พระพุทธเจ้าสอนอะไร?

สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ (หรือค้นพบ) ก็คือ หลักอริยสัจ ๔ อันเป็นหลักในการปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้ความทุกข์ในปัจจุบันของจิตใจมนุษย์เกิดขึ้นมาได้อย่างถาวร (หรือที่เราชอบเรียกกันว่า นิพพาน ที่หมายถึง ความสงบเย็นของจิตใจ) ซึ่งอริยสัจ ๔ นี้เป็นคำสอนที่เป็นหัวใจของคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า ถ้าเราเข้าใจหลักอริสัจ ๔ นี้ได้อย่างถูกต้องแล้ว เราก็จะเข้าใจคำสอนอื่นๆทั้งหมดของพระพุทธเจ้าได้ไปในตัว (รวมทั้งเข้าใจด้วยว่าคำสอนใดที่ไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า) โดยหลักอริยสัจ ๔ นี้เป็นหลักวิทยาศาสตร์ (คือศึกษาจากสิ่งที่มีอยู่จริง, ศึกษาอย่างเป็นระบบ, มีเหตุผล, พิสูจน์ได้, และจะเชื่อก็ต่อเมื่อได้พิสูจน์จนเห็นผลจริงอย่างแน่ชัดแล้ว) ทางด้านจิตใจที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบมานานแล้ว โดยหลักอริยสัจ ๔ ก็สรุปอยู่ที่

๑. ทุกข์ คือความทุกข์ของจิตใจมนุษย์ในปัจจุบัน เช่น ความเศร้าโศก, เสียใจ, แห้งเหี่ยวใจ, เร้าร่อนใจ, ทรมานใจ, เครียด, วิตกกังวล, หนักเหนื่อยใจ, และความไม่สบายใจ, รำคาญใจ เป็นต้น ที่เกิดมาพร้อมกับความยึดถือว่ามีตัวเราที่เกิด, แก่, เจ็บ, จะตาย, พลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รัก, ประสบกับบุคคลหรือสิ่งอันไม่เป็นที่รัก, มีความอยากได้สิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นตามที่อยาก (ผิดหวัง) ซึ่งตัวความทุกข์โดยสรุปก็คือ "การที่จิตยึดถือเอาร่างกายและจิตใจของธรรมชาตินี้ว่าเป็นตัวเรา-ของเรา" (ความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเรา).

๒. สมุทัย คือต้นเหตุของความทุกข์ทั้งหมด ซึ่งสรุปอยู่ที่ความโง่สูงสุดของมนุษย์ (อวิชชา) ที่หมายถึงความไม่รู้ว่า "แท้จริงมันไม่มีตัวเราอยู่จริง" ที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของมนุษย์เราทุกคน ที่มันคอยปรุงแต่งและผลักดันกันให้เกิดความรู้สึกตัวว่ามีตัวเรา, ความอยาก (ตัณหา), และความยึดถือว่ามีตัวเราขึ้นมา แล้วก็ทำให้จิตเกิดความทุกข์ขึ้นมาทันทีอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ

๓. นิโรธ คือความที่ทุกข์ได้ดับหายไปทั้งอย่างชั่วคราวและอย่างถาวร ซึ่งเกิดมาจากการที่อวิชชาได้ระงับหรือดับหายไป และเมื่อจิตไม่มีอวิชชาที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์ พวกความรู้สึกตัวว่ามีตัวเรา, ความอยาก (ตัณหา), และความยึดถือว่ามีตัวเราก็จะไม่เกิดขึ้น (หรือที่กำลังเกิดอยู่ก็จะระงับดับหายไป) เมื่อจิตไม่มีความยึดถือว่ามีตัวเรา ความทุกข์ทั้งหลายของจิตในปัจจุบันก็จะไม่เกิดขึ้น เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ สภาวะที่ตรงข้ามกับความทุกข์ก็จะปรากฏขึ้นแทน อันได้แก่ ความสงบ เย็น ปลอดโปร่ง สดชื่น แจ่มใส เบา สบาย หรือที่เรียกกันว่า นิพพาน ที่หมายถึง ความสงบเย็น หรือความไม่มีทุกข์

๔. มรรค คือวิธีปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ (หรือป้องกันไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้น) โดยมรรคนี้จะมีรายละเอียดอยู่ถึง ๘ ประการ แต่ก็สรุปอยู่ที่

