ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องสาเหตุที่ทำให้คนเห็นแก่ตัว

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า คำสอนเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อมารับผลกรรมเก่านั้น เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นคำสอนที่ดี เพราะทำให้คนที่เชื่อทำแต่ความดี เพราะอยากขึ้นสวรรค์ที่เชื่อว่าอยู่บนฟ้า และไม่ทำความชั่ว เพราะกลัวตกนรกที่เชื่อว่าอยู่ใต้ดิน

แต่ในความเป็นจริงนั้น คำสอนเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อมารับผลกรรมนี้ ไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า แต่เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ที่ปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนามาช้านาแล้วโดยชาวพุทธไม่รู้ตัว ซึ่งคำสอนเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อมารับผลกรรมนี้ ถึงแม้จะมีผลดีอยู่บ้าง ตรงที่ทำให้คนที่เชื่อทำแต่ความดี ไม่ทำความชั่ว แล้วทำให้คนที่ปฏิบัติตามมีความปกติสุข ถ้าสังคมมีคนที่ปฏิบัติกันเช่นนี้มากๆ สังคมก็จะสงบสุข แต่ว่ามันก็มีผลเสียตรงที่ ทำให้คนที่เชื่อไม่มีปัญญาเห็นแจ้งชีวิต และเพิ่มความเห็นแก่ตัวมากขึ้น อันจะทำให้ชีวิตต้องพบกับปัญหา ที่จะสร้างความทุกข์แก่จิตใจในปัจจุบัน (เช่น ปัญหาจากความแก่ เจ็บ ตาย พลัดพราก ผิดหวัง เป็นต้น) และสร้างความเดือดร้อนแก่ร่างกาย (เช่น ความอดอยากขาดแคลน ยากจน ทำงานหนัก อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย หรือถูกทรมาน ทำร้าย เอาเปรียบ เป็นต้น) ในการดำเนินชีวิตอีกด้วย

ความเชื่อเรื่องว่ามีตัวเรามาเวียนว่ายตายเกิดเพื่อมารับผลกรรมเก่านี้ มันเป็นแค่ความเชื่อ ที่ไม่มีเหตุผลมาอธิบายให้เข้าใจได้ และไม่มีของจริงมายืนยัน มีแต่เรื่องเล่าสืบต่อกันมาเท่านั้น ซึ่งคำสอนเช่นนี้เอง ที่ทำให้เกิดความเห็นผิดว่ามีตัวตนของเราอยู่เรื่อยไปที่เรียกว่า อัตตา ตามที่ศาสนาพราหมณ์สอน ซึ่งความเห็นผิดว่ามีอัตตานี้เอง ที่ตรงข้ามกับคำสอนเรื่องอนัตตา (ไม่ใช่อัตตา) ที่เป็นหัวใจของปัญญา สำหรับนำมาใช้ปฏิบัติคู่กับสมาธิ (โดยมีศีลเป็นพื้นฐาน) เพื่อการดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า ดังนั้นคำสอนเรื่องว่ามีตัวเรามาเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อมารับผลกรรมเก่านี้ จึงไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า

อีกอย่างการสอนว่ามีตัวเรามาเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อมารับผลกรรมเก่านี้ ยังเป็นการเพิ่มความเห็นแก่ตัวให้มากขึ้นอีก ซึ่งคนที่เห็นแก่ตัวก็ย่อมที่จะทำอะไรๆเพื่อตัวเอง โดยคนที่เห็นแก่ตัวที่ดี (คนดี) ก็จะทำอะไรๆเพื่อตัวเองในทางที่ดี (คือไม่ทำผิดกฎหมายและศีลธรรม) ส่วนคนที่เห็นแก่ตัวที่ชั่ว (คนชั่ว) ก็ย่อมจะทำอะไรๆเพื่อตัวเองในทางที่ชั่ว (คือทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรม)

