เหตุผลกับอารมณ์

การตัดสินใจในการจะทำสิ่งต่างๆของมนุษย์เรานี้สามารถแยกได้ ๒ ฝ่าย คือ ทำไปตามเหตุผลกับทำไปตามอารมณ์  ซึ่งการทำไปตามเหตุผลนั้นก็คือการใช้สติปัญญาพิจารณาก่อนจึงค่อยทำไปตามเหตุผลที่มองเห็นแล้ว ส่วนการทำไปตามอารมณ์นั้นก็คือการทำไปตามความรู้สึกที่กำลังเกิดอยู่เฉพาะหน้า

คนที่มีปัญญาและมีใจหนักแน่นก็มักจะทำไปตามเหตุผล เพราะเขาได้พิจารณาเห็นแล้วว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ โดยไม่สนใจกับอารมณ์ของตัวเองว่าจะอยากทำหรือไม่อยากทำ ซึ่งบางทีมันก็ฝืนกับอารมณ์ของตัวเองแต่ก็ต้องทำเพราะเห็นว่ามันมีผลดีแก่ทั้งตนเองและผู้อื่น อย่างเช่นการดื่มสุรา หรือสูบบุหรี่ที่แม้จิตใจอยากจะทำเพราะมันรู้สึกเป็นสุขแต่เหตุผลมันบอกว่ามันจะเกิดผลเสียกับร่างกายและเสียทรัพย์โดยเปล่าประโยชน์ ดังนั้นคนมีปัญญาจึงไม่ชอบดื่มสุรา ไม่ชอบสูบบุหรี่ หรืออย่างเช่นการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยที่อารมณ์มันอยากจะทำเพราะรู้สึกเป็นสุข แต่เหตุผลมันบอกว่าทำให้เสียทรัพย์ไปโดยไม่จำเป็นและจะทำให้เดือดร้อนเมื่อยามขาดแคลน ดังนั้นคนมีปัญญาจึงชอบประหยัดไม่ชอบใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เป็นต้น

ส่วนคนที่มีปัญญาน้อยก็มักจะทำอะไรไปตามความรู้สึก โดยไม่สนใจเหตุผล หรือเรียกว่าทำไปตามอารมณ์ โดยไม่สนใจว่าจะเกิดผลเสียอย่างไรตามมาในภายหลัง เพราะไม่ชอบใช้ปัญญามาพิจารณา อย่างเช่นเมื่อรู้สึกเป็นสุขถ้าได้ดื่มสุรา หรือสูบบุหรี่ จึงได้ชอบดื่มสุราและสูบบุหรี่ หรือคนที่ชอบใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเพราะจะรู้สึกเป็นสุขจึงได้ชอบใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หรือคนที่โกรธจึงทำร้ายผู้อื่นเพราะรู้สึกเป็นทุกข์ถ้าไม่ได้ทำร้ายผู้อื่น หรือคนที่ชอบเที่ยวเตร่ก็เพราะรู้สึกสนุกสนานโดยไม่สนใจว่าจะเกิดผลเสียอย่างไรบ้าง หรืออย่างเช่นนักเรียนที่ไม่สนใจเรียนก็เพราะรู้สึกว่าการเรียนไม่สนุก เป็นต้น

แต่ธรรมชาติของคนเรานั้นย่อมจะมีปัญญามากบ้างน้อยบ้างด้วยกันทุกคน ดังนั้นจะหาคนที่เอาแต่เหตุผลเพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจความอารมณ์นั้นย่อมไม่มี หรือจะหาคนที่เอาแต่อารมณ์เพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจเหตุผลนั้นย่อมไม่มี

คนที่จะใช้แต่เหตุผลเพียงอย่างเดียวนั้นจะต้องสามารถควบคุมอารมณ์ได้อย่างเด็ดขาด ซึ่งตามปกติเรามักทำกันไม่ค่อยได้เพราะขาดการฝึกฝนมาอย่างเพียงพอ ส่วนคนที่จะใช้แต่อารมณ์เพียงอย่างเดียวนั้นดูจะมีมาก เพราะมันทำง่าย เหมือนกับพวกสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายที่เวลาเกิดความรู้สึกพอใจมันก็รักกัน แต่พอรู้สึกไม่พอใจมันก็ทำร้ายกัน ดังนั้นในคนๆเดียวจึงสามารถทำสิ่งต่างๆไปตามเหตุผลบ้างในบางครั้งและทำไปตามอารมณ์บ้างในบางครั้ง โดยขึ้นอยู่กับว่าในขณะนั้นกำลังมีสภาวะจิตเป็นเช่นไร  คือถ้ากำลังมีจิตที่สงบ หรือมีสมาธิก็ย่อมที่จะทำไปตามเหตุผล แต่ถ้ากำลังมีจิตที่เร่าร้อนฟุ้งซ่านวุ่นวายก็ย่อมที่จะทำไปตามอารมณ์

