ความเบื่อ

ความเบื่อคือความรู้สึกไม่อยากเป็นอยู่ในสภาวะที่รู้สึกไม่น่ายินดี หรือเป็นความรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ ซึ่งจัดเป็นกิเลสประเภทโทสะคืออยากทำลายอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจให้หมดไป เช่น เมื่อกินอาหารชนิดใดบ่อยๆก็เบื่อ (คือไม่อยากกินเพราะรู้สึกไม่อร่อยเหมือนเดิม) อยู่กับใครนานๆก็เบื่อ(ทั้งๆที่ตอนใหม่ๆกลับไม่รู้สึกเช่นนี้ หรือไม่เคยคิดเลยว่าจะเบื่อ) คือเมื่อมีอะไร หรือเป็นอะไร หรือเล่นอะไร หรือใช้อะไรนานๆก็เบื่อ หรือแม้แต่อยู่ว่างๆไม่มีอะไรทำก็เบื่ออีก เป็นต้น

ทำไมถึงเบื่อ? ความเบื่อนี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์หรือเป็นของธรรมดาของมนุษย์ คือจากกฏของธรรมชาติ ในเรื่องความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งจึงทำให้ความรู้สึกต่างๆเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไมช้าก็เร็ว ทีนี้ความรักหรือชอบที่เกิดขึ้นใหม่ๆนั้นเมื่อนานวันเข้ามันก็เปลี่ยนมาเป็นจืดชืดและกลับมาเป็นเบื่อหรือชังได้ทั้งๆ ที่ทุกอย่างบางทีก็ยังเหมือนเดิมก็มีซึ่งเรื่องนี้เราจะต้องรู้เท่าทันก่อน

ส่วนเรื่องเมื่ออยู่ว่างๆหรือเฉยๆก็ยังเบื่ออีกก็เพราะเราติดในความสนุกสานเพลิดเพลินมากเกินไป เหมือนเสพสิ่งเสพย์ติดชนิดร้ายแรง ที่นี้พอไม่ได้เสพความสนุกสนานเหมือนเดิมจิตมันก็จะโหยหาและเกิดความรู้สึกเบื่อต่อความรู้สึกว่างๆเฉยๆหรือจืดๆที่กำลังเป็นอยู่ ยิ่งติดมากก็เบื่อมาก ถ้าติดน้อยก็เบื่อน้อย ส่วนคนที่เขาไม่เคยเสพความสุขสนุกสนานอย่างนั้นหรืออย่างอื่นๆมาก่อน เขาก็เป็นปกติอยู่ได้หรือไม่มีความรู้สึกเบื่อแม้จะเป็นอยู่ในสภาพเดียวกันกับคนที่กำลังเบื่ออยู่ก็ตาม ซึ่งนี่เองที่ทำให้ คนที่ไม่รู้หรือรู้แต่ทนต่อความเบื่อไม่ได้ก็ต้องแล่นออกไปแสวงหาเสพความสุขสนุกสนานที่ติดอยู่ เหมือนคนติดสิ่งเสพย์ติด ถ้าไม่ได้เสพก็จะลงแดงตาย แล้วก็ทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมามากมายอีกเพราะทนต่อความเบื่อไม่ได้ เช่นไปกินเหล้ากับเพื่อนแล้วก็มีเรื่องทะเลาะกัน หรือไปเที่ยวโสเภณีแล้วก็ติดเอดส์ หรือไปเที่ยวซื้อของฟุ่มเฟือยแล้วก็ สิ้นเปลือง หรือไปเล่นการพนันแล้วก็หมดตัว หรือไปเที่ยวเตร่ยามค่ำคืนจนถูกทำร้าย หรือขับรถซิ่งจนเกิดอุบัติเหตุหรือถูกจับ  หรือไปทำสิ่งที่ไม่ดีจนเกิดความเสียหายตามมา เป็นต้น

