การปฏิรูปประเทศต้องเริ่มต้นที่ใด?

การปฏิรูปก็คือการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงใหม่ให้ดีขึ้น อย่างละมุนละม่อม ซึ่งการปฏิรูปประเทศก็คือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น จากเดิมที่มีแต่ปัญหามากมาย ให้มามีปัญหาน้อยลงหรือหมดสิ้น
เมื่อมองถึงปัญหาของประเทศชาติเราในปัจจุบัน เราก็จะพบว่ามันมีปัญหามากมาย เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบในสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาด้านการศึกษา ปัญหาภัยแล้ง ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการบุกรุกป่าตัดไม้ทำลายป่า ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหามลพิษ ปัญหาขยะล้นเมือง ปัญหาการคอรัปชั่น ปัญหาหนี้สินของชาวไร่ชาวนา ปัญหาการอพยพแรงงานจากชนบทสู่ในเมือง เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้เองที่ส่งผลให้ประเทศชาติของเราไม่เจริญและทำให้ผู้คนยากจนมากขึ้นรวมทั้งยังสร้างความเดือดร้อนวุ่นวายให้กับสังคมโดยรวมมากขึ้น จนทำให้ประเทศชาติของเราเป็นประเทศที่ล้าหลังประเทศชาติอื่นอยู่จนทุกวันนี้
แล้วเราต้องปฏิรูปประเทศอย่างไร ประเทศชาติของเราจึงจะไร้ปัญหา? ถ้าเราจะมองอย่างหยาบๆเราก็จะพบว่าปัญหาทั้งหลายนี้มันต้องแก้ไขที่ต้นเหตุของแต่ละปัญหา ซึ่งต้นเหตุของปัญหาทั้งหลายนั้น มันก็มีมากมายจนตามแก้กันไม่ไหว อย่างเช่น ความยากจนก็ต้องสนับสนุนเรื่องเงินทุน การเอารัดเอาเปรียบก็ต้องใช้กฎหมายบังคับ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็ต้องปรับระดับความเหลื่อมล้ำให้ลดน้อยลง การศึกษาก็ต้องสอนให้รู้จักเหตุผลและใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหาเป็น ภัยแล้งก็ต้องปลูกป่าให้มาก ยาเสพติดก็ต้องแก้ที่ครอบครัว อาชญากรรมก็ต้องใช้กฎหมายให้เคร่งครัด การตัดไม้ทำลายป่าก็ต้องรณรงค์ให้ช่วยกันประหยัด สิ่งแวดล้อมเป็นพิษและขยะล้นเมืองก็ต้องรณรงค์ให้ประหยัด คอรัปชั่นก็ต้องเคร่งครัดในการบังคับใช้กฎหมาย หนี้สินของชาวนาก็ต้องผ่อนผัน และกระจายความเจริญไปยังชนบทเพื่อแก้ปัญหาผู้คนอพยพสู่เมือง เป็นต้น
แต่ถ้าเราจะมองอย่างละเอียดลึกซึ้งแล้วเราก็จะพบว่า ต้นตอของปัญหาทั้งหลายเหล่านี้มันเกิดมาจากการขาดความรู้ที่ถูกต้อง ซึ่งความรู้ที่ถูกต้องก็คือ ความรู้ที่จะทำให้รู้จักชีวิตอย่างถูกต้อง ถ้าเราจะมีความรู้ที่ถูกต้อง เราก็จะไม่สร้างปัญหาเหล่านี้ขึ้นมา
