หลักพุทธศาสนาโดยสรุป

หลักความเชื่อ

  1. ใช้ปัญญานำหน้าความเชื่อ คือจะสอนให้ผู้นับถือมีปัญญาอย่างแท้จริง
  2. เชื่อถือธรรมชาติว่าเป็นสิ่งสูงสุด ซึ่งเทียบได้กับพระเจ้าของศาสนาคริสต์
  3. เชื่อว่าชีวิตเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ คือสอนว่าชีวิตไม่ใช่สิ่งตายตัวที่ถูกกำหนดมาแล้ว
  4. เชื่อความจริงที่เกิดขึ้นจริง คือเชื่อสิ่งที่เกิดขึ้นแก่ตนเองจริงๆอย่างแน่ชัดแล้วเท่านั้น
  5. เชื่อกรรม คือ เชื่อว่าเมื่อทำชั่วก็จะทุกข์ใจ ถ้าทำดีก็จะสุขใจในขณะที่ทำอยู่นั้นทันที
  6. เชื่อความเพียร คือ เชื่อว่าเมื่อมีความพยายามอย่างถูกต้อง ย่อมจะประสบผลสำเร็จได้
  7. ไม่เชื่อจากเขาว่ามา คือไม่เชื่อจากผู้อื่นบอกกล่าวมา ซึ่งจะต้องพิสูจน์ก่อน
  8. ไม่มีการบังคับให้เชื่อ คือจะให้อิสระแก่ผู้ที่นับถืออย่างเต็มที่
  9. ไม่เชื่อเรื่องงมงาย เช่น เรื่องไสยศาสตร์,โหราศาสตร์, สิ่งศักดิ์สิทธิ์, โชค, ลาง, ผี, เทวดา เป็นต้น
  10. ไม่เชื่อเรื่องเวรกรรมจากชาติปางก่อน ซึ่งเป็นหลักคำสอนของศาสนาพราหมณ์
หลักคำสอน
  1. สอนให้พึ่งตนเอง ไม่สอนให้อ้อนวอนให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือใครมาช่วย
  2. สอนให้รักผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น ไม่เป็นศัตรูกับใคร
  3. สอนให้ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย งดเว้นอบายมุข สิ่งเสพติด และสิ่งฟุ่มเฟือย
  4. สอนให้รู้จักปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลาย เพื่อที่จิตจะได้นิพพาน
  5. สอนให้มีสติ อย่าประมาท ให้หมั่นฝึกฝนสมาธิ และอบรมปัญญาอยู่เสมอ
  6. สอนให้ละเว้นความชั่วทั้งปวง แล้วทำแต่ความดีให้เต็มเปี่ยม และทำจิตให้บริสุทธิ์จากกิเลส
  7. สอนว่าจิตสำคัญที่สุด ทุกสิ่ง เช่น ร่างกายหรือวัตถุ หรือความประพฤติของเรานั้นขึ้นอยู่กับจิต
  8. สอนว่า นรก คือ ความร้อนใจ และ สวรรค์ คือ ความอิ่มใจ ในขณะที่กำลังทำความชั่วและดีอยู่
  9. สอนว่า นิพพาน คือความสงบเย็นของจิตใจ ซึ่งจะเกิดขึ้นขณะที่จิตใจบริสุทธิ์จากกิเลส
  10. สอนว่าทุกสิ่งเกิดมาจากเหตุ จะดับไปเมื่อเหตุของมันดับลงก่อน


หลักความเชื่อ


๑. ใช้ปัญญานำหน้าความเชื่อ
ศาสนาคือหลักคำสอนให้ผู้คนปฏิบัติตาม โดยมีผลเป็นความทุกข์ลดน้อยลงและมีความสุขมากขึ้น ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ศาสนาจะต้องมีศรัทธาหรือความเชื่อมาประกอบอยู่ด้วยเสมอ คือผู้คนที่นับถือศาสนาใดก็จะต้องมีศรัทธาในหลักคำสอนของศาสนานั้นก่อน แล้วจึงมีการปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนานั้น ศาสนาโดยทั่วไปจะสอนให้มีความเชื่อมั่นในหลักคำสอนในศาสนาก่อนเป็นอันดับแรก โดยไม่เน้นเรื่องปัญญา ซึ่งก็มีผลดีอยู่มากแก่ผู้ที่ยังไม่มีเวลามาศึกษาหลักคำสอนที่ลึกซึ้งให้เข้าอย่างแท้จริง รวมทั้งแก่ผู้ที่ยังมีปัญญาไม่สูงพออีกด้วย พุทธศาสนาจะต่างกับศาสนาอื่นตรงที่สอนให้ใช้ปัญญามานำหน้าความเชื่อ คือจะสอนให้เข้าใจด้วยเหตุด้วยผลก่อนแล้วจึงค่อยมีศรัทธาตามมาทีหลัง ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่พอจะมีปัญญาอยู่บ้างแล้ว และรวมทั้งผู้ที่ยังมีปัญญาไม่มากนัก

