ความเชื่อกับความจริง

ในการศึกษาหลักการหรือทฤษฎีใดๆก็ตาม เราเคยคิดกันบ้างหรือไม่ว่า “เราจะรู้ได้อย่างไรว่าหลักการหรือทฤษฎีนั้น จะมีความถูกต้อง หรือไม่ผิดพลาดอย่างแน่นอน?” ซึ่งตามปรกติเรามักจะเชื่อกันว่าหลักการหรือทฤษฎีต่างๆ ที่เราศึกษามาจากคนอื่น หรือจากตำรา ที่มีผู้คนเชื่อถือกันมากมายนั้น ว่ามันมีความถูกต้องแน่นอน ซึ่งนี่ยังเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะแม้ผู้ที่เราเชื่อกันว่าเขามีความรู้ถูกต้องแล้วนั้น เขาก็ยังอาจจะมีความรู้หรือความเข้าใจที่ผิดมาก่อน โดยที่เขาไม่รู้ตัวเลยก็ได้ หรือตำราก็อาจจะถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ผิดเพี้ยนก่อนที่จะมาถึงเราแล้วก็ได้ ดังนั้นถ้าเราเชื่อตามผู้สอนนั้น หรือตามตำรานั้น เราก็จะได้รับคำสอนที่ผิดเพี้ยนตามไปด้วยโดยไม่รู้ตัว

ในการศึกษาหรือเรียนรู้หลักการหรือทฤษฎีใดๆก็ตาม เมื่อเราอ่านมาหรือฟังมาจนเกิดเป็น “ความรู้” หรือได้นำความรู้นั้นมาคิดพิจารณาด้วยเหตุด้วยผล จนเกิดเป็น “ความเข้าใจ” อย่างแจ่มแจ้งแทงตลอดแล้วก็ตาม ความรู้หรือความเข้าใจนั้นยังจัดว่าเป็นเพียง “ปรัชญา” ที่หมายถึง ความรู้ที่แตกฉานที่ยังไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นผลจริงเท่านั้น

ความรู้หรือแม้ความเข้าใจใดๆก็ตาม ที่เรายังไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นผลขึ้นมาจริงๆ แม้ความรู้นั้นจะมีคนที่น่าเชื่อถือมากมายมารับรองว่าถูกต้องแน่นอนที่สุดก็ตาม ความรู้นั้นก็ยังจัดว่าเป็นปรัชญาสำหรับเรา หรือถึงแม้จะมีใครมารับรองว่าเขาได้พิสูจน์ทดลองความรู้นั้นจนเห็นผลจริงขึ้นมาแล้วก็ตาม ความรู้นั้นก็ยังเป็นเพียงปรัชญาสำหรับเราอยู่นั่นเอง แต่ความรู้หรือความเข้าใจใดๆก็ตาม ที่เราได้พิสูจน์จนเห็นผลขึ้นมาจริงๆด้วยตัวของเราเองแล้ว ความรู้นั้นจึงจะจัดว่าเป็น “ความเห็นแจ้ง” สำหรับเรา

ปรัชญายังเป็นแค่ทฤษฎีที่สวยหรู ที่ยังไม่ได้พิสูจน์เท่านั้น ดังนั้นปรัชญาทั้งหลายจึงยังเชื่อถือว่าถูกต้องที่สุดไม่ได้ ต่อเมื่อปรัชญานั้นเราได้พิสูจน์จนเกิดความเห็นแจ้งขึ้นมาจริงๆด้วยตัวของเราเองแล้วเท่านั้น ปรัชญานั้นจึงจะมีความถูกต้องแน่นอนสำหรับเรา แต่ความเห็นแจ้งสำหรับเรานั้น ก็ยังจะเป็นปรัชญาสำหรับคนอื่นที่ยังไม่ได้พิสูจน์จนเกิดความเห็นแจ้งต่อไป

