โลกนี้มีแต่คนโง่
พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสเอาไว้ว่า มนุษย์ทั้งหลายอันอวิชชาครอบงำเอาไว้ ซึ่งคำว่า มนุษย์ทั้งหลาย นั้นเราก็คงจะเข้าใจกันดีอยู่แล้ว ว่าหมายถึงมนุษย์เราทั้งหลายที่ยังมีชีวิตอยู่นี้ ส่วนคำว่า อวิชชา นี้ค่อนข้างจะเข้าใจยาก คือคำว่า อวิชชา แปลว่า ไม่ใช่วิชชา หรือเป็นคำที่ตรงข้ามกับคำว่า วิชชา โดยคำว่า วิชชา แปลว่า ความรู้แจ้ง หรือความรู้ที่สามารถดับทุกข์ได้ หรือหมายถึงความรู้สูงสุด หรือเป็นสุดยอดของวิชาทั้งหลาย
วิชชาคืออะไร? ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า คำว่า วิชา หมายถึง ความรู้ธรรมดาๆ ซึ่งจะเป็นความรู้อะไรก็ได้ที่ชาวโลกเขามีอยู่ เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ ที่หมายถึงความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิชาคณิตศาสตร์ ที่หมายถึงความรู้ด้านคณิตศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งความรู้เหล่านี้ยังไม่จัดเป็นวิชชา หรือความรู้สูงสุด เพราะยังนำมาดับทุกข์ของจิตใจเราในปัจจุบันไม่ได้ ซึ่งนี่ก็แสดงว่า ความรู้ทั้งหลายของโลกที่เรายกย่องกันอยู่นี้ ยังไม่เรียกว่าเป็นวิชชา เพราะยังนำมาใช้ดับทุกข์ของจิตใจไม่ได้
ความรู้ทั้งหลายของโลกนั้น ก็เป็นแค่เพียงความรู้ในการเอาตัวรอด หรือเพื่อให้มีความสุขอยู่ในโลกเท่านั้น เช่น ความรู้ในการประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิต ความรู้ในการดูแลรักษาร่างกาย ความรู้ในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างปลอดภัย หรือความรู้ในการแสวงหาและเสพความสุขของโลก เป็นต้น แต่ธรรมชาติของโลกเรานี้ย่อมมีสองด้าน คือเมื่อมีความสุข ก็ต้องมีความทุกข์เป็นของคู่กัน ดังนั้นเมื่อมีความสุข ก็ย่อมที่จะมีความทุกข์ตามมาอย่างแน่นอน ทั้งแก่ร่างกายและจิตใจ โดยความทุกข์ของร่างกายนั้นยังไม่สำคัญเท่ากับความทุกข์ของจิตใจ อีกทั้งความทุกข์ของร่างกายนั้น คนที่มีความรู้ทั่วๆไปเขาก็รู้วิธีการรักษาหรือบรรเทาให้ลดน้อยลงได้อยู่แล้ว แต่ความทุกข์ของจิตใจที่สำคัญที่สุดนี้แม้คนที่มีความรู้อย่างโลกๆมากที่สุด ก็ยังไม่รู้วิธีการดับมันอย่างถูกต้อง เพราะเขาไม่มีวิชชาของพระพุทธเจ้า เมื่อไม่มีวิชชา ก็ย่อมที่จะมีแต่อวิชชา หรือมีแต่ความโง่ครอบงำ เพราะไม่รู้วิธีการดับทุกข์ของจิตใจตัวเองได้ เปรียบเหมือนกับคนที่มีความรอบรู้มากมาย แต่ไม่รู้วิธีการดับไฟที่กำลังไหม้อยู่บนศีรษะของตนเองได้
การที่ใครจะมีวิชชา ที่จัดว่าเป็นสุดยอดของวิชาทั้งหลายของโลกได้ ก็จำเป็นที่จะต้องมีวิชาที่สำคัญของโลกมาเป็นพื้นฐาน ซึ่งวิชาที่สำคัญนั้นก็คือ วิชาวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์นั้นเป็นความรู้ที่จะนำเราไปพบกับความจริงของธรรมชาติได้ เมื่อเราอาศัยวิทยาศาสตร์ค้นหาความจริงของชีวิต ในเรื่องของการเกิดขึ้นและดับหายไปของความทุกข์ จนได้พบกับความจริงนั้นแล้วด้วยตัวของเราเอง โดยไม่เชื่อจากใครๆ วิชาวิทยาศาสตร์ส่วนนี้จึงจะเลื่อนระดับมาเป็นวิชชาได้
วิทยาศาสตร์ คือความรู้ที่เกิดขึ้นมาจากการสังเกตปรากฏการณ์ของธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาจริงๆ ซึ่งหลักพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ก็คือ การศึกษาโดยใช้เหตุใช้ผลที่สมเหตุสมผลที่สุด โดยมีการศึกษาค้นคว้าจากสิ่งที่มีอยู่จริงๆ และจะเชื่อสิ่งใดก็ต่อเมื่อมีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งและมีการพิสูจน์จนเห็นจริง (หรือเห็นแจ้ง) อย่างแน่ชัดแล้วเท่านั้น ซึ่งนี่คือหลักพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ ถ้าการศึกษาใดที่ตรงข้ามหรือไม่อยู่ในลักษณะนี้ การศึกษานั้นก็ไม่จัดเป็นวิทยาศาสตร์
