ชาวพุทธไม่จบตันอับจนอยู่แค่กรรมเก่า

ทีนี้มาถึงเรื่องที่เกิดมาแล้วลำบาก อธิบายได้ด้วยหลักกรรมนิยามได้ด้วย  และหลักนิยามอื่น ด้วย เช่น ในด้านพีชนิยาม ว่า  ในส่วนกรรมพันธุ์พ่อแม่ เป็นอย่างไร เพราะมีส่วนในตัวกำหนดด้วย ถ้ามีความบกพร่องในเรื่องบางอย่าง เช่น เป็นโรคเบาหวาน ลูกก็มีทางเป็นได้ ส่วนกรรมนิยาม ก็อาจจะอธิบายในแง่ความเหมาะสมสอดคล้องกันของคนที่จะมาเกิด กับคนที่มาเกิดเป็นลูกของคนนี้ และมีความบกพร่องตรงนี้ โดยมีพีชนิยามเข้ามาประกอบช่วยกำหนด หรือในกรณีที่คนสมัยนี้มักจะแต่งงานมีลูกเมื่ออายุมาก ก็มีผลทำให้ลูกนั้นมีความผิดปกติ หรือความผิดปกตินั้นบางครั้งอาจไปตกอยู่ในรุ่นหลานเหลนก็เป็นได้

ส่วนในกรณีที่ครอบครัวขาดแคลน ถ้ายกให้กรรมเก่าก็ตัดตอนไป แต่เมื่อเกิดมาแล้ว มีทุนเก่าที่ดีมาน้อย ก็ยิ่งต้องพยายามทำกรรมดีให้มากขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อจะปรับแก้ชดเชยให้ผลต่อไปข้างหน้าดี ไม่ใช่คิดว่าทำกรรมมาไม่ดีก็ต้องปล่อยแล้วแต่กรรมเก่าจะให้เป็นไป ถ้าคิดอย่างนั้นก็ไม่ถูก

ในทางที่ถูก จะต้องคำนึงให้ครบทั้งกรรมเก่าและกรรมใหม่ เมื่อกรรมเก่าที่มีมาไม่ดี ก็ยิ่งทำให้จะต้องมีกำลังใจเพียรพยายามแก้ไขปรับปรุง เช่น ถ้าหากคนที่เขาเกิดมาร่ำรวยแล้วเขามีความเพียรพยายามนี้เท่านี้ สามารถประสบความสำเร็จก้าวหน้าได้ เราเกิดมาในตระกูลที่ขาดแคลน เราก็ยิ่งต้องมีความเพียรพยายามให้มากกว่าเขาอีกมากมาย เราจึงจะมีชีวิตที่เจริญก้าวหน้าได้ ต้องตั้งจิตอย่างนี้จึงจะถูกต้อง

ในส่วนที่เป็นกรรมเก่านั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ ชื่อว่ากรรมเก่า กรรมเก่าก็คือ สภาพชีวิตที่เรามีอยู่ในปัจจุบันขณะนี้ สภาพชีวิตของเราก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นอยู่ มีอยู่ นี้คือ กรรมเก่า คือผลจากกรรมเท่าที่เป็นมาก่อนหน้าเวลานี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะได้ทำอะไรมาสั่งสมอะไรมาก็รวมอยู่ที่นี้

กรรมเก่ามีเท่าไร ก็เรียกว่ามีทุนเท่านั้น จะทำงานอะไรก็ตามจะต้องมองดูทุนในตัวก่อน เมื่อรวมทุนรู้กำลังของตัวถูกต้องแล้ว ก็เริ่มทำงานต่อไปได้ ถ้าเรารู้ว่าทุนของเราน้อยแพ้เขา เราต้องพิจารณาหาวิธีที่จะลงทุนให้ได้ผลดี บางคนทุนน้อยแต่มีวิธีการทำงานดี รู้จักลงทุนอย่างได้ผล กลับประสบความสำเร็จดีกว่าคนที่มีทุนมากก็มี

ฉะนั้น แม้ว่ากรรมเก่าอาจจะไม่ดี คือร่างกายตลอดจนสภาพชีวิตทั้งหมดของเราไม่ดี แต่เราก็ฉลาดและเข้มแข็งไม่ท้อถอยเราก็พยายามปรับปรุงตัว หาวิธีการที่ดีมาใช้ ถึงแม้จะมีทุนไม่ค่อยดี มีทุนน้อย ก็ทำให้เกิดผลดีได้ กลับบรรจุผลสำเร็จ ก้าวหน้ายิ่งกว่าคนที่ทุนดีด้วยซ้ำไป

ส่วนคนที่มีทุนดีนั้น หากรู้จักใช้ทุนดีของตัว ก็ยิ่งประสบความสำเร็จมาขึ้น แต่บางคนทุนดีไม่รู้จักใช้ มัวเมาประมาทเสียก็หมดทุน กลับยิ่งแย่ลงไปอีก

 

ไม่สำคัญว่าคุณมาจากไหน แต่สำคัญที่ว่าคุณจะไปไหน

 

ดังนั้น การปฏิบัติที่ถูกต้องจึงไม่ใช่มัวท้อแท้หรือทรนงอยู่กับทุนเก่าหรือกรรมเก่า กรรมเก่านั้นเป็นทุนเดิมซึ่งจะต้องกำหนดรู้แล้วพยายามแก้ไข ปรับปรุง ส่งเสริมเพิ่มพูนให้ดีให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป ฉะนั้นก็ไม่ต้องสนใจว่าคุณเกิดมาเป็นอย่างไร สำคัญที่ว่าต่อไปคุณจะเป็นคนอย่างไร

 

 

ความคิดเห็นจากการบวช

 

แนวทางของพระพุทธศาสนาเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลศ คือ

  1. ธรรมะ หมายถึง ข้อความบำเพ็ญให้มากขึ้นในจิตใจ
  2. วินัย (ศีล) หมายถึง กฎข้อบังคับที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติธรรมะได้บังเกิดผลอย่างเต็มที่

เมื่อแรกบวชนั้นมีปัญหาข้องใจเกี่ยวกับศีลและวินัยของสงฆ์มากมายจนเกิดการต่อต้านในจิตใจ เช่น

-          ความประพฤติของสงฆ์ทุกวันนี้เหมาะสมหรือไม่

-          ศีลบางข้อเคร่งมาก ห้ามคุยกับสีกาเกิน 6 คำ ห้ามหัวเราะ ห้ามรับประทานของที่ไม่มีคนประเคน ห้ามจับเงิน ห้ามซื้อขายแลกเปลี่ยน เป็นต้น หลายๆข้อเป็นเหมือนแค่มารยาททำไมบางข้อปัจจุบันอนุโลมให้ทำแต่บางอย่างไม่อนุโลม ทำไมไม่เพิ่มข้อห้ามให้เข้ากับยุคสมัยทำไม

-          ห้ามฆ่าสัตว์แต่ไม่ห้ามกินสัตว์

-          ห้ามดื่มเหล้าแต่ไม่ห้ามสูบบุหรี่

เชื่อมั่นในศาสนาพุทธมาตลอดว่ามีหลักมีเหตุผลที่ไม่มีสิ่งใดขัดแย้งได้ แต่เมื่อเจอตั้งแต่ศีลห้า

ห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร แต่ไม่ห้ามการกินเนื้อสัตว์ อย่างนี้ไม่เท่ากับว่าเป็นการ ปากว่าตาขยิบหรือ แม้จะอ่านหรือได้ฟังเหตุผลจากข้อวิเคราะห์ต่างๆ คือข้อ ปาณาติปาตา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการทำลายชีวิตสัตว์ ต้องเว้นการกระทำ 3 อย่าง คือ ฆ่า ทำร้ายร่างกาย ทรกรรม  โดยมีองค์ประกอบ 5 อย่างคือ สัตว์มีชีวิต รู้ว่ามีชีวิต จิตคิดค่าให้ตาย พยายามฆ่า สัตว์ตายจากการพยายามฆ่า โดย พ..ปิ่น มุทุกันต์ ได้อธิบายว่า เนื้อสัตว์ที่ปราศจากชีวิตแล้วเขาแล่มาขาย จำหน่ายจ่ายแจกกันมาเป็นทอดๆ ย่อมมีสภาพเป็นวัตถุชิ้นหนึ่ง จะทิ้งก็เน่า จะกินก็อิ่มไม่มีเชื้อบาป เชื้อกรรมติดอยู่ในนั้นเลย จึงไม่ห้ามการกินเนื้อสัตว์  แต่ถ้าลองเปรียบเทียบว่าคนขายยาเสพติดผิดกฎหมาย คนเสพก็ผิดเช่นกัน แต่ถ้าวางกฎการวินิจฉัยเช่นเดียวกัน จะบอกว่าผลิตและขายยาเสพติดนั้นบาป แต่การเสพยาไม่บาปเช่นนั้นหรือ เพราะถ้าไม่มีคนซื้อย่อมไม่มีคนผลิต ถ้าเราไม่กินเนื้อก็ไม่มีใครเลี้ยงและไม่มีใครฆ่า

          การบวชเป็นการตัดกิเลสแต่เรื่องให้โทษร้ายแรงและชัดเจนอย่างบุหรี่กลับยอมให้สูบได้อย่างไร เป็นพระยังเลิกไม่ได้แล้วจะไปสอนญาติโยมได้อย่างไร แต่เมื่อได้ศึกษาแล้วเพราะสุรานั้นทำให้เสียอาการเสียสติ ทำให้ไปละเมิดศีล 4 ข้อแรก แต่บุหรี่ไม่เป็น

 แต่ท่านพุทธทาสได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หมาก พลู บุหรี่ น้ำชา ฯลฯ และสิ่งอื่นบางอย่าง ที่เป็นของเสพติดนั้น ไม่เป็นของจำเป็นแก่ร่างกาย กลับให้โทษ เสียด้วยซ้ำ แม้ว่าในหมู่สงฆ์ได้เคยเสพติดกันมาแต่โบราณกาล ชวนกันสมมติ เป็นของไม่มีโทษไปแล้วก็ตาม (สมมติ หมาก ให้เป็นเภสัช, พลู เป็นคิลานเภสัช, ย่อเรียก แต่เพียงว่า ศิลา, บ้านนอก เรียกเพี้ยนเป็น เภลา) ถึงกระนั้น มันก็ยังทำหน้าที่แก่ผู้เสพ คือ ทำให้ติดตามธรรมชาติเดิมของมัน อยู่นั่นเองบัดนี้ การศึกษา เจริญมากพอ  ที่จะทำให้ เรารู้จักคุณ และโทษ ของสิ่งบางอย่างแล้ว ไม่ใช่สมัยงมงาย พระสงฆ์ เป็นผู้ถือประทีป นำทาง ของมหาชน เป็นผู้ให้แสงสว่าง แก่เขา ควรทำเป็นตัวอย่าง

ขอให้พระสงฆ์ทั้งสิ้น จงพร้อมใจกัน เลิกยาเสพติด อันสืบปรัมปรา มานี้เสีย เพื่อเห็นแก่ ความสุข ของตนเอง และความสะดวก ในการบำเพ็ญ สมณธรรม เห็นแก่สุข ของผู้อื่น คือ ชาติประเทศ เห็นแก่ธรรม และ แก่เกียรติยศ อันสูงสุด ของพระสงฆ์เอง ขอคณะสงฆ์ จงออกกฏ ให้ผู้จะ เข้ามาบวช เลิกยาเสพติด เหล่านี้เสียก่อน จึงจะรับบวชให้ แม้พวกเก่า จำเป็นต้องเสพอยู่ ก็ไม่น่าจะถือเป็นแง่ สำหรับค้าน เพราะกฏหมาย บางอย่างในโลก เขายกเว้นเฉพาะ คนบางพวก เช่น ผู้ที่เกิดหรือมีอยู่ก่อน ออกกฏหมายนั้นๆ ก็ยังมี แต่ถ้าเลิกได้ พร้อมกันนั่นแหละ เป็นการประเสริฐ สุดที่จะเปรียบได้ เพราะส่อน้ำใจ อันเข้มแข็ง เหนือกิเลส กลุ้มรุม คือ ความเงี่ยนนั้น ได้โดยทั่วหน้ากัน

แท้ที่จริง ผู้มีความรู้ เป็นอันมาก ลงความเห็นว่า ถ้าผู้ใด มีกำลังใจ อ่อนแอ จนแม้แต่ เลิกยาเสพติด เล็กน้อยเหล่านี้ ก็ไม่ได้แล้ว เขาจะปฏิบัติธรรมอันสูง ของพระพุทธเจ้า ซึ่งต้องการกำลังใจเข็มแข็ง ถึงกับให้อธิษฐานได้ว่า ยอมให้เลือดเนื้อแห้งไป ไม่ยอม เลิกความเพียร ก่อนแต่ได้บรรลุ ผลอันสูงสุด นั้นอย่างไรได้

ขอพระสงฆ์ จงเลิกยาเสพติด นี้เถิด มหาชน จะได้เลิกตาม บิดามารดา จะสอนบุตรน้อยๆ ได้ง่ายๆ ว่า เจ้าจงดูอย่างพระสงฆ์เถอะลูก โลกจะได้เปล่งเสียงกึกก้องพร้อมกันว่า พุทธบริษัท ไม่เลวเลย ศิษย์พระโคดม ไม่ใช่งมงายดอก เพราะเขาเว้น สิ่งที่ถึงคราว ควรจะเว้นได้ ด้วยใจอันเข้มแข็ง

ประชาชนทั่วไปย่อมไม่รู้ว่าศีลพระที่มีสองร้อยกว่าข้อนั้นมีอะไรบ้าง เมื่อมาได้ศึกษากลับพบว่าเกี่ยวกับจีวรไปแล้วหลายสิบข้อ เป็นข้อห้ามกับภิกษุณีก็อีกหลายสิบข้อ เป็นมารยาทก็อีกหลายสิบข้อ เช่น ห้ามเคี้ยวเสียงดัง เคี้ยวอ้าปาก กินแก้มตุ่ย หรือนั่งเท้าแขน นั่งรัดเข่า นั่งไกวตัว ถ้าเช่นนี้ผู้ดีหลายๆคนคงมีศีลเยอะกว่าพระเสียอีก แถมพอไปดูที่มาที่ไปมีเหตุอะไรทีหนึ่งก็ตั้งห้ามมาข้อหนึ่ง บางข้อ เช่น ภิกษุในมัชฌิมประเทศ 15 วันจึงอาบน้ำได้หนหนึ่ง ถ้ายังไม่ถึงอาบน้ำต้องปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีเหตุจำเป็น เนื่องจากสมัยนั้นพระเจ้าพิมพิสาร ต้องการจะเสด็จลงสนานพระเศียรเกล้าในแม่น้ำตโปทา แต่มีภิกษุสรงน้ำอยู่จึงต้องรอจนมืดจึงได้อาบ แล้วเสด็จกลับเมืองไม่ทันประตูเมืองปิดต้องประทับพักแรมอยู่ข้างนอก จึงตั้งข้อห้ามไม่ให้อาบน้ำ แต่บางตำราบอกว่าเพราะน้ำขาดแคลน มูลเหตุแห่งการบัญญัติพระวินัย พระวินัยนั้น พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงบัญญัติไว้ล่วงหน้า ต่อเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น เพราะมีภิกษุรูปใดรูปหนึ่งทำความเสียหายอันนำมาซึ่งความโจษจันติเตียน ผิดหลักกฎหมายบ้านเมือง และผิดหลักศีลธรรมอันดีงาม จึงบัญญัติเพื่อห้ามประพฤติเช่นนั้นอีก เรียกว่า นิทานต้นบัญญัติ โดยหลังจากที่ตรัสรู้แล้ว 12 ปี พระพุทธองค์จึงเริ่มบัญญัติพระวินัยสิกขาบทที่ 1 ห้ามภิกษุเสพเมถุน เพราะทรงปรารภเหตุการณ์อันมัวหมองที่เกิดขึ้นในคณะสงฆ์เพราะ สุทิน กลันทบุตร เสพเมถุนกับอดีตภรรยาตน ทรงกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือล่วงละเมิด ซึ่งเรียกว่า ปรับอาบัติ จึงดูว่ามีศีลเยอะเกินเหตุหลายๆข้อตั้งมาก็ต้องมาผ่อนปรนเปลี่ยนแปลง หลายๆข้อเคร่งมากแต่เป้าหมายเดิมของพระพุทธองค์ก็เพื่อให้ภิกษุมีระเบียบวินัยและกริยาที่งดงามให้สำรวมและป้องกันการเกิดกิเลส เช่น การห้ามหัวเราะ ห้ามอยู่ใกล้สตรี ห้ามมอง ห้ามสัมผัส แต่ในยุคสมัยปัจจุบันคงเป็นการทำได้ยากเช่น ห้ามเทศนากับสตรีเกิน 6 คำ ห้ามจับเงิน ห้ามใช้เงินแลกเปลี่ยน เป็นต้น

          เมื่อได้เข้ามาศึกษาจึงได้แนวคิดที่ว่า ศีล คือการไม่เบียดเบียนกัน ไม่เห็นแก่ตัว ทำให้ประพฤติดีงาม กิริยามารยาทดี  เพราะหลายๆข้อนั้นเป็นเหมือนมารยาท ซึ่งแต่ละสังคมก็มีความแตกต่างกัน บางประเทศทำสิ่งนี้แล้วดีงานแต่บางประเทศกลับบอกว่าน่ารังเกียจ เช่นการเรอ ในบางที่เป็นการให้เกียรติผู้ทำอาหารว่าทำได้อร่อย เราจึงกินจนอิ่มเป็นเหมือนคำชมถ้าไม่เรอหลังอาหารจะเป็นการดูถูก แต่ในอีกหลายประเทศก็เป็นกิริยาที่น่ารังเกียจ ฉะนั้น ศีลควรจะปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมโดยทำการเปลี่ยนแปลงในเจตนาที่ดี ไม่ใช่ทำเพื่อความสบายของตน โดยศีลทุกข้อตั้งขึ้นมาเพื่อจะทำการกำจัดกิเลส ฝึกตนให้เป็นผู้อยู่ง่าย มี่กิริยามารยาทที่ดี เพื่อจะเป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิ และปัญญา

เราคิดว่าน่าจะปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยได้เพราะในปัจจุบัน ถ้าต้องระวังตัวห้ามเทศนากับสตรีเกิน 6 คำน่าจะทำได้ลำบาก หรือรับหรือใช้เงินไม่ได้เลย แต่กลับกลายเมื่อเกิดความยืดหยุ่นจึงถูกพวกหวังผลประโยชน์เข้ามากอบโกย โดยเลือกจะตีความข้อบังคับต่างๆเข้าข้างตนเอง เพราะพวกคนพาลเหล่านี้ไม่มีความสำนึกชั่วดี ใช้ชีวิตสุขสบาย ได้รับลาภสักการะ แถมยังตั้งตนเป็นเจ้าสำนักคิดคำสอนเอง ไม่สนพระวินัย ซึ่งทางคณะสงฆ์และฆราวาสน่าจะมีการตรวจสอบและหาทางขับไล่คนเหล่านี้ออกไปโดยยึดหลักจากพระธรรมคำสอน ในหลักข้อธรรมที่บรรพชิตควรพิจารณาเนื่องๆ 10 เช่น ในข้อ บรรพชิตควรพิจารณาเนื่องๆว่า ความเลี้ยงชีวิตของเราเนื่องด้วยผู้อื่น เราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย ต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งนั้น ยินดีในที่สงัด ถือสันโดษ ยินดีด้วย ผ้านุ่ง ผ้าห่ม อาหาร ที่นอนที่นั่งและยา ตามมีตามได้  หรือในข้อ กถาวัตถุ 10 ที่ให้ควรพูด ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความปรารถนาน้อย ให้สันโดษยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ ชักนำให้สงัดกายสงัดใจ ไม่ให้ระคนด้วยหมู่ ปรารภความเพียร อยู่ในศีล ทำใจให้สงบ เกิดปัญญา ทำใจให้พ้นกิเลส ทำให้เกิดความรู้ความเห็นในความที่ใจพ้นจากกิเลส ซึ่งนอกจากพระสงฆ์ต้องพูดแล้วยังต้องปฏิบัติเพื่อฝึกตนและเป็นตัวอย่างที่ดี โดยเฉพาะความมักน้อย ได้แก่การที่พอใจในปัจจัย 4  เพียงพอที่จะใช้สอยบริโภคพอยังอัตภาพให้เป็นไปเท่านั้น ถึงได้มากก็ไม่เก็บหอมรอมริบไว้ ย่อมเฉลี่ยส่วนที่ตนได้มานั้นให้แก่ผู้อื่น ซึ่งพิจารณาจากศีลแล้วการตีความในทุกๆข้อ เช่น ในศีลข้อเว้นจากนั่งนอนเหนือเตียงตั่ง ม้าที่มีเท้าสูงเกินประมาณและที่นั่งที่นอนใหญ่ ภายในมีนุ่นและสำลีและเครื่องปูลาดที่วิจิตรด้วยเงินและทองต่างๆ ซึ่งอาจจะแบ่งคนได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ได้แก่

1.    ปฏิบัติตามศีล เพื่อการฝึกตน เมื่อเข้าใจถึงจุดประสงค์ของศีลข้อนี้ก็ปฏิบัติพร้อมนำไปใช้กับเรื่องอื่นๆ ในชีวิต การมีเครื่องใช้พอจำเป็น กุฏิมีแค่พอพักหลับนอนได้ เครื่องใช้อำนวยความสะดวกที่ไม่ได้เกิดงานก็ไม่ต้องการ

2.    ปฏิบัติตามศีลตามตัวอักษร ทำแค่เพื่อเป็นพิธี ไม่ได้ต้องการฝึกตน บอกห้ามนอนเตียง เก้าอี้สูงก็ไม่ทำ แต่ไม่สนใจตีความให้ลึกลงไปถึงความต้องการให้เป็นผู้มีความเป็นอยู่อย่างมักน้อย จึงมี กุฏิหลังใหญ่โต มีเครื่องปรับอากาศ เครื่องเสียง ทีวีจอยักษ์ แล้วก็บอกว่าไม่ได้ห้ามไว้

3.    ไม่สนใจศีล ทำตามใจ มีเหตุผลรองรับความโง่ของตน คิดว่าการมีกิเลสมากเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ

ขณะเราบวชนั้นมีพระรูปหนึ่งอาพาธ เป็นโรคเส้นเอ็นกระดูกสันหลังอักเสบ และลามไปทั่วทุกข้อต่อ ไม่สามารถบิณฑบาตได้เพราะการบิณฑบาตต้องถอดรองเท้า เมื่อถอดรองเท้าเดินจะเกิดความเจ็บปวด แต่ถ้าใส่รองเท้าเดินก็จะพอเดินได้ในระดับหนึ่ง พระองค์นั้นมีเจตนาที่ดีต้องการปฏิบัติหน้าที่ของสงฆ์คือการบิณฑบาตจึงปรึกษา ขออนุญาติพระหัวหน้าคณะแต่ก็ได้รับการปฏิเสธเพราะบอกว่าเป็นการกระทำที่ชาวบ้านติฉินว่าไม่เหมาะสม เราจึงเถียงว่าถ้าถึงเวลาศาสนาพุทธเผยแพร่ไปยังต่างประเทศที่มีภูมิอากาศหนาว มีหิมะตก จะทำอย่างไร พระอาจารย์จึงกล่าวว่าด้วยศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในประเทศแถบเนปาล อินเดียตอนเหนือก็มีหิมะตก พระเหล่านั้นก็ยังเดินเท้าเปล่าได้ เป็นการฝึกตน แต่อยากให้ลองวิเคราะห์แยกกันระหว่างพระธรรมกับพระวินัย

เคยอ่านถึงนิทานเซนเรื่องหนึ่ง กล่าวถึงพระสองรูปเดินมาเจอ สตรีนางหนึ่งไม่สามารถข้ามลำธารได้พระรูปหนึ่งจึงอุ้มสตรีนางนั้นข้ามฝั่งไป พระอีกรูปหนึ่งเห็นถึงความไม่เหมาะสมที่จะถูกตัวสตรีจึงเก็บความอึดอัดไว้จนวันหนึ่งก็มากล่าวตำหนิ ติเตียนว่าการกระทำของท่านในวันนั้นไม่เหมาะสม พระรูปที่อุ้มสตรีนางนั้นก็บอกว่า  “เราวางสตรีนางนั้นไว้แต่ที่ริมฝั่งแล้ว ท่านยังยึดถือ อุ้มมาถึงวันนี้เลยหรือ” ฉะนั้นถ้าดูพระวินัยหลายๆข้อก็มีข้อยกเว้น โดยเฉพาะอาการป่วย เช่น ถ้ามีอาการป่วย สามารถให้สตรีถูกตัวเพื่อพยาบาลได้ หรือสามารถฉันหลังเที่ยงถ้าต้องมีการฉันยาได้ การใส่รองเท้าแม้จะผิดพระวินัย แต่ก็น่าจะถูกพระธรรมคือการมีเจตนาจะไปลำบากเพื่อฝึกตน ไม่เลือกที่จะอยู่รอฉันสบายๆ แต่มาดูกับพระสงฆ์หลายๆรูปที่ปฏิบัติตามพระวินัย แต่กุฏิติดแอร์ มีเครื่องเสียง เครื่องซักผ้า เครื่องอำนวย ความสะดวก ทุกสิ่ง แล้วบอกว่าไม่มีห้ามไว้ในพระวินัย แต่กลับไม่พิจารณาถึงพระธรรมที่บอกให้ฝึกตน ทำงาน มักน้อย

‘พระเอกชัย สิริญาโณ เขียนไว้ในหนังสือ แสงสว่างตรงกลางใจถึงเรื่องการที่มีญาติโยมถามถึงการที่บอกว่าพระป่าดีกว่าพระบ้าน ปัจจัยก็ไม่จับ ฉันก็มื้อเดียว แต่พระบ้านก็บอกต่อหน้าญาติโยมบางท่านทำเป็นไม่จับแต่พอโยมกลับ เดินไม่ทันพ้นเขตวัดไป กลับรีบเปิดซอง นำปัจจัย ออกมานับทันที บางท่านถึงเวลาฉัน ญาติโยมมาพบก็ไม่ฉัน บอกว่าสำหรับอาตมานั้นเป็นเรื่องเล็ก แต่พอญาติโยมลากลับ แทบจะเอาอาหารเข้าปากไม่ทัน แม้จะเลยเวลาก็ไม่สนใจ นี่ไม่ได้หมายถึงพระป่า หรือพระบ้าน แต่หมายถึงพระที่ยังยึดถือพระวินัยแบบฉาบฉวยไปวันๆ ที่ทำแล้วก็ทำให้ออกมาจากหัวใจ ขณะทำรู้สึกอิ่มใจ อย่าได้แต่ทำเป็นแสดงให้ญาติโยมดู

ท้ายสุดเราจะเห็นได้ว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ปัจจัยได้หรือไม่ได้ แต่มันอยู่ตรงที่ใจ ที่ไม่ยอมปรับให้เข้ากับสถานการณ์ที่จะต้องเผชิญ ถ้าจับเงิน ซื้อของไม่ได้ก็ไม่ต้องจับ ไม่ต้องอยากได้ สุดท้ายก็ไม่ต้องซื้อ แต่ถ้ามัวแต่เคร่งไม่มีเด็กวัดก็ไม่ออกไปทำกิจเพราะไม่สามารถเดินทาง หรือทำอะไรได้

คนส่วนใหญ่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นตรงหน้ามักจะไม่ยอมที่จะปรับใจ แต่กลับเลือกที่จะแก้ไขตามความอยากความรู้สึกนึกคิด หรือระดับของสติปัญญาในช่วงนั้นๆ เรื่องการไม่จับปัจจัย ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเงิน ก็เพื่อละต่อความเสี่ยงที่ใจจะไปยึดกับทรัพย์สินเงินทอง ไม่ใช่ไม่จับเงิน แต่เห็นภิกษุรูปอื่นได้ปัจจัย ก็เกิดจิตอยากจะได้ อยากจะมีบ้าง เวลาญาติโยมเขียนใบปวรณาถวายปัจจัย พระท่านไม่จับเงินก็จริง แต่ตาก็มองว่าตัวเลขที่โยมเขียนลงไปในกระดาษนั้น ตัวเองได้เท่าไหร่ เกิดความพอใจ และไม่พอใจขึ้น คราวนี้กิเลสไปอยู่ที่ตัวเลขแล้ว ถึงจะไม่ได้จับเงินก็ตาม อย่างนี้สู้ภิกษุรูปที่จับปัจจัยแล้วนำไปใช้เพื่อประโยชน์ต่อศาสนาที่แท้จริงโดยปราศจากอกุศลจิตในใจไม่ได้หรอก