๒. เชื่อถือธรรมชาติว่าเป็นสิ่งสูงสุด

สิ่งสูงสุด หมายถึง สิ่งที่มีอำนาจสูงสุดในเอกภพ ที่ดลบันดาลหรือควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นไป โดยศาสนาคริสต์และอิสลามจะนับถือ พระเจ้า (GOD) ว่าเป็นสิ่งสูงสุด ที่เป็นผู้สร้าง ผู้รักษา และผู้ทำลาย
พุทธศาสนาจะต่างกับศาสนาอื่นด้านสิ่งสูงสุดนี้ตรงที่ไม่ยอมรับเรื่องพระเจ้าหรือเทพเจ้าว่าเป็นสิ่งสูงสุด แต่จะนับถือกฎธรรมชาติว่าเป็นสิ่งสูงสุดแทน
พุทธศาสนาจะสอนว่าทุกสิ่งเป็นไปตามธรรมชาติของมันเองโดยไม่มีใครมาควบคุม หรือดลบันดาล คือไม่ว่าจะเป็นความสุข ความทุกข์ หรือความเจริญ ความเสื่อมทั้งหลายทั้งปวงของเราและของมวลมนุษย์ทั้งหลายล้วนเป็นไปตามเหตุตามผลของธรรมชาติ

๓. เชื่อว่าชีวิตเป็นสิ่งที่พัฒนาได้

เรามักจะมีความเชื่อกันว่าชีวิตถูกกำหนดไว้แล้วจากดวงชะตาบ้าง จากเวรกรรมจากชาติปางก่อนบ้าง เป็นต้น ซึ่งจะไม่สามารถฝืนให้เป็นอย่างอื่นๆได้ เรียกว่าเห็นชีวิตเป็นสิ่งตายตัวหรือถูกกำหนดเอาไว้แล้ว ไม่มีใครจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นได้ ซึ่งนี่เป็นหลักของศาสนาพราหมณ์
พุทธศาสนาจะสอนว่าชีวิตของเรานี้สามารถพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้ คือไม่ว่าใครจะเป็นคนมีนิสัยไม่ดีเพียงใดก็ตาม ถ้าเขาตั้งใจใหม่แล้วเปลี่ยนแปลงปรับปรุงตัวเองอย่างจริงจัง เขาก็สามารถกลับมาเป็นคนมีนิสัยที่ดีได้

๔. เชื่อความจริงที่เกิดขึ้นจริง

พุทธศาสนาจะสอนให้ขยันศึกษาหาความรู้ แต่ไม่สอนให้เชื่อในสิ่งที่ได้รู้มาทันที จนกว่าจะได้ทดลองหรือพิสูจน์มาจนเห็นผลอย่างแน่ชัดแล้วเท่านั้น ซึ่งนี่ก็คือหลักสำคัญของวิทยาศาสตร์ แต่เรามักจะไม่เชื่อความจริงที่เราสามารถพบเห็นได้จริง เพราะเชื่อกันว่ามีผู้วิเศษที่เขารู้ดีกว่าเรา ดังนั้นเราจึงมักจะเชื่อเขา โดยอาจจะไม่รู้ตัวว่าเรากำลังถูกหลอก

๕. เชื่อกรรม

กรรมหรือการกระทำด้วยเจตนานั้นบางลัทธิจะสอนว่าไม่มีผลใดๆเลย ไม่ว่าใครจะทำดีหรือทำชั่วอย่างไรก็ไม่มีผล ซึ่งจะทำให้คนที่เชื่อเช่นนี้มักจะทำความชั่วกันมาก เพราะเชื่อว่าไม่ต้องรับผล แต่พุทธศาสนาจะสอนว่ากรรมนี้มีผล ซึ่งผลในที่นี้ก็คือความรู้สึกส่วนลึกของจิตใจ คือเมื่อทำความดีก็จะมีผลให้จิตใจเป็นสุขทันที แต่ถ้าทำชั่วก็จะมีผลให้จิตใจเป็นทุกข์ทันที

๖. เชื่อความเพียร

บางลัทธิจะเชื่อว่าความเพียรพยายามทั้งหลายจะไร้ผล เขาจะเชื่อว่าทุกสิ่งเป็นไปโดยไม่มีเหตุมีผล จึงทำให้เขาขาดความเพียรพยายามและความกระตือรือร้น เพราะเชื่อว่าทำไปก็ไม่ได้อะไร แต่พุทธศาสนาจะสอนว่าถ้าเรามีความพยายามอย่างถูกต้องและสมบูรณ์ ก็ย่อมที่จะมีผลที่เราปารถนาได้ ตัวอย่างเช่นคนที่เคยทำชั่วมาก่อนและเพียรพยายามที่จะละชั่ว แล้วพยายามที่จะทำแต่ความดี เขาก็สามารถเป็นคนดีได้ เป็นต้น

