ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องตายแล้วไปไหน?

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า ตราบใดที่คนเรายังมีกิเลสอยู่ ก็ต้องเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อรับผลของกรรม ที่ได้ทำไว้ด้วยอำนาจของกิเลสก่อนตาย (บางคนก็เชื่อว่าจิตจะออกจากร่างกายที่ตายแล้วเพื่อไปเกิดใหม่เพื่อรับผลของกรรมเก่า ที่เรียกว่าเป็นการเกิดใหม่โดยตรง แต่บางคนก็แย้งว่าจิตไม่ได้ไปเกิด คือมันจะดับสูญไปเลย แต่เป็นกิเลสหรือวิบากกรรมต่างหาก ที่จะส่งพลังอำนาจพิเศษออกไปสร้างจิตขึ้นมาใหม่ในร่างกายใหม่แทน เพื่อรับผลของกรรมเก่า ที่เรียกว่าเป็นการเกิดใหม่โดยอ้อม)  แต่ถ้าหมดกิเลสแล้วก็หยุดเวียนว่ายตาย-เกิด เพราะหมดกรรมแล้ว จึงไม่มีการเกิดใหม่อีกต่อไปอย่างถาวร (การไม่เกิดใหม่นี้บางคนก็เชื่อว่าจิตหรือตัวตนของเราจะดับสูญหรือหายไปเลย แต่บางคนก็เชื่อว่าจิตหรือตัวตนของเรานี้จะไปเกิดอยู่ในดินแดนหรือสภาวะที่มีแต่ความสุข ไม่มีความทุกข์เลยชั่วนิรันดร ที่เรียกว่าดินแดนแห่งพระนิพพาน)

แต่ในความเป็นจริงนั้น คำสอนเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกายนั้น ไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า แต่เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ที่ได้ปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนาระดับศีลธรรมมาช้านานแล้ว โดยที่ชาวพุทธเกือบทั้งหมดไม่รู้ตัว ซึ่งพุทธศาสนาก็รับเอาคำสอนเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกายนี้ไว้ ในฐานะว่าเป็นคำสอนระดับศีลธรรม เพราะเห็นว่ายังพอมีประโยชน์ สำหรับคนที่ยังมีปัญญาไม่มากพอที่จะไปศึกษาคำสอนระดับสูงเรื่องการดับทุกข์ของพระพุทธเจ้าได้

ส่วนคำสอนระดับศีลธรรมแท้ๆของพระพุทธเจ้านั้น จะไม่สอนเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกายอย่างที่ฮินดูสอน แต่จะสอนเฉพาะเรื่องการปฏิบัติโดยตรง เช่น สอนให้ปฏิบัติศีล ๕, สอนให้ละเว้นอบายมุข สิ่งเสพติด สิ่งฟุ่มเฟือย, สอนวิธีปฏิบัติต่อคนที่เกี่ยวข้อง, สอนให้ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ไม่มีส่วนเกิน, สอนให้ช่วยเหลือผู้อื่น, สอนให้ทำหน้าที่การงานอย่างถูกต้องด้วยความขยันอดทน, สอนให้กตัญญูกตเวที, สอนให้รู้จักให้อภัย, สอนให้รักผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตัว, สอนให้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์, และอนุรักษ์ธรรมชาติ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ปฏิบัติมีความปกติสุข สังคมมีความสงบ และโลกมีสันติภาพ ส่วนเรื่องว่าตายแล้วเป็นอย่างไรนั้น พระพุทธเจ้าจะไม่สอนบุคคลระดับศีลธรรม เพราะถึงสอนไปเขาก็ไม่เข้าใจเพราะยังมีสติปัญญาไม่เพียงพอที่จะเข้าใจ แต่จะบอกว่าถ้าอยากรู้ก็ให้มาศึกษาคำสอนระดับสูงเรื่องการเกิดขึ้นของขันธ์ ๕ ตามที่เป็นจริง ก็จะเข้าใจและเห็นแจ้งได้เองว่าเมื่อขันธ์ ๕ แตก-ดับแล้วจิตใจจะเป็นอย่างไรได้ด้วยสติปัญญาของตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยเชื่อจากใครๆหรือจากตำราใดๆ

ถ้ามีใครมาสนใจศึกษาคำสอนระดับสูง (ปรมัตถธรรม) เรื่องการดับทุกข์ของพระพุทธเจ้า แล้วเริ่มต้นถามคำถามว่า ตายแล้วไปไหน? เช่นนี้ พระพุทธเจ้าก็จะไม่ตอบ เพราะเป็นเรื่องที่ผู้ศึกษาจะเข้าใจและเห็นแจ้งด้วยตนเองเมื่อศึกษาจนถึงที่สุดแล้ว อีกทั้งพระพุทธเจ้าก็ได้วางหลักเอาไว้แล้วในหลักอจินไตย (เรื่องที่ไม่ควรสนใจศึกษา) ว่าไม่ควรสนใจศึกษาเรื่องเหล่านี้ (คือเรื่องโลกจินตา คือเรื่องโลกๆ เช่น โลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง? ใครสร้างโลก? ตายแล้วเป็นอย่างไร? เป็นต้น)

