หลักกรรมที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า คำสอนเรื่องกรรมที่สอนว่า เมื่อมนุษย์ทำกรรมใดแล้วจะต้องไปรับผลของกรรมนั้นในชาติต่อไปหรือจากตายไปแล้วนั้น ไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า แต่เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ที่ปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนามาช้านานแล้วโดยชาวพุทธไม่รู้ตัว ซึ่งคำสอนเรื่องกรรมที่แท้จริงของพุทธศาสนานั้นจะเป็นการสอนเรื่องความจริงที่เกิดขึ้นแก่จิตของเราในปัจจุบันดังนี้

คำว่า กรรม แปลว่า การกระทำด้วยเจตนา (ตั้งใจ) ซึ่งเจตนานั้นก็คือ กิเลส (คือความพอใจ, ไม่พอใจ, และลังเลใจ ซึ่งบางทีก็เรียกว่า ตัณหา ที่แปลว่า ความอยาก คือทั้งอยากได้และไม่อยากได้) ส่วน ผลของกรรม เรียกว่า วิบาก คือสรุปว่า เมื่อใดที่จิตของเราเกิดกิเลส ก็เรียกว่าเป็นกรรมทันที โดยกรรมนี้มี ๒ ประเภท คือ กรรมดี กับ กรรมชั่ว

กรรมดีก็คือ การกระทำที่ดี ที่เกิดมาจากกิเลสฝ่ายดี (อยากทำความดี ไม่อยากทำความชั่ว) ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากการกระทำทางกาย วาจา และใจ อันได้แก่ การมีเจตนาที่จะไม่เบียดเบียนชีวิต ทรัพย์สิน และกามารมณ์ของผู้อื่น, การไม่พูดโกหก คำหยาบ ส่อเสียด และเพ้อเจ้อ, การไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น, การไม่โกรธอาฆาตพยาบาทผู้อื่น, และการมีความเห็นที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม (เช่น เห็นว่าทำดีแล้วจะเกิดผลดีแก่จิตใจ), รวมทั้งการช่วยเหลือผู้อื่น (เช่น ให้ทรัพย์ ให้ความรู้ ให้ธรรมะ ให้โอกาส ให้แรงกาย เป็นต้น) โดยไม่หวังผลตอบแทน, การปฏิบัติต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้องเหมาะสม (เช่น เลี้ยงดูพ่อแม่ เชื่อฟังครูอาจารย์ เป็นต้น), การมีความขยัน อดทน ประหยัด, ไม่ฟุ่มเฟือย, การให้อภัย, การเสียสละเพื่อสังคม (เช่น ช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยาก เสียภาษี เป็นทหาร เป็นข้าราชการที่ดี เป็นต้น), การช่วยเหลือชีวิตสัตว์, การอนุรักษ์ธรรมชาติ (เช่น ป่าไม้ ทะเล แม่น้ำ ลำคลอง), การช่วยกันสร้างสันติสุขให้แก่ประเทศชาติ, และการช่วยกันสร้างสันติภาพให้แก่โลก เป็นต้น

กรรมชั่วก็คือ การกระทำที่ชั่วหรือเลว ที่เกิดมาจากกิเลสฝ่ายชั่ว (อยากทำความชั่ว ไม่อยากทำความดี) ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากการกระทำทางกาย วาจา และใจ อันได้แก่ การมีเจตนาที่จะเบียดเบียนชีวิต ทรัพย์สิน และกามารมณ์ของผู้อื่น, การมีเจตนาที่จะพูดโกหก คำหยาบ ส่อเสียด และเพ้อเจ้อ, การที่มีความโลภอยากได้ของผู้อื่น การอาฆาตพยาบาทผู้อื่น และการมีความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม (เช่น เห็นว่าทำดีแล้วไม่เกิดผลดีแก่จิตใจ)

วิบากหรือผลของกรรมนั้นมี ๓ อย่าง คือ ๑. ผลที่แน่นอน ๒. ผลที่ไม่แน่นอน และ ๓. ผลในอนาคต