๑. ปัญญา คือมีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งแล้วว่า "แท้จริงมันไม่ได้มีตัวเราอยู่จริง"

๒. ศีล คือความปกติของจิตที่เกิดมาจากการไม่เบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น จะดัวยกายหรือวาจาก็ตาม (หรือการเป็นคนดีมีศีลธรรม)

๓. สมาธิ คือความตั้งใจที่มั่นคงอยู่อย่างสม่ำเสมอ 

ศีลนั้นเราก็สามารถตั้งใจปฏิบัติเอาเองได้ ส่วนสมาธินั้นเราก็ฝึกฝนเอาเองได้ ส่วนปัญญานั้นถ้าเราตั้งใจเพ่งพิจารณาขันธ์ทั้ง ๕ ถึงความไม่เที่ยง (อนิจจัง), ต้องทนอยู่ (ทุกขัง), และไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา) จนเกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งแล้วว่า "แท้จริงมันไม่มีตัวเราอยู่จริง" ก็ชื่อว่าได้เกิดปัญญาที่ถูกต้องหรือแท้จริงขึ้นมาแล้ว

เมื่อใดที่เราสามารถปฏิบัติให้มีปัญญา, ศีล, และสมาธิเกิดขึ้นมาพร้อมกันเมื่อใด ความทุกข์ที่กำลังเกิดอยู่ก็จะระงับหรือดับลงทันที (หรือความทุกข์ที่ยังไม่เกิด ก็จะไม่เกิดขึ้น) ถ้าเราสามารถปฏิบัติได้ชั่วคราว ความทุกข์ก็จะระงับหรือดับลงได้เพียงชั่วคราว แต่ถ้าเราสามารถปฏิบัติจนทำลายอวิชชาที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา ที่เป็นรากเหง้าของความทุกข์ทั้งหลาย ให้หายไปจากจิตใต้สำนึกได้อย่างถาวร ความทุกข์ทั้งหลายก็จะไม่กลับมาเกิดแก่จิตใจของเรา (ตามที่สมมติเรียก) ได้อีกอย่างถาวร (หรือตราบเท่าที่ยังจะมีจิตอยู่)

เรื่องการดับทุกข์นี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดและสำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคน ดังนั้นเราอย่าเพิ่งไปสนใจเรื่องอื่น เราควรมาสนใจเรื่องการดับทุกข์นี้กันก่อน ซึ่งคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงย้ำสอนแก่เรามากที่สุดก็คือ การพิจารณาให้เกิดปัญญา หรือการพิจารณาให้เกิดความเข้าใจว่า "แท้จริงมันไม่ได้มีตัวเราอยู่จริง" เพราะนี่คือหัวใจของปัญญาของหลักอริยสัจ ๔ ถ้าเรายังไม่มีปัญญานี้ ก็จะดับทุกข์ตามหลักอริสัจ ๔ นี้ไม่ได้

ส่วนวิธีการพิจารณาให้เกิดปัญญานั้นก็สรุปอยู่ที่ การนำขันธ์ทั้ง ๕  (คือร่างกายและจิตใจ) มาพิจารณาถึงความไม่เที่ยง, ต้องทนอยู่, และไม่ใช่ตัวตน ซึ่งลักษณะทั้ง ๓ นี้เรียกว่ากฎไตรลักษณ์ ที่หมายถึง ลักษณะ ๓ ประการของ "สิ่งที่ถูกปรุงแต่ง (หรือสร้างหรือประกอบ) ขึ้นมา”

ซึ่งขันธ์ทั้ง ๕ ก็คือสิ่งที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นชีวิตมนุษย์ทั้งหลาย อันได้แก่

๑. รูป คือส่วนที่เป็นอวัยวะทั้งหมดของร่างกายเรา ที่เกิดมาจากการปรุงแต่งของธาตุดิน (ของแข็ง), น้ำ

(ของเหลว), ไฟ (ความร้อน), และลม (อากาศ)

๒. เวทนา คือส่วนที่เป็นความรู้สึกทั้งหลายของจิต ที่สรุปอยู่ที่ ๑. ความรู้สึกสุข ๒. ความรู้สึกทุกข์ ๓. ความรู้สึกที่ไม่ใช่ทั้งสุขและทุกข์ หรือความรู้สึกจืดๆ กลางๆ)

