ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องการพิจารณาธรรม

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า การเจริญวิปัสสนาหรือการพิจารณาธรรมนั้น คือการคิดพิจารณาไปตามความเชื่อที่เรามีอยู่  หรือคิดตามที่ตำราบันทึกไว้ หรือคิดตามสามัญสำนึกของเราเอง หรือคิดตามที่ครูอาจารย์สอนไว้ เป็นต้น

แต่ในความจริงนั้นการพิจารณาธรรมนี้ เราจะใช้ความเชื่อใดๆไม่ได้ เพราะความเชื่อไม่ใช่ความจริงที่เป็นปัญญาสำหรับนำมาใช้พิจารณาให้เกิดความเห็นแจ้งชีวิต (ภาวณามยปัญญา) ได้ แม้แต่ความเชื่อในความคิดเห็นของตัวเองว่าถูกต้อง หรือแม้ความเชื่อในสามัญสำนึกของเราเองก็ตาม เพราะเราเองก็อาจมีความเห็นที่ผิดอยู่ก่อนแล้วโดยที่ไม่รู้ตัวก็ได้ หรือสามัญสำนึกของเราที่เป็นแค่ความรู้สึกต่ำๆธรรมดาๆที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา มันก็อาจหลอกเราได้ (เช่นหลอกว่ามีตัวเราอยู่จริง ที่จะมีการเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อรับผลกรรมเก่า)

การพิจารณาธรรมที่ถูกต้องนั้น เราจะต้องพิจารณาดูจากจิตของเราเองจริงๆ โดยไม่เชื่อใครแม้แต่ตัวเอง แต่ก่อนการพิจารณาธรรมนี้ (๑) เราก็ต้องศึกษาเรื่องความทุกข์ของจิตใจให้เกิดความเห็นแจ้งก่อน ว่ามันคือความเศร้าโศก ความเสียใจ ความคับแค้นใจ ความเครียด หรือความไม่สบายใจ เป็นต้น ที่เกิดขึ้นมาจากความยึดถือว่าจิต (ตามที่สมมติเรียกว่าเป็นตัวเรา) นี้คือตัวเรา (๒) และก็ยังต้องศึกษาให้มีความเข้าใจในเรื่องพื้นฐานของธรรมชาติก่อน คือเรื่อง สิ่งปรุงแต่ง และสิ่งไม่ปรุงแต่ง (๓) รวมทั้งก็ต้องศึกษาให้เข้าใจเรื่องร่างกายเกิดมาจากธาตุ ๔ มาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ส่วนจิตใจเกิดมาจากวิญญาณ สัญญา เวทนา และสังขาร มาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น เราจึงจะพิจารณาธรรมแล้วเกิดความเห็นแจ้งได้

โดยทุกสิ่งของธรรมชาติ (ทั้งสิ่งที่เป็นวัตถุและจิตใจ) นั้นแยกได้ ๒ ประเภทคือ สิ่งปรุงแต่ง (สังขาร) กับ สิ่งไม่ปรุงแต่ง (วิสังขาร)

สิ่งปรุงแต่งก็คือ สิ่งที่ต้องอาศัยเหตุและปัจจัยมาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น โดยสิ่งปรุงแต่งก็ได้แก่ ทุกสิ่งทั้งที่เป็นวัตถุและจิตใจ ยกเว้นสิ่งไม่ปรุงแต่ง

สิ่งไม่ปรุงแต่งก็คือ สิ่งที่ไม่ต้องมีอะไรมาปรุงแต่งให้มีมัน ซึ่งสิ่งที่ไม่ปรุงแต่งก็มีเพียง ความว่าง กฎของธรรมชาติ ความดับ และนิพพาน (ความสงบเย็นของจิต) นอกนั้นเป็นสิ่งปรุงแต่ง

สิ่งปรุงแต่งจะมีลักษณะหรือความจริง ๓ ประการ ที่เรียกว่า กฎไตรลักษณ์ คือ

๑. ไม่สามารถตั้งอยู่อย่างถาวรได้ คือต้องแตกหรือดับหายไปในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว (อนิจจัง)

๒. ต้องทนที่จะประคับประคองการปรุงแต่งของมันไว้ด้วยความยากลำบาก (ทุกขัง)

๓. ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง หรือไม่มีตัวตนเป็นของตนเอง  (อนัตตา)

จุดที่สำคัญคือ ลักษณะที่เราจะสังเกตว่าสิ่งใดเป็นสิ่งปรุงแต่งหรือเป็นสิ่งไม่ปรุงแต่งก็คือ สิ่งไม่ปรุงแต่งจะไม่มีการเกิด-ดับ ส่วนสิ่งปรุงแต่งจะมีการเกิด-ดับ เพราะสิ่งไม่ปรุงแต่งก็จะเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตลอดเวลา โดยไม่มีการเกิดหรือดับ ส่วนสิ่งปรุงแต่งก็ต้องอาศัยเหตุและปัจจัยมาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ดังนั้นมันจึงต้องมีการเกิดและดับ (อนิจจัง) และไม่มีตัวตนเป็นของตนเอง (อนัตตา) รวมทั้งยังต้องทนอยู่อีกด้วย (ทุกขัง)

