ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องทำไมคนเราเกิดมาจึงแตกต่างกัน?

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า การที่คนเราเกิดมาแล้วมีความแตกต่างกันนั้นเป็นเพราะกรรมเก่าจากชาติก่อนๆ โดยคำสอนเรื่องกรรมเก่านี้เป็นหลักคำสอนของศาสนาพราหมณ์ (หรือฮินดู) ที่เขาสอนมานมนานแล้วก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้เสียอีก โดยศาสนาพราหมณ์จะสอนว่า คนเราเมื่อได้ทำกรรมใดไว้ในชาตินี้ เมื่อตายไปกรรมนั้นก็จะส่งผลให้ได้รับวิบากหรือผล เช่น เมื่อทำดีก็จะได้ขึ้นสวรรค์ (ที่เชื่อกันว่าอยู่บนฟ้า) ถ้าทำชั่วก็จะตกนรก (ที่เชื่อกันว่าอยู่ใต้ดิน) เป็นต้น และยังไม่เท่านั้น เมื่อรับผลจากนรกหรือสวรรค์หมดแล้วก็ยังต้องรับผลที่เป็นเศษของกรรมอีก อันได้แก่ ถ้าได้เคยทำดีไว้ก็จะมีเศษกรรมทำให้เกิดใหม่เป็นคนร่ำรวย, หรือหล่อ-สวย, หรือมีเกียรติ-มีอำนาจ, หรือมีปัญญา หรือชีวิตมีแต่ความสุขสบาย เป็นต้น แต่ถ้าได้เคยทำชั่วไว้ก็จะมีเศษกรรมทำให้เกิดใหม่เป็นคนยากจน, หรือไม่หล่อ-สวย, หรือต่ำต้อย-ด้อยเกียรติ, หรือโง่เขลา หรือชีวิตมีแต่ความทุกข์ยากลำบาก เป็นต้น ซึ่งการสอนเช่นนี้จะทำให้คนที่เชื่อยอมรับชีวิตที่มีแต่ความยากจน เดือดร้อน และเป็นทุกข์โดยไม่คิดจะดิ้นรนต่อต้านหรือเพียรพยายามที่จะพัฒนาชีวิตให้เจริญขึ้นหรือหลุดพ้นจากความทุกข์ยากที่มีอยู่ เพราะเชื่อว่าถ้ายังไม่หมดกรรมก็ไม่มีทางที่ชีวิตจะเจริญขึ้นหรือหลุดพ้นได้  (นี่เป็นต้นเหตุทำให้สังคมที่นับถือไม่พัฒนา และเป็นโอกาสให้ชนชั้นผู้ปกครองกดขี่ผู้คนที่นับถือได้อย่างง่ายดายเพราะไม่มีใครคิดจะต่อต้าน) ซึ่งสำหรับพุทธศาสนาแล้วการสอนเช่นนี้จัดว่าเป็นคำสอนระดับศีลธรรมที่มีอยู่แล้วในทุกศาสนา

แต่ในความเป็นจริงนั้น พระพุทธเจ้าจะสอนเฉพาะเรื่องการดับทุกข์ ไม่สอนเรื่องกรรมเก่าอย่างที่พราหมณ์สอน ดังนั้นการสอนว่าคนเราเกิดแตกต่างกันนั้นเป็นเพราะกรรมเก่าจากชาติก่อนนั้นจึงไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า แต่เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ที่ปลอมปนเข้ามาในภายหลังโดยชาวพุทธเกือบทั้งหมดไม่รู้ตัว

ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมคนเราจึงเกิดมาแตกต่างกัน?นั้น ตามหลักพุทธศาสนาแล้ว ก่อนจะตอบก็ต้องดูก่อนว่า คนถามนั้นมีสติปัญญามากน้อยเพียงใด ถ้าเป็นคนมีสติปัญญาน้อยก็ต้องตอบไปตามความเชื่อของเขาซึ่งก็คือคำตอบระดับศีลธรรมนั่นเอง เพื่อให้เขาสบายใจบ้างและไม่หลุดไปจากการทำความดีและละเว้นความชั่ว ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานในการทำให้ชีวิตมีความปกติสุขและช่วยให้สังคมสงบสุข แต่ถ้าเป็นคนมีสติปัญญามากพอก็ต้องตอบโดยใช้เหตุผลและมีความจริงมารองรับ โดยก่อนที่จะตอบก็ต้องสอนธรรมะเรื่องสุญญตา (ความว่าง) อันเป็นคำสอนระดับสูงให้เขาเข้าใจก่อน เมื่อเขาเข้าใจแล้วเขาก็จะเข้าใจได้เองว่า ทำไมคนจึงเกิดมาแตกต่างกัน? ได้ด้วยสติปัญญาของเขาเอง โดยไม่เชื่อจากใครๆหรือจากตำราใดๆ

