ชีวิตคือความฝัน

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสมองพิเศษที่มีความทรงจำดีเลิศ อันส่งผลให้มีความคิดที่พิสดารลึกล้ำอย่างยิ่งตามไปด้วย จนสามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆที่แปลกประหลาดและพิสดารขึ้นมาในโลกได้อย่างมากมาย ซึ่งทุกสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาล้วนเกิดมาจากความคิดของมนุษย์ทั้งสิ้น ถ้ามนุษย์ไม่มีความคิด มนุษย์ก็จะยังคงเป็นแค่สัตว์ชนิดหนึ่งของโลก ที่ไม่ต่างอะไรกับสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายของโลก ที่อาศัยเพียงสัญชาติญาณหรือความรู้ที่มีมาพร้อมชีวิตตั้งแต่เกิดมา เพื่อการดำรงชีวิตอยู่เท่านั้น ไม่สามารถพัฒนาให้มีความเจริญขึ้นมาได้

แต่ถึงมนุษย์จะมีความคิดอย่างพิสดารจนเกิดความรู้ต่างๆขึ้นมาได้มากมาย มนุษย์ก็ยังคงมีพื้นฐานของสัตว์ครอบงำอยู่โดยไม่รู้ตัว ซึ่งพื้นฐานที่ครอบงำจิตของมนุษย์อยู่นั่นก็คือ สัญชาติญาณของสัตว์ ที่ทำอะไรๆไปตามความรู้จากจิตใต้สำนึกของตัวเอง โดยไม่มีการใช้ความคิดให้เต็มความสามารถของตัวเอง เหมือนกับคนที่ละเมอ ที่ทำอะไรๆไปตามความเคยชินที่จำได้โดยไม่รู้สึกตัว หรือไม่มีสติสัมปชัญญะ ซึ่งเปรียบเหมือนคนที่กำลังฝันอยู่ ที่กำลังเพลิดเพลินอยู่ในความฝันโดยไม่รู้ว่าตัวเองกำลังฝันอยู่ ซึ่งในความฝันนั้น สิ่งต่างๆในความฝันนั้นย่อมที่จะขัดแย้งกับความจริงของโลก แต่ในความฝันเราก็ไม่เคยสงสัยเลยว่า เรามาจากไหน? มาทำอะไรที่นี่? แล้วต่อไปจะเป็นอย่างไร? เป็นต้น ซึ่งในความฝันนั้นเราก็รู้สึกเหมือนกับว่าเรานั้นรู้แจ้งหรือเข้าใจทุกอย่างหมดแล้วโดยไม่มีข้อสงสัย แต่เมื่อเราตื่นขึ้นมาเราจึงรู้ว่านั่นคือ “ความฝัน” ที่ไม่ใช่ความจริง

ในความจริงนั้นเราจะรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆได้ดี แต่ในความฝันนั้นมันเป็นจินตนาการของจิตเราที่คิดขึ้นมาเองตามความเคยชินที่มันได้สั่งสมไว้ ซึ่งมันก็จะไม่เหมือนกับสิ่งที่เป็นอยู่จริงของชีวิตเรา ถ้าเราตื่นขึ้นมาแล้วมานั่งพิจารณาถึงความฝันนั้น เราก็จะพบกับคำถามขึ้นมามากมาย เช่น ตัวเราในความฝันนั้นมาจากไหน? มาทำอะไร? แล้วต่อไปจะเป็นอย่างไร? เป็นต้น แต่เวลาเราฝันเรากลับไม่เกิดคำถามเหล่านี้ขึ้นมาเพราะอะไร? ซึ่งคำตอบง่ายๆก็คือ เพราะเรายังหลับอยู่ หรือยังไม่ตื่น และถ้าจะถามว่า ทำไมเราจึงไม่ตื่นในเวลาที่เราฝัน? ก็ตอบได้ว่า เพราะความฝันก็คือความหลับ ดังนั้นถึงเราจะฝันอย่างไร หรือฝันว่าตัวเองตื่นอย่างไรก็ตาม มันก็ยังคงเป็นความหลับอยู่วันยังค่ำ ซึ่งเรียกง่ายๆว่า “ตื่นอยู่ในความหลับ” เหมือนกับเกิดแสงสว่างเพียงเล็กน้อยอยู่ในความมืดอันกว้างใหญ่ ซึ่งไม่มีทางจะหลุดพ้นจากการครอบงำของความมืดนั้นได้ ซึ่งวิธีเดียวที่จะตื่นขึ้นมาได้อย่างแท้จริงก็คือ “ต้องหยุดฝัน” เมื่อหยุดฝันแล้วมันก็จะตื่นขึ้นมาพบความจริงได้เอง

