ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

   เรื่องความยึดมั่นถือมั่น

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) อุปาทาน ที่แปลว่า ความยึดมั่นถือมั่น ก็คืออาการที่จิตไปยึดถือทั้งจิตใจและร่างกายรวมกันว่าเป็น “ตัวตน หรือ ตัวเรา” และไปยึดถือสิ่งที่เกี่ยวของ เช่น สามีหรือภรรยา พ่อ แม่ ลูก ทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง เป็นต้นว่าเป็น “ของตน หรือ ของเรา”

แต่ในความเป็นจริงนั้น อุปาทาน ที่แปลว่า ความยึดมั่น หรือความยึดถือ นี้ เป็นอาการที่จิตมายึดถือตัวจิตเองว่าเป็นตัวตนหรือตัวเรา (คือมายึดถือว่าเป็นอัตตาทั้งที่อัตตาไม่ได้มีอยู่จริง) แล้วไปยึดถือทั้งร่างกายและสิ่งที่เกี่ยวข้องว่าเป็นของตนหรือของเรา ซึ่งความยึดถือนี้ก็คืออาการที่จิตของเราไปแบกไปหามเอาสิ่งต่างๆไว้ด้วยความพอใจ คือไปแบกเอาจิตไว้ด้วยความพอใจว่านี่คือตัวเรา และแบกเอาร่างกายและสิ่งที่เกี่ยวข้องว่าเป็นของเรา เช่น ลูกของเรา สามีหรือภารยาของเรา พ่อแม่ของเรา ทรัพย์สมบัติหรือสิ่งของของเรา เป็นต้น ซึ่งความยึดถือนี้เองที่ทำให้จิตเกิดความทุกข์ เช่น เมื่อคนที่รักได้จากไป หรือทรัพย์สมบัติได้พินาศไป หรือร่างกายของเราแก่ เจ็บ หรือกำลังจะตาย เป็นต้น จิตที่ยึดถือนี้ก็จะเกิดความเศร้าโศกหรือเสียใจ หรือแห้งเหี่ยวใจ หรือตรอมใจ หรือเครียด หรือไม่สบายใจ เป็นต้น ที่เรียกว่า ความทุกข์ ขึ้นมาทันที

สิ่งทั้งหลายของธรรมชาติมันก็เป็นธรรมดาของมันอยู่อย่างนั้น คือมันก็มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยไปหยุด มีการเกิดขึ้น มีการแตก (ใช้กับวัตถุ) หรือดับ (ใช้กับจิต) อยู่ตลอดเวลา (ที่เรียกว่าอนิจจัง) ถ้าจิตไปยึดถือเอาสิ่งที่เป็นอนิจจังนี้ไว้ด้วยความพอใจ เมื่อสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไป หรือแตกดับสูญหายไป เช่น ลูกรักหรือคนที่รักได้ตายจากไป หรือร่างกายของเราเกิดโรคร้ายหรือพิการ หรือทรัพย์สินเสียหาย เป็นต้น จิตที่ยึดถือนี้ก็ย่อมที่จะเกิดความเศร้าโศก หรือเสียใจอย่างรุนแรงที่เรียกว่าความทุกข์ขึ้นมาทันที

ทำอย่างไรจิตใจจึงจะไม่มีความยึดมั่น? เราอาจจะคิดว่าความยึดมั่นนี้มันเป็นธรรมชาติที่เราไม่สามารถควบคุมหรือทำให้มันไม่มีหรือดับหายไปได้  แต่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนวิธีการไม่ให้จิตเกิดความยึดมั่นเอาไว้แล้ว โดยเริ่มต้นจะสอนให้เกิดปัญญาที่เป็นความเข้าใจอย่างถูกต้อง (มีสัมมาทิฏฐิ) ก่อนว่า ร่างกายและสิ่งทั้งหลายที่เกี่ยวข้องที่สมมติเรียกกันว่าเป็นของเรานี้ แท้จริงมันไม่ได้มีอยู่จริง เพราะมันเป็นแค่เพียงธาตุ ๔ (คือของแข็ง ของเหลว ความร้อน และก๊าซ) ที่มาประชุมกันขึ้นมาเป็นตัวตนเพียงชั่วคราวเท่านั้น (จึงเรียกว่าเป็นตัวตนชั่วคราวหรือตัวตนมายา) และแม้จิตใจที่รู้สึกว่าเป็นตัวเรานี้ มันก็ไม่ต่างอะไรกับร่างกาย คือเป็นเพียงสิ่งที่ถูกปรุงแต่ง (หรือสร้างหรือประกอบ) ขึ้นมาจาก วิญญาณ (การรับรู้) สัญญา (การจำได้) เวทนา (ความรู้สึก) และสังขาร (การปรุงแต่งของจิต) เท่านั้น เมื่อสิ่งที่มาประกอบนี้ดับหายไป จิตใจที่รู้สึกว่าเป็นตัวเรานี้ก็ย่อมที่จะดับหายตามไปด้วยทันที คือเมื่อร่างกายตาย วิญญาณที่อาศัยร่างกายเกิดขึ้นมาก็จะดับหายไป จิตก็จะดับหายตามไปด้วยทันที

เมื่อเราเข้าใจแล้วว่า “ร่างกายรวมทั้งสิ่งที่เกี่ยวข้องและจิตใจ ล้วนไม่ได้มีตัวตนของมันเองจริงๆ เพราะมันเป็นเพียง “สิ่งที่ถูกปรุงแต่ง” ให้เกิดเป็นตัวตนขึ้นมาชั่วคราวเท่านั้น ถ้าจิตใดไปยึดถือเข้า เมื่อถึงเวลาที่มันต้องเปลี่ยนแปลงไป หรือแตกดับไปตามธรรมชาติของมัน จิตที่ยึดถือนี้ก็เกิดความทุกข์” จึงทำให้เรามีความเข้าใจที่ถูกต้องขึ้นมาว่า ความทุกข์ของจิตใจนี้เกิดมาจากความยึดถือ เมื่อไม่ยึดถือความทุกข์ก็จะไม่เกิด