ผลที่แน่นอนนั้นก็คือ เมื่อเกิดการกระทำกรรมใดลงไป ก็จะเกิดเป็นความรู้สึกขึ้นแก่จิต อันแก่ ๑. เมื่อทำกรรมดี ก็จะเกิดผลดี ซึ่งก็คือความรู้สึกที่ดี อันได้แก่ ความรู้สึกที่น่าพอใจ หรือ ความสุขใจ ความอิ่มเอมใจ ความสบายใจ ๒. เมื่อทำกรรมชั่ว ก็จะเกิดผลชั่ว ซึ่งก็คือความรู้สึกที่ไม่ดี อันได้แก่ ความรู้สึกที่ไม่น่าพอใจ หรือความร้อนใจ ความเศร้าหมองใจ ความไม่สบายใจ ซึ่งความรู้สึกที่เป็นผลของกรรมนี้จะเกิดขึ้นไม่ช่วงเวลาใดก็ช่วงเวลาหนึ่งดังนี้ ๑. ขณะที่กำลังทำกรรมอยู่ ๒. หรือเมื่อทำกรรมเสร็จแล้ว ๓. หรือหลังจากทำกรรมเสร็จแล้วอีกไม่นาน ส่วนเรื่องที่ว่าผลของกรรมนี้จะตั้งอยู่นานหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่ามีเจตนามากหรือน้อย อีกทั้งถ้าทำกรรมชนิดเดียวกันติดต่อกัน วิบากก็จะส่งเสริมกันให้มากยิ่งขึ้น เช่น เมื่อทำความดีทางกายและวาจาติดต่อกัน ก็จะเกิดความสุขใจติดต่อกันมากและนานยิ่งขึ้น  แต่ถ้าทำกรรมที่ตรงข้ามกันติดต่อกัน วิบากก็จะหักล้างกัน เช่น เมื่อได้ทำความดีมากทางกายแล้ว แต่ก็ได้พูดจาไม่ดีอีกเล็กน้อยด้วย ก็จะทำให้มีความสุขใจลดน้อยลงและดับหายไปเร็ว เป็นต้น ซึ่งเราก็ต้องมาสังเกตดูจากจิตของเราเอง

ผลที่ไม่แน่นอนนั้นก็คือ เมื่อทำกรรมใดลงไป ก็จะส่งผลแก่การใช้ชีวิต อันได้แก่ ๑. เมื่อทำกรรมดี (ความดี) ก็จะมีคนรักใคร่ ชมเชย ยกย่อง สรรเสริญ ให้รางวัล และชีวิตมีความเจริญ ไม่ตกต่ำ ไม่เดือดร้อน หรือมีความปกติสุข ๒. เมื่อทำกรรมชั่ว (ความเลว) ก็จะมีคนเกลียดชัง ดูหมิ่น ถูกลงโทษ และชีวิตตกต่ำ ไม่เจริญ หรือชีวิตมีแต่ปัญหาและความเดือดร้อน ซึ่งผลโดยอ้อมนี้มันไม่แน่นอน เพราะมันขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก  เช่น ถ้าทำความดีแล้วไม่มีใครรู้ ก็ไม่มีใครยกย่องหรือให้รางวัล ส่วนคนที่ทำความชั่วแล้วสามารถปกปิดเอาไว้ไม่ให้คนอื่นรู้ได้ ก็ไม่มีใครติเตียนหรือลงโทษ เป็นต้น ดังนั้นจึงไม่ควรสนใจเรื่องผลที่ไม่แน่นอนนี้ อีกทั้งพระพุทธเจ้าก็ไม่สอนเรื่องผลที่ไม่แน่นอนนี้อีกด้วย

ผลในอนาคตนั้นก็คือ ทุกครั้งที่กิเลสเกิดขึ้น (กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม) แล้วดับหายไป มันจะทิ้งความเคยชินเอาไว้ในจิตใต้สำนึก เมื่อจิตเกิดกิเลสบ่อยๆ จิตใต้สำนึกก็จะมีความเคยชินของกิเลสมาก ซึ่งพฤติกรรมของมนุษย์เรานี้ก็มาจากความเคยชินที่เรียกว่า นิสัย ที่ควบคุมได้ยาก เปลี่ยนแปลงได้ยาก เพราะมันมาจากจิตใต้สำนึกที่เป็นจิตส่วนลึก เมื่อมีสิ่งภายนอกมากระตุ้น จิตก็จะเกิดกิเลสขึ้นมาทันทีอย่างรวดเร็วและรุนแรงจนห้ามไม่ได้ แล้วก็จะเกิดกรรมหรือการกระทำด้วยอำนาจของกิเลสต่อไปทันที อย่างเช่น เมื่อมีสิ่งของที่น่าพอใจมาให้พบเห็น ก็จะเกิดความอยากได้ขึ้นมาทันทีอย่างรุนแรงจนห้ามไม่อยู่ แล้วก็จะเกิดการลักขโมยขึ้นมา เมื่อทำสำเร็จก็เกิดความพอใจและอยากทำต่อไปอีก ซึ่งเมื่อทำบ่อยๆก็จะยิ่งเกิดความประมาทจนถูกจับได้ แล้วก็ทำให้ได้รับการติดเตียนหรือลงโทษขึ้นมาอีกในที่สุด เป็นต้น ซึ่งนี่คือลักษณะที่เรียกว่า วัฎฎะสงสาร ที่หมายถึง การวนเวียนเป็นวงกลม คือเป็นการกระทำที่วนเวียนอยู่ลักษณะ ๓ อย่าง คือ  อยาก-ทำ-ได้-อยาก-ทำ-ได้ ฯ วนอยู่เช่นนี้ไปเรื่อยไม่หยุด