          มีอีกเรื่องในขณะที่อาตมากำลังสนทนาธรรมในห้องนั้นได้เปิดรายการธรรมะทิ้งไว้ มีพระอาจารย์ท่านหนึ่งกำลังบรรยาย ท่านพูดว่าเราบรรยายธรรมมาตั้งหลายปี ไม่เห็นจะต้องใช้คอมพิวเตอร์หรือว่ามีอะไรเราก็พูดของเราได้ กระเป๋า ย่าม โทรศัพท์เราก็ไม่ใช้ให้มันเป็นภาระเปล่าๆ เมื่อญาติโยมได้ฟังถึงตรงนี้ หลายท่านอาจคิดในใจว่า พระท่านเคร่งดี แต่เราหากฟังด้วยปัญญา เราจะเห็นว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรที่สามารถสร้างภาระ หรือทำให้เรารู้สึกลำบากใจหากเราไม่เผลอใจไปยึดมั่นถือมั่น จนกลายเป็นตัวตนขึ้นมา

เคยมีนักปฏิบัติชาวต่างชาติได้ถามว่าประเทศไทยไม่ค่อยพัฒนา เพราะนับถือพระพุทธศาสนาใช่หรือไม่อาตมา ถามว่าทำไม เขาบอกว่า เพราะพระพุทธศาสนาสอนให้เราว่าเฉย นี่เป็นการเข้าใจผิดอย่างรุนแรง คำว่าวางเฉย ไม่ได้หมายถึงไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องมี ไม่ต้องใช้ ให้อยู่แบบเปล่าๆ เปลือยๆ แต่การวางเฉยในพระพุทธศาสนานั้น หมายถึงการที่เราเป็นอิสระจากการยึดมั่นถือมั่น ไม่ว่าเราจะมีหรือไม่จะใช้หรือไม่ใช้ จะต้องไม่เกิดความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ ระหว่างคนที่มีแล้วสักแต่ว่าใช้ กับอีกรายที่มีคนเอาของมาให้ แล้วกลับปฏิเสธจนเกิดความวุ่นวาย อันไหนคือความหมายของคำว่าพอดี

การรักษาศีลนั้น ใจเป็นสิ่งสำคัญ อย่างการฉันข้าวในบาตร สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นการฝึกเพื่อไม่ให้ยึดติดกับรูปรสของสารอาหาร และภาชนะจานชาม ที่วัดพระอาจารย์มีการบวชอุปสมบทอยู่บ่อยๆที่เพิ่งผ่านมา ก็มีผู้เข้าร่วมโครงการ 69 ท่าน

ในโครงการนี้อาตมาให้ญาติโยมมาถวายอาหารร่วมกัน ให้พระท่านเข้าแถวแล้วให้ญาติโยมใส่บาตรตักอาหารคาวหวานปนกัน หลังจากที่ผ่านไปสองสามวันได้สุ่มถามว่าการที่ให้ทุกท่านฉันในบาตรพระเพื่อประโยชน์อันใด คำตอบส่วนใหญ่ มักจะตอบว่าเพื่อให้เคร่งใช่ไหมครับ พระอาจารย์ตอบว่า ไม่ใช่เคร่งอะไรหรอก อย่างแรกต้องการประหยัดเวลาในการล้างภาชนะ สองให้มีประสบการณ์ จะได้รู้ว่า บุญอยู่ที่ตรงไหน เพราะถึงแม้จะฉันในบาตรแต่ถ้าฉันไปเขี่ยไป ฉันไปเลือกไป จะสู้ผู้ที่ฉันเป็นปกติ มีอาหารตั้งมากมาย แต่ท่านกับสักแต่ว่าฉันไปอย่างนั้น จิตไม่ยินดี ยินร้าย และติดในรสชาติของอาหารแต่อย่างใด ถ้าทำอย่างนี้ได้จะดีกว่าไหม เพราะฉะนั้นเวลาเห็นพระรูปใดถือข้อวัตรปฏิบัตรอย่างไร ก็อนุโมทนาสาธุการกับท่านก็พอ ไม่ต้องไปเปรียบเทียบ ว่าสายไหนอย่างไรดีกว่ากัน จะทำให้พระพุทธศาสนาแตกแยกมัน บาป นะ

ต่อไปนี้ก่อนจะวิพากษ์วิจารณ์ใคร อย่าใช้แต่ปัญญาที่เกิดจากประสบการณ์ ภายนอกในการตัดสินใจ เพราะทุกวันนี้คนส่วนใหญ่มักจะยึดติดกับรูปธรรม จนไม่สามารถสัมผัสถึงแก่นธรรมอย่างแท้จริง’

สีลัพพตปรามาส หมายถึง ความเห็นผิดว่าบุคคลจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยศีลและวัตรที่เคร่งครัด หรือแม้การยึดถือในศีลและในวัตรที่งมงาย การยึดติดในรูปแบบ พิธีรีตอง เป็นคำสอนข้อหนึ่งของพระพุทธเจ้า

 

ศีล      เป็นหลักความประพฤติที่จำเป็นสำหรับชีวิตและสังคมระดับนั้นๆเช่น เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากพูดปด เป็นศีลสำหรับคนทั่วไป จำเป็นสำหรับสังคมสามัญที่จะอยู่โดยสงบสุข

วัตร     เป็นข้อปฏิบัติที่ช่วยเสริมการดำรงอยู่ในศีล และข้อปฏิบัติอื่นๆใหมั่นคงแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เช่น ถ้า ใครถือวัตรว่า จะแตะต้องของคนอื่น ต้องให้เจ้าของกล่าวคำเชิญหรืออนุญาติก่อน ก็เท่ากับตัดโอกาสที่ตนเองจะลักของคนอื่นไปเกือบหมดสิ้น หรือพระภิกษุที่ถือวัตรไม่พูดตลอดพรรษาก็ตัดโอกาสที่จะพูดเท็จตลอดจน พูดจาไม่ดีไม่งามอย่างอื่น ออกไปจนหมดสิ้น   มีคนประเภทที่ชอบเคร่งครัดเข้มงวดพากันนิยมนับถือไม่น้อย แต่พระพุทธเจ้าหาได้ยกย่องไม่ กลับตำหนิว่าเป็นการอยู่อย่างแพะแกะสัตว์เลี้ยง ทรงห้ามไม่ให้ปฏิบัติ นี่จึงเป็นข้ออันพึงระลึกสำหรับคนที่นิยมเคร่งครัดเข้มงวดจนหลงงมงาย สักว่ายิ่งเคร่งครัดยิ่งดี จนไม่รู้ความหมายว่าทำไปเพื่ออะไร

          วัตถุประสงค์ ก็เพื่อส่งเสริมความมักน้อยสันโดษ เคร่งครัด อยู่อย่างสงัด ขัดเกลากิเลส ถ้าผู้ที่ถือเห็นว่า ตนเป็นผู้ลุ่มหลงในด้านใดเป็นพิเศษ จึงเจาะจงเพื่อกำราบ ในด้านนั้น เช่น เห็นแก่กินติดความอร่อย จึงถือวัตรว่าจะกินวันมื้อ มื้อละจานเป็นต้น        เป็นที่น่าชื่นชมที่รู้จักแก้ไขตนเอง แต่ไม่เป็นเครื่องวัดว่าดีกว่าใคร ใกล้การบรรลุธรรมกว่าใคร หรือในบางข้อที่เพิ่มขึ้นมานั้นอาจแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ตามประเพณีความเหมาะสม เช่น พระสงฆ์ไทยโกนคิ้วผิดจากพระวินัย เพราะพระพุทธเจ้าได้บัญญัติไว้ ให้พระสงฆ์โกนผมและหนวดเท่านั้น ไม่ได้สั่งไว้ให้โกนคิ้ว ซึ่งการโกนคิ้วนี้จัดเป็นลักษณะเฉพาะของสงฆ์ไทย ไม่ใช่ว่าผิดวินัยหรือไม่ จัดเข้าในประเภทขนบธรรมเนียมประเพณี ถ้าไม่ขัดกับพระวินัย (ไม่ได้บัญญัติห้ามว่าไม่ให้โกนคิ้ว) หรือเป็นการช่วยเสริมวินัยให้มั่นขึ้น ก็เป็นการชอบ เช่น ประเพณีพระสงฆ์ใช้ผ้ารับประเคนนี้ก็ไม่มีในวินัยไว้ และประเทศอื่นก็ไม่มีประเพณีเช่นนี้ ในกรณีนี้ประเพณีช่วยเสริมการรักษาวินัยให้มั่นขึ้น จึงได้ยึดถือและปฏิบัติกันต่อมา การที่โกนคิ้วนั้น สันนิษฐานอย่างหนึ่งว่าจะให้พระภิกษุต่างจากประชาชนทั่วไปที่โกนหัว อันเป็นที่นิยมกันในบางหมู่บางสมัย การทำเช่นนี้ จะเป็นการป้องกันไมให้ภิกษุสามเณร ที่คะนองสามารถปลอมตัวเป็นคฤหัสไปในที่ต่างๆ เป็นเครื่องช่วยคุมไว้อีกชั้น

          พุทธเจ้ากล่าวว่า “ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่ถืออยู่ป่า ภิกษุผู้ถือห่มผ้าบังสุกุล ฯลฯ ภิกษุผู้ถืฉันมื้อเดียว ภิกษุผู้ไม่รับอาหารเพิ่มหลังเริ่มฉัน ภิกษุผู้ถือฉันอาหารในบาตร มี ๕ จำพวก คือ

๑.     ผู้ถือ...เพราะโง่งมงาย

๒.    ผู้ถือ...ที่มีความปราถนาลามก ถูกความอยากครอบงำ

๓.    ผู้ถือ... เพราะบ้า จิตฟุ้งซ่าน

๔.    ผู้ถือ...เพราะเห็นว่า เป็นวัตรที่พระพุทธเจ้าและพุทธสาวกทั้งหลายสรรเสริญ

๕.    ผู้ถือ...เนื่องจากความมักน้อย สันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด ความพอใจอย่างนั้น”

โดยศีลนั้นเป็นข้อพื้นฐานที่จะควบคุมตัวเราไม่ให้ตกไปในทางชั่ว เช่นถ้าเราต้องการปลูกข้าว(เปรียบกับความคิดด้านดี)ในที่ของเรา แต่มีวัชพืชอยู่เต็มพื้นที่ ข้าวย่อมไม่สามารถงอกงามได้ ศีลจึงเป็นเหมือนการถางวัชพืชให้เตียนเพื่อจะให้ความดีสามารถเกิดได้ง่าย แต่ถ้าเราไม่มีศีล ปล่อยให้กิเลสครอบงำ ก็จะกลายเป็นมีไม้ใหญ่ยืนต้นอยู่ในที่ของเรายิ่งเราตามใจกิเลสมากเท่าไร วัชพืชย่อมงอกงามจนไม่สามารถจะหาทางตัดโค่นลงได้  ส่วนวัตรนั้นคือการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อจะทำการกำจัดกิเลสที่เป็นจุดอ่อนของตน เช่น บางคนอาจมีปัญหาเรื่องติดในรส จึงตั้งวัตรขึ้นเพื่อจะลดกิเลสด้านนี้ เช่น การกินมื้อเดียว กินแต่ของไม่ชอบ กินในบาตรโดยผสมให้เป็นรสเดียวกันเป็นต้น แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่มีวัตรเคร่งครัดนั้นจะเป็นคนดีเหนือคนอื่น บางทำเพื่อให้คนอื่นชื่นชม สรรเสริญ จึงยิ่งห่างจากเป้าหมายที่ควรเป็น

ฉะนั้นจะเป็นการดีที่สุดถ้าพระสงฆ์ จะปฏิบัติตามวินัย ด้วยใจให้เกิดธรรม เพราะ ไม่เช่นนั้นข้อที่จะละเมิดวินัยหรือวัตรปฏิบัติ ก็จะถูกพวกที่ชอบแก้ตัวยกมาพูดให้ตนดูดี ว่ามีธรรมอยู่ในใจไม่ต้องสนใจพระวินัยก็ได้ อย่างเช่นแม้การที่ญาติโยม ถวายอาหารเป็น สำรับ เป็นจาน ก็สามารถ ฝึกตนตักมาผสมกันเองได้ ไม่จำเป็นต้องจากบาตร ไม่ใช่ ญาติโยมถวายแต่ของดีๆ อยากกินโน่นนี่แล้วจะมาอ้างได้ว่ามีธรรมในใจ ญาติโยมถวายเครื่องเสียงมาเลยต้องใช้ ถวายเครื่องปรับอากาศมาเลยต้องใช้ ถวายปัจจัยปฏิเสธไม่ได้

ซึ่งหลังจากมาวิเคราะห์ถึงปัญหาจริงของพระพุทธศาสนา แล้วต้นตอของสาเหตุนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากญาติโยมที่มีความเข้าใจผิด เพราะพระสงฆ์นั้นมีเพื่อสืบทอดคำสั่งสอน และเผยแพร่ศาสนา ซึ่งจำเป็นต้องมีศีลมากกว่าคนปกติทั่วไปเพื่อให้ง่ายต่อการฝึกและปฏิบัติตน แต่เหมือนคนที่จะเลิกยาเสพติด แต่มีแต่คนเอายามาให้ เอามาล่อ เอามาถวาย ประเคนให้ถึงที่ เพราะในศีลของพระก็มีข้อควรปฏิบัติอยู่แล้ว

แต่แม้จะบอกว่าในยุคปัจจุบันเป็นการลำบากที่จะทำ เช่นนั้น งั้นก็จำเป็นที่ต้องมาดูถึงความพอดีกัน รายได้ของข้าพเจ้าขณะเป็นพระสงฆ์ในเมือง ช่วงเทศกาล บิณฑบาตร อย่างน้อย 100 บาท  ฉันเช้า อย่างน้อย 100 บาท นั่งอันดับ บวชพระใหม่ ครั้งหนึ่งบวชได้มากสุด 3 คน คนละอย่างน้อย 200 บาท อาจมีหลายรอบได้ บางวันนั่งอันดับอย่างเดียวได้เป็นพัน ฉันเพล อย่างน้อย  200 บาท

รายได้ขณะที่กำลังเขียนอยู่นี้ 15 วัน 8,240 บาท โดยเป็นเหมือนกำไรสุทธิ เพราะไม่ได้มีการใช้จ่ายใดๆ นี่ยังไม่รวมถึงถ้าสามารถสวดงานศพได้ ก็จะได้เพิ่มอีกอย่างน้อย 200 บาทต่อวัน

จบปริญญาโททำงานมา เงินเก็บทั้งเดือนยังไม่เท่าบวช 15 วัน พระบางรูปช่วงเทศกาลไม่ได้มีตำแหน่งใหญ่โตอะไร สองเดือนมีเงินเก็บถึง หกหมื่นบาท ซึ่งก็หมดไปกับการซื้อโน๊ตบุ๊ค กล้องดิจิทัล ซึ่งหลายๆคนอาจจะเคยเห็นพระถอยรถ หรือครอบครัวที่ไม่ได้ทำงานแต่มีบ้านใหญ่โต 

พระดีๆก็มีอีกเยอะ เคยเห็นองค์หนึ่งจนจบเปรียญ 9 แล้ว แต่ถึงฤดูทำนายังกลับไปช่วยที่บ้านทำนา(ไม่ผิดพระวินัย)กลับมาตัวดำปี๋ จริงๆท่านรับกิจนิมนต์ส่งเงินไปจ้างคนงานได้ตั้งหลายคน แต่หลายๆองค์ที่อยู่ เรียนไม่เรียนสวดเป็นอย่างเดียวความหมายไม่รู้ วินัยไม่สน อยู่ดีฉันดีจนอ้วน นั่งให้พรรับกิจนิมนต์อย่างเดียวได้วันเป็นพัน อย่าซ้ำเติมพระพุทธศาสนาเลย เคยมีนักศึกษาออกมารณรงค์ให้เลิกใส่บาตรด้วยเงิน กิจนิมนต์ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ซอง แต่ชาวบ้านแม่ค้า ก็บอกว่าเค้าทำบุญแล้วสบายใจ ถ้าพระเอาไปใช้ที่ผิด บาปก็ตกไปอยู่ที่พระ จนทุกวันนี้พระในเมืองใหญ่กลายเป็นอาชีพไปเสียแล้วเส้นทางบิณฑบาตนั้นต้องมีการสัมปทานกันห้ามข้ามเส้น ข้ามถนนมา วัดในพื้นที่ดีๆ จะมาอยู่ได้ต้องมีเงินมาเซ้งค่ากุฏิเป็นต้น ฉะนั้นเมื่อเรามีเข้าใจกับบุญกันแล้วก็น่าจะมีแนวทางปฏิบัติที่ดีขึ้น คนยากจนก็ได้เก็บเงินไว้ใช้ในทางที่ถูกเกิดประโยชน์กับตน และไม่เป็นการส่งเสริมให้มีคนเข้ามาหาผลประโยชน์กับศาสนา

          รวมถึงการทำบุญต่างๆที่สร้างความเดือดร้อนหรือผลกระทบมากมายตามมาโดยที่เราเลือกจะไม่สนใจทำแล้วสบายใจ ทั้งการปล่อยนก ปล่อยปลา ปล่อยเต่า ซึ่งนกเหล่านี้ถูกมัดใส่กระสอบมาขาหัก ปีกหักบ้าง ตายไปก็ทิ้งไป ตัวที่รอดก็นำมาขาย ปล่อยไปไม่นานก็ตาย ปลาเล็ก ปลาไหลก็ถูกจับมาคนซื้อไปปล่อยก็ไม่ได้สนใจธรรมชาติของสัตว์เหล่านั้นว่าต้องอยู่ในน้ำนิ่งบ้าง ในเลนโคลนบ้างปล่อยลงแม้น้ำก็ตกเป็นอาหารปลาใหญ่บ้าง ไหลไปตามกระแสน้ำจนตายบ้าง ที่ชัดเจนก็คือเต่ามีสารคดีมากมายพยายามรณรงค์เนื่องจากบ่อน้ำในหลายๆวัดเมื่อทำการลอกบ่อขึ้นมานั้นเต็มไปด้วยซากกระดูก กระดองเต่าเต็มไปหมดเนื่องจากเต่านั้นจำเป็นต้องขึ้นมาพักบนบกแต่คนปล่อย ปล่อยในบ่อที่ไม่มีทางขึ้น ในแม้น้ำ คลองตลิ่งสูง เต่าก็ว่ายน้ำจนตาย หรือในกรณีขอทานซึ่งกลายเป็นขบวนการค้ามนุษย์ที่มีเงินหมุนเวียนสูงขึ้นทุกวัน หลายท่านน่าจะเคยเห็นเด็กทารกที่แม่นำมาขอทานด้วย ถ้าสนใจเรื่องนี้สักนิดก็จะมีสื่อมากมายที่เคยนำเสนอว่าเด็กหลายคนถูกนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่เห็นทารกเหล่านั้นหลับตลอดเวลาเนื่องจากถูกวางยานอนหลับ ที่โตมาแล้วถ้าไม่ได้กลับประเทศก็ถูกบังคับให้ขายบริการทางเพศ หรือเป็นมิจฉาชีพไป องค์กรเหล่านี้เงินหมุนเวียนสูงจนสามารถครอบงำติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐให้ไม่รู้ไม่สนใจได้ เพราะการสืบถึงต้นตอนั้นก็ไม่ได้ลำบากอะไรเพราะคนเหล่านี้มีคนมารับมาส่ง มีที่พักรวมกันเป็นระบบ แต่ถ้าท่านเลือกจะทำบุญเพื่อความสบายใจของตนเพียงอย่างเดียว ก็ขอให้พิจารณาแล้วลองเลือกจะสร้างบุญในด้านอื่นๆที่เป็นการพัฒนาตนและไม่สร้างผลกระทบต่อผู้อื่น

          การบวชซึ่งเป็นประเพณีที่ดีสำหรับชาวไทยนั้น ตอนนี้จุดประสงค์และสิ่งที่ควรได้จากการบวชก็ยิ่งห่างไกล สมัยก่อนนั้นพ่อแม่จะสบายใจได้ถ้าลูกชายได้ผ่านการบวชเรียน ซึ่งหมายถึง ได้ศึกษาหาความรู้ทางธรรม ที่จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดชีวิต ศึกออกมาเป็นคนดี เป็นที่พึ่งของครอบครัวของสังคม แต่การยึดติดกับกุศโลบายเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์กันมาก การบวชของสมัยนี้จึงด้อยคุณค่าลงไปมาก ทำพอเป็นพิธี ทำแล้วสบายใจ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวว่าท่านนั้นจะบวชเป็นระยะเวลานานเท่าไร โดยบวช แปลตามตัวหนังสือ ก็ว่า เว้นหมดจากที่ควรเว้น ก็คือ เว้นจากการปฏิบัติหรือการเป็นอยู่ชนิดที่เป็นทุกข์ หรือพรหมจรรย์ แปลว่า การประพฤติประเสริฐ, ประพฤติอย่างพรหม ฉะนั้นเมื่อเข้าใจจุดประสงค์ผิดไปหลายคนเมื่อเข้าไปบวชเป็นพิธีไปเห็นสิ่งที่เสื่อมโทรมของศาสนาของบางที่ ศึกออกมากลับมีทัศนคติแย่ๆกับศาสนาพุทธ ทุกคนควรจะเข้าใจถึงจุดประสงค์ของการบวชซึ่งก็ไม่ได้จำกัดว่าที่บ้านหรือที่วัด ถ้าประพฤติได้ก็ประพฤติ; อย่างจะถือศีลพรหมจรรย์อยู่ที่บ้าน ศีล 8 ศีล 10 นั้นก็ยังถือได้ คำว่า พรหมจรรย์ นั้นมีความหมายว่า การประพฤติอย่างเต็มที่หรือเคร่งครัด ติดต่อกันเป็นระยะยาว เป็นการปฏิบัติตลอดชีวิต อย่างนี้ก็ยังได้ พูดกันง่ายๆ ว่า ประพฤติพรหมจรรย์ที่บ้าน มันก็ยังทำได้ หรือบางคนอ่านหนังสือจบสักเล่มแล้วประพฤติตนดีขึ้น เลิกอบายมุขได้ ก็เป็นการดีกว่าที่จะทำการบวชเป็นพิธี โดยถ้ามีความตั้งใจจะบวชแล้วก็ควรฝึกปฏิบัติตน และศึกษาธรรมะ เพื่อที่จะนำมาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน

          ตัวเราเคยอ่านหนังสือของ วินทร์ เลียววาริณ นักเขียนรางวัลซีไรต์ผู้ที่เขียนหนังสือทั้งแนววิทยาศาสตร์ให้เข้าใจได้ง่าย จนไปถึงเรื่องธรรมะ สำหรับคนที่อยากเริ่มอ่านหนังสือธรรมะ บางทีอาจเริ่มง่ายๆก่อน จากหนังสือ ชุดให้กำลังใจ โดยเราจะซื้อหนังสือเล่มนี้ให้ เป็นของขวัญวันเกิดของคนที่เรารู้จัก โดยถ้าอ่านเล่มแรกจบแล้วจะซื้อเล่มต่อๆไปให้ มีเรื่องหนึ่งพูดถึงนักวิทยาศาสตร์ได้นำลิงมากลุ่มนึง ไว้ในห้องทดลอง โดยกลางห้องทดลองจะมีบันไดสูงตั้งไว้ และบนเพดานนั้นจะมีช่องสำหรับใส่อาหารหย่อนลงมาได้ แต่บันไดนี้ได้ตั้งกลไกไว้ถ้ามีลิงตัวใดขึ้นไปจะทำการฉีดน้ำเย็นจัดออกกมาจนลิงไม่สามารถปีนขึ้นไปเก็บได้และตัวอื่นๆก็ต้องเปียกหนาวอย่างทรมาน หลังจากเกิดเหตุการณ์นั้นอีกสองสามครั้ง เมื่อมีตัวใดพยายามจะเข้าใกล้บันไดเพื่อจะไปเอาอาหารสุดโปรด ก็จะถูกตัวอื่นๆ รุมทำร้าย จนไม่มีตัวใดมีความคิดจะปีนขี้นไป แม้จะใช้อาหารอะไรยั่วก็ตาม หลังจากนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงค่อยๆเปลี่ยนตัวใหม่เข้าไปแทนตัวเก่าทีละตัว เมื่อตัวใหม่เข้าไปก็จะพยายามปีนขึ้นไปเอาอาหารแต่ก็จะถูกขัดขวางไว้จากพวกเดิม หลังจากนั้นก็ทยอยเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตัวใหม่ที่เข้าไปแรกๆก็จะร่วมวงในการทำร้ายไม่ให้ตัวอื่นเข้าใกล้บันใด จนกระทั่งเปลี่ยนตัวเก่าออกจนหมดแล้ว และทำการปิดกลไกปล่อยน้ำเย็นไปตั้งแต่เริ่มเปลี่ยนตัวใหม่ตัวแรกเข้า พฤติกรรมนี้ก็ยังถูกสืบทอดต่อไปไม่ว่าจะเปลี่ยนไปอีกกี่รุ่น

          ข้อคิดเหล่านี้ เปรียบได้กับพวกเราที่คนโบราณนั้นพยายามปกป้องลูกหลานจากความเลว ความชั่ว แม้จะไม่รู้และไม่เข้าใจถ่องแท้ แต่ก็รับทราบว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ควรปฏิบัติ แต่คนเราสมัยนี้ทั้งที่มีวิทยาศาสตร์ทันสมัย กับงมงายลงทุกวันไปยึดถือแต่ประเพณีเนื้องอก สิ่งจอมปลอม เทพเจ้าดลบันดาล สิ่งพิการ สัตว์พิการหัวเกิน ขาไม่ครบกลับไปกราบไหว้ดูแล แต่ลูกคนพิการกับดูถูกเหยียดหยาม กลับไปเป็นเหมือนยุคสมัยก่อนพุทธกาลที่คนถูกแบ่งเป็นวรรณะ คนจนกลายเป็นคนชั้นต่ำ หลงไปกับวัตถุ ตกเป็นทาส ของพ่อค้า นายทุน ไม่ศึกษาถึงแก่นแท้ ไม่ปฏิบัติไม่พิสูจน์ เอะอะก็ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ เห็นอยู่ชัดๆว่าพวกนายทุน พ่อค้าไม่มีจริยธรรม อ้างคำสอน ใช้คำพูดตนเองยัดเยียดให้พระพุทธองค์อย่างไม่เกรงกลัว มาในทุกรูปแบบแม้แต่หนังสือธรรมะ มอมเมาให้คนหลงเชื่อ เอาไสยศาสตร์มาเป็นพระพุทธศาสนา แก้ปัญหาหลอกเด็กได้ชั่วสักพัก หลอกลวงคนโง่ มาปฏิบัติ นั่งอ้อนวอน นั่งบวงสรวง นั่งขอร้องเรื่อยไป

พระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย ได้บรรลุธรรมจึงเกิดความคิดถึงอาจารย์ของตนจึงได้ไปชวนอดีตอาจารย์สญชัยโดยกะว่าจะให้เดินทางมาพร้อมกับพวกตน แต่สญชัยได้กล่าวว่า “เราเป็นอาจารย์มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย จะให้เรามาเป็นศิษย์คนอื่นนั้นก็จะเหมือนกับการเปลี่ยนตุ่มน้ำให้เป็นถ้วย น้ำชา” นอกจากนั้นแล้วท่านก็ยังบอกด้วยว่า คนที่ฉลาดมีน้อย ส่วนพวกคนโง่มีมาก ก็ให้พวกคนฉลาดไปหาพระสมณโคดมผู้ฉลาด ส่วนพวกคนโง่ก็จะมาหาเราผู้เป็นคนโง่ พวกท่านทั้งสองจงไปตามทางของพวกท่านเถิด”

