นับถือพุทธศาสนาแล้วได้อะไร?

ในปัจจุบันชาวพุทธส่วนใหญ่ ไม่ได้สนใจศึกษาหลักของพุทธศาสนา ว่าหลักการที่แท้จริงของพุทธศาสนานั้นเป็นอย่างไร คือชาวพุทธเกือบจะทั้งหมดจะรู้จักพุทธศาสนาเพียงว่า พระพุทธเจ้าสอนว่าถ้าทำความชั่วเมื่อตายไปจะต้องตกนรก (ซึ่งเชื่อกันว่าอยู่ใต้ดิน) แต่ถ้าทำความดี เมื่อตายไปก็จะได้ขึ้นสวรรค์ (ซึ่งเชื่อกันว่าอยู่บนฟ้า) และถ้ายังไม่หมดกิเลส "จิต" หรือ "วิญญาณ" ของคนเรานี้ก็จะยังคงเวียนว่ายตายเกิดอยู่เช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมาปฏิบัติสมาธิวิปัสสนา (หลักอริยสัจ ๔ ) ของพระพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด จนหมดกิเลสก็จะได้บรรลุนิพพาน

นิพพานนี้บางคนก็เชื่อว่า หมายถึงเมื่อตายไปแล้ว จิตหรือวิญญาณของเรานี้จะ "ดับสูญหรือหายไปเลย" ไม่ต้องมีจิตหรือวิญญาณมาให้เวียนว่ายตายเกิดให้เป็นทุกข์อีกต่อไป แต่บางคนก็มีความเห็นแตกต่างไป คือจะเห็นว่า "นิพพานเป็นสภาวะหรือเป็นบ้านเมือง ที่ถ้าจิตหรือวิญญาณใดได้บรรลุถึงแล้ว จะมีแต่ความสุข ไม่มีความทุกข์เลยอยู่ชั่วนิรันดร" แต่ไม่ว่าจะเป็นนิพานชนิดใด ก็จะต้องปฏิบัติสมาธิวิปัสสนากันอย่างเคร่งครัดและยาวนาน ซึ่งก็อาจจะต้องปฏิบัติกันเป็นร้อยชาติ พันชาติ หรืออาจะเป็นแสนๆชาติก็ได้ จึงจะได้บรรลุถึงนิพพาน ซึ่งนี่เป็นความเชื่อของชาวพุทธเกือบจะทั้งหมด

คือพวกหนึ่งเชื่อว่านิพพานหมายถึง ตายแล้วจิตหรือวิญญาณ (ความรู้สึกนึกคิดของเรา) จะสูญหายไปเลยเหมือนกับไฟที่เมื่อดับแล้วก็หายไป ส่วนอีกพวกหนึ่งเชื่อว่า นิพพานหมายถึงตายไปแล้วจิตหรือวิญญาณจะยังคงอยู่ในสภาวะที่ไม่มีทุกข์จะมีแต่ความสุขอยู่ชั่วนิรันดร เหมือนกับคนที่อาศัยบ้านหลังหนึ่งอยู่ แต่พอบ้านหลังนั้นพังก็ออกไปอาศัยบ้านหลังใหม่ที่มีแต่ความสุขตลอดไปแทน

จากความเชื่อทั้งสองนี้ ถึงแม้จะดูว่าตรงข้ามกัน แต่ก็ตรงข้ามกันก็เฉพาะจุดหมายปลายทาง (คือนิพพาน) แต่ความเชื่อที่เหมือนกันก็คือ เมื่อยังไม่บรรลุนิพพาน จิตหรือวิญญาณก็จะยังคงเวียนว่ายตายเกิดอยู่เรื่อยๆไป (คือเวียนกลับมาเกิดใหม่ได้อีก) ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ล้วนมีต้นกำเนิดมาจากพระไตรปิฎกทั้งสิ้น แต่ถ้าเราจะศึกษาให้ละเอียดเราจะพบว่า แม้ในพระไตรปิฎกเองนั้น ก็มีคำสอนว่า “อย่าเชื่อแม้มีที่อ้างอิงจากตำรา (พระไตรปิฎก) ก็ตาม” ซึ่งนี่คือจุดที่ขัดแย้งกันเองในพระไตรปิฎกที่ผู้มีปัญญาจะต้องนำมาศึกษากันอย่างจริงจังเพื่อหาข้อยุติ

