กฎอิทัปปัจจยตา

กฎอิทัปปัจจยตา ก็คือ กฎสูงสุดของธรรมชาติ ที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ ไม่มีอะไรที่จะอยู่นอกเหนือกฎนี้ไปได้ ซึ่งกฎอิทัปปัจจยตานี้จะเป็นกฎของความจริงของธรรมชาติที่เราทุกคนสามารถรับรู้ได้หรือเข้าใจได้ เพราะมันก็เป็นความจริงพื้นฐานง่ายๆที่เราสามารถพบเห็นกันได้จนเป็นของธรรมดาอยู่แล้ว และเป็นกฎที่ทางวิทยาศาสตร์ใช้ในการค้นหาความจริงของธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งกฎนี้เมื่อพูดออกมาใครๆก็ยอมรับและไม่มีใครกล้าปฏิเสธ นอกจากคนที่โง่มากๆเท่านั้น โดยกฎนี้จะมีเนื้อหาโดยละเอียดว่า

เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี, เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น,

เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี, เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป.

คือโดยสรุปแล้วกฎนี้จะบังคับทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ว่า

“ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาและตั้งอยู่ จะต้องอาศัยเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งหรือสร้างขึ้นมาทั้งสิ้น”

ก่อนอื่นเราจะต้องทำความเข้าใจกับคำบางคำให้ถูกต้องเสียก่อน เราจึงจะศึกษากฎสูงสุดนี้ได้เข้าใจอย่างถูกต้อง คือ : คำว่า “สิ่ง” ก็หมายถึง ธรรมชาติที่มีอยู่ ซึ่งธรรมชาติที่มีอยู่ก็สรุปได้ ๒ อย่าง คือ “วัตถุ” (รวมทั้งพลังงานและรังสีทั้งหลายด้วย) กับสิ่งที่เป็น “นามธรรม” (คือมีแต่ชื่อเรียก แต่ไม่มีตัวตนเหมือนวัตถุ อันได้แก่พวก จิต หรือพวก ความรู้สึก ความจำ ความคิด เป็นต้น), ส่วนคำว่า “ต้อง” ก็หมายถึงว่า จะเป็นเช่นนั้นเสมอ จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด, ส่วนคำว่า “เกิด” ก็หมายถึงว่า จากเดิมที่ไม่มีอยู่ก่อน แล้วจึงมามีขึ้นในภายหลัง, ส่วนคำว่า “ดับ” ก็หมายถึงว่า จากเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว จึงมาไม่มีในภายหลัง, ส่วนคำว่า “ตั้งอยู่” ก็หมายถึง เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ยังไม่ดับหายไป, ส่วนคำว่า “ปรุงแต่ง” ก็หมายถึง การที่เหตุและปัจจัยมารวมกันแล้วเกิดเป็นสิ่งใหม่ขึ้นมาโดยจะไม่เห็นลักษณะเดิมของเหตุและปัจจัยของมันเลย

ส่วนคำว่า “เหตุ” จะหมายถึง สิ่งที่กระทำ หรือปรุงแต่ง, ส่วนคำว่า “ปัจจัย” จะหมายถึง เหตุย่อยๆที่อาจมีได้หลายเหตุ หรือหมายถึง สิ่งที่มาช่วยสนับสนุน ก็ได้ ซึ่งเรามักเรียกรวมๆกันว่า เหตุปัจจัย หรือเหตุและปัจจัย คำว่า “เหตุ” นั้นจะเป็น เหตุที่มีความสำคัญ หรือใหญ่ที่สุดเพียงเหตุเดียว ส่วนคำว่า “ปัจจัย” จะเป็น เหตุที่มีความสำคัญรองๆลงมา ที่อาจมีได้หลายเหตุ หรือหมายถึง สิ่งที่มาช่วยสนับสนุน เพื่อให้สิ่งต่างๆเกิดขึ้นมา คือถ้ามีแต่เหตุ ไม่มีปัจจัย สิ่งทั้งหลายก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ หรือถ้ามีแต่ปัจจัย ไม่มีเหตุ สิ่งทั้งหลายก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้อีกเหมือนกัน แต่ปัจจัยนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ใช่สิ่งสำคัญ และเราก็รู้ๆกันอยู่แล้ว รวมทั้งปัจจัยก็มักจะมีมาก ดังนั้นเราจึงมักไม่กล่าวถึงปัจจัย เราจะกล่าวถึงเฉพาะเหตุเท่านั้น ซึ่งก็ขอให้เราเข้าใจจุดนี้เอาไว้ด้วย

