หลักความเชื่อในพุทธศาสนา

ปัญหาสำคัญที่ทำให้ผู้นับถือพุทธศาสนา ไม่สามารถเข้าใจคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าได้ก็คือเรื่องความเชื่อ คือชาวพุทธส่วนใหญ่มักจะเข้าใจกันว่าพระพุทธเจ้าสอนให้เชื่อในคำสอนของพระองค์โดยไม่ต้องลังเลสงสัย รวมทั้งเราก็มักเชื่อกันว่าคำสอนที่บันทึกอยู่ในตำราพระไตรปิฎกทั้งหมดนั้นเป็นคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ซึ่งนี่เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเราจะมาทำความเข้าใจกันว่าความเชื่อเช่นไรจึงจะถูกต้องกันต่อไป
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่าคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นมีอยู่ ๒ ระดับ คือ
๑. ระดับธรรมดา (หรือระดับศีลธรรม) ที่เป็นคำสอนในเรื่องการครองเรือน หรือการดำเนินชีวิตของเราตามปรกติ ที่มีผลเป็นความปกติสุข ไม่เดือดร้อน ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ซึ่งคำสอนระดับศีลธรรมนี้จะเป็นคำสอนสำเร็จรูปที่แม้ไม่ต้องใช้ปัญญาพิจารณาก็สามารถนำคำสอนนี้ไปปฏิบัติได้ทันที โดยหลักคำสอนของศีลธรรมนั้นก็สรุปอยู่ที่การไม่เบียดเบียนผู้อื่น การช่วยเหลือผู้อื่น การให้ทาน การรักษาศีล การเสียสละ การให้อภัย การทำหน้าที่การงานให้ถูกต้องด้วยความอดทน ขยัน ซื่อสัตย์ การละเว้นอบายมุข ละเว้นสิ่งเสพติด สิ่งฟุ่มเฟือย และสอนให้ประหยัดอดออม เป็นต้น นั่นเอง
คำสอนระดับศีลธรรมนี้จะเอาไว้สอนแก่คนธรรมดาที่มีปัญญาค่อนข้างน้อย อย่างเช่นชาวบ้านทั่วๆไป หรือเด็กๆ โดยระดับศีลธรรมนี้จะไม่เน้นเรื่องความเชื่อ คือใครจะเชื่ออย่างไรก็ได้ ขอเพียงไม่ทำความชั่ว แล้วทำแต่ความดีเท่านั้นก็พอ อย่างที่ชาวพุทธส่วนใหญ่กระทำกันอยู่ อย่างเช่นที่เชื่อกันว่าเมื่อทำความดีไว้ในชาตินี้ เมื่อตายไปแล้วจะได้ไปเกิดเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์(ที่เชื่อกันว่าอยู่บนฟ้า) หรือเมื่อทำความชั่วไว้ในชาตินี้ เมื่อตายไปแล้วก็จะตกนรก(ที่เชื่อกันว่าอยู่ใต้ดิน) หรือถ้าหมดกิเลส เมื่อตายแล้วก็จะนิพพาน(นิพพานนี้บางคนก็เชื่อว่าเป็นการดับสูญไปเลย แต่บางคนก็เชื่อว่าเป็นเมืองหรือสภาวะที่มีแต่ความสุขอยู่ชั่วนิรันดร) เป็นต้น
๒.ระดับสูง (หรือระดับลึกซึ้งสูงสุด) ที่เป็นคำสอนในเรื่องการดับทุกข์ของชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งก็ได้แก่คำสอนในเรื่องอริยสัจ ๔ ซึ่งคำสอนเรื่องการดับทุกข์นี้จัดเป็นคำสอนที่สำคัญที่สุดของพระพุทธเจ้า ซึ่งคำสอนระดับสูงนี้จะเน้นเรื่องความเชื่อมาก โดยจะสอนให้ใช้ปัญญานำหน้าความเชื่อ และจะเอาไว้สอนเฉพาะผู้ที่มีปัญญาเท่านั้น ถ้าสอนคนมีปัญญาน้อยเขาก็จะรับไม่ได้เพราะยังมีสติปัญญาไม่เพียงพอ เหมือนสอนเรื่องยากๆให้กับเด็ก อย่างเช่นถ้าสอนเด็กว่าร่างกายของเราจริงๆแล้วมันไม่มี มันมีแต่ดิน น้ำ ความร้อน และก๊าซที่มารวมตัวกันสร้างขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งเด็กจะไม่เข้าใจ เพราะเด็กก็เห็นอยู่ว่ามีร่างกายอยู่จริงๆ เป็นต้น ซึ่งจุดแรกในการสร้างปัญญาของคำสอนระดับสูงก็คือเรื่องความเชื่อ โดยพระพุทธเจ้าได้วางหลักในการสร้างความเชื่อไว้โดยสรุปดังนี้
