ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องการตั้งคำถาม

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่าพระพุทธเจ้าจะสอนให้เชื่อก่อนแล้วปฏิบัติตามความเชื่อโดยไม่ต้องถาม เมื่อเห็นแจ้งแล้วจะรู้เอง

แต่ในความเป็นจริงนั้นพระพุทธเจ้าจะสอนให้เราตั้งคำถามว่าทำไม? เพื่อว่าจะได้พยายามค้นหาคำตอบเพื่อให้เกิดความเข้าใจก่อน เมื่อเข้าใจแล้วจึงค่อยปฏิบัติทีหลัง ถ้าเชื่อก่อนแล้วปฏิบัติก็จะทำให้งมงายคือปฏิบัติไปด้วยความไม่เข้าใจ เมื่อมีปัญหาหรือไม่ประสบผลสำเร็จก็จะไม่รู้จักวิธีการแก้ปัญหา และก็จะทำให้ท้อถอยหรือปฏิบัติผิดได้ หรืออย่างดีก็จมติดออยู่ในความเชื่อที่ผิดนั้นไปจนตาย

เริ่มต้นนั้นเราก็ต้องฟังหรืออ่านมาจนจำได้ก่อน แล้วจึงนำสิ่งที่จำได้นั้นมาคิดพิจารณาไตร่ตรองด้วยเหตุด้วยผล จนเกิดความเข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วก็ยังต้องนำสิ่งที่เข้าใจนั้นมาทดลองหรือพิสูจน์หาความจริงว่าถูกต้องหรือเป็นจริงหรือไม่ แต่ถ้าไม่เข้าใจก็ต้องตั้งคำถามว่าเพราะอะไร แล้วหาคำตอบให้หายสงสัยก่อนจึงนำมาพิสูจน์ เมื่อพิสูจน์แล้วพบว่าเป็นจริงจึงค่อยปลงใจเชื่อ แต่ถ้าพิสูจน์แล้วพบว่าไม่เป็นจริงก็ให้ละทิ้งเสีย

การตั้งคำถามก็อยู่ในหลักธรรมของนักปราชญ์ (ผู้รอบรู้อย่างเชี่ยวชาญ) อันได้แก่ การฟังหรืออ่าน, การคิดพิจารณา, การตั้งคำถามแล้วสอบถามผู้รู้หรือค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเอง, และการท่องจำหรือจดบันทึก ซึ่งการศึกษาเรื่องการดับทุกข์ของพระพุทธเจ้านี้จำเป็นมากที่ผู้ศึกษาจะต้องมีคุณสมบัติของนักปราชญ์อยู่ด้วย เพราะพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้ใช้ปัญญานำหน้าความเชื่อ ถ้าไม่รู้จักสังเกตหรือไม่รู้จักตั้งคำถาม เพื่อหาคำตอบให้หายสงสัยก็จะไม่เกิดปัญญา เมื่อไม่มีปัญญาก็จะไม่เห็นแจ้งชีวิต เมื่อไม่เห็นแจ้งชีวิตก็จะดับทุกข์ไม่ได้ เพราะหลักการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของพระพุทธเจ้านั้นจะต้องใช้ปัญญา (ความรอบรู้ในสิ่งที่ควรรู้) เป็นตัวนำสมาธิ (จิตที่ตั้งมั่น) โดยมีศีล (ความปกติของจิต) เป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************
Free Web Hosting