ตายแล้วไปไหน?

นรก-สวรรค์มีจริงหรือไม่?

ในปัจจุบันชาวพุทธเกือบจะทั้งหมดเชื่อว่ามีนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า รวมทั้งเรื่องผีสาง เทวดา นางฟ้า พระอินทร์ พระพรหม ยมบาล และเรื่องชาติก่อน ชาติหน้า เป็นต้น ซึ่งสรุปได้ว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่อง ลึกลับ ไกลตัว ที่พิสูจน์ไม่ได้ ไม่มีเหตุผลที่สมเหตุสมผลมารองรับ มีแต่คำบอกกล่าวเล่าลือกันต่อๆมา หรือมาจากตำราเท่านั้น โดยเรื่องลึกลับไกลตัวเหล่านี้จัดว่าเป็นเรื่อง ไสยศาสตร์ ที่หมายถึง วิชาของคนหลับ คือเป็นการศึกษาของคนที่ยังไม่รู้แจ้งเห็นจริง ยังทำอะไรเหมือนละเมอๆ หรือยังไม่ยอมตื่นมารับรู้ความจริง

เรื่องไสยศาสตร์เหล่านี้มันได้ฝังรากลึกอยู่ในจิตใต้สำนึกของชาวพุทธมานานแล้ว จนยากที่จะถ่ายถอนหรือเปลี่ยนแปลงได้ มันจึงเหมือนสิ่งที่มาครอบงำจิตใจทำให้ไม่มีอิสระในการคิด คือไม่สามารถคิดออกไปนอกขอบเขตของเรื่องเหล่านี้ไปได้ ถ้าใครคิดคนนั้นจะกลายเป็นเกาะดำไปทันที และถูกมองว่าบ้า หรืออาจถูกมองว่าทำลายศาสนาที่คนเกือบจะทั้งหมดเขาเชื่ออยู่อีกด้วย

ต้นเหตุที่ทำให้เกิดเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาคืออะไร?

ที่จริงแล้วเรื่องเหล่านี้มีต้นตอมาจากความเชื่ออยู่เรื่องเดียว คือเชื่อเรื่องความมหัศจรรย์ หรือความศักดิ์สิทธิ์ ที่จัดว่าเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ หรือไม่ใช่ของธรรมดาที่เราจะสามารถพบเห็นหรือสัมผัสได้ หรือไม่สามารถหาเหตุผลของมันได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ไม่สามารถพิสูจน์ได้

จุดสำคัญที่ทำให้เกิดเรื่องไสยศาสตร์ทั้งหลายขึ้นมาก็คือเรื่อง “จิต” ของเราเอง คือเราเชื่อกันว่า เมื่อเราตายไปแล้วจะมีจิต หรือวิญญาณ หรือสภาวะอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่จะสามารถออกจากร่างกายของเราที่ตายไปแล้วไปเกิดยังร่างกายใหม่ๆได้ คือเมื่อเราเชื่อว่ามีจิตหรือวิญญาณออกจากร่างไปเกิดใหม่ได้ จึงทำเกิดนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า รวมทั้งเรื่องชาติก่อน ชาติหน้า เป็นต้นขึ้นมารองรับ แต่ถ้าเราไม่เชื่อว่าจะมีจิตหรือวิญญาณออกจากร่างกายที่ตายแล้วไปเกิดใหม่ได้ เรื่องไสยศาสตร์ทั้งหลายเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น

เรามีวิธีใดในการศึกษาเรื่องจิตบ้าง?

วิทยาศาสตร์คือวิธีการค้นหาความจริงของธรรมชาติ โดยใช้เหตุผลในการศึกษา และศึกษาจากของจริงที่เกิดขึ้นจริงตามธรรมชาติ โดยไม่เชื่อจากใครๆ แม้จากตำรา หรือการคาดเดา ซึ่งวิทยาศาสตร์จัดว่าเป็นเรื่องของคนที่ตื่นแล้ว คือเอาของจริงที่เราสามารถพบเห็นหรือสัมผัสได้จริงในปัจจุบันเท่านั้นมาศึกษา ดังนั้นวิทยาศาสตร์จึงตรงข้ามกับไสยศาสตร์โดยสิ้นเชิง คือไสยศาสตร์เป็นเรื่องของความงมงายไร้เหตุผล ไม่มีของจริงมายืนยัน ไร้สาระ และไม่มีประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ใครๆเลย แต่วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของผู้รู้จริง มีเหตุผล มีของจริงมายืนยัน มีสาระ และมีประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ผู้ที่ศึกษา

จุดแยกของการศึกษาจึงอยู่ตรงนี้ คือเราต้องเลือกว่าเราจะศึกษาแบบไสยศาสตร์หรือแบบวิทยาศาสตร์ ถ้าเราเลือกศึกษาแบบไสยศาสตร์ เราก็จะไม่สามารถค้นหาความจริงมาพิสูจน์เรื่องว่าจิตหรือวิญญาณของเรานี้มันจะออกจากร่างกายที่ตายแล้วได้หรือไม่? แต่ถ้าเราเลือกศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ เราจะสามารถค้นหาความจริงของเรื่องนี้ได้