ชาวพุทธเกือบจะทั้งหมด จะยึดถือพระไตรปิฎกว่าเป็นตำรา ที่บันทึกคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ซึ่งในพระไตรปิฎก ก็มีการกล่าวถึงเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด และนิพพานนี้อยู่มากมายทั่วไปหมด ดังนั้นถ้าใครสอนตรงตามที่พระไตรปิฎกว่าไว้ ชาวพุทธก็จะเชื่อถือ แต่ถ้าใครสอนผิดจากพระไตรปิฎก ชาวพุทธก็จะไม่เชื่อถือ (และอาจถูกกล่าวหาว่าทำลายพุทธศาสนาได้)

คำว่า "พุทธะ" หมายถึง สภาวะที่รู้ คือ รู้แจ้งเห็นจริง หรือหมายถึง ผู้ที่มีปัญญารู้แจ้งโลก พุทธศาสนาก็หมายถึง ศาสนาของผู้มีปัญญา พุทธศาสนิกชนก็หมายถึง คนที่นับถือผู้มีปัญญา ซึ่งคนที่นับถือผู้มีปัญญาก็ควรที่จะเป็นคนที่มีปัญญาด้วย

อย่างไรจึงจะเรียกว่าเป็นคนมีปัญญา? ซึ่งชาวพุทธส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ผู้มีปัญญาจะต้องเป็นผู้ที่มีอะไรพิเศษกว่าคนธรรมดา ซึ่งอาจะจะหมายถึงเป็นผู้วิเศษด้วย เช่น รู้จักอดีต มองเห็นอนาคต ทำนายชีวิตของคนได้แม่นยำ มีตาวิเศษมองเห็นได้ทั่วไปหมด มีหูวิเศษได้ยินเสียงไปทั่ว สามารถเหาะเหิรเดินอากาศหรือหายตัวได้ หรือมีความรู้ตามตำราหรือตามพระไตรปิฎกแตกฉาน หรืออาจจะติดต่อกับเทวดาหรือภูตผีปีศาจได้ หรือมีคาถาอาคมสามารถปลุกเสกสิ่งของหรือบุคคลให้มีความศักดิ์สิทธิ์ได้ (เช่นทำให้หนังเหนียวหรือแคล้วคลาดปลอดภัย หรือมีเสน่ห์คนนิยมรักใคร่ หรือทำให้ร่ำรวย หรือมียศมีอำนาจ เป็นต้น) หรือมีอำนาจวิเศษ มีอิทธิปาฏิหาริย์ และผู้มีปัญญาจะต้องมีคนเคารพนับถือมากๆด้วย เป็นต้น ซึ่งนี่ยังเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะคำว่า “ปัญญา” ที่แท้จริงจะหมายถึง ความรอบรู้ในเรื่องที่ควรจะรู้ ซึ่งก็ได้แก่ ความรอบรู้ในเรื่องการดำเนินชีวิต หรือในเรื่องการดับทุกข์ของชีวิต

อะไรคือสิ่งที่จะมาชี้วัดว่าใครมีปัญญาหรือไม่มีปัญญาอย่างแท้จริง? ถ้าชาวพุทธจะยอมรับฟังความเห็นของคนอื่นบ้างก็จะเข้าใจได้ว่า สิ่งที่จะชี้วัดว่าใครมีปัญญาหรือไม่ก็ต้องดูกันที่ว่า"ใครมีปัญหาหรือความทุกข์ความเดือดร้อนมากกว่ากัน" ถ้าใครยังมีปัญหาหรือมีความทุกข์ความเดือดร้อนมากก็แสดงว่ามีปัญญาน้อย (มีความโง่มาก) แต่ถ้าใครมีปัญหาหรือมีความทุกข์ความเดือดร้อนน้อย ก็แสดงว่ามีปัญญาค่อนข้างมาก (มีความโง่น้อย) และถ้าใครไม่มีปัญหาหรือไม่มีความทุกข์ความเดือดร้อนเลย ก็แสดงว่ามีปัญญามาก (ไม่มีความโง่เลย)

