ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดกับการดับทุกข์

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า ชีวิตหรือจิตของคนเรานี้มีการเวียนว่ายตาย-เกิดเรื่อยไป คือเชื่อกันว่าเมื่อคนเราตายไปแล้วถ้ายังมีกิเลสอยู่ก็จะยังมีการเวียนว่ายตาย-เกิดอยู่ต่อไป เช่น เกิดเป็นคนบนโลก หรือเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ หรือเกิดเป็นสัตว์นรกในนรก หรือเกิดเป็นเปรต หรือเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานบนโลก เป็นต้น แต่ถ้าหมดกิเลสแล้วก็จะไม่มีการเวียนว่ายตาย-เกิดเช่นนี้อีกแล้ว ซึ่งมักเรียกว่า นิพพาน

แต่ในความเป็นจริงนั้น เรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกายนั้น เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ที่ปลอมปนเข้ามาอยู่ในพุทธศาสนามาช้านานแล้วโดยชาวพุทธไม่รู้ตัว ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังมีผลดีอยู่บ้างตรงที่ทำให้คนที่เชื่อไม่ทำชั่วแต่ทำดีและเบื่อหน่ายชีวิต แล้วก็พยายามแสวงหาและปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกาย แต่มันก็มีผลเสียตรงที่เรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกายนี้เป็นเรื่องของความเชื่อว่าจิตเป็นอัตตา (อัตตา หมายถึงตัวตนอมตะ ซึ่งเป็นหลักคำสอนของศาสนาพราหมณ์ที่สอนเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกาย เรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า และกรรมชนิดข้ามภพข้ามชาติ เป็นต้น) ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดไปจากความเป็นจริงของธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าสอน คือพระพุทธเจ้าสอนเรื่องจิตเป็นอนัตตา (อนัตตา หมายถึง ไม่ใช่อัตตา คือเป็นการปฏิเสธความเป็นอัตตาของพราหมณ์นั่นเอง) โดยเรื่องอนัตตานี้เป็นหัวใจของปัญญาสำหรับนำมาใช้คู่กับสมาธิโดยมีศีลเป็นพื้นฐาน ในการปฏิบัติเพื่อให้จิตหลุดพ้นจากความทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งความเข้าใจผิดว่าจิตเป็นอัตตานี้จัดเป็นความเห็นผิด (มิจฉาทิฎฐิ) ที่ตรงข้ามกับความเห็นที่ถูกต้อง (สัมมาทิฎฐิ) หรือไม่ใช่ปัญญาที่พระพุทธเจ้าสอน

สรุปได้ว่า ความเชื่อเรื่องจิตเป็นอัตตาเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกายของพราหมณ์นั้น เป็นความเห็นผิดที่ตรงข้ามกับคำสอนเรื่องจิตเป็นอนัตตาของพระพุทธเจ้า โดยคำสอนเรื่องจิตเป็นอัตตาเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกายนั้นเป็นคำสอนระดับศีลธรรม ที่ต้องใช้ความเชื่อเป็นหลัก แต่จะนำมาใช้ปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าไม่ได้ เพราะหลักการปฏิบัติของอริยสัจ ๔ นั้นจะต้องใช้ปัญญาเป็นตัวนำศีลและสมาธิ จะใช้ศรัทธาหรือความเชื่อเป็นตัวนำไม่ได้เด็ดขาด เพราะศรัทธานั้นจะเจืออยู่ด้วยความงมงายทั้งสิ้น ไม่มากก็น้อย แม้จะเป็นศรัทธาในสิ่งที่ดีงามก็ตาม จะต้องใช้ปัญญาเท่านั้นเป็นตัวนำจึงจะพ้นทุกข์ได้จริง เพราะปัญญาเปรียบเหมือนดวงตาที่ทำให้เราเข้าใจและเห็นแจ้งชีวิต เมื่อเข้าใจและเห็นแจ้งก็จะสามารถเดินไปสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์ได้อย่างถูกต้อง แต่ถ้าใช้ศรัทธาก็เปรียบเหมือนคนไม่มีดวงตาหรือคนตาบอด ที่เดินตามคนอื่นที่เราก็ไม่รู้ว่าเขาตาดีหรือตาบอด อันจะทำให้เรามีโอกาสเดินไปผิดทางได้มากเพราะเราไม่ได้มองเห็นทางเดินเอง

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************
Free Web Hosting