ทำไมจึงเชื่อว่าจะมีเรามาเกิดใหม่ได้อีก?

มักมีผู้มีความเห็นว่า “เมื่อเราตายไปแล้วจะต้องมีเราเวียนกลับมาเกิดใหม่ได้อีก เพราะชีวิตของเราในขณะนี้ทำไมยังมีขึ้นมาได้ ดังนั้นมันก็ต้องมีชีวิตใหม่ของเราที่เหมือนกับชีวิตของเราในขณะนี้ ที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ได้อีกอย่างแน่นอน” ซึ่งนี่เป็นคำถามที่มีเหตุผลโดยเอาสิ่งที่มีอยู่จริงมาเป็นเหตุผลที่ฟังดูแล้วน่าเชื่อถือมาก และก็มีผู้เชื่อเช่นนี้กันมากด้วย คือในเมื่อชีวิตของเราที่เกิดขึ้นมานี้ยังมีได้ แล้วทำไมชีวิตใหม่อย่างนี้จึงจะมีอีกไม่ได้? ซึ่งนี่เองที่เป็นเหตุให้เกิดความเชื่อว่าต้องมี "ตัวเรา" ที่จะไปเกิดใหม่ได้อีก ซึ่งสิ่งที่จะไปเกิดใหม่นั้นก็เชื่อกันว่าเป็น จิต หรือ วิญญาณ ที่เป็นความรู้สึกนึกคิด (ความเชื่อว่าจะมีจิตหรือวิญญาณไปเกิดใหม่ได้อีกนี้เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ไม่ใช่ของพุทธศาสนา) ไม่ใช่ร่างกายเพราะไม่เคยมีร่ายกายใดที่ตายไปแล้วจะกลับมาเกิดใหม่ได้อีก นอกจากการโคลนนิ่งขึ้นมา ซึ่งการโคลนนิ่งให้เกิดร่างกายที่เหมือนร่างกายเก่านั้น ก็ไม่ใช่ว่าร่างกายเก่าจะกลับมาเกิดใหม่ได้อีก แต่เป็นว่าเป็นเพียงร่างกายใหม่ที่เหมือนกันกับร่างกาเก่าเท่านั้น)

แต่เราเคยคิดในมุมกลับบ้างหรือไม่ว่า "ชีวิตที่ตายก็ตายไป ส่วนชีวิตที่เกิดก็เกิดไป ไม่เกี่ยวข้องกันเลยแม้แต่น้อย แต่ว่าชีวิตที่เกิดมาใหม่นั้น มันบังเอิญไปเหมือนกับชีวิตที่ตายไปแล้วอย่างกับเป็นสิ่งเดียวกันเลยทีเดียว" แล้วอย่างนี้จะเรียกว่า ตายแล้วไปเกิดใหม่อีกได้หรือไม่? เพราะมันก็มีชีวิตใหม่ที่เหมือนกันชีวิตเก่าที่ตายไปแล้ว หรือจะเรียกว่าตายแล้วสูญได้หรือไม่? เพราะชีวิตเก่ามันก็ได้สูญหายไปเลย ไม่มีอะไรจากชีวิตเก่าที่จะไปเกิดใหม่ได้ ซึ่งถ้าคิดอย่างนี้ก็จะไม่เข้าข่ายว่าตายแล้วเกิด หรือตายแล้วสูญ (ซึ่งตามหลักพุทธศาสนาแล้วความเห็นทั้งสองนี้จัดว่าเป็นความเห็นผิดทั้งคู่) เพราะมันก็ไม่ได้มีอะไรจากชีวิตเก่าที่ไปเกิดใหม่อีก และชีวิตเก่ามันก็ไม่ได้สูญหายไป เพราะมันยังมีชีวิตใหม่ที่เหมือนเดิมเกิดขึ้นมาทดแทนอีก ซึ่งนี่เป็นปรัชญาหรือการคิดที่มีเหตุผลที่ลึกซึ้งแต่ไม่เป็นประโยชน์แก่การศึกษาชีวิต มันทำให้ปวดหัวไปเสียเปล่าๆ และก็เป็นการหลอกให้มาคิดเพื่อให้หลงติดอยู่ในปรัชญาพวกนี้อีกด้วย