อย่างเช่น เมื่อมีเหตุคือการนำเอาเมล็ดแอปเปิลมาปลูก และมีปัจจัยคือมีดิน มีปุ๋ย มีน้ำ มีแสงแดด และมีอากาศเป็นปัจจัย จึงทำให้เกิดมีต้นแอปเปิลขึ้นมา หรือเมื่อมีเหตุคือมีต้นแอปเปิล และมีปุ๋ย มีน้ำ มีแสงแดด มีอากาศเป็นปัจจัย จึงทำให้เกิดผลแอปเปิลขึ้นมา เป็นต้น แต่เรามักกล่าวเพียงว่า “เมื่อมีการนำเมล็ดแอปเปิลมาปลูก จึงเกิดมีต้นแอปเปิลขึ้นมา” หรือ “ผลแอปเปิล เกิดมาจากต้นแอปเปิล” เท่านั้น เป็นต้น

กฎนี้บอกความลับอะไรกับเราบ้าง? กฎสูงสุดนี้ได้บอกความลับกับเราหลายอย่าง อันได้แก่ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น จะเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน (คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เปลี่ยนแปลง และดับหายไปก็เพราะเหตุปัจจัย), ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเหตุปัจจัยนั้น ก็สามารถเป็นเหตุหรือปัจจัยให้เกิดสิ่งใหม่ๆขึ้นมาได้อีก (การผลักดันกันเป็นเหตุเป็นผลต่อเนื่องกันเรื่อยๆไปเหมือนลูกโซ่), ทุกสิ่งล้วนมีความเกี่ยวข้องกันอยู่ทั้งสิ้น ไม่มากก็น้อย ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม, ไม่มีอะไรที่จะเกิดขึ้นมาได้เองลอยๆโดยไม่มีเหตุปัจจัย, และความลับที่สำคัญก็คือความลับที่ว่า “ทุกสิ่งไม่มีตัวตนที่แท้จริง” (ทุกสิ่งเป็นอนัตตา) ซึ่งคำว่า อนัตตา แปลว่า ไม่มีตัวตนที่แท้จริง หรือ ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง คือหมายถึง เป็นการปฏิเสธ หรือไม่ยอมรับว่าจะมีสิ่งใด หรือสภาวะใด ที่จะมาเป็นอัตตา ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ได้เลย

สาเหตุที่ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเหตุและปัจจัยไม่มีตัวตนที่แท้จริงก็เพราะ “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมา” นั้นเป็นเพียง “สิ่งที่ถูกปรุงแต่ง” หรือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาจากเหตุและปัจจัยเท่านั้น ดังนั้น ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมา จึงไม่มีตัวตนที่แท้จริงเป็นของตัวเอง หรือ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นตัวตนที่แท้จริง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นมาทั้งหลายนี้ เราจะเรียกว่าเป็น “สิ่งปรุงแต่ง” (คือต้องอาศัยสิ่งอื่นสร้างขึ้นมา) หรือ “ตัวตนมายา” (สิ่งหลอกลวงว่ามีจริง) หรือ “ตัวตนชั่วคราว” (คือมันเหมือนกับว่ามีอยู่จริง แต่ว่ามีเพียงชั่วคราวหรือไม่ถาวรตลอดไป)

ในส่วนของวัตถุทั้งหลาย (ซึ่งรวมทั้งอวัยวะและร่างกายของมนุษย์เราด้วย) นั้น เราก็คงเข้าใจได้ไม่ยากว่ามันไม่มีตัวตนที่แท้จริง เพราะโดยสรุปแล้ววัตถุทั้งหลาย จะต้องอาศัยสิ่งที่เป็นพื้นฐาน (ธาตุ) ๔ อย่างคือ (๑) ของแข็ง (๒) ของเหลว (๓) ความร้อน และ (๔) ก๊าซ เพื่อมาปรุงแต่งหรือสร้างวัตถุและพลังงานทั้งหลายขึ้นมาทั้งสิ้น ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าวัตถุทั้งหลายจะไม่มีตัวตนที่แท้จริงเลย (ซึ่งแม้แต่สิ่งที่เป็นพื้นฐานทั้ง ๔ อย่างนั้นก็ยังไม่มีตัวตนที่แท้จริง เพราะมันก็ยังต้องอาศัยเหตุปัจจัยเพื่อมาปรุงแต่งมันขึ้นมาด้วยเหมือนกัน) และเมื่อมันถูกปรุงแต่งหรือสร้างขึ้นมา มันจึงมีความไม่เที่ยงแท้ถาวร (อนิจจัง) เพราะมันกำลังมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว มันก็จะต้องแตกดับหายไปอย่างแน่นอน อีกทั้งขณะที่ยังตั้งอยู่ มันก็ยังต้องทนประคับประคองตัวของมันเอาไว้ด้วยความยากลำบาก (ทุกขัง) มากบ้างน้อยบ้างอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย

ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์เขาจะสอนว่า จิตหรือวิญญาณของคนเรานี้เป็นอัตตา หรือเป็นตัวตนที่ที่ยงแท้ถาวร ที่หมายถึงสิ่งที่มีอยู่ด้วยตัวของตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นใดมาเป็นเหตุและปัจจัยเพื่อสร้างตัวของมันขึ้นมา และตัวตนนี้จะไม่มีวันแตกสลาย (ใช้กับวัตถุ) หรือดับหายไป (ใช้กับจิต) อย่างเด็ดขาด ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านพ้นไปสักเท่าใดก็ตาม หรือไม่ว่าจะมีอะไรมาทำลายก็ตาม เมื่อร่างกายตาย แต่จิตนี้จะยังไม่ตาย จิตจะสามารถออกจากร่างกายที่ตายแล้วไปเกิดยังร่างกายใหม่ๆได้เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งความเชื่อนี้เองที่ทำให้เกิดความเชื่อเรื่อง ผี เทวดา นางฟ้า เรื่องชาติก่อน ชาติหน้า และเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ทั้งหลาย เป็นต้นขึ้นมา อย่างเช่นที่มีผสมปนเปอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนาในระดับศีลธรรมในปัจจุบัน

แต่จากกฎอิทัปปัจจยตา ก็ทำให้เราเข้าใจได้ว่า แม้จิต (จิต หรือ ใจ ก็หมายถึง สิ่งที่รู้สึกและคิดนึกได้) หรือ วิญญาณ (คำว่าวิญญาณ พุทธศาสนาจะหมายถึง การรับรู้ที่เกิดขึ้นตามระบบประสาทต่างๆ เช่น ตา หู จมูก เป็นต้น) ของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ก็ล้วนตกอยู่ภายใต้กฎอิทัปปัจจยตานี้ด้วยทั้งสิ้นไม่มีข้อยกเว้น (ถ้าใครยกเว้นก็แสดงว่าไม่ยอมรับความจริง) คือจิตก็ต้องอาศัยร่างกายที่ยังไม่ตายเพื่อเกิดการรับรู้และรู้สึกขึ้นมา อีกทั้งเมื่อจะคิดก็ยังต้องอาศัยความทรงจำจากเนื้อสมองของร่างกายเพื่อมาคิด ถ้าไม่มีร่างกายที่ยังไม่ตายก็จะไม่มีจิต หรือถ้าไม่มีความทรงจำจากสมองก็คิดอะไรไม่ได้ ซึ่งนี่ก็แสดงถึงว่า จิตหรือวิญญาณของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายนี้เป็นอนัตตา คือไม่มีตัวตนที่แท้จริง ชนิดที่จะสามารถมีอยู่หรือตั้งอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง โดยไม่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยเพื่อเกิดขึ้นมาและตั้งอยู่

เมื่อเราเข้าใจแล้วว่า ไม่มีจิตหรือวิญญาณที่เป็นอัตตา ก็ทำให้เราเข้าใจได้ทันทีว่าไม่มีจิตหรือวิญญาณที่จะสามารถออกจากร่างกายที่ตายแล้วเพื่อไปเกิดใหม่ได้ แล้วก็ทำให้เข้าใจได้ต่อไปอีกว่า เรื่อง ผี เทวดา นางฟ้า เรื่องชาติก่อน ชาติหน้า และเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ทั้งหลาย เป็นต้นนั้น เป็นสิ่งที่ไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นไปได้เลย เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นเพียงความเชื่อที่ไร้ทั้งเหตุผลและความจริงมายืนยัน ถ้าใครยังมีความเชื่อเช่นนี้อยู่ก็แสดงว่ายังไม่เป็นนักวิทยาศาสตร์ หรือไม่เป็นอัจฉริยะด้านความคิด หรือไม่เป็นชาวพุทธที่แท้จริง หรือเป็นชาวพุทธเพียงผิวเผินเท่านั้น จึงขอฝากให้ทุกคนสนใจที่จะศึกษากฎอิทัปปัจยตานี้ให้เข้าใจอย่างแจ้งชัด เพื่อที่จะได้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอย่างเช่นพระพุทธเจ้ากันต่อไป

เตชปญฺโญ ภิกขุ. ๒๘ พ.ค. ๒๕๔๘
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)
Free Web Hosting