สรุป พราหมณ์ กับ พุทธ ต่างกันอย่างไร?

        ในปัจจุบันหลักคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ได้ผสมหรือปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนามาช้านานแล้วโดยชาวพุทธไม่รู้ตัว จึงทำให้ชาวพุทธเข้าใจหลักพุทธศาสนาที่แท้จริงผิดพลาดไปหมด แล้วก็มีการปฏิบัติที่ผิดพลาดตามไปด้วย จึงทำให้ชาวพุทธไม่ได้รับประโยชน์จากคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า คือกลายเป็นว่า ชาวพุทธนั้นมีแต่ชื่อว่าเป็นพุทธ แต่การปฏิบัติกลับกลายเป็นพราหมณ์กันไปหมดโดยไม่รู้ตัว และยังยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งที่ตัวเองยึดถือปฏิบัติอยู่นี้คือคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าอีกด้วย อีกทั้งเมื่อมีผู้นำคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้ามาบอกกล่าว ซึ่งไม่ตรงกับความเชื่อที่ผสมหรือปลอมปนกับพราหมณ์อยู่ จึงทำให้ชาวพุทธไม่ยอมรับ แถมบางคนยังต่อต้านอีกด้วย ดังนั้นเพื่อทำความเข้าใจว่าพุทธแท้ๆนั้นสอนว่าอย่างไร? และพราหมณ์เขาสอนอย่างไร บทความนี้จึงได้สรุปหลักของพุทธกับพราหมณ์ที่แตกต่างกันเอาไว้ เพื่อให้ผู้ที่สนใจจะได้ศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อศาสนาทั้งสองอย่างถูกต้องต่อไป 

 

๑. เรื่องสิ่งสูงสุด

ศาสนาพราหมณ์ (หรือฮินดู) เป็นศาสนาประเภทเทวนิยมคือเคารพยอมรับเรื่องเทพเจ้าเป็นสิ่งสูงสุด โดยเทพเจ้า ๓ องค์ที่ชาวฮินดูให้ความเคารพสูงสุดอันได้แก่

๑. พระพรหม ที่เป็นเทพเจ้าผู้สร้างหรือให้กำเนิดทุกสิ่งในจักรวาลขึ้นมา

๒. พระวิษณุ หรือพระนารายณ์ ที่เป็นเทพเจ้าผู้ปกป้องรักษา

๓. พระอิศวร หรือพระศิวะ ที่เป็นเทพเจ้าผู้ทำลาย

เทพเจ้าทั้ง ๓ องค์นี้รวมเรียกว่า ตรีมูรติ ที่เป็นเทพเจ้าสูงสุด แต่ชาวฮินดูยังนับถือเทพเจ้ารองๆลงมาอีกมากประมาณ ๓๐๐ ล้างองค์

ส่วนพุทธศาสนาจะสอนว่า สิ่งสูงสุดในโลกและในจักรวาล ที่คอยควบคุมและดลบันดาลทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นไปก็คือธรรมชาติ ที่แสดงออกมาในลักษณะของกฎของธรรมชาติที่ชื่อว่า กฎอิทัปปัจจยตา (คือกฎที่มีใจความสรุปว่า “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ต้องมีเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น”)

 

๒. เรื่องการกำเนิดชีวิต

ศาสนาพราหมณ์จะสอนว่า โลกและทุกชีวิตเกิดมาจากพระพรหมเป็นผู้สร้างขึ้นมาและคอยควบคุมอยู่ (พรหมลิขิต) ส่วนพระนารายณ์จะเป็นผู้คอยปกป้องรักษา (โดยการอวตารลงมาเป็นเป็นมนุษย์ เช่น เป็นพระรามเพื่อฆ่ายักษ์ที่คอยทำร้ายมนุษย์ หรือเป็นพระพุทธเจ้าเพื่อสอนมนุษย์ผิดๆเพื่อให้มนุษย์ตกนรกกันมากๆ เพราะสวรรค์เต็มหมดแล้ว เป็นต้น) ส่วนพระอิศวรจะเป็นผู้ทำลาย