ความรู้ที่ถูกต้องเป็นอย่างไร? ความรู้ของมนุษย์นั้นมีมากมาย แต่ความรู้ที่ถูกต้องนั้นจะเป็นความรู้ที่มีประโยชน์แก่มนุษย์ ซึ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่มนุษย์นั้นก็คือ สันติสุข และ สันติภาพ โดยสันติสุขก็คือความสงบสุขของแต่ละบุคคล ส่วนสันติภาพก็คือความสงบสุขของมนุษย์ทั้งโลก ซึ่งความรู้ส่วนใหญ่ของโลกนั้นค่อนข้างจะไม่เป็นประโยชน์ คือเป็นความรู้ที่ทำลายทั้งสันติสุขและสันติภาพของโลกด้วย
ความรู้อย่างไรที่เป็นความรู้ที่เป็นประโยชน์? ความรู้ที่จะทำให้เกิดสันติสุขและสันติภาพก็คือ ความรู้ที่ทำให้มนุษย์ไม่เบียดเบียนกัน ถ้ามนุษย์จะไม่เอารัดเอาเปรียบหรือเบียดเบียนกันเสียอย่างเดียว สันติสุขและสันติภาพก็จะเกิดขึ้นมาได้โดยง่าย คือเมื่อมนุษย์ไม่เบียดเบียนกัน ปัญหาต่างๆของสังคมก็จะไม่เกิดขึ้น และการช่วยเหลือกันก็จะเกิดขึ้นมาได้โดยง่าย อันจะส่งผลให้มนุษย์มีความสงบสุขที่มั่นคงมากยิ่งขึ้นด้วย
ความรู้อะไรที่จะทำให้มนุษย์ไม่เบียดเบียนกัน? ความรู้ที่จะทำให้มนุษย์ไม่เบียดเบียนกันก็คือความรู้ที่ทำให้มนุษย์ไม่เห็นแก่ตัว ซึ่งถ้าจะจำแนกความรู้นี้ออกไปแล้วก็มีมากมาย เช่น การช่วยเหลือผู้อื่น, การรักษาศีล, ความซื่อสัตย์, การเสียสละ, ความอดทน, ความขยัน, ประหยัด, การลด ละ เลิกอบายมุข และสิ่งเสพติด, การให้อภัย, และความกตัญญูกตเวที เป็นต้น ซึ่งความรู้เหล่านี้ล้วนเป็นความรู้ที่สำคัญที่จะช่วยสร้างสันติสุขและสันติภาพให้แก่มวลมนุษย์ ถ้าขาดความรู้เหล่านี้เสียแล้ว สังคมก็จะเดือดร้อนวุ่นวาย ซึ่งความรู้เหล่านี้ก็คือคำสอนระดับศีลธรรมที่มีอยู่ในทุกๆศาสนานั่นเอง ศีลธรรมจึงเป็นความหวังเดียวที่จะมาช่วยสร้างสันติสุขให้แก่มวลมนุษย์และสร้างสันติภาพให้แก่โลก ดังนั้นถ้าเราปรารถนาจะมีสันติสุขและสันติภาพ เราก็ต้องมาช่วยกันเผยแพร่ศีลธรรมให้แก่เพื่อนมนุษย์ให้มากขึ้นในทุกๆด้านโดยเร็วที่สุด
แต่ถ้าจะสอนให้มนุษย์ไม่เห็นแก่ตัวอย่างได้ผลที่สุด ก็ต้องสอนให้มนุษย์มีปัญญาระดับสูง ซึ่งปัญญาระดับสูงนี้ก็คือ ความรู้ว่า “แท้จริงมันไม่มีตัวเราอยู่จริง” ถ้ามนุษย์จะเข้าใจอย่างถูกต้องว่า มันไม่ได้มีตัวเราอยู่จริงแล้ว มนุษย์ก็จะพยายามลดและละความเห็นแก่ตัวลงเอง แล้วเขาก็จะเห็นแก่ตัวน้อยลง และไม่เบียดเบียนคนอื่น ซึ่งก็จะทำให้เขามีศีลธรรมอย่างมั่นคงได้เอง
ความรู้อย่างไรจึงจะทำให้รู้ว่า “แท้จริงมันไม่ได้มีตัวเราอยู่จริง”? ความรู้ที่จะทำให้เข้าใจได้ว่า “แท้จริงมันไม่ได้มีตัวเราอยู่จริง” นี้เป็นความรู้ระดับสูง ที่เอาไว้สอนเฉพาะคนที่มีปัญญา ซึ่งคนที่มีปัญญาก็คือคนที่มีเหตุผล ช่างสังเกต มีใจเป็นกลาง ไม่เชื่ออะไรง่ายๆจนกว่าจะเข้าใจเหตุผลและได้พิสูจน์แล้วอย่างแน่ชัด โดยคนที่มีคุณสมบัติเช่นนี้สมัยใหม่เราเรียกเขาว่าเป็น “นักวิทยาศาสตร์”