สิ่งที่ควรคิดและเป็นประโยชน์ก็คือ "ทุกจิตที่เพิ่งเกิดมาใหม่ๆนั้น จะยังเป็นจิตที่ว่างหรือสะอาดหรือผ่องใส (ประภัสสร) เหมือนกันหมด" คือจะยังไม่มีความยึดถือว่าเป็นตัวตนของใครๆเลย แต่เมื่อจิตนั้นได้เกิดขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่เป็นเช่นไร จิตก็จะรับรู้สภาพแวดล้อมนั้นและบันทึกเอาไว้เป็นความทรงจำ เมื่อมีความทรงจำมากๆ จิตจึงมีการคิดขึ้นมาได้อีกและเพราะมีสัญชาติญาณ (ความรู้ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับชีวิตโดยไม่มีใครสอน) ว่ามีตัวเอง ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับจิตเพียงเล็กน้อยตามธรรมชาติ (เหมือนกับสัตว์ที่เกิดขึ้นมาแล้วก็ทำอะไรๆได้เลยโดยไม่ต้องมีใครมาสอน ซึ่งเรียกว่ามันทำตามสัญชาติญาณที่ติดมากับชีวิตของมัน) จิตจึงมีการคิดไปในทางยึดถือว่ามีตัวเองขึ้นมาในภายหลัง เหมือนคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่พื้นฐานจะถูกสร้างขึ้นมาแล้วยังไม่มีโปรแกรมและข้อมูลใดๆอยู่เลย แต่มาถูกตั้งโปรแกรมและป้อนข้อมูลให้แตกต่างกันในภายหลัง

เรื่องนี้เราต้องดูจากเด็กที่เกิดมาใหม่ๆทุกคน ว่าเมื่อเด็กเกิดขึ้นมาใหม่ๆจะยังไม่มีความรู้หรือกิเลสหรือความยึดถือว่ามีตัวเองเลย (แต่จากความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ก็ทำให้เราไม่ยอมรับจุดนี้ ซึ่งนี่คือปัญหาสำคัญที่ทำให้เราไม่เข้าใจในเรื่องจิตประภัสสรนี้) คือจะเป็นจิตที่ว่างจริงๆ ซึ่งจิตที่ว่างเหมือนกันหมดของทุกจิตที่เกิดขึ้นมานี้เองที่ทำให้เราเข้าใจได้ว่า "ทุกชีวิตที่เกิดขึ้นมาในโลกนี้ จะมีพื้นฐานคือการรับรู้และรู้สึกที่เหมือนกันหมดทุกคน"  เหมือนกับว่าแยกมาจากคนๆเดียวกัน คือเมื่อชีวิตเรารับรู้และรู้สึกเช่นไร คนอื่นๆในโลกก็จะมีการรับรู้และรู้สึกเหมือนกันกับเรานี้ และคนที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ในอนาคต ก็จะเหมือนกันกับเรานี้ เรียกว่าทุกคนในโลกคือคนๆเดียวกัน ส่วนความยึดถือที่แตกต่างกันของแต่ละคนนั้น มันมาเกิดขึ้นมาทีหลัง คือเมื่อมีการรับรู้และรู้สึกต่อสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันของจิตเกิดอยู่มากๆ (เช่น จิตเกิดขึ้นที่ร่างกายของชาย หรือหญิง มีรูปร่างเช่นนั้น มีสีผิวเช่นนั้น มีเสียงอย่างนั้น มีชื่อนั้น นามสกุลนั้น มีสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นของตน เป็นต้น) จิตก็บันทึกเอาไว้ และเมื่อมีความทรงจำมากๆ การคิดนึกปรุงแต่งของจิตก็จะเริ่มเกิดขึ้นมาได้ และเมื่อจิตมันก็มีสัญชาติญาณว่ามีตนเองติดมาด้วย ดังนั้นจิตมันจึงนำเอาสัญชาติญาณว่ามีตัวเองนี้มาปรุงแต่งให้เกิดความเข้มข้นขึ้น จนเกิดเป็นความรู้สึกว่ามีตัวเองอย่างเข้มข้น ซึ่งความรู้สึกว่ามีตัวเองอย่างเข้มข้นนี้เอง ที่เรียกว่าเป็นความยึดถือว่ามีตัวเอง หรือความยึดถือว่ามีตัวเรา (คือเกิดความยึดถือว่ามีตัวเราที่เป็นชาย หรือหญิง มีรูปร่างเช่นนี้ มีสีผิวเช่นนี้ มีเสียงอย่างนี้ มีชื่อนั้น นามสกุลนี้ มีสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นของตน เป็นต้น ตามความทรงจำที่จิตได้บันทึกเอาไว้)

