ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องสักกายทิฏฐิ

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า พระพุทธเจ้าสอนว่าจิตหรือวิญญาณของเราและของทุกชีวิตนี้เป็นตัวตนของเราและของคนอื่น ที่เวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกายได้ คือเชื่อกันว่าพื้นฐานนั้นจะมีจิตที่เป็นตัวตนที่เป็นเราอยู่ก่อนแล้ว แต่ถ้าตัวตนนี้มีกิเลสหรือมีความยึดถือว่ามีตนเอง ก็จะเรียกว่า อัตตา แต่ถ้าตัวตนนี้ไม่มีกิเลสหรือไม่มีความยึดถือว่ามีตนเอง ก็จะเรียกว่า อนัตตา คือสรุปว่า จะเชื่อกันว่า อัตตา หมายถึง ตัวตนที่ไม่บริสุทธิ์ ส่วน อนัตตา หมายถึงตัวตนที่บริสุทธิ์

แต่ในความเป็นจริงนั้น ความเห็นหรือความเชื่อว่าจิตเป็นตัวตน (อัตตา-ตัวตนอมตะ) ไม่ว่าจะเป็นตัวตนที่บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ก็ตามนี้ ไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า แต่เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ที่ปลอมปนอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้ามาช้านานแล้วโดยชาวพุทธไม่รู้ตัว เพราะความจริงนั้นคำว่า อนัตตา ของพระพุทธเจ้าแปลว่า ไม่ใช่อัตตา หรือไม่ใช่ตัวตน ซึ่งก็หมายถึงเป็นการปฏิเสธ หรือไม่ยอมรับเรื่องที่พราหมณ์สอนว่า จิตเป็นอัตตาที่เวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกายได้ (รวมทั้งปฏิเสธเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า เทวดา นางฟ้า และเรื่องกรรมชนิดข้ามภพข้ามชาติ เป็นต้นด้วย)

ความเห็น (หรือความเข้าใจ) รวมทั้งความเชื่อว่า จิตเป็นอัตตาหรือตัวเรานั้น พุทธศาสนาเรียกว่า สักกายทิฏฐิ คือเป็นความเห็นว่ามีตัวตน (อัตตา) อยู่ในชีวิต (คือในร่างกายและจิตใจ) ของเราและของทุกชีวิต โดยสักกายทิฏฐินี้จัดเป็น สังโยชน์ (เครื่องผูกจิตไว้ในความทุกข์) หยาบๆตัวแรก (สังโยชน์มี ๑๐ ตัว โดยมีสักกายทิฏฐิเป็นตัวแรก และมีอวิชชาเป็นตัวสุดท้าย) ที่เป็นความเห็นหรือความเข้าใจผิดว่าจิตหรือวิญญาณของเราและของทุกชีวิตนี้เป็นอัตตาหรือตัวตนอมตะ ที่จะไม่ดับหายไปแม้จะไม่มีร่างกายแล้วก็ตาม และเชื่อว่ามันสามารถที่จะเกิดขึ้นมาใหม่สืบต่อเอาไว้ได้เรื่อยไป (คือบางคนก็เชื่อว่าจิตหรือวิญญาณจะออกจากร่างกายเพื่อไปเกิดในร่างกายใหม่ได้ บางคนก็เชื่อว่าอวิชชาหรือกิเลสหรือผลของกรรมจะไปสร้างตัวตนให้เกิดขึ้นมาใหม่เพื่อรับผลกรรมแทน) อย่างที่เราเรียกกันว่า การเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกาย อย่างที่ศาสนาพราหมณ์สอนนั่นเอง

สักกายทิฏฐิ หรือความเห็นว่าจิตหรือวิญญาณเป็นตัวตน (อัตตา) ที่สามารถเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกายได้นี้ เป็นความเห็นผิดตัวแรกที่ผู้ศึกษาเรื่องการดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า จะต้องทำลายให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก ถ้ายังทำลายไม่ได้ก็จะศึกษาหลักอริยสัจ ๔ ไม่เข้าใจ แม้จะศึกษาเรื่องอื่นๆมาอย่างมากมายแล้วก็ตาม เพราะหัวใจของอริยสัจ ๔ ก็คือปัญญาที่เข้าใจและเห็นแจ้งเรื่องความเป็นอนัตตาของจิตใจ (ซึ่งส่วนมากชาวพุทธเชื่อว่าตนเองเข้าใจเรื่องนี้แล้วจึงได้ละเลยไม่สนใจศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้) โดยวิธีการทำลายสักกายทิฏฐิ ที่เป็นสังโยชน์ตัวแรกนี้ สามารถทำลายได้โดยการศึกษาเรื่องความเป็นอนัตตาของจิตใจให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะทำลายความเห็นผิดว่าจิตเป็นอัตตาเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกายได้

