คำสอนเรื่องกรรมที่เป็นวิทยาศาสตร์

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า คำสอนเรื่องกรรมที่สอนว่า “เมื่อเราทำกรรมใดๆไว้ในชาตินี้ เมื่อตายไปแล้วก็จะต้องเกิดใหม่เพื่อมารับผลของกรรมนั้นในชาติหน้า” นั้นไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า แต่เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ที่ปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนามาช้านานแล้วโดยชาวพุทธไม่รู้ตัว ซึ่งเรื่องกรรมชนิดข้ามภพข้ามชาติเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลมาอธิบายให้เข้าใจได้ และไม่มีของจริงมายืนยัน มีแต่ความเชื่อที่เล่าสืบต่อกันมาเท่านั้น โดยเขาเอาไว้สอนเด็กหรือชาวบ้านที่ยังมีความรู้น้อยเท่านั้น

ส่วนคำสอนเรื่องกรรมที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านั้นจะเป็นวิทยาศาสตร์ คือมีเหตุผลและพิสูจน์ได้ โดยคำว่า กรรม แปลว่า การกระทำด้วยเจตนา ซึ่งเจตนานี้ก็คือกิเลส (โลภ โกรธ หลง) คือเมื่อเราคิด พูด หรือกระทำทางกายด้วยกิเลสใดๆลงไป มันก็กลายเป็นกรรมไปทันที ซึ่งกรรมนี้ก็สรุปได้ ๒ อย่าง คือ

๑. กรรมดี - การทำดี (สรุปคือการช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์หรือมีความสุข)  

๒. กรรมชั่ว - การทำชั่ว (สรุปคือการเบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น)

วิบาก แปลว่า ผลของกรรม ซึ่งวิบากหรือผลของกรรมนี้ก็คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาจากจิตใต้สำนึกของเรานี่เอง อันได้แก่ กรรมดี ก็มีวิบากดี คือสุขใจ อิ่มใจ กรรมชั่วก็มีวิบากชั่ว คือร้อนใจ ไม่สบายใจ

วิบากหรือผลของกรรมนี้ จะมีช่วงเวลาให้ผลอยู่ ๓ ช่วงไม่ช่วงใดก็ช่วงหนึ่ง คือ

๑. ทันทีที่กำลังทำกรรมอยู่

๒. หรืออาจจะหลังจากทำกรรมเสร็จแล้วก็ได้

๓. หรืออาจจะหลังจากทำกรรมเสร็จแล้วอีกหน่อยก็ได้ 

คือมันไม่แน่นอนว่าจะให้ผลในขณะใด แต่ที่แน่ๆมันให้ผลแก่จิตใจอย่างแน่นอน คือทำดีก็จะสุขใจ ทำชั่วก็จะร้อนใจ ไม่สบายใจ ซึ่งก็อาจะเกิดในขณะที่ทำอยู่ หรือทำเสร็จแล้ว หรือในเวลาต่อมาอีกนิดหน่อยก็ได้ อันนี้เราก็ต้องมาสังเกตจากจิตของเราเอง ซึ่งนี่คือผลของกรรมโดยตรงที่เป็นความจริงและเป็นวิทยาศาสตร์ที่พระพุทธเจ้าสอน ที่ใครๆก็ยอมรับ เพราะมันมีความจริงอยู่ในจิตใจของเราทุกคนมายืนยัน

แต่มันยังมีผลโดยอ้อมของกรรมอีก คือ เมื่อทำดีแล้วมีคนมาชมเชยหรือให้รางวัล หรือทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง หรือเมื่อทำชั่วแล้วถูกติเตียนหรือถูกลงโทษ หรือทำให้ชีวิตตกต่ำหรือวิบัติ ซึ่งผลโดยอ้อมนี้เป็นผลที่ไม่แน่นอน เพราะมันขึ้นอยู่กับปัจจัย (สิ่งสนับสนุน) ภายนอก เช่น ค่านิยมของสังคมหรือสภาพแวดล้อม จึงเอาแน่นอนไม่ได้ เพราะถ้าทำดีแล้วไม่ใครรู้ ก็ไม่มีใครมาชมเชยหรือให้รางวัล หรือถ้าทำชั่วแล้วปกปิดเอาไว้ได้ ก็ไม่ถูกติเตียนหรือลงโทษ ซึ่งผลโดยอ้อมนี้เป็นเรื่องที่ใครๆก็รู้กันอยู่แล้ว และพระพุทธเจ้าก็ไม่สอน เพราะอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ เพราะเมื่อมีคนที่ทำดีแต่ไม่ร่ำรวย ส่วนคนที่ทำชั่วกลับร่ำรวย ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ทำดีไม่ได้ดี แต่พอทำชั่วกลับได้ดี ขึ้นมาได้

สรุปได้ว่า คำสอนเรื่องกรรมที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านั้นเป็นวิทยาศาสตร์ คือเป็นการสอนเรื่องผลที่เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากจิตใต้สำนึกของมนุษย์ คือเมื่อเราทำสิ่งที่ดี  จิตใต้สำนึกมันก็รู้อยู่ว่าเป็นความดี แล้วมันก็จะเกิดความสุขใจ หรืออิ่มเอมใจขึ้นมาทันที แต่ถ้าทำความชั่ว จิตใต้สำนึกมันก็รู้อยู่ว่าเป็นความชั่ว มันก็จะเกิดความร้อนใจ หรือไม่สบายใจขึ้นมาทันที ซึ่งเรื่องกรรมนี้พระพุทธเจ้าสอนว่า เป็นเรื่องที่ไม่ควรสนใจศึกษา (อจินไตย) เพราะไม่เป็นประโยชน์การศึกษาและปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ ส่วนเรื่องที่เป็นประโยชน์สูงสุดที่พระพุทธเจ้าสอนก็คือเรื่องการดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน ที่เราควรสนใจศึกษาให้เข้าใจและนำมาปฏิบัติให้เกิดความเห็นแจ้งก่อน จึงค่อยไปศึกษาเรื่องอื่น

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************
Free Web Hosting