เราจะป้องกันและแก้ไขอย่างไร? ข้นแรกถ้ายังไม่ติดก็ระวังอย่าให้ไปติด แต่ถ้าติดแล้วก็ต้องอดทนที่จะละเลิก อาจตจะค่อยๆลดลง หรือถ้าเข้มแข็งมากก็เลิกไปเลย ซึ่งเราต้องรู้ว่าใหม่ๆมันก็จะรู้สึกทรมานมาก แต่ถ้าสามารถอดทนไปนานๆได้ ความทรมานก็จะค่อยๆลดลง และกลับมาเป็นปกติได้ คืออยู่เงียบๆหรือเฉยๆหรือไม่อยากไปเที่ยวเสพสุขเหมือนเดิมอีกได้

ในการละเลิกนั้นเราจะต้องหาสิ่งที่ดี เช่นงานอดิเรกหรือความสนุกที่ไม่เกิดโทษแต่มีประโยชน์มาทำแทน ซึ่งมีมากมาย เช่นอ่านหนังสือหรือเขียนหนังสือ เลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้  เล่นกีฬา หรือฝึกสมาธิ ศึกษาธรรมะ เป็นต้น คือทำสิ่งที่ตัวเองถนัด หรือจะช่วยเหลือสังคมบ้างก็จะยิ่งดี เพื่อให้ลืมสิ่งเสพย์ติดหรือความสนุกสนานเพลิดเพลินที่ไม่ดีทั้งหลาย

จุดสำคัญคือเรื่องเพื่อน ถ้าติดเพื่อนไม่ดีเสียแล้วก็ยากที่จะละเลิกสิ่งไม่ดีได้ ถ้าใครโชคดีได้เพื่อนดี ก็ติดเพื่อนที่ดีจะดีกว่า แต่ถ้าใครไม่ติดเพื่อนได้เลยก็จะดีที่สุด ส่วนใครที่ไม่มีเพื่อนแล้วเกิดความเบื่อมากหรือเหงามากๆ จะต้องระวังเพราะอันตราย คืออาจจะทำสิ่งที่ไม่ดีได้ เช่นทำร้ายตนเอง หรือไปคบเพื่อนที่ไม่ดี หรืออาจจะถูกหลอกลวงจากการติดต่อทางอินเตอร์เน็ตได้

สรุปได้ว่า ความเบื่อเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เพราะธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นมานั้น จะมีความไม่เที่ยงแท้ หรือคงทนถาวร หรือไม่สามารถดำรงอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป ซึ่งสภาพของจิตใจของมนุษย์เราก็ต้องตกอยู่ในความไม่เที่ยงนี้ด้วย คือมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถจะตั้งอยู่ในสภาพใดได้อย่างถาวรหรือตามที่เราต้องการ บางเวลามันก็มีความสุข แล้วไม่นานก็เปลี่ยนไปเป็นความจืดชืด แล้วไม่นานก็เปลี่ยนไปเป็นความทุกข์ แล้วก็เปลี่ยนไปเป็นความสุขอีก วนเวียนอยู่อย่างนี้เรื่อยไป เมื่อเราไม่รู้เท่าทันถึงความเป็นจริงในเรื่องนี้ เมื่อมีความสุข เราก็จะหลงติดหรือพอใจมาก แต่พอเวลาความสุขหายไป เราก็จะเกิดความเบื่อหรือไม่พอใจ ยิ่งถ้าเกิดความทุกข์ เราก็จะยิ่งเกิดความไม่พอใจหรือเกลียดกลัวหรือเบื่อหน่ายอย่างรุนแรง จนอาจทนไม่ได้แล้วก็ทำให้หาวิธีกำจัดความเบื่อด้วยวิธีการที่ผิด เช่น ใช้ยาเสพติด เที่ยวเตร่ ดื่มสุรา หรือคบเพื่อนไม่ดี หรือหาความสุขที่รุนแรงที่อันตราย หรืออาจทำสิ่งที่ผิดกฎหมายได้ เป็นต้น แต่ถ้าเราจะรู้เท่าทันมัน เราก็จะรู้จักวิธีการจัดการกับมันได้อย่างถูกต้อง คือใช้ความอดทน รู้จักแสวงหาความสุขที่ดีมีประโยชน์ ไม่มีโทษ มาทดแทน ก็จะทำให้ไม่เกิดผลเสียแก่ชีวิต อีกทั้งยังจะทำให้ชีวิตดำเนินไปสู่จุดหมายที่ดีงามอีกด้วย

เตชปญฺโญ ภิกขุ 
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี


(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)


*********************

Free Web Hosting