ท่านละอยากเป็นคนส่วนมากหรือคนส่วนน้อย

แม้กระทั่งจุดประสงค์ของการสวดมนต์  สมัยพุทธกาลนั้นมีแต่คำสอนและการเทศนาของพระพุทธเจ้า เมื่อท่านปรินิพพานไป จึงเกิดการรวบรวมคำสอนเนื่องจากยังไม่มีตัวหนังสือ ความรู้ถ่ายทอดทางการท่องจำ จึงให้พระอรหันต์กล่าวคำสอนพร้อมกัน เพื่อเป็นการตรวจสอบความถูกต้อง  ปัจจุบันได้ถูกแต่งขึ้นใหม่มากมาย ส่วนมากที่ใช้ในงานพิธีต่างๆล้วนแล้วแต่ต้องการเตือนสติ โดยมนต์ส่วนมากจะกล่าวเกี่ยวกับหลักธรรมเพื่อสั่งสอนให้คิดได้

แต่เมื่อคนฟังก็ไม่รู้ความหมาย คนสวดก็ไม่อธิบาย ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปต่างๆนาๆ โดยทั้งวัดทั้งสำนักวิปัสสนา ก็ยังไม่ทำให้ผู้เข้าร่วมปฏิบัตินั้นเข้าใจจุดประสงค์ของการสวดได้ ว่าเพื่อเตือนสติ ระลึกถึงพระพุทธ ทบทวนพระธรรม และเป็นโอกาสให้ได้พบพระสงฆ์ แต่หลายคน รวมถึงบทสวดในปัจจุบันที่ ส่อไปในทางการอ้อนวอน ดลบันดาล งมงาย หมกมุ่นในสวรรค์นรก ชาตินี้ชาติหน้าหรือการไม่พิจารณาไปเอาคำสวดที่แต่งขึ้นใหม่แต่อ้างคำพระพุทธเจ้า ยิ่งเป็นการทำร้ายชาวบ้านมากขึ้น

เช่น ในบทโพชฌังคะปะริตตัง นั้นเป็นบทสวดยอดนิยมสำหรับคนป่วย โดยบทสวดกล่าวถึง พระโมคคัลลานะ และมหากัสสปะเป็นไข้ พุทธองค์จึงแสดงธรรม ให้ฟังแล้วหายป่วย หรือในครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงประชวรเป็นไข้หนักก็รับสั่งให้พระจุนทะเถระกล่าวถวาย คนจึงคิดว่าต้องมีอำนาจวิเศษอันใดในมนต์นี้ที่จะดลบันดาล ให้หายเจ็บหายป่วยได้ แต่ถ้ามาดูความหมายภาษาไทยก็คือ การอธิบายถึง โพชฌงค์ 7 ประการ คือ การมีสติระลึกได้ มีการสอดส่องธรรม มีความเพียร ความปีติอิ่มใจ ความสงบใจและอารมณ์ มีสมาธิตั้งมั่น และมีอุเบกขาการวางเฉย เพราะแม้ตัวพุทธองค์เองยังปรินิพพานด้วยการประชวร พระพุทธศาสนาใช้ธรรมเป็นศาสดา ดังคำที่พระพุทธองค์กล่าวว่า “ตถาคตทั้งหลาย จะอุบัติหรือไม่อุบัติก็ตาม หลักความจริงก็เป็นอยู่อย่างนั้น” ธรรมชาติก็ดำเนินไปตามปกติแต่ศาสนาพุทธแค่ชี้ทางที่จะเข้าใจธรรมชาติแล้วปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์

หรือตัวอย่างง่ายๆ  ในหนังสือมนต์พิธี ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายนั้นมีมนต์ ภาษาไทยบทหนึ่งชื่อ                                    ยาแก้พิษคางคก

คางคกข่วนกาย                   พิษร้ายหนักหนา

ตัดต้นบอนมา            เอาโคนเผาไฟ

ข้างปลายน้ำฉี่           จงจี้ปากแผล

ถอนแก้พิษหาย

สมมติว่าเราไปต่างประเทศที่นับถือพุทธศาสนาแล้วเห็นเค้าโดนยางคางคก จึงท่องมนต์นี้แล้วเป่าไปที่แผลเราคงรู้สึกขำไม่น้อย ในความไม่รู้ของคนคนนั้น บทสวดบอกวิธีทำแต่ไม่ทำมานั่งท่องคงจะหายหรอก ฉะนั้นบทสวดที่ดีก็จะเป็นธรรมที่คอยเตือนสติ ส่วนที่จะทำให้เกิดกิเลสสวดแล้วมีแต่รวย อายุยืนร้อยปี ยศใหญ่โต มีแต่โชค ศัตรูแพ้  มีเกราะแก้วปกป้องอันตราย ซึ่งบดสวดเหล่านี้อ้อนวอนอย่างเดียวไม่ต้องทำแล้วสิ่งใดจะเกิด แถมยังเป็นการทำให้ผู้คนหลงไปกับฤทธิ์อำนาจวิเศษทั้งหลาย

ในงานพิธีต่างๆ เช่นฉันเพล งานศพ บวช โดยต้องเข้าใจก่อน โดยท่านพุทธทาสกล่าวไว้ว่า พิธีในคำบาลีเดิมนั้นก็คือ วิธี ทางปฏิบัติ แต่พอเป็นความหมายในภาษาไทย กับต่างกันโดย พิธี นั้นคือสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อด้านจิตใจ โดยมากมีอิทธิพลมาจากทางพราหมณ์ ซึ่งถ้าทบทวนกันก็เพื่อ กดชาวบ้านให้เชื่อในอวิชชาเพื่อจะรักษา วรรณะของตนโดยอาศัย ลาภสักการะ แต่ศาสนาพุทธในเมืองไทยก็ได้รับอิทธิพลมา เพื่อจะเป็นกุศโลบายให้คนเข้าหาศาสนา ในความหมายของตัวบทสวดนั้นแท้จริงแล้วเช่นในบทสวดงานศพ นั้นสวดให้คนเป็นญาติ พี่น้อง ผู้มาร่วมงานได้ระลึกถึงความไม่แน่นอนในชีวิต ให้คลายเศร้าโศก แต่เมื่อคนฟังไม่รู้ความหมายก็กลายเป็นการสวดให้คนตายไป แต่พิธี ถ้ามาคิดดีๆ อาจจะตีความหมายได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ต้องทำก็ได้ เช่น ที่ชาวบ้านมักพูดกันว่าทำเป็นพิธี คือ ทำไปก็ไม่เกิดสิ่งใดขึ้น ไม่มี พิธีรับปริญญาบัตร เราก็ยังได้ปริญญา ไม่มีพิธีศพ อย่างท่านพุทธทาส ไม่ต้องมีพระมาสวดท่านก็ไปได้ ไม่ต้องมีพิธีเปิด งานก็เปิดได้  ฉะนั้นพิธีทางสงฆ์ต่างๆที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายนั้นก็ไม่ต้องถามว่าเกิดจากอะไร อย่าให้ส่วนที่เป็นเนื้องอกบดบัง กุศโลบาย ประเพณีที่ดีงามของไทย

 

ความสำคัญของพิธีกรรม

 

. พิธีกรรมสื่อวินัย

1.1 เหลือปราการสุดท้าย จะทิ้งค่าย หรือจะใช้ยันเดินหน้ากลับ

1.2 พิธีกรรม เป็นจุดนัดหมาย ให้ตั้งใจเริ่มทำการอย่างจริงจัง

1.3 พิธีกรรม เป็นวินัยพื้นฐานและนำคนให้ประสานเข้าในชีวิตชุมชน

1.4 พิธีกรรม เป็นเครื่องน้อมนำศรัทธาที่จะพาให้เข้าถึงธรรมที่สูงขึ้นไป

1.5 พิธีกรรม เป็นโอกาสสำหรับพระที่จะปรากฏตัวและให้ธรรม

1.6 ธรรมข้อต้นที่พระจะให้แก่ประชาชนคือปสาทะและความปลอดเวรภัย

1.7 ถ้าเฉไถลออกไป ก็รีบหันกลับมาตั้งต้นใหม่

1.8 พิธีกรรม เป็นรูปแบบที่จะสื่อธรรมสำหรับคนหมู่ใหญ่

2. วินัยสื่อธรรม

2.1 จะรู้จักพระพุทธศาสนาจริง ต้องดูทั้งธรรมและวินัย

2.2 ระวัง ! อย่าให้กลายเป็นเพียงความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น

2.3 ความไม่ยึดมั่นที่แท้ เกิดขึ้นเองด้วยปัญญาเรียกว่าเป็นอัตโนมัติ ตามเหตุปัจจัย

2.4 วินัย คือ เครื่องจัดสรรโอกาส ให้คนพัฒนาตนตามธรรม

2.5 เมื่อคนพัฒนาขึ้นไป ความหมายของวินัยก็พัฒนาตามด้วย

2.6 รู้ความจริงแท้ของธรรมชาติ ทำให้ปฏิบัติจริงจังตามสมมติโดยรู้เท่าทัน

2.7 เมื่อรู้ทันสมมติ แล้วทำตามสมมติสมมติก็ให้ประโยชน์โดยไร้โทษ เรียกว่าปฏิบัติพอดี เป็นมัชฌิมา

2.8 เมื่อชีวิตในโลก ประสานสืบจากชีวิตในธรรมโดยสมบูรณ์ จิตก็ไม่ยึดมั่น ปล่อยวาง โดยทำทุกอย่างด้วยความรับผิดชอบจริงจัง

สรุป: พิธีกรรมสื่อวินัยสู่ธรรม

เมื่อพิธีกรรมนำสู่วินัย และธรรมแสดงตัวในวินัยจนออกมาในพิธีกรรม นั่นคือความสมบูรณ์แห่งความหมายและความสำเร็จแห่งความมุ่งหมายของพิธีกรรม 

 

ก่อนก็มีข้อสงสัยว่าทำไมพระต้องมีลูกศิษย์วัด แบกของบิณฑบาตรกันมากมาย วินัยก็มีว่าให้รับแต่พอฉัน พอมาบวชจึงได้เข้าใจ เพราะเดินไม่พ้นประตูวัดบางวันก็บาตรเต็มแล้ว สมัยนี้คนนำอาหารใส่ถุงไม่กี่ถุงก็เต็มบาตร ถ้าเลือกจะกลับเลยญาติโยมคงไม่มีโอกาสได้ทำบุญตักบาตรกัน แต่หลายคนคงยังมีข้อสงสัยว่าแล้วที่เหลือๆนั้นเอาไปทำอะไร โดยที่ที่บวชนั้นเป็นสำนักวิปัสสนาอาหารที่เหลือจึงเผื่อแผ่ ผู้ถือมาถือศีล และให้กับคนงาน แต่จากการสอบถามคนงานก็มีบางองค์ที่จะมีคนมารับซื้อต่อ เพื่อไปขายให้กับคนงานก่อสร้าง หรือทำการวนกลับไปให้ร้านค้า จริงๆแล้วการที่มีข้าวเยอะไปเหลือทิ้งขว้างไม่น่าใช่ปัญหา จัดระบบให้คนยากจนรับไป คนงานวัดทำงานมาเป็นสิบปี เงินรายได้ต่อวัน 185 บาท หรือให้กรรมกรไปเลยก็คงไม่มีชาวบ้านคนใดว่า แต่เงินที่ได้จากการขายกลับเข้าพระสงฆ์องค์นั้นก็เป็นการไม่ถูกต้อง อย่างนี้ก็คงแก้กันลำบาก

ส่วนอีกเรื่องคือเวลาใส่บาตรไม่ควรขอพรจากพระ เพราะถ้าทุกคนนึกถึงคำสอนที่แท้ของศาสนาพุทธ สิ่งที่ควรเคารพ คือ รัตนะ 3 อย่าง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าเราลองคิดด้วยปัญญา พระพุทธเจ้าขณะมีชีวิตก็ไม่สนับสนุนการมีปาฏิหาริย์ใดๆทั้งสิ้น  และทรงปรินิพพานไปแล้ว ย่อมไม่มีผลใดๆกับโลกนี้อีก ก่อนจากไปยังทรงบอกว่า ให้เอาพระธรรมเป็นศาสดา ซึ่งจะมีผลเมื่อเกิดการปฏิบัติ  ส่วนพระสงฆ์เป็นผู้สืบทอดและเผยแพร่คำสอน ย่อมไม่สามารถดลบันดาลหรือให้พรใดๆกับญาติโยมได้ แต่ถ้าสังเกตว่าอาจมีความจำเป็นบังคับเพราะเมื่อญาติโยมใส่บาตรเสร็จก็นั่งนิ่งไม่ไปไหน เนื่องจากคิดว่าจะสามารถส่งไปให้ถึงผู้ตายบ้าง ต้องเข้าใจว่าพระไม่ใช่คนทรง หรือคิดว่าเมื่อตายแล้วไปบนสวรรค์จะได้สบาย รวมถึงชาติหน้าจะได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พระจึงต้องให้พรเป็นพิธี ก็น่าจะสามารถแก้ไขได้ง่ายๆ โดยแทนที่จะให้พรที่จะทำให้ญาติโยมงมงายและเข้าใจผิด จึงควรใช้เวลาที่น้อยนิดนี้ สอนพุทธสุภาษิต เตือนใจ เพื่อให้เกิดความคิด เกิดสติ เกิดปัญญา ในสมัยพุทธกาลนั้น เวลาที่พระไปตักบาตรนั้น เจ้าของบ้านจะออกมารับบาตรแล้วไปให้ลูก หรือคนรับใช้ ไปตักในครัวจึงมีเวลาที่จะสนธนาธรรมเทศนา ใช้หลักธรรมมะแก้ปัญหาได้

พุทธศาสนาสอนให้เรา มี ศีล สมาธิ ปัญญา ฉะนั้นตั้งแต่ข้อแรกคือ ศีล คือการไม่เบียดเบียนกัน ของใส่บาตรทุกวันนี้มาในถุงพลาสติก ไม่เหมือนสมัยก่อนแต่อย่างน้อยหลายๆคนชอบที่จะใส่น้ำที่บรรจุแก้วพลาสติก ขวดพลาสติก มาให้ ซึ่งหลายๆวัดเองก็มีเครื่องกรองน้ำอย่างดีอยู่แล้ว น้ำจากเครื่องกรองก็มีคุณภาพดีกว่าน้ำบรรจุแก้วพลาสติก แต่เพราะอวิชชาและความมักง่าย จึงนิยมที่จะฉันจากแก้วพลาสติก เจาะหลอดดูดกิน ทั้งๆบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ เบียดเบียนธรรมชาติ ฉะนั้นคนดีควรแก้ไข เริ่มจากถ้าอยู่ที่วัดก็ใช้แก้วรองน้ำจากเครื่องกรองฉัน ส่วนที่ญาติโยมถวายมาก็บริจาคให้โรงเรียน งานกีฬา คนเที่ยวชมวัดก็ได้ และทำความเข้าใจกับญาติโยมว่าไม่จำเป็นต้องใส่น้ำลงในบาตร สร้างปัญญาให้กับชาวบ้าน เช่น บอกถึงศีลคือการไม่เบียดเบียนกัน ฉะนั้นทางวัดมีน้ำกินพอฉันแล้ว ก็ไม่ต้องใส่มา หรือทุกวันนี้กับข้าวมักใส่กล่องโฟมถ้าเลี่ยงได้เป็นใส่ถุงพลาสติกก็ยังเกิดผลกระทบกับโลกนี้น้อยกว่า เมื่อชาวบ้านไม่ใช้กล่องโฟมร้านค้าที่ใช้ก็ต้องปรับตัว แค่นี้ก็ช่วยโลกรักษาสิ่งแวดล้อมได้แล้ว ไม่ต้องไปพึ่งสื่ออื่น พระสงฆ์มีหน้าที่ชี้นำแก้ปัญหาให้กับสังคมได้ง่ายๆ อย่าไปเอาแต่ความสบายของตน หรือ ถ้ากับข้าวมันเยอะนัก หรือ การที่มีคนถวายสังฆทานมากมาย ถ้าสอนให้คนให้มีปัญญาก็สามารถตั้งโครงการว่ารับบริจาคแต่นม เพื่อจะให้กับนักเรียนกินก็ยังดี เพราะสังฆทานก็ คือ เครื่องใช้ของพระสงฆ์ สบู่ แชมพู ใช้ทีเป็นเดือน จีวรพระองค์หนึ่งใช้แค่สามผืนก็เหลือใช้ ชาวบ้านก็ยังถวายกันทุกวัน วันหนึ่งได้รับสังฆทานกันตั้งหลายถัง ถังเต็มวัดไปหมด ที่ถวายมาก็มีแต่โดนร้านค้าบางร้านหลอกลวง มีแต่สิ่งที่คุณภาพแย่ เช่น ร่มที่กางไม่ได้ ขิงชงกล่องใหญ่โตมีซองเดียว น้ำปลาไม่มี อย. ผงซักฟอกชนิดพิเศษที่มีเฉพาะในถังสังฆทาน เป็นต้น ทางวัดมีนโยบายไปเลยดีกว่าว่าจะรับสิ่งใดเพื่อให้เกิดประโยชน์ จะไปสนับสนุนนักเรียน นักกีฬา คนด้อยโอกาสอะไรก็ได้ น่าจะทำให้วัดดูดีกว่านี้ หรือการใช้สังฆทานเวียนเพื่อจะรับเงินเพียงอย่างเดียว นำเงินมาสนับสนุนให้มีโครงการรับเด็กเรียนดีแต่ไม่มีทุนทรัพย์มาเป็นเด็กวัดหรือบวชเณรยังดีเสียกว่า บางวัดนี่ทำปีรามิดด้วยกระป๋องสังฆทานได้เลย

          ส่วนเรื่องญาติโยมใส่บาตรด้วยเงินนั้นก็แก้ง่ายๆ ด้วยมนต์ “ชาตะรูปะระชะตะปะฏิคคะหะณา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิฯ” คือ ควรเว้นจากการรับเงินทอง อันนี้อยู่ในศีลสิบและก็มีในพระวินัย ดังนี้

- ภิกษุรับเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นรับก็ดี ซึ่งทองและเงิน หรือยินดีทองและเงินที่เขาเก็บไว้เพื่อตน ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

- ภิกษุทำการซื้อขายด้วยรูปิยะ คือของที่เขาใช้เป็นทองและเงิน ต้องเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์

- ภิกษุแลกเปลี่ยนสิ่งของกับคฤหัสถ์ ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

จะอ้างว่าขัดศรัทธาญาติโยมไม่ได้ก็ไม่ถูก เช่น การถูกเนื้อต้องตัวสตรี ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้ประเพณีอย่างชาวต่างประเทศมาถูกตัวพระสงฆ์ ก็ต้องทำการระวัง และตักเตือนบอกเหตุผล เช่นเดียวกัน เมื่อชาวบ้านรู้เหตุผลแล้วก็จะได้ไม่ไปใส่ให้รูปอื่น และทำการเตือนเพื่อนๆต่อไป ไม่เช่นนั้นวัดจะกลายเป็นที่ชุมนุมของผู้ที่ไม่หวังดี

ส่วนงานกิจของสงฆ์รับเข้าส่วนกลาง ส่วนกลางนำมาตั้งโครงการไปใช้ให้เป็นประโยชน์กว่าการสร้างอะไรให้มันใหญ่โต ทำระบบให้มีการตรวจสอบได้

เรื่องความประพฤติถ้าวัดที่มีความเข้มงวดพอ เจ้าอาวาสประพฤติตนเป็นแบบอย่าง ก็จะสามารถตำหนิ และควบคุมลูกวัดได้ แต่ถ้าผู้มีอำนาจเองก็มีเครื่องอำนวยความสะดวกทุกอย่าง ก็น้ำท่วมปาก สุดท้ายเมื่อเป็นสงฆ์แล้วมีแต่ความสบาย มีแต่คนกราบไหว้ บ้านไม่ต้องเช่า ข้าวก็มีแต่ของดีๆที่ญาติโยมตั้งใจถวาย เงินก็มีเหลือมากมาย สุดท้ายก็เป็นแหล่งรวมของคนพาล

จึงเป็นหน้าที่ของทั้งทางสงฆ์และชาวบ้านเองที่จะตรวจสอบ บริหารจัดการระบบ ให้ดีเพราะเนื่องจากความคิดคนก็เปลี่ยนตามยุคสมัย ตอนแรกบริจาคให้วัด ก็ถูกหลวงพ่อที่ไม่ดีโกงไปบ้าง กรรมการวัดบ้าง การตรวจสอบเอาผิดก็ทำได้ยาก ก็เลยไปให้ที่ตัวพระสงฆ์สุดท้ายยิ่งแก้ปัญหาก็ยิ่งยุ่ง จากที่มีเจ้าอาวาสไม่ดีองค์เดียวกลายเป็นไปกันเกือบทั้งคณะ

ฉะนั้นถ้าทางคณะสงฆ์สามารถควบคุมให้อยู่ในวินัยได้อย่างดีแล้วนั้น คนชั่วคนพาลที่ไหนจะเข้ามาอยู่ได้เพราะมีแต่ความลำบาก กินก็ไม่อร่อย นอนก็ไม่สบาย ระเบียบมากมาย โดยในสมัยก่อนถ้ามีพระลูกวัดทำผิดชัดเจนถึงขนาดชาวบ้านต้องมาร้องเรียน พระผู้ใหญ่ในวัดก็ต้องมีโทษด้วย อยู่วัดเดียวกันแท้ๆจะไม่รู้ไม่เห็นได้อย่างไร

 

พระปฏิบัติ จำเป็นต้องนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมมากหรือไม่  พุทธศาสนิกชน ต่างก็เข้าใจผิดและปฏิบัติตนผิดจากหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า อันเนื่องจากไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ แล้วก็กล่าวโจมตีซึ่งกันและกัน พวกที่นั่งหลับตาปฏิบัติสมถะวิปัสสนากรรมฐาน ก็กล่าวโจมตีพวกที่ไม่ทำเช่นเดียวกับตนว่าเป็นผู้สะสมกิเลส มีแต่ความโลภ โกรธ หลง ยึดมั่นในตัวตน ทรัพย์สิน ที่แท้ก็ไม่ใช่ของตัวที่แท้จริงเลย จะไปห่วงยึดติดไว้ทำไม

 

การปฏิบัติธรรม เรื่องหนึ่งที่ควรกล่าวถึงไว้ด้วย  คือ  ปัญหาที่เกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำซึ่งมีความหมายคลาดเคลื่อน  เลื่อนลอย  แปลกไปตามกาลสมัย  ตัวอย่างสำคัญคือ  คำว่า  "ปฏิบัติธรรม"  ซึ่งมีความหมายที่แท้ควรได้แก่  การนำเอาธรรมไปใช้ในการดำเนินชีวิต  หรือการดำเนินชีวิตตามธรรม   แต่ปัจจุบันมักเข้าใจคำนี้ในความหมายว่า  เป็นการอบรมทางจิตปัญญาขั้นหนึ่งระดับหนึ่งโดยเฉพาะ  ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปแบบ  และทำไปตามแบบแผนที่กำหนดวางไว้

 สมาธิ เป็นองค์ธรรมที่สำคัญยิ่งข้อหนึ่งก็จริง    แต่ก็มีขอบเขตความสำคัญที่พึงตระหนักว่า   สมาธิมีความจำเป็นแค่ไหนเพียงใด  ในกระบวนการปฏิบัติ  เพื่อเข้าถึงวิมุตติ  อันเป็นจุดหมายของพุทธธรรม    ขอบเขตความสำคัญนี้  อาจสรุปดังนี้

        ๑. ประโยชน์ของสมาธิ    ในการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดหมายของพุทธธรรมนั้น   อยู่ที่การนำมาใช้เป็นที่ทำการสำหรับให้ปัญญาปฏิบัติการอย่างได้ผลที่สุด    และสมาธิที่ใช้ในการนี้ก็ไม่จำต้องเป็นขั้นที่เจริญถึงที่สุด    ลำพังสมาธิอย่างเดียวแม้จะเจริญถึงขั้นฌานสูงสุด  หากไม่ก้าวสู่ขั้นใช้ปัญญาแล้ว    ย่อมไม่สามารถทำให้ถึงจุดหมายของพุทธธรรมได้อย่างเป็นอันขาด

         ๒. ฌานต่างๆทั้ง ๘ ขั้น    แม้จะเป็นภาวะจิตที่ลึกซึ้ง    แต่ในเมื่อเป็นผลของกระบวนการปฏิบัติที่เรียกว่าสมถะอย่างเดียวแล้ว  ยังเป็นเพียงโลกีย์เท่านั้น    จะนำไปปะปนกับจุดมุ่งหมายทางพุทธธรรมหาได้ไม่

         ๓. ในภาวะแห่งฌานที่เป็นผลสำเร็จของสมาธินั้น    กิเลสต่างๆสงบระงับไป  จึงเรียกว่าเป็นการหลุดพ้นเหมือนกัน  แต่ความหลุดพ้นนี้มีชั่วคราวเฉพาะเมื่ออยู่ในภาวะนั้นเท่านั้น    และถอยกลับสู่สภาพเดิมได้  ไม่ยั่งยืนแน่นอน    ท่านจึงเรียกการหลุดพ้นชนิดนี้ว่าเป็นโลกียวิโมกข์ (ความหลุดพ้นขั้นโลกีย์)   เป็นกุปปวิโมกข์ (ความหลุดพ้นที่กำเริบคือเปลี่ยนแปลงกลับกลายหายสูญได้)    และเป็นวิกขัมภนวิมุตติ (ความหลุดพ้นด้วยข่มไว้ คือ กิเลสระงับไปเพราะถูกกำลังสมาธิข่มไว้  เหมือนเอาแผ่นหินทับหญ้า  ยกแผ่นหินออกเมื่อใด  หญ้าย่อมกลับงอกงามขึ้นได้ใหม่)

 

สมาธิที่ควรแก่งานทางจิต

              เกิดได้ ๒ วิธี คือ โดยตามธรรมชาติ หรือสมาธิที่เราใช้ในการทำงานตามปกติ และโดยการบังคับเอาด้วยเทคนิค เช่นการเจริญวิปัสสนาต่างๆ ท่านพุทธทาสให้ความเห็นว่า อย่าได้ดูแคลนสมาธิตามธรรมชาติ เพราะในพุทธกาล มีผู้บรรลุอรหันต์มากมายโดยวิธีนี้

               สำหรับการสร้างสมาธิ วิปัสสนาโดยวิธีธรรมชาตินั้น

               กระบวนการเริ่มจากการศึกษาพุทธศาสนา ศึกษาจนเข้าใจ  มองโลกอย่างถูกต้องตามเป็นจริง แล้วรักษาศีล คือปรับปรุงในเรื่องกายวาจาให้ดี แล้วก็ดำเนินสมาธิ

              แล้วการศึกษานั้น ควรศึกษาอะไร ?