ส่วนวิธีการที่จะทำไม่ให้ความยึดถือเกิดขึ้นมานั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนให้เราปัญญา ศีล และสมาธิมาทำงานร่วมกัน โดยมีปัญญาเป็นตัวนำ ซึ่งศีลนี้ก็สรุปอยู่ที่การที่เรามีเจตนาหรือตั้งใจว่าจะไม่เบียดเบียนชีวิต ทรัพย์สิน และกามารมณ์ของผู้อื่น รวมทั้งมีเจตนาที่จะไม่พูดโกหก คำหยาบ ส่อเสียด และเพ้อเจ้อ ซึ่งเพียงเท่านี้เราก็มีศีลแล้วอย่างสมบูรณ์โดยไม่ต้องไปขอจากใคร ส่วนสมาธินั้นเราเพียงมีความตั้งใจในการคิด พูด และกระทำทางกาย อย่างแน่วแน่ (คือไม่มีความพอใจ ไม่พอใจ ลังแลใจ ฟุ้งซ่าน ห่อเหี่ยว) เท่านี้เราก็มีสมาธิแล้วโดยที่ไม่ต้องไปฝึกที่ไหน ส่วนปัญญานั้นเราก็ต้องมาศึกษาเรื่องความว่าง (สุญญตา) ให้เข้าใจก่อน จึงจะเกิดปัญญาขึ้นมาได้อย่างแท้จริง    

 จากการที่เราได้ศึกษามาแล้วว่า ร่างกายและวัตถุทั้งหลายเป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งหรือสร้างมาจากธาตุ ๔ ดังนั้นร่างกายและวัตถุทั้งหลายจึงว่างจากตัวตนที่แท้จริงของมันเอง ส่วนจิตใจก็เป็นสิ่งที่ปรุงแต่งหรือประกอบขึ้นมาเหมือนกับร่างกาย ดังนั้นจึงเท่ากับว่ามันไม่ได้มีตัวเราจริงๆอยู่ในจิตใจนี้ (ส่วนการที่จิตมันรู้สึกว่ามีตัวเรานี้ ก็เป็นเพียงสัญชาติญาณ หรือความรู้ที่ธรรมชาติให้มา เพื่อให้จิตทั้งหลายรู้สึกว่ามีตัวเองเท่านั้น ส่วนเรื่องที่เมื่อร่างกายตายแล้ว แต่ถ้าจิตยังมีกิเลสอยู่ก็จะยังทำให้มีการเกิดจิตที่เป็นตัวเราขึ้นมาได้ใหม่นั้น ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า แต่เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ที่ปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนามาช้านานแล้วโดยที่ชาวพุทธไม่รู้ตัวเท่านั้น)

เมื่อเราเกิดความเข้าใจเรื่องทุกสิ่งว่างจากตัวตนของมันเองแล้ว เราก็นำความเข้าใจนี้มาเพ่ง (ด้วยสมาธิ) ดูสิ่งทั้งหลาย (โดยเฉพาะจิตใจและร่างกายที่สมมติเรียกว่าเป็นตัวเรา-ของเรานี้) ถึงเหตุและปัจจัยที่มีอยู่จริง (เหตุย่อยๆ หรือสิ่งที่มาสนับสนุนเหตุ) ที่มาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา, ดูถึงความจริงที่ว่ามันไม่เที่ยง คือกำลังเปลี่ยนแปลงและแตกหรือดับไป (อนิจจัง),  ดูถึงความจริงที่ว่ามันมีสภาวะที่ต้องทนอยู่เสมอ (ทุกขัง), ดูถึงความจริงที่ว่ามันไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง (อนัตตา), และดูถึงความจริงที่ว่ามันว่างจากตัวตนที่แท้จริง (สุญญตา) อยู่อย่างตั้งใจและต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อเราได้ปฏิบัติเช่นนี้ได้อย่างถูกต้อง ก็จะทำให้จิตมันยอมรับความจริงว่า “มันไม่มีตัวเรา-ของเราหรือตัวตนของใครๆอย่างแท้จริงเลย” แล้วจิตมันก็จะเกิดนิพพานทา (คือเบื่อหน่ายทั้งสิ่งที่ให้ความสุขและสิ่งที่ให้ความทุกข์) แล้วมันก็จะคลายความยินดีหรือพอใจในสิ่งทั้งหลายของโลก โดยเฉพาะในร่างกายและจิตใจของตนเองลง และเมื่อมันคลายความพอใจแล้ว ความยึดถือว่าจิตใจและร่างกายรวมทั้งสิ่งที่เกี่ยวข้องว่าเป็นตัวเรา-ของเรา ก็จะดับลงทันที (แม้เพียงชั่วคราว) เมื่อความยึดถือดับลง ความทุกข์ที่เกิดขึ้นมาเพราะความยึดถือก็จะดับลงตามไปด้วย (หรือที่ยังไม่เกิดก็จะไม่เกิดขึ้น) เมื่อความทุกข์ไม่มี จิตมันก็จะกลับคืนสู่สภาพเดิมแท้ของมัน (ที่เรียกว่าประภัสสร) คือสงบ เย็น สดชื่น ปลอดโปร่ง แจ่มใส เบาสบาย หรือที่เราสมมติเรียกกันว่านิพพานนั่นเอง    

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************
Free Web Hosting