ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องต้องแยกพุทธออกจากพราหมณ์

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า คำสอนเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกาย เพื่อมารับผลกรรมเก่า และเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า รวมทั้งเรื่อง ผี เปรต เทวดา นางฟ้า พระอินทร์ พระพรหม ยมบาล (ชนิดที่เป็นตัวตนบุคคล) เป็นต้น ที่บันทึกอยู่ในพระไตรปิฎกนั้น เป็นคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า

แต่ในความเป็นจริงนั้น คำสอนเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกาย เพื่อมารับผลกรรมเก่า และเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า รวมทั้งเรื่อง ผี เปรต เทวดา นางฟ้า พระอินทร์ พระพรหม ยมบาล (ชนิดที่เป็นตัวตนบุคคล) เป็นต้น ที่บันทึกอยู่ในพระไตรปิฎกนั้น ไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าเลย  แต่เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ที่ผสมหรือปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้า หลังพุทธปรินิพพานมาช้านานแล้วโดยที่ชาวพุทธไม่รู้ตัว  ซึ่งที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะชาวพุทธไม่ได้สนใจศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้ากันอย่างจริงจัง จึงไม่รู้ว่าคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านั้นเป็นอย่างไร จึงทำให้ยึดถือคำสอนที่ปลอมปนนี้มาปฏิบัติกันอย่างจริงจัง และสืบทอดกันมาจนถึงรุ่นเราในปัจจุบัน แล้วก็มีผลทำให้สังคมชาวพุทธมีแต่ปัญหาและความเดือดร้อน ไม่มีความสงบสุขที่มั่นคงอย่างที่ควรจะเป็น รวมทั้งยังมีแต่เรื่องที่คนที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และมีใจเป็นกลาง (คือไม่ยึดติดในความเชื่อในศาสนาใดๆ) มองดูแล้วมีแต่ความงมงายไร้สาระอยู่เต็มไปหมด อย่างเช่น เรื่องการทำบุญเพื่อหวังผลว่าตายไปแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์ที่เชื่อกันว่าอยู่บนฟ้า การอ้อนวอนเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้มาช่วยให้พ้นภัย หรือมาช่วยดลบันดาลสิ่งที่ปรารถนาให้ การปฏิบัติสมาธิและวิปัสสนาเพื่อที่จะได้นิพพานในชาติต่อๆไป ซึ่งแม้นิพพานก็ยังเข้าใจผิดว่าเป็นการตายแล้วไม่เกิดอีก เป็นต้น

เมื่อมีผู้มาบอกว่า “คำสอนเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อมารับผลกรรมเก่า เป็นต้นนี้ ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า” ก็จะถูกถามกลับทันทีว่า มีหลักฐานอะไรมายืนยันว่าคำสอนเหล่านี้ไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงองพระพุทธเจ้า? ซึ่งเรื่องหลักฐานนั้นแน่นอนว่าไม่มีใครจะมีหลักฐานมายืนยันได้ว่าพระไตรปิฎกนั้นจะถูกปลอมปนมาก่อนหรือไม่ถูกปลอมปนมาก่อน เพราะถึงจะมีหลักฐานมายืนยันว่าถูกปลอมปนหรือไม่ถูกปลอมปน คนที่ไม่เชื่อก็ย่อมที่จะไม่ยอมรับอยู่ดี ดังนั้นเรื่องหลักฐานจึงไม่ควรนำมาเป็นพิจารณาเพื่อหาข้อยุติในเรื่องนี้ เพราะหลักฐานนั้นก็ไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นความจริงหรือไม่ อย่างเช่นตำรา หรือคนที่มีความรู้ด้านศาสนาที่มีคนนับถือกันอยู่ทั่วโลก

แต่ในพระไตรปิฎกนั่นเอง ได้มีคำสอนสอนที่แสนจะอัจฉริยะซ่อนอยู่ ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่พระพุทธเจ้าได้สอนเอาไว้ เพื่อให้สาวกหรือผู้ที่ศึกษาในภายหลังได้ค้นพบว่า คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธองค์นั้นเป็นอย่างไร โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อจากตำราใดๆหรือจากคำพูดของใครๆทั้งสิ้น ถ้าสาวกหรือใครก็ตาม ถ้าได้ศึกษาหลักการนี้แล้วจนเข้าใจ แล้วน้อมนำเอามาปฏิบัติกันอย่างจริงจัง ก็จะสามารถค้นพบได้ด้วยสติปัญญาของตนเองว่า คำสอนใดเป็นคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า และเมื่อค้นพบแล้วว่าคำสอนใดเป็นคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็จะทำให้เข้าใจได้เองต่อไปว่า คำสอนใดไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า