๑. อย่าเชื่อและรับเอามาปฏิบัติด้วยเหตุเพียงสักว่า ฟังจากคนอื่นเขาบอกต่อๆกันมา
๒. อย่าเชื่อและรับเอามาปฏิบัติด้วยเหตุเพียงสักว่า ได้เห็นเขาทำสืบๆกันมา
๓. อย่าเชื่อและรับเอามาปฏิบัติด้วยเหตุเพียงสักว่า กำลังเป็นที่เลื่องลือกันอยู่อย่างกระฉ่อน
๔. อย่าเชื่อและรับเอามาปฏิบัติด้วยเหตุเพียงสักว่า มีที่อ้างอิงจากตำรา
๕. อย่าเชื่อและรับเอามาปฏิบัติด้วยเหตุเพียงสักว่า มีเหตุผลตรงๆมารองรับ(ตรรกะ)
๖. อย่าเชื่อและรับเอามาปฏิบัติด้วยเหตุเพียงสักว่า มีเหตุผลแวดล้อมมารองรับ(นัยยะ)
๗. อย่าเชื่อและรับเอามาปฏิบัติด้วยเหตุเพียงสักว่า คิดเดาเอาตามสามัญสำนึกของเราเอง
๘. อย่าเชื่อและรับเอามาปฏิบัติด้วยเหตุเพียงสักว่า มันตรงกับความเห็นเดิมที่เรามีอยู่
๙. อย่าเชื่อและรับเอามาปฏิบัติด้วยเหตุเพียงสักว่า ผู้บอกผู้สอนนั้นอยู่ในฐานะที่น่าเชื่อถือ
๑๐. อย่าเชื่อและรับเอามาปฏิบัติด้วยเหตุเพียงสักว่า ผู้บอกผู้สอนนี้เป็นครูอาจารย์ของเราเอง
เมื่อใดที่เรารู้ด้วยตนเองว่า ธรรม(คำสอน)เหล่านี้เป็นอกุศล(ผิด, ไม่ดีงาม), ธรรมเหล่านี้มีโทษ, ธรรมเหล่านี้วิญญูชน (ผู้มีสติปัญญาและมีใจเป็นกลาง) ติเตียน, ธรรมเหล่านี้ถ้ากระทำถึงมาตรฐานของมันแล้ว เป็นไปเพื่อความทุกข์ ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล พึงละเว้นธรรมเหล่านี้เสีย ส่วนธรรมเหล่าใด ที่เรารู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล(ถูกต้อง,ดีงาม) ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ, ธรรมเหล่านี้วิญญูชนสรรเสริญ, ธรรมเหล่านี้ถ้ากระทำถึงมาตรฐานของมันแล้ว เป็นไปเพื่อความสุข เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล พึงเข้าถึงธรรมเหล่านั้น.
เหตุที่ไม่ให้เชื่อจากการฟังคนอื่นเขาบอกต่อๆกันมาหรือทำตามๆกันมา ก็เพราะมันอาจจะผิดพลาดเอาตอนที่บอกกันต่อๆมาหรือทำกันต่อๆมาก็ได้ ส่วนคำเล่าลือนั้นคนที่มีสติปัญญาเขาไม่ทำกัน มีแต่คนโง่ที่ชอบเล่าลือหรือแต่งเรื่องให้น่าตื่นเต้นเพื่อหวังผลประโยชน์เท่านั้น คำเล่าลือจึงเชื่อถือไม่ได้ ยิ่งสมัยนี้สื่อต่างๆชอบประโคมข่าวให้น่าตื่นเต้น เราก็ต้องระวังอย่าไปหลงเชื่อ
แม้ตำราก็ยังต้องระวัง เพราะการคัดลอกมาก็อาจจะผิดพลาดมาก่อนจะมาถึงเราแล้วก็ได้ หรือตำรานั้นอาจถูกแก้ไขแต่งเติมให้ผิดไปจากเดิมแล้วก็ได้โดยเราไม่รู้มาก่อน ส่วนเหตุผลตรงๆหรือแม้เหตุผลแวดล้อมที่ดูว่าน่าเชื่อถือมากที่สุดเราก็ยังเชื่อไม่ได้ เพราะถ้าเหตุมันผิด ผลมันก็จะพลอยผิดตามไปด้วย