หลักการศึกษาที่ตรงข้ามกับหลักวิทยาศาสตร์ก็คือ ไสยศาสตร์ ที่แปลว่า วิชาของคนหลับ หรือคนที่ยังไม่ตื่น หรือยังละเมออยู่ ซึ่งก็หมายถึงความรู้ที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาอย่างแท้จริง โดยความรู้ของไสยศาสตร์นั้น จะไม่มีเหตุผลที่สมเหตุสมผล ไม่มีของจริงมาให้ศึกษา หรือยืนยัน และไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ จะอาศัยความเชื่อมั่นเพียงอย่างเดียว ห้ามถาม ห้ามสงสัย
วิทยาศาสตร์เป็นวิชาของคนที่ใกล้ตื่นแล้ว หรือคนที่มีสติปัญญามาก เช่น นักวิทยาศาสตร์ นักคิดนักเขียน หรือนิสิตนักศึกษาที่เรียนเก่งๆ ส่วนไสยศาสตร์เป็นวิชาของคนที่ยังมีสติปัญญาน้อย เช่น ชาวบ้านทั่วๆไป หรือเด็กๆ ซึ่งคนที่มีสิตปัญญาน้อยเหล่านี้ ก็ย่อมที่จะมีความเชื่อมั่นในไสยศาสตร์ได้ง่าย เพราะไม่ต้องใช้ความคิดมาค้นหาความจริงใดๆ ดังนั้นเขาจึงมีแต่ความเชื่อ ไม่มีความสงสัย ไม่มีคำถาม แต่ถ้าใครเกิดคำถาม หรือเกิดความสงสัยขึ้นมาเมื่อใด ความศรัทธาหรือความเชื่อมั่นในไสยศาสตร์ของเขาก็จะเสื่อมลงทันที เพราะสติปัญญาของเขาเริ่มจะเกิดขึ้นมาแล้ว เขาเริ่มจะเลื่อนระดับขึ้นไปสู่วิทยาศาสตร์แล้ว
ทำอย่างไรจึงจะเกิดวิชชา? การที่จะเกิดวิชชาได้นั้น เราจะต้องเข้าใจถึงความจริงที่เป็นพื้นฐานของธรรมชาติทั้งหลายก่อน ซึ่งความจริงพื้นฐานนั้นก็คือ กฎสูงสุดของธรรมชาติ (กฎอิทัปปัจจยตา) ที่ครอบงำทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ คือทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องขึ้นอยู่กับกฎสูงสุดนี้ทั้งสิ้น โดยกฎสูงสุดนี้ก็คือกฎง่ายๆที่บังคับทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น จะต้องอาศัยเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น
กฎสูงสุดนี้จะบังคับให้ทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือจิตใจก็ตาม เมื่อเกิดขึ้น จะต้องอาศัยเหตุและปัจจัยมาร่วมกันปรุงแต่งหรือสร้างขึ้นมาทั้งสิ้น ซึ่งนี่ก็แสดงว่า ไม่มีสิ่งใดที่จะเกิดขึ้นมาได้เองลอยๆโดยไม่มีเหตุปัจจัยมาปรุงแต่งขึ้น และเมื่อทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมา ต้องอาศัยเหตุปัจจัยมาปรุงแต่งขึ้น ดังนั้นจึงเท่ากับว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาและตั้งอยู่นี้ ไม่มีสิ่งหรือสภาวะที่จะเป็นตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง คือเรียกว่ามันไม่มีตัวตนที่แท้จริง (อนัตตา) มีแต่ตัวตนมายา หรือตัวตนชั่วคราวที่ไม่เที่ยงแท้ยั่งยืนถาวรเท่านั้น คือเมื่อสิ่งใดเกิดขึ้นมาแล้ว สิ่งนั้นจะมีความไม่เที่ยงแท้ยั่งยืนถาวร โดยมันจะมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และสุดท้ายไม่ช้าก็เร็ว มันจะต้องแตกสลายหรือดับหายไปอย่างแน่นอน (อนิจจัง) อีกทั้งเมื่อขณะที่ยังตั้งอยู่ มันก็ยังต้องทนประคับประคองตัวเองอยู่ด้วยความยากลำบาก (ทุกขัง) อีกด้วย ซึ่งความรู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตานี้ก็คือวิชชาหรือหัวใจของปัญญาโดยสรุป ที่เราจะนำมาทำงานร่วมกับสมาธิ โดยมีศีลเป็นพื้นฐาน เพื่อนำมาใช้ดับทุกข์ของจิตใจทั้งอย่างชั่วคราวและถาวร ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้านั่นเอง