สรุปได้ว่า ถ้าเราจะศึกษาแบบไสยศาสตร์ เราก็ต้องเชื่อตามคนอื่น หรือเชื่อตามตำราเพียงอย่างเดียว ห้ามถาม ห้ามสงสัย โดยเราจะไม่เกิดความเข้าใจด้วยตัวเองเลย แต่ถ้าเราจะศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ เราก็ต้องไม่เชื่อใครๆ แม้จากตำรา เราจะเชื่อจากความจริงที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันนี้เท่านั้น เราจึงจะเกิดความรู้เข้าใจอย่างถูกต้องขึ้นมาได้อย่างแท้จริง

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรื่องเหล่านี้มีอยู่จริงหรือไม่

ถ้าเรายึดหลักวิทยาศาสตร์ มันก็ง่ายที่จะศึกษาเรื่องที่ว่าจะมีจิตหรือวิญญาณออกจากร่างกายที่ตายแล้วได้หรือไม่? โดยเราจะใช้ “กฎสูงสุดของธรรมชาติ” ที่เกิดขึ้นจริงมาศึกษา โดยกฎข้อนี้ก็คือกฎที่บังคับเอาไว้ว่า

“ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น จะต้องมีเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นทั้งสิ้น”

กฎข้อนี้เป็นกฎที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างในโลกและในจักรวาลอยู่ ไม่มีสิ่งใดหรือสภาวะใดที่จะอยู่นอกเหนือกฎนี้ไปได้ ซึ่งก่อนอื่นเราจะต้องมาพิจารณากฎนี้ให้ละเอียดก่อน แล้วถามตัวเองว่า เรายอมรับกฎข้อนี้หรือไม่? คือยอมรับว่า “ทุกสิ่งไม่เว้นสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ หรือไม่ใช่วัตถุ (คือพวกจิต) ก็ตาม เมื่อจะเกิดขึ้น จะต้องอาศัยทั้งเหตุ (ต้นเหตุ) และปัจจัย (สิ่งสนับสนุน) มาปรุงแต่ง (หรือสร้าง หรือประกอบ หรือกระตุ้น หรือกระทำ) ให้เกิดขึ้นทั้งสิ้น หรือไม่มีสิ่งใดที่จะเกิดขึ้นมาได้เองลอยๆโดยไม่อาศัยเหตุและปัจจัย”

ถ้าเราไม่ยอมรับกฎข้อนี้ เราก็ยังจัดว่ายังมีความเชื่ออย่างไสยศาสตร์อยู่ ดังนั้นถึงเราจะศึกษาต่อไปก็ไม่มีทางที่จะเกิดความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาได้อย่างถูกต้องแท้จริง แต่ถ้าเรายอมรับ เราก็จะมาศึกษากันต่อไป

ตายแล้วร่างกายเป็นอย่างไร?

แน่นอนว่า ตามหลักวิทยาศาสตร์แล้วจะไม่มีสิ่งใดหรือสภาวะใดที่จะเกิดขึ้นมา หรือตั้งอยู่ได้โดยไม่อาศัยเหตุปัจจัยใดๆ และถ้าเรายอมรับกฎข้อนี้ เราก็มาพิจารณาดูว่า ร่างกายของเรานี้ต้องอาศัยอาหาร (ดิน) น้ำ อากาศบริสุทธิ์ และความร้อน มาเป็นเหตุและปัจจัยเพื่อมาปรุงแต่ง (หรือสร้าง) ให้เกิดขึ้น รวมทั้งเพื่อให้ตั้งอยู่อีกด้วย ถ้าไม่มีเหตุหรือปัจจัยเหล่านี้แม้เพียงสิ่งเดียว ร่างกายของเราก็จะต้องตายหรือแตกสลายไปทันที

คือน้ำก็จะแยกตัวกลับมาเป็นน้ำดังเดิม พวกเนื้อ หรืออวัยวะต่างๆก็จะเปื่อยเน่าและแห้งเหี่ยวกลายมาเป็นดินดังเดิม ส่วนอากาศก็จะแยกตัวละเหยกลับมาเป็นก๊าซของมันตามเดิม และความร้อนก็จะหายไป แล้วสภาวะเดิมที่เคยเป็นร่างกายนี้ก็จะหายไปอย่างถาวร คือจะไม่มีร่างกายเช่นนี้ไปเกิดขึ้นมาใหม่ได้อีกต่อไป จะมีก็แต่ร่างกายใหม่ๆเกิดขึ้นมาใหม่ตามเหตุตามปัจจัยของมันเรื่อยไป

ตายแล้วจิตเป็นอย่างไร?

