ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องสาเหตุที่ทำให้ประเทศชาติไม่พัฒนา

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่าสาเหตุที่ทำให้ประเทศชาติไม่พัฒนาก็เพราะเป็นเรื่องของเวรกรรม ตามความเชื่อเรื่องกรรมที่ว่า เมื่อเราทำกรรมใดไว้ในชาตินี้ เราย่อมจะต้องได้รับผลแห่งกรรมนั้นในนั้นชาติหน้า ดังนั้นทุกสิ่งที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตของเราทุกคนในสังคมปัจจุบัน จึงเกิดมาจากกรรมเก่าของเราที่ได้เคยทำไว้เมื่อชาติก่อนตามมาให้ผล อย่างเช่น คนที่เกิดร่ำรวยสุขสบาย ก็เป็นเพราะเขาได้เคยทำบุญให้ทานไว้มาก คนที่เกิดมามีความรู้ ก็เพราะเขาได้เคยทำบุญถวายหนังสือแก่พระเอาไว้ คนที่เกิดมายากจนก็เพราะเขาไม่เคยทำบุญให้ทานมาก่อน คนที่เกิดมาโง่เขลาก็เพราะเขาไม่ได้เคยทำบุญถวายหนังสือพระเอาไว้ก่อน คนที่เดือดร้อนในเรื่องใด ก็เป็นเพราะว่าเขาได้เคยสร้างความเดือดร้อนเช่นนั้นให้แก่คนอื่นเอาไว้เมื่อชาติก่อน รวมทั้งเชื่อว่าสาเหตุที่ประเทศชาติไม่พัฒนาก็เป็นเพราะผู้คนส่วนใหญ่ไม่ได้ทำบุญให้ทานเอาไว้เมื่อชาติก่อน เป็นต้น ซึ่งผู้คนที่เชื่อเรื่องกรรมจากชาติก่อนส่วนมากก็จะเชื่อกันเช่นนี้ โดยเชื่อว่านี่คือคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า

แต่ในความเป็นจริงนั้น สาเหตุที่ทำให้ประเทศชาติไม่พัฒนานั้นเป็นเพราะขาดปัญญา ที่เป็นความรอบรู้ในสิ่งที่ควรจะรู้ ซึ่งปัญญานี้จะตรงข้ามกับความไม่รู้สิ่งที่ควรจะรู้ (หรือเรียกอย่างหยาบๆว่า ความโง่) สรุปคือเพราะผู้คนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ ในสิ่งที่ควรรู้ จึงทำให้ประเทศชาติไม่พัฒนา  (ส่วนความเชื่อเรื่องกรรมจากชาติก่อนนั้น แท้จริงไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า แต่เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ที่ปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนามาช้านานแล้ว ภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วไม่นานโดยที่ชาวพุทธไม่รู้ตัว)

แล้วอะไรคือสิ่งที่ควรรู้? และอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญญา? ซึ่งสิ่งที่ควรรู้สำหรับการนำมาพัฒนาประเทศชาตินั้นมีมากมาย ซึ่งสรุปได้ ๒ อย่างคือ ความรู้ทางโลก และ ทางธรรมะ โดยความรู้ทางโลกที่ควรรู้นั้นก็ได้แก่เรื่องการทำมาหากิน เรื่องกฎหมาย เรื่องการดูและสุขภาพกายและจิต เรื่องวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เรื่องสังคม เรื่องสภาพแวดล้อม เรื่องระบบนิเวศน์วิทยา เรื่องสภาพอากาศ เรื่องการดูแลและรักษาธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ แม่น้ำลำคลอง ทะเล เรื่องการดูแลเละรักษาบ้านเรือนและสิ่งของเครื่องใช้ เรื่องการเลี้ยงลูก เรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และเรื่องวิธีการเอาตัวรอดในสังคมที่เลวร้าย เป็นต้น ซึ่งความรู้ทางโลกนี้เป็นเรื่องที่ทางรัฐบาลและสังคมจะต้องพยายามปลูกฝังหรือส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดขึ้นแก่ผู้คนในสังคมให้มาก โดยเริ่มจากเด็กให้ได้รับการเรียนรู้ที่โรงเรียนอย่างจริงจัง และให้แก่ผู้ใหญ่ให้ได้เรียนรู้จากสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต วิทยุ หนังสือพิมพ์ และวารสารต่างๆ เป็นต้น รวมทั้งจัดให้มีการบรรยายแก่หมู่คณะอีกด้วย

