เคล็ดลับการฝึกสมาธิ

สมาธินับเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อทุกคน คือ ถ้าเด็กมีสมาธิก็จะเรียนเก่ง มีความจำดีและคิดเก่ง ถ้าคนทำงานมีสมาธิก็จะทำให้ทำการงานได้ดี หรือแม้ นักวิปัสสนาถ้ามีสมาธิก็จะทำให้เกิดปัญญาขั้นเห็นแจ้งและดับทุกข์ได้
แต่ปัญหาสำคัญที่ทำให้ผู้ที่ฝึกสมาธิไม่สามารถฝึกจิตให้เกิดสมาธิได้นั้นก็คือ “ความไม่เข้าใจว่าสมาธิคืออะไรและจะเกิดขึ้นได้อย่างไร?” ถ้าผู้ฝึกสมาธิจะเข้าใจว่าสมาธิคืออะไร และจะเกิดขึ้นได้อย่างไรแล้ว การฝึกสมาธิของเขาก็จะง่ายและเกิดขึ้นเร็วได้อีกด้วย แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่รู้ว่าสมาธินั้นแท้จริงเป็นอย่างไรและเคล็ดลับในการฝึกเป็นอย่างไรแล้ว การฝึกสมาธิก็ยากที่จะประสบผลสำเร็จได้ ดังนั้นเราจะมาเรียนรู้เคล็ดลับในการฝึกสมาธิกันต่อไป
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจคำว่า “สมาธิ”ก่อน คำว่า สมาธิ แปลว่า ตั้งมั่นอยู่เสมอ คือหมายถึง อาการที่จิตเพ่ง (หรือจดจ่อ หรือกำหนด หรือจับติด)อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ดีงามอยู่ตลอดเวลาได้นานๆอย่างต่อเนื่อง จนจิตเกิดความสงบ, ตั้งมั่น, ปลอดโปร่งแจ่มใส, อ่อนโยน, และเกิดความสุขที่สงบ หรือความเบาสบาย ไม่มีความทุกข์ใดๆขึ้นมา
เรามักเข้าใจกันว่าเมื่อจิตมีสมาธิแล้วจิตจะสงบนิ่งหรือตั้งมั่นโดยไม่มีความคิดใดๆเลยหรือไม่รับรู้สิ่งภายนอกเลย ซึ่งนั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะนั่นเป็นสมาธิที่สูงเกินความจำเป็น(คือใช้งานอะไรไม่ได้)และฝึกได้ยาก ดังนั้นเราจึงไม่ควรสนใจ ซึ่งสมาธิที่เป็นประโยชน์นั้นจะเป็นสมาธิที่ถูกต้อง คือเป็นการตั้งใจคิด หรือพูด หรือทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงามอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น ในการกำหนดรู้ถึงหายใจของร่างกาย หรือเพ่งอยู่ในการคิด ในการอ่าน การเขียน การฟัง การพูด หรือในการทำการงานที่ดีงามทั้งหลายเป็นต้น
สมาธิที่ถูกต้องจะมีลักษณะ ๓ อย่างให้สังเกตได้ คือ
๑. บริสุทธิ์ คือไม่มีกิเลส(ยินดี ยินร้าย ลังเลใจ) ไม่มีนิวรณ์(ความคิดฟุ้งซ่านต่างๆหรือความหดหู่ เซื่องซึม เป็นต้นที่จัดเป็นพวกกิเลสอ่อนๆ)
๒. ตั้งมั่น คือจิตจะสงบ มั่นคง เข้มแข็ง ไม่อ่อนแอไปตามสิ่งที่มายั่วยวนให้ยินดีหรือยินร้ายหรือลังเลใจก็ตาม
๓. อ่อนโยน คือจะควบคุมได้ง่าย จะให้คิดเรื่องอะไรก็ได้ เพราะไม่ดื้อรั้นเอาแต่ใจเหมือนตอนถูกกิเลสครอบงำ รวมทั้งจะมีสติที่สมบูรณ์อีกด้วย