ในความฝันนั้นเราก็รู้สึกว่ามีสิ่งต่างๆเกิดขึ้นจริง คือมีตัวเราอยู่จริง และมีสิ่งต่างๆในความฝันอยู่จริง แล้วเราก็ไปหลงรักบ้าง หลงโกรธบ้าง หลงเกลียดบ้าง หลงกลัวบ้างในความฝันนั้น แต่พอเราตื่นขึ้นมา ทุกสิ่งในความฝันนั้นมันก็ได้หายไปจนหมดสิ้น เหลือไว้แค่เพียงความทรงจำให้ได้ระลึกถึงเท่านั้น ซึ่งในชีวิตจริงของเราขณะที่กำลังตื่นอยู่นี้ ถ้าเราจะพิจารณาให้ดีเราก็จะพบว่า “มันก็คือความฝัน” ที่ไม่ต่างอะไรกับความฝันในขณะที่เรากำลังหลับเลย คือถึงเราจะรู้สึกว่ามีตัวเราและมีสิ่งต่างๆที่เราสัมผัสได้จริงก็ตาม แต่ถ้าเราจะพิจารณาให้ดีเราก็จะพบว่า “สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ มันหาได้มีอยู่จริงไม่ คือในที่สุด ทุกสิ่งที่เรารู้สึกอยู่นี้ ซึ่งรวมทั้งตัวเราเองด้วย มันก็จะต้องหายไปจนหมดสิ้น ไม่สามารถตั้งอยู่เช่นนี้ไปชั่วนิรันดรได้” แต่ในความฝันกับชีวิตจริงมันต่างกันตรงที่ ความฝันนั้นยังมีเวลาตื่นเสมอ แต่ในชีวิตจริงมันกลับไม่มีเวลาตื่น คือเรากำลังติดอยู่ในความฝันกันจนตลอดชีวิตโดยไม่รู้ตัว

ทำอย่างไรเราจึงจะตื่นจากความฝันของชีวิต? ซึ่งการที่เราจะตื่นขึ้นมาได้อย่างแท้จริงนั้น เราก็ต้องรู้ตัวก่อนว่าเรากำลังหลับกันอยู่ เมื่อเรารู้ตัวว่าเรากำลังหลับหรือละเมอกันอยู่ เมื่อนั้นเราก็จะตื่น ซึ่งมันก็ยาก เพราะเรามักจะเชื่อกันว่า “เรานี้ตื่นกันอยู่แล้ว เราไม่ได้หลับ เรารู้และเข้าใจชีวิตกันดีอยู่แล้ว” ซึ่งนี่ก็คือความตื่นอยู่ในความหลับของชีวิตนั่นเอง

เราเข้าใจชีวิตของเราเองและของทุกๆชีวิตหรือยังว่า “เราคืออะไร? เกิดขึ้นมาได้อย่างไร? เกิดมาทำไม? ตายแล้วจะเป็นอย่างไร? เกิดมาแล้วได้อะไร? อะไรคือสิ่งสูงสุดที่ชีวิตควรได้รับ? และเราจะดำเนินชีวิตอย่างไรจึงจะได้รับสิ่งสูงสุดสำหรับชีวิต?” เมื่อเรารู้และเข้าใจชีวิตจนไม่มีข้อสงสัยใดๆอย่างแท้จริงแล้ว เราจึงจะชื่อว่า “ตื่น” ได้อย่างแท้จริง แต่ตราบใดที่เรายังหาคำตอบที่ชัดเจนแจ่มแจ้งให้กับตัวเองไมได้ ตราบนั้นก็ชื่อว่าเรายัง “หลับ” กันอยู่