ส่วนความรู้ทางธรรมที่ควรรู้นั้นก็มี ๒ ระดับ คือระดับพื้นฐานหรือศีลธรรม กับระดับสูงคือระดับปรมัตถธรรม ซึ่งศีลธรรมนั้นก็คือความรู้เรื่องการใช้ชีวิตเพื่อให้ชีวิตมีความปกติสุข เช่นเรื่องการรู้จักปฏิบัติตัวต่อคนรอบข้าง (ทิศ ๖) เรื่องการละเว้นสิ่งที่ผิดหรือชั่วที่จะนำความเดือดร้อนมาให้ภายหลัง (ศีล ๕ อบายมุข) เรื่องการใช้จ่ายอย่างประหยัด เรื่องความขยันอดทน ให้อภัย เรื่องการช่วยเหลือคนอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน เรื่องความสามัคคี เรื่องความกตัญญูกตเวที เรื่องความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นต้น

ส่วนความรู้ระดับสูงนั้นก็คือความรู้เรื่องชีวิต เช่น ชีวิตเกิดมาได้อย่างไร? เกิดมาทำไม? อะไรคือสิ่งสูงสุดที่ชีวิตควรได้รับ? และจะได้รับโดยวิธีใด? เป็นต้น สรุปก็คือเป็นความรู้ที่จะช่วยให้ชีวิตของเรามีความทุกข์น้อยลงจนถึงไม่มีเลย และได้รับสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์อย่างสูงสุดแก่ชีวิต ซึ่งความรู้นี้เรียกว่า วิชชา ที่หมายถึง ปัญญาสูงสุด เพราะเป็นความรู้ที่เป็นรากฐานของความรู้อื่นๆ ถ้าเรามีวิชชาก็จะทำให้มีปัญญาทั้งทางโลกและทางธรรมได้อย่างถูกต้อง อันจะทำให้ประเทศพัฒนาถ้าประชาชนมีวิชชากันมากๆ

วิธีการที่จะสร้างวิชชาหรือปัญญาสูงสุดนี้ จะไม่ใช้ความเชื่อ แต่จะใช้เหตุผลและความจริงเท่านั้นมาสร้าง เพราะความเชื่อนั้นเกิดขึ้นเพราะเรายังไม่เข้าใจและเห็นแจ้งความจริง แต่มีคนอื่นบอกมาหรือมีตำราบอกไว้ แล้วเราก็มั่นใจว่าจะเป็นจริงตามที่คนอื่นบอกมาหรือตามที่ตำราบอกเท่านั้น ดังนั้นความเชื่อจึงไม่มีเหตุผลมาอธิบายและไม่มีความจริงมารองรับ จนกว่าเราจะได้พิสูจน์ความเชื่อนั้น จนเกิดความเห็นแจ้งหรือรู้จริงขึ้นมาเสียก่อนอย่างแน่ชัด ความเชื่อนั้นจึงจะเป็นความจริงสำหรับเรา โดยในความจริงนั่นเอง ย่อมที่จะมีเหตุผลของมันให้เราสัมผัสได้อยู่แล้ว แต่เราจะเอาความเชื่อมาเป็นเหตุผลในการอธิบายถึงความจริง ที่เรายังไม่สามารถสัมผัสมันได้นั้นไม่ได้ เพราะมันเท่ากับเป็นการคาดเดาหรืออ้างตำราหรืออ้างคนอื่น เพื่อมารับรองว่าเป็นความจริงเท่านั้น ดังนั้นความเชื่อจึงไม่ใช่ปัญญา โดยปัญญาเป็นเหมือนดวงตาที่มองเห็นได้ดี ส่วนความเชื่อเป็นเหมือนดวงตาที่บอด คนที่มีความเชื่อในสิ่งใด ก็เหมือนตาบอดในสิ่งนั้น แล้วก็ถูกคนอื่นที่เราก็ไม่รู้เขาจะตาดีหรือตาบอด มาจูงเราไปหาความจริง ถ้าบังเอิญโชคดีที่คนมาจูงเรานั้นเป็นคนตาดี เราก็โชคดีไป แต่ถ้าบังเอิญคนที่มาจูงเรานั้นเป็นคนตาบอดเหมือนกับเรา แต่เขาหลอกเราว่าเขาเป็นคนตาดี  เราก็จะโชคร้าย

ปัจจุบันการพัฒนาประเทศของเรานั้น เราจะใช้กันแต่ความเชื่อ อย่างเช่น เชื่อว่าคนที่มาให้เงินเราหรือช่วยเหลือเราเวลาที่เขาต้องการการสนับสนุน (คะแนนเสียง) จากเรานั้นจะเป็นคนดี ดังนั้นเราจึงเลือกเขา และเราก็ไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วเขาเป็นคนดีจริงหรือเปล่า? ถ้าเขาเป็นคนดีและไม่เห็นแก่ตัว เราก็โชคดีไป แต่ถ้าเขาเป็นคนคดโกงหรือเห็นแก่ตัว เราก็โชคร้ายไป สรุปว่า เราเอาเรื่องโชคมาเป็นเครื่องพัฒนาประเทศ ถ้าโชคดีประเทศก็พัฒนาหรือเจริญ แต่ถ้าโชคร้าย ประเทศชาติก็เดือดร้อนหรือล่มจม