              “ พระพุทธศาสนาคือวิชา หรือวิธีปฏิบัติเพื่อให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ที่ว่ารู้อะไรเป็นอะไรนั้น คือ รู้ทุกสิ่งว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สัตว์หลงไปในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้ก็เพราะอำนาจของอุปาทาน จึงได้ติดแน่นอยู่ในสิ่งเหล่านั้น ไตรสิกขา เป็นวิธีปฏิบัติสำหรับจะให้ตัดอุปาทานได้ และชี้บอกว่า ขันธ์ ๕ หรือส่วน ๕ ส่วนที่ประกอบกันขึ้นเป็นโลกนี้เอง เป็นที่ตั้งเกาะของอุปาทาน ฉะนั้น เราจะต้องศึกษาให้รู้จักตัวขันธ์ห้า หรือโลกทั้งสิ้นนี้ให้ถูกต้องตามที่เป็นจริง จึงจะเกิดความรู้แจ้งแทงตลอดชนิดที่เป็นญาณทัสสนะ ทำการปล่อยวางหลุดพ้นได้ ”

             เมื่อศึกษาอย่างถ่องแท้ เกิดทัศนคติที่ถูกต้องต่อธรรมชาติ จึงรักษาศีล สิ่งที่จะเกิดตามมาคือสิ่งที่เรียกว่า ปราโมทย์ และ ปิติ ในทางธรรม

              ปิติที่เกิดอย่างสม่ำเสมอนี้เอง เป็นตัวนำไปสู่สมาธิ

             นั่นคือ เมื่อทำความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ทำทานหรือให้ธรรมทาน หรือพอใจในตนเองว่ารักษาศีลจนตนไม่ด่างพร้อย ก็เกิดความเคารพตนเอง จึงเกิดความปราโมทย์ และ ปิติ ขึ้น

             ปิตินั้นมีอำนาจอยู่ในตัวอย่างหนึ่ง คือทำให้เกิด ปัสสัทธิ ความสงบระงับ เมื่อมีความสงบระงับ ก็ย่อมเกิดสมาธิ คือจิตอยู่ในสภาพที่เป็น กมฺมนิโย  อันเป็นจิตที่มีสมาธิที่แท้จริงในการปฏิบัติธรรมจนเกิดปัญญาเพื่อตัดกิเลส

            เมื่อพิจารณาไตรลักษณ์ด้วยปัญญาอย่างสม่ำเสมอ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างสม่ำเสมอ สิ่งที่เกิดตามมาคือยถาภูตญาณทัสสนะ หรือก็คือที่ท่านสรุปสั้นๆคือเห็นว่า ไม่มีอะไรน่าเอา ไม่มีอะไรน่าเป็น

            จนเมื่อความรู้สึกแรงกล้าขึ้น ก็จะเกิดนิพพิทา หรือความเบื่อหน่าย อยากปลดเปลื้องตนเองจากการเป็นทาสกิเลสขึ้น ตามสัดส่วนของการเห็น

             เมื่อเบื่อหน่ายแล้ว ย่อมเกิด วิราคะ หรือความคลายกำหนัดตามมาเองโดยธรรมชาติ

             สิ่งที่ตามมาคือ วิมุตติ คือความหลุดออกได้

             เมื่อมีความหลุดออกได้ ไม่ตกเป็นทาสของโลกอีกต่อไป ก็จะมีอาการที่เรียกว่า วิสุทธิ คือบริสุทธิ์ ไม่เศร้าหมอง

             เมื่อบริสุทธิ์อย่างแท้จริง ก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า สันติ คือความสงบอันแท้จริงสืบไป เป็นความร่มเย็นที่ปราศจากการรบกวน ปราศจากการดิ้นรนต่อสู้

            จากสันติ ก็คือนิพพาน ท่านพุทธทาสว่าสันติกับนิพพานนี้แทบจะไม่ต้องแยกกัน ที่แยกกันก็เพื่อจะได้เห็นว่าเมื่อสงบ ก็นิพพาน

            “ สรุปความว่า สมาธิ และวิปัสสนาตามธรรมชาติที่ทำให้บุคคลบรรลุมรรคผลได้ในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคตรงที่นั่งฟังนั้นเอง และเป็นวิธีที่เหมาะกับทุกคนนั้น ตั้งอาศัยอยู่บนรากฐานแห่งการพิจารณาความจริงในข้อที่ว่า ไม่มีที่น่าเอาน่าเป็นอยู่เป็นประจำทุกวัน 

                    หลายคนคิดว่าธรรมะเป็นเรื่องยาก ต้องนั่งสมาธิตัวแข็งทื่อได้หลายชั่วโมง จึงจะดีทำให้ไม่สนใจไม่ลองปฏิบัติ ซึ่งวิทยาศาสตร์ในตอนนี้ก็พิสูจน์ถึงข้อดีของสมาธิมากมาย แต่ก็ยังมีหลายเจ้าสำนักหลงทางยึดเอาเป็นเป้าหมาย นึกว่าเป็นนิพพาน เกิดนิมิตต่างๆมากมาย อย่างที่ทุกคนรู้กันว่าการนั่งสมาธิภาวนา นั้นมีมาก่อนพระพุทธเจ้าเกิด มีทั้งโยคี ฤาษี ชีไพร มากมายแต่ถ้าใช้สมาธิเพียงอย่างเดียวไม่ใช้ปัญญาในการพิจารณาก็จะติดอยู่แค่ในระดับ โยคีทั้งหลาย พระพุทธเจ้าได้ทดลองด้วยตนเองแล้วเห็นว่าไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ แต่ก็เป็นพื้นฐานที่ดีที่จะทำให้หลุดพ้น ดังหลัก ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ทุกคนควรจะรักษาศีลเป็นพื้นฐานแรกเริ่มแล้วฝึกสมาธิเพื่อให้เกิดปัญญา           จึงอยากให้ทุกคนได้พิจารณาจะได้ไม่ต้องไปหลงกับเจ้าลัทธิที่มีมากขึ้นทุกวัน

          โดยหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี จากสิ้นโลก เหลือธรรม บางอาจารย์เมื่อเกิดนิมิตขึ้นมาแล้ว สอนให้ถือเอานิมิตนั้น เป็นขั้นเป็นชั้นของมรรคทั้ง ๔ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น เช่น นิมิตเห็นแสงเล็กเท่าแสงหิ่งห้อย ได้สำเร็จพระโสดาบัน เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาหน่อยเท่าแสงดาว ได้สำเร็จชั้นพระสกทาคามี เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาเท่าแสงพระจันทร์ ได้สำเร็จชั้นพระอนาคามี เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาเท่าแสงพระอาทิตย์ ได้สำเร็จชั้นพระอรหันต์อย่างนี้เป็นต้น ไปถือเอาแสงภายนอก ไม่ถือเอาใจของคนที่บริสุทธิ์มากน้อยเป็นเกณฑ์ ความเห็นเช่นนั้น ยังห่างไกลจากความเป็นจริงนัก ..นิมิตเกิดจากภวังค์เป็นส่วนมาก ภวังค์เป็นอุปสรรคของมรรคโดยเฉพาะอยู่แล้ว มันจะเป็นมรรคได้อย่างไร

          แท้ที่จริงนิมิตทั้งหลาย ดังที่อธิบายมาแล้วก็ดี หรือนอกไปกว่านั้นก็ดี ถึงไม่ใช่เป็นทางให้ถึงความบริสุทธิ์จริงแล แต่ผู้ปฏิบัติทั้งหลายจะต้องได้ผ่านทุกๆคน เพราะการปฏิบัติเข้าถึงจิตรวมเข้าถึงภวังค์แล้วจะต้องมี เมื่อผู้มีวาสนาเคยได้กระทำมาเมื่อก่อน เมื่อเกิดนิมิตแล้ว จะพ้นจากนิมิตหรือไม่ ก็แล้วแต่สติปัญญาของตน หรือ อาจารย์ผู้นั้นจะแก้ไขให้ถูกหรือไม่ เพราะของพรรค์นี้ต้องมีครูบาอาจารย์เป็นผู้แนะนำ ถ้าหาไม่แล้วก็ต้องจมปรัก คือนิมิต นานแสนนาน เช่น อาฬารดาบส และอททกดาบส เป็นตัวอย่าง

          โดยพระมหาบัว ญาณสัมปันโน จากหลักเกณฑ์การปฏิบัติสมาธิ ปัญญา มีความว่า หลักใหญ่ให้จิตสงบได้นั้นแหละของดี เพียงจิตสงบเท่านั้นก็ตัดความกังวลวุ่นวาย ซึ่งเคยประจำจิตเสียดแทงจิตออกได้โดยลำดับลำดา จนถึงกับเป็นขั้นสบาย เพราะฉนั้นผู้ภาวนาเมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว จึงมักขี้เกียจในการพิจารณาธรรมหทั้งหลายด้วยปัญญานอนจมอยู่กับสมาธินั้นเสียไม่ออกพิจารณา สุดท้ายก็เข้าใจว่าความรี่แน่วแนแห่งความเป็นสมาธิของตนนั้นเป็นนิพพานไปเลย จึงได้นำมาอธิบายให้ทราบ ว่าสมาธิต้องเป็นสมาธิ ปัญญาต้องเป็นปัญญา เป็นคนละสัดเป็นคนละส่วน เป็นคนละอันจริงๆ ไม่ใช่อันเดียวกัน หากเป็นอยู่ในจิตอันเดียวกันนั่นแล เป็นแต่เพียงไม่เหมือนกัน ผู้ที่เป็นสมาธิ ถ้าไม่ออกพิจารณาทางด้านปัญญา จะเป็นสมาธิอย่างนั้นตลอดไป จนกระทั่งวันตาย ก็หาเป็นนิพพานได้ไม่ หาเป็นปัญญาได้ไม่

         

         จากข้อพิจารณาที่กล่าวมานี้  จะเห็นว่า  ในการปฏิบัติเพื่อเข้าสู่จุดมุ่งหมายของพุทธธรรมนั้น  องค์ธรรมหรือตัวการสำคัญที่สุดที่เป็นตัวตัดสินใจในขั้นสุดท้าย  จะต้องเป็นปัญญา   และปัญญาที่ใช้ในการปฎิบัติการในขั้นนี้  เรียกชื่อเฉพาะได้ว่า  วิปัสสนา    ดังนั้น  การปฏิบัติจึงต้องก้าวมาถึงขั้นวิปัสสนาด้วยเสมอ    ส่วนสมาธิ  นั้นแม้จะจำเป็น  แต่อาจยืดหยุ่นเลือกใช้ขั้นใดขั้นหนึ่งก็ได้    เริ่มแต่ขั้นต้นๆ ที่เรียกวิปัสสนา-สมาธิ    ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับขณิกสมาธิ  และอุปจารสมาธิ  เป็นต้นไป

     ส่วนพวกที่ไม่ชอบการปฏิบัติสมถะวิปัสสนากรรมฐานแบบนั่งหลับตา ก็กล่าวโจมตีอีกฝ่ายว่าเป็นพวกเห็นแก่ตัวมัวแต่นั่งหลับตาจะได้อะไร โลกปัจจุบันมันเจริญแล้ว ต้องลืมตาดูความเจริญของมัน ต้องต่อสู้ มิฉะนั้นจะตามไม่ทัน ต่างฝ่ายต่างยกว่าสำนักของตนดี ญาติโยมที่ไปปฏิบัติธรรมก็ติดอาจารย์กันทั้งนั้น อาจารย์ก็หวงศิษย์ บางแห่งไม่ให้อ่านหนังสือของสำนักอื่น แต่สำนักตนก็ไม่มีหนังสือให้อ่าน อาจารย์เหล่านี้ใจคับแคบ ต้องมีใจกว้างไปถึงศาสนาอื่นเลย ยึดถือสำนัก ยึดถือสำนักเถียงกัน ยึดถือศาสนา ยึดถือชาติแล้วก็รบกัน ต้องให้จิตปล่อยวาง

          เวลาเราไปด่าเขา เราก็ไม่เคยสำรวจตนเอง เขาด่าเรา เราก็กลับมาสำรวจตน ถ้ามีส่วนให้เขาด่าได้ก็ควรยอมรับปรับปรุง ขอบใจเขาที่ด่าเราถ้าไม่ใช่ก็ไม่ต้องสนใจ  ไม่ว่าท่านจะชอบการปริยัติ(ทฤษฎี) หรือการปฏิบัติ(การกระทำ) สำหรับผู้ที่ฝึกตนแล้วก็จะมีสติสัมปชัญญะไม่ว่าอยู่ในอิริยาบถใด ก็จะมีปฏิเวธ(ซึ่งเป็นผลของการปฏิบัติ)

     ถ้าท่านต้องการปลูกต้นไม้ ท่านเรียนทฤษฏีเพียงอย่างเดียว ต้นไม้ก็ไม่งอก จะปฏิบัติอย่าง

เดียวไปปลูกแล้วได้วัชพืชขึ้นมาก็ไม่รู้ หลงเข้าใจผิดคิดว่าตนสำเร็จ จนมีผู้คิดว่าตนบรรลุไปเปิดสอนเป็นนิกาย เป็นลัทธิผิดไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้า ถึงขนาดบอกได้ว่านิพพานมีลักษณะอย่างไร หรือสามารถนั่งสมาธิไปถวายข้าวพระพุทธเจ้าได้ก็มี ฉะนั้นผลของการปฏิบัติจึงเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าที่จะมาเถียงกันว่าวิธีใดดีกว่ากัน เราเห็นพระผู้ใหญ่ ผู้สอน มากมายยังยึดติดยึดถือ แสดงอารมณ์โกรธกับเรื่องเล็กน้อยอาหารไม่อร่อยก็ไม่พอใจ อยากกินอย่างนั้นอย่างนี้ รถคันเล็กไม่สบายก็ไม่อยากนั่ง กุฏิไม่มีเครื่องปรับอากาศก็ไม่สมฐานะ คงไม่สู้คนงานวัดคนหนึ่งที่ตอนเราไปบวช แม้จะมีความลำบาก แล้วยังต้องประสบเคราะห์ถูกขโมยรถจักรยานยนต์ ยังไม่แสดงอารมณ์โกรธเกลียด หงุดหงิดออกมา เหมือนไปถุยเมล็ดพืชทิ้งไว้แต่กลับงอกงาม ก็ดีกว่ามาศึกษา ปฏิบัติกันแล้วมีแต่การยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเองดีตัวเองเก่งไม่ได้ผลอะไร

     พระพุทธศาสนาสอนให้สันโดษ หลีกเว้นจากการสะสมทรัพย์ การสะสมอำนาจไม่ใช่เรื่อง

ที่พระพุทธเจ้าสอน เหล่าญาติโยมก็สามารถพินิจวิเคราะห์ได้ง่ายๆอย่าไปงมงายยึดติดแต่คำพูด เพราะพวกนักต้มตุ๋น พวกอาศัยผ้าเหลืองหลอกคนไม่สามารถจะมีสมณะสัญญา(ความรู้ตัวในการที่ตนเป็นพระ) ในเรื่องวัตรปฏิบัติ ความสันโดษ มักน้อย เรื่องอินทรีย์สังวร สมาธิ ความอดทนในการทำงาน ความเพียร  ความสำรวมระวังตัว ความรอบคอบในการพูด สำรวมวาจา การรักษาศีล ความประมาณในการบริโภค  ถ้ามีคำสอนให้มาเป็นพรรคพวกเรา เอาเงินมาให้ฉันเยอะๆ ต้องสร้างสิ่งก่อสร้างใหญ่โต ซื้อที่มากมาย อย่างนี้ถ้าพอมีสติปัญญาก็จะรู้ว่าไม่ถูกต้อง แต่ทุกวันนี้ก็ไม่มีคณะสงฆ์ไปว่ากล่าวตักเตือนอะไร ไม่มีใครเตือนใครลงโทษ ตรวจสอบคณะสงฆ์ก็อ่อนแอ เกิดความเสื่อมศรัทธา ฉะนั้นฆราวาสก็ต้องมีหน้าที่ในการตรวจสอบพระ ช่วยพระคิดถึงการจะพัฒนาเพราะภัยแห่งความเป็นพระในปัจจุบันคือเงินและกามคุณ พระสงฆ์เมื่อมีเงิน ฉันอาหารดีๆ อยู่อย่างสบาย มีเครื่องอำนวยความสะดวกอำนวยความสุขทุกอย่าง กามราคะย่อมเกิดเป็นธรรมดา เมื่อมีเงินมากๆเงินย่อมบันดาล ยศ กามคุณ และอื่นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ ความเป็นพระก็จะค่อยๆหมดไปทีละน้อยๆ ในที่สุดความละอายก็จะหมดไปจะกลายเป็นอลัชชี ทำได้ทุกอย่าง ลองได้ปาราชิกสักข้อได้แล้วก็มาม่า รสหมูสับ (อย่างอื่นไม่ต้องพูดถึง) ละเมิดได้ทุกข้อ พระไตรปิฎกไร้ราคีในเรื่องเงินและกามคุณโดยประการทั้งปวง เรื่องสีกาท่านก็ระวังเป็นพิเศษ ฉะนั้นถ้ามีพระสงฆ์องค์ใดที่ พยายามจะพูดให้การที่ตนนั้นมีความสบาย มีการสะสมทรัพย์สิน ยังยึดติดอยู่กับรส ไม่ต้องรวมถึงการควบคุมอารมณ์ที่จะแสดงออกถึงความโง่และโกรธ หงุดหงิดได้ทุกเรื่อง  ญาติโยมก็น่าจะตัดสินใจได้เองว่าคนดีชอบแก้ไข คนอะไรชอบแก้ตัว ไม่ว่าจะมีความสามารถในการพูดให้ตนดูดีเท่าใด เพียงใช้หลักเกณฑ์เหล่านี้ตัดสินง่ายๆ เพราะคนเหล่านี้เมื่อไม่มีธรรมอยู่ในใจ ก็จะติดความสบาย ญาติโยมก็อย่าไปให้ถูกหลอกเสียทรัพย์เสียความรู้สึก หรือบางรูปประพฤติดี พูดดี อยู่อย่างสมถะ แต่ครอบครัว คนรอบข้าง มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเกินปกติ พระหลายรูป ครอบครัวฐานะธรรมดา เมื่อได้ตำแหน่งเมื่อได้โอกาส ครอบครัวอยู่ๆก็มีบ้าน มีรถ เงินใช้เหลือเฟือ อันนี้ญาติโยมก็ไม่น่าจะต้องสงสัย

     พระพุทธศาสนาเสื่อมสูญไปจากอินเดียก็เพราะเกิดสัทธรรมปฏิรูปสร้างขึ้นโดยพราหมณ์ที่

ปลอมตัวไปบวชในพระพุทธศาสนา ในที่สุดก็ถูกศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูกลืน เพราะเหล่าพุทธบริษัทบางพวกในยุคนั้นเป็นต้นแบบให้พุทธบริษัทบางเหล่าในยุคนี้ เพื่อให้พระพุทธศาสนา ในเมืองไทยกลายเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาฮินดูไป

     เหล่าประชาชนทั้งหลายทุกวันนี้ท่านเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดกับปัญหาสังคมทุกวันนี้

เกิดจากความงมงายยกตัวอย่าง นั่งหาอาจารย์นั้น หลวงพ่อนี้ให้เลขแม่น บนเทพเจ้าองค์นั้น บนเจ้าแม่องค์นี้ อยากให้ลองคิดถึง สัจจะธรรมว่า

 

คนกินสัตว์ สัตว์กินพืช พืชกินดิน ดินกินคน เป็นวงจรธรรมชาติ

 

ฉะนั้นหวยมันอยู่ใต้ดินก็กินคนเหมือนกัน หรือจะเปลี่ยนมาเล่นหวยบนดิน สลากกินแบ่ง

รัฐบาล ชื่อก็บอกแล้วว่า สลากกิน แบ่งรัฐบาล ไม่ใช่ สลากกิน แบ่งประชาชน หรือถ้าลองนึกถึงเทพต่างๆที่เราไปอ้อนวอน วันหนึ่งมีเป็นร้อยคน ครึ่งเดือนหนึ่งมีคนขอเหมือนเรากี่คน เทพเจ้าจะใช้เกณฑ์ใดตัดสิน หรือนักกีฬาแข่งขันวิ่งรายการหนึ่งมีเป็นร้อยคน ถ้าทุกคนขอแล้วเทพจะช่วยใคร ใครให้สินบนเยอะก็ได้ไปหรืออย่างไร พวกคนอะไรที่ชอบแก้ตัวก็จะบอกว่าเพื่อความสบายใจไม่เชื่ออย่าลบหลู่ พูดเพื่อปิดบังโมหะของตน ปิดบังความอ่อนแอ แม้แต่ศรัทธายังไม่มีแล้วจะไปขอทำไม เผื่อไว้ก่อน ไม่เสียหาย ท่านไม่รู้ว่าได้ก่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรม ของสังคมไร้ปัญญา สร้างปัญหาให้กับสังคม ดูง่ายๆ  โดยเฉพาะเรื่องปัญหาคอรัปชั่น การโกงกิน การติดสินบน เส้นสาย ก็อย่าไปโทษใครเพราะถ้าท่านเองยังสวดมนต์เพื่ออ้อนวอน ทำบุญเพื่อหวังสวรรค์ เซ่นสรวง บนบานเทพเจ้า ทุกวันนี้เทพเจ้าก็อวตารลงมาให้ท่านเซ่น สินบน อ้อนวอน กันได้อย่างที่ท่านต้องการแล้วในรูปคนเป็นๆ ทั้งนักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ ครูอาจารย์ ไม่เว้นแม้แต่พระสงฆ์ ท่านเองก็น่าจะเห็นได้ในโลกความเป็นจริงว่าคนเหล่านี้กระทำพฤติกรรมน่ารังเกียจเช่นใด แล้วท่านยังจะมัวไปกราบไหว้เทวดา เทพเจ้าที่รับสินบนทำไม คงถึงเวลาแล้วที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจถึงพุทธศาสนาที่แท้จริง เพื่อที่จะพัฒนาตนเองและสังคมให้ดีขึ้นได้ ขอเพียงท่านไม่งมงาย ศึกษาและลงมือปฏิบัติ ก็ไม่จำเป็นต้องไปอ้อนวอน บูชายัญให้ใครอีก

     การเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีเรายกย่องเชิดชู สรรเสริญพระที่ดีได้แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไป

รบกวนไปสนทนาธรรม ทั้งๆที่เขียนไว้แล้ว พูดไว้แล้วก็ไม่เคยได้สนใจกัน พระองค์ไหนดังก็รบกวนให้ไปเทศน์ ไปพูด ไปประกอบพิธีกรรมต่างๆกันจนมากมาย อย่ายึดติดกับการมุ่งที่บุคคลหรือความวิเศษของพระท่าน  เพราะพระสงฆ์แม้จะประพฤติดีปฏิบัติดีจะบรรลุในขั้นใดก็ตามก็ช่วยท่านไม่ได้ถ้าท่านไม่ปฏิบัติ สุดท้ายก็กลายเป็นงมงายเป็นลัทธิกันไป

 

 

เรื่องสิ่งก่อสร้างใหญ่โต พุทธพาณิชย์

 

          เรื่องการก่อสร้างสิ่งใหญ่โต พุทธพาณิชย์ ก็เป็นเรื่องที่ต้องระวังให้มากต้องจับหลักได้ก่อนว่าอะไรเป็นตัวงานพระศาสนาที่แท้ เมื่อจับตัวงานหลักได้แล้ว เรื่องอื่นๆ ก็เอามาสนองงานหลักนั้น

          งานหลักของพระพุทธศาสนา ก็คือ ไตรสิกขา หรือการศึกษาฝึกพัฒนาพฤติกรรม จิตใจ และปัญญาให้เจริญงอกงามดียิ่งขึ้นไตรสิกงานเป็นงานของชีวิต เป็นหน้าที่ของทุกคนโดยเฉพาะพระสงฆ์ที่จะต้องฝึกอบรมพัฒนาตนเอง และช่วยแนะนำสั่งสอนให้ประชาชนพัฒนาตัวเขาขึ้นไป จึงมีงานการศึกษา ปฏิบัติ และเผยแผ่ธรรมเป็นศาสนกิจ

          ส่วนการสร้างอาคารเป็นต้น ก็เพราะความจำเป็นในการใช้งาน เพื่อมาสนองงานศึกษา ปฏิบัติ  และเผยแผ่สั่งสอนธรรมนี้ จึงมีหลักปฏิบัติว่า นอกจากดูกำลังทรัพย์เป็นต้นแล้ว ควรสร้างตามความจำเป็นในการใช้งาน เพื่อสนองงาน ให้คุณค่ามาอยู่ที่ตัวงานแห่งไตรสิกขานั้น ไม่ใช่ให้คุณค่าเขวไปอยู่ที่สิ่งก่อสร้าง แม้คุณค่าทางศิลปะเป็นต้น ก็ต้องมาเป็นเครื่องหนุนตัวงานหลักนั้น ถ้าจับตัวหลักนี้ไม่ได้ ไม่นานก็จะเพี้ยนกันไปหมด

 

 

เรื่องการระดมทุน

          แน่นอนว่า เมื่อพูดตามหลักการ ถ้าจะมีการใช้ทุน ก็ต้องมุ่งเพื่อสนองงานหลัก คือการเจริญไตรสิกขา หรือพูดอย่างคำสมัยใหม่ว่า ต้องใช้เพื่อการพัฒนาคุณภาพคน ยิ่งเวลานี้ เศรษฐกิจฝืดเคือง ผู้คนเดือดร้อน ก็ต้องตัดการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย นอกจากใช้จ่ายอย่างประหยัดโดยทั่วไปแล้ว ก็ต้องเน้นการสร้างคน เพื่อสร้างชาติระยะยาว

          ถ้าพูดในแง่ของคนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทุน ก็มีหลักการว่าคติพระพุทธศาสนามุ่งให้แผ่ขยายประโยชน์สุขออกไปแก่พหูชน เพราะฉะนั้น ตั้งแต่แรกเกิดพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าจึงทรงส่งพระสาวกจาริกออกไปยังถิ่นของประชาชน เป็นการไปเพื่อเขา นำเอาธรรมและประโยชน์สุขไปให้แก่เข้าให้ทั่วถึง ไปอยู่กับเขาไม่กลัวความห่างไกลกันดาร ทั่วทุกถิ่นแดน

          แม้เมื่อสอนคติธรรมแก่ผู้ปกครองบ้านเมือง พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนหลักจักรวรรดิวัตร ให้ธรรมิกราชอำนวยอารักขาบำรุงคุ้มครองแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า จนถึงชาวชนบท หมู่ชนชายแดน ตลอดจน เนื้อ นก สัตว์บก สัตว์บินทั้งหมด

          การคำนึงถึงประโยชน์สุขของมหาชนลงไปจนถึงที่สุดนี้แหละเป็นคุณสมบัติชองมหาบุรุษในความหมายของพระพุทธศาสนาดังที่เรียกว่า พระคุณแห่งมหากรุณา หาใช่ความใหญ่โตโอ่อ่ามั่งคั่ง หรือความยิ่งใหญ่แห่งทรัพย์และอำนาจแต่ประการใดไม่

          การระดมทุนควรมุ่งเพื่อดำเนินการแผ่ขยายประโยชน์สุขไปให้แก่ประชาชนอย่างกว้างขวางทั่วถึง โดยคำนึงให้มากถึงชาวบ้าน หรือเพื่อนมนุษย์อีกมากมาย ที่ยังทุกข์ยากเดือดร้อนหรือยากไร้ทั้งใกล้และไกล มิใช่เอามากองไว้ที่เดียวให้ดูเด่น ยิ่งใหญ่ ตื่นตา ตื่นใจ แล้วพลอยทำให้พหูชนถูกมองข้าม เลือนลืมไป และทรัพย์นั้นไม่ออกผลเป็นประโยชน์สุขแก่ประชาชน

          สำหรับประเทศชาติยามนี้ จะต้องเน้นย้ำเป็นพิเศษ ให้พระสงฆ์มีความเข้มแข็ง ยืนหยัดในหลักการที่จะดำรงรักษาธรรมไว้ให้แก่โลก โดยไม่ยอมแก่ลาภสักการะและความสุขสบายส่วนตน จะต้องมุ่งมั่นปฏิบัติตามคติแห่งพระพุทธประสงค์ ที่ให้พระสงฆ์บำเพ็ญกิจสั่งสอนธรรม นำประชาชนให้ก้าวไปในไตรสิกขา เพื่อประโยชน์และความสุขแก่พหูชน ด้วยเมตตาการุณย์แก่ชาวโลกทั้งหมด

          เรื่องอย่างนี้ อยากให้ประชาชนรู้จักเรียนรู้ ศึกษาหลักการของพระศาสนา แล้วรู้จักพินิจพิจารณาใช้ปัญญาวินิจฉัยได้ด้วยตนเอง ความเจริญของประชาชนในพระศาสนา และความเจริญของพระพุทธศาสนาในหมู่ประชาชน จึงจะเกิดขึ้นได้

 

 

