ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องวิญญาณ

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า คนเรานั้นถ้ายังมีกิเลสอยู่ เมื่อตายแล้วจะมีวิญญาณออกจากร่างกายได้ ซึ่งวิญญาณนี้ก็จะเชื่อกันว่าเป็นจิตใจหรือตัวตนของเรา ที่รู้สึกนึกคิดได้เหมือนกับขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เพียงแต่ไม่มีร่างกายเท่านั้น โดยวิญญาณนี้มักเรียกกันว่า ผี และวิญญาณนี้ถ้ายังไม่ได้ไปเกิดที่ไหนก็จะเป็นวิญญาณเร่ร่อนไปเที่ยวหลอกหลอนคนเรื่อยไป แต่ถ้าก่อนตายได้ทำชั่วไว้มาก วิญญาณก็จะถูกยมทูตจับตัวไปยังนรก (ที่เชื่อกันว่าอยู่ใต้ดิน) ให้ยมบาลตัดสินให้ได้รับโทษอย่างแสนสาหัสในนรกด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ถูกทิ่มแทงด้วยหอก ถูกต้มในกระทะทองแดง ถูกบังคับให้ปีนต้นงิ้ว เป็นต้น แต่ถ้าได้ทำบุญไว้มาก ก็จะถูกตัดสินให้ได้รางวัลด้วยการได้ขึ้นสวรรค์ (ที่เชื่อกันว่าอยู่บนฟ้า) คือเกิดเป็นเทพบุตรหรือเทวดาที่ไม่ต้องทำงาน เอาแต่เสวยกามารมณ์อยู่กับนางฟ้ามากมายบนสวรรค์ โดยไม่มีการแก่ เจ็บ หรือหิว กระหาย หรือหนาว ร้อน เป็นต้น อยู่นานแสนนาน (คืออาจจะเป็นหลายร้อยหลายพันปี)  และถ้าหมดอายุก็จะจุติ (คือตายจากความเป็นเทวดา) แล้วมาเกิดเป็นคนที่ร่ำรวย ที่หล่อหรือสวย มีเกียรติ และมีความสุขสบาย อยู่บนโลกมนุษย์นานเป็นร้อยปี (แต่บางคนก็เชื่อว่าไม่มีวิญญาณออกจากร่าง แต่เชื่อว่าเมื่อตายปุ๊บ ก็จะมีการเกิดใหม่ในนรก หรือสวรรค์ หรือบนโลกมนุษย์เลย ซึ่งมันก็ไม่ได้แตกต่างกันเลยกับความเชื่อที่ว่ามีวิญญาณออกจากร่าง) แต่ถ้าก่อนตายถ้าได้ปฏิบัติธรรมจนหมดกิเลสแล้ว ก็จะทำให้วิญญาณที่เป็นตัวตนของเรานี้นิพพานคือดับสูญไปเลย (คือตัวเราสูญหายไปเลยอย่างถาวรไม่กลับมาเกิดเป็นอะไรๆอีกต่อไป แต่บางคนก็เชื่อว่าถ้าหมดกิเลสแล้วตายไปวิญญาณก็จะไปเกิดอยู่ในดินแดนนิพพาน ที่มีแต่ความสุขไม่มีความทุกข์ใดๆอยู่ชั่วนิรันดร หรือที่เรียกว่ามีชีวิตอมตะ)

