ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องบุญ-บาป,กุศล-อกุศล

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า บุญ กับ กุศล นั้นเป็นสิ่งเดียวกัน ส่วน บาป กับ อกุศล นั้นก็เป็นสิ่งเดียวกัน

แต่ในความเป็นจริงนั้นคำเหล่านี้มีความหมายที่ต่างกัน ถ้าไม่เข้าใจความหมายที่ถูกต้องก็จะเกิดการปฏิบัติที่ผิด เมื่อปฏิบัติผิดก็ย่อมที่จะได้รับผลที่ผิด ซึ่งผลที่ผิดย่อมเกิดโทษหรือผลเสียขึ้นมาทันทีไม่มากก็น้อย คือคำว่า บุญ หมายถึง ความบริสุทธิ์ สะอาด หรือหมายถึงความสุขใจที่เกิดมาจากการทำความดี ส่วนคำว่า บาป มีความหมายตรงข้ามกับบุญ คือหมายถึง ความไม่บริสุทธิ์ สิ่งไม่พึงประสงค์ หรือหมายถึงความร้อนใจ ไม่สบายใจที่เกิดมาจากการทำความชั่ว ส่วนคำว่า กุศล หมายถึง ความถูกต้อง คือเป็นการกระทำที่ถูกต้อง หรือไม่ผิด หรือไม่ทำให้เกิดทุกข์ ส่วนคำว่า อกุศล หมายถึง ความไม่ถูกต้อง หรือผิด หรือทำให้เกิดความทุกข์

คำว่า บุญ หมายถึง การทำความดี และมีผลดีเป็นสิ่งตอบแทนในทันทีที่ทำอยู่หรือเมื่อทำเสร็จแล้วก็ได้ ซึ่งผลบุญโดยตรงนั้นก็คือ ความสุขใจอิ่มใจ (ส่วนผลโดยอ้อมนั้นเอาแน่ไม่ได้เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก อันได้แก่ความปกติสุข ความเจริญ ความมั่นคง)  โดยการทำบุญนั้นก็สรุปอยู่ที่ การมีศีลหรือการมีเจตนาที่จะไม่เบียดเบียนชิต และทรัพย์สิน รวมทั้งกามารมณ์ของผู้อื่น การไม่พูดโกหก คำหยาบ ส่อเสียด เละเพ้อเจ้อ และการช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์หรือความเดือดร้อนหรือให้มีความสุขด้วยการให้ทรัพย์ หรือให้ความรู้ หรือให้ธรรมะ หรือให้อภัยบ้าง ให้โอกาสบ้าง รวมทั้งความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ความซื่อสัตย์ ความเสียสละ ความประหยัด เป็นต้น ซึ่งเจตนาของบุญก็คือกิเลสฝ่ายดี คืออยากได้ผลบุญหรืออยากได้ความสุขใจ ความอิ่มเอมใจ จากการทำความดีโดยไม่ได้หวังผลใดๆที่เป็นวัตถุนิยม (คือจากเรื่องกามารมณ์, วัตถุสิ่งของ, เกียรติยศชื่อเสียง) รวมทั้งก็ไม่ได้อยากจะหลุดพ้นจากความทุกข์ด้วย

ส่วนคำว่า บาป หมายถึง การทำความผิดหรือชั่ว และมีผลที่ไม่ดีหรือชั่วเป็นสิ่งตอบแทนในทันทีที่กระทำอยู่หรือเมื่อทำเสร็จแล้วก็ได้ ซึ่งผลบาปโดยตรงนั้นก็คือ ความร้อนใจ หรือความไม่สบายใจ (ส่วนผลโดยอ้อมนั้นเอาแน่ไม่ได้เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก อันได้แก่ความเดือดร้อน ความตกต่ำ ความพินาศ) โดยการทำบาปนั้นก็สรุปอยู่ที่ การไม่มีศีลหรือการมีเจตนาหรือตั้งใจที่เบียดเบียนชีวิต และทรัพย์สิน รวมทั้งกามารมณ์ของผู้อื่น การพูดโกหก คำหยาบคาย คำส่อเสียด คำเพ้อเจ้อ การลุ่มหลงในอบายมุข สิ่งเสพติด สิ่งฟุ่มเฟือย ความไม่กตัญญกตเวที ความเนรคุณ ความเห็นแก่ตัวจัด เป็นต้น ซึ่งเจตนาของบาปก็คือกิเลสฝ่ายชั่ว คืออยากได้หรืออยากอยู่กับความสุขจากสิ่งที่เป็นวัตถุนิยม อันได้แก่กามารมณ์ (เช่นอยากได้เพศตรงข้าม), วัตถุสิ่งของ (เช่นอยากร่ำรวยมีทรัพย์สมบัติมากๆ) และเกียรติยศชื่อเสียง (เช่น อยากมีชื่อเสียง อยากมีอำนาจ อยากเป็นใหญ่) รวมทั้งอยากทำลายหรือหนี (โกรธ เกลียด กลัว เบื่อ) จากสิ่งที่ทำให้เกิดความไม่พอใจ ซึ่งแน่นอนว่าคนที่ทำบาปก็ไม่ได้อยากที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์อีกด้วย