          ตามปกติพระเจ้าอโศกนี้ ก็เช่นเดียวกันกษัตริย์สมัยโบราณจำนวนมาก ที่มุ่งจะแสวงหาความยิ่งใหญ่ให้แก่ตนเอง และต้องการบำรุงบำเรอความสุขส่วนตน อย่างที่เรียกว่า แสวงหาโภคะและยศ หรือแสวงหาทรัพย์และอำนาจ เพื่อบำรุงบำเรอตัวเอง และเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของตนทรัพย์และอำนาจ โดยทั่วไปมักจะมีความหมายอย่างนี้หรือที่เห็นได้ในสมัยนี้ ทั้งๆมีคนที่ยังเดือดร้อนขาดแคลนแม้กระทั่งอาหารและน้ำแต่ก็พบเห็นได้ทั่วไปตามสื่อต่างๆที่เศรษฐีทั้งหลายนั้น ยังมีพฤติกรรมการใช้เงินที่น่าจะเกิดประโยชน์กว่านี้ ทั้งการมีบ้านใหญ่โตหรูหรา ที่พักตากอากาศมากมาย แต่สุดท้ายก็นอนได้แค่คืนละที่ เสื้อผ้าเครื่องประดับมากมายราคาแพงมหาศาลแต่ก็ใส่ได้ทีละชุด หรือแม้กระทั่งหมดกับค่าเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงมากกว่าเงินกินอยู่ของทั้งหมู่บ้าน การแสดงกิเลสเช่นนี้ กลับได้รับการยกย่องเชิดชู ผู้ทำก็กระทำด้วยความภูมิใจ ไม่คำนึงคุณค่าแท้ กับคุณค่าเทียม

          สิ่งของทุกสิ่งจะมีคุณค่าแท้ของตนเอง เช่น เสื้อผ้า มีเพื่อ ปกปิดกาย ป้องกันความหนาวร้อน หรือ รถยนต์ ใช้เป็นยานพาหนะ สะดวก ปลอดภัย

          แต่สำหรับมนุษย์ปุถุชนแล้ว มักจะมีคุณค่ารองซ้อนเข้ามาเสริมเติมอีก คือความรู้สึก สวยงาม โก้ หรูหรา อวดกัน วัดกัน แข่งกัน เป็นต้น

          มนุษย์นั้นมักจะติดอยู่กับกิเลสสามระดับ คือ

-          ระดับการตอบสนองพื้นฐานของร่างกาย เช่น ความหิว อยากกินนั่นนี่  อยากฟังอยากดูแต่สิ่งบันเทิง อยากกาม ต้องเป็นคู่กับคนนั้นคนนี้ เป็นต้น

-          ระดับของวัตถุ ไปหลงใหลกับตัววัตถุ เช่น การติดของใช้หรูหรา การมีสิ่งของที่ต้องแสดงฐานะ การสะสมสิ่งของต่างๆ เพราะคนเราทุกวันนี้ตัดสินกันที่ภายนอก

-          ระดับของการยอมรับของผู้อื่น เกียรติยศ ชื่อเสียง ต้องการเป็นที่รู้จัก ต้องการได้รับการสรรเสริญ พยายามทุกอย่างเพื่อให้ได้อำนาจเป็นต้น

         

          ที่นี้ ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายอาจคิดไม่ถึง เช่นการที่ยามทำความเคารพนั้น เค้าทำความเคารพรถที่ท่านนั่งชุดที่ท่านใส่ ลองเปลี่ยนรถเปลี่ยนชุดแล้วขับมาเอง ยามก็ยังไม่สนใจ บริกรยังไม่เปิดประตูให้ด้วยซ้ำ หรือน่าจะลองดูจากตัวอย่างของหลายๆประเทศที่ผู้นำทั้งหลายเลือกจะกอบโกย และตอบสนองความต้องการของตนสุดท้ายก็ถูกประชาชนปฏิวัติและยึดอำนาจ ดังนั้นเมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชหันมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ทางธรรมสอนว่า ทรัพย์สินเงินทองและความยิ่งใหญ่ ทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจัง เป็นสิ่งไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่มีสาระที่แท้จริง ไม่ควรจะเอาชีวิตไปฝากไว้กับสิ่งเหล่านี้ ไม่ควรหวังความสุข หรือความประเสริฐจากทรัพย์สินเงินทองและอำนาจ

          ฉะนั้น ทรัพย์สินเงินทองก็ไม่มีความหมายที่แท้จริง

          เมื่อทรัพย์สินเงินทองไม่มีความหมายแล้ว มองในแง่หนึ่ง ก็จะทำให้เกิดความเบื่อหน่าย เพราะว่าเมื่อมองเห็นทรัพย์สินเงินทองเป็นเพียงของนอกกาย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นอนิจจัง ไม่มี คุณค่าที่แท้จริง ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็ไม่ควรเอาใจใส่ นี่คือท่าทีอย่างหนึ่งต่อทรัพย์สมบัติ

          ถ้าพระเจ้าอโศกทรงมองเห็นอย่างนั้น พระองค์ก็คงจะไม่เอาพระทัยใส่กับพระราชทรัพย์และอำนาจต่อไป ซึ่งก็จะต้องตั้งคำถามว่า จะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องหรือไม่

          ปรากฏว่า พระเจ้าอโศกได้ทำสิ่งหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นแบบอย่างแก่ชาวพุทธที่สำคัญคือ พระเจ้าอโศกนั้น ไม่ได้ทรงทิ้งทรัพย์และอำนาจ แต่ได้ทรงเปลี่ยนความหมายของทรัพย์และอำนาจเสียใหม่

          อย่างที่ได้กล่าวไว้เมื่อกี้ว่า ทรัพย์และอำนาจนั้นมีความหมายสำหรับปุถุชนจำนวนมาก คือเป็นเครื่องบำรุงบำเรอความสุขของตน และแสดงความยิ่งใหญ่

          แต่พระเจ้าอโศกได้ทรงเปลี่ยนความหมายของทรัพย์และอำนาจใหม่ว่า ทรัพย์และอำนาจนั้น สามารถใช้เป็นเครื่องมือของธรรมชาติได้ คือใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ ทำความดีงามและประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน

          ด้วยความคิดเช่นนี้ พระเจ้าอโศกก็ทรงนำเอาทรัพย์สมบัติและอำนาจที่พระองค์มีอยู่นั่นแหละมาใช้ แต่เปลี่ยนใหม่ คือแทนที่จะเอามาบำรุงบำเรอตนเอง ก็เอามาใช้สร้างสรรค์ความดีงามและประโยชน์สุข

         

พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงให้ความหมายใหม่แก่ทรัพย์และอำนาจ แล้วก็ทรงให้บันทึกไว้ในศิลาจารึกของพระองค์

          ศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกแห่งหนึ่ง มีข้อความจารึกไว้ว่า ยศ คือความยิ่งใหญ่ของพระองค์นั้น จะไม่มีความหมายเลย ถ้าไม่เป็นไปเพื่อช่วยให้ประชาชนได้ประพฤติกรรม

          หมายความว่า พระเจ้าอโศกได้ทรงใช้ทรัพย์และอำนาจ เป็นเครื่องมือแห่งธรรม เพื่อเผยแพร่ธรรมหรือสร้างสรรค์ธรรม ทำให้ความดีงามหรือธรรมนี้แผ่ขยายไปในหมู่มนุษย์ เพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สุขอันแท้จริง อันนี้เป็นคติที่สำคัญมาก       คำว่า “ยศ” ในภาษาบาลีนั้น แปลง่ายๆ ว่า ความยิ่งใหญ่ มี 3 อย่างคือ

1.    เกียรติยศ ยศ คือเกียรติได้แก่ความมีชื่อเสียง มีเกียรติคุณ

2.    อิสสริยยศ ยศ คือ ความยิ่งใหญ่

3.    บริวารยศ ยศ คือ บริวาร

 

คนที่มีความคิดดีๆ มีเจตนาดี มีสติปัญญาดี แต่ถ้าไม่มีทรัพย์ ไม่มีอำนาจ ไม่มียศ ก็ไม่

สามารถสร้างสรรค์ ความดีงามหรือประโยชน์สุขได้มาก เราคิดขึ้นมาว่าจะทำการที่ดีเป็นประโยชน์สัก อย่างหนึ่ง แต่ไม่มีเงิน บริวาร อำนาจ จะทำได้นิดเดียวก็จบ แต่ถ้ามีทรัพย์ อำนาจ บริวารแล้ว พอมีสติปัญญาดี มีความคิดดีๆขึ้นมา ก็สามารถทำได้เกิดผลกระจาย ขยายออกไปได้กว้างขวาง เหมือนดังพระเจ้าอโศกมหาราช

          เรื่องนี้จึงเป็นคติแบบอย่างที่ดี ที่ให้หลักแก่เราในการปฏิบัติต่อทรัพย์และอำนาจอย่างที่กล่าวมานี้ ชาวพุทธมีคติว่า เราได้เรียนรู้ธรรมแล้วว่า ทรัพย์สินเงินทองและอำนาจนี้ เป็นของนอกกาย ไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน และไม่เป็นแก่นสารแท้จริง จึงไม่ควรยึดถือเป็นจุดหมายของชีวิต

          ข้อนี้หมายความว่า เราไม่ได้เห็นความหมายของทรัพย์และอำนาจในแง่ที่เป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัว หรือเป็นประโยชน์ส่วนตน และไม่ยึดติดตกเป็นทาสของมัน ให้เกิดก่อทุกข์ภัยทั้งแก่ตนและผู้อื่น แต่เรามองอย่างพระเจ้าอโศก คือ คิดที่จะใช้มันเป็นเครื่องมือของธรรม

          ไม่ใช่หมายความว่า ทรัพย์และอำนาจอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว ก็เลยไม่เอาใจใส่ ไม่บริหาร ไม่ใช่อย่างนั้น เราต้องรู้จักเอามันมาใช้ประโยชน์เป็นเครื่องมือสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม อันนี้ถือว่า เป็นวิธีปฏิบัติอย่างถูกต้องของชาวพุทธที่เป็นคฤหัสถ์

 

นับถือพุทธแล้วดีทำไมประเทศที่ไม่ได้นับถือถึงเจริญกว่า

 

ผมมีความคิดว่าชาวยุโรปหรืออเมริกานั้นมีเจริญรุ่งเรืองแล้วเราจะนับถือพุทธกันไปทำไม ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)ได้ให้ความรู้ว่าศาสนาคริสต์นี้ ในประเทศตะวันตก เคยมีอำนาจมาก มีอำนาจในทางการเมือง ขนาดที่ว่าสามารถครอบงำประเทศต่างๆในยุโรปต้องเชื่อฟัง แม้แต่กษัตริย์ต่างๆก็ต้องให้โป๊ปเป็นผู้สวมมงกุฎให้ ระยะที่ศาสนาคริสต์มีอำนาจครอบงำประเทศตะวันตกนั้น ฝรั่งเรียกว่า ยุคมืด (Dark Ages)

          ในยุคมืดศาสนาคริสต์มีอำนาจมากนั้น ทางศาสนาคริสต์จะไม่ยอมให้คนมาสงสัยพระเจ้า สงสัยคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลแสดงความคิดเห็นขัดแย้ง หรือเห็นต่างไปจากคัมภีร์ไบเบิล เช่น เรื่องพระเจ้าสร้างโลก ทำไมจึงสร้างแสงสว่างก่อน แล้วสร้างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ทีหลัง พระเจ้ามีอำนาจสร้างโลกบันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง และมีมหากรุณาต้องการให้มนุษย์มีความสุข แต่ทำไมจึงสร้างโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมา ทำไมสร้างให้บางคนเกิดมาพิกลพิการปัญญาอ่อน ต้องมีชีวิตอยู่อย่างทุกข์ยากเดือดร้อนแสนลำเค็ญ ทำไมจึงบังคับซาตานไม่ได้ ทำไมจึงปล่อยให้มีศาสนาอื่นๆ แล้วกลับไปลงโทษคนที่นับถือศาสนาอื่นๆ เหล่านั้น หาว่าเขานับถือผิดๆ ทำไมพระเจ้าไปลงโทษตัวเองที่ปล่อยปละละเลยหรือสร้างคนที่ตั้งศาสนาอื่นๆ ขึ้นมา ฯลฯ อะไรทำนองนี้ ใครจะพูดแสดงความสงสัยไม่ได้เป็นอันขาด เพราะฉะนั้น คนจะที่คิดในเรื่องความจริงต่างๆ ก็พูดไม่ได้

          ยิ่งกว่านั้น เพื่อบังคับควบคุมให้ได้ผลเต็มที่ ศาสนาคริสต์ก็เลยตั้งศาลขึ้นมา เขาเรียกว่าศาล Inquisition ซึ่งแปลว่าศาลสอบสวนศรัทธา ใครที่พูดออกมาแสดงความสงสัยพระเจ้า สงสัยคำสอนในคัมภีร์ไบเบิล เข้าก็จับไปขึ้นศาลนี้แล้วก็ลงโทษต่างๆ เช่น เผาทั้งเป็น หรืออาจประหารชีวิต หรืออาจจะขังคุก หรือให้ดื่มยาพิษ ดังที่นักปราชญ์และนักวิทยาศาสตร์ อย่างบรูโน (Bruno) และกาลิเลโอ (Galileo) ถูกจับตัดสินลงโทษมาแล้ว โดยเฉพาะบรูโนนั้นถูกเผาทั้งเป็น เพราะคิดเห็นขัดกับเรื่องพระเจ้าสร้างโลก

          ศาลของศาสนาคริสต์นี้ได้ฆ่าคน เผาคน ให้คนดื่มยาพิษไปมากมาย เพื่อไม่ให้คนรู้เข้าใจในโลกและชีวิตแปลกไปจากคำสอนในไบเบิลแต่เพราะการใช้อำนาจบีบคั้นครอบงำนี้แหละ จึงทำให้พวกฝรั่งที่ต้องการแสวงหาความจริงพยายามดิ้นรนกัน เมื่อพูดในที่เปิดเผยไม่ได้ก็ลอบจับกลุ่มกันเงียบๆ ค้นคว้าหาความรู้ และเผยแพร่ความรู้ในหมู่พวกตน ต่อมาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็เจริญขึ้นเพราะยิ่งกดก็ยิ่งดิ้น อันนี้เป็นธรรมดาของมนุษย์

          ในที่สุดต่อมา แม้ในทางการเมือง ฝรั่งก็ดิ้นรน จนกระทั่งพ้นจากอำนาจครอบงำของศาสนาคริสต์ไปได้ ประเทศต่างๆ ก็มีการปกครองเป็นอิสระของตนอย่างที่เราเห็นๆกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ทางการศาสนาคริสต์ก็เสื่อมอำนาจลงมา  อันนี้เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า พวกฝรั่งเขามีความเจริญทางวิทยาศาสตร์ขึ้นมา ตลอดจนความเจริญอื่นๆ ที่เนื่องมาจากวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีอะไรต่างๆ นี้ ก็เพราะว่าเขาดิ้นรนต่อสู้ให้พ้นจากครอบงำบีบบังคับของศาสนาคริสต์ต่างหากไม่ใช่ว่าเป็นเพราะเค้านับถือศาสนาคริสต์แล้วก็เลยเจริญอย่างที่บอกไปเมื่อกี้ว่า ตั้งแต่วิทยาศาสตร์เจริญขึ้นมา คนก็ชักห่างเหินไม่ค่อยเชื่อศาสนาคริสต์ การนับถือที่มีอยู่ก็มีมาเรื่อยๆ อย่างนั้นเอง จนกระทั่งในประเทศอังกฤษหรือในอเมริกาเป็นต้นปัจจุบันนี้ คนที่ไม่ใส่ใจต่อศาสนาคริสต์ ต้องขายโบสถ์กันมากมาย

          วัดไทยที่ไปตั้งในอเมริกานั้นบางวัดก็ไปซื้อโบสถ์คริสต์นั่นเองที่เขาเลิก เขารักษาไม่ไหวแล้ว ในอเมริกานั้นฝรั่งขายโบสถ์กันมาก ในอังกฤษก็เหมือนกัน อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่ารู้ๆ กันอยู่ คนไทยทำไมถึงมาหลงฟังคำของคนเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ที่มาล่อหลอกด้วยคำซึ่งไม่เป็นความจริง ถ้ารู้ประวัติศาสตร์สักนิดหน่อยก็จะเข้าใจ ไม่มีปัญหาเรื่องนี้

          ในประเทศตะวันตกนั้น ศาสนาคริสต์ก็เสื่อมลงมาก คนเข้าก็ไม่เอาใจใส่ การหาเงินทองก็ยากลำบาก อำนาจก็ลดน้อยลงไป และเวลานี้ก็เห็นกันอยู่ว่าพวกประเทศตะวันออกนี้เป็นประเทศที่ด้วยพัฒนา คนไม่ค่อยเจริญ ไม่ค่อยรู้วิทยาศาสตร์ ไม่ค่อยรู้ประวัติศาสตร์ ไม่มีความรู้สมัยใหม่อาจจะถูกพูดจาหลอกล่อหลอกให้เชื่อถือได้ง่าย ส่วนทางตะวันตกนั้นมีรอยแผลเก่าลึกใหญ่ที่ไม่อาจจะลืมได้ เข้าสอนจะให้คนเชื่อได้ยากแล้ว เพราะฉะนั้น เขาก็ต้องถอยจากทางด้านโน้นมาทางด้านนี้ จึงควรพิจารณาเองว่า ควรจะตกเป็นเหยื่อเขาด้วยการฟังคำล่อหลอกหรือไม่

          อย่างไรก็ตาม ที่ชี้แจงมานี้มิใช่ให้เกิดความชิงชังชาวคริสต์หรือผู้เผยแผ่ศาสนาคริสต์ เพียงแต่เป็นความจำเป็นที่ต้องชี้แจงให้รู้เข้าใจกันเมื่อมีเรื่องที่เกิดขึ้น คือมีการพูดให้เข้าใจผิด และที่เราทำนี้ก็เป็นเรื่องทางปัญญา ว่าไปตามเหตุผลและความจริง

          ที่จริงนั้น เวลานี้องค์กรใหญ่ทางศาสนาคริสต์เองก็ได้เผยแพร่นโยบายที่จะสัมพันธ์กับศาสนาอื่นๆ ในทางสมัครสมาน แต่ผู้เผยแพร่ที่อยู่ในถิ่นต่างๆ ก็อาจจะทำอะไรๆ ไปตามความคิดความต้องการของตน บางแห่งเมื่อเห็นว่าคนไทยโง่เขลา พระสงฆ์ก็ไม่รู้เท่าทัน เขาก็เลยเห็นเป็นโอกาสที่จะหลอกล่อไป

          ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือชาวพุทธนั่นเอง นอกจากจะต้องรูจักหาความรู้หาความจริงแล้ว ก็ต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เช่นว่า อย่ามัวติดเพลินกับความสุขสบายและความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินแล้วมัวเรื่อยเปื่อยเฉื่อยชา โดยเราจะต้องตั้งใจเอาหลักธรรมที่แท้จริงของพระพุทธเจ้ามาศึกษา ปฏิบัติ ให้กระตือรือร้น ขยันขันแข็งในการทำหน้าที่การงาน มุ่งมั่นสร้างสรรค์ชีวิต ครอบครับและประเทศชาติให้เจริญมั่งคงและมีสันติสุข

* คาธอลิก- โปรเตสแตนต์ สมัยนั้น กรุงโรมเป็นแม่ประเทศ มีรัฐต่างๆขึ้นอยู่และเป็นแหล่งที่ศาสนาคริสต์เจริญมาก เมื่อกรุงโรมถือคริสต์ รัฐทั้งหลายก็คล้อยตาม ทางด้านพระ ก็มีมหาสังฆราชต่างๆ ด้วยการปฏิบัติศาสนาก็เป็นไปทำนองเดียวกัน จึงมีคำเรียกว่าศาสนาคริสต์ว่า คาธอลิค Catholic

          ต่อมา เพราะค่าที่ประชาชนพากันนบนอบต่อพระมาก พวกพระเลยกำเริบกระทำความชั่วต่างๆ เพราะเห็นแก่ลาภ จนกระทั่งปี พ.. 2057 พระมหาสังฆราชเลโอที่ 10 แห่งกรุงโรม อยากสร้างโบสถ์ให้ใหญ่ที่สุด เพื่อประดับเกียรติ จึงออกอุบายหาเงิน โดยจำหน่ายบัตรไถ่บาป อ้างว่า ใครมีบัตรนั้นแล้วเป็นคนหมดบาป ทำให้นักปราชญ์ในศาสนานั้นพากันอดสูอย่างยิ่ง

          มีนักบวชหนุ่มชาวเยอรมันนีผู้หนึ่ง ชื่อ ลูเธอร์ ทำการคัดค้านพระมหาสังฆราชอย่างรุนแรง จนตนเองถูกขับไล่ออกจากศาสนา เมื่อ พ.. 2063 นักบวชรูปนี้ไปตั้งนิกายขึ้นใหม่ เรียกโปรเตสแตนท์ Protestant แปลว่า นิกายฝ่ายค้าน ส่วนนิกายเดิมเรียก คาธอลิก

 

คนไทย กับเทคโนโลยี สู่ยุคไอที

 

          สิ่งที่แสดงถึงความเจริญของโลกหรือมนุษย์นั้นก็คือ เทคโนโลยี  เป็นสิ่งที่มีอิทธิพล ซึ่งอาจจะเรียกว่า ครอบงำสังคมมนุษย์อยู่ ซึ่งเหตุการณ์ที่เทคโนโลยีที่ส่งผลได้อย่างชัดเจน คือเรื่อง โรงงานพลังงานนิวเคลียร์ระเบิดที่ญี่ปุ่นจากเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งในสมัยก่อนก็มีการระเบิดขึ้นที่เชอร์โนบิล ในรัสเซีย ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้น รองผู้อำนวยการสถาบันพลังงานนิวเคลียร์พึ่งเขียนลงพิมพ์ในหนังสือ ว่า ก่อนสิ้นศตวรรษหน้า พลังงานทั้งหมดที่ใช้ในโลก สองในสามส่วน จะมาจากโรงงานนิวเคลียร์ โดยวิทยาการตอนนี้ได้พิสูจน์อย่างบริบูรณ์สิ้นเชิงว่า โรงงานพลังนิวเคลียร์ไม่มี่อะไรกระทบหรือมีผลเสียต่อสุขภาพประชากร หรือขนาดรัฐมนตรีพลังงานของอังกฤษยังเคยได้บอกว่า พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานที่ปลอดภัยที่สุดที่มนุษย์เคยรู้จัก

          หรืออีกตัวอย่างที่ใกล้ตัว วงการแพทย์ได้ชื่นชมกับยากล่อมประสาทใหม่ชนิดหนึ่งว่า ทาลิโดไมด์ ได้มีการพิสูจน์ทดลองและรับรองกันอย่างดีว่าเป็นยาที่ปลอดภัย ถึงกับใช้คำว่าปลอดภัยเป็นพิเศษ จึงเปิดให้ประชาชนซื้อยาชนิดนี้ได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ ซึ่งยาตัวนี้รักษาอาการกลุ้มหรืออาการทางประสาท เช่น ไมเกรน หรือนอนไม่หลับ ทำให้ใจสงบ สบาย ขายกันมาเป็นเวลา 5 ปี จึงได้พบว่า ผู้หญิงมีครรภ์กินยานี้แล้วคลอดลูกออกมาแขนด้วน ขากุด และมีลักษณะผิดประหลาดไม่สมประกอบพิกลพิการ เกิดความตระหนกตกใจ เมื่อสอบสวนกันดูก็ปรากฏว่า ยานี้ทำให้มีปัญหาแก่หญิงมีครรภ์ และแก่เด็กที่อยู่ในครรภ์ ก็เลยต้องงด ถอนยานี้จากตลาด เลิกขายกัน แต่ก่อนจะยกเลิกปรากฏว่า มีเด็กแขนกุดขาด้วนมาแล้วทั้งหมด 8,000 ราย นี่สำรวจเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว

          ปัจจุบันมีสินค้ามากมายที่อยู่ได้ด้วยการตลาด หลายๆคนก็คงเคยได้ยินสรรพคุณต่างๆของยาบำรุงกำลัง ทั้ง นอแรด เขากวาง ดีเสือ ตีนหมี ซึ่งปัจจุบันนี้นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถแยกส่วนประกอบได้ชัดเจนแล้ว ว่าสิ่งใดทำเกิดประโยชน์และโทษใดกับร่างกาย ซึ่งคุณค่าของสิ่งของราคาแพงทั้งหลายนั้นยังไม่เทียบได้กับไข่ฟองเดียว แต่หลายคนเลือกจะเชื่อการตลาด โดยผู้ที่จะซื้อของเหล่านี้ได้นั้นมีเงินอย่างเดียวไม่สามารถจะซื้อได้ ต้องโง่ด้วย เคยเข้าฟังสัมมนาโดยวิทยากรเป็นนักโภชนาการระดับแนวหน้าของประเทศ พูดถึงสิ่งของเยี่ยมคนป่วยที่คนไทยนิยมซื้อกันนั้นซุปราคาแพงมีคุณค่าน้อยกว่าไข่ฟองเดียว หรือน้ำลายนกไม่ต่างจากเอาน้ำตาลละลายน้ำ ถ้ามีสติกันหน่อยลองอ่านส่วนประกอบดูจะพบว่า มีน้ำลายนกไม่ถึง 1 % แม้วิทยากรจะบอกว่าอย่างน้อยยังมีคุณค่าทางจิตใจ เพราะเราคงไม่สามารถนำไข่หรือน้ำเชื่อมไปเยี่ยมไข้ได้ แต่ก็น่าจะหาสิ่งที่มีประโยชน์ได้มากกว่านี้ อย่างน้อยดอกไม้ยังทำให้ห้องสดใสได้ หรือหนังสือดีๆสักเล่มก็ยังดี

          ยังไม่รวมถึงผู้ที่หวังแต่ทางลัดพึ่งแต่ยา หรืออาหารเสริม เพื่อให้มีรูปร่างที่ดี โดยไม่คิดจะปรับปรุงพฤติกรรมตนเอง ก็ตกเป็นเหยื่อทางการตลาดได้อย่างง่ายดาย ทั้งเครื่องดื่มลดน้ำหนัก ที่มีส่วนผสมที่กล่าวอ้างในระดับต่ำกว่าหนึ่งเปอร์เซ็นต์ หรือถ้าท่านเคยได้ยินข่าว กับน้ำป้าเช็ง น้ำเอ็นไซม์ รักษาได้ทุกโรค เมื่อตำรวจเข้าค้นส่วนผสมจริงๆมีแม้กระทั่งยาฆ่าแมลง ท่านคงคิดว่าชาวบ้านเหล่านั้นพลาดไปเชื่อได้อย่างไร แต่ลองดูสิ่งของรอบตัวท่านว่ามีอะไรที่เป็นกรณีเดียวกันหรือไม่

          มีชายคนหนึ่งได้รับจดหมายส่งมาว่าจะบอกวิธีทำให้ท่านร่ำรวยได้เพียงส่งเงินมาให้ หนึ่งดอลลาร์ ชายคนนี้จึงส่งไปและได้รับจดหมายกลับมาว่า ให้ทำเช่นเดียวกันนี้โดยส่งจดหมายแนะนำวิธีรวยไปให้คนอื่น 

          ซึ่งไม่ใช่แค่ของกินและยา แต่มีกับทุกสิ่งที่พร้อมจะให้คนตกเป็นเหยื่อ เช่น หินเสริมพลังจากธิเบต คนซื้อกันมากมาย แต่ในธิเบตจริงๆก็ไม่มี  รวมไปถึงการหากินกับความรู้ไม่เท่าทันของคนทั้งแชร์ลูกโซ่ที่เดี๋ยวนี้พัฒนาเป็นรูปแบบใหม่ที่ยากจะรู้ทัน ทั้งแชร์ก๋วยเตี๊ยว หรือธุรกิจขายตรงบางบริษัทซึ่งจะตั้งสินค้าอะไรสักอย่างมาขายแพงๆเพื่อให้ได้เงินง่ายๆจากการสมัครต่อกัน ซึ่งทุกสิ่งถ้าตั้งอยู่ในความไม่ประมาทแล้วนั้นก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อคนอื่นง่ายๆ ซึ่งควรระลึกอยู่เสมอว่า เส้นทางสู่ความสำเร็จมักจะไม่มีทางลัด และต้องเกิดจากความพยายามของตนเอง