ส่วนพุทธศาสนาจะสอนว่า โลกนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ โดยมีธาตุ ๔ เป็นพื้นฐาน คือ ๑. ธาตุดิน (ของแข็ง) ๒. ธาตุน้ำ (ของเหลว) ๓. ธาตุไฟ (ความร้อน) ๔. ธาตุลม (อากาศ) โดยธาตุทั้ง ๔ นี้จะปรุงแต่งกันทำให้เกิดเป็นวัตถุสิ่งของต่างๆขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยวัตถุสิ่งของทั้งหลายนี้จะอาศัยธาตุว่าง (สุญญากาศ) ตั้งอยู่ และธาตุทั้ง ๔ นี้ยังปรุงแต่งให้เกิดวัตถุที่แสนมหัศจรรย์ (คือร่างกายของมนุษย์ สัตว์ และพืช) ขึ้นมาอีกด้วย โดยวัตถุที่แสนมหัศจรรย์นี้ก็จะปรุงแต่งหรือทำให้เกิดมีธาตุที่พิเศษสุดขึ้นมาอีก นั่นก็คือ ธาตุรู้ (หรือธาตุวิญญาณ) ซึ่งธาตุรู้นี้เองที่ทำให้ร่างกายและระบบประสาทต่างๆของร่างกายมนุษย์ สัตว์ และพืชเกิดการรับรู้และรู้สึกต่อสภาพแวดล้อมต่างๆของธรรมชาติได้ และสิ่งที่มหัศจรรย์ที่สุดก็คือ มนุษย์นั้นจะมีเนื้อสมองพิเศษที่สามารถจดจำสิ่งต่างๆที่รับรู้และรู้สึกมาได้เป็นอย่างดี จึงทำให้มนุษย์นั้นมีความทรงจำมากและการคิดนึกปรุงแต่งได้มากและสลับซับซ้อนอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง จนเกิดเป็นสิ่งที่สมมติเรียกกันว่า "จิต" หรือ "ใจ" ขึ้นมา

 

๓. เรื่องของจิต (หรือวิญญาณ)

        ศาสนาพราหมณ์จะสอนว่า จิต (หรือวิญญาณ) ของมนุษย์และสัตว์นี้เป็น อัตตา (ตัวตนที่เป็นอมตะ คือจะมีอยู่ไปชั่วนิรันดร) ที่แยกออกมาจากปรมาตมันหรือพรหม แล้วก็จะเวียนว่ายตาย-ในทางร่างกายเกิดเพื่อรับผลกรรมของตัวเอง จนกว่าจะบำเพ็ญตบะเพื่อชำระล้างกิเลสให้หมดสิ้นไปจากจิตได้ จิตก็จะบริสุทธิ์และกลับไปรวมกับปรมาตมันหรือพรหมดังเดิม และมีความสุขอยู่ชั่วนิรันดร  

ส่วนพุทธศาสนาจะสอนว่า จิตของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายนี้เป็น อนัตตา (คือเป็นเพียงสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาเท่านั้น จึงไม่มีตัวตนเป็นของตนเอง และก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง หรือไม่เป็นอมตะ รวมทั้งยังต้องทนอยู่อีกด้วย) ที่เกิดขึ้นมาจากการปรุงแต่งของระบบประสาทที่ยังดีอยู่ของร่างกายที่ยังเป็นๆอยู่เท่านั้น เมื่อจิตนี้มีเจตนาดี ก็จะทำดี แล้วก็จะเกิดความสุขใจ อิ่มใจขึ้นมาทันที (ที่สมมติเรียกว่าเป็นเทวดาที่กำลังอยู่บนสวรรค์) แต่ถ้าจิตนี้มีเจตนาชั่ว ก็จะทำชั่ว แล้วก็จะเกิดความทุกข์ใจ เสียใจขึ้นมาทันที (ที่สมมติเรียกว่าเป็นสัตว์นรกที่กำลังอยู่ในนรก) ซึ่งอาการนี้เรียกว่าการเวียนว่ายตาย-เกิดในทางจิตใจ จนกว่าเมื่อใดที่จิตนี้จะหลุดพ้นจากความดีและชั่ว จิตก็จะบริสุทธิ์และไม่เกิดเป็นอะไรๆ (ตามที่สมติเรียกกัน) อีกต่อไป ซึ่งสภาวะนี้เรียกว่า นิพพาน ที่หมายถึง ความไม่มีทุกข์ หรือความสงบเย็นของจิตใจ โดยนิพพานนี้ก็มีทั้งอย่างชั่วคราวและอย่างถาวร ซึ่งอย่างถาวรก็คือมีตราบเท่าที่จะยังมีจิตอยู่

 