ที่นี้ถ้าเอาจุดนี้มาวัดว่าชาวพุทธในปัจจุบันเป็นอย่างไร? ชาวพุทธก็คงจะรับไม่ได้ เพราะทั้งโดยส่วนตัวและส่วนรวม ชาวพุทธก็ยังคงมีปัญหาและความทุกข์ความเดือดร้อนอยู่มาก อย่างที่กำลังเป็นอยู่จริงในปัจจุบัน ซึ่งในเรื่องนี้ชาวพุทธก็มีข้อแก้กล่าวหานี้อย่างเป็นมาตรฐานว่า เป็นเพราะเวรกรรมจากชาติปางก่อนที่ได้ทำเอาไว้ คือเมื่อหาคำตอบอะไรไม่ได้ ก็ยกให้เป็นเรื่องของเวรกรรมจากชาติปางก่อนไป เหมือนบางศาสนาที่ยกให้เป็นเรื่องของพระเจ้าไป ก็จะไม่มีใครมาสงสัยหรือสอบถามต่อไปอีก คือเป็นคำตอบเหมือนกำปั้นทุบดิน ที่ตอบแล้วไม่มีทางผิด หรือบางคนที่ไม่รู้จักพุทธศาสนาเลย ก็อาจเชื่อไขว้เขวไปว่า เป็นเพราะดวงชะตาราศี หรือโชคชะตากำหนดมา ตามความเชื่อทางโหราศาสตร์ก็ได้ ซึ่งเรื่องโหราศาสตร์นี้ในพระไตรปิฎกก็มีสอนว่าพระพุทธเจ้าสอนไม่ให้เชื่อเรื่องนี้

ซึ่งถ้ามองในแง่ดีก็ทำให้สบายใจไปได้บ้าง แต่ถ้ามองในแง่ร้ายก็มองได้ว่านั่นเป็นความเชื่อที่งมงาย ที่ทำให้ชาวพุทธไม่พัฒนา เอาแต่นอนงอมืองอเท้ารอคอยโชควาสนา และยังเป็นการปัดความรับผิดชอบอีกด้วย คือการคิดเช่นนี้จะเป็นการไม่ยอมรับว่าตัวเองโง่ จึงทำให้เกิดปัญหาและความทุกข์ความเดือดร้อนนี้ขึ้นมา แต่กลับไปโทษเวรกรรมจากชาติก่อน หรือไปโทษดวงชะตาราศีแทน ซึ่งนี่ก็เท่ากับเป็นการปกป้องความเชื่อในพุทธศาสนาว่าดีเยี่ยม แต่มาช่วยแก้ปัญหา หรือแก้ความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตปัจจุบันไม่ได้ ซึ่งนี่ก็เท่ากับว่าพุทธศาสนาเป็นแค่เพียงเครื่องช่วยปลอบใจ (หรือเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ) ชาวพุทธ ให้มีความหวังหรือสบายใจขึ้นมาหน่อยว่า "อดทนทำดีไว้แล้วจะไปรับเอาในชาติหน้า" เท่านั้นเอง

พุทธศาสนาที่แท้จริงน่าจะมีอะไรที่ดีไปกว่าการเป็นแค่เพียงเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจเท่านั้น ซึ่งเพียงแค่นี้แม้ศาสนาไหนๆเขาก็มี แม้สัตว์เดรัจฉานก็ไม่เห็นจะต้องมีอะไรมายึดเหนี่ยวจิตใจ มันก็ไม่เห็นร้องไห้คร่ำครวญหรือเป็นทุกข์เหมือนคนที่ยึดมั่นในศาสนา แต่ก็ยังมีความทุกข์ความเดือดร้อนจนต้องเที่ยวขอร้องให้คนอื่นช่วยเหลืออยู่