เมื่อจิตบริสุทธิจากกิเลส ก็เท่ากับขณะนั้นจิตหลุดพ้นจากกิเลสจิตก็จะไม่เป็นทุกข์ เมื่อจิตไม่เป็นทุกข์มันก็ย่อมที่จะสงบเย็น ดังนั้นสมาธิจึงมีผลดีหรือมีประโยชน์อย่างยิ่งตรงที่มันช่วยดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันได้ตราบเท่าที่จิตยังมีสมาธิอยู่ และยังมีของแถมก็คือเมื่อจิตมีสมาธิมันก็จะมีความสุขที่สงบเกิดขึ้นมาด้วยเสมอ ซึ่งความสุขที่สงบนี้จะเหนือความสุขจากเรื่องกามารมณ์จนทำให้ผู้ที่มีสมาธิจะไม่ติดใจในกามสุขได้
สมาธิจะเกิดขึ้นได้อย่างไร? จิตจะเกิดสมาธิได้ จิตจะต้องตั้งใจเพ่ง(หรือจดจ่อ)อยู่แต่ในสิ่งที่เพ่งนั้นได้นานๆ ซึ่งการที่จะให้จิตเพ่งอยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานๆนั้น สิ่งที่เพ่งนั้นจะต้องเพ่งแล้วเกิดความสุขที่สงบ ถ้าเพ่งแล้วไม่เกิดความสุขที่สงบ หรือเพ่งแล้วเกิดความทุกข์ จิตก็จะไม่เกิดสมาธิ
แล้วอะไรคือสิ่งที่เพ่งแล้วทำให้จิตเกิดความสุขที่สงบ? ซึ่งคำตอบก็คือ “สิ่งที่ดีงามและจิตชอบ” ซึ่งสิ่งที่ดีงามก็คือสิ่งเกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น รวมทั้งไม่เป็นโทษด้วย ส่วนสิ่งที่จิตชอบนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าจิตของใครจะชอบอะไร ถ้าใครชอบอะไรที่เป็นประโยชน์ก็ให้เลือกเพ่งสิ่งนั้นจิตจึงจะเกิดสมาธิได้ง่าย แต่ถ้าให้ไปเพ่งสิ่งที่แม้จะเป็นประโยชน์ แต่ว่าจิตไม่ชอบมันก็เป็นสมาธิได้ยาก เพราะมันฝืนจิตใจ ซึ่งนี่คือเคล็ดลับของการฝึกให้จิตเกิดสมาธิได้ง่ายและเร็ว
บางคนชอบการอ่านหนังสือ ก็ทำให้เกิดสมาธิได้ บางคนชอบการเรียน ก็ทำให้เกิดสมาธิได้ บางคนชอบการเขียนก็ทำให้เกิดสมาธิได้ บางคนชอบคิดค้น ก็ทำให้เกิดสมาธิได้ บางคนชอบพูด ก็ทำให้เกิดสมาธิได้ บางคนชอบทำงาน ก็ทำให้เกิดสมาธิได้ คือใครชอบอะไรที่ไม่เป็นโทษและเป็นประโยชน์ก็เอาสิ่งนั้นมาตั้งใจกำหนดรู้หรือเพ่งให้ต่อเนื่อง คือทำให้ติดต่อกันเป็นสายไม่ขาดตอนตลอดเวลา ก็จะทำให้การกำหนดรู้หรือเพ่งนั้นทำให้จิตเกิดสมาธิขึ้นมาได้โดยง่าย
เด็กสมัยนี้ส่วนมากมีสมาธิสั้นก็เพราะเขาไม่ได้รับการฝึกให้คิด หรือพูด หรือทำในสิ่งที่เกิดประโยชน์และเขาชอบมาก่อนอย่างเพียงพอ เราปล่อยให้เด็กเล่นสนุกตามใจชอบอย่างไร้สาระมากเกินไป จนเด็กเคยชินและติดจนกลายเป็นนิสัยที่เลิกหรือเปลี่ยนแปลงได้ยากไปในที่สุด และเมื่อมีสมาธิสั้น มันก็ส่งผลถึงการเรียนและพฤติกรรมของเด็ก แล้วก็สร้างปัญหาให้กับตัวเด็กเองและสังคมไปในที่สุด แต่ถ้าเราจะมาสนใจฝึกให้เด็กมีสมาธิกันตั้งแต่ยังเล็กๆอย่างถูกต้อง ต่อไปเด็กก็จะโตขึ้นเป็นเด็กที่มีสมาธิมากและก็จะส่งผลทำให้เป็นเด็กที่เรียนเก่งและเป็นคนดีของสังคมได้โดยง่าย
