ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องการปล่อยวาง

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า พระพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวางทุกสิ่ง เพื่อจะได้ไม่เป็นทุกข์ ถ้าไปยึดถือสิ่งใดก็จะทำให้เป็นทุกข์ โดยการปล่อยวางนั้นก็ให้ตัดใจปล่อยวางไปเลย หรือพยายามไม่ไปรักหรือยึดถือสิ่งใดว่าเป็นตัวเรา ของเรา

แต่ในความเป็นจริงนั้น เรื่องการปล่อยวางเพื่อไม่ให้เป็นทุกข์นั้นถูกต้องแล้ว แต่ที่ยังไม่ถูกนั้นก็คือวิธีการปล่อย คือถ้าให้ตัดใจไปเลยนั้นปกติเราจะทำไม่ได้ เพราะจิตมันไม่มีพลังสมาธิเพียงพอที่จะทำได้ หรือถ้าทำได้ก็ต้องใช้สมาธิมาก และถ้าไม่มีปัญญามากำกับ การปล่อยวางก็จะเป็นไปอย่างผิดพลาด ซึ่งก็จะทำให้เกิดปัญหาหรือโทษตามมาอีกภายหลัง ทั้งแก่ร่างกายและจิตใจ รวมทั้งแก่บุคคลในครอบครัว และสังคมประเทศชาติรวมทั้งโลกด้วย อย่างเช่น ถ้าไม่สนใจดูและรักษาร่างกายอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้ร่างกายเจ็บป่วยหรือตายได้ หรือถ้าไม่ดูแลรักษาครอบครัวอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้ครอบครัวเดือดร้อนไม่ปกติสุข หรือถ้าไม่ดูแลรักษาสังคมและประเทศชาติอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้สังคมและประเทศชาติเดือดร้อนวุ่นวายและล่มสลายได้ หรือถ้าไม่ดูแลรักษาสภาพแวดล้อมก็จะทำให้สภาพแวดล้อมเสียหาย เป็นต้น

การที่จะปล่อยวางอย่างถูกต้องนั้น พระพุทธเจ้าจะสอนว่า ต้องมีปัญญาเป็นตัวนำ และมีสมาธิเป็นพลังคอยสนับสนุน โดยมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งในเรื่องสมาธิและศีลนั้นเราก็สามารถที่จะมีกันได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว เพียงเรียนรู้หลักการมีศีลและการฝึกสมาธิอยู่บ้างเท่านั้น แต่ที่สำคัญก็คือเรื่องปัญญา ที่จะต้องมีการฟังจากคนอื่นหรืออ่านจากตำราที่ถูกต้องมาก่อน แล้วนำมาคิดพิจารณาด้วยเหตุผลจนเกิดเป็นปัญญาขั้นความเข้าใจขึ้นมา แล้วนำความเข้าใจนั้นมาทดลองปฏิบัติ จนเกิดผลจริงขึ้นมา จึงจะเกิดเป็นปัญญาขั้นเห็นแจ้งขึ้นมาในที่สุด และเมื่อเกิดปัญญาเห็นแจ้งขึ้นมาแล้ว ก็นำปัญญานี้มาปฏิบัติคู่กับสมาธิโดยมีศีลเป็นพื้นฐาน ก็จะเกิดการปล่อยวางที่ถูกต้องขึ้นมาได้ คือทำให้จิตใจไม่เป็นทุกข์ และไม่เกิดปัญหาหรือโทษใดๆตามมาภายหลังได้

การที่เราเกิดความยึดถือในสิ่งใดนั้นก็เป็นเพราะเรามีความเข้าใจผิด (หรือความเห็นผิด) ว่ามันมีสิ่งนั้นอยู่จริงๆ จึงทำให้เราเกิดความยึดถือในสิ่งนั้นว่าเป็นตัวเรา (คือจิตหรือใจ) และของเรา (คือร่างกาย และทุกสิ่งที่เกี่ยวข้อง เช่น สามีหรือภรรยา ลูก พ่อ แม่ เพื่อน เกียรติยศ ชื่อเสียง และทรัพย์สมบัติ วัตถุสิ่งของ เป็นต้น) ขึ้นมา เมื่อสิ่งที่เราได้ยึดถือไว้นั้นเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เราไม่อยากจะให้เป็น (ไม่พอใจ หรือโกรธ เกลียด กลัว) เช่น ร่างกายแก่ เจ็บ หรือกำลังจะตาย, คนที่รักได้จากไป, ทรัพย์สมบัติพินาศไป, ไม่มีเกียรติยศชื่อเสียง เป็นต้น จึงทำให้จิตที่ยึดถือนั่นเองเกิดความทุกข์ (คือเศร้าโศก เสียใจ คับแค้นใจ แห้งเหี่ยวใจ ไม่สบายใจ เป็นต้น) ขึ้นมา