ส่วนคำว่า กุศล หมายถึง ความถูกต้อง ซึ่งคำว่าถูกต้องนี้หมายถึง การกระทำที่ไม่ทำให้เกิดความทุกข์ (ความทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ก็ได้แก่ ความเศร้าโศก ความเสียใจ ความคับแค้นใจ ความแห้งเหี่ยวใจ ความไม่สบายใจ ความเครียด เป็นต้น ที่เกิดขึ้นมาจากความยึดถือว่าจิตใจและร่างกายนี้คือตัวเรา-ของเรา) โดยการกระทำที่เป็นกุศลนั้นก็คล้ายกับการทำบุญ แต่ต่างกันตรงที่การทำบุญนั้นทำเพื่ออยากได้ความสุขใจ (คือทำเพื่อตัวเอง) แต่การทำกุศลนี้ทำไปโดยไม่ได้อยากได้อะไรเลย (ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง) คือไม่ได้อยากได้ความสุข แต่ทำไปตามความถูกต้องของธรรมชาติ (ทำเพื่อธรรม) คือทำเพื่อคืนสิ่งที่ได้หลงผิดยึดถือเอาไว้ว่าเป็นตัวเรา-ของเรานี้ให้แก่ธรรมชาติไป ซึ่งเมื่อคืนทุกสิ่งให้แก่ธรรมชาติไปแล้ว จิตก็ว่างจากความยึดถือว่ามีตัวตนใดๆ เมื่อจิตไม่มีความยึดถือ มันก็สงบเย็น หรือไม่มีความทุกข์ใดๆ (นิพพาน) 

ส่วนคำว่า อกุศล หมายถึง ความไม่ถูกต้อง ซึ่งมีความหมายตรงข้ามกับความถูกต้อง คือเมื่อความถูกต้องก็คือ การกระทำที่ไม่ทำให้เกิดความทุกข์ ดังนั้นอกุศลจึงหมายถึง การกระทำที่ทำให้เกิดความทุกข์ โดยการกระทำที่ไม่ถูกต้องนี้ก็คือการกระทำด้วยกิเลส ไม่ว่าจะเป็นกิเลสฝ่ายดี (คือบุญ) และกิเลสฝ่ายชั่ว (คือบาป) ก็ตาม

สรุปได้ว่า บุญ-บาปนั้นเป็นเรื่องของความยึดติดอยู่ในโลก ยังไม่ทำให้หลุดพ้นจากโลกไปได้ เพราะยังติดอยู่ในความสุขที่เป็นเหยื่อของโลก แม้จะเป็นความสุขที่ดีหรือประณีตอย่างยิ่งก็ตาม ดังนั้นผู้ที่ยังติดอยู่ในโลก จึงยังคงต้องพบกับความทุกข์ที่เกิดจาก ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก และความผิดหวัง เป็นต้นอยู่ต่อไป โดยการกระทำที่ยังติดอยู่ในโลกและความทุกข์นี้ จัดว่าเป็นอกุศลหรือการกระทำที่ไม่ถูกต้อง  เพราะยังทำให้เกิดความทุกข์อยู่ ส่วนผู้ที่เบื่อหน่ายความสุขของโลกแล้ว เพราะเห็นโทษ (คือความทุกข์) ของมัน ก็หันมาหากุศลหรือความถูกต้อง คือพยายามปฏิบัติเพื่อคืนสิ่งที่ได้โง่ยึดถือว่าเป็นตัวตน-ของตนเอาไว้ให้แก่ธรรมชาติไป และเมื่อได้คืนสิ่งที่ได้ยึดถือเอาไว้แล้ว จิตก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายไปได้ ซึ่งสิ่งที่เป็นกุศลหรือถูกต้องนี้ก็ได้แก่อริยมรรค หรือหนทางอันประเสริฐของอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้านั่นเอง

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************
Free Web Hosting