ตายแล้วเป็นอย่างไร?

เรามักจะคิดว่า การที่เราจะรู้ว่าตายแล้วเป็นอย่างไรนั้น เราจะต้องพิสูจน์ด้วยการฆ่าตัวตาย จึงจะรู้ว่าตายแล้วเป็นอย่างไร ซึ่งนี่เป็นความเข้าใจของคนที่ยังไม่รู้จักระบบของชีวิตอย่างถูกต้อง

ถ้าเราจะรู้จักชีวิตอย่างถูกต้องแล้ว แม้เราไม่ต้องพิสูจน์ เราก็สามารถที่จะเข้าใจชีวิตหลังความตายได้อย่างแจ่มแจ้งด้วยสติปัญญาของเราเอง โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเชื่อจากใครๆทั้งสิ้น เหมือนการที่เราจะเข้าใจได้ว่า เมื่อเป่าเทียนดับ แล้วไฟเทียนนั้นหายไปไหน หรือเหมือนกับเราเข้าใจได้ว่า เมื่อเราปิดโททัศน์ แล้วภาพและเสียงของโทรทัศน์นั้นหายไปไหน ซึ่งเราก็เข้าใจอยู่ว่า ไฟเทียนและภาพกับเสียงของโทรทัศน์นั้น มันเป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งหรือสร้างขึ้นมาจากเหตุและปัจจัยเท่านั้น เมื่อเหตุหรือปัจจัยของมันได้หายไป ทั้งไฟเทียนและภาพกับเสียงของโทรทัศน์ จึงต้องพลอยหายตามไปด้วยทันที

คือไฟเทียนนั้นก็ต้องอาศัยไฟจากไม้ขีดมาเป็นเหตุ และอาศัยเนื้อเทียนไส้เทียน ออกซิเจนมาเป็นและปัจจัย จึงปรุงแต่งให้เกิดไฟเทียนนั้นขึ้นมาได้ เมื่อขาดปัจจัย เช่น เนื้อเทียนถูกเผาไหม้หมด หรือไม่มีออกซิเจน ไฟเทียนนั้นก็จะดับหายไปทันที หรืออย่างเช่นภาพและเสียงจากโทรทัศน์นั้นก็มีคลื่นสัญญาณเฉพาะของโทรทัศน์มาเป็นเหตุ และมีเครื่องรับโทรทัศน์กับมีไฟฟ้ามาเป็นปัจจัย จึงปรุงแต่งให้เกิดภาพและเสียงจากโทรทัศน์ขึ้นมาได้ เมื่อไม่มีคลื่นสัญญาณ หรือไม่มีไฟฟ้า หรือเครื่องรับโทรทัศน์นั้นเสียหาย ภาพและเสียงจากโทรทัศน์นั้นก็จะดับหายไป (ในกรณีที่เครื่องเปิดอยู่ก่อน) หรือไม่เกิดขึ้นมาได้ (ในกรณีที่ยังไม่ได้เปิดเครื่อง) และแม้คลื่นสัญญาณของโทรทัศน์นั้น ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยเครื่องส่งสัญญาณและไฟฟ้ามาเป็นเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาอีกทีหนึ่งด้วยเหมือนกัน ถ้าเครื่องส่งสัญญาณเสียหาย หรือไม่มีไฟฟ้ามาหล่อเลี้ยงเครื่องส่งสัญญาณ คลื่นสัญญาณโทรทัศน์นั้นก็จะดับหายไปหรือไม่เกิดขึ้นมาได้ เป็นต้น

พระพุทธเจ้าสอนให้เราพิจารณาโดยใช้เหตุผลจากสิ่งที่เรามีอยู่จริงในปัจจุบันว่า ชีวิตของคนเรานี้ประกอบขึ้นมาจากธาตุ (สิ่งที่มีอยู่จริงตามธรรมชาติ) ๖ อย่าง คือ ของแข็ง ของเหลว ความร้อน ก๊าซ ที่ว่าง (สุญญากาศ) และวิญญาณ (การรับรู้ที่ต้องอาศัยระบบประสาททั้ง ๖ ของร่างกาย คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เพื่อเกิดขึ้นมา) ที่มาปรุงแต่งให้เกิดเป็นร่างกายและจิตใจ (หรือขันธ์ ๕) ขึ้นมา