๗. ไม่เชื่อจากเขาว่ามา

พุทธศาสนาจะสอนไม่ให้เชื่อจากคนอื่น เพราะมันอาจจะผิดพลาดได้ทั้งสิ้น ถ้าเชื่อแล้วบังเอิญเกิดผลดีก็โชคดีไป แต่ถ้าบังเอิญโชคร้ายก็จะเกิดผลที่ไม่ดีได้ ดังนั้นพุทธศาสนาจังสอนว่าอย่าเพิ่งเชื่อจนกว่าจะได้พิสูจน์ทดลองมาแล้วด้วยตนเอง

๘. ไม่มีการบังคับให้เชื่อ

พุทธศาสนาจะไม่บังคับว่าจะต้องเชื่อและปฏิบัติตาม แต่จะสอนให้เข้าใจว่าทำไมจึงต้องปฏิบัติเช่นนั้น แล้วจะเชื่อหรือไม่ก็ตามใจ อย่างเช่น จะสอนให้เข้าใจว่าถ้าทำความชั่วแล้วจะมีผลไม่ดีอย่างไร และถ้าทำความดีแล้วจะมีผลดีอย่างไร เป็นต้น เรียกว่าให้ความจริงมันสอน ซึ่งการสอนเช่นนี้จะใช้กับผู้ที่ค่อนข้างจะมีสติปัญญาอยู่สักหน่อย ส่วนคนที่มีปัญญาน้อยก็ต้องใช้การบังคับจึงจะดีที่สุด

๙. ไม่เชื่อเรื่องงมงาย

เรื่องงมงายก็คือเรื่องที่ขาดเหตุผล และขาดความจริงมารองรับ อย่างเช่นเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือผู้วิเศษ เป็นต้น ซึ่งอย่างดีก็เพียงทำให้สบายใจขึ้นมาหน่อยเท่านั้น แต่พอจะเอาจริงก็พึ่งพาอะไรไม่ได้ มีแต่จะทำให้โง่ยิ่งขึ้นและเสียทรัพย์มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้พุทธศาสนาไม่สอนให้เชื่อ ไม่ว่ามันจะมีจริงหรือไม่ก็ตาม การเชื่อตนเองและพึ่งตนเองจึงเป็นสิ่งดีที่สุด

๑๐. ไม่เชื่อเรื่องเวรกรรมจากชาติปางก่อน

เรื่องเวรกรรมจากชาติแล้วๆมานั้นเป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ที่ปะปนอยู่ในพุทธศาสนามาช้านานแล้ว ถ้าเราเชื่อเรื่องนี้เราก็จะไม่พัฒนาเพราะเชื่อว่าไม่สามารถฝืนได้ แต่ถ้าเราไม่เชื่อเราก็จะเป็นอิสระทางความคิด สามารถคิด พูด และทำสิ่งที่ดีงามและเป็นประโยชน์ต่อทั้งตนเองและสังคมได้


หลักคำสอน


๑. สอนว่าทุกสิ่งเกิดมาจากเหตุ
พุทธศาสนามีหลักที่เป็นวิทยาศาสตร์ คือใช้สิ่งที่มีอยู่จริงมาศึกษาด้วยเหตุด้วยผล โดยหลักคำสอนที่สำคัญก็คือคำสอนว่าทุกสิ่งเกิดมาจากเหตุ ไม่มีสิ่งใดที่จะเกิดมาได้โดยไม่มีเหตุ ซึ่งหลักการนี้สามารถนำไปพิจารณาหาความจริงของสิ่งต่างๆให้บังเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงได้

๒. สอนว่าจิตสำคัญที่สุด

พุทธศาสนาจะสอนว่าจิตสำคัญที่สุด ทุกสิ่งขึ้นอยู่กับจิต เป็นไปตามอำนาจของจิต คือวัตถุทั้งหลายนั้นจะเป็นสิ่งที่ไม่มีจิตใจ จึงคิดนึกและทำอะไรไม่ได้ มีแต่จิตเท่านั้นที่สร้างทุกสิ่งขึ้นมา ทั้งความสุข ความทุกข์ ทั้งความเจริญ ความเสื่อม ทั้งดี ทั้งชั่ว และวัตถุสิ่งของกับอุปกรณ์ต่างๆที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เป็นต้น

