กิเลสต่างกับนิพพานอย่างไร?
มนุษย์เป็นสัตว์ประเภทหนึ่งของโลกที่เกิดมามีชีวิตอยู่แล้วก็ต้องตายไป ซึ่งสิ่งที่มนุษย์จะได้รับในการที่เกิดมานี้ก็มีเพียงการได้รับรู้สิ่งต่างๆ ซึ่งในการรับรู้นั้นก็จะมีความรู้สึกต่อสิ่งต่างๆนั้นอยู่ด้วยเสมอ บางสิ่งก็ให้ความรู้สึกสุข บางสิ่งก็ให้ความรู้สึกทุกข์ บางสิ่งก็ให้ความรู้สึกจืดๆหรือไม่สุขและไม่ทุกข์ ซึ่งสิ่งที่ให้ความสุขนั้นมนุษย์ก็จะเกิดความพึงพอใจและอยากได้ จึงทำให้เกิดการแสวงหาและเก็บกักตุนเอาไว้เป็นของตนเอง ส่วนสิ่งที่ให้ความทุกข์นั้นมนุษย์จะเกิดความไม่พึงพอใจและไม่อยากได้ จึงทำให้เกิดการทำลายหรือถ้าทำลายไม่ได้ก็จะกลัวและพยายามหนี ส่วนสิ่งที่ให้ความรู้สึกจืดนั้นมนุษย์ก็จะเกิดความลังเลใจ หรือยังไม่มีทั้งความพอใจและไม่พอใจ แต่ก็ยังวนเวียนอยู่รอบๆสิ่งนั้นอยู่
อาการพอใจและไม่พอใจรวมทั้งลังเลใจนี้เองที่เรียกว่าเป็นอาการของกิเลส ที่หมายถึงสิ่งสกปรกจิต คือมันทำให้จิตที่สะอาด สว่างและมีความสุขสงบนั้นเศร้าหมองมืดมนและเป็นทุกข์ซ้อนขึ้นมาทันที คือปกติจิตของเรานี้มันจะมีความสะอาดหรือบริสุทธิ์คือไม่มีกิเลสอยู่แล้วตามธรรมชาติ ซึ่งในความสะอาดนี้ยังมีความสว่างคือมีความรอบรู้หรือฉลาดอยู่ด้วยในระดับหนึ่ง และยังมีความสุขที่สงบอยู่ด้วย แต่เมื่อจิตของเราถูกสิ่งต่างๆจากภายนอกมากระตุ้น มันก็จะเกิดอาการของกิเลสชนิดต่างๆขึ้นมาทันทีตามชนิดของสิ่งที่มากระตุ้น เช่นเมื่อมีสิ่งที่มายั่วให้รัก ให้ชอบก็จะเกิดความรักและชอบขึ้นมาทันที เมื่อมีสิ่งมายั่วให้โกรธ หรือเกลียด กลัวก็จะเกิดความโกรธหรือเกลียด กลัวขึ้นมาทันที เป็นต้น และเมื่อกิเลสเกิดขึ้นจิตก็จะเกิดความหมองหม่น หรือสกปรก รวมทั้งเกิดความทรมานซ่อนอยู่ลึกๆเสมอ
เมื่อจิตเกิดความพอใจหรือยินดี มันก็เกิดความทุกข์ซ่อนอยู่ลึกๆ ที่เรียกว่าทุกข์ซ่อนเร้น ส่วนเวลาที่จิตเกิดความไม่พอในหรือยินร้าย มันก็เกิดความทุกข์ที่เปิดเผยเห็นได้ชัด ส่วนเวลาที่จิตเกิดความลังเล มันก็ยังเกิดความทุกข์ที่คลุมเครืออยู่นั่นเอง เรียกว่าเมื่อจิตเกิดกิเลสแล้วมันจะเกิดทุกข์เสมอ ๆไม่มากก็น้อย ไม่เปิดเผยก็ซ่อนเร้นหรือคลุมเครือ
