ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องการตีความเนื้อหาในพระไตรปิฎก

          ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า ข้อความที่ได้บันทึกเอาไว้ในพระไตรปิฎกนั้นสามารถเชื่อได้เลยตามที่ได้บันทึกเอาไว้โดยไม่ต้องตีความใดๆ เช่น คำว่า เกิด หมายถึง ร่างกายเกิด, คำว่า ตาย หมายถึง ร่างกายตาย, คำว่า นรก ก็หมายถึงสถานที่ที่เอาไว้ลงโทษคนทำชั่วที่ตายไปแล้ว, ส่วนคำว่า สวรรค์ ก็หมายถึงสถานที่ที่เอาไว้ให้รางวัลแก่คนที่ได้ทำดีที่ตายไปแล้วไปอยู่, คำว่า เทวดา ก็หมายถึง บุคคลที่เป็นชายที่เสวยสุขอยู่บนสวรรค์, คำว่า นางฟ้า ก็หมายถึง บุคคลที่อยู่บนสวรรค์ที่คอยรับใช้เทวดา, คำว่า คนก็หมายถึง คนที่เกิดอยู่บนโลก, คำว่าสัตว์เดรัจฉาน ก็หมายถึง สัตว์เดรัจฉานที่เกิดอยู่บนโลก เป็นต้น

        แต่ในความเป็นจริงนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นสามารถตีความได้ ๒ ระดับ เพื่อให้เหมาะสมกับผู้ฟัง เพราะการสอนนั้นจะมีผู้ฟังหลากหลายมาฟังอยู่ ดังนั้นเพื่อให้ผู้ฟังทุกระดับเข้าใจพร้อมๆกัน จึงต้องมีการแสดงธรรมแบบที่คนฟังที่มีความรู้น้อยแค่ระดับศีลธรรมจะเข้าได้โดยไม่ต้องตีความ (ที่เรียกว่า ภาษาคน) ส่วนคนฟังที่มีความรู้มากพอ หรือเข้าใจธรรมะแล้วก็จะเข้าใจได้ เพราะตีความแล้ว (ที่เรียกว่าภาษาธรรม)

โดยคำสอนในพระไตรปิฎกนั้นจะมีวิธีสอนอยู่  ๒ ลักษณะ  คือ

                    ๑. ธัมมาธิษฐาน      คือสอนโดยแสดงตัวธรรมะล้วนๆ

                    ๒. ปุคคลาธิษฐาน    คือสอนโดยยกตัวตนบุคคลมาเป็นธรรมะ

ธัมมาธิษฐานนั้นเป็นการสอนปรมัตถธรรม (ธรรมะระดับสูง) แก่ บุคคลที่พอจะเข้าใจธรรมะแล้ว ให้เข้าใจธรรมะยิ่งขึ้น เช่น สอนเรื่องธาตุ  ขันธ์  อายตนะ  ไตรลักษณ์ และอริยสัจ  ๔  เป็นต้น  ซึ่งเราจะเรียกว่า ภาษาธรรม เพราะเป็นการแสดงแต่เนื้อหาธรรมะที่ลึกซึ้งล้วนๆ และเป็น สันทิฎฐิโก คือเราต้องเห็นแจ้งด้วยจิตของเราเอง

ส่วนการสอนศีลธรรม (ระดับพื้นฐาน) แก่บุคคลที่ยังไม่รู้ธรรมะนั้น พระพุทธองค์จะสอนอย่างปุคคลาธิษฐาน   คือเอาตัวธรรมะมาสมมติว่าเป็นบุคคลหรือสถานที่ต่างๆ แล้วแต่งให้เป็นเรื่องราวโดยให้มีหลักธรรมะที่ลึกซึ้งระดับสูงอยู่ด้วย โดยเราจะเรียกว่า ภาษาคน ซึ่งการสอนอย่างภาษาคนนี้จะสอนคล้ายคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ที่สอนว่ามีตัวตนบุคคลเหล่านั้นอยู่จริง  ซึ่งภาษาคนที่ทรงใช้บ่อยๆก็ได้แก่คำตัวอย่างต่อไปนี้

โลก           จะ หมายถึง         ความทุกข์ หรือสิ่งที่เรายึดถือกันอยู่

ชาติ            จะหมายถึง         การเกิดความรู้สึกว่ามีตัวตนขึ้นมาในจิตใจ

ตาย            จะหมายถึง         ความรู้สึกว่ามีตัวตนในจิตใจนั้นได้ดับหายไปหรือเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น