๓. สัญญา คือส่วนที่เป็นอาการที่จิตจำสิ่งต่างๆที่จิตรับรู้ได้ เช่น จำได้ว่านี่คือตัวเรา นั่นคือของเรา เป็นต้น

๔. สังขาร คือส่วนที่เป็นการปรุงแต่งของจิต เช่น ความคิด ความอยาก ความยึดถือ เป็นต้น

๕. วิญญาณ คือส่วนที่เป็นการรับรู้ของจิต ที่เกิดขึ้นตามระบบประสาททั้ง ๖ ของร่างกาย คือที่ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, และใจ

ส่วน กฎไตรลักษณ์ ก็คือ กฎของธรรมชาติ ๓ ประการที่มีอยู่ในทุกสิ่งที่เป็น "สิ่งปรุงแต่ง" (หรือสิ่งที่สร้างหรือประกอบขึ้นมาจากสิ่งอื่น) อันได้แก่

๑. อนิจจัง แปลว่า ความไม่เที่ยง คือสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายนั้นจะไม่สามารถตั้งอยู่อย่างถาวรหรือตลอดไปได้ (ไม่เป็นอมตะ) โดยมันจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และสุดท้ายไม่ช้าก็เร็วสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายก็จะต้องแตก (ใช้กับวัตถุ) หรือดับ (ใช้กับจิต) หายไปอย่างแน่นอน

๒. ทุกขัง (หรือทุกข์) แปลว่า ความต้องทนอยู่ คือสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายนี้ ขณะที่ยังตั้งอยู่ มันก็ต้องทนที่จะประคับประคองตัวของมันอยู่ตลอดเวลา (มากบ้างน้อยบ้าง) คือทนที่จะต้องแสวงหาสิ่งต่างๆ (เหตุปัจจัย) มาปรุงแต่งตัวมันขึ้นมา และทนต่อสิ่งอื่นภายนอกที่จะมาทำลายตัวของมันอีกด้วย ถ้าเป็นวัตถุก็จะไม่รู้สึกต่อลักษณะที่ต้องทนนี้ แต้ถ้าเป็นสิ่งที่มีชีวิตก็ย่อมที่จะมีจิตมารับรู้ลักษณะที่ต้องทนนี้ด้วยเสมอ ถ้าจิตมีความต้องทนนี้มากก็จะเรียกว่าเป็นความทุกข์ แต่ถ้าจิตมีความต้องทนนี้น้อยก็เรียกว่าความไม่มีทุกข์ หรือมีทุกข์น้อยที่สุด (หรือบางทีก็เรียกว่าความสบายหรือความสุข)

๓. อนัตตา แปลว่า ความไม่ใช่ตัวตน ซึ่งคำว่า "ตัวตน" นี้ก็มาจากคำว่า อัตตา ที่หมายถึง ตัวตนที่เป็นอมตะ (คือไม่ตายหรือจะมีอยู่ไปชั่วนิรันดร) ซึ่งเป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ (ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้า) โดยศาสนาพราหมณ์จะสอนว่า จิต หรือวิญญาณของมนุษย์เรานี้เป็นอัตตาหรือเป็นตัวตนที่เป็นอมตะ ที่สามารถออกจากร่างกายที่ตายไปแล้วได้ ซึ่งจากความเชื่อเรื่องจิตหรือวิญญาณเป็นอมตะนี้เองที่ทำให้เกิดความเชื่อเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า ผีเทวดา นางฟ้า และเรื่องกรรมจากชาติปางก่อน เป็นต้น ขึ้นมา (ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็ได้ผสมหรือปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนามาช้านานแล้วโดยชาวพุทธไม่รู้ตัว) แต่เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ขึ้นมาก็พบว่า ไม่มีสิ่งใดที่จะมาเป็นอัตตาหรือตัวตนอมตะอย่างที่ศาสนาพราหมณ์สอนได้ ซึ่งคำว่า อนัตตา ก็หมายถึง เป็นการปฏิเสธหรือไม่ยอมรับว่าจิตหรือวิญญาณจะเป็นอัตตาตามคำสอนของศาสนาพราหมณ์ได้ ดังนั้นคำสอนเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า ผี เทวดา นางฟ้า และเรื่องกรรมจากชาติปางก่อน เป็นต้นนั้น จึงไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ทุกสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมานี้ จะเกิดขึ้นมาจากเหตุและปัจจัยมากมายมาปรุงแต่งขึ้น ดังนั้นสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายจึงไม่เที่ยง ต้องทนอยู่ และไม่ใช่ตัวตน ซึ่ง "สิ่งปรุงแต่ง" ทั้งหลายมันจะเป็นได้ก็เพียง ตัวตนชั่วคราว (ไม่ถาวร) หรือตัวตนมายา (หลอกลวงว่าเป็นจริง) หรือตัวตนสมมติ (ลงมติร่วมกันว่าเป็นตามนี้) เท่านั้น

