เมื่อยึดก็ทุกข์ เมื่อปล่อยก็ไม่ทุกข์

คำสอนเรื่องการดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ๔ ของพระพุทธเจ้านั้นสรุปสั้นๆอยู่ที่ประโยคที่ว่า "อย่ายึดถือสิ่งทั้งหลายว่าเป็นตัวตน (อัตตา)" (คำว่า อัตตา หมายถึง ตัวตนที่แท้จริง หรือตัวตนอมตะที่ไม่มีวันตายหรือดับหายไปอย่างเด็ดขาด)

โดยเฉพาะการยึดถือร่างกายและจิตใจ (ขันธ์ ๕) ที่สมมติเรียกว่าเป็นตัวเรา-ของเรานี้ว่าเป็นตัวเรา-ของเราจริงๆ เพราะความยึดถือนี้คือต้นเหตุของความทุกข์ทั้งหมดของจิตใจมนุษย์ (ความยึดถือก็คืออาการที่จิตอยากจะให้สิ่งที่ยึดถือเอาไว้นั้นเป็นไปตามความอยากหรือตัณหา)

เมื่อไม่มีความยึดถือ จิตก็ไม่มีความทุกข์ เมื่อไม่มีความทุกข์ จิตก็สงบเย็น (นิพพาน) ถ้าสงบเย็นชั่วคราวก็นิพพานชั่วคราว ถ้าสงบเย็นถาวรก็นิพพานถาวรหรือตลอดชีวิต (ความทุกข์ก็คือความรู้สึกเครียด หนัก-เหนื่อยใจ ทรมานใจ เศร้าใจ เสียใจ แห้งเหี่ยวใจ ตรอมใจ เร่าร้อนใจ เป็นต้น ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับความเหนื่อยยากลำบากของร่างกาย ความแก่ ความเจ็บ และความตายของร่างกาย รวมทั้งความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความประสบกับสิ่งไม่รัก และความผิดหวัง ซึ่งตรงข้ามกับนิพพานที่เป็นความรู้สึก สงบ เย็น ปลอดโปร่ง สดชื่น แจ่มใส เบา สบาย)

แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า เราไม่สามารถบังคับจิตให้ปล่อยวางความยึดถือได้ เพราะจิตใต้สำนึกมันมีความเคยชินอย่างมาก ที่จะเกิดความยึดถือขึ้นมาอีก พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ใช้ปัญญาและสมาธิมาทำงานร่วมกันโดยมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้วเพื่อมาปฏิบัติให้ความยึดถือระงับดับหายไปได้ทั้งอย่างชั่วคราวและถาวร

เมื่อเราตั้งใจเป็นคนดีมีศีลธรรม คือ ไม่เบียดเบียนชีวิต ทรัพย์สิน รวมทั้งกามารมณ์ของผู้อื่น รวมทั้งตั้งใจที่จะไม่พูดคำหยาบ โกหก ส่อเสียด และเพ้อเจ้อ เท่านี้เราก็มีศีลอย่างสมบูรณ์แล้ว เมื่อมีศีลจิตก็จะปกติพร้อมที่จะฝึกให้มีสมาธิได้แล้ว ซึ่งการฝึกสมาธิก็ไม่ยาก เพียงเรามีสติกำหนดรู้สิ่งที่ดีงาม (เช่นปัญญา) อยู่อย่างต่อเนื่องได้เป็นเวลานานๆ จิตของเราก็มีสมาธิอย่างสมบูรณ์แล้ว เมื่อฝึกจิตจนมีสมาธิเป็นนิสัยแล้ว วิธีการปฏิบัติก็ไม่ยาก เพียงเรานำเอาปัญญามาเพ่งพิจารณาด้วยสมาธิอยู่ตลอดเวลา จิตก็จะปล่อยวางความยึดถือได้ทั้งอย่างชั่วคราวและถาวร

จุดที่สำคัญที่สุดก็คือการมีปัญญา เพราะถ้าขาดปัญญาเสียอย่างเดียว ก็จะไม่สามารถปล่อยวางความยึดถือได้ แม้จะมีศีลและสมาธิอย่างสมบูรณ์แล้วก็ตาม

ปัญญา แปลว่า ความรอบรู้ คือหมายถึง ความรอบรู้ในสิ่งที่ควรรู้ ซึ่งสิ่งที่ควรรู้ก็ได้แก่อริยสัจ ๔ โดยหัวใจของอริยสัจ ๔ ก็คือ ความรู้เรื่องความเป็นอนิจจัง (ไม่เที่ยง) ทุกขัง (สภาวะที่ต้องทน) และอนัตตา (ความไม่ใช่ตัวตนอมตะ) ของขันธ์ ๕ (คือร่างกายและจิตใจที่สมมติเรียกว่าเป็นตัวเรา-ของเรา)

ปัญญานี้มี ๓ ระดับ คือ

๑. จากการอ่านหรือฟังมาแล้วจำได้

๒. เมื่อนำเอาสิ่งที่จำได้นั้นมาคิดวิเคราะห์หาเหตุหาผลที่เชื่อมโยงกันจนเกิดเป็นความเข้าใจอย่างแจ้งชัด ก็จะเป็นปัญญาขั้นเข้าใจ