คนที่เห็นแก่ตัวที่ดีนั้นแม้จะเป็นคนดี ก็ยังมีความยึดถือว่ามีตัวเองที่ดีอยู่ ซึ่งความยึดถือว่ามีตัวเองนี้เอง ที่ทำให้จิตที่ยึดถือนั้นต้องมาพบกับความทุกข์มากมาย เช่น จากความยึดถือว่ามีตัวเองแก่ เจ็บ จะตาย พลัดพรากจากคนและสิ่งอันเป็นที่รัก และผิดหวัง เป็นต้น ส่วนคนที่เห็นแก่ตัวที่ชั่วนั้น นอกจากจะต้องพบกับความทุกข์เหมือนคนที่เห็นแก่ตัวที่ดีแล้ว ก็ยังต้องพบกับความเดือดร้อนจากการกระทำที่ชั่วของตนเองอีก เช่น ถ้าถูกจับได้ก็จะถูกติเตียนจากสังคม ถูกสังคมลงโทษ ครอบครัวเดือดร้อน ทรัพย์สมบัติพินาศ หรือถ้ายังไม่ถูกจับได้ก็ยังต้องเครียดอยู่เสมอๆ เพราะต้องคอยหวาดระแวงว่าจะถูกจับได้หรือถูกทำร้ายตอบแทน จนทำให้หาความสงบสุขทางใจไม่ได้ จนต้องเสพสิ่งเสพติด สิ่งฟุ่มเฟือย และอบายมุขต่างๆ เพื่อคลายเครียด จนทำให้เกิดโทษแก่ร่างกายและครอบครัว ตามมาอีก เป็นต้น

สรุปได้ว่า คำสอนเรื่องว่ามีตัวเรามาเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อมารับผลกรรมเก่านี้ ไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า แต่เป็นคำสอนที่ปลอมปนเข้ามาในภายหลัง ที่ไม่ทำให้เกิดปัญญาสำหรับนำมาใช้ดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าได้ ซึ่งคำสอนเช่นนี้นอกจากจะไม่ทำให้เกิดปัญญาแล้ว ยังมีผลเสียตามมาอีกมากมาย คือทำให้เกิดความเห็นแก่ตัวมากขึ้น เพราะสอนว่ายังมีตัวตนมารับผลกรรมอยู่เรื่อยไป จึงทำให้คนที่เชื่อแม้จะทำความดี เช่น ทำทาน หรือรักษาศีล หรือช่วยเหลือคนอื่น เป็นต้น ก็ทำเพื่อตัวเองจะได้ไปรับผลจากความดีนั้นในชาติหน้า ไม่ได้ทำเพื่อสละสิ่งที่ยึดถือเอาไว้ออกไปเพื่อให้จิตบริสุทธิ์ ส่วนคนที่เชื่อที่ทำชั่วด้วยการเอาเปรียบหรือเบียดเบียนคนอื่น เพื่อให้ได้ทรัพย์มามากๆ ก็จะเอาทรัพย์นั้นมาทำบุญหรือความดีเพื่อกลบเกลื่อนหรือปิดบังความชั่วของตัวเองในปัจจุบัน และยังเชื่อว่าถ้าเอาทรัพย์นั้นมาทำบุญมากๆ แก่นักบวชที่ตนเองเชื่อถือ ก็จะทำให้บาปหรือผลชั่วของตัวเองเบาบางลงหรือหมดสิ้นไปได้ แล้วก็จะทำให้ได้ขึ้นสวรรค์เมื่อตายไปแล้ว และเกิดมาร่ำรวยสุขสบายเรื่อยไป จึงเป็นเรื่องที่ชาวพุทธควรศึกษาให้เข้าใจว่า เรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อมารับผลกรรมเก่านี้ ไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า เพื่อที่จะได้เกิดปัญญาสำหรับนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง และหลุดพ้นจากปัญหาที่ใหญ่หลวงที่สุดอันได้แก่ความทุกข์และความเดือดร้อนของชีวิตกันต่อไป

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************
Free Web Hosting