การพิจารณาขันธ์ ๕ ถึงความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตานี้พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ให้เราตั้งใจเพ่งพิจารณา (คือพิจารณาด้วยสมาธิ) จากสิ่งที่เรามีอยู่จริงๆ (คือจากขันธ์ ๕ ของเราเองจริงๆ) ไม่ใช่ให้ไปคิดคำนวณหรือจินตนาการเอาตามที่คนอื่นเขาว่ามาหรือตามตำราโดยไม่เพ่งพิจารณาดูจากขันธ์ ๕ ของเราเองจริงๆ

วิธีการเพ่งพิจารณาก็คือ ให้เพ่งพิจาณาดูจากร่างกายและจิตใจของเราเองว่า

๑. ขันธ์แต่ละขันธ์นี้มันอาศัยสิ่งใดเกิดขึ้นมา

๒. มันตั้งอยู่ได้เพราะอาศัยสิ่งใด และ

๓. มันดับหายไปเพราะสิ่งใดดับหายไปก่อน 

นี่ก็คือการพิจารณาถึงเหตุปัจจัยที่มาปรุงแต่งให้เกิดขันธ์ต่างๆขึ้นมา เพื่อให้เข้าใจถึงลักษณะของความเป็นอนัตตา เมื่อเราพิจารณาจนเกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในขันธ์ ๕ ของเราเองแล้ว แล้วก็จะทำให้เข้าใจขันธ์ ๕ ของคนอื่นได้ เพราะมันมีพื้นฐานเหมือนกัน

เมื่อเข้าใจถึงความเป็นอนัตตาในขันธ์แต่ละขันธ์แล้ว ก็จะมองเห็นหรือเข้าใจถึงอาการที่ขันธ์แต่ละขันธ์ว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา (ไม่นิ่ง) คือไม่ตั้งอยู่เช่นเดิมบ้าง เจริญขึ้นบ้าง เสื่อมลงไปบ้าง สุดท้ายไม่ช้าก็เร็วขันธ์แต่ละขันธ์นี้ก็จะต้องแตกดับหายไปอย่างแน่นอน ไม่สามารถตั้งอยู่อย่างถาวรได้ ซึ่งนี่ก็คือการพิจารณาถึงความเป็นอนิจจังในขันธ์ทั้ง ๕

เมื่อเข้าใจถึงความเป็นอนิจจังแล้ว ก็จะมองเห็นถึงอาการที่ขันธ์แต่ละขันธ์ต้องทนประคับประคองตัวเองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาการที่ต้องทนอยู่นี้เองที่ทำให้จิตเกิดความรู้สึกที่ต้องทนอยู่ตลอดเวลาด้วย ถ้าความต้องทนนี้มีน้อยก็เรียกว่า ความทนง่าย หรือ ทนสบาย (หรือบางทีก็สมมติเรียกว่าความสุขที่หมายถึงทนได้ง่าย) แต่ถ้าความต้องทนนี้มีมากก็เรียกว่า ความทนยาก

สรุปได้ว่า การพิจารณาร่างกายและจิตใจ (ขันธ์ ๕) ที่สมมติเรียกกันว่าเป็นตัวเรา-ของเรา และตัวตนของคนอื่นให้เห็นหรือเข้าใจถึงความที่มันไม่ใช่ตัวตนที่เป็นอมตะนี้ ก็คือการสร้างปัญญาอันเป็นหัวใจของอริยสัจ ๔ ที่เป็นหลักในการดับทุกข์ในปัจจุบันของจิตมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด และสำคัญที่สุดที่เราจะต้องเร่งศึกษาให้เข้าใจก่อนจะไปศึกษาเรื่องอื่นๆ.

เตชปญฺโญ ภิกขุ   ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๓

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี .

(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์  www.whatami.net)

*********************
Free Web Hosting