จิต ก็คือ สิ่งที่รู้สึกและนึกคิดได้ คือจิตก็คือสิ่งที่สามารถรับรู้ (วิญญาณ) สิ่งต่างๆได้, รู้สึกต่อสิ่งต่างๆได้, จำสิ่งต่างๆได้, และมีการปรุงแต่งให้เกิดความคิด และความอยาก เป็นต้นขึ้นมาได้ ซึ่งบางครั้งเราก็เรียกว่า ใจ ที่หมายถึง ศูนย์กลางของการทำงานของจิต ส่วนคำว่า วิญญาณ ก็หมายถึง การรับรู้ของจิต ที่ต้องอาศัยระบบประสาทของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ (สมอง) เพื่อเกิดขึ้นมารับรู้สิ่งต่างๆภายนอก เช่น ภาพ เสียง กลิ่น รส เป็นต้น ซึ่งวิญญาณก็คือพื้นฐานของจิตหรือจิตตัวจริงๆ ซึ่งวิญญาณก็มีลักษณะเหมือนกระแสไฟฟ้าชนิดอ่อนๆ

เมื่อเราพิจารณาดูจากสิ่งที่มีอยู่จริงเราก็จะพบว่า วิญญาณจะต้องอาศัยร่างกายที่ยังไม่ตายเพื่อเกิดขึ้นมาเสมอ ถ้าไม่มีร่างกายที่ยังดีอยู่ ก็จะไม่มีวิญญาณหรือการรับรู้ เมื่อไม่มีวิญญาณก็เท่ากับไม่มีจิต เพราะจิตเป็นสิ่งที่ประกอบขึ้นมาจากวิญญาณ, ความรู้สึก, ความจำ, และการปรุงแต่งต่างๆของจิต แต่ถึงจะมีร่างกายที่ยังไม่ตาย และเกิดมีวิญญาณขึ้นมาก็ตาม แต่ถ้าไม่มีความทรงจำจากเนื้อสมอง จิตที่เกิดขึ้นก็จะไม่สมบูรณ์ คือจำอะไรไม่ได้ และคิดอะไรไม่ได้ เหมือนเด็กที่เพิ่งเกิดมาใหม่ๆ หรือถ้าคนที่สมองตายเขาก็จะนอนนิ่งๆเหมือนเจ้าชายนิทรา

ดังนั้น ถ้าร่างกายตายวิญญาณหรือการรับรู้ก็จะหายตามไปด้วยทันที เมื่อวิญญาณหายไป ก็เท่ากับจิตก็จะหายตามไปด้วย เหมือนเมื่อเปลวเทียนดับไป แสงเทียนก็จะต้องหายตามไปด้วยนั่นเอง

เราคืออะไร?

เมื่อถามว่า ตายแล้วไปไหน? ถ้าตอบอย่างนักวิทยาศาสตร์ก็ต้องตอบว่า ร่างกายก็แตกสลายหายไป ส่วนจิตใจก็ดับหายไป ร่างกายก็เหมือนเทียน จิตใจก็เหมือนแสงเทียน เมื่อเทียนดับ แสงเทียนก็หายไป คือเทียนก็เป็นสิ่งประกอบ แสงเทียนก็เป็นสิ่งประกอบ เมื่อส่วนประกอบของมันแยกตัวไป สภาวะที่เป็นสิ่งนั้นก็ย่อมที่จะหายตามไปด้วย ไม่มีสภาวะใดที่จะเกิดขึ้นมาโดยไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นมาประกอบขึ้นมา

ส่วนสิ่งที่มันรู้สึกว่ามีเราอยู่นี้ ก็เป็นแค่เพียงความรู้สึกของจิต ที่เกิดมาจากการทำงานของจิต โดยมี สัญชาติญาณว่ามีตัวเอง (ความรู้-ความเข้าใจว่ามีตัวเอง ที่เกิดมาพร้อมกับชีวิตตามธรรมชาติ โดยไม่มีใครสอน) เป็นต้นตอมากระตุ้นให้จิตเกิดความรู้สึกว่ามีตัวเองขึ้นมา ซึ่งสิ่งที่มีชีวิตทุกชนิดก็ย่อมที่จะมีสัญชาติญาณว่ามีตัวเองอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่ว่ามนุษย์เรานี้มีสมองพิเศษ สามารถจดจำและคิดได้พิสดารล้ำลึก จึงได้คิดให้เกิดความรู้สึกว่ามีตนเอง (หรือตัวเรา) ขึ้นมา

สรุปได้ว่า สิ่งที่เป็นเรานี้ก็เป็นเพียงความรู้สึกของจิตที่มีสัญชาติญาณว่ามีตัวเองมากระตุ้นให้เกิดขึ้น และจิตก็เป็นเพียงสิ่งที่ต้องอาศัยร่างกายและความทรงจำเกิดขึ้นมา เมื่อไม่มีร่างกายจิตก็ไม่มี ส่วนร่างกายก็เป็นเพียงดิน น้ำ ไฟ และอากาศที่มาประชุมปรุงแต่งหรือสร้างขึ้นมาชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่จะมาเป็นเราจริงๆนั้นจึงไม่มี คือไม่มีเรามาเกิด ไม่มีเราที่เป็นอยู่ รวมทั้งไม่มีเราที่จะตาย และเมื่อเราเข้าใจความจริงนี้แล้ว ความเชื่อเรื่องภายหลังจากตายแล้วของไสยศาสตร์ทั้งหลาย จึงหมดสิ้นไปทันทีโดยปริยาย

เตชปญฺโญ ภิกขุ
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)
Free Web Hosting