ถ้าสิ่งใดจะมีตัวตนเป็นของตนเอง (อัตตา) แล้ว สิ่งนั้นจะต้องไม่อาศัยสิ่งอื่นมาเป็นเหตุปัจจัยมาปรุงแต่งหรือสร้างมันขึ้นมา และมันจะมีอยู่หรือคงอยู่ไปชั่วนิรันดร เรียกว่ามันจะเป็นอมตะ หรือไม่ตาย ซึ่งจากความจริงของธรรมชาติที่มีอยู่จริงก็คือ ไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นตัวตนของตนเองโดยไม่อาศัยสิ่งอื่นมาปรุงแต่งมันขึ้นมาเลย ความเห็นหรือความเชื่อว่ามีสิ่งที่เป็นอัตตานั้น จึงเป็นเพียงความคิดเพ้อฝันเอาเองของคนที่ไม่เข้าใจความจริงของธรรมชาติที่ลึกซึ้งเท่านั้น ซึ่งความเห็นว่าร่างกายของมนุษย์เรานี้เป็นอัตตานั้น ก็เป็นความเห็นของเด็กโง่เท่านั้น หรือแม้ความเชื่อที่ว่าจิตใจของมนุษย์เรานี้เป็นอัตตา ที่สามารถจะออกจากร่างกายที่ตายแล้วไปเกิดยังร่างกายใหม่ๆได้นั้น ก็เป็นความเห็นของคนโง่ ที่ไม่เข้าใจถึงกฎสูงสุดของธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งความโง่นี้เองที่เรียกว่าเป็น อวิชชา ที่ครอบงำมนุษย์ทั้งหลายเอาไว้
เมื่ออวิชชาหรือความโง่ครอบงำจิตใจมนุษย์ มนุษย์จึงไม่รู้จักตัวเองอย่างถูกต้องว่า แท้จริงแล้วทั้งร่างกายและจิตใจที่ยึดถือว่าเป็นตัวตน-ของตนนี้ มันไม่ได้มีอยู่อย่างถาวรเลย คือร่างกายมันสามารถที่จะแตกสลายหรือตาย หรือเจ็บป่วยและพิการได้เสมอถ้ามีเหตุภายนอกมากระทำ ส่วนจิตใจก็สามารถที่จะดับหายไปอย่างถาวรได้เสมอ ถ้าร่างกายตาย หรือสมองพิการ และเมื่อมนุษย์มีความโง่เช่นนี้ครอบงำ จึงทำให้มนุษย์เกิดประมาทและรู้สึกว่าตนเองมีร่างกายที่จะไม่แก่ ไม่เจ็บ และไม่ตาย รวมทั้งยังมีความเชื่อว่าเมื่อตายไปแล้วจิตใจของตนเองก็จะไปเกิดใหม่ได้ หรือยังคงมีอยู่ไปชั่วนิรันดรได้อีก ซึ่งความรู้สึกและความเชื่อนี้เอง ที่ทำให้มนุษย์เกิดยึดถือว่ามีตัวเองอย่างเหนียวแน่น และเกิดความเห็นแก่ตัวตามมา ถ้าบังเอิญใครได้รับการอบรมสั่งสอนมาดีให้มีความเห็นแก่ตัวน้อย ก็จะเห็นแก่คนอื่นมากกว่า ก็เรียกว่าเป็นคนดี ที่ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ที่ทำให้สังคมสงบสุข แต่ถ้าใครบังเอิญได้รับการอบรมสั่งสอนมาไม่ดี ก็จะเป็นคนที่เห็นแก่ตัวเองจัด แล้วก็จะทำอะไรๆเพื่อตัวเองโดยไม่เห็นแก่ผู้อื่น อันเป็นสาเหตุให้เกิดการเบียดเบียนผู้อื่นตามมา จนทำให้ทั้งตัวเองก็เป็นทุกข์และสังคมก็เดือดร้อนวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้
สรุปได้ว่า ความทุกข์ทั้งหลายของจิตใจมนุษย์ รวมทั้งปัญหาทั้งหลายของสังคม หรือของโลก ทั้งในอดีต-ปัจจุบัน-และแม้ในอนาคตก็ตาม ก็ล้วนมีสาเหตุต้นตอมาจากอวิชชาหรือความโง่ที่ครอบงำจิตใจมนุษย์ทั้งหลายอยู่นี่เอง คือเพราะมนุษย์โง่เขลาหลงผิดไปยึดถือว่ามีตัวเองจริงๆ จึงทำให้เกิดความเห็นแก่ตัวจัดและทำอะไรๆเพื่อตัวเอง เมื่อได้ดังใจก็เกิดความสุข แต่ถ้าไม่ได้ดังใจก็เกิดความทุกข์ อีกทั้งยังทำให้เกิดการเบียดเบียนผู้อื่น เบียดเบียนสัตว์ เบียดเบียนป่าไม้ เบียดเบียนธรรมชาติ จนโลกมีแต่วิกฤติการณ์อยู่ทุกวันนี้ และถ้ามนุษย์ส่วนใหญ่ จะยังคงโง่เขลากันอยู่เช่นนี้ต่อไป โลกก็คงถึงความพินาศในไม่ช้าอย่างแน่นอน
เตชปญฺโญ ภิกขุ ๒ พ.ค. ๒๕๕๑
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)
|