๔. เรื่องจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต

ศาสนาพราหมณ์จะสอนว่า ชีวิตจะมีการเวียนว่ายตาย-เกิดหลายภพหลายชาติ ดังนั้นจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตก็คือ การที่ไม่ต้องเวียนว่ายตาย-เกิดอีกต่อไป และได้กลับไปรวมกับพรหม หรือปรมาตมัน ที่มีแต่ความสุขอยู่ชั่วนิรันดร ส่วนจุดมุ่งหมายรองลงมาก็คือ การได้เสพสุขอยู่บนสวรรค์ตราบนานเท่านานโดยไม่ต้องทำงาน

ส่วนพุทธศาสนาจะสอนว่า ชีวิตนี้จะมีร่างกายและจิตใจที่พึ่งพาอาศัยกันอยู่ จะแยกกันไม่ได้ ถ้าแยกกันเมื่อใด ก็จะแตกสลาย (ใช้กับร่างกาย) และดับ (ใช้กับจิตใจ) หายไปด้วยกันทั้งคู่ทันที ซึ่งเท่ากับพุทธศาสนาไม่สอนว่ามีการเวียนว่ายตาย-เกิดในทางร่างกายอีก ดังนั้นจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตก็คือ การมีชีวิตที่ไม่มีความทุกข์ทางจิตใจเลยอย่างสิ้นเชิงหรือถาวร (คือตราบเท่าที่จะยังมีจิตอยู่) ที่เรียกว่า นิพพาน ที่หมายถึง ความไม่มีทุกข์ หรือความสงบเย็น ส่วนจุดมุ่งหมายที่รองลงมาก็คือ การมีชีวิตที่มีความปกติสุข ไม่เดือดร้อน ถึงแม้จะยังคงมีความทุกข์ทางด้านจิตใจอยู่บ้างก็ตาม

 

๕. เรื่องกรรม-วิบาก

ศาสนาพราหมณ์สอนเรื่องว่า การกระทำ (กรรม) ของเราในชาตินี้ จะมีผล (วิบาก) ให้เราต้องไปรับผลกรรมนั้นในชาติหน้าหรือชาติต่อๆไป  ใครทำกรรมดี ก็จะได้รับผลดีในชาติหน้าหรือชาติต่อๆไป (เช่น ได้ขึ้นสวรรค์ หรือเกิดมาแล้วร่ำรวยสุขสบายและมีเกียรติ เป็นต้น) ส่วนใครทำกรรมชั่วก็จะได้รับผลชั่วในชาติหน้าหรือชาติต่อๆไป (เช่น ตกนรก หรือเกิดมาแล้วยากจนลำบากและต่ำต้อย เป็นต้น)

ส่วนพุทธศาสนาจะสอนเรื่อง การกระทำด้วยเจตนา (เจตนาก็คือกิเลส คือโลภ โกรธ ไม่แน่ใจ) ว่านี่คือกรรม ที่มีผลเป็นวิบาก คือเกิดความรู้สึกไปตามที่จิตใต้สำนึกมันรู้สึก คือเมื่อทำกรรมดี จิตใต้สำนึกมันก็จะรู้ว่านี่คือสิ่งที่ดี แล้วมันก็จะเกิดความสุขใจอิ่มใจขึ้นมาทันที (หรือเมื่อทำเสร็จแล้ว) หรือเมื่อทำกรรมชั่ว จิตใต้สำนึกมันก็รู้อยู่ว่านี่คือสิ่งที่ชั่ว แล้วมันก็จะเกิดความทุกข์ใจ ร้อนใจ หรืออย่างน้อยก็เสียใจ ไม่สบายใจขึ้นมาทันที (หรือเมื่อทำเสร็จแล้ว)

 

๖. เรื่องนรก-สวรรค์

ศาสนาพราหมณ์จะสอนเรื่อง นรก-สวรรค์ที่เป็นสถานที่ (ที่เราชอบเรียกกันว่า นรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า) ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับเอาไว้รองรับจิตที่เป็นอมตะ ที่เมื่อใครทำความชั่วเมื่อตายไปแล้วจิตก็จะไปลงนรกที่มีแต่การลงโทษให้มีแต่ความทุกข์ทรมานที่คนทั่วไปหวาดกลัวกันอย่างยิ่ง (ที่มีแต่เรื่องการทรมาน เช่น ถูกต้ม ถูกตี ถูกแทง เป็นต้น แต่ก็ไม่ตายสักทีแต่จะอยู่เช่นนี้เป็นร้อยเป็นพันปี) แต่ถ้าทำความดีเมื่อตายไปแล้วก็จะได้ขึ้นสวรรค์ที่มีแต่ความสุขตามที่คนเราทั่วไปอยากจะได้ (ที่มีแต่เรื่องความสนุกสนานรื่นเริงและเรื่องทางเพศเป็นร้อยเป็นพันปี เช่น อยู่ในปราสาทที่สวยงามใหญ่โต มีสวนดอกไม้ที่น่ารื่นรมย์ มีเครื่องแต่งกายที่วิจิตรสวยงาม และมีนางฟ้าที่สวยงามอย่างยิ่งเป็นบริวารมากมาย เป็นต้น) ซึ่งนี่คือนรก-สวรรค์ที่เป็นไสยศาสตร์ ที่พิสูจน์ไม่ได้ ไม่มีเหตุผลที่สมเหตุสมผล ที่มีไว้สอนคนป่าคนดง หรือชาวบ้านธรรมดาที่ไม่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาก่อน หรือสำหรับคนที่มีความรู้แต่ไม่สนใจศึกษาชีวิตอย่างจริงจัง