ถ้าเราจะฝึกสมาธิหรือจะฝึกให้เด็กมีสมาธิ เราก็ต้องหาอะไรที่ดีงามหรือเป็นประโยชน์และเป็นสิ่งที่ผู้ฝึกชอบด้วยมาฝึกทำด้วยความตั้งใจ ซึ่งก็อาจจะเป็นการเล่นเกมส์อะไรที่ใช้ความคิด หรือการเล่นอะไรที่ต้องใช้สมอง หรือแม้การฝึกให้เด็กแสดงออก เช่นการพูด การร้องเพลง การเขียน การวาดรูป การปลูกต้นไม้ การประดิษฐ์คิดค้น เป็นต้น หรือแม้การฝึกให้เด็กได้ทำงานที่เด็กพอจะทำได้ก็ซึ่งถ้าจะให้ดีที่สุดก็ต้องฝึกกันมาตั้งแต่เด็กยังเล็กเลยจะดีที่สุด เพราะเมื่อจิตของเด็กยังว่างอยู่ ถ้าจิตของเด็กจะได้รับอะไรมาในครั้งแรก จิตของเด็กก็จะรับเอาสิ่งนั้นมาพัฒนาให้เจริญงอกงามจนเต็มจิตใจ และยากที่สิ่งอื่นที่ตรงข้ามจะเจริญขึ้นมาแทนที่ได้
การฝึกพูดหรือบรรยายนับเป็นการฝึกที่สมาธิที่ดีอย่างหนึ่ง เพราะการพูดนั้นก็ต้องใช้สมาธิในการพูดมากและยังต้องใช้ความรู้จากการอ่านมา หรือฟังมา หรือคิดมาเพื่อมาใช้พูดอีก การพูดจึงนับเป็นการฝึกสมาธิที่ดีอย่างมากที่ทุกคนควรฝึกพูดให้ได้ เพราะเป็นทั้งการฝึกสมาธิและสร้างปัญญาไปพร้อมกัน เราจึงควรส่งเสริมให้เด็กฝึกพูดเพื่อเสริมสร้างสมาธิและปัญญาให้กับเด็กด้วยอีกวิธีหนึ่ง
การฝึกสมาธิที่สอนให้นั่งหลับตาและกำหนดลมหายใจพร้อมทั้งให้หยุดความคิดนั้นเป็นการฝึกที่ยาก เพราะจิตมันไม่ชอบให้บังคับมัน มันจะรู้สึกทรมานหรืออึดอัดมากเมื่อถูกบังคับให้ขาดอิสรภาพ มันจึงมักจะยิ่งฟุ้งซ่านหนักเข้าไปอีก จนผู้ฝึกท้อถอยเอาได้ง่ายๆ ต้องใช้ความอดทนอย่างมาก คือต้องอดทนฝึกไปนานๆจิตจึงจะอ่อนลงและเกิดสมาธิขึ้นมาได้ การฝึกเช่นนี้จึงไม่ค่อยจะได้ผลคือทั้งไม่เกิดสมาธิและผู้คนเบื่อหน่ายไม่สนใจจะฝึก
สำหรับผู้ที่ทนฝึกสมาธิวิธีเก่าๆมาจนท้อแท้แล้วก็มาลองใช้วิธีการฝึกพูดหรือบรรยายความรู้ที่ตนเองมีให้คนอื่นฟังดู โดยอาจจะฝึกพูดคนเดียวแต่ก็พูดให้เหมือนกับว่ามีคนจำนวนมากฟังอยู่จริงๆก็ได้ ซึ่งการพูดก็ต้องตั้งใจพูดอย่างที่สุด และพูดช้าๆด้วยประโยคสั้นๆ โดยอาจจะพูดเฉพาะขณะที่หายใจออก แต่พอหายใจเข้าจะหยุดพูดก็ได้ (ถ้าพูดเร็วและติดต่อกันอาจจะทำให้เสียสมาธิได้ง่ายถ้ายังไม่ชำนาญ) ถ้าฝึกพูดคนเดียวได้สักพักจิตก็จะสงบ ตั้งมั่น เบาสบาย สดชื่น แจ่มใส เย็นใจ และมีความอิ่มเอมใจรวมทั้งมีความสุขที่ประณีตเกิดขึ้นมาทันที ซึ่งนั่นแสดงว่าจิตเกิดสมาธิขั้นต้นขึ้นมาแล้วอย่างแท้จริง และถ้าฝึกต่อไปเรื่อยๆจิตก็จะเกิดสมาธิที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆของมันเอง (คือจิตจะสงบตั้งมั่นมากขึ้น โดยความอิ่มเอมใจกับความสุขที่ประณีตก็จะค่อยๆหายไป จะเหลืออยู่แต่จิตที่ตั้งมั่นอยู่กับความสงบเย็นเท่านั้น) ส่วนอิริยาบถในการฝึกนั้นอาจจะเดินไปพูดไป หรือนั่งหรือยืนพูดก็ได้ตามสะดวก