สาเหตุที่เราใช้ความเชื่อนั้น ก็เพราะเราไม่มีความรู้และความเข้าใจในเรื่องที่ควรรู้ ดังนั้นเราก็ต้องพยายามแสวงหาความรู้และความเข้าใจในเรื่องที่ควรรู้ ซึ่งก็มีทั้งความรู้ทางโลกและความรู้ทางธรรม เพื่อให้มีปัญญาสำหรับนำมาใช้พัฒนาประเทศ โดยขั้นแรกเราก็ต้องฟังหรืออ่านให้มากจนจำได้ก่อน ที่เรียกว่า สุตมยปัญญา เมื่อจำได้แล้วก็ต้องนำเรื่องที่จำได้นั้นมาคิดพิจารณาไตร่ตรองหาเหตุหาผล จนเกิดเป็นความเข้าใจขึ้นมา ที่เรียกว่า จินตามยปัญญา แต่ถ้ายังไม่เข้าใจหรือสงสัยในเรื่องใด เราก็ต้องพยามสอบถามคนที่เขารู้แล้วหรือเข้าใจแล้ว เพื่อให้หายสงสัยหรือเพื่อให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง และเมื่อเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งแล้ว ก็ยังต้องนำเรื่องที่เข้าใจแล้วนั้นมาทดลองปฏิบัติหรือพิสูจน์ เพื่อค้นหาความจริงว่ามันจริงหรือไม่ ถ้าพิสูจน์แล้วพบว่าเป็นความจริงตามที่เราเข้าใจ เราจึงจะเชื่อและนำความเข้าใจนั้นมาปฏิบัติหรือยอมรับ ซึ่งนี่ก็คือปัญญาสูงสุดที่เรียกว่า ภาวณามยปัญญา แต่ถ้าพิสูจน์แล้วพบว่าไม่เป็นความจริง เราก็ทิ้งไป (คืออย่าเชื่อหรือไม่ยอมรับ) ซึ่งนี่คือวิธีการสร้างปัญญาตามหลักพุทธศาสนา แต่บางเรื่องที่ไกลตัวหรือนอกตัวเรา ที่เราไม่สามารถพิสูจน์ให้พบความจริงได้ เราก็ไม่ต้องพิสูจน์ แต่เราจะใช้เหตุผลตรงๆหรือเหตุผลแวดล้อมมาพิจารณาแทน ซึ่งแม้มันอาจจะไม่สามารถทำให้แน่ใจว่าจะถูกต้องหรือเป็นความจริงได้จริงๆ แต่มันก็ยังดีกว่าการใช้โชคช่วยอย่างความเชื่อ  

สรุปได้ว่า การพัฒนาประเทศนั้นจะต้องใช้ปัญญามาพัฒนา โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้คนมีปัญญาในทุกๆด้านอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และต้องขจัดอุปสรรคที่ทำให้ประเทศไม่พัฒนาด้วย อย่างเช่น อบายมุข สิ่งเสพติด และความฟุ่มเฟือย รวมทั้งอุปสรรคที่สำคัญคือความเชื่อที่ไม่มีเหตุผล ไม่มีประโยชน์แก่ชีวิต จึงจะทำให้ประเทศชาติพัฒนาได้ แต่ถ้ายังขจัดหรือทำให้ความเชื่อนี้น้อยลงหรือหมดสิ้นไปไม่ได้ ก็ยากที่ประเทศชาติจะพัฒนาได้ เพราะผู้คนในสังคมยังโง่งมงายไร้เหตุผลกันอยู่ แล้วจะพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าไปได้อย่างไร อย่างเช่นเรื่องง่ายๆคือความเชื่อเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า เรื่องเทวดานางฟ้ง เรื่องการเวียนว่ายตายเกิดทางร่างกาย และเรื่องกรรมชนิดข้ามภพข้ามชาติ เป็นต้นนั้น ที่เป็นเรื่องไม่ได้มีเหตุผลมาอธิบายให้เข้าใจได้ และไม่ได้มีหลักฐานมายืนยันเลยสักนิด แต่คนก็เชื่อมั่นกันมากว่ามีจริง เป็นต้น แล้วอย่างนี้จะพัฒนาให้คนที่เชื่อเรื่องพวกนี้เป็นคนมีเหตุผลและยอมรับความจริง จนกลายมาเป็นคนมีปัญญาอย่างแท้จริงได้อย่างไร? ลองคิดดู

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************
Free Web Hosting