แต่ถ้าเรามีความเข้าใจอย่างถูกต้องว่า มันไม่ได้มีตัวตนของสิ่งใดจริง (สุญญตา ความว่างจากตัวตนที่แท้จริง) และมีสมาธิรวมทั้งศีลอย่างถูกต้องพร้อมมูล ก็จะทำให้จิตใจ (ที่สมมติเรียก) ของเรานี้ปล่อยวางความยึดถือว่ามีตัวเราและของเราลงได้ เมื่อไม่มีความยึดถือ จิตก็จะไม่มีความทุกข์ เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ มันก็จะสงบเย็นหรือนิพพานได้ (แม้เพียงชั่วคราว) และถ้าสามารถปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่องนานๆ นิพพานก็จะเป็นอย่างถาวร (ตลอดชีวิต) ได้

ส่วนการศึกษาให้เกิดความเข้าใจในความว่างจากตัวตนที่แท้จริง (สุญญตา) ของทุกสิ่งนั้น จะต้องใช้เหตุผลจากสิ่งที่เราสามารถสัมผัส หรือพบเห็นได้จริงในปัจจุบันมาพิจารณา ถึงเหตุและปัจจัย (สิ่งที่มาสนับสนุน) ที่มาปรุงแต่ง (หรือทำหรือสร้างหรือประกอบ) ให้เกิดสิ่งทั้งหลายขึ้นมา ก็จะทำให้เราเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องขึ้นมาว่า สิ่งที่ถูกปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมานั้น มันไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงเลย (อนัตตา) คือมันเป็นเพียงสิ่งที่ถูกปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาเพียงชั่วคราเท่านั้น (อนิจจัง ไม่เที่ยง) และเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ยังต้องทนที่จะประคับประคองการปรุงแต่งของมันเอาไว้ด้วยความยากลำบาก (ทุกขัง) อีกด้วย ซึ่งเมื่อเหตุหรือปัจจัยของมันขาดหายไป สิ่งปรุงแต่งนั้นก็ย่อมที่จะหายตามไปด้วยทันที โดยสิ่งสำคัญที่สุดที่เราจะต้องนำมาพิจารณาถึงความเป็นสุญญตานั้นก็คือ จิต (หรือใจ) ที่ยึดถือว่าเป็นตัวเรานี่เอง ส่วนสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ร่างกาย สามีหรือภรรยา ลูก พ่อ แม่ เพื่อน เกียรติยศ ชื่อเสียง และทรัพย์สมบัติ วัตถุสิ่งของ เป็นต้น ที่ยึดถือว่าเป็นของเรานั้น เป็นสิ่งที่มีความสำคัญรองลงมาที่เราต้องนำมาพิจารณาประกอบด้วย

สรุปได้ว่า การปล่อยวางที่ถูกต้องนั้นจะต้องมีปัญญาเป็นตัวนำ และมีสมาธิเป็นพลัง โดยมีศีลเป็นพื้นฐาน จึงจะทำให้เกิดการปล่อยวางที่ถูกต้อง (คือความทุกข์ใจดับลงได้ และไม่เกิดปัญหาหรือโทษใดๆตามมาในภายหลัง) ขึ้นมาได้ ซึ่งสิ่งสำคัญก็คือปัญญาที่เป็นเข้าใจและเห็นแจ้งว่า แท้จริงมันไม่ได้มีตัวตนของเราหรือของใครๆอยู่จริงเลย (ที่เรียกว่าสุญญตา)  ที่จะเป็นตัวนำศีลและสมาธิ ในการปฏิบัติให้เกิดการปล่อยวางได้อย่างถูกต้องขึ้นมา ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************
Free Web Hosting