ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องสัสสตทิฏฐิ-อุจเฉททิฏฐิ

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า ชีวิตของมนุษย์เรานี้มันมีตัวตน (อัตตา) ที่ไม่รู้จักตายมาสืบต่อเอาไว้ได้เรื่อยไป ซึ่งตัวตนนี้เองที่เวียนว่ายตายเกิดเพื่อรับผลกรรมเก่า (วิบาก) ได้ และถ้าใครมีความเชื่อตรงข้ามว่าไม่มีตัวตนมาเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อรับผลกรรมเก่าเช่นนี้ ก็จะถูกมองว่าเป็นพวกที่มีความเห็นว่าขาดสูญไปทันที

แต่ในความเป็นจริงนั้น คำสอนเรื่องว่าเมื่อตัวเราได้ทำกรรมใดไว้ก่อนตาย แล้วจะต้องมีตัวเราเกิดขึ้นมาใหม่เพื่อมารับผลจากกรรมเก่านั้น ไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า แต่เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ที่ได้ปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้ามาช้านานแล้ว ภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วมานาน โดยที่ชาวพุทธไม่รู้ตัว โดยคำสอนนี้เกิดมาจากความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ที่เชื่อว่า จิตหรือวิญญาณของคนเราและทุกสิ่งที่มีชีวิตนี้เป็นอัตตา (ตัวตนอมตะ) ที่ไม่มีวันดับหาไปอย่างเด็ดขาด เมื่อร่างกายตาย อัตตานี้ก็จะสามารถเกิดขึ้นมาทดแทนอัตตาเก่าได้ โดยศาสนาพราหมณ์จะสอนว่า จิตหรือวิญญาณ นี้จะออกจากร่างกายไปเกิดใหม่ได้โดยตรง จึงได้จัดว่าเป็นพวกที่มีความเห็นว่ามีตัวตนมาสืบต่อเอาไว้เรื่อยไปไม่สูญหายที่เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ

ส่วนชาวพุทธที่รับเอาคำสอนนี้ไม่ได้รับเอามาโดยตรง แต่มาจะประยุกติใหม่ โดยบอกว่าจิตหรือวิญญาณนี้ ไม่ได้ออกจากร่างกายไปเกิดใหม่โดยตรง แต่เป็นว่ากิเลส (หรืออวิชชา หรือตัณหา หรือวิบากกรรม แล้วแต่จะเชื่อกัน) จะถูกส่งออกไปก่อนตาย เพื่อไปสร้างจิตหรือวิญญาณขึ้นมาใหม่แทนจิตหรือวิญญาณเก่า เพื่อมารับผลจากกรรมเก่าที่ได้ทำไว้ก่อนตาย ที่เรียกว่าเป็นการเกิดใหม่โดยอ้อม ซึ่งก็ยังคงมีลักษณะของความเห็นผิดพวกสัสสตทิฏฐิอยู่นั่นเอง

ความเชื่อเรื่องการเกิดใหม่เพื่อมารับผลกรรมเก่านี้ เป็นการสอนให้เกิดความยุติธรรม เพื่อให้คนที่ยากจนหรือเดือดร้อนเกิดความพอใจเพราะคิดว่า คนที่ร่ำรวยนั้นเกิดมาจากเขาได้ทำกรรมดีเอาไว้เมื่อชาติก่อน ดังนั้นชาตินี้เขาจึงร่ำรวย หรือคนที่ทำชั่วจะต้องเกิดมาใหม่เพื่อมารับผลชั่วอย่างสาสม หรือคนที่ทำดีไว้ชาตินี้แต่ยังไม่ร่ำรวยสุขสบาย ก็จะได้เกิดมาใหม่แล้วร่ำรวยสุขสบาย เป็นต้น และเมื่อคนยากจนพอใจในการสอนให้เกิดความยุติธรรมเช่นนี้ เขาก็จะนับถือและทนยอมรับความยากจนและความไม่ยุติธรรมในสังคมโดยไม่คิดจะต่อต้าน ซึ่งก็จะเป็นผลดีแก่ชนชั้นปกครองและคนร่ำรวย ที่จะเอารัดเอาเปรียบคนยากจนต่อไป และผู้สอนก็จะร่ำรวยเพราะคนที่อยากจะร่ำรวยสุขสบายหรือพ้นทุกข์ในชาติหน้า ก็จะเอาทรัพย์สินไปทำบุญ (มอบให้ผู้สอน) อย่างมากมาย เพราะหวังว่าจะได้ร่ำรวยหรือสุขสบายในชาติหน้า แม้ชาตินี้จะยังยากจนหรือเดือดร้อนอยู่ก็ตาม