ส่วนพุทธสอนเรื่อง สวรรค์ในอก นรกในใจ คือจะสอนว่า เมื่อเราทำความดีเมื่อใด ก็จะเกิดเป็นความสุขใจ หรืออิ่มเอมใจขึ้นมาในทันทีหรือเมื่อทำเสร็จ หรือเมื่อเราทำความชั่วเมื่อใด ก็จะเกิดเป็นความทุกข์ใน ร้อนใจ หรืออย่างต่ำก็เป็นความไม่สบายใจขึ้นมาทันทีหรือเมื่อทำเสร็จแล้ว ซึ่งนี่คือนรก-สวรรค์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ คือพิสูจน์ได้ มีเหตุผล ที่มีไว้สอนคนมีปัญญาที่สนใจจะศึกษาชีวิตหรือสนใจจะศึกษาเพื่อดับทุกข์

 

๗. เรื่องความเชื่อ

ศาสนาพราหมณ์จะสอนให้เชื่อมั่นเพียงอย่างเดียว ห้ามถามห้ามสงสัย ถ้าใครไม่เชื่อก็จะตกนรก ซึ่งหลักการนี้ก็นับว่าดีสำหรับคนรุ่นเก่าหรือคนป่าคนดงที่ไม่มีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์มาก่อน หรือคนที่ไม่ได้สนใจศึกษาชีวิตอย่างจริงจัง

ส่วนพุทธศาสนาในระดับพื้นฐาน (คือศีลธรรม ที่เป็นคำสอนในเรื่องการดำเนินชีวิตที่ปกติสุข) จะไม่เน้นเรื่องความเชื่อ คือใครจะเชื่ออย่างไรก็ได้ ขอเพียงว่าอย่าทำความชั่วก็แล้วกัน แต่พุทธศาสนาระดับสูง (ปรมัตถธรรม ที่เป็นคำสอนเรื่องการดับทุกข์ของจิตใจมนุษย์ในปัจจุบัน ที่เรียกว่าหลักอริยสัจ ๔) จะสอนให้ใช้ปัญญานำหน้าความเชื่อ คือสงสัยได้ ถามได้ และต้องพิสูจน์ให้เห็นแจ้งก่อนจึงค่อยเชื่อ คือสรุปว่าพุทธศาสนาระดับสูงจะสอนว่า “อย่าเชื่อใครแม้แต่ตัวเอง เมื่อพบคำสอนใดก็ให้นำมาพิจารณาดูก่อน ถ้าเห็นว่ามีโทษก็ให้ละทิ้งเสีย แต่ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์ก็ให้นำมาทดลองปฏิบัติดูก่อน ถ้าปฏิบัติแล้วไม่ได้ผลจริงก็ให้ละทิ้งอีกเหมือนกัน แต่ถ้าทดลองปฏิบัติแล้วได้ผลจริงก็ให้ปลงใจเชื่อได้ และให้นำเอามาปฏิบัติให้ยิ่งๆขึ้นต่อไป”

 

๗. เรื่องหลักการศึกษา

ศาสนาพราหมณ์จะใช้หลักไสยศาสตร์ในการศึกษา คือศึกษาจาการคาดคะเนเอา หรือเชื่อตามคนอื่น โดยจะไม่มีเหตุผล ไม่มีของจริงมาให้พิสูจน์ ไม่มีหลักการและระบบมาให้ศึกษา ดับทุกข์ไม่ได้ จะช่วยได้ก็เพียงช่วยให้สบายใจขึ้นมาบ้างเท่านั้น

