วิธีการค้นหาคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า

มนุษย์นั้นเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ไม่รู้ว่า ชีวิตคืออะไร? เมื่อไม่รู้ว่าชีวิตคืออะไร? จึงไม่รู้ว่า ชีวิตเกิดมาทำไม? และอะไรคือสิ่งสูงสุดที่ชีวิตควรได้รับ? ซึ่งตามหลักของพุทธศาสนานั้น การศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจและเห็นแจ้งว่าชีวิตคืออะไร?นั้น จะต้องใช้สมาธิ (ความตั้งใจ) มากในการอ่าน ที่สำคัญจะต้องไม่มีอคติ (ความลำเอียง) และต้องปล่อยวางความเชื่อที่มีอยู่ในเรื่องศาสนา (แม้ของพุทธศาสนาเองด้วย) และชีวิต (คือจากการอ่านจากตำราหรือฟังจากคนอื่น หรือแม้จากการคิดขึ้นมาเองก็ตาม) ทั้งหมดลงก่อน (แม้เพียงชั่วคราว) แล้วค่อยๆพิจารณาโดยใช้เหตุผลและความจริง จากจิตใจของเราเองในปัจจุบันมาพิจารณาไปตามลำดับ ก็จะทำให้ค้นพบได้ว่าชีวิตคืออะไร ? รวมทั้งค้นพบว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร? ด้วยสติปัญญาของเราเอง โดยที่ไม่จำเป็นต้องเชื่อจากใครๆหรือจากตำราใดๆทั้งสิ้น ซึ่งลำดับขั้นในการศึกษานั้นก็มีดังนี้

(๑) ก่อนอื่นเราต้องยอมรับว่า สรุปแล้วมนุษย์นั้นเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็อยากได้ความสุข แต่กลัวความทุกข์ (ความกลัวก็คือความไม่อยากได้อย่างรุนแรง) แต่เมื่อได้ความสุขตามที่อยากจะได้แล้ว ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้นตามมาด้วยเสมอ เพราะมันเป็นของคู่กันตามธรรมชาติ ดังนั้นความทุกข์จึงจัดเป็นภัย (สิ่งที่น่าหวาดกลัว) อันใหญ่หลวงของมนุษย์ทุกคน  (ยอมรับข้อนี้หรือไม่ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ผ่านเพราะไม่ยอมรับความจริง)

(๒) ข้อต่อไปก็คือ ความทุกข์นี้ หมายถึง ความทุกข์ของจิตใจ ที่เกิดจากการที่จิตไปยึดมั่นในร่างกายและจิตใจของเราเอง (ขันธ์ ๕) รวมทั้งสิ่งที่เกี่ยวข้อง (เช่น พ่อ แม่ ลูก เมีย ทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นต้น) ว่าเป็น “ตัวเรา ของเรา” ด้วยความรักความพอใจ ซึ่งเมื่อสิ่งที่ได้ยึดมั่นไว้นั้นมันเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติของมัน คือ ร่างกาย เจ็บ ป่วย พิการ แก่ หรือกำลังจะตาย หรือคนที่เรารักได้จากไป หรือการที่เราต้องอยู่กับคนที่เราไม่รัก หรือการที่เรากำลังผิดหวังอยู่ ก็จะทำให้จิตที่ยึดถือนี้เกิดความเศร้าโศก หรือเสียใจ แห้งเหี่ยวใจ ตรอมใจ คับแค้นใจ เป็นต้น ขึ้นมาทันที ซึ่งนี่คือความทุกข์ที่เป็นภัยอันใหญ่หลวงของมนุษย์ ส่วนความทรมานของร่างกาย (เช่น ความเจ็บ-ปวด หิว กระหาย หนัก-เหนื่อย เป็นต้น) นั้น ไม่ใช่ความทุกข์ที่จัดว่าเป็นภัยอันใหญ่หลวง เพราะถ้าเราไม่มีความยึดมั่นว่าเป็นร่างกายของเราเสียแล้ว ความทรมานของร่างกายนี้ก็ไม่เป็นปัญหา คือไม่ทำให้จิตใจเป็นทุกข์ที่รุนแรง (ยอมรับข้อนี้หรือไม่ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ผ่านเพราะไม่ยอมรับความจริง)