หลักในการค้นหาคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านั้น มีหลักใหญ่ๆหรือสำคัญๆ ได้แก่

๑. หลักอจินไตย ๔ อันเป็นหลักที่สอนว่า ชาวพุทธไม่ควรสนใจศึกษาเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ ๔ เรื่อง ถ้าไปศึกษาเข้าแล้วก็จะทำให้เกิดความเห็นผิดขึ้นมาได้ง่าย อันได้แก่ เรื่องของพระพุทธเจ้าและพระอริยะทั้งหลาย เรื่องสมาธิสูงๆ เรื่องกรรมและผลของกรรม และเรื่องโลกๆ

๒. หลักกาลามสูตร คือหลักที่สอนให้ชาวพุทธไม่เชื่ออะไรงมงายโดยที่ยังไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นผลอย่างแน่ชัดก่อน

๓. หลักสันทิฏฐิโก คือหลักที่สอนว่าคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านั้นเราจะต้องเห็นแจ้งด้วยตนเองเท่านั้น ไม่ใช่เชื่อโดยยังไม่เห็นแจ้งก่อน

๔. หลักอกาลิโก คือหลักที่สอนว่าการคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านั้น ถ้าปฏิบัติถูกต้องเมื่อไร ก็จะเกิดผลขึ้นมาทันทีเมื่อนั้น โดยไม่มีเรื่องเวลามาครั่นกลาง คือไม่ใช่ว่าจะปฏิบัติวันนี้ แล้วต้องไปรับผลเอาในชาติหน้า อย่างที่เข้าใจผิดกันอยู่

๕. หลักการศึกษาจากร่างกายและจิตใจของเราเองจริงๆในปัจจุบัน ขณะที่ยังมีชีวิตดีอยู่และยังมีสติสัมปฤดีอยู่นี้เท่านั้น

๖. หลักการพึ่งตนเอง ไม่พึ่งสิ่งอื่นใดภายนอก ไม่ว่าสิ่งภายนอกนั้นจะมีอยู่จริงหรือไม่ก็ตาม

๗. หลักที่ใช้พิจารณาอย่างง่ายๆว่าคำสอนใดคือคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งมี ๘ ประการ คือถ้าคำสอนใด เป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจ เป็นไปเพื่อความประกอบทุกข์ (คือทำให้ลำบาก) เป็นไปเพื่อสะสมกิเลส เป็นไปเพื่อความอยากใหญ่ (คือไม่เป็นการมักน้อย) เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน เป็นไปเพื่อความเลี้ยงยากคำสอนนั้นไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า ส่วนคำสอนใด เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด เป็นไปเพื่อความไม่ประกอบทุกข์ เป็นไปเพื่อไม่สะสมกิเลส เป็นไปเพื่อความอยากน้อย เป็นไปเพื่อความสันโดษ เป็นไปเพื่อความไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ เป็นไปเพื่อความพากเพียร เป็นไปเพื่อความเลี้ยงง่าย คำสอนนั้นเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า 