คนป่าคนดงที่ไม่มีความรู้ในเรื่องลัทธิหรือศาสนาใดๆเลย เขาก็ย่อมที่จะไม่ได้รับคำสอนอะไรจากใครๆอย่างที่เรากำลังมีอยู่ ดังนั้นเขาจึงมืดมนท์เพราะไม่รู้แจ้งชีวิต ส่วนเราที่ได้เรียนรู้หรือรับรู้เรื่องราวของชีวิตจากศาสนามามากมาย ทั้งโดยตรง(คือจากตำราของศาสนา)และโดยอ้อม(คือจากการบอกเล่าของคนอื่น) ก็ทำให้เรามีความรู้ในเรื่องของชีวิตขึ้นมาอย่างมากมาย ซึ่งเรื่องราวที่เราได้รู้มาจากศาสนานั้น ก็ทำให้เราเกิดความรู้สึกว่าเรานั้นได้ “ตื่น” ขึ้นมาแล้วจากความ “หลับ” หรือจากความโง่ หรือความไม่รู้จริงในชีวิต แล้วมาเป็นผู้รู้จริงหรือรู้แจ้งขึ้นมาแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว นี่ก็ยังเป็นความหลับอย่างลึกซึ้งอยู่อีก เพราะเรื่องราวที่เราได้รับรู้มานั้น เราไม่ได้รู้แจ้งหรือเห็นจริงด้วยตัวของเราเองเลย เราเพียงรู้มาจากคนอื่นเท่านั้น ซึ่งเราก็ยังไม่รู้เลยว่า สิ่งที่เราได้รู้มานั้นมันเป็นความจริงแท้หรือไม่? ต่อเมื่อเราได้เกิดความรู้แจ้งหรือรู้จริงขึ้นมาด้วยตัวของเราเองจริงๆแล้วเท่านั้น จึงจะชื่อว่าเราได้ “ตื่น” ขึ้นมาแล้วอย่างแท้จริง

อะไรคือความหลับ? คนหลับจะไม่สงสัยในเรื่องราวของชีวิต(เหมือนตอนหลับฝัน) คนหลับจะลุ่มหลงในความสุขของโลกอย่างไม่ลืมหูลืมตา คนหลับจะหลงโกรธ หลงเกลียด หลงกลัวในความทุกข์ของโลกอย่างไม่ลืมหูลืมตา คนหลับจะไม่สนใจค้นหาความจริงให้กับชีวิต คนหลับจะไม่ตั้งใจเพ่ง(ไม่มีสมาธิ)มองความจริงของชีวิตและธรรมชาติทั้งหลาย คนหลับจะมองสิ่งทั้งหลายว่ามันเที่ยงแท้ยั่งยืนหรือถาวร คนหลับจะมองสิ่งทั้งหลายว่ามันตั้งอยู่อย่างสุขสบาย ไม่เป็นทุกข์ ไม่เดือดร้อน คนหลับจะมองสิ่งทั้งหลายว่ามันเป็นตัวตนของมันเอง นี่คืออาการของการหลับ หรือความโง่ที่ลึกซึ้ง ที่เชื่อว่าตัวเองตื่นอยู่

แล้วความจริงเป็นอย่างไร? เมื่อเราตั้งใจเพ่งมองดูสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นอยู่จริงๆแล้วเราก็จะพบว่า สิ่งทั้งหลายนี้จะไม่สามารถตั้งอยู่เช่นเดิมได้ตลอดไป เพราะมันกำลังมีความแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา คือมันกำลังไหลไปสู่ความดับสลายอยู่ตลอดเวลา และในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว สิ่งทั้งหลายก็จะต้องดับสลายหายไปอย่างแน่นอน เหมือนก้อนน้ำแข็งที่กำลังละลายหายไปอย่างแน่นอน ซึ่งนี่ก็แสดงถึงความไม่เที่ยงแท้ยั่งยืนของสิ่งทั้งหลายที่เรากำลังลุ่มหลงติดใจและลุ่มหลงโกรธ เกลียด กลัวกันอยู่ ที่ส่วนมากเราอยากจะให้มันตั้งอยู่ตลอดไปโดยไม่แก่ เจ็บ ตาย หรือพลัดพรากซึ่งก็เป็นไปไม่ได้ เพราะสุดท้ายแล้วเราก็ต้องจากทุกสิ่งไปอย่างไม่มีทางหลีกหนี้ได้พ้น ซึ่งมันก็ไม่ต่างอะไรกับความฝันของเรา ที่ส่วนมากเราอยากจะให้มันตั้งอยู่ตลอดไปโดยไม่ตื่น ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้

