เวลาคืออะไร ?

เวลาคืออะไร? นักวิทยาศาสตร์จะมีความคิดกันว่า เวลาจะสิ้นสุดเมื่อไร? รวมทั้งยังคิดว่าเราสามารถจะย้อนเวลากลับไปหาอดีตกันได้ด้วยการใช้เครื่องจักร ซึ่งตามหลักพุทธศาสนาแล้ว เวลาก็คือการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ(อนิจจัง) ถ้าสิ่งใดไม่มีการเปลี่ยนแปลง สิ่งนั้นก็อยู่เหนืออำนาจเวลา แต่ถ้าจะถามว่า “เวลาจะสิ้นสุดเมื่อใด?” ซึ่งผู้ที่ถามเช่นนี้แสดงว่าไม่มีความรู้จริง เพราะเวลาไม่ใช่วัตถุหรือมีลักษณะใดๆ จึงไม่สามารถที่จะสิ้นสุดได้ แต่เมื่อเรามาสมมติเอาการที่ พระอาทิตย์ขึ้นและลงจนกลับขึ้นมาใหม่เป็นเวลา ๒๔ ชั่งโมง และ ๓๐ วันเป็นหนึ่งเดือนอีกทั้ง ๑๒ เดือนเป็นหนึ่งปีจึงทำให้เกิดความรู้สึกว่าเวลามันมีมิติให้กำหนดได้ จึงคิดว่าเวลามันน่าจะหมดลงได้เหมือนสิ่งต่างๆที่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องดับหายไป ไม่ช้าก็เร็ว

ตามหลักพุทธศาสนาแล้ว เวลามีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ เวลาภายนอกและเวลาภายใน ซึ่งเวลาภายนอกก็คือการที่สิ่งต่างๆเกิดขึ้นมาแล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา(ไม่หยุดนิ่ง) ซึ่งก็เท่ากับมันกำลังเดินทางไปสู่ความดับสลายหายไป อย่างแน่นอนนั่นเอง เมื่อมองดังนี้แล้วจะเห็นได้ว่าเวลานั้นมันไม่ได้มีเวลาที่เป็นส่วนกลางอย่างที่เราสมมติกันขึ้นมา สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นมาแล้วมันก็มีเวลาเป็นของมันเอง ไม่ได้รวมหรือเกี่ยวข้องกับเวลาของสิ่งอื่น อย่างเช่นตามธรรมดเวลาของไม้เนื้ออ่อนจะสั้น กว่าเวลาของไม้เนื้อแข็ง เป็นต้น อีกอย่างการจะย้อนเวลานั้นมันเป็นไปไม่ได้ เพราะสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ไม่สามารถที่จะย้อนกลับมาได้ แม้บางทีเราอาจจะทำให้วัตถุที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วย้อนกลับมามีลักษณะเหมือนเดิมได้ แต่นั่นก็คือการที่มันเปลี่ยนแปลง ในลักษณะต่างๆของวัตถุนั้น คือเราไม่สามารถทำวัตถุให้กลับมาเหมือนเดิมได้จริง(เพราะอะตอมเดิมภายในถูกเปลี่ยนแปลงที่ตั้งไปแล้ว)

ส่วนเวลาภายในนั้นก็คือการที่เรามีความรู้สึกต่อเวลา อย่างเช่นขณะเมื่อเรารู้สึกมีความสุขมาก เราจะรู้สึกว่าเวลามันสั้นหรือหมดไปเร็วจริงๆ แต่ขณะเมื่อเรากำลังมีความทุกข์มากนั้นเราจะรู้สึกว่าเวลามันยาวนานมาก หรือผ่านไปช้าจริงๆ ทั้งๆที่เวลาภายนอกมันก็ผ่านไปตามปกติของมัน เป็นต้น ซึ่งนี่แสดงว่าเวลาภายในจิตใจของเรานี้มันขึ้นอยู่กับการปรุงแต่งภายในของจิตเอง ซึ่งทางศาสนาเรียกว่า “ความยึดมั่นถือมั่น” (อุปาทาน) คือเมื่อเรายึดถือว่ามีเรากำลังมีความสุข ก็จะเกิดความรู้สึกว่าเวลามันสั้น แต่เมื่อเรายึดถือว่ามีเรากำลังมีความทุกข์ ก็จะเกิดความรู้สึกว่าเวลามันยาว และถ้าเราไม่มีความยึดถือว่ามีตัวเรา(จิตบริสุทธิ์จากกิเลส) ก็จะไม่มีความรู้สึกว่ามีเวลาเลย (จิตหลุดพ้น)

พุทธศาสนาจะสอนให้เราไม่ประมาท เพราะเวลามันกลืนกินสรรพสิ่งพร้อมทั้งตัวของมันเอง และเมื่อกาลเวลากำลังผ่านไปๆ เราควรพิจารณาตนเองว่าบัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่? เพื่อให้เรามีสติไม่หลงใหลในสิ่งต่างๆของโลกจนลืมความตายหรือ ความพลัดพราก หรือมัวแต่ทำความชั่วอยู่แล้วก็จมลงๆจนไม่สามารถกลับคืนมาทำความดีได้ แล้วความทุกข์อย่างมหันต์ก็รออยู่

กาลเวลาจึงเป็นเครื่องเตือนสติให้เราไม่ประมาท ไม่ทำชั่ว หมั่นทำแต่ความดีให้พร้อม และถ่ายถอนความยึดติดในสิ่งต่างๆ เพราะทุกสิ่งไม่เที่ยงแท้ ยึดถือให้เที่ยงแท้ไม่ได้เลยแม้สักนิด ถ้ามัวแต่ยึดถือหรือยึดติด สุดท้ายก็จะสายไปที่จะคลาย เพราะเมื่อความพลัดพรากหรือความตายก็จะมาถึง ก็จะต้องจากทุกสิ่งไปอย่างแน่นอน ซึ่งนั่นหมายถึงความทุกข์อันมหันต์นั่นเอง.

เตชปญฺโญ ภิกขุ
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)
*********************
Free Web Hosting