จิตของเรานี้ไม่ใช่ว่ามันจะเกิดกิเลสอยู่ตลอดเวลาไม่ เมื่อใดที่จิตไม่มีสิ่งภายนอกมากระตุ้น รวมทั้งภายในจิตเองก็ไม่มีการคิดให้เกิดกิเลสขึ้นมา จิตมันก็จะไม่มีความสกปรกและไม่มีความทุกข์ เมื่อไม่มีทุกข์มันก็จะกลับคืนสู่สภาวะเดิมหรือพื้นฐานของมันคือสะอาด สว่างและสุขสงบ ที่เรียกเป็นภาษาธรรมะว่า นิพพาน ที่แปลว่า เย็น หรือสงบเย็น คือจิตมันจะสงบและเยือกเย็นไม่เร่าร้อน ซึ่งตามปกติในแต่ละวันของเรานี้จะมีนิพพานนี้ปรากฏแก่จิตของเราอยู่เสมอๆ เพียงแต่อาจจะไมบ่อยและไม่สงบเย็นอย่างสูงสุด รวมทั้งยังมาถาวรอีกด้วย อย่างเช่นเวลาที่เราอยู่ในป่าเขา หรือทะเล แม่น้ำลำธารที่สงบๆ จิตของเราก็จะเกิดความสบายใจ หรือเบาใจ เย็นใจ หรือปลอดโปร่ง
แจ่มใส สดชื่นขึ้นมาทันที ซึ่งนี่ก็คือนิพพานชนิดต้นๆ หรือนิพพานตัวอย่างที่ช่วยหล่อเลี้ยงจิตของเราเอาไว้ไม่ให้เร่าร้อนจนเป็นบ้าตายเพราะถูกกิเลสเผาอยู่ทั้งวันทั้งคืน
กิเลสนี้มันก็มีทั้งอย่างรุนแรงที่ทำให้เราต้องเร่าร้อนใจมาก จนเกิดความรุ่มร้อนใจ หรือทุกข์ทรมานใจ หรือเกิดอาการร้องไห้ หรือเศร้าโศกเสียใจ แห้งเหี่ยวใจ ตรอมตรมใจ และอย่างอ่อนๆที่เพียงทำให้จิตของเราเกิดความว้าวุ่น ขุ่นมัว ไม่สงบ ไม่สดชื่นแจ่มใส ที่เป็นอาการพึงพอใจลึกๆในเรื่องทางเพศบ้าง ความอึดอัดขัดเคืองในบ้าง ความฟุ้งซ่านรำคาญใจบ้าง ความง่วงเหง๋า เซื่องซึม มึนชาบ้างและความลังเลสงสัยในสิ่งที่เชื่อถือบ้าง ที่เรียกว่านิวรณ์ ที่หมายถึงสิ่งปิดกั้นจิตจากความดี ซึ่งนิวรณ์นี้จะครอบงำจิตของเราอยู่มากกว่ากิเลสเสียอีก และกิเลสก็เกิดขึ้นมามากกว่านิพพาน
นี่คือธรรมชาติของจิตมนุษย์เราทุกคน ถ้าเราสังเกตให้ดีเราก็จะพบกับความจริงนี้ คือถ้ากิเลสเกิดจิตก็จะเร้าร้อนทรมานมาก ที่เรียกว่าเป็นทุกข์ ถ้าเพียงนิวรณ์เกิดจิตก็จะเป็นทุกข์อ่อนๆไม่รุนแรงหรือเพียงไม่มีความสงบสุขเท่านั้น แต่ถ้าจิตไม่มีทั้งกิเลสและนิวรณ์จิตก็จะสดชื่น แจ่มใส และสบายใจ หรือสงบเย็น
ตลอดชีวิตของเรานี้ถ้าเรายังคงถูกกิเลสและนิวรณ์ครอบงำอยู่มาก เราก็จะพบแต่ความเร่าร้อนและไม่สงบอยู่มากกว่ามีนิพพาน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นชีวิตที่ร้อน เพราะมีแต่ความทุกข์มากกว่านิพพาน แต่ถ้าตลอดชีวิตของเรานี้เรามีจิตที่สะอาด สว่าง และสงบมากกว่ากิเลส เราก็จะมีนิพพานหรือความสงบเย็นมากกว่าความทุกข์ที่เรียกว่าเป็นชีวิตเย็น หรือถ้าตลอดชีวิตของเรานี้จะไม่ถูกกิเลสใดๆมาครอบงำได้ เราก็จะมีจิตที่สงบเย็นหรือนิพพานได้อย่างถาวร