แต่คนที่จะมีคุณสมบัติพอที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์เช่นนี้ก็มีน้อย ดังนั้นระบบการศึกษาของเราก็ต้องพยายามสร้างหรือส่งเสริมให้มีนักวิทยาศาสตร์ให้มากๆ เพื่อให้เด็กและเยาวชนของเราเป็นคนมีความรู้อย่างนักวิทยาศาสตร์มากขึ้น โดยวิทยาศาสตร์นั้นไม่ใช่จะมีแต่ในด้านวัตถุ แม้ในด้านจิตใจก็สอนวิทยาศาสตร์ได้ เพียงสอนให้รู้จักการสังเกตว่า “เมื่อสร้างเหตุใดขึ้นมา ก็จะเกิดผลตามเหตุที่สร้างนั้น” อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการสอนวิทยาศาสตร์แล้ว อย่างเช่น เมื่อจิตใจของเราเกิดความอยากได้ของๆผู้อื่น หรือโกรธผู้อื่น หรืออิจฉาผู้อื่น หรือได้ทำร้ายผู้อื่นไปแล้ว จิตใจของเราก็จะเกิดความรู้สึกเร่าร้อน กระวนกระวายหรือเสียใจขึ้นมาทันที เป็นต้น
ส่วนการศึกษาหรือสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เป็นศัตรูหรือทำลายคุณสมบัติของความเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ เราก็ต้องพยายามกำจัดให้ลดน้อยลง อย่างเช่น การศึกษาที่สอนให้เชื่อโดยไม่มีเหตุผลและยังไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นผลอย่างแน่ชัดก่อน หรือการศึกษาที่สอนให้จำมากกว่าคิดวิเคราะห์ หรือสื่อการบันเทิงต่างๆที่เผยแพร่แต่เรื่องที่ทำให้เกิดความงมงายและก่อให้เกิดความรุนแรงรวมทั้งความลุ่มหลงติดใจจนถอนตัวไม่ขึ้น หรือสิ่งที่ส่งเสริมให้เกิดค่านิยมหรูหราฟุ่มเฟือย หรือพวก อบายมุข สิ่งเสพติด ความโก้เก๋ เป็นต้น ถ้าสิ่งต่างๆเหล่านี้มีมากในสังคม สังคมก็จะเสื่อมถอยและผู้คนในสังคมก็จะโง่งมงายมากขึ้น นักวิทยาศาสตร์ก็จะเกิดขึ้นได้ยาก ผู้คนก็จะเห็นแก่ตัวมากขึ้น และเบียดเบียนกันมากขึ้น สังคมก็จะไม่สงบสุขและโลกก็มีแต่วิกฤติการณ์ไปทั่วจนหาสันติภาพไม่ได้อย่างเช่นในปัจจุบัน
สรุปได้ว่าการปฏิรูปประเทศนั้น เราจะต้องเริ่มต้นจากการมีศีลธรรม คือพยายาม ลด ละ เลิกอบายมุขและสิ่งเสพติด สิ่งฟุ่มเฟือยทั้งหลายให้มากที่สุด แล้วหันมาช่วยเหลือผู้อื่นหรือทำความดีให้มากขึ้น แล้วประเทศชาติก็จะสงบสุข แต่การปฏิรูปที่ได้ผลดีที่สุดก็คือการสร้างให้คนมีความรู้ที่ถูกต้องว่า “แท้จริงมันไม่มีตัวเราอยู่จริง” เมื่อผู้คนมีความรู้ที่ถูกต้องนี้แล้วเขาก็จะมีศีลธรรมอย่างมั่นคงเอง รวมทั้งความรู้นี้ยังนำมาใช้กำจัดความทุกข์ของจิตใจเราในปัจจุบันตามหลักอริสัจ ๔ ได้อีกด้วย จึงขอฝากให้ผู้มีปัญญาทั้งหลายช่วยกันปฏิรูปประเทศให้สงบสุขและมีสันติภาพโดยใช้แนวทางของศาสนาต่อไป.
เตชปญฺโญ ภิกขุ ๒๙ ก.ค. ๒๕๕๓
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)
Free Web Hosting