หลักการทั้ง ๗ นี้เป็นหลักใหญ่ๆที่เราจะใช้ศึกษาและปฏิบัติเพื่อให้ค้นพบว่า คำสอนใดเป็นคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า และคำสอนใดไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า แต่ก็ยังมีหลักในการศึกษาและปฏิบัติอีกมากมาย ที่จะช่วยให้เราได้ค้นพบว่าคำสอนใดเป็นคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า และคำสอนใดไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า อย่างเช่น หลักอริยสัจ ๔ อันเป็นหลักในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ (นิพพาน) หรือทำให้ความทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันลดน้อยลง, หลักการเกิดขึ้นและดับไปของร่างกายและจิตใจ (คือขันธ์ ๕), หลักปฏิจจสมุปบาท (การอธิบายถึงการทำงานของจิตโดยละเอียดขณะที่กำลังเกิดความทุกข์อยู่), และหลักกรรมที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า (ที่สอนว่าทำดีก็สุขใจ ทำชั่วก็ร้อนใจ),  หลักสวรรค์ในอก นรกในใจ, รวมทั้งเรื่อง กฎอิทัปปัจจยตา (กฎสูงสุดของธรรมชาติที่บังคับทุกสิ่งเอาไว้ว่า สิ่งใดที่จะเกิดขึ้น จะต้องมีเหตุและปัจจัยมาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น), กฎไตรลักษณ์ (คือกฎที่บอกว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาจะไม่เที่ยง มีสภาวะที่ต้องทน และไม่ใช่ตัวตนอมตะหรือแท้จริงของใครๆ), และที่สำคัญคือ คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านั้น จะไม่มีใครคัดง้าง (ทำให้ล้มไป) ด้วยเหตุผลได้ เพราะมีทั้งเหตุผลมาอธิบายให้เข้าใจได้ และพิสูจน์ได้ (มีของจริงมายืนยัน) รวมทั้งเป็นประโยชน์แก่ทุกคนอย่างแท้จริง (คือดับทุกข์ของจิตใจมนุษย์ได้จริงและช่วยสร้างสันติภาพให้แก่โลกได้) เป็นต้น

พุทธศาสนา แปลว่า คำสอนของท่านผู้รู้ ซึ่งผู้รู้นี้ก็คือผู้ที่มีปัญญารู้แจ้งชีวิต โดยมีพระพุทธเจ้า ที่เป็นผู้รู้สูงสุด หรือเป็นสุดยอดอัจฉริยะ ที่มีปัญญา (ความรอบรู้ในสิ่งที่มีประโยชน์สูงสุดสำหรับมนุษย์ทุกคน) สูงสุด และเมื่อรู้แล้วก็ย่อมจะตื่นจากความไม่รู้ (คือหายโง่) รวมทั้งเมื่อตื่นแล้วก็ย่อมจะเบิกบานสดชื่น (คือสงบเย็น หรือไม่เป็นทุกข์) ซึ่งการที่พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นมาในโลก ก็เพื่อมาสอนมนุษย์ให้รู้จักวิธีการแก้ปัญหาที่ใหญ่หลวงหรือสำคัญที่สุดของมนุษย์ ซึ่งก็คือความทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน ที่เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนเกลียดกลัวยิ่งนัก และไม่อยากจะให้เกิดขึ้นแก่ตนเองและคนที่ตนรัก โดยวิธีการดับทุกข์ของพระพุทธเจ้านี้จะตรงกับหลักวิทยาศาสตร์ คือศึกษาและปฏิบัติจากจิตใจของเราเองจริงๆในปัจจุบัน ศึกษาโดยใช้เหตุใช้ผลจากสิ่งที่เรามีอยู่จริง ศึกษาอย่างเป็นระบบ และจะเชื่อและรับเอามาปฏิบัติอย่างจริงจัง ก็ต่อเมื่อได้พิสูจน์จนเห็นผลอย่างแน่ชัดก่อนแล้วเท่านั้น ซึ่งคำสอนของพระพุทธเจ้านี้เป็นของสากล คือมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติใดหรือนับถือลัทธิหรือศาสนาใดอยู่ก็ตาม เมื่อได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าจนเกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็สามารถนำเอาหลักคำสอนนี้ไปปฏิบัติได้ด้วยตนเองทันที โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับใครหรือพิธีรีตองใดๆทั้งสิ้น

สรุปได้ว่า ในปัจจุบันคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าเรื่องการดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน ที่ได้บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก ได้ถูกคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูครอบงำหรือปลอมปนอยู่มาก่อน จะโดยตั้งใจหรือด้วยความไม่รู้ก็ตามแต่ แล้วก็ทำให้ชาวพุทธเกิดความเชื่อและการปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนมาโดยตลอด จนทำให้ชาวโลกมองว่าพุทธศาสนามีแต่เรื่องงมงายอย่างเช่นในปัจจุบัน แต่ที่สำคัญคือทำให้ชาวพุทธไม่ได้รับประโยชน์จากคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า จึงเป็นเรื่องที่ชาวพุทธควรสนใจศึกษาหลักที่จะช่วยให้ค้นพบคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านี้ เพื่อที่จะได้นำคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า มาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมประเทศชาติ รวมทั้งแก่โลกกันต่อไป  

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************
Free Web Hosting