(๓) ข้อต่อไปก็คือ สรุปแล้วสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับชีวิตก็คือ ความไม่มีทุกข์ (หรือความหลุดพ้นจากภัยอันใหญ่หลวง) ส่วนความสุขนั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดของชีวิต เพราะความพอใจในความสุขนั่นเองจะนำความทุกข์มาให้ด้วยเสมอ ดังนั้นความสุขแม้จะประณีตและมากมายสักเพียงใดก็ตาม ก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับชีวิต (ยอมรับข้อนี้หรือไม่ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ผ่านเพราะไม่ยอมรับความจริง)

(๔) ข้อต่อไปก็คือ พระพุทธเจ้าคือผู้ที่มีสติปัญญาสูงสุดในหมู่มนุษย์ และเป็นสุดยอดอัจฉริยะในด้านการคิด ดังนั้นสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน จะต้องเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับชีวิตเท่านั้น (ยอมรับข้อนี้หรือไม่ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ผ่านเพราะไม่ยอมรับความจริง)

(๕) ข้อต่อไปก็คือ สรุปแล้วพระพุทธเจ้าจะสอนเฉพาะเรื่องการดับทุกข์ (หรือพ้นทุกข์ หรือไม่มีทุกข์) เพราะเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับชีวิต ถ้าเรื่องใดไม่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าจะไม่สอน (ยอมรับข้อนี้หรือไม่ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ผ่านเพราะไม่ยอมรับความจริง)

(๖) ข้อต่อไปก็คือ เมื่อความทุกข์เกิดจากความยึดถือว่าร่างกายและจิตใจ รวมทั้งสิ่งต่างที่เกี่ยวข้อง (เช่น พ่อ แม่ ลูก เมีย ทรัพย์สมบัติ เป็นต้น)  เป็น ตัวเรา-ของเรา (ที่เรียกว่าอุปาทาน)  ดังนั้นในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่มีความยึดถือว่าร่างกายและจิตใจนี้คือตัวเรา-ของเรา ก็จะไม่มีความทุกข์ (ยอมรับข้อนี้หรือไม่ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ผ่านเพราะไม่ยอมรับความจริง)

(๗) ข้อต่อไปก็คือ เมื่อไม่มีความทุกข์ จิตก็จะสงบ เย็น ปลอดโปร่ง สดชื่น แจ่มใส เบาสบาย ที่เรียกอย่างสมมติว่า นิพพาน ที่แปลตรงๆว่า เย็น (ยอมรับข้อนี้หรือไม่ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ผ่านเพราะไม่ยอมรับความจริง)

(๘) ข้อต่อไปก็คือ นิพพานนี้เราก็พอจะมีกันอยู่บ้างแล้ว (อย่างชั่วคราว) ในชีวิตประจำวันของเรา เพียงแต่อาจมีไม่มาก (ไม่เย็นมาก) และไม่บ่อยนักเท่านั้น เพราะส่วนมากในชีวิตประจำวัน ของเราจะมีความฟุ้งซ่านรำคาญใจ มาครอบงำจิตอยู่เสมอๆ จึงทำให้จิตขุ่นมัว ไม่สงบ ไม่แจ่มใส (หรือมีความทุกข์อ่อนๆ) อยู่เกือบจะทั้งวัน แล้วก็ทำให้นิพพานมีน้อย ส่วนความทุกข์นั้นจะมีก็ต่อเมื่อมีสิ่งภายนอกที่รุนแรงมากระทบจิตเท่านั้น เช่น เมื่อรู้ว่าคนที่รักได้จากไป เป็นต้น (ยอมรับข้อนี้หรือไม่ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ผ่านเพราะไม่ยอมรับความจริง)