ส่วนสามัญสำนึกของเรานั้นยังเป็นแค่เพียงความรู้สึกต่ำๆหรือธรรมดาๆของจิตใต้สำนึกเท่านั้น อย่างเช่นเมื่อเราได้รับการเอาใจหรือเยินยอจากใคร เราก็จะรู้สึกว่าเขาเป็นคนดี และเราก็จะเชื่อใจเขา ซึ่งก็ไม่แน่ว่าคนที่เขามาเอาใจเราหรือเยินยอเราอยู่นั้น เขาอาจจะกำลังหลอกลวงเราอยู่ก็ได้ หรือคนที่เรารู้สึกไม่ชอบ แต่เขาอาจจะเป็นคนดีก็ได้ เป็นต้น ดังนั้นสามัญสำนึกของเราจึงยังเชื่อถือไม่ได้เพราะมันอาจหลอกเอาได้
บางทีเรามีความเห็นอย่างใดอยู่ก่อนแล้ว เมื่อมีใครมาบอกมาสอนแล้วมันตรงกับความเห็นที่เรามีอยู่เราก็เชื่อ ซึ่งถ้าความเห็นของเรานั้นมันผิดมาก่อนโดยเราไม่รู้ตัว ความเชื่อนั้นก็จะผิดตามไปด้วย หรือแม้คนที่มาบอกมาสอนนั้นดูแล้วน่าเชื่อถือ เช่น เขามีผู้คนเคารพนับถือมาก หรือเขามีปริญญา มีความรู้ด้านนี้มากที่สุด เป็นต้นก็ตาม ก็ยังเชื่อถือไม่ได้ เพราะคนที่มาบอกมาสอนนั้น เขาเองก็อาจจะมีความเห็นผิดมาก่อน โดยเขาเองก็อาจไม่รู้ตัวก็ได้ ถ้าเราเชื่อถือเขา เราก็ย่อมที่จะเกิดความเห็นผิดตามเขาไปด้วย
แม้แต่ครูอาจารย์ของเราเองก็ตาม ถ้าเขามีความเห็นผิดมาก่อนโดยเขาเองก็ไม่รู้ตัว แล้วเราเชื่อครูอาจารย์ เราก็จะพลอยเกิดความเห็นผิดตามครูอาจารย์ไปด้วยทันที ซึ่งการไม่เชื่อครูอาจารย์นี้เรามักจะคิดว่าเป็นการเนรคุณ แต่เราต้องแยกให้ออกว่าการเนรคุณก็คือการทำให้ผู้มีพระคุณเป็นทุกข์ ส่วนการที่เราไม่เชื่อท่านเพราะท่านอาจจะมีความเห็นผิดมาก่อนนั้นไม่จัดว่าเป็นการเนรคุณ
หลักความเชื่อนี้จะแนะนำเราว่า “อย่าเชื่อจากเพราะเหตุเพียงแค่นั้น” (คือจากแต่ละข้อ) เพราะความเชื่อในแต่ละข้อนั้นมันมีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดได้ทั้งสิ้น ถ้ามันผิดมาก่อนแล้วเราเชื่อตาม เราก็จะเกิดความเห็นผิดไปด้วยโดยไม่รู้ตัว แล้วการปฏิบัติของเราก็จะผิดตามไปด้วย และเมื่อมีการปฏิบัติผิด ผลมันก็ย่อมที่จะผิดตามไปด้วยเสมอ แต่ถึงแม้บังเอิญเราจะได้คำสอนที่ถูกต้องมา แล้วเรานำเอามาปฏิบัติโดยไม่ใช้การพิจารณาไตร่ตรองให้เกิดความเข้าใจเสียก่อน การปฏิบัตินั้นก็ย่อมที่จะเป็นการปฏิบัติที่ไม่ใช้ปัญญา ซึ่งมันก็อาจจะเกิดความผิดพลาดขึ้นได้โดยง่าย
หลักการสร้างความเชื่อที่ถูกต้องก็คือ เมื่อเราได้เรียนรู้คำสอนใดมา ขั้นต้นเราก็ต้องนำมาพิจารณาไตร่ตรองดูก่อนว่ามีประโยชน์หรือมีโทษ ถ้าเห็นว่ามีโทษ ก็ให้ละทิ้งเสีย แต่ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์ก็ให้นำเอามาทดลองปฏิบัติดูก่อน ถ้าปฏิบัติตามอย่างเต็มความสามารถแล้วก็ยังไม่บังเกิดผล ก็ให้ละทิ้งอีกเหมือนกัน แต่ถ้าปฏิบัติตามแล้วบังเกิดผลจริง จึงค่อยเชื่อและรับเอาไปปฏิบัติให้ยิ่งๆขึ้นต่อไป
