ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่อง กิเลส อนุสัย อาสวะ สังโยชน์

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า กิเลส อนุสัย อาสวะ และสังโยชน์ นั้น เป็นคนละตัวกัน ไม่เกี่ยวของกัน

แต่ในความเป็นจริงนั้น กิเลส อนุสัย อาสวะ และสังโยชน์ นั้น แม้จะมีชื่อต่างกัน แต่ก็มีความเกี่ยวข้องกันอย่างที่จะแยกจากกันไม่ได้ คือเมื่อจิตเกิดของเราเกิดกิเลส (คือ พอใจ ไม่พอใจ ไม่แน่ใจ) ขึ้นมาแล้วดับหายไป มันก็จะทิ้งความเคยชิน (ที่เรียกว่าอนุสัย) เอาไว้ให้แก่จิตใต้สำนึก เมื่อจิตเกิดกิเลสบ่อยๆ มันก็จะมีอนุสัยหรือความเคยชินมาก เมื่อมีสิ่งภายนอก (คือรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งกระทบกาย สิ่งกระทบใจ) มากระทบจิตอีก จิตของเราก็จะเกิดกิเลสขึ้นมาอีกได้อย่างรวดเร็วและรุนแรงอย่างชนิดที่เราไม่สามารถควบคุมมันได้ ซึ่งนี่ก็คืออาการที่เรียกว่า อาสวะ ที่หมายถึง สิ่งที่ไหลออกมาจากการหมักดองเอาไว้ ซึ่งอาการที่เราไม่สามารถควบคุมจิตไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาได้นี้เอง ที่ทำให้เราต้องจมติดอยู่ในความทุกข์ตลอดไป หรือยังต้องมีความทุกข์อยู่ต่อไปถ้ายังมีอนุสัยของกิเลสนี้อยู่ และอาการนี้ก็เรียกว่า สังโยชน์ ที่หมายถึง เครื่องผูกจิตเอาไว้ในความทุกข์

กิเลส แปลว่า สิ่งเศร้าหมอง หรือ สิ่งทำความเศร้าหมองซึ่งมีอยู่ ๓ อาการใหญ่ๆ อันได้แก่

๑. ราคะ หรือ โลภะ คือ ติดใจ หรืออยากได้ พอใจ ยินดี รัก ชอบ เป็นต้น ซึ่งเป็นอาการดึงเอาเข้ามาหาตัวเอง

๒. ปฏิฆะ หรือ โทสะ คือ ขัดเคืองใจ หรือโกรธ เกลียด กลัว ไม่อยากได้ ไม่พอใจ ยินร้าย ชัง เบื่อหน่าย เป็นต้น ซึ่งเป็นอาการผลักออกไปจากตัวเอง

๓. โมหะ คือ ความหลงเพราะไม่รู้จะไปทางเอาเข้ามาดีหรือผลักออกไปดี หรือความไม่แน่ใจ หรือยังตัดสินใจไม่ได้

กิเลสนี้เมื่อมองในแง่ที่ว่ามันทำให้จิตเกิดความทุกข์จะเรียกว่า ตัณหา ที่แปลว่า ความอยาก แต่ถ้ากิเลสนี้เกิดขึ้นมาอ่อนๆ จะเรียกว่า นิวรณ์ ที่หมายถึง สิ่งปิดกั้นจิตไว้จากความดี คือจากสมาธิและปัญญา หรือจากนิพพาน (ความสงบเย็น)

อนุสัย  หมายถึง  ความเคยชิน   คือทุกครั้งที่จิตของเราได้เกิดกิเลสตัวใดขึ้นมาแล้ว และแม้มันจะดับไปแล้วก็ตาม  แต่มันจะทิ้งความเคยชินไว้ให้ คือมันจะทำให้จิตของเราเกิดกิเลสตัวนั้นได้ง่ายยิ่งขึ้น  ยิ่งถ้าเกิดกิเลสขึ้นมาบ่อยๆก็จะยิ่งมีอนุสัยมากขึ้น  ซึ่งอนุสัยนี้ถ้าจะแยกแล้วก็ได้  ๓  ประเภท อันได้แก่