ส่วนพุทธศาสนาจะใช้หลักวิทยาศาสตร์ในการศึกษา คือศึกษาจากสิ่งที่มีอยู่จริง พิสูจน์ได้ ศึกษาอย่างมีเหตุผล ศึกษาอย่างเป็นระบบ และจะเชื่อก็ต่อเมื่อได้พิสูจน์จนเห็นผลอย่างแน่ชัดแล้วเท่านั้น และใช้ดับทุกข์ของจิตใจได้จริง

 

๘. เรื่องหลักการปฏิบัติ

ศาสนาพราหมณ์จะเน้นใช้ "พิธี" หรือการกระทำเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์หรือเกิดโชคลาภ ซึ่งเป็นหลักไสยศาสตร์ เช่น พิธีกรรมต่างๆ เพื่อให้เทพเจ้าพอใจและช่วยดลบันดาลที่ต้องการได้ หรือเพื่อให้เกิดอำนาจวิเศษ ความศักดิ์สิทธิ์ โชค ลาภ และความพ้นทุกข์

ส่วนศาสนาพุทธจะใช้ "วิธี" หรือการลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาใครๆหรืออะไรๆมาช่วย ซึ่งเป็นหลักวิทยาศาสตร์ คือจะมีการปฏิบัติอย่างมีเหตุมีผล ไม่งมงาย อย่างเช่น การละเลิกอบายมุขทั้งหลาย เพื่อทำให้ชีวิตไม่เดือดร้อน หรือการขยันอดทน ประหยัด ไม่คบเพื่อนชั่ว ก็จะทำให้ร่ำรวยขึ้นมาได้ หรือวิธีการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน เป็นต้น

 

๙. เรื่องสมาธิ

ศาสนาพราหมณ์จะสอนเรื่องสมาธิสูงๆชนิดที่คนเราธรรมดาปฏิบัติได้ยากอย่างยิ่ง  ถ้าใครปฏิบัติได้ก็จะมีฤทธิ์มีเดช หรือมีอำนาจเหนือธรรมชาติต่างๆมากมาย เช่น เหาะ หรือหายตัวได้ เนรมิตสิ่งของได้ ถอดจิตไปเที่ยวนรก-สวรรค์ได้ และมีญาณ (ความรู้ที่เกิดมาจากการปฏิบัติ) ในการกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไปอย่างถาวรได้ (ทำให้จิตหลุดพ้นจากกิเลสได้อย่างถาวร) เป็นต้น

ส่วนพุทธศาสนา จะสอนเรื่องสมาธิตามธรรมชาติที่เราทุกคนก็สามารถปฏิบัติได้ อันได้แก่ ความตั้งใจในการเรียน การทำงาน การคิด การพูด และการกระทำทางกายทั้งหลาย ที่มันคงแน่วแน่และต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ  โดยผลโดยตรงของสมาธิก็คือ ทำให้เกิดความสุขสงบที่ประณีตขึ้นมาทันทีที่จิตมีสมาธิ และช่วยกำจัดกิเลสทั้งหลายให้ระงับดับลงทั้งอย่างชั่วคราวและถาวรได้ ส่วนผลโดยอ้อมของสมาธิก็คือ สมาธินี้จะเป็นพื้นฐานให้เกิดปัญญาที่นำมาใช้ในการดับทุกข์ของจิตใจได้ทั้งอย่างชั่วคราวและอย่างถาวร

๑๐. เรื่องวิธีการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์

ศาสนาพราหมณ์จะสอนเรื่องการอ้อนวอนเทพเจ้าและการฝึกสมาธิอย่างหนัก รวมทั้งการบำเพ็ญโยคะ (การทรมานร่างกายด้วยวิธีต่างๆ) เพื่อให้อัตตาหรือตัวตนบริสุทธิ์จากกิเลส เมื่ออัตตาไม่มีกิเลสแล้วก็จะกลับไปรวมกับพรหมหรือปรมาตมันและพ้นจากทุกข์ได้ตลอดไป หรือมีชีวิตที่มีแต่ความสุขอยู่ชั่วนิรันดร ไม่ต้องมาเวียนว่ายตาย-เกิดให้เป็นทุกข์อีกต่อไป (ที่เรียกว่าโมกษะ)

ส่วนพุทธศาสนาจะสอนเรื่องการปฏิบัติเพื่อให้เกิด ปัญญา (ความรู้และเข้าใจตลอดจนความเห็นแจ้งว่าไม่มีอัตตาหรือไม่มีตัวเรา), สมาธิ (ความตั้งใจมั่นสม่ำเสมอ), และ ศีล (การมีกายและวาจาที่เรียบร้อย) เพื่อนำมาใช้ดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน ทั้งอย่างชั่วคราวและอย่างถาวร (นิพพาน)