จากความเข้าใจเรื่องจิตประภัสสรนี้เองที่ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ชีวิตของเราในขณะนี้ ก็จะมีพื้นฐานหรือความรู้สึกเหมือนกันกับทุกชีวิตในโลกนี้ รวมทั้งเหมือนกันกับทุกชีวิตที่จะเกิดมาใหม่อีกด้วย คือมันเท่ากับว่า ชีวิตทุกชีวิตในโลกจะมีอยู่ชีวิตเดียวเท่านั้น แต่จากชีวิตเดียวนี้มันได้มีการแยกตัวออกไปเกิดเป็นชีวิตใหม่ๆขึ้นมาอีกอย่างมากมาย ซึ่งชีวิตทั้งหลายที่เกิดใหม่นั้นจะมีความแตกต่างกันในภายหลังเมื่อมีความทรงเกิดขึ้น และเมื่อชีวิตทั้งหลายมีความแตกต่างกัน จึงทำให้ชีวิตที่แตกต่างกันทั้งหลายนี้ไม่เข้าใจว่าแท้จริงแล้วดั้งเดิมของทุกชีวิตนั้นจะมาจากชีวิตเดียวกัน หรือเป็นคนๆเดียวกัน แล้วก็ทำให้เกิดความเชื่อว่า “ในเมื่อชีวิตของเราที่เกิดขึ้นมานี้ยังมีได้ แล้วทำไมชีวิตใหม่อย่างนี้จึงจะมีอีกไม่ได้ซึ่งความจริงก็คือ ความยึดถือว่าเป็นตัวเรา-ของเราตามความทรงจำของสมองที่เรามีอยู่นี้ เมื่อสมองตายก็จะทำให้ความทรงจำนั้นก็จะสูญหายตาไปด้วย ไม่สามารถกลับคืนมาได้ หรือมาเกิดใหม่ได้อีก จึงทำให้การปรุงแต่งคิดนึกของจิตที่ปรุงแต่งให้เกิดความยึดถือว่ามีตัวเรานี้พลอยสูญหายตามไปด้วย แต่ชีวิตที่เกิดมาใหม่ทุกชีวิต จะมีความรู้สึกเหมือนกันกับชีวิตที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้และเหมือนกันกับทุกชีวิตที่จะเกิดขึ้นมาใหม่อีกด้วย คือเท่ากับว่า มีจิตที่ว่างหรือสะอาดเกิดขึ้นมาเหมือนกันหมดทุกจิต แต่จิตที่ว่างหรือสะอาดนี้ต่อมาจะไม่ว่างหรือสกปรกเพราะมีกิเลสหรือความยึดถือว่ามีตัวเอง (หรือตัวเรา) เกิดขึ้นมาในภายหลังตามสภาพแวดล้อมของจิตแต่ละจิต และสุดท้ายจิตที่ไม่ว่างหรือสกปรกนี้ก็จะดับหายไปในที่สุดไม่ช้าก็เร็วอย่างแน่นอน  นี่เองที่ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ชีวิตของเรานี้โดยพื้นฐาน (คือว่างหรือสะอาด) มันก็คือทุกชีวิตในโลก และพื้นฐานของทุกชีวิตที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ในโลกก็จะเหมือนกับชีวิตของเรานี้ คือเท่ากับว่าจะมีชีวิตพื้นฐานอย่างนี้เกิดขึ้นมาอีกอย่างแน่นอน แต่ไม่ใช่จะมีความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเราเกิดขึ้นมา เพราะความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเรานั้นจะดับหายไปพร้อมกับความทรงจำที่หายไป เพราะสมองที่บันทึกความทรงจำนั้นได้เสียหาย ไม่สามารถตั้งอยู่อย่างถาวรได้ และความทรงจำไม่สามารถจะออกไปเกิดใหม่ยังเนื้อสมองใหม่ๆได้ (แต่ศาสนาพราหมณ์จะสอนว่า แม้ร่างกายจะตายไปแต่จิตหรือวิญญาณจะไม่ตาย ซึ่งจิตหรือวิญญาณนี้จะมีกรรมและความทรงจำติดไปด้วยแล้วไปเกิดใหม่ เพื่อรับผลกรรมจากชาติก่อนที่ได้ทำเอาไว้ แต่เรื่องความทรงจำเก่านั้นเขาก็บอกว่า เมื่อเกิดใหม่แล้วบางคนก็ยังจำได้ หรือระลึกชาติได้ แต่ส่วนมากระลึกไม่ได้ แต่ก็ไม่มีใครเคยพิสูจน์ได้จริงสักราย มีแต่คำเล่าลือที่ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดมายืนยันเท่านั้น)