คำสอนในพุทธศาสนาทั้งหมดก็ยังจัดเป็นปรัชญาที่เรียกว่า พุทธปรัชญา เมื่อเราศึกษาพุทธศาสนา ก็เท่ากับเราศึกษาหลักปรัชญาในพุทธศาสนา ซึ่งแม้จะเป็นพุทธปรัชญาที่แท้จริงก็ยังไม่ใช่ตัวพุทธศาสนาที่แท้จริง เพราะตัวพุทธศาสนาที่แท้จริงจะอยู่ที่ “ความเห็นแจ้งในคำสอนของพระพุทธเจ้า” ซึ่งความเห็นแจ้งนี้จะเกิดขึ้นมาจากการที่เราได้พิสูจน์คำสอนนั้นด้วยการปฏิบัติตาม จนบังเกิดผลขึ้นมาให้เห็นแจ้งด้วยจิตของเราเองแล้วเท่านั้น

ปรัชญาทั้งหลายยังจัดว่าเป็นแค่ “ความเชื่อ” เท่านั้น ส่วนความเห็นแจ้งจะจัดว่าเป็น “ความจริง” ซึ่งความเชื่อกับความจริงไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เพราะความเชื่อยังเป็นเพียงแค่การคาดคะเนตามคนอื่นบ้าง ตามตำราบ้าง ตามเหตุผลบ้าง ตามสามัญสำนึกของเราเองบ้าง โดยที่ตัวของเรายังไม่ได้พิสูจน์ให้เกิดความเห็นแจ้งจริงๆ จนกว่าความเชื่อนั้นจะได้รับการพิสูจน์จนเกิดความเห็นแจ้งขึ้นมาจริงๆแล้วเท่านั้น ความเชื่อนั้นจึงจะกลายมาเป็นความจริงสำหรับเรา

สรุปว่าความเชื่อใดๆก็ตาม ที่เรายังไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นแจ้ง ความเชื่อนั้นจะยังไม่ใช่ความจริงสำหรับเรา ส่วนความเชื่อใดก็ตาม ที่เป็นโทษและไม่เป็นประโยชน์ เราก็อย่าไปสนใจพิสูจน์ หรือความเชื่อใดที่มันเกินความสามารถของเรา ที่จะพิสูจน์ได้ เราก็ไม่จำเป็นต้องไปพิสูจน์มัน เราก็ปล่อยให้มันเป็นปรัชญาที่ไม่สมควรสนใจต่อไป

ส่วนความเชื่อใดที่เราพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่เป็นโทษแต่เป็นประโยชน์ และเราก็ได้พิสูจน์ด้วยการปฏิบัติตามแล้วอย่างถูกต้องตามหลักการของมันอย่างเต็มความสามารถของเราแล้ว แต่ว่าก็ไม่ทำให้เกิดผลขึ้นมาได้จริง เราก็อย่าไปสนใจลุ่มหลงเชื่อถือ เพราะอาจจะทำให้เราต้องเสียเวลาไปกับมันจนตลอดชีวิตเลยก็ได้ อย่างเช่น ความเชื่อเรื่องการฝึกนั่งสมาธิอย่างหนัก ก็จะทำให้เกิดมีตาทิพย์ ที่สามารถมองเห็นนรกใต้ดิน - สวรรค์บนฟ้าได้ หรือสามารถถอดจิตออกจากกายได้ หรือมีอิทธิฤทธิ์ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเรามักเชื่อกันอย่างฝังหัวว่ามีผู้ปฏิบัติได้จริง เพราะมีผู้คนหรือมีตำราอ้างอิงไว้มากมาย ซึ่งเราก็ได้ทดลองปฏิบัติตามแล้วอย่างเต็มความสามารถ แต่ก็ไม่เป็นจริงตามที่เราเชื่อถือ เราก็อย่าไปสนใจ