 

          เทคโนโลยีรุดไกล คนก้าวทันหรือไม่ เพราะขนาดอเมริกาเองยังมีปัญหา โดยกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯและมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ เตือนว่า ชาวอเมริกันส่วนมากกำลังก้าวไปสู่ภาวะที่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นใหม่ซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่นี้ มีความรู้ความสามารถด้อยกว่าคนรุ่นบิดามารดาตนเอง เช่นเดียวกับในหลายประเทศ ความสามารถในทางสติปัญญาของนักเรียนที่จบประถมและมัธยมได้ตกต่ำลดถอยลงเป็นลำดับ จากการดูผลการทดสอบความสามารถในการศึกษาเล่าเรียน ก่อนที่เข้าวิทยาลัย(แต่โชคดีมีบางประเทศได้มีวิธีการแก้ปัญหาได้เรียบร้อยแล้ว…………………..โดยส่งเสริมให้เด็กกินไอโอดีนเพิ่มไอคิว  ล้ำลึกจริงๆ) โดยเด็กอเมริกันสมัยใหม่ไม่พร้อมที่จะดำเนินชีวิตในสังคมอเมริกัน แค่เอาเฉพาะที่เรียนจบแล้ว แต่อ่านหนังสือไม่ออก ใช้งานไม่ได้ มีจำนวนเป็นหลายสิบล้านคนเด็ก เด็กมัธยม และแม้แต่มหาวิทยาลัย จบการศึกษาแล้วไม่สามารถเขียนภาษาอังกฤษที่ยอมรับได้ หรือแม้แต่ทำเลขอย่างง่ายๆ ก็มากมาย ทั้งๆที่มีเทคโนโลยีมากมายที่จะช่วยในการศึกษา ค้นคว้าความรู้ได้ง่ายกว่าคนในสมัยก่อน

          ในส่วนด้านเศรษฐกิจ ค่าแรงขั้นต่ำคนไทยอยู่ที่ประมาณ 250 บาทต่อวัน 7,500 บาทต่อเดือน ซึ่งหลายๆคนยังได้ในอัตราต่ำกว่านี้ ซึ่งถ้าต้องการซื้อรถสักคัน ราคา 600,000 บาท ต้องเก็บเงินเดือนโดยไม่ใช้จ่ายเลยเป็นเวลาถึง 8 ปี ยังไม่รวมดอกเบี้ยถ้าซื้อเงินผ่อน ประกัน ค่าน้ำมัน ค่าซ่อม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการเก็บเงินให้ได้แค่ 1 ใน 3 ได้ก็เป็นเรื่องยาก แต่ก็ยังต้องใช้เวลาถึง 24 ปีแต่ถ้าเป็นอเมริกา คนงานได้  64 เหรียญต่อวัน 1920 เหรียญต่อเดือน รถราคา 13,000เหรียญ  ใช้เวลาเก็บเงินเพียง 1 ปี เราจึงต้องทำงานหนักมากขนาดไหนเพื่อจะซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกพวกนี้ได้

          ไม่เฉพาะเทคโนโลยีประเภทอำนวยความสะดวก หรือสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น โทรศัพท์มือถือที่เชื่อว่าหลายคนซื้อมาโดยไม่ได้ใช้งานอะไรนอกเหนือจากที่โทรศัพท์รุ่นถูกสุดทำได้ ด้วยความเชื่อที่ว่าจะทำให้ตนเองดูดี แต่เทคโนโลยีที่ใช้เพื่อการศึกษาและการทำงานก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันที่จะต้องเสียดุลการค้า ยังไม่รวมที่มีกฎหมายเก็บภาษีสารพัดกับประชาชนแต่ไปยกเลิกภาษีให้กับโรงงานอุตสาหกรรมต่างชาติที่เข้ามาสร้างมลพิษและความเสียหายมากมายให้ประเทศโดยแลกกับการที่ชาวนาทิ้งไร่ทิ้งนาไปเป็นคนงานในโรงงาน   

          เราจึงควรรู้ถึงภาวะเสียเปรียบนี้ พยายามเสริมสร้างศักยภาพด้านอื่นให้เกิดความสมดุล ไม่ใช่เอาสิ่งของพวกนี้เป็นเครื่องเชิดชูอวดโก้ในหมู่พวกกันเองไม่ใช่ “เจริญอย่างฝรั่ง คือมีกินมีใช้อย่างฝรั่ง” แต่ต้อง “ เจริญอย่างฝรั่ง คือ ทำได้อย่างฝรั่ง และทำให้ดียิ่งกว่าฝรั่ง”

          ซึ่งแม้แต่ประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลกก็ยังต้องเผชิญกับการการใช้เทคโนโลยีอย่างไม่พอดี อย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจแก้กันง่ายๆก็มาตั้งโรงงานผลิตกันในประเทศอย่างเรา หลายคนอาจจะคิดว่าประเทศชั้นนำนั้นรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมมากมาย แต่ถ้าเทียบต่อหัวประชากรแล้วอเมริกาเป็นประเทศที่สร้างมลพิษมากที่สุด ตัวอย่างง่ายๆ ร้านอาหารฟาสต์ฟู๊ดเกือบทุกร้าน แม้จะนั่งกินในร้านก็จะใช้จานพลาสติกเพื่อความสะดวก หรือแม้เวลาชาวบ้านทำอาหารกินกันเองที่บ้านยังใช้จานพลาสติก หรือเรื่องคุณภาพชีวิตเอง เช่นที่อเมริกาประสบปัญหาการที่คนปล่อยตัวให้อ่อนแอไปตามความสะดวกสบาย เกิดปัญหามากมาย เช่นที่เห็นชัดคือโรคอ้วน อ้วนจนกระทั่งไม่สามารถเดินได้ แต่ก็ยังเลือกที่จะพึ่งพาเทคโนโลยี ใช้รถเข็นบ้าง รถไฟฟ้าบ้าง หรือหันมาใช้ยาสารเคมีที่จะลดความอ้วน ซึ่งประเทศผู้ผลิตเองยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ผู้บริโภคในเมืองไทยก็น่าจะกลับมาพิจารณาให้ดีเวลาที่มีใครอวดอ้างสรรพคุณว่าได้มาตรฐานนั่นนี่ หรือขายดีในที่ใด จะช่วยท่านได้จริงหรือไม่ ในเมื่อประเทศที่ผลิตเองมีปัญหามากกว่าประเทศไทยเสียอีก

          อีกตัวอย่างเช่น ยาที่ช่วยในการเผาผลาญไขมัน ซึ่งหลายๆคนนั้นเลือกจะใช้กัน แต่ลองนึกให้ดีว่าหลายคนยังอยู่ในวัยรุ่น วัยทำงานเป็นวัยที่กำลังขึ้นยังไม่ผ่านจุดสูงสุดของร่างกาย ยังมีเวลาว่างไม่มีภาระที่ต้องรับผิดชอบมากนักแต่ก็ยังไม่สามารถจัดการดูแลตนเองโดยไม่พึ่งตัวช่วยได้ ถ้าถึงวัยที่เริ่มโรยราแล้ว ภาระมากมาย ถ้ายังพึ่งยาต่อไปก็น่าจะคิดถึงผลที่จะสะสมเกิดขึ้นร่างกาย หรือถึงเวลานั้นต่อให้ยาตัวไหนก็ไม่สามารถจะช่วยได้ เพราะท่านปล่อยตัวให้เคยชินกับกิเลส  ติดรสอร่อย ติดความสบาย ไม่เคยฝึกตนควบคุมตนเอง นี่แหละคือกรรมของท่าน เมื่อถึงเวลาที่โรคต่างๆเริ่มถามหาแล้ว ตัวที่มันจมลงไปในกองกิเลสก็ยากจะขึ้นมาได้ คนที่ตะกละนั้นเปรียบเสมือนคนที่ขุดหลุมฝังศพด้วยฟันของตัวเอง

          และที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือเรื่องของสื่อ ข่าวสาร ที่น่าจะพูดได้ว่ามีอิทธิพลสูงสุด ทั้งในเรื่องความรุนแรงและอาชญากรรมทั้งหลาย จนเกิดเหตุการณ์ที่ได้ยินกันบ่อยๆที่เด็กมักจะเอาอาวุธปืนไปกราดยิงคน หรือปัญหาการข่มขืนอาชญากรรมทางเพศ โดยละครไทยเดี๋ยวนี้ต้องจัดเต็ม เล่นจริงจูบจริง มีตบกันให้ดูทุกช่อง ตั้งแต่มีละครไทยมาพระเอกข่มขืนนางเอกไม่เคยติดคุก ยังไม่รวมถึงสื่อลามกหรือการพนันทางอินเตอร์เน็ตที่บอกว่าปราบปรามได้ยากนักหนา แต่เห็นปิดเว็บทีไร สักพักเว็บเดิมชื่อเดิมก็ใช้ได้ตามปกติ ฉะนั้นพ่อแม่ทั้งหลายควรให้มีโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ไว้ในส่วนกลางของบ้านเพื่อเป็นการป้องกันในขั้นต้น

          มีหนังเรื่องหนึ่งที่หลายคนน่าจะเคยดู เรื่อง AVATAR เป็นเรื่องกับมนุษย์ที่ไปดาวอื่นแล้วต้องการจะยึดครองจึงทำร่างเทียมแล้วใช้เครื่องส่งความคิดบังคับร่างนั้น หรือ ที่เราเห็นกันทุกวันนี้เวลาที่เล่นเกมส์แล้วเราก็ใช้ตัวละครในคอมพิวเตอร์แทนตัวเรา ซึ่งในเรื่องนั้นพระเอกได้กลับใจไปช่วยชาวต่างดาวให้พ้นจากมนุษย์ที่มีแต่ความโลภทั้งหลายและสุดท้ายเลือกที่จะอยู่ในร่างเทียมนั้นตลอดไปโดยไม่กลับไปเป็นมนุษย์อีก ในหนังนั้นจบอย่างมีความสุขแต่ในเรื่องจริง มีเพื่อนข้าพเจ้าคนหนึ่งและเชื่อว่ามีอีกหลายคน หลงอยู่ในโลกเสมือนจริง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในญี่ปุ่น อยู่แต่ในห้องอยู่แต่หน้าจอ จนตายก็มี ซึ่งเพื่อนข้าพเจ้าคนนี้แม้จะอายุใกล้ 30 แล้วแต่ก็ยังเรียนไม่จบปริญญาตรี ไม่ใช่เพราะทางบ้านลำบากยากจนแต่อย่างใด แต่เพราะติดเกมส์ออนไลน์ ทุกวันนี้ยังไม่เคยทำงาน ยังต้องขอเงินจากแม่อยู่ เป็นอุทาหรณ์สำหรับพ่อแม่หลายๆคนที่ลูกกำลังจะมีพฤติกรรมเช่นนี้ ทั้งการติดเกมส์ติดโลกออนไลน์ โดยควรให้เด็กตระหนักถึงว่าต่อให้คุณเก่งในโลกเสมือนจริงเพียงใดสุดท้ายก็กลายเป็นการเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ถ้าคุณไม่ใช่แชมป์ระดับประเทศระดับโลก เวลาที่เสียไปนั้นช่างน่าเสียดายนัก น่าจะคิดได้ว่าผู้ผลิตพยายามทำภาพทำทุกสิ่งให้เหมือนจริงที่สุด โดยทุกวันนี้ตัวละครในเกมส์สามารถขยับตามที่ผู้บังคับเคลื่อนไหว ในเมื่อต้องพยายามให้เหมือนจริงกันขนาดนั้น ไม่ลองถามตนเองกันว่า ก็ออกไปเล่นไปทำของจริงดีกว่า แม้เราเล่นแล้วจะไม่ติดแม้ตัวหมู่บ้านแต่ก็ยังเกิดประโยชน์มากมายทั้งกับร่างกายตนเองและได้สังคมกับคนรอบข้าง

          สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือต้องทำความเข้าใจว่า    เทคโนโลยีไม่ใช่วิทยาศาสตร์ แต่เทคโนโลยีนั้นไปกันได้กับไสยศาสตร์และความเชื่องมงาย แต่วิทยาศาสตร์ไปกันไม่ได้กับไสยศาสตร์ ที่ต้องนำเรื่องนี้มานั้นเพราะว่าปัจจุบันคนกลายเป็นคนทุกข์ง่าย เพราะเคยแต่ความสบาย มีแต่ความใฝ่เสพ ไม่มีภูมิต้านทาน เปราะบางขาดสิ่งบำรุงบำเรอนิดหน่อยก็ทุกข์ทันที เห็นได้จากสถิติผู้ป่วยโรคจิต ที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน หรือสถิติคนฆ่าตัวตายในเมืองใหญ่ บางประเทศคนฆ่าตัวตายเฉลี่ยวันละเป็น 10 คน

 

วิทยาศาสตร์คำตอบของทุกสิ่ง ?

 

          หลายๆคนเลือกจะบอกกับผู้อื่นว่าเป็นคนไม่มีศาสนา การไม่มีศาสนาไม่ได้หมายความว่าเป็นคนไม่ดี คนเราสามารถเป็นคนดีได้โดยไม่ต้องเชื่อว่ามีนรก สวรรค์ โลกนี้ โลกหน้า เพราะการที่หลายๆคนเชื่อว่าพระเจ้า เทพเจ้ามีจริง ไปสักการะบูชา หรือที่เห็นกันง่ายๆที่มหาโจรมากมายรอยสักเต็มตัวหรือนักการเมืองเลวๆหลายคนมีพระเครื่ององค์เป็นสิบล้านห้อยคอ ทีแสดงให้เห็นถึงว่าต่อให้มีความเชื่อแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นคนดี

          ฉะนั้นในตอนแรกผู้เขียนมีความกังวลเกี่ยวกับการที่จะพยายามชี้แจงให้เห็นถึงพุทธศาสนาดั้งเดิม กับปัจจุบันที่เกิดเนื้องอกขึ้นมากมายจากทั้งเจตนาดีและไม่มี ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่าถ้าพระพุทธเจ้าสอนว่าให้พึ่งตนเอง กรรมคือการกระทำ ความดี บุญคือความว่าง แล้วนั้นกลายเป็นว่าสามารถที่จะทำชั่วและกอบโกยผลประโยชน์ให้เต็มที่ในชีวิตที่เหลือนี้เพราะไม่มีนรกสวรรค์ ชาตินี้ชาติหน้า  เลือกที่จะปรนเปรอตนเองและเอาเปรียบผู้อื่น แม้ศีลธรรมของโลกนี้และกฏหมายจะยังทำอะไรท่านไม่ได้นั้น แต่อย่าคิดว่าความสบายทั้งหลาย หรือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสมัยนี้สามารถตอบได้ทุกสิ่ง

          เพราะแม้แต่กฏธรรมชาติที่มนุษย์พยายามค้นคว้า เอาชนะและหาคำตอบ ก็เป็นเพียงผิวเผิน เช่นในเรื่องของฟิสิกส์ที่ทุกคนเชื่อว่า เราโยนก้อนหินขึ้นไปแล้วต้องตกลงมาอย่างแน่นอน นี่คือ กฏแรงโน้มถ่วงของนิวตัน ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้แต่กฏนี้ใช้ได้ดีแค่ในพื้นที่ระดับโลกและระบบสุริยะเท่านั้น

          สาเหตุที่แนวคิดของไอสไตน์ปฏิวัติวงการฟิสิกส์ชั่วข้ามคืน เนื่องจากหลักการของเขาสามารถอธิบายสิ่งที่ฟิสิกส์เก่า ของนิวตันอธิบายไม่ได้ โดยทฤษฎีสัมพันธภาพนั้นสามารถใช้ได้กับพื้นที่ใหญ่อย่างจักรวาล

          แต่ในระดับอะตอมและอนุภาคนั้นสิ่งที่มนุษย์พยายามศึกษาสิ่งที่เล็กที่สุดกับไม่สามารถใช้กฏฟิสิกส์ของทั้งนิวตัน และไอสไตน์ได้ กลับต้องใช้ ควอนตัม ฟิสิกส์ ที่ชี้ว่าสรรพสิ่งประกอบด้วยอนุภาคที่มี พฤติกรรม ที่คาดเดาไม่ได้ จนเกิดประโยคคลาสสิกที่ว่า “พระเจ้าไม่ทรงเล่นลูกเต๋ากับจักรวาล” เนื่องจากไอสไตน์ไม่ยอมรับว่ามีสิ่งที่ไม่แน่นอนของอนุภาคที่แสนพิสดารนี้ แต่ไอสไตน์ก็ไม่สามารถโค่นล้มทฤษฎีนี้ได้

          Theory of Everything ทฤษฎีที่ใช้ได้กับทุกอย่าง หรือ รัฐธรรมนูญของธรรมชาตินั้น อย่างที่รู้กันแล้วว่าตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถให้คำตอบกับเรื่องนี้ได้ กฏแต่ละอย่างกับใช้ได้กับแค่เฉพาะทาง  ฉะนั้นยังมีสิ่งอื่นมากมายที่เราไม่รู้ ที่ตอนนี้เราอาจเรียกว่าสิ่งเหนือธรรมชาติ ดังเช่น ที่มนุษย์ยุคหินนับถือสายฟ้า ไฟ เป็นเทพเจ้า  ในอนาคตวิทยาศาสตร์อาจมีคำอธิบายสำหรับเทพเจ้า นรก สวรรค์ได้ แต่ทฤษฎีที่ใช้ได้กับมนุษย์ทุกคน และทุกยุคทุกสมัยนั้น พระพุทธเจ้าทรงคิดค้นและนำมาสั่งสอนกันแล้ว สิ่งที่จะแก้ไขความยุ่งเหยิง ความลำบากของโลกนี้ได้คงไม่ใช่วิทยาศาสตร์ ไม่ใช่การเมืองการปกครอง แต่คงต้องเป็นศาสนาขอเพียงทุกคนได้ศึกษาให้เกิดปัญญาแล้วย่อมสามารถอยู่ในสังคมนี้ได้โดยไม่ต้องตกเป็นทาสของทั้งเทคโนโลยีและไสยศาสตร์

 

 

พระธรรมที่เราควรรู้

พุทธศาสนานั้นมีหลักการที่ทุกนิกายยึดถือและยอมรับ นั่นก็คือพระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาท ส่วนนิกายที่แยกแตกออกไปมากมายนั้นเป็นเพียงเพื่อปรับ ประยุกต์ ตามคนสอนให้เข้ากับความรู้ ประเพณี ของประชาชนในแต่ละประเทศ ฉะนั้น การศึกษาพุทธวัจน์ โดยตรงควบคู่กันไปกับการศึกษาจากด้านอื่นๆ ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดี

 

อริยยสัจสี่โดยสังเขป

ทรงแสดงด้วยความยึดในขันธ์5

          ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐมี 4 อย่างเหล่านี้, 4 อย่างเหล่าไหนเล่า? สี่อย่างคือ ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์, ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์, ความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือของทุกข์, และความจริงอันประเสริฐคือทางดำเนินห้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์

          ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า? คำตอบคือ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นห้าอย่าง. ห้าอย่างนั้นอะไรเล่า? ห้าอย่างคือขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น ได้แก้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ. ถิกษุทั้งหลาย! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์.

          ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า? คือตัณหาอันใดนี้ ที่เป็นเครื่องนำให้มีการเกิดอีก อันประกอบด้วยความกำหนัด เพราะอำนาจความเพลิน มักทำให้เพลิดเพลินยิ่งในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่ ตัณหาในกาม, ตัณหาในความมีความเป็น, ตัณหาในความไม่มีไม่เป็น, ภิกษุทั้งหลาย ! อันนนี้เรากล่าวว่า ! ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์.

          ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือของทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า? คือความดับสนิทเพราะจางคลายไปโดยไม่เหลือของตัณหานั้น ความสละลงเสียความสลัดทิ้งไป ความปล่อยวาง ความไม่อาลัย

ถึงซึ่งตัณหานั้นเอง อันใด. ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือของทุกข์

          ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า? คือหนทางอันประเสริฐประกอบด้วยองค์ ๘ นั่นเอง ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.

          ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แลคือความจริงอันประเสริฐสี่อย่าง

          ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ พวกเธอพึงทำความเพียรเพื่อให้รู้ตามเป็นจริงว่า “นี้เป็นทุกข์, นี้เป็นเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์, นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือ แห่งทุกข์ ” ดังนี้เถิด.       

พุทธวัจน์

 

พระพุทธเจ้าสอนทางดับทุกข์ให้ซึ่งสามารถใช้ได้กับชีวิตประจำวันในทุกๆเรื่อง ในการแก้ไขปัญหาชีวิต แต่ในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน คนเรากลับไม่รู้ว่าสิ่งใดที่เป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นสิ่งที่ไม่ดี สังคมบริโภคนิยมมีสิ่งยั่วยวนมากมาย แม้ตอนที่เสพที่ใช้อยู่จะมีความเพลิดเพลิน ทั้งสุรา ยาเสพติด อบายมุขทั้งหลาย แม้สิ่งของในชีวิตประจำวันก็ถูกพัฒนาให้เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ถ้าเรามองในอดีตหรือแม้แต่ในชนบทร้านค้าร้านเดียวมีของใช้ที่จำเป็นพอสำหรับคนทั้งตำบล แต่ในเมืองนั้นต้องใช้พื้นที่มากมาย ห้างสรรพสินค้าใหญ่โตขนาดไหนก็ไม่พอสำหรับบรรจุความอยากของคนได้ 

หลายคนตั้งความหวังว่าตั้งใจเรียนได้เข้ามหาลัยดีๆจะมีความสุข ต้องเรียนทุกวันเรียนพิเศษทุกคืนไม่มีวันหยุด หวังว่าได้มือถือหรูๆสักเครื่องจะมีความสุข พอได้เรียนมหาลัยดีๆได้ทำงานเงินเดือนสูงๆจะมีความสุข ได้มีรถขับจะมีความสุข ได้งานดีเงินเยอะก็มุ่งทำงาน ทำโอที ทำยอด แทบไม่ได้พัก มีคอนโดสักห้องแล้วจะมีความสุข แล้วก็หวังว่าจะแต่งงานมีครอบครัวแล้วจะมีความสุข ได้บ้านสักหลังก็คงจะมีความสุข เมื่อมีครอบครัวมีลูกก็ยิ่งมีภาระ ทนทำงานที่ไม่อยากทำแต่เพราะได้ผลตอบแทนดี ทำได้แม้แต่เรื่องไม่ถูกศีลธรรม กฏหมาย แล้วก็หวังว่าจะเกษียณแล้วมีลูกที่ดีแล้วมีความสุข เกิดลูกไม่ได้ดังใจก็ผิดหวัง เมื่อเกษียณแล้วก็หวังว่าเมื่อตายไปจะได้มีความสุขบนสวรรค์

เห็นได้ว่าความสุขของคนแบบนี้นั้นได้แต่หวังว่าจะได้รับความสุขสักวัน เหมือนม้าเหมือนลาที่คนเอาของกินล่อให้เดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ เมื่อเดินไปถึงก็ไม่มีจริง ความสุขนั้นควรเกิดขึ้นในปัจจุบัน ทุกขณะจิต เมื่อมีความทุกข์ ก็พิจารณาถึงปัญหาที่แท้จริง อย่าให้ต้องตกเป็นเหยื่อของนายทุนที่จะหลอกว่าจะแก้ปัญหา ดับทุกข์ได้ด้วยวิธีง่ายๆ ทั้งบัตรเครดิต อุปกรณ์ทันสมัย ยาวิเศษ เครื่องมือไฮเทค ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาอะไรให้กลับก่อให้เกิดทุกข์ต่อไปไม่รู้จบ  

เสือย่อมกระโดด สวนทาง เสียงปืน เข้าไปหาผู้ยิง ในเมื่อรู้สึกว่า ตนถูกยิง แต่สุนัข ย่อมมัว ขบกัด ตรงปลายไม้ ที่มีผู้แหย่ ตนนั่นเอง หาคิดว่าต้นเหตุสำคัญ อยู่ที่ผู้แหย่ไม่

 

 

ขยายความแห่งอริยมรรคมีองค์แปด

 

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็อริยสัจคือหนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? คือหนทางอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนี้เอง, องค์แปดคือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ อาชีวะชอบ ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความเห็นชอบเป็นอย่างไร ? ภิกษุทั้งหลาย ! ความรู้ในทุกข์, ความรู้ในเหตุให้เกิดทุกข์, ความรู้ในความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, ความรู้ในหนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อันใด, นี้เราเรียกว่า สัมมาทิฐิ

ภิกษุทั้งหลาย ! ความดำริชอบเป็นอย่างไร ? ภิกษุทั้งหลาย ! ความดำริในการออก(จากกาม), ความดำริในการไม่พยาบาท, ความดำริในการไม่เบียดเบียน, นี้เราเรียกว่าสัมมาสังกัปปะ

ภิกษุทั้งหลาย ! วาจาชอบเป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! การเว้นจากการพูดเท็จ, การเว้นจากการพูดยุให้แตกกัน, การเว้นจากการพูดหยาบ, การเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ, นี้เราเรียกว่า สัมมาวาจา

ภิกษุทั้งหลาย ! การงานชอบเป็นอย่างไร ? ภิกษุทั้งหลาย ! การเว้นจากการฆ่าสัตว์, เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้, การเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย, นี้เราเรียกว่า สัมมากัมมันตะ

ภิกษุทั้งหลาย ! อาชีวะชอบเป็นอย่างไร ? ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกในศาสนานี้ ละมิจฉาชีพเสีย สำเร็จความเป็นอยู่ด้วยสัมมาชีพ, นี้เราเรียกว่า สัมมาอาชีวะ

ภิกษุทั้งหลาย ! ความเพียรชอบเป็นอย่างไร ? ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้เพื่อความไม่บังเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรมทั้งหลายอันลามก ที่ยังไม่ได้บังเกิด. ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการละเสียซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายอันลามก ที่บังเกิดขึ้นแล้ว. ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อบังเกิดแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ที่ยังไม่ได้บังเกิด. ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความยั่งยืน ความไม่เลอะเลือน ความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความเจริญ ความเต็มรอบแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ที่บังเกิดขึ้นแล้ว ภิกษุทั้งหลาย ! นี่เราเรียกว่า สัมมาวายามะ

ภิกษุทั้งหลาย ! ความระลึกชอบเป็นอย่างไร ? ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในศาสนานี้ เป็นผู้มีปรกติพิจารณา เห็นกาย ในกาย อยู่, มีความเพียรเพื่อเผาบาป มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมมีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ เป็นผู้ปรกติพิจารณา เห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย อยู่, มีความเพียรเครื่องเผาบาป มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ เป็นผู้ปรกติพิจารณา เห็นจิตในจิต อยู่, มีความเพียรเครื่องเผาบาป มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมมีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ เป็นผู้มีปรกติพิจารณา เห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย อยู่, มีความเพียรเครื่องเผาบาป มีความรู้สึกทั่วตัวพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า สัมมาสติ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความตั้งมั่นชอบเป็นอย่างไร ? ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในศาสนานี้ เพราะสงัดจากกามทั้งหลายเพราะสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมเข้าถึง ฌานที่หนึ่ง อันมีวิตกจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวกแล้ว แลอยู่ เพราะวิตกวิจารรำงับลง, เธอเข้าถึง ฌานที่สอง อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิแล้วแลอยู่ เพราะปีติจางหายไป, เธอเป็นผู้เพ่งเฉยอยู่ได้ มีสติ มีความรู้สึกทั่วตัวพร้อมและได้เสวยสุขด้วยนามกาย ย่อมเข้าถึงฌานที่สาม อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าวสรรเสริญผู้ได้บรรลุว่า “ เป็นผู้เฉยอยู่ได้ มีสติ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม”  แล้วแลอยู่ เพราะละสุขละทุกข์เสียได้ และเพราะความดับหายแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน, เธอย่อมเข้าถึง ฌานที่สี่ อันไม่สุขไม่ทุกข์มีแต่สติอันบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า สัมมาสมาธิ.