ทุกครั้งที่จิตเกิดกิเลส ก็จะทำให้จิตเกิดความยึดถือว่ามีตนเองที่มีความพอใจและไม่พอใจขึ้นมาด้วยทันที ซึ่งความยึดถือนี้เองที่ทำให้จิตเกิดความทุกข์ ซึ่งถ้าเป็นกิเลสฝ่ายดี (คืออยากทำความดี) ก็จะเกิดความยึดถือว่ามีตัวตนที่ดีขึ้นมา ซึ่งก็จะทำให้เกิดความทุกข์ซ่อนเร้นขึ้นมา แต่ถ้าเป็นกิเลสฝ่ายชั่ว (คืออยากทำความชั่ว) ก็จะเกิดความยึดถือว่ามีตัวตนที่ชั่วขึ้นมา ซึ่งก็จะทำให้เกิดความทุกข์เปิดเผยขึ้นมา แต่ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือชั่ว มันก็ทำให้เกิดความทุกข์ทั้งสิ้น ซึ่งนี่แสดงถึงว่ากรรมทั้งหลายจะมีผลแก่จิตในอนาคตด้วย คือทำให้เกิดการสั่งสมนิสัยที่จะทำให้จิตเกิดความทุกข์ขึ้นมาอีกในอนาคต ยิ่งทำกรรมชั่วไว้มาก ในอนาคตก็จะยิ่งมีความทุกข์เปิดเผยมาก แต่ถึงแม้จะทำแต่กรรมดีเอาไว้มาก ในอนาคตก็จะยังมีความทุกข์ซ่อนเร้นมาก จะต้องไม่มีกิเลส หรือเหนือกรรม หรือไม่มีกรรมใดๆเท่านั้น จึงจะหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายได้

สรุปได้ว่า เรื่องกรรมที่แท้จริงของพุทธศาสนานั้นเป็นวิทยาศาสตร์ คือเป็นการสอนถึงเรื่องความจริงของจิตมนุษย์ในปัจจุบันว่า เมื่อทำความดีก็จะเกิดความสุขใจ แต่เมื่อทำความชั่วก็จะเกิดความร้อนใจหรือไม่สบายใจ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ยังเป็นเรื่องที่ทำให้จิตเกิดความทุกข์ทั้งสิ้น จะต่างกันตรงที่ว่า คนที่ยังทำความชั่วอยู่จะไม่สามารถดับทุกข์ได้ จะต้องเป็นคนดีเท่านั้นจึงจะสามารถปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าได้ เพราะในการปฏิบัติจำเป็นจะต้องมีศีลเป็นพื้นฐาน ซึ่งคนชั่วย่อมจะไม่มีศีล จะมีก็เฉพาะคนดีเท่านั้นที่มีศีล ซึ่งเรื่องกรรมทั้งหลายนี้ (คือทั้งเรื่องกรรมชนิดข้ามภพข้ามชาติของพราหมณ์ และแม้เรื่องกรรมที่แท้จริงของพุทธศาสนาเองก็ตาม) พระพุทธเจ้าสอนว่า เมื่อเราเริ่มศึกษาและปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน ก็ไม่ควรสนใจศึกษาเรื่องกรรมเหล่านี้ เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่การศึกษาและปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่ทำให้ติดอยู่ในความทุกข์ ต่อเมื่อเราศึกษาจนเกิดความเข้าใจในวิธีการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์อย่างถูกต้องแล้ว จึงค่อยมาศึกษาในภายหลัง

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๗

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

 

*********************
Free Web Hosting