กิเลสนั้นมันจะมีแต่โทษ แต่จิตที่สะอาด สว่าง สงบนั้นจะมีแต่คุณ เพราะแม้ยามที่ยังมีชีวิตอยู่ กิเลสก็สร้างปัญหาและความทุกข์ให้เราอยู่แล้วตลอดชีวิต แม้ยามที่จะต้องตายเราก็จะยิ่งทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสเพราะจะต้องพลัดพรากจากบุคคลและสิ่งที่รักทั้งปวงไปอย่างมีมีวันหวนกลับมาได้อีก อีกทั้งก็ไม่รู้ว่าเมื่อตายไปแล้วจะเป็นอย่างไร เพราะไม่มีปัญญารอบรู้ในชีวิตอย่างแท้จริง
แต่จิตที่สะอาด สว่าง สงบนี้กลับมีแต่คุณประโยชน์อย่างสูงสุด เพราะแม้ยามที่เรายังมีชีวิตอยู่ก็จะไร้ปัญหาและไม่มีทุกข์หรือมีทุกข์น้อยกว่าคนที่มีกิเลสมาก แม้ยามที่จะต้องตายก็จะตายอย่างสงบ เพราะไม่มีอะไรให้ต้องห่วงกังวลหรือหวงแหน หรือหวาดกลัวว่าเมื่อตายไปแล้วจะเป็นอย่างไร เพราะมีปัญญารอบรู้ในชีวิตอย่างแท้จริงแล้ว
การที่เราจะมีนิพพานให้มากขึ้นได้นั้นเราจะต้องมีศีลหรือเป็นคนดีก่อน แล้วก็หันมาฝึกฝนจิตให้เข้มแข็งหรือมีสมาธิพอสมควร รวมทั้งยังต้องศึกษาหลักอริยสัจ ๔ อันเป็นหัวใจของพุทธศาสนาให้เข้าใจแจ่มแจ้งเพื่อให้เกิดปัญญาที่แท้จริงขึ้นมา แล้วทั้งศีล สมาธิและปัญญานี้ก็จะช่วยกำจัดกิเลสให้ระงับลงได้ รวมทั้งยังจะค่อยๆทำลายรากเหง้าของกิเลสให้ตายไปเรื่อยๆ และถ้าเราสามารถปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆจนรากเหง้าของกิเสได้ตายอย่างสิ้นเชิง จิตของเราก็จะมีนิพพานปรากฏได้อย่างถาวร ไม่มีเปลี่ยนแปลง
สรุปได้ว่ากิเลสและนิพพานนั้นมันก็มีอยู่แล้วในชีวิตประจำวันของเราทุกคนนี่เอง ถ้าเราโง่เราก็จะมีกิเลสมากกว่าความสะอาด สว่าง สงบ และมีทุกข์มากกว่านิพพาน แต่ถ้าเรามีปัญญามากเราก็จะมีนิพพานมากกว่าทุกข์ และถ้าเรามีปัญญาสูงสุด เราก็จะมีนิพพานได้ตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่ จึงเป็นสิ่งที่เราควรสนใจที่จะแสวงหาสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ที่แท้จริงแก่ชีวิตของเราและช่วยให้เพื่อนมนุษย์ทุกคนได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่แท้จริงนี้กันต่อไป.
เตชปญฺโญ ภิกขุ
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)
|