(๙) ข้อต่อไปก็คือ การที่เราไปยึดถือในสิ่งต่างๆ (คือร่างกายและจิตใจรวมทั้งสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น พ่อ แม่ คู่ครอง ลูก ทรัพย์สมบัติ เป็นต้น) ว่าเป็นตัวเรา-ของเรา นั้นก็เป็นเพราะ สิ่งเหล่านั้นมันให้ความสุขแก่เรา เมื่อมันให้ความสุขแก่เรา เราจึงรักหรือพอใจในสิ่งเหล่านั้น เมื่อเรารักหรือพอใจในสิ่งใด ก็เท่ากับว่าเราได้ยึดถือสิ่งนั้นเอาไว้ด้วยจิตใจเข้าแล้วอย่างถอนตัวไม่ขั้น (ยอมรับข้อนี้หรือไม่ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ผ่านเพราะไม่ยอมรับความจริง)

(๑๐) ข้อต่อไปก็คือ เมื่อเราพิจารณาให้ลึกซึ้งเราก็จะพบว่า การที่เรารักหรือพอใจในสิ่งเหล่านั้นก็เป็นเพราะ เรามีความเห็นหรือเข้าใจ (ที่เป็นความรู้สึกจากจิตใต้สำนึก ซึ่งมันเกิดขึ้นมาเองโดยไม่ได้ตั้งใจคิด) ว่า สิ่งเหล่านั้นมันเป็นตัวตนของมันเองจริงๆ (อัตตา), และเข้าใจว่ามันจะเที่ยงคือตั้งอยู่อย่างนั้นตลอดไปได้ (นิจจัง), รวมทั้งเข้าใจว่ามันสามารถทนอยู่อย่างสุขสบาย (สุขัง) (ยอมรับข้อนี้หรือไม่ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ผ่านเพราะไม่ยอมรับความจริง)

(๑๑) ข้อต่อไปก็คือ แต่ถ้าเราเห็น (เข้าใจ) อย่างแจ่มชัดด้วยการใช้เหตุผลพิจารณาว่า สิ่งที่เรารักหรือพอใจนั้น มันไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง (อนัตตา) และไม่เที่ยงคือมีความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความดับสลายอยู่ตลอดเวลา (อนิจจัง) รวมทั้งยังต้องทนอยู่อย่างยากลำบากอีกด้วย (ทุกขัง) เราก็จะไม่รักหรือไม่พอใจในสิ่งนั้น (หรือมีความรัก-ความพอใจลดน้อยลง) และเมื่อไม่รักก็จะไม่ยึดถือ (หรือมีความยึดถือลดน้อยลง) (ยอมรับข้อนี้หรือไม่ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ผ่านเพราะไม่ยอมรับความจริง)

(๑๒) ข้อต่อไปก็คือ สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง (อนัตตา) นั้น อีกความหมายก็คือ มันไม่มีตัวตนที่แท้จริง ที่จะมาให้เรายึดถือว่าเป็นตัวเราหรือของเราได้ (ที่เรียกว่าสุญญตา) ซึ่งสิ่งที่เป็นอนัตตานั้นจะมีลักษณะให้เราสังเกตหรือรู้สึกได้คือ มีความไม่เที่ยง (คือมีความเปลี่ยนแปลง และมีการเกิดและดับ) รวมทั้งยังต้องอาศัยเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นและตั้งอยู่ (ยอมรับข้อนี้หรือไม่ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ผ่านเพราะไม่ยอมรับความจริง)

(๑๓) ข้อต่อไปก็คือ สรุปแล้วร่างกายของเรานี้เกิดขึ้นมาจากดิน, น้ำ, ความร้อน, และอากาศ มาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นและตั้งอยู่ โดยมีพ่อและแม่เป็นผู้ร่วมกันสร้างขึ้น ซึ่งนี้ก็แสดงถึงว่าร่างกายเป็น สิ่งปรุงแต่ง ที่เป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่ร่างกายจริงๆ และเป็นสุญญตา คือไม่มีร่างกายจริงๆ มีแต่ร่างกายมายา (ของหลอกว่าเป็นจริง) หรือร่างกายชั่วคราว (ไม่เป็นอมตะ) เท่านั้น (ยอมรับข้อนี้หรือไม่ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ผ่านเพราะไม่ยอมรับความจริง)

(๑๔) ข้อต่อไปก็คือ จิตหรือใจ ก็คือ สิ่งที่รู้สึกนึกคิดได้ ดังนั้นถ้ารู้สึกนึกคิดได้ ก็เท่ากับมีจิตใจ แต่ถ้ารู้สึกนึกคิดไม่ได้ ก็เท่ากับไม่มีจิตใจ (ยอมรับข้อนี้หรือไม่?  ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ผ่านเพราะไม่ยอมรับความจริง)