ในสายตาของคนที่เขามีความเจริญทางด้านวัตถุ และมีปัญหาหรือมีความทุกข์ความเดือดร้อนน้อยเขาก็จะมองชาวพุทธเราว่า "ไม่ใช้ปัญญาในการนับถือศาสนา" คือคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นมีสิ่งที่ดีงามและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งอยู่มากมาย แต่ชาวพุทธส่วนใหญ่กลับไม่สนใจคัดเลือกเอาหลักคำสอนเหล่านั้นมาศึกษาและปฏิบัติ แต่กลับไปเลือกเอาคำสอนที่ปฏิบัติง่ายๆสบายๆ เช่น การทำบุญ มาปฏิบัติ แล้วก็เชื่อกันว่านี่เป็นการปฏิบัติตามคำสอนของพุทธศาสนาอย่างยิ่งแล้ว ทั้งๆที่คำสอนที่ดีกว่านี้ยังมีอีกมาก ที่ปฏิบัติแล้วชีวิตและสังคมจะมีความสุขสงบขึ้นอย่างมาก เช่น การละเว้นอบายมุข สิ่งเสพติด และสิ่งฟุ่มเฟือย รวมทั้งคำสอนให้อดทน ขยัน ประหยัด ให้อภัย รักและช่วยเหลือผู้อื่นที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก เป็นต้น

ส่วนการทำบุญนี้ก็เป็นการทำความดีเล็กๆน้อยอย่างหนึ่งที่เพียงทำให้สบายใจ หรืออิ่มเอมใจไปวันหนึ่งๆเท่านั้น ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาหรือความทุกข์ความเดือดร้อนของชีวิตและสังคมหมดสิ้นไปได้เลย ซ้ำร้ายกว่านั้นชาวพุทธกลับไปนับถือเรื่องราวที่ไม่ใช่คำสอน ที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกมาปฏิบัติกันอย่างจริงจัง เช่นการเคารพบูชาวัตถุที่เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์ ที่มีอำนาจดลบันดาลให้ร่ำรวยหรือแคล้วคลาดปลอดภัย หรือมีคนรักใคร่นับหน้าถือตา รวมทั้งการเชื่อเรื่องโชคลาง หรือดวงชะตาราศีด้วย เป็นต้น ซึ่งก็ยิ่งทำให้ชาวพุทธในปัจจุบันถูกมองจากชาวโลกว่าโง่งมงายมากขึ้น

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ชาวพุทธควรจะกลับมามองตัวเอง แล้วยอมรับความจริง โดยการหันมาสนใจศึกษาหลักคำสอนของพุทธศาสนาที่ดีและมีประโยชน์กันมากขึ้น คำสอนใดที่เห็นว่าไม่ได้มีสอนอยู่ในพระไตรปิฎกก็ควรช่วยกันบอกกล่าวและละเลิกการเชื่อถือและปฏิบัติ แม้คำสอนที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกก็ควรช่วยกันตรวจสอบว่าเป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริงหรือไม่? โดยการยึดเหตุผลและความจริงว่า "การปฏิบัติเช่นไรที่ทำให้เกิดปัญญาและช่วยแก้ปัญหา หรือบรรเทาความทุกข์ความเดือดร้อนทั้งของส่วนตัวและส่วนรวมลงได้ ก็ให้ยึดถือเอามาช่วยกันเผยแพร่และปฏิบัติอย่างจริงจัง ส่วนคำสอนใดที่ขาดเหตุผลและปฏิบัติแล้วไม่เกิดปัญญา ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา หรือบรรเทาความทุกข์ความเดือดร้อนทั้งของส่วนตัวและส่วนรวมได้ ก็ไม่ควรสนใจนำมาเผยแพร่และปฏิบัติ" เพียงเท่านี้เราก็จะได้รับประโยชน์จากการนับถือพุทธศาสนากันแล้วอย่างแท้จริง

จึงขอฝากให้ผู้ที่ปฏิญาณตนว่าเป็นชาวพุทธ ได้หันมาช่วยกันศึกษาและปฏิบัติตามหลักคำสอนของพุทธศาสนากันมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาทั้งของส่วนตัวและของสังคมส่วนรวม รวมทั้งแม้แต่ของโลกด้วย คือเพื่อให้มีสันติสุขแก่บุคคลและมีสันติภาพแก่โลก ตามเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้ากันต่อไป.

เตชปญฺโญ ภิกขุ. ๔ พ.ค. ๒๕๕๑
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)

*********************
Free Web Hosting