ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องใบไม้กำมือเดียว

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นมีมากมายจนศึกษาไม่ไหว คือมีถึง ๘๔,๐๐๐ หัวข้อ ที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก จึงทำให้ไม่ค่อยมีใครอยากมาศึกษาพระไตรปิฎก เพราะเห็นว่ามีเนื้อหามากมาย ศึกษาจนตายก็ไม่จบ และแถมอ่านไม่รู้เรื่องอีกต่างหาก

แต่ในความเป็นจริงนั้น คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านั้นมีนิดเดียวเท่านั้น ส่วนคำสอนที่มีมากมายในพระไตรปิฎกนั้น ส่วนมากเป็นคำสอนที่ถูกแต่งเติมหรือเพิ่มเติมเข้ามาโดยสาวกในภายหลัง แถมยังเอาคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูเรื่องว่ามีตัวตนเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อมารับผลกรรมเก่า เข้ามาปลอมปนอีก จึงทำให้ในพระไตรปิฎกจึงมีแต่เรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อรับผลกรรมเก่าจากชาติก่อน และเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า ปะปนอยู่อย่างมากมาย ถ้าเราไม่เข้าใจการตีความหมาย เราก็จะคิดว่านั่นคือคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า  แต่ถ้าเราเข้าใจเรื่องการตีความหมาย เราก็จะเข้าใจได้ว่านั่นเป็นการแสดงธรรมแบบเอาคำสอนที่เป็นนามธรรม (ธรรมาทิษฐาน) มาแสดงเปรียบเทียบให้เป็นรูปธรรม (บุคคลาทิษฐาน) เพื่อเอาไว้สอนบุคคลในระดับศีลธรรม ที่ยังมีสติปัญญาน้อย ที่ต้องใช้ความเชื่อเป็นตัวนำในการปฏิบัติตามคำสอนระดับศีลธรรม

พระพุทธเจ้าได้ทรงเปรียบเทียบเอาไว้ว่า สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบนั้นมีมากมายเหมือนกับใบไม้ทั้งป่า แต่สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงนำมาสอนนั้นมีเพียงแค่เท่ากับใบไม้กำมือเดียว โดยสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงนำมาสอนนั้นก็คือเรื่อง การดับทุกข์ ที่เป็นปัญหาใหญ่หลวงที่สุดและเร่งด่วนที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคน ซึ่งความทุกข์นี้ก็คือความทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน เช่น ความเศร้าโศก ความเสียใจ ความคับแค้นใจ ความแห้งเหี่ยวใจ หรือความทรมานใจ ความไม่สบายใจ เป็นต้น ที่มนุษย์ทุกคนเกลียดกลัวและไม่อยากให้เกิดขึ้นแก่ตนเองและคนที่ตนรักเป็นอย่างยิ่ง

โดยต้นเหตุของความทุกข์นี้พระพุทธเจ้าทรงสรุปว่ามาจาก อวิชชา ที่เป็นความรู้ (ที่ผิด) ว่ามีตนเอง (หรือมีตัวเรา) ที่เกิดขึ้นมาตามธรรมชาติพร้อมกับทุกจิต แล้วมาครอบงำจิตใต้สำนึก จึงทำให้จิตเกิดการปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวเราขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีสิ่งต่างๆภายนอก (คือรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งกระทบกาย สิ่งกระทบใจ) มาสัมผัสจิตผ่าน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนเกิดเป็นความรู้สึกต่างๆขึ้นมา (คือความรู้สึกน่าพอใจ ไม่น่าพอใจ และจืดๆ) จิตก็จะเกิดการปรุงแต่งต่อไปให้เกิดความพอใจ หรือไม่พอใจ หรือไม่แน่ใจ (ที่เรียกว่ากิเลสหรือตัณหา) ขึ้นมาทันทีอย่างรวดเร็ว และในทันทีนั้นจิตก็จะปรุงแต่งให้เกิดความยึดถือว่ามีตัวเราที่เป็นผู้พอใจ ไม่พอใจ หรือไม่แน่ใจขึ้นมาด้วยทันที เมื่อเกิดมีตัวเราขึ้นมาสภาพที่ไม่น่าพึงพอใจ (หรือเลวร้าย) เช่น ในร่างกายที่แก่ เจ็บ กำลังจะตาย หรือคนรักได้จากไป หรือกำลังประสบกับคนที่ไม่รัก หรือผิดหวัง เป็นต้น ตัวเราที่เกิดขึ้นมานี้ก็จะเกิดความเศร้าโศก ความเสียใจ ความคับแค้นใจ ความแห้งเหี่ยวใจ หรือความทรมานใจ ความไม่สบายใจ เป็นต้น ขึ้นมาทันที (นี่คือปฏิจจสมุปบาทสายเกิดทุกข์แบบย่อๆ)

แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราจะได้มีการศึกษาชีวิต (คือร่างกายกับจิตใจหรือขันธ์ ๕) ของเราเอง โดยการใช้เหตุใช้ผลจากสิ่งที่เรามีอยู่จริงๆมาศึกษา เราก็จะเกิดความเข้าใจและเห็นแจ้งได้ด้วยสติปัญญาของเราเองว่า มันไม่ได้มีตัวตนของเราหรือของใครๆอยู่จริงเลย (ที่เรียกว่าสุญญตา) แต่ที่จิตมันรู้สึกว่ามีตัวเรานี้ก็เป็นเพราะ มีอวิชชาเกิดขึ้นมาครอบงำจิตเอาไว้ ทำให้จิตมีการปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวเราขึ้นมาชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้นถ้าจิตไม่มีอวิชชา ความรู้สึกว่ามีตัวเราก็จะไม่มี เมื่อจิตไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวเรา ความทุกข์ก็จะไม่มี และเมื่อจิตไม่มีความทุกข์ จิตนี้ก็จะกลับคืนสู่ความบริสุทธิ์ (ประภัสสร) ได้ดังเดิม แม้ว่าสภาพร่างกายและสิ่งภายนอกจะไม่น่าพอใจหรือเลวร้ายอย่างยิ่งก็ตาม ซึ่งจิตที่บริสุทธิ์นี้เองที่มีนิพพานหรือความสงบเย็นอยู่ด้วยตามธรรมชาติ

ส่วนวิธีปฏิบัติเพื่อให้นิพพานหรือความบริสุทธิ์กลับมาปรากฏแก่จิตนี้ก็คือ ต้องใช้ปัญญา (คือความเข้าใจและเห็นแจ้งว่ามันไม่มีตัวเราหรือตัวตนของใครๆอยู่จริง) กับสมาธิ (จิตที่บริสุทธิ์ ตั้งมั่น อ่อนโยน ที่มาจากการฝึก) มาทำงานคู่กัน โดยมีศีล (ความปกติของจิตที่เกิดมาจากการเป็นคนดีมีศีลธรรม) เป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว (ที่เรียกหลักนี้ว่าอริยมรรคของอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า) คือเมื่อเรามีปัญญา ศีล และสมาธิพร้อมกันอย่างถูกต้องและครบถ้วนเมื่อใด ความทุกข์ของจิตก็จะระงับหรือดับหายไปในทันที (แม้เพียงชั่วคราว) แต่ถ้าไม่มีปัญญา หรือไม่มีศีล หรือไม่มีสมาธิ (แม้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง) ความทุกข์ก็จะไม่ดับลง (หรือดับลงก็ไม่สมบูรณ์หรือสิ้นเชิง) และถ้าเราจะสามารถปฏิบัติให้เกิดปัญญา ศีล และสมาธิได้อย่างต่อเนื่องนานๆ จนอวิชชาที่มีอยู่ในจิตไต้สำนึกได้หมดความเคยชิน (ที่เรียกว่าสังโยชน์) ที่จะกลับมาเกิดขึ้นได้อีกอย่างถาวร จิตที่สมมติเรียกว่าเป็นตัวเรานี้ก็จะไม่กลับมาเกิดความทุกข์ได้อีกอย่างถาวร (คือตลอดชีวิต) ซึ่งนี่ก็คือการบรรลุนิพพานสูงสุด อันเป็นจุดหมายสูงสุดของพุทธศาสนา

สรุปได้ว่า คำสอนเรื่องการดับทุกข์ของพระพุทธเจ้านั้น มีไม่มากเลย และก็ปฏิบัติได้ไม่ยากเย็นเลย แม้เป็นฆราวาส (คนที่ไม่ได้บวช) ก็สามารถปฏิบัติได้ (เพียงแต่อาจไม่สมบูรณ์เท่านั้น) แต่ที่เรารู้สึกว่ามีมาก และปฏิบัติได้ยาก รวมทั้งยังเชื่อว่าต้องสั่งสมเป็นนิสัยเอาไว้ไปรับผล (คือนิพพานหรือพ้นทุกข์) เอาในชาติต่อๆไปอีกหมื่นชาติแสนชาติอย่างที่เราอาจเคยได้ยินได้ฟังมานั้น เป็นเพราะว่า ในอดีตมีการนำเอาคำสอนที่ไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า เข้ามาปะปนอยู่อย่างมากมาย จนทำให้ผู้ที่ศึกษาในภายหลัง เกิดความเข้าใจผิดต่อคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าเช่นนี้ขึ้นมา จึงเป็นเรื่องที่ชาวพุทธควรสนใจคัดเลือดเอาคำสอนที่ไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าออกไป และคัดเลือกเอาเฉพาะคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้ามาศึกษาและปฏิบัติกันอย่างจริงจัง เพื่อที่จะได้รับประโยชน์จากคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้ากันต่อไป

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************
Free Web Hosting