การทำไปตามอารมณ์นั้นมีโอกาสที่จะผิดพลาดหรือเกิดผลเสียตามมาในภายหลังได้มาก ส่วนการทำไปตามเหตุผลนั้นมีโอกาสที่จะถูกหรือเกิดผลดีได้มาก ดังนั้นในภาคทฤษฎีการทำไปตามเหตุผลจึงย่อมที่จะดีกว่าการทำไปตามอารมณ์ แต่ว่าในการปฏิบัติจริงนั้นเรามักทำไปตามอารมณ์เสียมากกว่าเพราะไม่สามารถควบคุมจิตใจของตนเองได้ อย่างเช่นคนที่เมื่อเกิดความโกรธขึ้นมาเต็มที่ก็สามารถฆ่าหรือทำร้ายคนที่มาทำให้โกรธได้ แม้ว่าตนเองอาจจะถูกลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตก็ได้ หรือเมื่อมีเพศตรงข้ามที่น่าพึงพอใจยิ่งมายั่วยวนก็อาจจะทำให้เกิดการสมสู่กันขึ้นมาได้ แม้ว่าจะต้องเสี่ยงกับการติดโรคเอดส์ก็ได้ เป็นต้น

ทำอย่างไรเราจึงจะใช้เหตุผลให้มากกว่าอารมณ์?  เรื่องนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการฝึกฝนอบรมจิตมาก่อน ซึ่งบางคนโชคดีที่โตขึ้นมากับการใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ จึงมักเป็นคนที่หนักแน่นไม่ทำตามอารมณ์ จึงทำให้เป็นคนที่มีคนเคารพนับถือมากและมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตมากกว่าคนที่ชอบใช้อารมณ์ ซึ่งใครที่ต้องการให้ลูกเป็นคนชอบใช้เหตุผลก็ต้องหมั่นฝึกฝนให้ลูกเป็นคนมีเหตุผลมากกว่าการตามใจลูกจนทำให้ลูกเป็นคนเอาแต่ใจตัวเอง ซึ่งเด็กที่ถูกตามใจมากๆก็ย่อมที่จะเป็นคนมีนิสัยเอาแต่ใจตนเองเพราะถูกตามใจมาเสียจนเคยตัว ดังนั้นเมื่อทำสิ่งใดแล้วทำให้เกิดความรู้สึกเป็นสุขสนุกสนานเด็กก็อยากจะทำสิ่งนั้น แม้ว่าสิ่งนั้นจะทำให้เกิดผลเสียอย่างยิ่งแก่ชีวิตในอนาคตก็ตาม  แต่ถ้าสิ่งใดทำให้เกิดความรู้สึกทุกข์หรือลำบากเด็กก็ไม่อยากจะทำสิ่งนั้น แม้การทำสิ่งนั้นจะเกิดผลดีอย่างยิ่งแก่ชีวิตในอนาคตก็ตาม  นี่เองที่ทำให้เด็กสมัยใหม่นี้เป็นเด็กดื้อด้านไม่เชื่อฟังพ่อแม่ครูอาจารย์ก็เพราะถูกตามใจมาเสียจนเคยตัว คือเป็นเด็กที่เอาแต่อารมณ์มากกว่าเหตุผลนั่นเอง

ส่วนคนที่แม้จะไม่โชคดี คือไม่โตมากับการใช้เหตุผลก็ตาม แต่ถ้าเข้าใจในเรื่องการใช้เหตุผลกับอารมณ์นี้แล้วก็สามารถฝึกฝนจิตของตนเองให้เข้มแข็งจนสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ ซึ่งหลักในการฝึกจิตนี้ก็สามารถทำได้โดยการหมั่นฝึกสมาธิอยู่เสมอๆและพยายามระวังจิตอย่าให้เอาแต่อารมณ์อยู่เป็นประจำ  ซึ่งวิธีนี้เท่านั้นที่จะเปลี่ยนจากคนที่เอาแต่อารมณ์มาเป็นคนที่มีเหตุผลได้มากขึ้น ส่วนใครที่คิดว่าเราสามารถจะเปลี่ยนจิตใจกันได้ง่ายๆนั้นจัดว่าคิดผิด

สรุปได้ว่าเราต้องมาฝึกสมาธิกันให้มากเพื่อจะได้เป็นคนที่มีเหตุผลมากกว่าเอาแต่อารมณ์ เราจึงจะมีความเจริญก้าวหน้าหรือประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานที่เราต้องการ แต่ถ้าเรายังไม่มีสมาธิที่เพียงพอ เราก็ต้องพยายามระวังอย่าให้เกิดอารมณ์ขึ้นมาในขณะที่เราจะทำสิ่งที่สำคัญๆ คือเราต้องพยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่จะทำให้จิตใจสงบให้มากที่สุด หรือไม่ก็ต้องพยายามหลีกหนีสิ่งที่จะมาทำให้จิตใจเร่าร้อน หรือฟุ้งซ่านวุ่นวายจนทำให้เอาแต่อารมณ์  แล้วเราก็จะมีโอกาสที่จะใช้เหตุผลได้มากกว่าใช้อารมณ์ ซึ่งก็ย่อมที่จะเกิดผลดีมากกว่าเกิดผลเสีย.

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี


(ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)


*********************

Free Web Hosting