ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องอัตตา

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า พระพุทธเจ้าสอนเรื่องว่า มีสิ่งที่ไม่สูญหายไปหลังจากที่ร่างกายตายไปแล้ว คือบางคนก็เชื่อว่า จิต หรือ วิญญาณ หรือกายทิพย์ เป็นต้น (ตามแต่จะเชื่อกัน) ที่สิ่งอยู่ในร่างกายของเราและของทุกชีวิต จะออกจากร่างกายที่ตายไปแล้วได้ ซึ่งจิตหรือวิญญาณนี้เองที่จะไปเกิดใหม่เป็นตัวตนของเราและของทุกชีวิต แต่บางคนไม่เชื่อว่าจิตหรือวิญญาณจะออกจากร่างกายที่ตายไปแล้วได้ แต่ก็ยังเชื่อว่ามีบางสิ่งที่จะไปสร้างตัวตนที่เป็นเราและของคนอื่นให้เกิดขึ้นมาใหม่ได้ ซึ่งสิ่งที่จะไปสร้างตัวตนของเราและของคนอื่นให้เกิดขึ้นมาใหม่นั้น บางคนก็เชื่อว่าเป็นอวิชชา (ความไม่รู้) บางคนก็เชื่อว่าเป็นกิเลส (โลภ โกรธ หลง) บางคนก็เชื่อว่าเป็นกรรมที่มีอยู่ก่อนตาย ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วเราก็จะพบว่า ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อเรื่องจิตหรือวิญญาณไปเกิดใหม่ตรงๆ หรือความเชื่อเรื่องอวิชชาหรือกิเลสไปสร้างตัวตนให้เกิดตัวตนขึ้นมาใหม่โดยอ้อม เพื่อรับผลกรรมของตัวตนเก่า มันก็ไม่ได้ต่างกันเลย เพราะผลของมันก็คือ มีตัวตนเกิดขึ้นมาใหม่เพื่อรับผลจากการกระทำของตัวตนเก่าก่อนตายนั่นเอง ซึ่งความเชื่อนี้เองที่ทำให้เกิดความเชื่อเพิ่มขึ้นมาเพื่อรองรับความเชื่อเรื่องมีตัวตนเกิดใหม่ อันได้แก่ความเชื่อเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า รวมทั้งเรื่องเทวดา นางฟ้า พระอินทร์ พระพรหม ยมบาล ผี เปรต และเรื่องกรรมชนิดข้ามภพข้ามชาติด้วย เป็นต้น

แต่ในความเป็นจริงนั้น ความเชื่อเรื่องมีตัวตนเกิดขึ้นมาใหม่นี้ เป็นหลักคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ที่สอนเรื่องจิต (หรือวิญญาณ) ของคนและสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายเป็นอัตตา ซึ่งคำว่า อัตตา หมายถึง สิ่งที่เป็นอมตะ (หรือนิรันดร) หรือสิ่งที่ไม่มีวันแตกสลายหรือดับหายไปหรือตายอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะมีอะไรมาทำลายหรือไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปสักเท่าใดก็ตาม (ที่เรียกว่า นิจจัง) รวมทั้งยังดำรงอยู่อย่างสุขสบายอีกด้วย (ที่เรียกว่าสุขัง) และเมื่อเชื่อว่าจิตเป็นอัตตา ดังนั้นคำว่าอัตตาจึงได้หมายถึง สิ่งที่เป็นตัวตนของจิตเอง โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยสิ่งอื่นใดมาปรุงแต่งหรือสร้างหรือประกอบตัวตนของมันขึ้นมา และเมื่อจิตก็คือความรู้สึกว่าเป็นตัวเรา ดังนั้นคำว่าอัตตานี้จึงได้หมายถึง ตัวตนของเรา หรือ ตัวเรา ซึ่งความเชื่อเรื่องจิตเป็นอัตตานี้เองที่ได้ผสมหรือปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนา ภายหลังที่พระพุทธเจ้าได้ปรินิพพานไปแล้วไม่กี่ร้อยปี เพราะชาวพุทธไม่เข้าใจหลักคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าเรื่องที่พระพุทธเจ้าสอนว่า จิตเป็นอนัตตา (คำว่า อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่อัตตา คือเป็นการปฏิเสธเรื่องที่ศาสนาพราหมณ์สอนว่าจิตเป็นอัตตา) ดังนั้นชาวพุทธจึงได้เข้าใจคำว่าอนัตตาว่ามีความหมายเหมือนอัตตาของพราหมณ์ไปในที่สุดและสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

สรุปได้ว่า คำสอนเรื่องจิตหรือวิญญาณเป็นตัวตนอมตะหรืออัตตานั้น เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ที่ได้ปลอมปนเข้ามาอยู่ในพุทธศาสนามาช้านานแล้วโดยที่ชาวพุทธไม่รู้ตัว และได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งคำสอนเรื่องจิตหรือวิญญาณเป็นอัตตานี้จะตรงข้ามกับคำสอนเรื่องจิตหรือวิญญาณเป็นอนัตตาของพระพุทธเจ้า และเมื่อเข้าใจผิดว่าจิตหรือวิญญาณเป็นอัตตา จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า คือทำให้หลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าถูกทำลายหัวใจไป  (คือหัวใจของอริยสัจ ๔ คือปัญญาที่เห็นแจ้งเรื่องจิตหรือวิญญาณเป็นอนัตตา) จนทำให้ไม่สามารถนำหลักอริยสัจ ๔ มาใช้ดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันได้

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************
Free Web Hosting