ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องการเกิดขึ้นของขันธ์ทั้ง ๕

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า ร่างกายกับจิตใจ (ขันธ์ ๕) ของเรานี้มันแยกจากกันได้ ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน เมื่อร่างกายตาย ถ้าจิตยังมีกิเลสอยู่มันก็ยังมีการเกิดจิตขึ้นมาได้ใหม่ในร่างกายใหม่อีก (บางคนก็เชื่อว่าจิตจะออกไปเกิดโดยตรง บางคนก็เชื่อว่าจิตไม่ออกไปเกิด แต่กิเลสออกไปสร้างจิตขึ้นมาใหม่แทนจิตเก่า) ซึ่งก็ทำให้เกิดความเชื่อเรื่องการเวียนว่าตาย-เกิดเพื่อมารับผลกรรมเก่า ตามที่ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูสอน

แต่ในความเป็นจริงนั้น พระพุทธเจ้าสอนว่า ร่างกายกับจิตใจ (หรือขันธ์ ๕) นี้ มันต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จะแยกกันไม่ได้ ถ้าแยกกันเมื่อใด มันก็จะแตก (คือร่างกายตาย) และดับ (คือจิตดับ) หายไปด้วยกันทั้งคู่ทันที ดังนั้นเรื่องที่เชื่อกันว่า ถ้าจิตยังมีกิเลสอยู่ เมื่อร่างกายตาย จิตที่ยังมีกิเลสนี้ จะยังเกิดขึ้นมาได้ใหม่อีกเพื่อมารับผลกรรมเก่านั้นจึงเป็นไปไม่ได้

การเกิดขึ้นของร่างกายกับจิตใจหรือขันธ์ทั้ง ๕ นี้ พระพุทธเจ้าได้สอนเอาไว้ว่า ร่างกายของเรานี้เกิดมาจากพ่อและแม่ โดยมีธาตุ ๔ คือดิน (ของแข็ง), น้ำ (ของเหลว), ไฟ (ความร้อน), ลม (ก๊าซ) มาปรุงแต่งให้เจริญเติบโต ซึ่งร่างกาย (รูปขันธ์) ที่ยังไม่ตายนี้ จะมีระบบประสาทอยู่ ๖ จุด คือตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ (ที่สมอง) สำหรับเอาไว้เชื่อมต่อกับสิ่งภายนอก

เมื่อมีสิ่งภายนอก (คือรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสกาย สิ่งสัมผัสใจ) มากระทบระบบประสาทใด ก็จะทำให้เกิดการรับรู้ (วิญญาณขันธ์) ขึ้นมาที่ระบบประสาทนั้นทันที

เมื่อเกิดการรับรู้ใดขึ้นมา มันก็จะไปกระทบระบบประสาทใจอยู่ด้วยตลอดเวลา เมื่อใจได้รับรู้แล้ว มันก็จะจำสิ่งที่รับรู้นั้นได้ (สัญญาขันธ์) เพราะสมองมีความทรงจำของสิ่งนั้นอยู่

เมื่อเกิดการจำได้แล้ว มันก็จะเกิดความรู้สึกต่อสิ่งที่จำได้นั้นขึ้นมาด้วยทันที (เวทนาขันธ์) ซึ่งความรู้สึกนี้ก็มีอยู่ ๓ ประเภท คือ ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์

เมื่อเกิดความรู้สึกขึ้นมาแล้ว มันก็จะเกิดการปรุงแต่งต่อไปว่าจะทำอย่างไรกับเวทนานั้นต่อไปทันที (สังขารขันธ์) เช่น ถ้าจิตยังมีกิเลส มันก็จะปรุงแต่งให้เกิดความพอใจในความรู้สึกสุข ไม่พอใจในความรู้สึกทุกข์ ไม่แน่ใจในความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ หรือเกิดความยึดถือว่ามีตัวเราที่เป็นผู้พอใจหรือไม่พอใจหรือไม่แน่ใจขึ้นมา หรือเกิดความคิดไปต่างๆนาๆตามอำนาจกิเลส แล้วทำให้จิตเป็นทุกข์ เป็นต้น แต่ถ้าจิตไม่มีกิเลส มันก็จะไม่ปรุงแต่งให้เกิดความพอใจ-ไม่พอใจ-ไม่แน่ใน รวมทั้งความยึดถือว่ามีตัวเราขึ้นมา แต่มันก็ยังมีการคิดนึกต่อไปได้ด้วยสติปัญญา และไม่ทำให้จิตเป็นทุกข์

สรุปได้ว่า ร่างกายกับจิตใจนี้มันต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ถ้าสิ่งใดหายไป อีกสิ่งมันก็ย่อมที่จะหายตามไปด้วยทันทีตามหลักของสิ่งปรุงแต่งที่เป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง) ส่วนการที่จิตใดมีกิเลสครอบงำ มันก็จะมีผลทำให้จิตนั้นเกิดการปรุงแต่งให้เกิดความยึดถือว่ามีตัวเอง (หรือตัวเรา) แล้วทำให้จิตนั้นเกิดความทุกข์ (ความเศร้าโศก เสียใจ คับแค้นใจ แห้งเหี่ยวใจ ไม่สบายใจ) ขึ้นมาทันที แต่ถ้าจิตใดกำลังมีปัญญาและสมาธิตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าอยู่ จิตนั้นก็จะไม่มีกิเลสครอบงำ แล้วก็จะไม่มีการปรุงแต่งให้เกิดความยึดถือว่ามีตัวเอง (หรือตัวเรา)  ขึ้นมา เมื่อจิตไม่มีความยึดถือ มันก็จะไม่มีความทุกข์ เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ มันก็จะสงบเย็น หรือที่เราเรียกกันว่า นิพพาน (แม้เพียงชั่วคราว) ส่วนเรื่องที่ว่ากิเลสจะทำให้มีตัวเราเกิดขึ้นได้ใหม่อีกหลังจากที่ร่างกายตายไปแล้วนั้น มันเป็นแค่ความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ที่ปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนามาช้านานแล้วโดยที่ชาวพุทธไม่รู้ตัวเท่านั้น ไม่ใช่ความจริง เพราะเมื่อเราเข้าใจและเห็นแจ้งถึงเรื่องการเกิดขึ้นของขันธ์ทั้ง ๕ ตามที่เป็นจริงแล้ว เราก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า มันไม่ได้มีตัวตนที่เป็นเราอยู่จริงในขันธ์ ๕ นี้เลย ดังนั้นเรื่องมีตัวเรามาเกิด หรือมีตัวเราไปเกิด จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************
Free Web Hosting