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า อริยสัจคือหนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.

พุทธวัจน์

 

ท่านพุทธทาสจำแนกถึงศาสนา ว่า แก่นพุทธศาสนานั้น เหมาะสำหรับนักปราชญ์ที่มีปัญญา ส่วนพวกพิธีนั้นขยายให้มันง่ายลงไป ให้มันมีรสมีชาติสำหรับตาแก่ ยายแก่ชาวนา คนที่ไม่มีปัญญาทั้งนั้นแหละ เพราะเขาลดต่ำลงไปจนถึงว่า ทำกันอย่างเป็นพิธีรีตองก็ได้ ถ้าเขาเชื่อจริง ก็ได้จริงเหมือนกัน คือไม่ต้องมีทุกข์จริงเหมือนกัน เพราะคนมันเชื่อเสียแล้ว

เช่นเขาเชื่อว่า ความหมายนี้ เป็นการเรียกร้องของพระเจ้า เขาก็ไม่กลัวก็ไม่เป็นทุกข์ และจะสมัครใจเสียด้วยซ้ำไป เพราะเป็นการเรียกร้องของพระเป็นเจ้า นี่ด้วยอำนาจของความเชื่อ ทำให้การตายไม่เป็นที่หวาดเสียวแก่คนเชื่อ แต่เราไม่ถือลัทธิอย่างนี้ เรามีปัญญาที่จะถือว่า ความตายเป็นเรื่องของธรรมชาติ ไม่แปลกประหลาดอะไร นี่มันมีความหมายคนละอย่าง เราอย่าไปดูถูกเขาเลย แม้จะเป็นอย่างนิกายอะไร เขาก็เป็นพุทธศาสนาที่มุ่งหมายจะดับทุกข์ทั้งนั้น มันต้องเลือกให้เหมาะสม อย่างคนไม่มีปัญญาจะมาศึกษาด้วยปัญญา นี่ก็ทำไม่ได้ เอาอย่างที่มีพิธีดีกว่า เพียงแต่สวดมนต์ครบเท่านั้นครั้งเท่านี้ครั้ง เท่านั้นก็จะไม่มีความทุกข์อีกต่อไป (แต่ถ้าจะต้องแลกความสบายใจด้วยการเสียทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ศาสนาแล้ว เป็นเพียงลัทธิที่หลอกลวงประชาชน)

ถ้าความเจ็บไข้มาถึง จะตายอยู่ก็ยิ่งดีใจว่าจะได้ไปเร็วไม่ต้องรอนาน ฉะนั้น พวกอาซิ้มนี้เขาก็ไม่ต้องกลัวความตาย เพราะว่าเขาได้สวดมนต์ไว้พอแล้ว เช่นสมมติว่า แปดหมื่นครั้ง พอเขาจะเจ็บจะตายรถมารออยู่บนหลังคาแล้ว ฉะนั้น คนอย่างนี้ไม่เป็นทุกข์ เพราะพอดับจิตเขาไปขึ้นรถไปสุขาวดี มันเป็นอุบายเป็นวิธีที่เขาวางไว้ให้ครบถ้วน ให้คนทุกประเภททำได้ คนโง่ที่สุดก็ทำได้ คนละแบบคนละวิธี มุ่งผลอย่างเดียวกัน คือไม่ต้องเป็นทุกข์ ฉะนั้น อย่าไปดูหมิ่นกันอย่างนี้.

ศาสนานั้น ซึ่งมันมีวิธีต่างๆ กัน อย่างจะไปกรุงเทพฯ นี้ คนหนึ่งจะไปเรือบินก็ได้ ได้ยินว่าเสีย ๑๐๐ เท่านั้น ที่สถานีอากาศยานบินในกรุงเทพฯ คนหนึ่งเสียพันบาท แต่คนหนึ่งจะคลานไปก็ได้ จะว่าอะไรมันเล่า แล้วใครผิดใครถูกเล่า มันก็ถูกเฉพาะของตนๆ อย่าไปดูถูก ไปดูถูกเข้ามันจะโง่ คนหนึ่งมันจะขี่เกวียนไปก็ได้ คนหนึ่งมันจะขี่รถยนต์ไปก็ได้ แต่คนหนึ่งมันจะคืบคลานไปอย่างกับปลิงหรือหอยทากก็ได้ อย่าไปว่าเขาซี มันก็เป็นวิธีที่ไปถึงได้

ฉะนั้น อย่าไปหาว่าเขาผิด-เขาถูก มันจะโง่เอง คนที่ว่านั้นมันจะโง่เอง ถ้าเขาเชื่อหรือพอใจแล้ว เขาจะไม่เป็นทุกข์เหมือนกัน เขาเป็นพวกสัทธาธิกะ อาศัยกำลังของศรัทธา เป็นเบื้องหน้าเพื่อดับทุกข์ พวกเรามันเป็นปัญญาธิกะ อาศัยกำลังของปัญญาเป็นเครื่องดับทุกข์ แต่ไม่ควรจะทะเลาะกัน เพราะว่าเขาไม่เป็นทุกข์ด้วยกัน ฉะนั้น เราจึงไม่ควรดูหมิ่นศาสนาอื่นที่เขาเอาศรัทธามาเป็นเบื้องหน้า เขาก็ไม่เป็นทุกข์ก็พอแล้ว เพราะมันอยู่ที่ไม่เป็นทุกข์ก็พอแล้ว

          ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับภพ ชาตินั้นยังมีอยู่มาก ซึ่งคนส่วนมากยังเข้าใจว่า เราต้องแก่ตาย แล้วเกิดไปเป็นเด็กใหม่ แต่อยากให้ลองศึกษาเกี่ยวกับชาติภพที่แท้จริงใน พุทธศาสนา โดยมีหลักดังนี้

คำจำกัดความองค์ประกอบแห่งปฏิจจสมุปบาท 12 ข้อ

                การศึกษาหลักปฏิจจสมุปบาทให้เกิดความเข้าใจได้ถูกต้องนั้น จำเป็นต้องศึกษาคำจำกัดความและความหมายขององค์ประกอบแต่ละหัวข้อให้รู้ชัดเจนเสียก่อน     เพื่อจะได้ไม่เข้าใจผิดในเรื่องกระบวนการที่เกิดขึ้นและดับไปของสรรพสิ่ง  จนทำให้หลักพุทธธรรมถูกทำลายและไร้ค่า  องค์ประกอบของปฏิจจสมุปบาท  12   หัวข้อ  มีโดยย่อดังต่อไปนี้

                1.  อวิชชา   ( Ignorance  ,  Lack of Knowledge )    คือ ความไม่รู้  ไม่เห็น ตามความเป็นจริง ความไม่รู้เท่าทันตามสภาวะ  ความหลงไปตามสมมติบัญญัติ  ความไม่เข้าใจในเรื่องโลกและชีวิตตามที่เป็นจริง  ความไม่รู้ที่แฝงอยู่กับความเชื่อถือต่าง ๆ    ภาวะของการขาดปัญญา   ความไม่หยั่งรู้เหตุปัจจัยตัวอย่างเช่น  ความไม่รู้แจ้งในเรื่องชีวิต  คือไม่รู้ว่า  อะไรคือทุกข์  อะไรคือเหตุให้เกิดทุกข์  อะไรคือความดับทุกข์  และอะไรคือทางที่จะดำเนินไปสู่การดับทุกข์ เป็นต้น

                2.  สังขาร  ( Volitional Activities )   คือ ความคิดปรุงแต่ง  ความจงใจ  ความมุ่งหมาย การตัดสินใจ  การที่จะแสดงเจตนาออกมาเป็นการทำ  กระบวนการความคิดที่เป็นไปตามความโน้มเอียง  ความเคยชิน  และคุณสมบัติต่าง ๆ ของจิต  ซึ่งได้สั่งสมไว้  ตัวอย่างเช่น ความคิดปรุงแต่งให้วิญญาณดีหรือชั่ว  ให้เป็นกลาง ๆ ปรุงแต่งให้คิดไปทางดี  เรียกว่า "กุศลสังขาร"  ปรุงแต่งให้คิดไปในทางชั่ว  เรียกว่า "อกุศลสังขาร"  ปรุงแต่งให้คิดกลาง ๆ ไม่ดีไม่ชั่ว เรียกว่า "อัพยากฤต"  กล่าวให้สั้น ก็คือ สังขาร ได้แก่ กิเลสและคุณธรรม  ทั้งสองอย่างนี้จะผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาปรุงแต่งจิตใจของคนไปทางใดทางหนึ่งใน 3 ทางดังกล่าว  คนเราจะคิดไปทางไหน  อย่างไรนั้นก็อยู่ที่ตัวสังขารนี้เอง  ดังคำกล่าวไปภาษาอังกฤษว่า

         Sow a thought, reap an act ;    แปลว่า  ความคิดก่อให้เกิดการกระทำ

         Sow an act, reap a habit ;  แปลว่า  การกระทำก่อนให้เกิดเป็นนิสัย  (เคยชิน)

         Sow a habit, reap a character ;  แปลว่า  นิสัยหลอมตัวเข้าเป็นอุปนิสัย

         Sow a character, reap a destiny ; แปลว่า  อุปนิสัยสร้างวิถีชีวิตของบุคคล

                คำว่า  "สังขาร" ในหลักปฏิจจสมุปบาทนี้  มีความหมายตรงกับคำว่า "สังขาร" ในเบญจขันธ์ (ขันธ์ 5)  คือ จัดอยู่ในฝ่ายนามธรรมเท่านั้น  ส่วนคำว่า  "สังขาร"  ที่ปรากฏในคำสอนบางแห่ง  เช่น สังขารในประโยคว่า  "อนิจฺจา  วต  สงฺขารา"   แปลว่า สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงหนอ  ในประโยคนี้ มีความหมายว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม  หาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้  จึงมีความหมายแตกต่างจาก  "สังขาร"  ในปฏิจจสมุปบาท และเบญจขันธ์

                3.  วิญญาณ  (Consciousness)   คือ ความรู้แจ้งอารมณ์  การรับรู้ต่ออารมณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาทางทวารทั้ง 6  (อายตนะ 6)  ในวิภังคปกรณ์  แสดงวิญญาณ 6  ไว้ดังนี้คือ

                       3.1  จักขุวิญญาณ     คือการรับรู้ทางตา

                       3.2  โสตวิญญาณ     คือการรับรู้ทางหู

                       3.3  ฆานวิญญาณ     คือการรับรู้ทางจมูก

                       3.4   ชิวหาวิญญาณ   คือการรับรู้ทางลิ้น

                       3.5   กายวิญญาณ      คือการรับรู้ทางกาย  (สัมผัส)

                       3.6   มโนวิญญาณ     คือการรับรู้ทางใจ  (ธัมมารมณ์)

                วิญญาณทั้ง 6  นี้ บางที่เรียกว่า  "วิถีวิญญาณ"   เพราะมันทำหน้าที่โดยที่เราไม่รู้สึกตัว เช่น เวลานอนหลับ  เป็นต้น

                คำว่า  "วิญญาณ"  ในหลักปฏิจจสมุปบาทนี้  หมายถึง  การรู้แจ้งอารมณ์หรือรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาทางสัมผัสทั้ง 5  และทางใจ   เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งในสี่ของจิต   ( องค์ประกอบ  4 ส่วน  คือ เวทนา  สัญญา  สังขาร  และวิญญาณ)    คำว่า "วิญญาณ"  ในปฏิจจสมุปบาทกับเบญจขันธ์  มีความหมายตรงกัน  ความหมายตามนัยนี้  วิญญาณจึงมิได้เป็น  "ตัวแทน"  หรือ "ตัวการกระทำ"  ซึ่งไม่มีสิ่งใดแสดงให้เห็นเป็น  "อัตตา"  ที่ถาวรออกจากร่างกายล่องลอยไปเกิดใหม่  ดังที่ลัทธิหรือศาสนาอื่นสอน  เพื่อให้เกิดความเข้าใจเรื่องวิญญาณในปฏิจจสมุปบาทชัดเจนยิ่งขึ้น  จึงควรพิจารณาจากพุทธพจน์ต่อไปนี้

                "ดูก่อนผู้มีอายุ  จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยตาและรูป  เพราะการประชุมกันของธรรม 3 อย่าง  (คือ  ตา + รูป + วิญญาณ)   จึงเกิดผัสสะ  เพราะผัสสะเป็นปัจจัย  จึงเกิดเวทนา  บุคคลเสวยเวทนาอันใด  ก็จำจากเวทนาอันนั้น  บุคคลจำเวทนาอันใด ก็ตรึงถึงเวทนาอันนั้น  บุคคลตรึกถึงเวทนาอันใด  ก็จินตนาการสร้างมโนภาพจากเวทนาอันนั้น    บุคคลจินตนาการสร้างมโนภาพจากเวทนาอันใด  ความคิดเกี่ยวกับมโนภาพอันนั้นก็จะครอบงำบุคคลนั้น  ในเรื่องของรูปทั้งหลาย  ที่จะพึงรู้ด้วยตา  เป็นอดีตก็ดี  เป็นอนาคตก็ดี  เป็นปัจจุบันก็ดี.........."

                ข้อความตามพุทธพจน์ชี้ให้เห็นว่า  วิญญาณเป็นเพียงองค์ประกอบอันหนึ่งในองค์ประกอบทั้ง 4 อย่าง  การเกิดของวิญญาณนั้นก็เกิดได้จากประสาทสัมผัสทั้ง 5  คือ ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  และใจ  คือ มโน นั่นคือ ตา + รูป ก็เกิดจักขุวิญญาณ เป็นต้น   เมื่อตาเป็นรูปก็เกิดผัสสะ  (กระทบ เชื่อมโยงกัน)  จึงเกิดเวทนาขึ้น  นี่เป็นการแสดงกระบวนการของจิตจากองค์ประกอบต่าง ๆ  ซึ่งดำเนินไปแบบเชื่อมโยงติดต่อเรื่อยไปโดยอาศัยเหตุปัจจัยตามหลักปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง

                4.  นามรูป  (Animated Organism)    คือความมีอยู่ของรูปธรรมและนามธรรม  (รูปและนาม) ในความรู้ของบุคคล   ภาวะที่ร่างกายและจิตใจทุกส่วนอยู่ในสภาพที่สอดคล้องและปฏิบัติหน้าที่เพื่อสนองตอบในแนวทางของวิญญาณที่เกิดขึ้น  ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและจิตใจที่เจริญหรือเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของจิต

                คำว่า "นาม"  ในพระบาลี  พระพุทธเจ้าตรัสหมายเอา เวทนา  สัญญา  เจตนา  ผัสสะ  และมนสิการ  ในอภิธรรม ท่านหมายเอา เวทนาขันธ์  สัญญาขันธ์  และสังขารขันธ์

                คำว่า "รูป"  ท่านหมายเอา มหาภูตรูป 4  คือ ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  และอุปาทายรูป 24  (คือรูปอาศัยมหาภูตรูป)  ตามทัศนะของพุทธศาสนา  รูปคือสิ่งที่ต้องสูญสลายหรือแปรสภาพไปตามเหตุปัจจัย มีเย็นร้อน  เป็นต้น  รูปที่สอนกันมาก็คือ รูปร่างที่เป็นเนื้อหนังมังสา  หรือเลือดลมในกายกายนี้  เรียกมหาภูตรูป  และภาวะต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่กับมหาภูตรูป  หรือเกิดขึ้นจากมหาภูตรูป เช่น ภาวะชาย  ภาวะหญิง หรือภาวะสวย  ภาวะไม่สวย เป็นต้น  ภาวะต่าง ๆ นี้เรียกอุปาทายรูป

                เมื่อนำเอานามกับรูปมารวมกัน  ก็เป็น  "นามรูป"  ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะต้องคู่กันและอิงอาศัยกันขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้         หากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปก็เท่ากับการดับสลายตามหลักสากลของปฏิจจสมุปบาทที่กล่าวว่า  "เมื่อสิ่งนี้มี  สิ่งนี้ก็มี   เพราะสิ่งนี้เกิด  สิ่งนี้จึงเกิด"  และ  "เมื่อสิ่งนี้ไม่มี  สิ่งนี้ก็ไม่มี   เพราะสิ่งนี้ดับไป  สิ่งนี้ก็ดับ (ด้วย)"

                5.  สฬายตนะ  (The six sense - bases)  คือที่ต่อหรือที่เชื่อมโยง 6 อย่าง หมายถึงภาวะที่อายตนะที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่โดยสอดคล้องกับสถานการณ์นั้น ๆ  อายตนะมี 6  เรียกว่า  "อายตนะภายใน 6" ได้แก่  จักขุ  (ตา)    โสตะ  (หู)   ฆานะ  (จมูก)    ชิวหา  (ลิ้น)  กาย  (ร่างกาย)    มโน  (ใจ)    อายตนะภายใน 6  นี้จับคู่กับอายตนะภายนอก 6 คือ รูป  เสียง  กลิ่น  รส  สัมผัส  (ทางกาย)  และธัมมารมณ์  (อารมณ์ที่เกิดที่ใจ)

                6.  ผัสสะ  (Contact)   คือ การเชื่อมต่อความรู้กับโลกภายนอก    การรับรู้อารมณ์หรือประสบการณ์ต่าง ๆ   อีกนัยหนึ่ง  ผัสสะ คือการกระทบกันระหว่างอายตนะภายใน 6 กับอายตนะภายนอก 6  ซึ่งจับคู่กัน คือ  ตา - รูป   หู - เสียง   จมูก - กลิ่น   ลิ้น - รส   กาย - โผฏฐัพพะ   ใจ - ธัมมารมณ์

                ในพระบาลี  พระพุทธพจน์แสดงไว้ว่า  "ฉยิเม  ภิกฺขเว  ผสฺสกายา  จกฺขุสมฺผสฺโส  โสตสมฺผสฺโส  ฆานสมฺผสฺโส  ชิวฺหาสมฺผสฺโส  กายสมฺผสฺโส  มโนสมฺผสฺโส"   แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ผัสสะ 6 ประการเหล่านี้  คือ จักขุสัมผัส  โสตสัมผัส  ฆานสัมผัส  ชิวหาสัมผัส  กายสัมผัส  มโนสัมผัส    นี่คือผัสสะ 6   ตามชื่อแห่งทวร  การกระทบกันระหว่างอายนตะภายใน 6 กับอายตนะภายนอก 6 นั้น  สิ่งแรกที่เกิดขึ้นก็คือวิญญาณ  เช่น ตา กระทบ รูป  ก็รู้ว่าเป็นรูป เป็นต้น

                7.  เวทนา  (Feeling)  คือความรู้สึก  หรือการเสวยอารมณ์  เวทนาเกิดจากจักขุสัมผัส  โสตสัมผัสฆานสัมผัส  ชิวหาสัมผัส  กายสัมผัส  มโนสัมผัส  เรียกว่า  "เวทนา 6"  เวทนาหากแบ่งตามลักษณะจะแบบ่งได้ 3  คือ  สุข   ทุกข์  และอทุกขมสุข  หรือแบ่งเป็น 5  คือ สุข  (ทางกาย)   ทุกข์  (ทางกาย)  โสมนัส  (ทางใจ)    โทมนัส  (ทางกาย)  และอุเบกขา

                หากจะแบ่งความรู้สึกออกเป็นชนิดก็แบ่งได้ 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ ความรู้สึกที่กาย  และความรู้สึกที่ใจ   ความรู้สึกที่กาย แบ่งตามลักษณะได้  2  คือ สุขกาย  และทุกข์กาย    ส่วนความรู้สึกที่ใจแบ่งตามลักษณะได้  2  คือ ความรู้สึกในทางดี  (กุศลเวทนา)   และความรู้สึกในทางชั่ว  (อกุศลเวทนา)  และลักษณะทั้ง  2  นี้ยังแยกย่อยออกไปอีก

                8.  ตัณหา  (Craving)   คือความอยาก  ความต้องการ  ความยินดี  ความพอใจในอารมณ์ต่าง ๆ   ตามพระบาลี ท่านแสดงตัณหาไว้ คือ รูปตัณหา  (ตัณหาในรูป)  สัททตัณหา  (ตัณหาในเสียง)  คันธ-ตัณหา  (ตัณหาในกลิ่น)    รสตัณหา  (ตัณหาในรส)   โผฏฐัพพตัณหา   (ตัณหาในสัมผัสทางกาย  และธัมมตัณหา  (ตัณหาในธรรมารมณ์)   เรียกว่า "ตัณหา 6"

                ตัณหานี้  ถ้าแบ่งตามอาการแบ่งได้ 3  คือ

                        8.1  กามตัณหา  คือความทะยานอยากในสิ่งสนองความต้องการทางประสาททั้ง 5

                        8.2  ภวตัณหา    คือความอยากให้คงอยู่ชั่วนิรันดร   หรือความอยากมี อยากเป็น

                        8.3  วิภวตัณหา   คือความอยากให้ดับสูญ  หรือความไม่อยากมี  ไม่อยากเป็น

                อีกนัยหนึ่ง  ท่านอธิบายตัณหา 3  ไว้อีกแบบหนึ่ง คือ  (1)  กามตัณหา คือ ความอยากด้วยความยินดีในกาม   (2)  ภวตัณหา  คือความอยากอย่างมีสัสสตทิฏฐิ   และ (3)  วิภวตัณหา คือความอยากอย่างมีอุจเฉททิฏฐิ

                9.  อุปาทาน  (Attachment, Clinging) คืออาการที่จิตเข้าไปยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้  ความยึดติดหรือเกาะติดในเวทนาที่ชอบและเกลียดชัง  รั้งเอาสิ่งต่าง ๆ และภาวะที่ชีวิต อำนวยเวทนานั้นเข้ามาผูกพันกับตัว    การตีค่ายึดถือความสำคัญของภาวะและสิ่งต่างๆ ในแนวทางที่เสริมหรือสนองตอบตัณหาของตน

                ในพระบาลี      มีพุทธพจน์แสดงอุปาทานไว้ว่า   "จตฺตาริมานิ  ภิกฺขเว  อุปาทานานิ  กามุปา-ทานํ  ทิฏฺฐุปาทานํ  สีลพฺพตุปาทานํ  อตฺตวาทุปาทานนฺติ"  แปลว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   อุปาทาน 4  เหล่านี้คือ กามุปาทาน  (ความยึดมั่นในกาม คือ รูป  รส  กลิ่น  เสียง  สัมผัสต่าง ๆ)  ทิฏฐุปาทาน  (คามยึดมั่นในทิฐิ ได้แก่  ความเห็นหรือทัศนะ  ลัทธิ ทฤษฏีต่าง ๆ)    สีลัพพตุปาทาน  (ความยึดมั่นในศีลพรตว่าทำให้คนบริสุทธิ์)      อัตตวาทุปาทาน  (ความยึดมั่นในอัตตา   การสร้างตัวขึ้นมายึดถือด้วยความหลงผิด)

                10.  ภพ   (Process of becoming)   คือ ความมี  ความเป็น  (รูปศัพท์เดิม คือ ภวะ  เมื่อมาเป็นภาษาไทย แปลง วะ  เป็น พะ  จึงสำเร็จรูปเป็นภพ)   ภพแบ่งได้  3  คือ

                      10.1 กามภพ  สัตว์ที่ยินดียึดถืออยู่ในรูป  เสียง  กลิ่น  รส  สัมผัส  (ทางกาย)  ก็มีกามภพอยู่ในใจ

                      10.2 รูปภพ  เมื่อสัตว์ยึดถือรูปเป็นนิมิต  ก็เป็นรูปภพอยู่ในจิตใจ

                      10.3 อรูปภาพ   เมื่อสัตว์ยึดถืออรูป  (อรูปฌาน)  ก็เป็นอรูปภพอยู่ในจิตใจ

                อีกนัยหนึ่ง  ภพ แบ่งออกได้ 2  คือ

                      10.1  กรรมภพ   คือ   กระบวนการพฤติกรรมทั้งหมดที่แสดงออกเพื่อสนองตัณหาอุปาทาน

                      10.2  อุปัตติภพ  คือภาวะแห่งชีวิตสำหรับตัวตนหรือตัวตนที่จะมี  จะเป็นไป

                ในรูปใดรูปหนึ่ง  โดยสอดคล้องกับอุปาทานและกระบวนการพฤติกรรมนั้น

                11.  ชาติ   (Birth)   คือการเกิด   การปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย   การได้อายตนะเฉพาะการก้าวลงหรือการเป็นไปพร้อมขึ้นมาในหมู่สัตว์นิกาย  อีกนัยหนึ่ง  ชาติ  หมายถึง ความตระหนักในตัวตนว่า อยู่หรือไม่ได้อยู่ในภาวะชีวิตนั้น    มีหรือไม่ได้มี   เป็นหรือไม่ได้เป็นอย่างนั้น ๆ    ชาติ ที่หมายถึง การเกิด   มีความหมายกว้าง  มิได้หมายเอาเฉพาะการปรากฏของสิ่งที่เป็นรูปธรรม  เช่น  เป็นคน  เป็นสัตว์ ผู้ชาย  ผู้หญิง เป็นต้น  แต่หมายรวมไปถึงการเกิดหรือการปรากฏของสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น ชื่อเสียงเกียรติยศ  สรรเสริญ  นินทา เป็นต้นด้วย

                12.  ชรา มรณะ  (Decay and Death)   คำว่า "ชรา"  คือความเสื่อมอายุ  ความหง่อมอินทรีย์  และคำว่า   "มรณะ"   คือ   ความสลายแห่งขันธ์     ความขาดชีวิตินทรีย์        เมื่อนำคำทั้งสองมาต่อกันเป็น "ชรามรณะ"   คือความเสื่อมกับความสลายแห่งธรรมต่าง ๆ เหล่านั้น ๆ

                อีกนัยหนึ่ง ชรามรณะ  มีความหมายว่า  ความสำนึกในความขาด  พลาด  หรือพรากแห่งตัวตนจากภาวะชีวิตอันนั้น   ความรู้สึกว่าตัวตนถูกคุกคามด้วยความสูญสิ้น  สลายหรือพลัดพรากกับภาวะชีวิตนั้น ๆ  หรือการได้มีได้เป็นอย่างนั้น ๆ   ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาผสมก็คือ  โสกะ  ปริเทวะ   ทุกข์  โทมนัส  อุปายาส  พ่วงเข้ามาด้วยความรู้สึกคับแค้น    ขัดข้อง   ขุ่นมัว   แห้งผากในใจ   หดหู่  ซึมเซา  กระวนกระวาย  ไม่สมหวัง และทุกขเวทนาต่าง ๆ     สำหรับชรามรณะนี้ก็มิได้หมายเอาเพียงความเสื่อมกับความสลายของสิ่งที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น  แต่รวมไปถึงสิ่งทั้งปวงที่เป็นนามธรรมด้วย.