สิ่งทั้งหลายที่กำลังตั้งอยู่นี้ มันก็ต้องมีความยากลำบากในการแสวงหาสิ่งต่างๆมาบริหารตัวของมันเองเอาไว้ อย่างเช่น ชีวิตก็ต้องกิน ต้องใช้ ต้องดูแลอย่างดี ทุกคนจึงต้องทนทำงานเลี้ยงชีวิต ต้องทนต่อสภาพแวดล้อมมากมายที่ไม่น่ายินดีทั้งภายในตัวเองและนอกตัวเอง แต่เรากลับมองเห็นว่าชีวิตมีแต่ความสุข แล้วก็หลงใหลในชีวิต ในสามีหรือภรรยา ในลูกหลาน ในทรัพย์สมบัติ คือเราเห็นผิดกันไปว่าชีวิตมันมีแต่ความสุข ทั้งๆที่มันมีความทุกข์มากกว่า ซึ่งมันก็ไม่ต่างอะไรกับการวิ่งไล่คว้าหาความสุขและวิ่งหนีความทุกข์ในความฝันด้วยความเหนื่อยยากโดยสุดท้ายก็ไม่ได้อะไร

สิ่งทั้งหลายที่กำลังตั้งอยู่นี้ เราอาจจะมองว่ามันมีตัวตนของมันอยู่จริงๆ ซึ่งความจริงแล้วสิ่งทั้งหลายนั้นมันเป็นเพียง “สิ่งที่ถูกปรุงแต่งหรือสร้างสรรค์ขึ้นมาชั่วคราวเท่านั้น” เพราะสิ่งทั้งหลายเมื่อจะเกิดขึ้นมา มันจะต้องอาศัยสิ่งต่างๆมากมายเพื่อมาปรุงแต่งหรือสร้างมันขึ้นมาทั้งสิ้น ไม่มีสิ่งใดที่จะเกิดขึ้นมาได้เองลอยๆโดยไม่อาศัยสิ่งอื่นเพื่อมาปรุงแต่งหรือสร้างมันขึ้นมา ดังนั้นสิ่งทั้งหลายที่ตั้งอยู่ให้เราได้รับรู้หรือสัมผัสกันอยู่นี้ มันจึงไม่ได้มีตัวตนที่แท้จริงมาให้เรายึดถือว่าเป็นตัวเราและของเราหรือของใครๆได้เลย ส่วนสิ่งที่เรารู้สึกหรือพบเห็นว่ามันมีอยู่นี้ มันก็เป็นเพียง “สิ่งชั่วคราว”(ไม่ถาวร) หรือ “สิ่งมายา”(หลอกลวงว่ามีจริง) หรือ “สิ่งสมมติ” (ไม่ใช่ความจริง)เท่านั้น ซึ่งนี่ก็คือความว่างเปล่าของสิ่งทั้งหลายในโลก ที่หาของจริงมาให้ยึดถือไม่ได้ เหมือนกับในความฝันของเรานั่นเอง

เมื่อเราลุ่มหลงติดใจในความฝัน และยึดถือว่ามันเที่ยงแท้ถาวร เป็นสุข รวมทั้งยึดถือว่าเป็นตัวตนของเรา แต่เราก็ต้องทุกข์ใจเพราะทุกสิ่งในความฝันนั้นมันไม่สามารถที่จะตั้งอยู่อย่างเที่ยงแท้ถาวรได้ เมื่อต้องประสบกับความฝันที่ไม่น่ายินดี เราก็จะเป็นทุกข์ หรือเมื่อความฝันที่น่ายินดีต้องจากไป เราก็จะเป็นทุกข์อีก ซึ่งที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในความฝันนั้น มันไม่ได้มีตัวตนของเราหรือของใครๆหรือของสิ่งใดๆอยู่จริงเลย มันเป็นแค่เพียงการปรุงแต่งของจิตที่ปรุงแต่งขึ้นมาเอง โดยเราไม่สามารถบังคับมันได้เท่านั้น ดังนั้นวิธีเดียวที่จะไม่เป็นทุกข์ไปกับความฝันก็คือ ตื่นขึ้นมาเสียจากความฝันนั้น แล้วก็มายอมรับความจริงว่านั่นคือความฝัน ไม่ใช่ความจริง

