ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องปัญญา

          ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่าการมีปัญญานั้นก็คือการที่จดจำสิ่งที่อ่านมาหรือฟังมาได้มาก และสามารถนำเอามาสอนหรือบรรยายให้คนอื่นฟังได้อย่างพิสดาร หรือได้แก่การนำเอาเรื่องที่ลึกลับที่คนฟังไม่เคยได้รู้มาก่อนมาเล่าให้คนอื่นฟัง จนทำให้คนฟังรู้สึกทึ่ง เช่น เรื่องลำดับและลักษณะของนรก สวรรค์ หรือเรื่องของพระอริยะบุคคลเป็นต้น

          แต่ในความเป็นจริงนั้น คำว่า ปัญญา สำหรับพุทธศาสนาจะหมายถึง ความรอบรู้ในเรื่องการดับทุกข์ ซึ่งก็คือความรอบรู้ในเรื่องอริยสัจ ๔ นั่นเอง และสิ่งที่จะบ่องบอกว่าใครมีปัญญาจริงหรือไม่ก็คือ การที่ความทุกข์ของผู้นั้นได้ลดน้อยลงหรือไม่มีอย่างแท้จริง  ซึ่งมันก็เรื่องส่วนตัวที่ไม่มีใครรู้ได้ว่าใครจะมีปัญญาจริงหรือไม่ นอกจากตัวของผู้ที่มีปัญญาเองจะรู้ได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งคนที่มีปัญญาบางคนก็สอนคนอื่นได้ เพราะมีความสามารถพิเศษ แต่บางคนก็สอนไม่ได้เพราะไม่มีความสามารถพิเศษ โดยพุทธศาสนาจะจำแนกปัญญาออกเป็น ๓ ระดับ คือ

 ๑. สุตามยปัญญา คือปัญญาที่เกิดจากการฟังหรืออ่านมา ซึ่งก็ยังเป็นแค่การจำได้ที่ยังไม่มีผลใดๆ

๒. จินตามยปัญญา คือปัญญาที่เกิดมาจากการพิจารณาด้วยเหตุด้วยผล จนเกิดเป็นความเข้าใจอย่างแจ่มชัด ซึ่งปัญญาขั้นนี้ก็ยังมีผลไม่มากนัก คือเพียงช่วยให้ความทุกข์ลดน้อยลงหรือเบาบางลงได้บ้างเท่านั้น

๓. ภาวณามยปัญญา คือปัญญาที่เกิดมาจากการลงมือปฏิบัติจริงๆ จนบังเกิดผลเป็นความลดลงหรือดับลงของทุกข์จริงๆ (แม้เพียงชั่วคราว)

สรุปได้ว่า การมีปัญญานั้นแท้จริงก็คือการมีความรู้ที่นำมาใช้ดับทุกข์ได้จริง ไม่ใช่การจำมาแล้วเอามาบอกคนอื่นได้แต่ยังดับทุกข์ไม่ได้ ซึ่งอย่างนี้ยังไม่เรียกว่ามีปัญญาจริง เพราะยังเป็นแค่เพียงการได้รู้จากคนอื่นมาเท่านั้น ยังไม่ใช่ความรู้ของตนเอง ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผล ไม่มีหลักฐานยืนยัน พิสูจน์ไม่ได้ และไม่เกิดประโยชน์ ก็จัดว่าห่างไกลคำว่าปัญญา จะเป็นได้ก็เพียงความงมงายเท่านั้น

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************
Free Web Hosting