               ๑.  ราคานุสัย        ความเคยชินที่จะเกิดกิเลสประเภทราคะขึ้นมาอีก

               ๒.  ปฏิฆานุสัย      ความเคยชินที่จะเกิดกิเลสประเภทโทสะขึ้นมาอีก

               ๓.  อวิชชานุสัย     ความเคยชินที่จะเกิดอวิชชาขึ้นมาอีก

พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสเอาไว้ว่า  “ไม่ว่ากิเลสตัวใดจะเกิดขึ้นมาในจิตเรา มันหาได้ทิ้งความเคยชินที่จะเกิดเฉพาะกิเลสของตัวนั้นไว้ไม่ แต่มันจะเกิดความเคยชินของกิเลสที่เหลืออีกสองตัวทิ้งเอาไว้ให้แก่จิตด้วยเสมอทุกครั้ง” คือสรุปว่าไม่ว่ากิเลสตัวใดจะเกิดขึ้น มันจะทิ้งอนุสัยของกิเลสทุกตัวไว้ให้ด้วยเสมอ อย่างเช่น คนที่มีราคะมากๆ ก็จะมีโทสะมาก และมีอวิชชามากตามไปด้วย เป็นต้น

อาสวะ  หมายถึง  สิ่งที่ผลักดันกันออกมาจากการสั่งสมเอาไว้  ซึ่งอาสวะนี้ก็แยกได้  ๓  ประเภท  อันได้แก่

๑. กามาสวะ  กาม (ความใคร่ของจิต) ที่ผลักดันอันออกมา

๒. ภวาสวะ    ภพ (ความมีความเป็นของจิต) ที่ผลักดันอันออกมา

๓. อวิชชาสวะ  อวิชชา (ความรู้ว่ามีตัวเอง) ที่ผลักดันกันออกมา

เมื่อเรามีอนุสัยมากๆ  พอเกิดผัสสะและเวทนาใดๆขึ้นมาก็จะทำให้ อวิชชา, ตัณหา, อุปาทาน (ความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเรา), ภพ, ชาติ (การเกิดตัวเราขึ้นมาภายในจิต), และทุกข์ก็จะเกิดตามขึ้นมาอย่างรวดเร็วทันที  จนเราไม่สามารถห้ามได้ถ้ามีอนุสัยสั่งสมเอาไว้มากๆ   

สังโยชน์  หมายถึง  เครื่องผูก  คือหมายถึงสิ่งที่ผูกจิตให้ติดอยู่ในทุกข์ ซึ่งแยกตามลำดับจากหยาบไปหาละเอียดได้  ๑๐  ขั้นอันได้แก่

๑. สักกายทิฎฐิ  ความเห็นว่าร่างกายและจิตใจนี้เป็นตน (เป็นอัตตา)

๒. วิจิกิจฉา    ความไม่แน่ใจในคำสอนหรือสิ่งที่เชื่อถืออยู่

๓. สีลัพพตปรามาส  การปฏิบัติศีลและข้อวัตรต่างๆที่ผิดจากจุดมุ่งหมายที่แท้จริง (ปฏิบัติอย่างงมงาย)

๔. กามราคะ    ความกำหนัดยินดีในกามารมณ์ (เรื่องทางเพศ)

๕. ปฏิฆะ   ความรู้สึกอึดอัดขัดเคืองใจ

๖. รูปราคะ   ความติดใจในสุขเวทนาจากรูปารมณ์ (พวกวัตถุสิ่งของ)

๗. อรูปาราคะ  ความติดใจในสุขเวทนาจากอรูปารมณ์ (พวกชื่อเสียงเกียรติยศ)

๘. มานะ  ความถือตัวเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น (ว่าเหนือ หรือเสมอ หรือต่ำกว่า)

๙. อุจธัจจะ  ความฟุ้งซ่านหรือความตื่นเต้นเล็กๆน้อย

๑๐. อวิชชา  สัญชาติญาณแห่งความมีตัวตน (ความรู้ว่ามีตนเอง)

สรุปได้ว่า กิเลส อนุสัย อาสวะ และสังโยชน์นี้ มีความเกี่ยวข้องกันอยู่อย่างที่จะแยกจากก้นไม่ได้ เพราะมันเป็นระบบของจิตใต้สำนึก ที่ปรุงแต่งให้จิตเกิดความทุกข์ขึ้นมา ซึ่งหลักอริยมรรคของพระพุทธเจ้า อันสรุปอยู่ที่ ปัญญา ศีล และสมาธินี่เอง ที่เป็นการปฏิบัติเพื่อกำจัดอนุสัยของกิเลส หรือทำลายสังโยชน์ให้ขาดไปอย่างถาวร เพื่อให้จิตนิพพานหรือไม่มีความทุกข์อย่างถาวรได้ในชีวิตนี้

 

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************
Free Web Hosting