แม้ในชีวิตจริงของเราก็เหมือนกัน คือไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้ถาวร ถ้าเราไปยึดถือว่ามันจะต้องเป็นไปตามที่เราอยากจะให้เป็น เราก็จะเป็นทุกข์ เพราะทุกสิ่งที่เรายึดถือ มันก็จะไม่เป็นไปตามที่เราอยากจะให้เป็น คือเมื่อมันเราอยากเป็นหนุ่มเป็นสาวตลอดไป แต่ว่ามันกลับแก่เฒ่า เราก็เป็นทุกข์, เมื่อเราอยากมีร่างกายสุขสบาย แต่ว่ามันกลับเจ็บป่วยหรือพิการ เราก็เป็นทุกข์, เมื่อเราอยากมีชีวิต แต่ว่ามันกลับจะตาย เราก็เป็นทุกข์, เมื่อเราอยากอยู่กับบุคคลหรือสิ่งที่เรารักตลอดไป แต่ว่าต้องพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งที่เรารักนั้นไป เราก็เป็นทุกข์, เมื่อเราอยากหนีบุคคลหรือสิ่งที่เราเกลียดชังหรือกลัวไปให้พ้น แต่ก็หนีไม่ได้ เราก็เป็นทุกข์, หรือเมื่อเราอยากจะได้สิ่งใด แล้วผิดหวังเพราะไม่ได้สิ่งนั้นตามที่เราอยาก เราก็เป็นทุกข์อีก ซึ่งนี่ก็เหมือนกับความฝันที่เราจะต้องตื่นเสียจากความฝัน ด้วยการหยุดความยึดถือและความอยากทั้งหลายเสีย แล้วความทุกข์ทั้งหลายของชีวิตก็จะยุติลง เพราะเรากลับมายอมรับความจริงของธรรมชาติแล้ว คือคืนทุกสิ่งให้ธรรมชาติแล้ว ไม่ยึดถือเอามาเป็นตัวเรา-ของเราอีกต่อไปแล้วนั่นเอง ซึ่งนี่คือผู้ที่ตื่นแล้วอย่างแท้จริง และมีความ “ไม่มีทุกข์” เป็นผลตอบแทน

สรุปได้ว่า แท้จริงแล้วชีวิตของเราทุกคนนี้ก็คือความฝัน ที่หาความจริงไม่มี เพราะทุกสิ่งในชีวิตล้วนไม่เที่ยงแท้ถาวรหรือไม่คงอยู่ได้ตลอดไปเหมือนความฝัน และต้องวิ่งไล่ไขว่คว้าหาความสุขและวิ่งหนีความทุกข์ที่ว่างเปล่าด้วยความเหนื่อยยากโดยไม่ได้อะไรเหมือนกับความฝัน รวมทั้งจะหาสิ่งที่เป็นตัวตนที่แท้จริงทั้งของตัวเราและของผู้อื่น รวมทั้งของสิ่งทั้งหลายในโลกและในจักรวาลเพื่อมายึดถือไม่มี ซึ่งมันก็เหมือนกับจะหาตัวตนจริงๆในความฝันไม่มี จึงขอให้เราพยายามตั้งใจศึกษาให้เข้าใจถึงความจริงสูงสุดของชีวิตนี้ เพื่อที่จะได้ตื่นจากความหลับ แล้วมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานกันบ้าง จะได้ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วมามีมันสมองที่ดีเลิศกว่าสัตว์เดรัจฉาน.

เตชปญฺโญ ภิกขุ ๒๗ พ.ค. ๒๕๕๒
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)
Free Web Hosting