เรื่องนี้อาจเป็นไปได้ว่า เป็นเรื่องที่แต่งกันขึ้นมาเองเพื่อโอ้อวดให้มีคนมานับถือมากๆ หรืออาจเป็นเพียงแค่การนั่งสมาธิแล้วจิตสงบมาก จนเกิดอาการหลับใน แล้วก็จะเกิดมโนภาพ หรือเห็นภาพนรก-สวรรค์ตามที่เราเคยดูจากภาพวาดนรก-สวรรค์ที่จิตกรเขาเขียนเอาไว้มาก่อน หรือถ้าร่างกายเบาและลอยได้ก็คิดว่าเราถอดจิตออกจากร่างกายได้ เป็นต้นขึ้นมา แล้วก็มาทึกทักเอาว่ามีตาทิพย์หรือกายทิพย์ขึ้นมา แล้วก็เชื่อถือกันอย่างงมงายอย่างเช่นในปัจจุบัน ซึ่งผู้ที่เชื่อถือก็เชื่อถือกันมากโดยไม่ยอมฟังเหตุผลใดๆ และถ้าใครบอกว่าปฏิบัติไม่ได้ ก็จะถูกมองว่าโง่เง่า ไม่มีบุญบารมี ไม่มีใครยกย่องเชื่อถือ แต่ถ้าใครบอกว่าตนเองปฏิบัติได้แล้ว ก็จะถูกมองว่ามีปัญญา มีบุญบารมี และมีผู้คนนับถือยกย่องมากมาย ดังนั้นจึงมีแต่คนที่โอ้อวดว่าปฏิบัติได้แล้วเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะทำให้ได้รับการยกย่องนับถือและได้รับผลประโยชน์มากมาย ส่วนผู้ที่พูดความจริงว่าปฏิบัติไม่ได้ ก็จะถูกดูหมิ่นดูแคลนและถูกทับถมต่างๆนาๆให้น่าอับอายจากคนที่โอ้อวด จนทำให้คนที่พูดความจริงนั้นกลัว แล้วก็ทำให้ต้องกลายมาเป็นคนพูดเท็จเพื่อให้มีคนยกย่องไปในที่สุด

ส่วนความเชื่อที่เราพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีโทษและเป็นประโยชน์ ก็ให้เรานำเอาหลักการนั้นมาทดลองปฏิบัติดู ถ้าได้ผลจริงก็แสดงว่าหลักการนั้นเป็นความจริง ก็ให้เชื่อถือและนำเอามาปฏิบัติให้ยิ่งๆขึ้นต่อไป อย่างเช่น เรื่องการตั้งใจพิจารณาร่างกายและจิตใจ ทั้งของตัวเราและของผู้อื่นอย่าจริงจังและต่อเนื่อง (เหมือนตั้งใจฟังครูอาจารย์สอนหนังสือ) ให้เห็นว่ามันเกิดมาจากเหตุปัจจัยมากมายมาปรุงแต่งขึ้น ก็จะทำให้เข้าใจได้ว่ามันไม่มีสภาวะที่จะมาเป็นตัวตนของเราหรือของใครๆได้จริง (สุญญตา – ความว่างจากตัวตน) ซึ่งนี่ก็คือการเกิดทั้งสมาธิและปัญญาตามหลักอริยสัจ ๔ โดยสรุป อันจะทำให้จิตเกิดความหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวตนของเรา แล้วจิตก็จะไม่เป็นทุกข์ เมื่อจิตไม่เป็นทุกข์มันก็จะสงบเย็น (นิพพาน – ความสงบเย็น) เป็นต้น ซึ่งนี่เป็นพุทธปรัชญาที่เราทุกคนสามารถปฏิบัติได้ โดยไม่ต้องใช้ความสามารถพิเศษอะไรเลย เพียงอาศัยความตั้งใจและเชื่อถือเหตุผลกับความจริงที่มีอยู่จริงเท่านั้นก็สามารถปฏิบัติตามหลักอริยสัจ ๔ เพื่อดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันได้แล้ว

สรุปได้ว่า เราอย่าไปยึดถือความเชื่อใดๆก็ตามว่าเป็นความจริง เพราะมันอาจจะมีความผิดพลาดมาก่อน ถ้าเราไปเชื่อถือหรือนำมาปฏิบัติโดยไม่ยอมวาง ถึงแม้จะปฏิบัติแล้วไม่ได้รับผลจริงก็ตาม ก็จะทำให้เราต้องเสียเวลาไปกับความเชื่อนั้นจนตลอดชีวิต โดยไม่ได้รับผลอะไรเลยก็ได้ เราจะต้องนำเอาเฉพาะความเชื่อที่พิจารณาเห็นแล้วว่าไม่มีโทษและเป็นประโยชน์มาทดลองปฏิบัติดูก่อน ถ้าไม่ได้ผลก็ให้ละทิ้งไป แต่ถ้าได้ผลก็จึงค่อยปลงใจเชื่อและรับเอามาปฏิบัติให้ยิ่งๆขึ้นต่อไป

เตชปญฺโญ ภิกขุ ๔ ส.ค. ๕๑
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)
*********************
Free Web Hosting