คือของแข็ง ของเหลว ความร้อน และก๊าซ นี้ก็ปรุงแต่งให้เกิดเป็นร่างกาย (รูป) ขึ้นมา แล้วร่างกายนี้ก็ต้องอาศัยที่ว่าง (สุญญากาศ) เพื่อตั้งอยู่ ซึ่งร่างกายที่ยังเป็นๆอยู่นี้ก็จะมีระบบประสาทที่ปรุงแต่งให้เกิดวิญญาณ (การรับรู้) ขึ้นมาตามระบบประสาททั้ง ๖ ได้ ซึ่งวิญญาณนี้เองที่เมื่อเกิดขึ้นมาเมื่อใด มันก็จะมารับรู้สิ่งต่างๆทางระบบประสาทที่มันเกิดขึ้นมา แล้วมันก็จะเกิดความรู้สึกต่อสิ่งที่มันรับรู้นั้นด้วยเสมอ (เวทนา)เมื่อมันเกิดความรู้สึกแล้ว มันก็จะจำสิ่งที่มันรู้สึกนั้นได้ (สัญญา) ทันที เมื่อมันจำได้แล้วมันก็จะนำเอาสิ่งที่มันจำได้นั้นมาปรุงแต่งเป็นความพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง หรือความยึดถือว่ามีตัวเองบ้าง หรือความคิดต่างๆบ้าง (สังขาร) เป็นต้น ขึ้นมาทันที ซึ่งอาการนี้เองที่เราสมมติเรียกว่า จิต หรือ ใจ

เมื่อร่างกายยังเป็นๆอยู่และระบบประสาททั้ง ๖ ยังทำงานอยู่ ก็เรียกว่ายังมีชีวิตจิตใจอยู่ หรือยังไม่ตาย แต่เมื่อร่างกายเสียหาย หรือตาย ก็จะทำให้ระบบประสาททั้ง ๖ พลอยเสียหายตามไปด้วยทันที เมื่อระบบประสาททั้ง ๖ เสียหาย ก็จะทำให้ไม่มีวิญญาณ (การรับรู้) เกิดขึ้นมาที่ระบบประสาททั้ง ๖ได้ เมื่อไม่มีวิญญาณ ก็จะทำให้เวทนา สัญญา และสังขาร พลอยไม่เกิดขึ้นมาด้วย คือเรียกง่ายๆว่า เมื่อไม่มีร่างกายเสียอย่างเดียว จิตใจที่รู้สึกว่ามีตัวเราอยู่นี้ก็จะพลอยไม่มีตามไปด้วยทันที

สรุปได้ว่า ถ้าเราจะเข้าใจถึงระบบพื้นฐานของทุกชีวิตว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น คือทั้งร่างกายและจิตใจ ล้วนจะต้องอาศัยสิ่งอื่นๆมาเป็นเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นทั้งสิ้น ไม่มีสิ่งใดที่จะเกิดขึ้นมาได้เองลอยๆโดยไม่อาศัยเหตุและปัจจัย เราก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า ชีวิตของเรานี้มันเป็นเพียงสิ่งที่ถูกปรุงแต่ง (หรือสร้างหรือประกอบ) ขึ้นมาเพียงชั่วคราวเท่านั้น จึงเท่ากับจะหาสิ่งที่เป็นตัวตนของเราเองจริงๆ (ชนิดที่จะตั้งอยู่อย่างเป็นอมตะ) นั้นไม่มี (ที่เรียกว่าสุญญตา) เมื่อเหตุหรือปัจจัยของมันเสียหายไป เช่นขาดอาหาร หรือน้ำ หรือออกซิเจน ร่างกายก็จะแตกสลายหรือตาย เมื่อร่างกายตาย ก็จะทำให้จิตใจพลอยดับหายตามไปด้วยทันที ซึ่งนี่คือความจริงของทุกชีวิตที่เราสามารถใช้เหตุผลจากสิ่งที่เรามีอยู่จริงในชีวิตของเรามาพิจารณา ก็จะทำให้เราเกิดความเข้าใจอย่างแจ่งแจ้งในชีวิต (คือร่างกายและจิตใจ) ของเราและทุกชีวิตได้ อันจะทำให้เราเกิดความเข้าใจเรื่องภายหลังความตายของร่างกายได้ด้วยสติปัญญาของเราเองโดยไม่ต้องพิสูจน์ และเป็นความเข้าใจที่ไม่มีทางจะผิดพลาดได้เลย ซึ่งความเข้าในนี้เองที่เป็นปัญญาของอริยมรรค ที่เมื่อนำมาร่วมกับศีลและสมาธิ ก็จะใช้ดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าได้

 เตชปญฺโญ ภิกขุ. ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๕
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
(ศึกษารายละเอียดได้
ที่ www.whatami.net)

*********************
Free Web Hosting