๓. เมื่อนำเอาความเข้าใจนี้มาทดลองปฏิบัติ จนเกิดผลจริง ก็จะเป็นปัญญาขั้นเห็นแจ้ง หรือเห็นจริง หรือมีดวงตาเห็นธรรม

ก่อนอื่นเราต้องพิจารณาดูจากพื้นฐานของทุกสิ่ง (สรุปแล้วสิ่งทั้งหลายของธรรมชาติก็มีเพียง วัตถุ กับ จิตใจ เท่านั้น) ว่า มันมีอะไรบ้างที่สามารถเกิดขึ้นมาได้เองลอยๆโดยไม่มีเหตุ? ซึ่งเมื่อเราพบความจริงว่าไม่มีอะไรที่จะเกิดขึ้นมาได้เองลอยๆโดยไม่มีเหตุ ก็จะทำให้เราเข้าใจได้ว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจะต้องมีเหตุ (ถ้ามีหลายๆเหตุก็เรียกว่า ปัจจัย) มาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาทั้งสิ้น ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเหตุปัจจัยนี้เรียกว่า “สิ่งปรุแต่ง”

เมื่อสิ่งใดถูกปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาเป็นตัวตนชั่วคราวแล้ว มันก็มีการเปลี่ยนแปลงหรือไหลไปสู่ความเสื่อมสลายอยู่ตลอดเวลา และไม่สามารถตั้งอยู่ไปชั่วนิรันดรหรือเป็นอมตะได้ (ที่เรียกว่าอนิจจัง) เพราะไม่ช้าก็เร็วสิ่งที่เกิดขึ้นมานี้จะต้องแตก (ใช้กับวัตถุ) หรือดับ (ใช้กับจิต) ไปในที่สุด ซึ่งสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายนี้เราจะสมมติเรียกว่าเป็น “ตัวตนชั่วคราว” หรือ “ตัวตนสมมติ” อีกทั้งเมื่อเกิดตัวตนชั่วคราวขึ้นมาแล้ว ตัวตนนี้ก็ยังต้องทนประคับประคองตัวตนชั่วคราวของมันเอาไว้ด้วยความยากลำบากอยู่ตลอดเวลา (ที่เรียกว่าทุกขัง) ซึ่งนี่ก็แสดงถึงว่า ตัวตนชั่วคราวนี้ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะยึดถือว่าเป็นตัวเราหรือของเราได้เลย (ที่เรียกว่าอนัตตา) เพราะมันไม่มีตัวตนที่แท้จริงที่จะตั้งอยู่หรือดำรงอยู่ไปชั่วนิรันดร (นิจจัง) อย่างเป็นสุข (สุขัง) ให้มายึดถือว่าเป็นตัวเรา-ของเราได้

ร่างกายของเรานี้ต้องอาศัยอาหาร น้ำ ความร้อนที่พอเหมาะ และอากาศบริสุทธิ์ มาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา ถ้าขาดสิ่งใดไปร่างกายก็จะแตกสลายหรือตาย เพราะร่างกายไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงหรือตัวตนอมตะ ดังนั้นไม่ช้าก็เร็วร่างกายก็ต้องแตกสลายหรือตายไปในที่สุด อีกทั้งเมื่อร่างกายยังไม่ตาย มันก็ยังต้องทนประคับประคองหรือรักษาตัวตนชั่วคราวของมันเอาไว้อย่างยากลำบากอยู่ตลอดเวลา

ส่วนจิตหรือใจนั้นเป็นสิ่ง (หรือธรรมชาติ) ที่ต้องอาศัยร่างกายเกิดขึ้น ถ้าไม่มีร่างกาย จิตใจก็จะไม่มีหรือไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ จิตใจจึงจัดว่าเป็นสิ่งปรุงแต่งของธรรมชาติที่มีการทำงานอย่างเป็นระบบอย่างน่าอัศจรรย์ โดยร่างกายที่ยังมีชีวิตอยู่นี้ก็มีระบบประสาท ๖ จุด คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำหรับเอาไว้รับรู้สิ่งต่างๆภายนอกที่คู่กัน คือ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งกระทบกาย (เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง) และสิ่งกระทบใจ (เช่น การรับรู้ ความรู้สึก ความจำ ความคิด)

เมื่อมีสิ่งภายนอกที่ตรงกันมากระทบระบบประสาทใด ก็จะเกิดการรับรู้ (วิญญาณ) ขึ้นมาที่ระบบประสาทนั้นทันที เช่น เมื่อมีรูป (ภาพ) มากระทบตา ก็จะเกิดการรับรู้รูป (เกิดวิญญาณทางดา) ขึ้นมาที่ระบบประสาทตาทันที เป็นต้น