แต่วิธีการศึกษาเรื่องความเป็นอนัตตาของจิตใจนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์มาศึกษา จะใช้หลักการทางไสยศาสตร์คือสอนให้เชื่อเลยนั้นไมได้เด็ดขาด เพราะความเชื่อไม่สามารถทำให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องได้ โดยหลักหัวใจของวิทยาศาสตร์นั้นก็สรุปอยู่ที่ ศึกษาจากของจริง, ศึกษาโดยใช้เหตุใช้ผล, ศึกษาอย่างเป็นระบบ, และพิสูจน์ก่อนเชื่อ ซึ่งวิธีการศึกษาก็สรุปอยู่ที่ให้ตั้งใจดูว่าจิตใจของเรานี้มันเที่ยง (คือตั้งอยู่ตลอดเวลาโดยไม่มีการเกิดและดับหรือไม่มีการเปลี่ยนแปลง) หรือ ไม่เที่ยง (คือมีการเกิดและดับ รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา) ซึ่งเราก็จะพบว่าจิตของเรานี้มันไม่เที่ยง เพราะมันมีการเกิด (คือเมื่อตื่นก็จะมีความรู้สึกนึกคิด) และ ดับ (คือเมื่อหลับสนิทละไม่ฝันก็จะไม่มีความรู้สึกนึกคิด) อยู่เสมอ (สมมติว่าถ้ามันเที่ยงมันจะต้องมีความรู้สึกนึกคิดอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ดับหายไปเลยแม้สักวินาทีเดียว) ซึ่งเมื่อพบความจริงว่าจิตของเรานี้มันไม่เที่ยง เราก็แน่ใจได้เลยว่า จิตของเรานี้มันเป็นสิ่งปรุงแต่ง ที่เกิดขึ้นมาจากสิ่งอื่นมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาตามธรรมชาติ (ถ้ามันเที่ยงก็แสดงว่ามันมีตัวตนเป็นของมันเอง ที่เรียกว่าอัตตาหรือตัวตนที่แท้จริงที่เป็นตัวตนอมตะอย่างที่พราหมณ์สอน) และเมื่อจิตเป็นสิ่งปรุงแต่ง ก็แสดงว่า จิตนี้มันไม่ได้เป็นตัวตนที่แท้จริงเลย (คือตามกฎไตรลักษณ์นั้นจะบอกว่า สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายจะมีลักษณะ ไม่เที่ยง มีสภาวะที่ต้องทน และไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงหรือไม่ใช่อัตตา) ซึ่งลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงนี้เองที่เรียกว่า อนัตตา ที่แปลว่า ไม่ใช่อัตตา หรือไม่ใช่ตัวตนอมตะหรือตัวตนที่แท้จริงอย่างที่พราหมณ์สอน

สรุปได้ว่า เมื่อเราจะศึกษาอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าเพื่อนำหลักมาปฏิบัติเพื่อให้จิตหลุดพ้นจากความทุกข์นั้น จุดแรกที่เราจะต้องทำลายก็คือเรื่องสักกายทิฏฐิอันเป็นสังโยชน์หยาบที่สุดตัวแรก ที่เป็นความเห็นผิดว่าจิตใจของเราและของทุกชีวิตนี้เป็นอัตตาหรือเป็นตัวเราหรือตัวตนของคนอื่น ซึ่งวิธีการทำลายนั้นก็ต้องศึกษาเรื่องจิตใจเป็นอนัตตาโดยใช้หลักวิทยาศาสตร์ จะใช้ความเชื่อไม่ได้อย่างเด็ดขาด เพราะความเชื่อนั้นยังเจืออยู่ด้วยความไม่รู้และความงมงายทั้งสิ้นไม่มากก็น้อย แม้จะเป็นความเชื่อที่ดีงามก็ตาม เมื่อศึกษาจนเกิดความเข้าใจและเห็นแจ้งเรื่องจิตใจเป็นอนัตตาแล้ว ก็จะสามารถทำลายสักกายทิฏฐิได้ และเมื่อทำลายสักกายทิฏฐิได้แล้วก็จะทำลายสังโยชน์ตัวที่สองคือ วิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัยในพระพุทธเจ้า (ว่ามีจริงหรือไม่) ในพระธรรม (ว่าดับทุกข์ได้จริงหรือไม่) และในพระสงฆ์ (ว่าผู้ที่สามารถปฏิบัติจนดับทุกข์ได้มีอยู่จริงหรือไม่) ได้ รวมทั้งยังจะทำลายสังโยชน์ตัวที่สาม คือสีลพรตปรามาส อันเป็นการประพฤติปฏิบัติ (ในศีลและข้อปฏิบัติเล็กๆน้อย) ที่ผิดเพี้ยนไม่ตรงตามคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าได้ ซึ่งการทำลายสังโยชน์ทั้งสามตัวนี้ได้ พุทธศาสนาก็สมมติเรียกว่าเป็นผู้เห็นธรรม (คือเห็นอริยสัจ ๔) หรือผู้มีดวงตาเห็นธรรม (มีปัญญาเห็นแจ้งคำสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างถูกต้องตรงตามที่เป็นจริง) หรือเป็นพระอริยบุคคลขั้นต้นที่เรียกว่าพระโสดาบัน

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************
Free Web Hosting