ส่วนวิธีการปฏิบัติเพื่อให้จิตที่สกปรก หรือมีความยึดถือว่ามีตัวเรา กลับมาเป็นจิตที่ประภัสสรหรือว่างหรือสะอาดได้อีกนั้น จะต้องใช้ความเข้าใจอย่างถูกต้องว่า “แท้จริงมันไม่ได้มีตัวเราอยู่จริง” (ปัญญา) กับความตั้งใจที่มั่นคง (สมาธิ) และจิตที่ปกติ (ศีล) มาทำงานร่วมกัน จึงจะทำให้จิตที่สกปรกหรือมีความยึดถือว่ามีตัวเรานี้ กลับมาประภัสสรได้อีกทั้งอย่างชั่วคราวและอย่างถาวร และถ้าจิตใดสามารถปฏิบัติจนจิตกลับมาประภัสสรได้อีกแม้เพียงชั่วคราว จิตนั้นก็จะมีทั้งความเข้าใจและเห็นแจ้งได้ว่า “ทุกคนในโลกคือคนๆเดียวกัน” ได้โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อจากใครๆ และถ้ามนุษย์ส่วนมากสามารถปฏิบัติได้เช่นนี้กันมากๆ โลกก็จะกลับมามีสันติภาพได้อีก หลังจากที่ได้สูญเสียมันไป

สรุปได้ว่า สาเหตุที่ทำให้คนเรามักเชื่อว่า จะมีเรามาเกิดใหม่ได้อีก เพราะเชื่อว่า “ในเมื่อชีวิตของเราในขณะนี้ยังเกิดขึ้นมาได้ ดังนั้นเมื่อเราตายไป มันก็ต้องมีชีวิตของเราอย่างนี้เกิดขึ้นมาอีกได้อย่างแน่นอน” ซึ่งนี่เป็นความคิดที่มีเหตุผล แต่ทว่าความจริงนั้นมันยิ่งกว่านั้น คือแม้เราจะยังไม่ตาย มันก็มีชีวิตพื้นฐานอย่างกับของเรานี้เกิดขึ้นมาอยู่แล้วอย่างมากมายในปัจจุบัน เพียงแต่ทุกชีวิตจะมีความทรงจำและความยึดถือว่ามีตนเองแตกต่างกันในภายหลังเท่านั้น ซึ่งที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะทุกชีวิตในโลกนี้มาจากชีวิตพื้นฐานเดียวกัน หรือเท่ากับชีวิตเดียวกัน หรือเหมือนกันทุกชีวิต คือมาจากจิตที่ประภัสสร หรือว่าง หรือสะอาด หรือผ่องใสเหมือนกันหมดทุกจิต

เตชปญฺโญ ภิกขุ   ๒๘  ธันวาคม  พ.ศ. ๒๕๕๓

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)

*********************
Free Web Hosting