ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องความเชื่อเรื่องการเกิดใหม่

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่ามนุษย์เรานี้ถ้ายังมีกิเลสอยู่แล้วตายไป ก็จะยังมีการเกิดขึ้นมาใหม่เพื่อมารับผลของกรรมเก่าที่ได้ทำไว้ด้วยกิเลสก่อนตาย คือถ้าทำดี ตายไปก็จะได้ขึ้นสวรรค์บนฟ้า แต่ถ้าทำชั่วตายไปก็จะตกนรกใต้ดิน

แต่ความจริงนั้นเราเองก็ไม่ได้พิสูจน์ได้ว่าเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้านั้นจะมีอยู่จริงๆ แต่สาเหตุที่ทำให้เราเชื่อนั้นก็เป็นเพราะสามัญสำนึกของเรามันเกิดความรู้สึกว่าคำสอนอย่างนี้ดี ทำให้คนไม่กล้าทำบาปเพราะกลัวว่าจะตกนรกใต้ดินเมื่อต้องตายไป และอยากทำความดีเพราะอยากขึ้นสวรรค์บนฟ้า คือเพราะคำสอนนี้ทำให้สังคมสงบสุข ไม่เดือดร้อนเราจึงเชื่อ ไม่ได้เชื่อเพราะว่าเราได้พิสูจน์จนเห็นจริงแล้ว แต่ถ้าคำสอนใดที่เราพิจารณาดูแล้วเกิดความรู้สึกว่าจะทำให้สังคมเดือดร้อน เพราะคนจะไม่กลัวการทำบาป และไม่อยากทำความดี อย่างเช่น คำสอนเรื่องอนัตตา สุญญตา ที่เป็นหัวใจของปัญญาของอริยสัจ ๔ ที่บอกว่าไม่มีเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อรับผลกรรมเก่า เราก็จะไม่เชื่อว่าเป็นความจริง ทั้งๆที่เราเองก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิด เพื่อมารับผลกรรมเก่านั้นเป็นความจริงหรือไม่ แต่เราก็เชื่อเพราะสามัญสำนึกของเรามันยอมรับ

คำสอนระดับศีลธรรมของพุทธศาสนานั้น ก็มีทั้งคำสอนที่เป็นของพระพุทธเจ้าแท้ๆกับคำสอนปลอมปนเข้ามา ซึ่งถ้าเป็นคำสอนแท้ๆของพระพุทธเจ้าจะสอนเฉพาะเนื้อหาธรรมะล้วนๆ ไม่มีเรื่องความเชื่อใดๆเข้ามาปะปน แต่ถ้าเป็นคำสอนปลอมปนจะมีเรื่องความเชื่อเข้ามาปะปนอยู่ด้วย อย่างเช่น ความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิด เรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า เป็นต้นนี้ ซึ่งเป็นเรื่องลึกลับไกลตัว ที่ไม่มีใครพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ แต่ก็มีคนเชื่อกันมากมาย เพราะสามัญสำนึกของทุกคนต่างก็ยอมรับ คือต่างคนก็ต่างรู้สึกว่าทำให้สังคมสงบสุข จึงทำให้ความเชื่อนี้ยังคงมีอยู่โนโลกต่อไป โดยที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ และก็ไม่ต้องการพิสูจน์อีกด้วย ซึ่งความเชื่อนี้ก็เป็นเพียงความรู้ระดับศีลธรรมที่เราจะนำมาใช้ปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ตามหลักอริสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าที่เป็นคำสอนระดับสูง (ปรมัตถธรรม) ไม่ได้ เพราะการที่จะดับทุกข์ได้จะต้องใช้ปัญญาเป็นตัวนำศีล และสมาธิ จะใช้ความเชื่อใดๆมาเป็นตัวนำไม่ได้เด็ดขาด เพราะความเชื่อย่อมเจืออยู่ด้วยความงมงายทั้งสิ้นไม่มากก็น้อย จะต้องใช้ปัญญาที่เป็นความเข้าใจและเห็นแจ้งชีวิตและโลก ตามที่เป็นจริงเท่านั้นมาเป็นตัวนำการปฏิบัติ จึงจะดับทุกข์ได้จริง ถ้าใช้ศรัทธาหรือความเชื่อเป็นตัวนำ ก็เท่าเป็นการปฏิบัติไปด้วยความไม่เข้าใจ ไม่เห็นแจ้ง ซึ่งก็ย่อมที่จะทำให้การปฏิบัติผิดเพี้ยนไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อการปฏิบัติผิดเพี้ยน ก็ย่อมที่จะบังเกิดผลที่ผิดเพี้ยนตามมาด้วยเสมอ (คือความทุกข์ไม่ดับลงหรือลดลงจริง) เหมือนคนตาบอดที่เดินตามคนอื่น โดยที่คนเดินตามก็ไม่รู้ว่าคนที่เดินนำนั้นเขาตาดีหรือตาบอด

สรุปว่า สาเหตุที่เราเชื่อเรื่องการเกิดใหม่เพื่อมารับผลกรรมเก่านั้น เป็นเพราะสามัญสำนึกของเรามันรู้สึกว่าคำสอนนี้ดี ทำให้สังคมสงบสุข ไม่ได้เชื่อเพราะว่าเราพิสูจน์ได้แล้วว่ามีจริง และสาเหตุที่เราไม่เชื่อเรื่องการไม่เกิดใหม่เพื่อมารับผลกรรมเก่านั้นเป็นเพราะ สามัญสำนึกของเรามันรู้สึกว่าคำสอนนี้ไม่ดี ทำให้สังคมเดือดร้อนวุ่นวาย ไม่ได้ไม่เชื่อเพราะว่าได้พิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง ดังนั้นเราจึงควรนำเรื่องนี้มาพิจารณาว่า ความเชื่อของเราที่มีอยู่นี้มันประกอบด้วยเหตุผลหรือเปล่า? และมีของจริงมายืนยันหรือเปล่า? หรือมีแต่สามัญสำนึกเท่านั้นมารับรอง ซึ่งสามัญสำนึกนี้มันก็เป็นแค่ความรู้สึกธรรมดาๆของจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาเท่านั้น ดังนั้นเราจะเอาสามัญสำนึกของเรา มาเป็นสิ่งชี้วัดว่าความเชื่อของเรานี้ถูกต้องไม่ได้  นี่เองที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนเอาไว้ว่า อย่าเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะเหตุว่าสามัญสำนึกของเรามันยอมรับ เพราะสามัญสำนึกของเรามันก็อาจหลอกเราได้ จะต้องมีการพิสูจน์จนเกิดผลจริงอย่างแน่ชัดก่อนจึงค่อยปลงใจเชื่อ จึงเป็นเรื่องที่ชาวพุทธควรสนใจนำเรื่องนี้มาพิจารณาและปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและจริงจัง เพื่อให้เกิดความเชื่อที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงกันต่อไป    

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************
Free Web Hosting