ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องอนัตตา

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า คำว่า อนัตตาของพระพุทธเจ้านั้นมีความหมายเหมือนกับคำว่า อัตตา ของศาสนาพราหมณ์ คือเข้าใจคำว่า อนัตตา ว่าหมายถึงตัวตนที่จะคงอยู่ได้ตลอดไปโดยไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นใดมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา    โดยจะเข้าใจว่า จิต หรือ วิญญาณ ของเราและของทุกชีวิตนี้สามารถออกจากร่างกายที่ตายไปแล้วได้เหมือนอย่างที่พราหมณ์หรือฮินดูสอน (หรือบางคนก็เข้าใจว่าจิตหรือวิญญาณไม่ได้ออกจากร่าง แต่เป็นว่าอวิชชา หรือกิเลส หรือกรรมที่ออกไปสร้างจิตหรือวิญญาณขึ้นมาใหม่เพี่อรับผลกรรมที่ได้ทำไว้ก่อนตาย) ซึ่งนี่เองที่ทำให้ชาวพุทธยอมรับเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดและเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า และเทวดา นางฟ้า รวมทั้งเรื่องกรรมชนิดข้ามภพข้ามชาติ เป็นต้น ที่เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์เข้ามาว่าเป็นคำสอนของพุทธศาสนาไปโดยไม่รู้ตัว จนทำให้คนที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้เกิดความเชื่อว่าพุทธศาสนาก็สอนเหมือนพราหมณ์ หรือเชื่อว่าพุทธศาสนานั้นเป็นเพียงกิ่งหรือสาขาหนึ่งของศาสนาพราหมณ์เท่านั้น ซึ่งนี่เป็นการกลืนพุทธศาสนาของศาสนาพราหมณ์จากอดีต จนทำให้คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าเรื่องอนัตตา ถูกเข้าใจความหมายผิดไปว่าเหมือนอัตตานั่นเอง

แต่ในความเป็นจริงนั้นคำว่าอนัตตาของพระพุทธเจ้านั้น ไม่ได้มีความหมายเหมือนกับคำว่าอัตตาของพราหมณ์หรือฮินดูเลย เพราะคำว่า อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่อัตตา คือเป็นการปฏิเสธหรือไม่ยอมรับเรื่องจิตหรือวิญญาณของเราและของทุกชีวิตเป็นอัตตาอย่างที่พราหมณ์สอน ดังนั้นจึงเท่ากับว่าพระพุทธเจ้าไม่ยอมรับเรื่องจิตหรือวิญญาณของเราและของทุกชีวิต จะสามารถออกจากร่างกายที่ตายไปแล้วได้ (คือไม่ยอมรับเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกาย) รวมทั้งไม่ยอมรับเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า และเทวดา นางฟ้า รวมทั้งเรื่องกรรมชนิดข้ามภพข้ามชาติ เป็นต้นด้วย

คำว่า อนัตตา หมายถึงไม่ใช่อัตตา  คือพระพุทธเจ้าสอนว่า ในชีวิต (คือร่างกายกับจิตใจ) ของเราทุกคนรวมทั้งของทุกชีวิตนี้ ไม่ได้เป็นอัตตาคือไม่ได้เป็นตัวตนของเราเองจริงๆเลย (คือหาตัวตนจริงๆที่เป็นแก่นหรือตัวตนอมตะไม่มี) เพราะจิตหรือวิญญาณของเราและทุกชีวิตนี้เป็นเพียง สังขาร ที่หมายถึง สิ่งที่ถูกปรุงแต่งหรือสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยธรรมชาติเท่านั้น

คำว่า สังขาร หรือ ปรุงแต่ง นี้ เป็นความอัศจรรย์ของธรรมชาติ (พุทธศาสนาถือว่าธรรมชาติเป็นสิ่งสูงสุดที่สร้างและควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างอยู่) ที่สามารถนำเอาสิ่งพื้นฐานของธรรมชาติ ๔ อย่าง (คือของแข็ง ของเหลว ความร้อน และก๊าซ) มาปรุงแต่ง (หรือสร้างหรือประกอบ) ให้เกิดเป็นสิ่งต่างๆขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ อย่างเช่น การที่ต้นไม้นำเอาดิน น้ำ แสงแดด และอากาศ มาปรุงแต่งให้เกิดเป็นลูกแอปเปิลขึ้นมา โดยเราจะหาสิ่งที่เป็นลูกแอปเปิลจริงๆนั้นไม่มี จะมีก็เพียงแค่การสมติเรียกเพื่อให้คนเข้าใจเท่านั้น เป็นต้น

โดยจิต (สิ่งที่รู้สึกนึกคิดได้) หรือวิญญาณ (การรับรู้) ของทุกชีวิตนี้ก็เหมือนกัน คือมันเป็นเพียงสิ่งที่ต้องอาศัยสิ่งอื่นเพื่อมาปรุงแต่งให้มันเกิดขึ้นมาเท่านั้น เราจะหาสิ่งที่เป็นตัวตน (คืออัตตา) ของจิตหรือวิญญาณจริงๆไม่มี (คือวิญญาณต้องอาศัยระบบประสาททั้ง ๖ ของร่างกายที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา ส่วนจิตก็ต้องอาศัยวิญญาณ ความรู้สึก ความจำ และการปรุงแต่งของจิตมาประกอบขึ้น) และสิ่งที่ถูกปรุงแต่งให้เกิดมาทั้งหลายนี้จะไม่สามารถตั้งอยู่ไปชั่วนิรันดรได้ (คือไม่เป็นอมตะ) คือมันกำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและไม่ช้าก็เร็วสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายจะต้องแตก (ใช้กับวัตถุ) หรือดับ (ใช้กับจิต) ไปอย่างแน่นอน (ที่เรียกว่าอนิจจัง) รวมทั้งขณะที่ยังไม่แตกดับไป สิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย ก็ยังต้องทนที่จะประคับประคองการปรุงแต่งของมันเอาไว้ ด้วยความยากลำบากอีกด้วย (ที่เรียกว่าทุกขัง)

จึงขอให้ชาวพุทธได้ศึกษาคำสอนเรื่องอนัตตาของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง เพื่อที่จะได้แยกเรื่องอัตตาของพราหมณ์ออกไปเสียจากคำสอนของพระพุทธเจ้า และเพื่อจะได้ปลดปล่อยพุทธศาสนาออกเสียจากการกลืนกินหรือครอบงำของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อที่ชาวพุทธจะได้นำเอาหลักคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าเรื่องอนัตตา ซึ่งเป็นหัวใจของปัญญาสำหรับนำมาใช้ปฏิบัติคู่กับสมาธิ โดยมีศีลเป็นพื้นฐาน เพื่อดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้ากันต่อไป

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************
Free Web Hosting