สวรรค์         จะหมายถึง         สภาวะจิตที่มีแต่ความสุขใจอิ่มใจ

นรก             จะหมายถึง         ความทุกข์ใจหรือร้อนใจ เหมือนไฟเผา

เทวดา          จะหมายถึง         จิตที่กำลังเสวยสุขจากกามคุณ

นางฟ้า         จะหมายถึง         ความสุขจากกามคุณชนิดต่างๆ

พรหม          จะหมายถึง          จิตที่เบื่อกามคุณ และอยู่อย่างสุขสงบด้วยสมาธิ

รูปพรหม      จะหมายถึง         จิตที่ติดอยู่ในความสุขสงบจากสิ่งที่เป็นรูปหรือวัตถุ

อรูปพรหม      จะหมายถึง       จิตที่ติดอยู่ในความสุขสงบจากสิ่งที่ไม่มีรูป

คน             จะหมายถึง          จิตที่เบื่อๆอยากๆเพราะต้องทำงานหนักเพื่อแลกความสุขจากกามคุณ

มนุษย์          จะหมายถึง         ผู้มีใจสูง หรือผู้มีคุณธรรม (คนยังไม่ใช่มนุษย์)

อบายภูมิ       จะหมายถึง         จิตที่ไม่มีความเจริญ คือมีความสุขน้อยแต่มีความทุกข์มากกว่า

เดรัจฉาน       จะหมายถึง         ความโง่อย่างไม่น่าโง่ หรือเกิดโมหะ ความหลงผิด

อสุรกาย (ผี)  จะหมายถึง         ความขลาดกลัว  ความไม่กล้าหาญ

ยักษ์              จะหมายถึง        ความโกรธ ความมุ่งร้าย

เปรต            จะหมายถึง         จิตที่หิวด้วยกิเลส คือมีความโลภ ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น

สัตว์            จะหมายถึง         จิตที่ยังติดใจอยู่ในโลก (ในกามคุณ ๕)

สัตว์นรก        จะหมายถึง         จิตที่กำลังเร่าร้อนทรมาน (ร้อนใจ ทุกข์ใจมาก)

ยมบาล         จะหมายถึง         กฎอันเฉียบขาดของธรรมชาติ

มาร             จะหมายถึง         สิ่งที่ทำลายล้างความดีความถูกต้องให้หายไป

วัฏฏะสงสาร   จะหมายถึง         จิตที่วนเวียนอยู่ในกิเลส-กรรม-วิบาก

นิพพาน        จะหมายถึง         จิตที่สงบเย็นเพราะไม่มีกิเลสรบกวน      เป็นต้น

สรุปได้ว่า คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านั้นต้องเป็น สันทิฎฐิโก คือเราต้องเห็นเอง หรือรู้แจ้งด้วยจิตของเราเองจริงๆเท่านั้น จึงจะเป็นคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ส่วนคำสอนใดที่ไม่เป็นสันทิฎฐิโก คำสอนนั้นก็ไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ดังนั้นเมื่อเราพบกับข้อความในพระไตรปิฎก  ที่ดูแล้วเป็นภาษาคนที่ไม่เป็นสันทิฎฐิโก เราก็ต้องตีความให้เป็นภาษาธรรมที่เป็นสันทิฎฐิโกเสียก่อน เราจึงจะเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าได้  อย่างเช่น ถ้าพบคำสอนว่า คนที่ทำความดีตายแล้วจะไปเกิดเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์  ก็หมายถึง เมื่อเราทำความดีเสร็จ เราก็จะเกิดความสุขใจอิ่มใจขึ้นมาทันที  หรือคนที่ทำชั่วมากๆตายไปจะตกนรก  ก็หมายถึงเมื่อเราทำความชั่วมากๆ เมื่อทำเสร็จเราก็จะเกิดความร้อนใจอย่างยิ่งขึ้นมาทันที  หรือเมื่อบุคคลไม่ยึดมั่นถือมั่นก็จะบรรลุนิพพาน ก็หมายถึง เมื่อจิตไม่มีความยึดมั่นด้วยกิเลส จิตก็จะสงบเย็นทันที เป็นต้น

คือสรุปง่ายๆว่า คำสอนของพุทธแท้ๆนั้นจะอยู่ในจิตของเราเองทั้งสิ้น คือเป็นสิ่งที่เราจะสามารถสัมผัสได้จริงในปัจจุบัน แต่ถ้าเป็นสิ่งนอกตัวหรือไกลตัวที่เรายังไม่สามารถสัมผัสได้จริงในปัจจุบัน จะไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า แต่เป็นคำสอนที่ปลอมปนเข้ามาในภายหลังโดยชาวพุทธไม่รู้ตัว

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************
Free Web Hosting