 

 

“ความเกิด” นี้วันหนึ่งเราเกิดกันเป็นหลายสิบหลายร้อยครั้ง

“วัฏสงสาร” ไม่ใช่การเวียนว่ายตายเกิดในการแก่ตายแล้วเกิดเป็นเด็กในท้องแม่ใหม่ แต่เป็นการเกิดในจิตใจ โลภ โกรธ หลง

 

ผัสสะ - เวทนา -  ตัณหา – อุปทาน – ภพ - ชาติ

 

          เช่น เรามีผัสสะที่เกิดจากหู ตา จมูก ลิ้น ผิวหนัง ที่คอยรับความรู้สึกต่างๆ เวลาเรามองแล้วเห็นคนสิบคนร้อยคน ก็คือการเกิดผัสสะ ถ้าเราไม่ได้คิดอะไรก็จะจบแค่ผัสสะ แต่ถ้าเรามีความรู้สึกว่า มีคนสวย คนหล่อ คนหน้าตาดี เครื่องแต่งกายดี ก็คือการเกิดเวทนา เมื่อเราอยากได้คนนั้นคนนี้เป็นแฟนเป็นคู่รัก อยากหน้าตาดีเหมือนกับคนนี้ ไม่อยากอัปลักษณ์เหมือนกับคนนั้น ก็คือการเกิดตัณหา เมื่อเราไปยึดมั่นถือมั่นว่าคนนั้นเป็นของๆเรา เค้าจะต้องเป็นแฟนเรา คู่สมรสเรา หรือเราจะต้องมีหุ่นดีอย่างนั้น ก็เกิดเป็นอุปทาน จนเกิดเป็นภพ ที่เราจะต้องมีความร้อนรุ่มทนไม่ได้ จนเกิดเป็นชาติที่เรากลายเป็นทุกข์อย่างเต็มที่ นี่คือการเกิดในพุทธศาสนา แต่ธรรมชาติก็สร้างเราไว้ไม่ให้เป็นบ้าเพราะความทุกข์ เพราะถ้าเวลาผ่านไป ความรู้สึกเหล่านี้ก็จะค่อยๆหายไปตามเวลาหรือเมื่อมีเรื่องใหม่เข้ามาก็จะลืมไปได้เอง นี่คือ ชรา และมรณะ

          ซึ่งเราควรพิจารณาและทำความเข้าใจว่าสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นนั้นทำให้เราเกิดชาติได้วันละหลายร้อยหลายพันรอบโดยเราไม่รู้ตัว เช่น ถ้าเรากินอาหาร แค่เราเคี้ยวคำเดียวก็เกิดชาติไม่รู้กี่ชาติ เคี้ยวคำแรกๆอาจจะรู้สึกอร่อยมีความสุข แต่ถ้าเจอสิ่งที่เราไม่ชอบแล้วเราก็เกิดความทุกข์ขึ้นทันที บางคนอาจคายทิ้ง บางคนอาจเรียกพ่อครัวมาต่อว่า บางคนทำเรื่องเล็กๆเหล่านี้ให้เป็นเรื่องใหญ่ แม้จะได้กินอาหารที่เลิศรสขนาดไหน สมมติว่าคำหนึ่งเราต้องเคี้ยวสามสิบคำแล้วกลืน เราย่อมอร่อยกับทุกคำที่เราเคี้ยว แต่แค่ลองเคี้ยวไปสี่ห้าคำแล้วคายออกมาดู อีกยี่สิบคำที่อร่อยคงหมดความหมาย ทั้งๆที่ก็เป็นอาหารจานเดียวกัน

          ฉะนั้นเราจึงควรฝึกตนโดยแรกสุดแม้จะเกิดชาติแล้วก็พยายามให้จบเร็วที่สุด เช่น เมื่อเราผิดหวังอกหักคนโง่อาจจะต้องใช้เวลาเป็นปี ทำร้ายตัวเอง ถ้าเรามีปัญญาขึ้นมาหน่อยอาจเหลือไม่กี่เดือน แต่ถ้ามีปัญญาก็จะเข้าใจแม้ว่าจะรักมากแค่ไหน ต่อให้คนรักตายก็จะเสียใจเพียงครู่เดียวเนื่องจากความเข้าใจว่าการตายเป็นสิ่งธรรมดา หรือเขาได้ไปเจอคนที่ดี เราก็ได้ใช้ชีวิตร่วมกันมาอย่างดีที่สุดและมีความสุขที่สุดแล้ว โดยเมื่อทำการฝึกต่อไปก็จะค่อยๆลดขั้นตอนการเกิดลงมาได้เรื่อยๆ อาจจะจบแค่ภพ อาจจะจบแค่อุปทาน ทุกคนย่อมมีอารมณ์ทุกคนแต่สิ่งเดียวกันที่เกิดขึ้นกับเรานั้นส่งผลไม่เหมือนกัน เช่น ฝนตก ถ้าเราอยู่ในบ้านคงรู้สึกดีใจว่าเย็นดี แต่ถ้าเรากำลังเดินทางไปทำธุระสำคัญเราคงเกิดอารมณ์โกรธ โมโห ทั้งๆที่ฝนก็ตกตามปกติของมัน บางคนทำบุญแท้ๆพอมีคนทำมากกว่าก็เกิดการเสียหน้าไม่พอใจ ฉะนั้นอยู่ที่เราเลือกจะคิด หรือบางคนอยากได้โทรศัพท์แพงๆสักเครื่อง คือเกิดตัณหาขึ้นมาแล้วแต่ก็คิดได้ว่ายังไม่เหมาะสมกับตนที่ยังเรียนอยู่ไม่มีรายได้ ก็ตัดใจได้ แต่กับหลายคนเมื่อเกิดตัณหาแล้วก็พยายามทุกวิธีเพื่อให้ได้มาเพราะมันเกิดชาติแล้ว ถึงกับยอมทำสิ่งผิดกฏหมายเพื่อจะมาบรรเทาความอยากของตน

          ถ้าเราตัดให้จบแค่ผัสสะ เวทนาได้เราก็จะมีแต่ความสงบ ความสุข ความเย็น เป็นนิพพานน้อยๆของเรา เมื่อเราสามารถขยายนิพพานชั่วคราวให้มากขึ้นได้ ลดวัฏสงสารให้สั้นลงจนดับไป นี่เราก็จะสามารถเคารพตัวเองได้ว่าเป็นอริยบุคคล ไม่ต้องทำวัตร ทรมานตนเองให้ลำบาก ก็พบความสุขได้ง่ายๆ โดยพุทธเจ้ากล่าวว่าถ้าคนทั้งหลายเป็นอยู่โดยชอบแล้วไซร้ โลกนี้จักไม่ว่างจากพระอรหันต์

 

          คำอธิบายเรื่องนรก สวรรค์ ของท่านพุทธทาสกล่าวว่า การที่เราจะไปเกิดในที่ใดเกิดเป็นสิ่งใดนั้นคือ

 

อุบายภูมิ

          นรก              =       ความเดือดเนื้อร้อนใจ เหมือนไฟเผา

          เดรัจฉาน       =       ความโง่อย่างไม่น่าโง่ เกิดโมหะ ความหลงผิด

          เปรต             =       ความโลภ ความอยากได้อยากมี อยากเป็น

          อสุรกาย                  =       ความกลัว ความโกรธ

พรหม 4 หน้า 

คน               =       การที่ต้องเหน็ดเหนื่อย ทำงานแลกอาหาร, กามคุณ ทำสิ่งที่สุจริต

          เทวดา           =       การที่ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย และได้กามคุณที่ต้องการ

          พรหม           =       เบื่อกามคุณ อยู่อย่างสงบ

          อรูปพรหม      =       เห็นแล้วว่ารูปและวัตถุนี้ไม่แน่นอน ไม่ยึดติด มีความว่าง

         

 

 

การนิพพานในปัจจุบัน

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภิกษุแสดงธรรม เพื่อความเบื่อหน่ายเพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับไม่เหลือแห่งชราและมรณะอยู่ไซร้ ก็เป็นการสมควร เพื่อจะเรียกภิกษุนั้นว่า “ผู้กล่าวซึ่งธรรม” ดังนี้.

          ถ้าภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติแล้ว เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับไม่เหลือแห่งชราและมรณะอยู่ไซร้ ก็เป็นการสมควร เพื่อจะเรียกภิกษุนั้นว่า “ ผู้ปฏิบัติแล้วซึ่งธรรมตามสมควรแก่ธรรม” ดังนี้

          ถ้าภิกษุเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะความเบื่อหน่าย เพราะความคลายกำหนัด เพราะความดับไม่เหลือแห่งชราและมรณะ ด้วยความเป็นผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่นอยู่ไซร้ ก็เป็นการสมควรที่จะเรียกภิกษุนั้นว่า “ผู้บรรลุแล้วซึ่งนิพพานในปัจจุบัน” ดังนี้

พุทธวัจน์

 

“สิ่งนั้น” หาพบในกายนี้

“ แน่ะเธอ ! ที่สุดโลกแห่งใดอันสัตว์ ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ เราไม่อาจกล่าวว่า ใครๆอาจรู้ อาจเห็น อาจถึงที่สุดแห่งโลกนั้น ด้วยการไป.

          “ แน่ะเธอ ! ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ ที่ยังประกอบด้วยสัญญาและใจนี่เอง, เราได้บัญญัติโลก, เหตุให้เกิดโลก, ความดับสนิทไม่เหลือของโลก, และทางดำเนินให้ถึงความดับสนิทไม่เหลือของโลกไว้” ดังนี้แล.

พุทธวัจน์

 

พระพุทธองค์ มิได้ทรงเสียเวลา ในการกระทบกระทั่ง หรือ ยกเลิกลัทธิคำสอนของเก่า ก่อนพระองค์ หากแต่ทรงแสดงเรื่องของพระองค์ ที่ดีกว่า - จริงกว่า - มีประโยชน์กว่า ให้ผู้ฟัง เลือกเอาเอง อย่างมีเหตุผล จึงไม่มีเหตุร้ายใดๆ เกิดขึ้น อย่างรุนแรง เหมือนกับที่เกิดแก่ ศาสดาอื่นบางองค์

หลักการปฏิบัติที่แท้จริง ไม่ต้องข้ามภพ ข้ามชาติ (เข้าโลง) ล้วนแต่เป็นสันทิฎฐิโก - อกาลิโก คือ ปรากฏแก่ใจ ในทันทีที่กระทำ และรับผลของการกระทำ ส่วนที่เนิ่นนานไปจากนั้น เป็นเพียงผลพลอยได้ ฝ่ายวัตถุธรรม ในความรู้สึกของปุถุชนธรรมดา.

 

กิเลส

พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโกได้กล่าวถึงกิเลสว่า กิเลสเป็นสิ่งที่มาครอบงำจิต ทำให้จิตเศร้าหมอง กิเลสหรือ อกุศลมูล อันได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ เมื่อมีเหตุปัจจัยประสมประสานกัน แล้วก่อตัวขึ้นมาเป็นอุปนิสัยต่างๆมี 16 ลักษณะเรียกว่า อุปกิเลส 16 ได้แก่

1.    ความละโมบ อยากได้ อยากมี อยากเป็นอย่างไม่รู้จักพอ เห็นแก่ได้จนลืมตัว

2.    ความโกรธ มีอะไรมากระทบก็โกรธ แต่เมื่อหายแล้วก็เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

3.    การผูกโกรธ ไม่ปล่อยไม่ลืม ผูกใจเจ็บ คิดถึงเมื่อใดก็ยังโกรธอยู่ทุกครั้ง

4.    พยาบาท ความคิดร้าย ตำหนิ มุ่งทำร้าย มีความอยากทำลายทั้งผู้อื่นและตนเอง

5.    ลบหลู่คุณท่าน ปิดบังความดีของผู้อื่น ผู้อื่นทำดีกับเรากลับนึกตำหนิเขา ยกเรื่องไม่ดีคนอื่นมาพูด

6.    ตีเสมอ ยกตัวเทียมท่าน ไม่ยอมให้ใครดีกว่าตน ชอบยกตัวเองดีกว่าคนอื่น

7.    ริษยา เห็นคนอื่นได้ดีทนไม่ได้

8.    ตระหนี่ขี้เหนียว ยึดถือในสิ่งที่เราครอบครองอยู่อย่างเหนียวแน่น

9.    เจ้าเล่ห์หลอกลวง ไม่จริงใจ

10. โอ้อวด หลอกลวง

11. ดื้อ กระด้าง ยึดมั่นถือมั่นในตัวเองใครแนะนำอะไรให้ก็ไม่ยอมรับฟัง

12. มุ่งแต่เอาชนะ จะทำอะไรก็ต้องเหนือกว่าคนอื่นตลอด

13. ถือตัว ทะนงตน

14. ดูหมิ่น ดูถูกผู้อื่น

15. มัวเมา หลงว่ายังหนุ่มสาว หลงในอำนาจ คิดว่าจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป

16. ประมาท เลินเล่อ ไม่คิดให้รอบคอบ ขาดสติ ขาดปัญญา

 

คนเราปกตินั้นต้องคอยทำความสะอาดร่างกาย เพราะร่างกายเรานั้นเกิดของเสียขึ้น

มากมายทุกวัน ทั้งอุจจาระ ปัสสาวะ รังแค ขี้ไคล ขี้หู ขี้ตา กลิ่นปาก สารพัดจะหาวิธีที่จะต้องกำจัดและปกปิดสิ่งเหล่านี้ ยอมเสียเงินมากมายผลิตภัณฑ์ใหม่ทำออกมารองรับการทำความสะอาด การดับกลิ่น หรือถ้าใครสักคนต้องประสบเหตุการณ์ท้องเสีย ซึ่งทุกคนรังเกียจว่าอุจจาระเป็นของเสียเป็นสิ่งสกปรก แล้วเผอิญเกิดเหตุการณ์ถ่ายท้องอุจจาระรดกางเกง ส่งกลิ่นเหม็น เขาคงอายจนแทบแทรกแผ่นดินหนี ผู้คนรอบข้างก็คงมีแต่คนรังเกียจเดียดฉันท์ 

          แต่พอเป็นกิเลสเป็นของเสียของสกปรกทางจิตใจ เมื่อเกิดความรู้สึกหงุดหงิด ไม่พอใจ น้อยใจ โกรธ อยากได้ อยากมี เรากลับไม่ระมัดระวังอารมณ์ คิดปรุงแต่งไปตามกิเลสตัณหา แล้วเราแสดงออกมาทางร่างกาย และวาจา ต่อหน้าใครๆอย่างไม่อาย แล้วก็มักตำหนิติเตียนคนอื่นว่าเขาไม่ดี โดยไม่รู้สึกตัวว่าจริงๆแล้วมันเป็นเพราะอุปกิเลส หรือขี้ในใจของเรานั่นเองที่ส่งกลิ่นเหม็นออกมา

          ซึ่งกิเลสเหล่านี้ไม่ใช่จิต เป็นเพียงอาคันตุกะจรเข้ามาครอบงำจิต หน้าที่เราคือหมั่นตามดู ตามรู้อาการจิต พิจารณาดูถึงโทษภัยของสิ่งเหล่านี้ จนเกิดเป็นหิริโอตัปปะ ละอายและกลัวต่อกิเลส ยิ่งละอายและกลัวต่อกิเลสเท่าไรสติก็จะว่องไวขึ้นเท่านั้น ทำให้เกิดความรู้สึกตัวก่อนที่จะแสดงออกมาทางกาย วาจา

          ในปัจจุบันนี้ คนเรากลับนิยมชื่นชม ผู้ที่แสดงออกถึงกิเลสต่างๆ ราคะ โทสะ โมหะ การที่หลายๆคนแสดงออกถึงความฟุ้งเฟ้อ วัตถุนิยม หลงมัวเมากลับสิ่งภายนอก กลับได้รับการชื่นชม การเลือกที่จะแสดงอารมณ์รุนแรงใส่ผู้อื่น จนทำให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมามากมาย ลองคิดกันดูว่าถ้าเราไม่มีวัตถุราคาแพงรอบตัวเราแล้วคุณค่าเราเหลืออยู่เพียงใด  การแข่งกันทำความดีน่าจะเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการเชิดชูมากกว่าการที่ใครจะผลาญจะสะสมทรัพยากรของโลกนี้ที่เป็นส่วนรวมได้มากกว่ากัน

 

          พระพุทธเจ้าได้จำแนกคนเป็นดังบัวสี่เหล่าที่จะมีความสามารถในการเข้าใจคำสอน สำหรับเราคิดว่าน่าจะมีเกณฑ์ให้แต่ละท่านได้รับรู้ว่าตนอยู่ในระดับใด(ในเรื่องบัวสี่เหล่าเป็นเรื่องของปัญญาทางธรรม ไม่ใช่ความฉลาดทางโลก เช่น ดร.หลายคนยังมีกิเลส มีทุกข์มาก) ซึ่งวุฒิภาวะเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง อันนี้ เราได้จำกัดความหมายของวุฒิภาวะ คือ การที่จะรู้และคิดรวมถึงสามารถปฏิบัติได้ซึ่งนอกจากปัญญาแล้วยังต้องประกอบด้วยประสบการณ์ โดยจำแนกคนเป็น 4 ประเภท ในการที่จะรับมือเข้าใจและเลือกปฏิบัติต่อการเกิดทุกข์ ดังนี้

1.    ผู้ที่แค่ได้รับฟังการสอนการบอก การอ่านการเห็นจากสื่อ ก็สามารถเข้าใจและทำได้ เช่น ผู้ที่รับทราบว่าถ้าบริโภคมากเกินไปจะทำให้เกิดโรคก็ระวังและไม่ทำพฤติกรรมนั้น หรือถ้ามีพฤติกรรมที่ไม่ดีอยู่แล้วได้รับข้อมูลที่ตนคิดว่าพอใจก็พร้อมจะไม่ยุ่งเลิกทันที ดุจดังบัวที่พ้นน้ำ

2.    ผู้ที่รับสื่อหรือคำเตือนแล้ว แต่ยังไม่คิดจะทำโดยมักจะหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง เพราะยังหลงอยู่กับกิเลสตัณหา ไม่คิดว่าสิ่งไม่ดีที่ตนทำนั้นเป็นทุกข์ เช่น คิดว่าการกินนั้นคือความสุข แต่เมื่อเกิดเหตุกับคนใกล้ตัวหรือประสบเหตุการณ์จริง ก็สามารถที่จะคิดได้แล้วก็เลือกที่จะเลิกยุ่งเกี่ยวกับสิ่งไม่ดีทันที เช่น มีญาติใกล้ชิดเพื่อนสนิทตายเพราะโรคอ้วน เบาหวาน ความดัน หัวใจ  ก็ถึงจะคิดได้แล้วเลิกทำ เป็นบัวปริ่มน้ำ

3.    ผู้ที่ต้องเกิดปัญหาประสบกับตนเอง ถึงจะคิดได้ เช่น มีอาการป่วยกับตนเอง ถึงจะทำการเลิกพฤติกรรมแย่ๆ เป็นบัวใต้น้ำ

4.    ผู้ที่แม้จะประสบเหตุการณ์กับตนเองแล้ว ก็ยังจะหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง เพราะยังยึดมั่นถือมั่น ในตัณหาในกิเลส เช่น บางคนแม้จะเกิดอาการป่วยแล้ว หรือจนนอนโรงพยาบาลแล้วก็ไม่คิดจะปรับปรุง แก้ไข อันนี้เป็นบัวใต้ตม ใต้โคลน

 

แต่ในสถานการณ์ของโลกปัจจุบัน ที่มีสิ่งยั่วยวนมากมาย ชวนให้หลงใหลไปกับสิ่งต่างๆ ซึ่งหลายสิ่งนั้นนำพาความเดือดร้อนมาให้ ทั้งกับครอบครัวและตนเอง หลายคนคิดว่าถ้าต้องอยู่อย่างจืดชืดกินชีวจิต ไม่ได้กินเหล้า สูบบุหรี่แล้วจะมีอายุยืนอย่างน่าเบื่อทำไม สู้มีชีวิตที่มีสีสันแต่ไม่ต้องยืนยาวจะดีกว่า ดังเช่นเทียน กับดอกไม้ไฟ ชีวิตนี้ขอสว่างวูบเดียวดีกว่า ซึ่งตอนคิดนั้นก็เป็นช่วงที่ยังมีสุขภาพดีอยู่ โดยคิดว่าศีลคือการไม่เบียดเบียนใคร ถ้าผู้นั้นเป็นคนที่ไม่มีภาระครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบ อย่างน้อยถ้าไม่มีสติในการที่จะเลิกพฤติกรรมนั้น ก็ต้องมีธรรมะสำหรับตนเองอย่างน้อยสักข้อ คือ อุเบกขา การวางเฉย ทำใจพร้อมที่จะเจ็บ จะป่วย จะตาย ก็จะเป็นการดี  นำทรัพย์สมบัติมาบริจาคการกุศล ก็คงไม่มีใครไปตำหนิท่านได้ แต่ถ้ายังมีภาระต้องรับผิดชอบ มีครอบครัวต้องดูแล ก็ควรเลิก อย่าต้องให้ครอบครัวต้องมาเสียเวลา ทรัพย์สินเงินทอง เป็นหนี้ ตกงาน เพื่อมาดูแลผลที่เกิดจากความหลงในกิเลสของท่านเลย

          เราจะสังเกตคนที่ไม่สามารถพ้นจากกิเลสได้นั้นง่ายๆ คือ คนเหล่านี้มักจะมีความลักษณะพิเศษในการหาเหตุผลมารองรับความไม่ดีของตน แต่ไม่รู้ว่าจะใช้คำใด  เราเคยฟัง น้าเน็ค เดี่ยว แสดงธรรม ไว้ว่า “ควาย, เหี้ย” เหล่านี้ไม่ใช่คำหยาบ เพราะถ้าทุกคนฟังด้วยใจที่เป็นกลางแล้ว ทั้งสองคำนี้ก็เป็นชื่อสัตว์ชนิดหนึ่งเท่านั้น ควายมีประโยชน์มากมายไม่เคยทำความเดือดร้อนให้ใคร ไม่เคยมาดูดเลือดใคร ไม่เคยฉี่ใส่ล้อรถใคร  ถ้ามีใครไล่คุณไปเลี้ยงควาย คุณคงโกรธแต่ถ้าไล่ “ไปเลี้ยงกวางไป” คงไม่รู้สึกอะไร หรือมีใครมาตะโกนใส่หน้า “ แพนด้า” “โคอาล่า” ก็คงไม่โกรธ แต่แพนด้าเคยมาทำนาให้เรากินก็ไม่เคย ถูกเชือดกินเนื้อก็ไม่มี ต้องเสียค่าดูแลอนุรักษ์พอกับงบประมาณการศึกษาบางประเทศ ช่างเป็นสัตว์ที่มีอภิสิทธิ์จริงๆ ฉะนั้นจะไปด่าพวกที่เป็นอภิสิทธิ์ชนทั้งหลายว่า ไอ้แพนด้าคงไม่มีใครเจ็บแสบเท่าไรนัก  เหี้ยก็เช่นกัน แม้จะทำความเดือดร้อนให้กับคนบางกลุ่มเท่านั้น แต่จริงๆแล้วไม่เคยมีสัตว์ชนิดใดไม่มีประโยชน์ คนมักตั้งเอาความสะดวกและประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง อะไรมาทำให้ลำบากก็ตั้งว่าไม่ดีไปเสียหมด   เคยอ่านเจอเหตุการณ์ของจีนสมัย เหมาเจ๋อตุง ช่วงนั้นชาวนาประสบปัญหานกกินพืชผลเสียหาย ปลูกสิบส่วนก็เก็บเกี่ยวได้แค่เจ็ดส่วน ท่านประธานเหมาจึงสั่งให้มีนโยบายล่านกเหล่านั้นจนหมดไป ปรากฏว่าปีต่อมาพืชผลปลูกสิบส่วน เมื่อไม่มีนกแล้วกลับเก็บเกี่ยวได้เพียง สามสี่ส่วนเท่านั้นเพราะถูกแมลงคุกคาม ฉะนั้นธรรมชาติทุกสิ่งมีประโยชน์ จึงอยากจะไปเปรียบเทียบกับคนเพราะสัตว์เหล่านั้นก็อยู่ตามธรรมชาติแม้จะสร้างความเดือดร้อนอย่างไรแต่ก็ไม่เคย โกงเอาภาษีเราไปใช้ ไม่เคยใส่เครื่องแบบไถเงินเรา แต่ถ้าจะใช้ คำที่จะมาอธิบาย ถ้ามีคนมาเตือนด้วยความหวังดีแล้วตัวคุณก็รู้ว่ามันไม่ดี คนที่มีเหตุผลที่จะรองรับความโง่ ที่จะทำให้กิเลสของตนนั้นดูดี แล้วในตอนแรกก็คิดถึงว่าควรจะด่าว่า “ไอ้นักการเมือง” แต่เมื่อได้มาศึกษาในพระธรรมก็รู้ว่าในทุกสังคมย่อมมีคนดีและไม่ดี อย่าไปตัดสินทั้งหมดจากคนบางคน ฉะนั้นจึงต้องมาลงตัวกับคำนี้ เพราะว่า คนดีชอบแก้ไข คนจัญไรชอบแก้ตัว

         

ตถาคตเป็นแต่ผู้บอกทางเท่านั้น

          “ ก็สาวกของพระโคดมผู้เจริญ เมื่อพระโคดมได้กล่าวสอนพร่ำอยู่อย่างนี้ ทุกๆองค์ได้บรรลุนิพพานเป็นผลสำเร็จ ถึงที่สุดอย่างยิ่ง หรือว่าบางองค์ไม่ได้บรรลุพราหมณ์คณกโมคคัลลานะ ทูลถาม

          พราหมณ์ ! สาวกของเราแม้เรากล่าวสอน พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ น้อยพวกที่ได้บรรลุนิพพานอันเป็นผลสำเร็จถึงที่สุดยิ่ง, บางพวกไม่ได้บรรลุ

          “พระโคดมผู้เจริญ ! อะไรเล่าเป็นเหตุ อะไรเล่าเป็นปัจจัย,ที่พระนิพพานก็ยังตั้งอยู่, หนทางเป็นที่ยังสัตว์ให้ถึงนิพพานก็ยังตั้งอยู่, พระโคดมผู้ชักชวน(เพื่อการดำเนินไป)ก็ยังตั้งอยู่, ทำไมน้อพวกที่บรรลุ และบางพวกไม่บรรลุ

          พราหมณ์ ! เราจักย้อนถามท่านในเรื่องนี้ ท่านจงตอบตามควร ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในหนทางไปสู่เมืองราชคฤห์ มิใช่หรือ, มีบุรุษผู้จะไปเมืองราชคฤห์ เข้ามาหาและกล่าวกับท่านว่า “ท่านผู้เจริญ ! ข้าพเจ้าปราถนาจะไปเมืองราชคฤห์ ขอท่านจงบอกทางไปเมืองราชคฤห์ แก่ข้าพเจ้าเถิด” ท่านก็จะกล่าวกะบุรุษนั้นว่า “มาซิท่าน, ทางนี้ไปเมืองราชคฤห์ ไปได้ครู่หนึ่งจักพบบ้านชื่อโน้นแล้วจักเห็นนิคมชื่อโน้น จักเห็นสวนและป่าน่าสนุก จักเห็นภูมิภาคอันน่าสนุก สระน่าสนุก ของเมืองราชคฤห์” ดังนี้. บุรุษนั้น อันท่านพร่ำบอกพร่ำชี้ให้อย่างนี้ ก็ยังถือเอาทางผิด กลับหลังตรงข้ามไป, ส่วนบุรุษอีคนหนึ่ง(อันท่านพร่ำบอกพร่ำชี้อย่างเดียวกัน)ไปถึงเมืองราชคฤห์ได้โดยสวัสดี.

          พราหมณ์ ! อะไรเล่าเป็นเหตุ, อะไรเล่าเป็นปัจจัย ที่เมืองราชคฤห์ก็ยังตั้งอยู่, หนทางสำหรับไปเมืองราชคฤห์ ก็ยังตั้งอยู่, ท่านผู้ชี้บอกก็ยังตั้งอยู่, แต่ทำไมบุรุษผู้หนึ่งกลับหลังไปผิดทาง, ส่วนบุรุษผู้หนึ่งไปถึงเมืองราชคฤห์โดยสวัสดี ?

          “พระโคดมผู้เจริญ ! ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าจักทำอย่างไรเล่า, เพราะข้าพเจ้าเป็นแต่ผู้บอกทางเท่านั้น”

          พราหมณ์ ! ฉันใดก็ฉันนั้น, ที่พระนิพพานก็ยังตั้งอยู่ ทางเป็นเครื่องถึงพระนิพพานก็ยังตั้งอยู่ เราผู้ชักชวนก็ยังตั้งอยู่ แต่สาวก, แม้เรากล่าวสอนพร่ำอย่างนี้ น้อยพวกได้บรรลุนิพพานอันเป็นผลสำเร็จถึงที่สุดอย่างยิ่ง, บางพวกไม่ได้บรรลุ. พราหมณ์ ! ในเรื่องนี้เราจักทำอย่างไรได้เล่า, เพราะเราเป็นแต่ผู้บอกทางเท่านั้น.

พุทธวัจน์

Free Web Hosting