(๑๕) ข้อต่อไปก็คือ จิตหรือใจ จะประกอบด้วย การรับรู้ (วิญญาณ), การจำสิ่งที่รับรู้ได้ (สัญญา), ความรู้สึกสิ่งที่รับรู้ได้ (เวทนา), และการคิดนึก-ปรุงแต่ง (สังขาร) (ยอมรับข้อนี้หรือไม่ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ผ่านเพราะไม่ยอมรับความจริง)

(๑๖) ข้อต่อไปก็คือ จิตใจจะต้องอาศัยร่างกายเกิดขึ้นเสมอ เราไม่เคยมีจิตใจโดยไม่มีร่างกายเลย  (ยอมรับข้อนี้หรือไม่ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ผ่านเพราะไม่ยอมรับความจริง)

(๑๗) ข้อต่อไปก็คือ เมื่อเวลาที่เราหลับสนิทและไม่ฝันนั้น ก็เท่ากับไม่มีความรู้สึกนึกคิด ซึ่งก็เท่ากับไม่มีจิต แต่เมื่อตื่นจึงจะเกิดจิตหรือความรู้สึกนึกคิดขึ้นมา (ส่วนเวลาหลับแต่ก็ยังฝันได้นั้น ก็คือการเกิดจิตขึ้นมาแล้วแต่ว่ายังไม่สมบูรณ์เต็มที่) ซึ่งนี่ก็คือการเกิดและดับของจิต  (ยอมรับข้อนี้หรือไม่ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ผ่านเพราะไม่ยอมรับความจริง)

(๑๘) ข้อต่อไปก็คือ เมื่อจิตใจต้องอาศัยร่างกายเกิดขึ้น และมีการเกิด-ดับ นี่ก็แสดงว่า จิตใจเป็นสิ่งปรุงแต่ง ที่มีความไม่เที่ยง และไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงที่จะยึดถือว่าเป็นตัวเราได้จริง หรือเท่ากับว่า มันไม่มีตัวเราอยู่จริงในจิตใจนี้  (ยอมรับข้อนี้หรือไม่ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ผ่านเพราะไม่ยอมรับความจริง)

(๑๙) ข้อต่อไปก็คือ เมื่อเราเข้าใจอย่างแจ่มชัดว่า มันไม่มีตัวเราอยู่จริงดังนี้แล้ว บวกกับเราก็มีสมาธิอยู่บ้าง ก็จะทำให้ความยึดถือว่าจิตใจนี้คือตัวเรา และร่างกายนี้คือร่างกายของเรา รวมทั้งความยึดถือว่าสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้อง (เช่น พ่อ แม่ ลูก เมีย ทรัพย์สมบัติ เป็นต้น) ว่าเป็นของเราด้วย นี้ดับหายไปหรือลดน้อยลงได้ (แม้เพียงชั่วคราว)  (ยอมรับข้อนี้หรือไม่ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ผ่านเพราะไม่ยอมรับความจริง)

(๒๐) ข้อต่อไปก็คือ เมื่อความยึดถือดับหายไปหรือลดน้อยลง ความทุกข์ก็จะดับหายไปหรือลดน้อยลงด้วย (แม้เพียงชั่วคราว) (ยอมรับข้อนี้หรือไม่ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ผ่านเพราะไม่ยอมรับความจริง)

(๒๑) ข้อต่อไปก็คือ เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ มันก็จะกลับคืนมาสู่ความสงบเย็น (แม้เพียงชั่วคราว) ตามธรรมชาติของมัน ซึ่งความสงบเย็นนี้เองที่สมมติเรียกว่า นิพพาน ที่แปลตรงๆว่า เย็น  (ยอมรับข้อนี้หรือไม่ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ผ่านเพราะไม่ยอมรับความจริง)