สำหรับนักวิปัสสนานั้นเรื่องที่ใช้พูดก็ควรเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการดับทุกข์ คือเรื่องอนิจจัง(ความไม่เที่ยง) ทุกขัง(สภาพที่ต้องทนอยู่)และอนัตตา(สภาวะที่ไม่มีตัวตนที่แท้จริง) ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า ลองทำดูแล้วจะพบว่านอกจากจะทำให้จิตเกิดสมาธิได้ง่ายแล้วยังทำให้เกิดปัญญาแตกฉานขึ้นอีกด้วย (แต่การพูดคนเดียวก็ต้องระวังว่าถ้ามีคนอื่นมาพบเข้าเขาก็จะหาว่าเราบ้าเอาได้ แต่ก็อย่าไปสนใจเพราะคนบ้าจะมีสุขบ้างทุกข์บ้าง แต่เรามีแต่ความสุข ดังนั้นคนที่มาว่าเราบ้านั่นเองที่กลับเป็นคนบ้าเสียเอง)
พื้นฐานสำคัญของการฝึกสมาธิก็คือ ต้องมีศีล ซึ่งศีลก็คือการเป็นคนดีทั้งทางกายและวาจา คือ ไม่เบียดเบียนชีวิตและทรัพย์ของผู้อื่น ไม่ประพฤติผิดในเรื่องกามารมณ์ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดโกหก ไม่พูดส่อเสียดหรือยุยงให้แตกความสามัคคี และไม่พูดเรื่องเพ้อเจ้อไร้สาระ ถ้าใครปรกติเป็นคนดีอยู่แล้วก็ฝึกให้เกิดสมาธิได้ง่าย ส่วนใครที่ปรกติไม่ค่อยจะมีศีลก็หันมาตั้งในรักษาศีลเอาเองได้
ส่วนนักวิปัสสนานั้นจำเป็นที่จะต้องมีปัญญามาเป็นพื้นฐานอีกด้วย ซึ่งปัญญาก็คือความรอบรู้ในเรื่องการดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ถ้าใครมีความรู้นี้อย่างถูกต้องแล้วก็จะสามารถเอาเรื่องอริยสัจ ๔ นี้มาฝึกคิด หรือฝึกพูดให้เกิดสมาธิได้ทันที แต่ถ้าใครยังไม่มีความรู้เรื่องอริยสัจ ๔ นี้อย่างถูกต้อง ก็ต้องไปศึกษามาก่อนให้เข้าใจ (สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net หรือ www.whatami.co.cc )
การฝึกสมาธินี้จะต้องหมั่นฝึกฝนอยู่เสมอ คือเราสามารถปฏิบัติหรือฝึกสมาธิไปพร้อมๆกับการเรียน หรือการทำหน้าที่การงานของเราได้ตลอดเวลาถ้าชำนาญแล้ว แต่ถ้ายังไม่ชำนาญก็ต้องหาสถานที่และเวลาเพื่อฝึกฝนก่อน เมื่อชำนาญแล้วก็สามารถปฏิบัติกิจวัตรของเราไปพร้อมๆกับมีสมาธิไปด้วยได้ แล้วก็มีความสุขสงบและความสงบเย็นพร้อมกับไม่มีทุกข์ไปด้วย

เตชปญฺโญ ภิกขุ
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
๒๕ สิหาคม ๒๕๕๐
(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)

*********************
Free Web Hosting