หลักคำสอนที่จะทำให้เกิดความเข้าใจและเห็นแจ้งว่า ตายแล้วจะเป็นอย่างไร? นั้น ก็คือการสอนให้เรานำเอาขันธ์ ๕ (คือ รูปขันธ์ คือร่างกาย, วิญญาณขันธ์ คือการรับรู้, สัญญาขันธ์ คือการจำสิ่งที่รับรู้ได้, สังขารขันธ์ คือการปรุงแต่งคิดนึกของจิต) ของเราเองตามที่มีอยู่จริง ที่เราสามารถรู้สึกได้จริงในปัจจุบัน มาพิจารณาดูว่า มันมีเหตุและปัจจัย (ปัจจัยคือสิ่งสนับสนุนหรือเหตุย่อยๆ) อะไรมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น? ตั้งอยู่? และดับหายไป? เมื่อพบคำตอบแล้วก็จะเข้าใจและเห็นแจ้งได้เองว่า เมื่อร่างกายตายหรือขันธ์ ๕ แตก (คือร่างกายแตก) และดับ (คือจิตดับ) แล้วจิตใจจะเป็นอย่างไร? หรือตายแล้วไปไหน? ได้ด้วยสติปัญญาของตนเอง

แต่ถ้าจะอธิบายอย่างคร่าวๆก็สรุปได้ว่า ร่างกายเกิดมาจากธาตุ ๔ (คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม) มาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ซึ่งร่างกายที่ยังมีชีวิตอยู่นี้จะมีระบบประสาทอยู่ ๖ จุด ( คือตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) สำหรับเอาไว้รับรู้สิ่งภายนอกที่ตรงกัน (คือรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสกาย สิ่งสัมผัสใจ) เมื่อมีสิ่งภายนอกมากระทบกับระบบประสาทที่ตรงกัน ก็จะทำให้เกิดวิญญาณ หรือการรับรู้ขึ้นมาที่ระบบประสาทนั้นทันที (เช่น เมื่อมีรูปมากระทบตา ก็จะเกิดวิญญาณทางตาหรือเกิดการเห็นรูปขึ้นมาทันที เป็นต้น) เมื่อเกิดการรับรู้ขึ้นมาแล้วก็จะเกิดการจำสิ่งที่รับรู้นั้นได้ทันที เมื่อจำได้แล้วก็จะเกิดความรู้สึกต่อสิ่งที่ได้รับรู้นั้นขึ้นมาด้วยทันที และเมื่อเกิดความรู้สึกขึ้นมาแล้วก็จะทำให้เกิดการคิกนึกปรุงแต่งต่อไปขึ้นมาด้วยทันที

นี่ก็คือระบบการทำงานของขันธ์ ๕ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ที่สมมติเรียกว่า ร่างกายและจิตใจนั่นเอง และเมื่อเกิดความเข้าใจดังนี้แล้วก็จะเข้าใจได้เองว่า แท้จริงในขันธ์ ๕ หรือในร่างกายและจิตใจของเรานี้ จะหาสิ่งที่เป็นแก่นแท้หรือตัวตน (คำว่า อัตตา หมายถึง ตัวตนของตนเอง หรือตัวตนที่แท้จริง ที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งใดมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ซึ่งอัตตานี้จะมีลักษณะเที่ยง และทนอยู่อย่างสบาย ซึ่งเป็นคำสอนของศาสนาฮินดู)  ของเราเองจริงๆ (ที่จะมีอยู่ต่อไปแม้ร่างกายจะตายไปแล้ว) ไม่มี จะมีก็เพียง สิ่งปรุงแต่ง หรือ สร้างสรรค์ ขึ้นมาโดยธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมานี้ เมื่อถูกปรุงแต่งขึ้นมาแล้วก็จะไม่สามารถตั้งอยู่ตลอดไปได้ถาวร เพราะไม่ช้าก็เร็วมันจะต้องแตก (ใช้กับร่างกาย) และดับ (ใช้กับจิตใจ) ไปในที่สุด (ที่เรียกว่าอนิจจัง-ไม่เที่ยง) และแม้ขณะที่ยังไม่แตกหรือดับไป สิ่งปรุงแต่งนี้ก็ยังต้องทนที่จะประคับประคองการปรุงแต่งของมันเอาไว้ด้วยความยากลำบาก (ทุกขัง-สภาวะที่ต้องทน) ซึ่งนี่แสดงถึงว่า สิ่งปรุงนี้ไม่ใช่ตัวตน (หรือไม่ใช่ตัวเรา) ของเราจริงๆเลย (อนัตตา-ไม่ใช่ตัวตนของตนเอง)

ดังนั้นจึงเท่ากับว่า ในขันธ์ ๕ หรือในร่างกายและจิตใจที่สมมติเรียกว่าเป็นตัวเรา-ของเรานี้ มันไม่ได้มีตัวตน (อัตตา) ที่จะมาเป็นเราหรือของเราได้จริงๆเลย (สุญญตา-ความว่างจากตัวตนที่แท้จริง) แม้สิ่งปรุงแต่งนี้จะปรุงแต่งไปด้วยกิเลสหรือว่างจากกิเลสก็ตาม หรือด้วยความยึดถือว่ามีตัวตนหรือไม่ยึดถือว่ามีตัวตนก็ตาม มันก็ไม่ได้มีตัวตนของใครๆมามีกิเลสหรือยึดถือจริงๆเลย มีแต่สิ่งปรุงแต่งขึ้นมาเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อมันแตกดับจึงเท่ากับว่าไม่ได้มีตัวตนของใครๆมาแตกดับจริง ดังนั้นจึงเท่ากับว่า ไม่มีคำว่าตาย เพราะมันไม่ได้มีตัวตน (อัตตา) ของใครตาย จึงทำให้คำถามว่า ตายแล้วไปไหน? ไม่มีที่ตั้งเพราะมันไม่ได้มีใครตายจริง นั่นเอง

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************
Free Web Hosting