แต่ในความเป็นจริงนั้นคำว่าวิญญาณนี้ พระพุทธเจ้าสอนว่า วิญญาณเป็นแค่เพียง การรับรู้ ที่ต้องอาศัยระบบประสาทที่ยังดีอยู่ของร่างกาย (คือที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เพื่อเกิดขึ้นมารับรู้สิ่งต่างๆของโลก (คือรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสกาย สิ่งสัมผัสใจ) เพียงชั่วคราวเท่านั้น (คือเมื่อมีรูปมากระทบตา ก็จะเกิดวิญญาณทางตา หรือการเห็นรูปขึ้นมาทันที, เมื่อมีเสียงมากระทบหูก็จะเกิดวิญญาณทางหู หรือการได้ยินเสียงขึ้นมาทันที, เมื่อมีกลิ่นมากระทบจมูกก็จะเกิดวิญญาณทางจมูก หรือการได้กลิ่นขึ้นมาทันที, เมื่อมีรสมากระทบลิ้น ก็จะเกิดวิญญาณทางลิ้นหรือการได้รู้รสขึ้นมาทันที, เมื่อมีสิ่งสัมผัสกาย (เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง) มากระทบกาย ก็จะเกิดวิญญาณทางกายหรือการได้รับรู้สิ่งสัมผัสกายขึ้นมาทันที, เมื่อมีสิ่งสัมผัสใจ (อันได้แก่ การรับรู้ ความรู้สึก ความจำ ความคิด) มากระทบใจ ก็จะเกิดวิญญาณทางใจหรือการรับรู้สิ่งสัมผัสใจขึ้นมาทันที) ถ้าระบบประสาทใดหยุดทำงาน  (คือสลบ หรือหลับสนิท) หรือเสียหาย (เช่น ตาบอด หูหนวก) แม้จะมีสิ่งต่างๆภายนอกมากระทบ กับระบบประสาทที่หยุดทำงานหรือเสียหายนั้น วิญญาณหรือการรับรู้ก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาที่ระบบประสาทที่หยุดทำงานหรือเสียหายนั้นได้ (อย่างเช่น ถ้าแก้วตาเสีย ก็จะมองไม่เห็น ถ้าแก้วหูเสียก็จะไม่ได้ยินเสียง ถ้าร่างกายตายก็จะไม่มีการรับรู้สิ่งสัมผัสกาย เป็นต้น)

พระพุทธเจ้าสอนว่า วิญญาณ หรือการรับรู้นี้เป็นอนัตตา คือมันไม่ใช่อัตตาหรือตัวตนของมันเองโดยที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นใดมาปรุงแต่งหรือสร้างมันขึ้นมา อีกทั้งมันยังไม่สามารถที่จะออกจากร่างกายที่ตายไปแล้วเพื่อไปเกิดใหม่ได้อย่างที่ศาสนาพราหมณ์สอน ดังนั้นความเชื่อเรื่องวิญญาณเวียนว่ายตายเกิดทางร่างกาย หรือเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า รวมทั้งเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดทางร่างกายนั้น จึงไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า แต่เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ที่ปลอมปนเข้ามาในภายหลังโดยชาวพุทธไม่รู้ตัว และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน แต่เพราะความเชื่อนี้ยังพอจะมีผลดีอยู่บ้างตรงที่ทำให้คนที่เชื่อไม่กล้าทำชั่วเพราะกลัวตกนรก ซึ่งก็จะช่วยให้สังคมสงบสุข จึงทำให้พุทธศาสนายอมรับในฐานะว่าเป็นคำสอนระดับศีลธรรมเท่านั้น (คือทุกศาสนาก็จะมีคำสอนระดับศีลธรรมอยู่แล้ว ดังนั้นพุทธศาสนาจึงจัดว่าคำสอนเหล่านี้เป็นคำสอนระดับศีลธรรมของพุทธศาสนาด้วย) แต่มันก็มีผลเสียตรงที่ผู้ที่จะมาศึกษาธรรมะรับสูงเพื่อดับทุกข์หรือพ้นทุกข์ เมื่อได้มาศึกษาธรรมะระดับศีลธรรมนี้เข้า ก็จะเกิดความเข้าใจผิดว่าวิญญาณนี้เป็นตัวตน (อัตตา) ที่เวียนว่ายตายเกิดทางร่างกายได้ และเมื่อเกิดความเข้าใจผิดเช่นนี้ขึ้นมา ก็จะทำให้ไม่เกิดปัญญา (ปัญญาคือความรอบรู้ว่าชีวิตและวิญญาณเป็นอนัตตา) สำหรับนำมาใช้คู่กับสมาธิ (โดยมีศีลเป็นพื้นฐาน) ในการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์หรือดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าได้

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************
Free Web Hosting