 

๑๑. เรื่องบุญ-บาป

ศาสนาพราหมณ์จะสอนเรื่องการฆ่าสัตว์บูชายัญบูชาเทพเจ้า, การฝึกสมาธิ, การสวดอ้อนวอน, การนำทรัพย์สินของมีค่ามามอบให้แก่พราหมณ์ (ผู้ประกอบพิธี), และการบำเพ็ญตบะตามหลักโยคะ (การทรมานร่างกาย) เป็นต้น ว่านี่คือการสร้างบุญ ส่วนบาปก็คือการล่วงละเมิดศีล ๕ (คือฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, ประพฤติผิดในเรื่องทางเพศ, การพูดโกหก, และการดื่มสุราหรือเสพสิ่งเสพติด) รวมทั้งการดูหมิ่นไม่เชื่อฟังเทพเจ้า เป็นต้น

ส่วนพุทธศาสนาจะสอนเรื่อง การช่วยเหลือชีวิตของสัตว์และมนุษย์ด้วยวิธีต่างๆ เช่น ให้ทรัพย์ ให้อภัย ให้โอกาส ให้ความรู้ ให้ธรรมะ เพื่อให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนว่านี่คือ บุญ (การทำความดีแล้วสุขใจ) ส่วนการเบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นไม่ว่าจะโดยวิธีใด ก็คือ บาป (การทำความชั่วแล้วทุกข์ใจ ร้อนใจ หรืออย่างต่ำก็ไม่บายใจ หรือเสียใจ)

 

๑๒. เรื่องการศึกษา

ศาสนาพราหมณ์ จะสอนเรื่องลึกลับ ไกลตัว พิสูจน์ไม่ได้ ไม่มีเหตุผลที่สมเหตุสมผล ไม่มีระบบหรือหลักในการศึกษา เช่น เรื่องเทวดา นางฟ้า นรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า และเรื่องเวรกรรมจากชาติปางก่อน เป็นต้น ซึ่งจัดเป็นหลักไสยศาสตร์

ส่วนพุทธศาสนา จะสอนเรื่องที่ลึกซึ้งในร่างกายและจิตใจของเราเอง ที่พิสูจน์ได้ มีหลักหรือระบบในการศึกษา มีเหตุผลที่สมเหตุสมผล ซึ่งจัดเป็นหลักวิทยาศาสตร์ทางด้านจิตใจ

 

๑๓. เรื่องการวางตัวในสังคม

ศาสนาพราหมณ์จะสอนให้มีวรรณะ (ชนชั้น) โดยชาวอินเดียวจะมีการแบ่งผู้คนออกเป็นพวกๆหรือวรรณะตามความเชื่อจากศาสนาฮินดูคือ

        ๑. วรรณะพราหมณ์เป็นวรรณะสูงสุด ได้แก่พวกผู้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ

        ๒. วรรณะกษัตริย์  ได้แก่พวกกษัตริย์ผู้ปกครองบ้านเมือง

        ๓. วรรณะแพศย์  ได้แก่พวกพ่อค้า ช่างฝีมือ

        ๔. วรรณะศูทร  ได้แก่พวกคนใช้

ชาวอินเดียจะยึดถือเรื่องวรรณะกันมาก  ถ้าใครแต่งงานกันต่างวรรณะ ลูกออกมาจะเป็นพวกจัณฑาล ซึ่งเป็นคนชั้นต่ำสุดที่สังคมรังเกียจ  

ส่วนพุทธศาสนาจะไม่สอนให้มีวรรณะ แต่จะสอนว่า ทุกคนนั้นจะดีหรือเลวไม่ได้ขึ้นอยู่ที่กำเนิด แต่ขึ้นอยู่ที่การกระทำของแต่ละบุคคล ถ้าใครทำดีจึงจะเป็นคนดี ถ้าใครทำชั่วก็จะเป็นคนชั่ว และจะสอนให้ทุกคนรักกัน เคารพกัน สามัคคีกัน และช่วยเหลือกันอย่างเสมอหน้า เพราะทุกคนคือเพื่อนร่วมทุกข์ เกิดแก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งนั้น

เตชปญฺโญ ภิกขุ   ๒๙  ธันวาคม  พ.ศ. ๒๕๕๓

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)

*********************
Free Web Hosting