ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องพระพุทธเจ้าสอนอะไร?

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า พระพุทธจ้าสอนเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกาย เพื่อรับผลกรรมที่ได้ทำเอาไว้ตั้งแต่ชาติปางก่อน ซึ่งเมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องมาพบกับความทุกข์จากความแก่ เจ็บ ตาย ของร่างกาย แต่ถ้าได้ปฏิบัติธรรมตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าจนหลุดพ้นแล้วอย่างถาวร ก็ไม่ต้องมาเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกายให้เป็นทุกข์อีกอย่างถาวร ที่เรียกว่า นิพพาน คือหมดทุกข์ เพราะดับสูญไปเลย (แต่บางคนก็เชื่อว่าไม่ดับสูญ แต่มีตัวตนไปอยู่ในดินแดนพระนิพพานที่มีแต่ความสุข ไม่มีความทุกข์อยู่ชั่วนิรันดร) ดังนั้นถ้ามีใครมาสอนว่าไม่มีการเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกาย ก็จะถูกถามว่า แล้วจะปฏิบัติธรรมกันไปทำไม่เพราะไม่ต้องเกิดมาเป็นทุกข์อีกแล้ว?

แต่ในความเป็นจริงนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเรื่องการเกิดร่างกายขึ้นมาแล้วเป็นทุกข์ และการไม่เกิดร่างกายขึ้นมาแล้วจะนิพพานหรือไม่เป็นทุกข์อย่างถาวร แต่สอนว่า การที่ร่างกายเกิดขึ้นมานี้มันยังไม่ใช่ความทุกข์ที่ร้ายแรง จนกว่าจิตใจของเราจะไปถือเอาร่างกายที่แก่ เจ็บ จะตาย นั้นว่าเป็นตัวเราแก่ ตัวเราเจ็บ ตัวเราจะตาย จิตใจของเราจึงจะเป็นทุกข์ แต่ถ้าจิตไม่ไปยึดถือว่ามีตัวเราแก่ เจ็บ จะตาย จิตก็จะไม่เป็นทุกข์ เมื่อจิตไม่มีทุกข์ มันก็สงบเย็น หรือที่สมมติเรียกว่า นิพพาน (แม้เพียงชั่วคราว) ส่วนคำสอนเรื่องการเกิดร่างกายขึ้นมาแล้วทำให้เป็นทุกข์นั้น เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ที่ปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนระดับศีลธรรมของพุทธศาสนามาช้านานแล้ว โดยชาวพุทธเกือบทั้งหมดไม่รู้ตัว

ความทุกข์นั้นมี ๒ อย่าง คือความทุกข์ของร่างกาย กับ ความทุกข์ของจิตใจ โดยความทุกข์ของร่างกายนั้นก็ได้แก่ ความเจ็บปวด ความเหนื่อย ความเมื่อยล้า ความคัน ความแสบ เป็นต้น ที่เป็นความทรมานหรือความรู้สึกที่ทนได้ยาก ที่เกิดขึ้นกับร่างกายโดยตรง ส่วนความทุกข์ของจิตใจนั้นเป็นความรู้สึกทรมาน หรือทนได้ยากที่เกิดขึ้นกับจิตใจโดยตรง ที่เกิดขึ้นมาจากการปรุงแต่งหรือจินตนาการขึ้นมาของจิตเองด้วยความรู้ (ผิด) ว่ามีตัวเรา (อวิชชา หมายถึง ความรู้ว่ามีตัวเรา) ซึ่งความทุกข์ที่เกิดขึ้นมาเพราะอวิชชานี้ก็ได้แก่ ความเศร้าโศก ความเสียใจ ความแห้งเหี่ยวท้อแท้ใจ ความคับแค้นใจ ความอึดอัดขัดเคืองใจ ความหนักเหนื่อยใจ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ความไม่สบายใจ เป็นต้น โดยอวิชชาจะกระตุ้นหรือครอบงำจิต แล้วทำให้จิตเกิดความยึดมั่นว่าร่างกายและจิตใจของเรา (ตามที่สมมติเรียก) นี้เป็นตัวตนของเราจริงๆ (อัตตา แปลว่า ตัวตน หรือ ตนเอง หรือ ตัวเรา) ซึ่งเมื่อร่างกายนี้กำลังประสบกับภาวะที่ไม่น่ายินดี เช่น แก่ เจ็บ ป่วย กำลังจะตาย หรือคนที่รักได้จากไป หรือต้องประสบกับคนที่ไม่รัก หรือกำลังผิดหวังอยู่ เป็นต้น จึงทำให้จิตที่ยึดถือนี้เกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที

ความทุกข์ของร่างกายนั้น ใครๆที่พอจะมีความรู้ด้านร่างกายอยู่บ้าง ก็สามารถที่จะแก้ไขหรือบรรเทาให้ลดน้อยลงหรือไม่มีได้อยู่แล้ว แต่ความทุกข์ของจิตใจที่เกิดจากอวิชชานี้ เป็นความทุกข์ที่สำคัญหรือรุนแรงที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคน และจัดเป็นปัญหาที่ใหญ่หลวงที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคน ซึ่งคนธรรมดาจะไม่สามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ของจิตใจนี้ได้ แม้จะมีความรู้ทางโลกอย่างมากมายสักเท่าใดตาม จะต้องใช้ความรู้ระดับสูงหรือเหนือธรรมดา ของพระพุทธเจ้าเท่านั้นจึงจะดับหรือทำให้หลุดพ้นได้อย่างแท้จริง

สรุปได้ว่า ความทุกข์ของจิตใจที่เกิดขึ้นมาจากอวิชชานี้ เป็นปัญหาที่ใหญ่หลวงที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคน และการที่พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นมาในโลก ก็เพื่อมาสอนวิธีการแก้ปัญหาใหญ่หลวงนี้ โดยทรงสอนให้เราใช้ปัญญาที่เข้าใจและเห็นแจ้งชีวิตตามหลักวิยาศาสตร์ (คือมีเหตุผลและพิสูจน์ได้จริง และไม่ใช้ความเชื่อใดๆมาศึกษา) มาทำงานคู่กับสมาธิ (จิตที่บริสุทธิ์ ตั้งมั่น อ่อนโยน) โดยมีศีลธรรมเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว ในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ (หรือพ้นทุกข์) ของจิตใจในปัจจุบัน ที่เรียกว่าหลักอริยสัจ ๔ นั่นเอง

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************
Free Web Hosting