๓. สอนให้พึ่งตนเอง

พุทธศาสนาจะสอนให้เราพึ่งตนเอง เพราะไม่มีใครจะเป็นที่พึ่งได้ดีเท่าตัวของเราเอง เมื่อเราพึ่งตนเองเราก็จะมีความเข้มแข็ง อดทน มีปัญญา และมีทุกข์น้อยตลอดจนไม่มีทุกข์เลยได้ แต่ถ้าเราเอาแต่พึ่งคนอื่นเราก็จะอ่อนแอ ไม่มีความอดทน และโง่เขลา รวมทั้งจะพบแต่ความทุกข์ ความเดือดร้อนเรื่อยไป

๔. สอนให้รักผู้อื่น

พุทธศาสนาจะสอนให้เรามีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคนโดยเสมอหน้า ไม่เบียดเบียนใครๆ ซึ่งนี่จะทำให้เรามีแต่ความสงบสุข และโลกก็จะมีสันติภาพ แต่ถ้าเราขาดเมตตารักใคร่ต่อเพื่อนมนุษย์ และเอาแต่เบียดเบียนกัน เราก็จะมีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวาย และโลกก็จะพบแต่วิกฤติการณ์ สุดท้ายก็จะพินาศ

๕. สอนให้ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย

การใช้ชีวิตที่เรียบง่ายก็คือการงดเว้นสิ่งหรูหราฟุ่มเฟือยทั้งหลาย เพราะสิ่งฟุ่มเฟือยจะนำมาซึ่งปัญหามากมายในภายหลัง เช่นความยากจน ขยะล้นเมือง มลพิษทางดิน ทางน้ำ ทางอากาศ และสภาพแวดล้อมถูกทำลายจนนำภัยพิบัติทางธรรมชาติกลับมาให้ส่วนรวม ถ้าเราสามารถงดเว้นสิ่งฟุ่มเฟือยได้มากเท่าไร เราก็จะมีความสงบสุขมากเท่านั้น

๖. สอนให้มีสติ อย่าประมาท

การมีสติก็คือการระวังตัวไม่ทำสิ่งที่ผิดหรือชั่ว ซึ่งก็คือความไม่ประมาท และจะทำให้ไม่มีปัญหา ไม่มีความเดือดร้อนตามมาในภายหลัง แต่ถ้าเราขาดสติ คือทำสิ่งที่ผิดและชั่ว ก็เรียกว่าประมาท ซึ่งก็จะทำให้พบกับปัญหา และความทุกข์ความเดือดร้อนตามมาในภายหลังได้

๗. สอนให้ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น

ความยึดมั่นถือมั่นนั้นก็คือความเห็นแก่ตัว ชอบเอาเปรียบคนอื่น ไม่ยอมใคร ซึ่งจะนำมาซึ่งปัญหาและความทุกข์ความเดือดร้อนมากมาย พุทธศาสนาจึงสอนให้ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลาย เพื่อที่จิตจะได้ไม่มีทุกข์ และพบกับความสงบสุขหรือนิพพาน

๘. สอนว่า นิพพาน คือความสงบเย็นของจิตใจ

นิพพาน หมายถึง ความสงบเย็น คือมีทั้งความสงบนิ่ง ไม่ดิ้นรนฟุ้งซ่าน และเยือกเย็น ปลอดโปร่งแจ่มใส เบาสบาย ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราสามารถกำจัดกิเลสให้ออกไปจากจิตของเราได้ ซึ่งนิพพานนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดของชีวิต

๙. สอนให้ละเว้นความชั่ว ทำดี ทำจิตให้บริสุทธิ์

เหตุที่พุทธศาสนาสอนให้ละเว้นการทำความชั่วก็เพราะการทำชั่วจะนำมาซึ่งความเดือดร้อน และยังจะย้อนกลับมาหาตัวเราเองด้วย ส่วนการทำความดีจะนำมาซึ่งความสงบสุขทั้งแก้ผู้อื่นและยังจะย้อนกลับมาหาตัวเราด้วย ส่วนการทำจิตให้บริสุทธิ์จากกิเลสนั้นจะทำให้จิตนิพพาน คือสงบเย็น ไม่มีทุกข์ได้

๑๐. สอนว่า นรก คือ ร้อนใจ

นรกของพุทธศาสนาก็คือความร้อนใจ เพราะทำผิดหรือชั่วไว้มาก ส่วนสวรรค์ก็คือความสุขใจ อิ่มใจ เพราะทำความดีไว้มาก ซึ่งนี่คือสวรรค์ในอก นรกในใจ ส่วนนรก-สวรรค์ที่อยู่ใต้ดินและบนฟ้านั้นเป็นของศาสนาพราหมณ์เขา อย่าเอามาปะปนกับพุทธศาสนา

เตชปญฺโญ ภิกขุ
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
(ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)
Free Web Hosting