จุดสำคัญหลักความเชื่อนี้เราต้องเข้าใจว่า “ไม่ได้ห้ามว่าไม่ให้ศึกษาคำสอนใดเลย” คือเราสามารถศึกษาคำสอนของใครๆก็ได้ทั้งสิ้น คือให้เอาคำสอนนั้นมาไตร่ตรองพิจารณาก่อน ถ้าเห็นว่าไม่มีโทษและมีประโยชน์ ก็ให้นำเอามาทดลองปฏิบัติดูก่อน เมื่อได้ผลจึงค่อยเชื่อ แต่ถ้าไม่ได้ผลก็อย่าเชื่อ อย่างเช่น คำสอนที่ว่า เมื่อจิตเกิดกิเลส (คืออยากได้ หรืออยากทำลาย หรือลังเลใจ) ขึ้นเมื่อใด จิตก็จะเกิดความเร่าร้อนทรมาน หรือเป็นทุกข์ขึ้นมาทันที แต่ถ้าเมื่อใดที่จิตไม่มีกิเลส จิตก็จะสงบเย็น (นิพพาน-ทุกข์ดับ) เป็นต้น ซึ่งเมื่อเราสังเกตจากจิตของเราจริงๆแล้วก็พบว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงๆ เราก็เชื่อได้ว่าคำสอนนี้ถูกต้อง ส่วนคำสอนที่ว่าถ้าหมดกิเลสแล้วตายไปจึงจะนิพพานนั้น เราไม่สามารถพิสูจน์หรือพบเห็นได้จริงในปัจจุบันเราก็อย่าเชื่อ หรืออย่าสนใจ เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่เราในปัจจุบัน ถ้าเราเชื่อและมัวลุ่มหลงปฏิบัติตาม โดยหวังว่าจะได้นิพพานเมื่อตายไปแล้ว ก็ย่อมที่จะทำให้เรายังคงมีทุกข์ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อไป ซึ่งความเชื่อเช่นนี้จัดว่ามีโทษอย่างยิ่ง
การศึกษาพุทธศาสนาในระดับสูงในเรื่องการดับทุกข์นั้น เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างความเชื่อด้วยปัญญานี้เสียก่อนเท่านั้น เราจึงจะเกิดความเข้าใจพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้องแท้จริง แต่ถ้าเราข้ามจุดนี้ แล้วไปสร้างความเชื่อขึ้นโดยไม่ใช้ปัญญา เราก็จะเสี่ยงกับการได้รับคำสอนที่ผิด แล้วก็จะทำให้เรายึดติดกับคำสอนที่ผิดนั้นอย่างเหนี่ยวแน่นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งก็จะทำให้เราต้องเสียโอกาสที่จะได้รับรู้คำสอนที่ถูกต้องไปอย่างน่าเสียดาย
หลักความเชื่อนี้จัดว่าเป็นหลักวิทยาศาสตร์ และเป็นหลักในการสร้างคนให้เป็น “อัจฉริยะทางด้านความคิด” เพราะหลักการนี้จะทำให้เรามีอิสระทางความคิดอย่างเต็มที่ แล้วก็ไม่เป็นทาสทางสติปัญญาของใคร แม้แต่ของพระพุทธจ้าเองก็ตาม ซึ่งหลักความเชื่อนี้เองที่จะเป็นเครื่องตรวจสอบว่าคำสอนใดถูก คำสอนใดผิด แม้คำสอนของพุทธศาสนาเองเราก็ยังต้องตรวจสอบ เพราะมันอาจจะมีความผิดพลาดมาแล้วก่อนที่จะมาถึงเราแล้วก็ได้ ถ้าเราเชื่อจากตำราหรือจากคนอื่น ก็อาจจะทำให้เราเกิดความเห็นที่ผิดขึ้นมาได้ ซึ่งนี่ก็แสดงว่าเราไม่เชื่อพระพุทธเจ้า ที่ทรงสอนว่าอย่าเชื่อจากใครๆแม้จากตัวเองหรือจากผู้สอนเองก็ตาม จึงขอฝากเรื่องความเชื่อนี้ให้ผู้มีปัญญาทั้งหลายนำเอาไปคิดพิจารณา เพื่อที่จะได้สร้างความเชื่อที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นกันต่อไป.

เตชปญฺโญ ภิกขุ. ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๐
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
[ศึกษารายละเอียดได้ที่ www.whatami.net]

Free Web Hosting