เมื่อเกิดมีการรับรู้ขึ้นมาเมื่อใด ก็จะเกิดการจำ (สัญญา) สิ่งที่รับรู้นั้นได้ทันที (เพราะสมองมีความจำของสิ่งที่รับรู้นั้นอยู่ก่อนแล้วจากการได้รับรู้มาก่อนทั้งชีวิต) เช่น จำได้ว่าภาพที่เห็นเป็นชาย หรือหญิง ชื่ออะไร หรือเป็นใคร เป็นต้น

เมื่อเกิดการจำได้แล้ว ก็จะเกิดความรู้สึก (เวทนา) ต่อไปทันที เช่น เกิดความรู้สึกเป็นสุขเมื่อได้เห็นภาพของเพศตรงข้ามที่สวยงาม หรือเกิดความรู้สึกเป็นทุกข์เมื่อได้เห็นภาพของคนที่เราเกลียดหรือกลัว หรือรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ (จืดๆ) เมื่อได้เห็นภาพของคนทั่วไปที่เราไม่ชอบแต่ก็ไม่เกลียดไม่กลัว เป็นต้น

เมื่อเกิดความรู้สึกใดขึ้นมาแล้ว จิตก็จะปรุงแต่ง (สังขาร) ต่อไปว่าจะทำอย่างไรต่อความรู้สึกนั้นทันที เช่น อยากได้เพศตรงข้าม หรืออยากหนี อยากทำลายคนที่เราเกลียดหรือกลัว หรือลังเลใจ (คือยังไม่รู้ว่าจะอยากได้หรือไม่อยากได้) เมื่อได้เห็นคนทั่วไป หรือมีการคิดไปต่างๆนาๆ เป็นต้น (เมื่อจิตปรุงแต่งให้เกิดความอยากขึ้นเมื่อใด ก็เท่ากับว่าได้เกิดความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเราที่เป็นผู้ที่มีความอยากขึ้นมาแล้ว พร้อมกับความทุกข์ของจิตใจ แต่ถ้าจิตสามารถหยุดหรือควบคุมไม่ให้เกิดความอยากนี้ขึ้นมาได้ จิตก็จะไม่เกิดความยึดถือขึ้นมา แล้วจิตก็จะไม่เป็นทุกข์หรือนิพพาน)

นี่คือระบบการทำงานที่สมมติเรียกว่า จิต หรือ ใจ ที่ต้องอาศัยเหตุต่างๆ (หรือปัจจัย) มาร่วมกันปรุงแต่งมันจึงเกิดขึ้นมาได้ ทั้งๆที่มันไม่ได้มีตัวตน (อัตตา) เป็นของตนเองชนิดที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งใดมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาเลย ซึ่งจิตหรือใจนี้เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ไม่สามารถตั้งอยู่ไปชั่วนิรันดรหรือเป็นอมตะได้ อีกทั้งเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ยังต้องทน (คือถ้ามีความยึดถือมันก็จะรู้สึกทนได้ยาก แต่ถ้าไม่มีความยึดถือมันก็จะรู้สึกทนได้ง่าย) อยู่ตลอดเวลาอีกด้วย ซึ่งนี่แสดงถึงความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของจิตใจ

เมื่อเรานำเอาความเข้าใจ (เรื่องร่างกายและจิตใจไม่ใช่ตัวเรา-ของเราจริง) นี้มาเพ่ง (ด้วยสมาธิ) พิจารณาดูจากร่างกายและจิตใจของเรา (ตามที่สมมติเรียก) ที่มีอยู่จริง อย่างจริงจังและต่อเนื่อง จิตมันก็จะยอมรับความจริง เพราะมันเห็นความจริงแล้วว่า ร่างกายและจิตใจนี้มันไม่เที่ยง มีสภาวะที่ต้องทนและหาตัวตนที่แท้จริงไม่มี เมื่อเห็นความจริงแล้วจิตมันก็จะคลายหรือปล่อยวางความยึดถือว่าร่างกายและจิตใจนี้ตัวตัวเรา-ของเราลงทันที (แม้เพียงชั่วคราว) ซึ่งการปล่อยวางนี้ก็คืออาการที่จิตไม่มีความอยากใดๆ (คือทั้งอยากได้ อยากมี อยากเป็น และไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ที่เรียกว่าเป็นตัณหาหรือกิเลส) อยู่ทั้งสิ้น 

เมื่อจิตไม่มีความอยากและความยึดถือ มันก็ไม่มีความทุกข์  เมื่อไม่มีทุกข์ มันก็สงบเย็น หรือนิพพาน (แม้เพียงชั่วคราว) และถ้าเราสามารถปฏิบัติปัญญาและสมาธินี้ได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ จนจิตใต้สำนึกหมดความเคยชินที่จะกลับมาเกิดความอยากและความยึดถือขึ้นมาอีกอย่างถาวร จิตนี้ก็จะไม่กลับมาเกิดความทุกข์ขึ้นมาได้อีกอย่างถาวร หรือนิพพานอย่างถาวร ซึ่งนี่คือการสรุปคำสอนทั้งหมดเรื่องการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า

 

เตชปัญโญ ภิกขุ. ๑๒ เมษายน ๒๕๕๗
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
[ศึกษารายละเอียดได้ที่
www.whatami.net]

*********************
Free Web Hosting