คำสอนเรื่องสุญญตานี้จะนำไปสอนบุคคลที่มีสติปัญญาระดับศีลธรรมไม่ได้ เพราะมันลึกซึ้งเกินสติปัญญาของเขาที่จะรับได้ ต้องสอนเฉพาะคนดีมีปัญญามากพอเท่านั้น เพราะเขามีสติปัญญามากพอที่จะรับได้ ซึ่งการสอนก็สรุปอยู่ที่เรื่องความว่าง จากตัวตนของทุกชีวิต (สุญญญตา)  คือทุกชีวิตนั้นเดิมไม่ได้มีตัวตนใดๆเลย มันเป็นแค่เพียงสิ่งที่ธรรมชาตินำเอาสิ่งต่างๆ (คือธาตุ ๔ ตามธรรมชาติ) มาปรุงแต่งหรือสร้างสรรค์ (สังขาร) ให้เกิดเป็นตัวตนหรือสิ่งต่างๆขึ้นมาเพียงชั่วคราวเท่านั้น  ซึ่งในการปรุงแต่งก็ย่อมที่จะมีความแตกต่างกันไปตามเหตุและปัจจัยของตัวตนหรือสิ่งต่างๆ เช่น ร่างกายก็มีลักษณะตามพันธุกรรมตามพ่อและแม่ ส่วนนิสัยหรือการมีความสุข-ความทุกข์ หรือความโง่-ความฉลาด ก็เป็นไปตามสภาพที่แวดล้อมชีวิตอยู่จริงในปัจจุบัน เป็นต้น แล้วเราก็มาสมมติเรียกว่าเป็นตัวตน แต่มันก็เป็นได้แค่เพียงตัวตนชั่วคราวหรือตัวตนมายา (ที่เรียกว่าอนัตตา) เท่านั้น ไม่สามารถที่จะเป็นตัวตนที่แท้จริงหรือตัวตนอมตะ (ที่เรียกว่าอัตตา) ของใครๆได้ รวมทั้งยังไม่สามารถที่จะมีการเกิดใหม่ตามที่ศาสนาพราหมณ์สอนได้อีกด้วย

สรุปว่า เมื่อเข้าใจแล้วว่าเดิมทุกชีวิตมันไม่ได้มีตัวตนจริงๆ แต่มันมามีตัวตนชั่วคราวเอาในภายหลัง ดังนั้นจึงเท่ากับว่าตัวตนชั่วคราวนี้ แม้จะได้รับการปรุงแต่งหรือสร้างสรรค์ให้เกิดมามีความแตกต่างกันมากมาย เช่น ชายหรือหญิง, มีความสุขหรือทุกข์, ร่ำรวยหรือยากจน, หล่อ-สวยหรือไม่หล่อ-สวย, มีเกียรติหรือด้อยเกียรติ, โง่หรือมีปัญญา, สุขสบายหรือยากลำบาก เป็นต้น ก็เท่ากับว่ามันไม่ได้มีตัวตนของใครๆที่จะเป็นเช่นนั้นจริงๆเลย เหมือนกับการที่เราเอาดินเหนียวมาผสมน้ำแล้วปั้นแต่งเป็นรูปร่างตุ๊กตาต่างๆขึ้นมา เช่น ชาย หญิง หรือสัตว์ต่างๆ แล้วตบแต่งด้วยการทาสีให้ดูสวยงาม ซึ่งเมื่อมีเด็กที่มีปัญญาน้อยและมองอย่างผิวเผิน เมื่อมาเห็นตุ๊กตานี้เข้าก็จะเกิดความยึดถือว่า ตุ๊กตาทั้งหลายนั้นมีความแตกต่างกัน แต่คนที่มีปัญญามากและมองอย่างลึกซึ้งก็จะเข้าใจได้ว่า แท้จริงตุ๊กตาดินเหนียวทั้งหลายนั้น มันไม่ได้มีความแตกต่างกันเลยเลย เพราะแท้จริงมันเป็นแค่ดินเหนียว น้ำ และสีที่ปรุงแต่งขึ้นมาเป็นรูปร่างตุ๊กตาเพียงชั่วคราวเท่านั้น แล้วเขาก็จะไม่ยึดถือว่ามีตัวตนของตุ๊กตาที่แตกต่างกันเหมือนกับเด็ก ซึ่งนี่ก็คือความยุติธรรมที่ธรรมชาติมีอยู่แต่เรามองไม่เห็นเอง ดังนั้นจึงเท่ากับว่าเรื่องความแตกต่างนี้ไม่ได้มีความหมายเลย เพราะมันไม่ได้มีตัวตนของใครๆที่แตกต่างกันจริงเลย ส่วนการที่มีคนมองว่าแตกต่างกันนั้นก็เป็นเพราะเขาไม่มีสติปัญญาเพียงพอที่จะเข้าใจเรื่องสุญญตาหรือความว่างนี้ได้อย่างถูกต้องนั่นเอง

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************
Free Web Hosting