ผู้ที่มีความเชื่อว่ามีตัวตนสืบต่อเพื่อมารับผลกรรมเช่นนี้ เมื่อมองผู้ที่ไม่เชื่อเรื่องการเกิดใหม่ ก็จะมองว่าเขาเป็นผู้ที่มีความเห็นว่าขาดสูญทันที คือมองว่าเขามีความเชื่อว่าทำดีก็ไม่ได้รับดี ทำชั่วก็ไม่ต้องรับผลชั่วใดๆทั้งสิ้น ที่เรียกว่าพวกขาดสูญ ที่ตรงข้ามกับพวกที่เห็นว่ามีการสืบต่อ ซึ่งพวกที่มีความเห็นว่าขาดสูญนี้เรียกว่า อุจเฉททิฏฐิ ที่เป็นหลักคำสอนของลัทธิบางลัทธิในสมัยพุทธกาล ที่เชื่อว่าการกระทำของเรานี้จะไม่มีผลใดๆเลย ไม่ว่าเมื่อใด ดังนั้นจึงเท่ากับว่า พ่อแม่ไม่มีบุญคุณ ทำดี ไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว เป็นต้น จึงทำให้คนที่เชื่อว่าขาดสูญเช่นนี้มักจะไม่ชอบทำความดีเพราะเชื่อว่าไม่ได้ผลดีใดๆ และมักจะทำความชั่วเพราะเชื่อว่าไม่ต้องรับผลชั่วใดๆ จึงใช้ชีวิตอย่างอิสระตามใจกิเลส จนทำให้ทั้งตัวเองและสังคมเดือดร้อนวุ่นวาย

ส่วนคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านั้น จะไม่สุดโต่งไปในทางมีตัวตนมาสืบต่อเพื่อรับผลกรรมในชาติหน้า และก็ไม่สุดโต่งไปในทางไม่มีตัวตนใดๆมารับผลกรรมเลยอย่างพวกขาดสูญ คือพระพุทธเจ้าจะสอนว่า ชีวิต (คือร่างกายกับจิตใจ) ของเรานี้มันเป็นเพียง สิ่งปรุงแต่ง ที่ธรรมชาติปรุงแต่ง หรือสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นมาเป็นตัวตนเพียงชั่วคราว เท่าที่ร่างกายนี้ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น  แล้วเราก็มาสมมติเรียกกันว่าเป็นตัวตน (ซึ่งความจริงมันไม่มีตัวตนจริง) ซึ่งตัวตนชั่วคราวนี้เมื่อทำกรรมใดๆแล้ว มันจะต้องได้รับผล (วิบาก) อย่างแน่นอน ไม่ใช่ไม่ได้รับผลเลยอย่างพวก“ขาดสูญ” (อุจเฉททิฏฐิ) แต่ผลหรือวิบากนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องไปรับเอาเมื่อตายไปแล้วอย่างพวก“สืบต่อ” (สัสสตทิฏฐิ)

ช่วงเวลาที่ตัวตนชั่วคราวนี้ได้รับผลกรรมนั้นก็คือในทันทีที่ทำกรรมอยู่ หรืออาจจะเมื่อทำกรรมเสร็จแล้วก็ได้ หรืออาจจะในเวลาต่อมาอีกหน่อย (อันนี้เอาแน่ไม่ได้ต้องดูจากจิตของเราเอง) ซึ่งผลนั้นก็คือความรู้สึกจากจิตใต้สำนึกของเรานี่เอง อันได้แก่ เมื่อทำกรรมดี (ความดี) จิตมันก็จะเกิดความสุขใจ หรืออิ่มเอมใจขึ้นมาทันที เพราะจิตใต้สำนึกมันก็รู้อยู่ว่านี่คือสิ่งที่ดี แต่ถ้าทำกรรมชั่ว (ความชั่ว) จิตมันก็จะเกิดความรู้สึกร้อนใจ หรือเสียใจ ไม่สบายใจขึ้นมาทันที เพราะจิตใต้สำนึกมันรู้อยู่ว่านี่คือสิ่งที่ชั่ว ซึ่งนี่คือผลกรรมหรือวิบากกรรมที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ที่เป็นวิทยาศาสตร์ คือ มีเหตุผล พิสูจน์ได้ และไม่มีใครจะคัดค้านด้วยเหตุผลได้ (นอกจากคนพาล) เพราะเราทุกคนก็สามารถรู้สึกหรือสัมผัสได้จริงอยู่ในแล้วขณะที่ยังมีชีวิตอยู่นี้

ส่วนเรื่องภายหลังจากการตายแล้วนั้นพระพุทธเจ้าจะสอนว่า เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาเรื่องการเกิดขึ้นของขันธ์ ๕ (คือร่างกายกับจิตใจ) ให้เข้าใจก่อน แล้วนำความเข้าใจนั้นมาปฏิบัติร่วมกับ ศีล และสมาธิ จนเกิดปัญญาเห็นแจ้งชีวิตขึ้นมา ก็จะเข้าใจได้เองว่าเมื่อร่างกายตายแล้วจิตใจจะเป็นอย่างไร โดยไม่ต้องไปพิสูจน์เพราะเห็นแจ้งเสียแล้วว่า มันไม่มีใครมาเกิด และไม่มีใครตาย ส่วนความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อรับผลกรรมเก่า (รวมทั้งความเชื่อเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า) นั้น เป็นแค่ความเชื่อของคนที่ไม่มีปัญญาเห็นแจ้งชีวิตที่เชื่อกันตามๆกันมาเท่านั้น แต่เมื่อมีคนที่ไม่มีปัญญาเห็นแจ้งชีวิตเชื่อกันมากๆ จึงทำให้ความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อรับผลกรรมเก่านี้ มีความยั่งยืนมั่นคงมาจนทุกวันนี้ และยากมากที่จะเปลี่ยนแปลงความเชื่อของเขามาให้เป็นไปในทางที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงได้

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************
Free Web Hosting