(๒๒) ข้อต่อไปก็คือ เมื่อนิพพานปรากฏ (แม้เพียงชั่วคราว) ก็แสดงว่าเราได้ค้นพบสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับชีวิตแล้ว (แม้เพียงชั่วคราว) ซึ่งนิพพานหรือความสงบเย็นนี้เองที่ได้หล่อเลี้ยงจิตใจของเราเอาไว้ ไม่ให้เป็นบ้าตายเพราะมีแต่ความทุกข์ (ทั้งความทุกข์อ่อนๆและความทุกข์ที่รุนแรง) ท่วมทับจิตใจอยู่ตลอดทั้งวัน (ยอมรับข้อนี้หรือไม่ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ผ่านเพราะไม่ยอมรับความจริง)

(๒๓) ข้อต่อไปก็คือ เมื่อเราได้ค้นพบสิ่งสูงสุดสำหรับชีวิตแล้ว ก็แสดงว่าเราค้นพบวิธีการปฏิบัติที่จะทำให้ชีวิตได้รับสิ่งสูงสุดหรือนิพพานแล้ว  (ยอมรับข้อนี้หรือไม่ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ผ่านเพราะไม่ยอมรับความจริง)

(๒๔) ข้อสุดท้ายก็คือ เมื่อเราค้นพบวิธีการปฏิบัติที่จะทำให้นิพพานปรากฏแล้ว ก็แสดงว่าเราเกิดความเห็นแจ้งชีวิตอย่างแท้จริงแล้ว และนี่ก็แสดงถึงว่า เราได้ค้นพบคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อจากใคร หรือจากตำราใดๆ ซึ่ง(ยอมรับข้อนี้หรือไม่ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ผ่านเพราะไม่ยอมรับความจริง)

สรุปได้ว่า ชีวิตของมนุษย์เราทุกคนนี้ก็เหมือนหุ่นยนต์ คือไม่ได้มีตัวตนเป็นของตนเองเลย เพราะทั้งร่างกายและจิตใจ ล้วนเป็นสิ่งปรุงแต่งขึ้นมาจากสิ่งอื่นทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อชีวิตเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ต้องมาพบกับความทุกข์ ที่เกิดขึ้นมาจากความยึดถือว่า “ร่างกายและจิตใจนี้คือตัวเรา-ของเรา” ซึ่งความทุกข์นี้เองที่เป็นภัยอันใหญ่หลวงของทุกชีวิต และความหลุดพ้นจากความทุกข์ที่ภัยอันใหญ่หลวงของชีวิตนี้เองที่เป็นสิ่งสูงสุดสำหรับชีวิต โดยวิธีการปฏิบัติเพื่อให้จิตหลุดพ้นจากความทุกข์ตามหลักของพระพุทธเจ้านั้นก็สรุปอยู่ที่ การมีความเข้าใจอย่างถูกต้องและแจ่มชัดว่า “ร่างกายและจิตใจที่สมมติเรียกกันว่าเป็นตัวเรา-ของเรานี้ มันไม่ใช่ร่างกายและจิตใจของเราเองจริงๆเลย เพราะมันเป็นเพียงสิ่งปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาเป็นตัวตนเพียงชั่วคราวเท่านั้น” และเมื่อมีเข้าใจเช่นนี้แล้ว ก็ให้นำความเข้าใจนี้มาเพ่งดู (ด้วยสมาธิ) จากร่างกายและจิตใจของเราเองในปัจจุบัน อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ก็จะทำให้ความยึดถือว่า “ร่างกายและจิตใจนี้คือตัวเรา-ของเรา” ลดน้อยลงหรือดับหายไปได้ (แม้เพียงชั่วคราว) เมื่อความยึดถือดับหายไป ความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากความยึดถือ ก็จะดับหายตามไปด้วยทันที เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ ความสงบเย็นหรือนิพพานก็จะปรากฏ (แม้เพียงชั่วคราว) เมื่อนิพพานปรากฏ ก็แสดงว่าเราเกิดความเห็นแจ้งชีวิต และเห็นแจ้งว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร? ด้วยสติปัญญาของเราเองแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อจากใครๆหรือจากตำราใดๆทั้งสิ้น

เตชปญฺโญ ภิกขุ. ๑๔ มกราคม ๒๕๕๙
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
[ศึกษารายละเอียดได้ที่ www.whatami.net]

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************
Free Web Hosting