เมื่อศึกษาจนเข้าใจเรื่องลักษณะหรือความจริงของ สิ่งปรุงแต่ง และ สิ่งไม่ปรุงแต่ง แล้ว เราก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า สิ่งปรุงแต่งจะไม่มีตัวตนของมันเอง จะมีก็เพียงตัวตนชั่วคราวหรือตัวตนมายา ที่เกิดขึ้นมาจาการปรุงแต่งจากเหตุและปัจจัยเท่านั้น

ที่นี้ก็มาถึงการปฏิบัติหรือการพิจารณาธรรม คือให้เรามาดูจากความเป็นจริงของจิตเราเอง คือ ดูว่า "จิต" คืออะไร? ซึ่งคำตอบก็คือจิตคือ สิ่งที่รับรู้ รู้สึก จำ และคิดหรือปรุงแต่ง สรุปรวมเรียกว่า ความรู้สึกนึกคิด (จุดนี้เรายอมรับหรือไม่?)

เมื่อจิตคือความรู้สึกนึกคิด ดังนั้นเมื่อเกิดความรู้สึกนึกคิด  ก็คือเกิดจิตขึ้นมาและตั้งอยู่  (จุดนี้เรายอมรับหรือไม่?)

แต่เมื่อใดที่ไม่มีความรู้สึกนึกคิด คือเวลาหลับสนิทหรือสลบและไม่ฝัน ก็คือ จิตดับหรือไม่มี  (จุดนี้เรายอมรับหรือไม่?)

เมื่อพบว่า จิตมีการเกิด-ดับ ก็แสดงว่า เมื่อมันเกิดก็เพราะมันมีเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น เมื่อมันดับก็เพราะเหตุหรือปัจจัยของมันได้ดับหายไปก่อน ตามลักษณะหรือความจริงของสิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย (จุดนี้เรายอมรับหรือไม่?)

นี่คือความจริงที่เราสามารถพบหรือสัมผัสหรือรู้ได้ในจิตของเราเอง ที่นี้ปัญหามันก็อยู่ที่ว่า เราจะยอมรับความจริงนี้หรือเปล่า?

ถ้าไม่ยอมรับความจริง ก็จะไม่พบความจริง (เพราะไม่ยอมรับความจริงที่แม้จะเห็นว่าง่ายๆเช่นนี้) แต่ถ้ายอมรับความจริง จึงจะพบความจริง (ที่แม้มันจะขัดแย้งกับความเชื่อของเราที่ว่ามีจิตอยู่ตลอดเวลาทั้งๆที่หลับสนิทอยู่ก็ตาม)

เมื่อเราพบความจริงว่า "จิตมีการเกิด-ดับ" ก็แสดงว่า จิตเป็น "สิ่งปรุงแต่ง"  และสิ่งปรุงแต่งก็จะมีความจริงว่ามันไม่เที่ยง ต้องทน และไม่ใช่ตัวตน (เมื่อมาพิจาณาที่จิตก็เรียกว่าไม่ใช่ตัวเรา) ซึ่งนี่ก็แสดงถึงว่า มันไม่ได้มีตัวเราอยู่จริงในจิตที่รู้สึกว่าเป็นตัวเรานี้ แต่ที่มันเกิดขึ้นมารู้สึกว่ามีตัวเรานี้มันก็เป็นธรรมชาติของมันอย่างนี้เอง (คือมีอวิชชาหรือความรู้ว่ามีตัวเรามาเป็นต้นเหตุปรุงแต่งให้จิตเกิดความรู้สึกว่ามีตัวเราขึ้นมาตามหลักปฏิจจสมุปบาทเท่านั้น)

สุดท้ายเมื่อเรานำเอาความเข้าใจเรื่อง “ไม่มีตัวเราอยู่จริงในจิต” นี้มาเพ่งพิจารณาดูจิต (ที่รู้สึกว่าเป็นตัวเรานี้) อย่างจริงจังและต่อเนื่อง (คือด้วยสมาธิ) จิตมันก็จะเข้าใจและยอมรับความจริงนี้ แล้วมันก็จะปล่อยวางความยึดถือว่าจิตนี้คือตัวเราลงทันที เมื่อจิตไม่มีความยึดถือ มันก็จะไม่มีความทุกข์ เมื่อไม่มีความทุกข์ มันก็สงบเย็นหรือนิพพาน (แม้เพียงชั่วคราว) เมื่อนิพพานปรากฏ ก็จะเห็นธรรม หรือเห็นอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า หรือ มีดวงตาเห็นธรรม ซึ่งนี่คือการพิจารณาธรรมอย่างถูกต้อง จนเกิดความเห็นแจ้งอริสัจ ๔ ด้วยจิตของเราเอง โดยไม่เชื่อตามคนอื่นหรือตามความเห็นหรือสามัญสำนึกของเราเอง

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************
Free Web Hosting